เมื่อรักแล้วเลิก แต่กู้ร่วมซื้อบ้าน ต้องทำอย่างไร

เมื่อรักแล้วเลิก แต่กู้ร่วมซื้อบ้าน ต้องทำอย่างไร

By Krungsri Guru

เมื่อความรักมาถึงทางตัน มันก็ยากที่จะยื้อให้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันต่อ แล้วเรือนหอที่เคยใช้น้ำพักน้ำแรงสร้างมาด้วยกันจะทำยังไงต่อไปดี เรามาช่วยกันหาทางออกสำหรับการกู้ร่วมซื้อบ้านเพื่อให้เกิดความสบายใจทั้งสองฝ่ายหลังเลิกกันดีกว่า โดยแบ่งทางเลือกได้เป็นดังนี้

1. กรณีจดทะเบียนการหย่าเรียบร้อยแล้ว


ใคร ๆ ก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องหาทางแก้ไข ในกรณีที่กู้ร่วมซื้อบ้านด้วยกัน และได้จดทะเบียนหย่ากันเรียบร้อยแล้ว หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์ที่จะไม่ผ่อนชำระหนี้และต้องการยกบ้านให้กับอีกฝ่ายไปเลย ก็ให้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันระหว่างอดีตคู่สมรส จากนั้นให้นำสัญญาจะซื้อจะขาย พร้อมกับใบจดทะเบียนการหย่ามาประกอบการขอสินเชื่อกับทางธนาคาร ซึ่งฝ่ายที่ต้องการผ่อนต่อต้องขอสินเชื่อใหม่ แต่ก็ช่วยแก้ปัญหากันทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี เพราะขอวงเงินกู้ได้มากเท่ากับการซื้อบ้านทั้งหลัง เพื่อจะได้นำเงินส่วนหนึ่งที่ได้มาไปคืนคู่สมรสอีกฝ่ายได้อย่างไม่มีปัญหา ยกตัวอย่างเช่น
หากมีวงเงินกู้ร่วมซื้อบ้านของสินเชื่อเดิมที่สามารถกู้ร่วมกัน คือ 4 ล้านบาท และได้ผ่อนชำระหนี้ไปแล้ว 1.6 ล้านบาท คงเหลือหนี้ที่จะต้องชำระอีก 2.4 ล้านบาท เมื่อมีการหย่าโดยจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายที่ต้องการเป็นกรรมสิทธิ์สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ในวงเงินกู้ 4 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเช็คแรก 1.6 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระหนี้ที่คงเหลือในสินเชื่อฉบับเก่า และหากคู่สมรสตกลงร่วมกันว่าที่ผ่านมาได้ร่วมชำระหนี้อย่างเท่า ๆ กัน คนละ 8 แสนบาท ก็จะออกเช็คแบ่งเป็นอีก 2 ส่วน โดยส่วนแรกสั่งจ่ายให้อดีตคู่สมรสที่ออกจากการกู้ร่วมกัน โดยจะทำการเขียนสลักหลังชื่ออดีตคู่สมรส ส่วนเช็คอีกส่วนก็จะเป็นของคู่สมรสที่ขอสินเชื่อใหม่หรือผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไปนั่นเอง

2. กรณียังไม่จดทะเบียนหย่า


ในกรณีนี้อาจอยู่ในระหว่างการแยกกันอยู่ หรือต่างฝ่ายต่างใช้ชีวิตของตัวเองแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า โดยคู่สมรสที่กู้ร่วมซื้อบ้านแต่เลิกกันสามารถตกลงกันได้ว่าจะให้ใครถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้าน ส่วนการผ่อนสินเชื่อก็ให้แจ้งความประสงค์ต่อธนาคารว่าจะถือกรรมสิทธิ์ต่อและอยู่ในฐานะผู้กู้เพียงคนเดียว โดยให้แจ้งเหตุผลกับทางธนาคารว่าหย่าร้างกัน ซึ่งธนาคารจะประเมินผู้กู้ว่ามีความสามารถที่จะผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งหากประเมินว่าไม่สามารถกู้คนเดียวต่อได้ ทางธนาคารจะขอให้หาผู้กู้ร่วมซื้อบ้านที่มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติของผู้กู้เท่านั้น ส่วนเรื่องยอดเงินที่เคยผ่อนชำระไปร่วมกันนั้นก็ให้ตกลงกันเองต่อไป
ชีวิตคู่บางครั้งก็ไม่ได้สุขสมหวังเหมือนอย่างที่เราคิดเสมอไป จะเห็นได้ว่าการแบ่งสินสมรสหลังจากเลิกลากัน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือได้กู้ร่วมซื้อบ้านกัน ขั้นตอนและการทำเรื่องต่าง ๆ มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ทางที่ดีควรหันหน้าเข้าหากัน ปรึกษากันเวลาที่เกิดปัญหาขึ้น เพราะจะช่วยให้เข้าใจกันมากขึ้น แต่หากลองปรับความเข้าใจกันแล้วผลที่ออกมายังไม่ดีขึ้น รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ จากบทความข้างต้นก็อาจจะเป็นอีกตัวช่วยสำหรับปัญหาที่จะเข้ามาในชีวิตอย่างการจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ หลังกู้ร่วมซื้อบ้านแต่เลิกกันได้ไม่มากก็น้อย หรือคุณสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องสินเชื่อต่าง ๆ ได้ทางเว็บไซต์ Plearn เพลิน ผู้ช่วยด้านการเงินครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา