ทำไมเฟอร์นิเจอร์มน ๆ กลม ๆ ถึงฮิต: ทำความรู้จัก “Neotenic Design”

ทำไมเฟอร์นิเจอร์มน ๆ กลม ๆ ถึงฮิต: ทำความรู้จัก “Neotenic Design”

By จูนจูน พัชชา เฮงษฎีกุล
โซฟา Camaleonda ออกแบบโดย Mario Bellini
โซฟา Camaleonda ออกแบบโดย Mario Bellini (ที่มา: https://www.bebitalia.com)
 
สำหรับใครที่ชอบดูแบบบ้านสวย ๆ และกดฟอลโล่วอินสตาแกรมแต่งบ้านอยู่แล้วจะต้องผ่านตา โซฟากลม ๆ มน ๆ อันนึงที่กำลังฮิต และอยู่ตามบ้านเซเลปบริตี้และดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงหลาย ๆ คน โซฟาที่ว่านั่นก็คือโซฟา “Camaleonda” ที่ออกแบบโดย Mario Bellini ซึ่งถึงแม้โซฟารุ่นนี้จะออกแบบมาตั้งแต่ปี 1972 และเป็นที่นิยมในหมู่คนรักดีไซน์มาเรื่อย ๆ แต่ช่วงปีหนึ่งที่ผ่านมานี้ โซฟา Camaleonda ก็กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งจนเราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร?
เมื่อเดือนมกราคมปี 2021 Vogue ได้ปล่อยบทความที่พูดถึงเทรนด์ของ Interior Design ในปี 2021 และไปสัมภาษณ์นักออกแบบตกแต่งภายในชื่อดังหลายคนอย่าง Martyn Lawrence Bullard และ Timothy Corrigan ซึ่งหนึ่งในเทรนด์ที่น่าสนใจคือการโหยหา “ความสบาย” (Comfort) ในบ้าน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะหลังจากเกิดเทรนด์ WFH (Work From Home) ที่ทำให้พนักงานบริษัทหลายคนต้องย้ายที่ทำงานจากในออฟฟิศมาอยู่บ้านมากขึ้น หรือจากไลฟ์สไตล์ใหม่ในช่วง Lockdown ที่บีบบังคับให้เราสิงสถิตในบ้านของตัวเองกันมากขึ้น เราจึงต้องการความสบายในบ้านที่อาจจะขาดหายไปจากไลฟ์สไตล์ยุค pre-covid

และด้วยเหตุผลนี้ที่ทำให้โซฟาอย่าง Camaleonda และเฟอร์นิเจอร์กลม ๆ มน ๆ หรือเก้าอี้ตัวใหญ่ ๆ บุด้วยผ้าหนา ๆ ที่ดูนุ่มนิ่มทั้งหลายกลับมาเป็นที่นิยมกันมากขึ้น รวมไปถึงของตกแต่งบ้านที่ไม่ได้มินิมอลเท่าเดิม แต่สามารถดึงดูดความสนใจเราตอนอยู่ในบ้านได้ อย่างแจกันรูปทรง geometric ที่ถูกทำให้พองผิดรูปและมีความ cartoonish มากขึ้น

แต่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เฟอร์นิเจอร์รูปทรงกลมมนน่ารักเหล่านี้เป็นที่รักของทุกคน ก็คือผลของงานออกแบบสไตล์ “Neotenic” นี่ล่ะ ในเว็บไซต์ Desegno มีการกล่าวถึง Neotenic State of Mind เอาไว้ว่า “มนุษย์เราจะรู้สึกอินกับองค์ประกอบที่มีความกลมมน อย่างดวงตาที่กลมโต หน้ากลม ๆ แก้มป่อง หรือความอ้วนพองแบบเกินจริง มักเป็นที่เชื่อกันว่าเวลามนุษย์เห็นสิ่งเหล่านี้ ส่วนหนึ่งของสมองเราที่เรียกว่า amygdala (ทำหน้าที่รับรู้ความทรงจำทางด้านอารมณ์) จะสร้างความรู้สึกรัก ความรู้สึกอยากดูแลเลี้ยงดู และบอกเราว่าเรากำลังเจอกับเด็กเบบี๋ตัวเล็ก ๆ อยู่นะ พร้อมสั่งการให้เราปฏิบัติตัวตามความคิดนั้น แต่บางทีสมองส่วนนี้ก็ถูกหลอกง่าย และเผลอรู้สึกแบบเดียวกันกับเวลาเราเห็นเด็กเบบี๋ ลูกสัตว์ตัวน้อย ๆ หรือตัวการ์ตูนหน้าตาน่ารัก แม้ว่าที่จริงแล้วสิ่งที่เรามองอยู่จะเป็นโต๊ะ หรือเก้าอี้เฉย ๆ ก็ตาม

และการเอาลักษณะแบบ “neotenic” มาใส่ในงานออกแบบนั้นมีชื่อเรียกเฉพาะของมันว่า Neotenic Design ซึ่งก็ไม่ใช่คำใหม่อะไร เพราะคำนี้ถูกตั้งขึ้นโดยดีไซน์เนอร์ Justin Donnelly และ Monling Lee ที่ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบ Jumbo โดย Neotenic Design นี่เองที่ทำให้เราเห็นงานดีไซน์บางอย่างที่มองแล้วรู้สึกว่าทำไมมันน่ารักจังเลย ซึ่งคำนี้มีความเฉพาะเจาะจงกว่างานออกแบบที่ถูกจำกัดความกว้าง ๆ ว่าแค่น่ารักเฉย ๆ แต่ต้องมีลักษณะคล้ายคลึงกับความเป็นเด็ก อ้วนพองกลมมนกว่ารูปร่างปกติที่เราคุ้นชิ้น มีความหนา หรือสัดส่วนใหญ่พองเกินจริงกว่าปกติ ใช้วัสดุที่นุ่มนิ่ม และต้องใช้วัสดุหลักเพียงอย่างเดียวเท่านั้น (mono-material) ซึ่งพอกล่าวแบบนี้ โซฟา Camaleonda ก็เข้าเกณฑ์หมดทุกข้อ
7M Chair โดย Ara Thorose
7M Chair โดย Ara Thorose (ที่มา: https://workofdemo.s3.amazonaws.com)

เก้าอี้ Roly Poly ออกแบบโดย Faye Toogood
เก้าอี้ Roly Poly ออกแบบโดย Faye Toogood (ที่มา: https://cdn.shopify.com)
Justin Donnelly และ Monling Lee เคยเปิดตัวนิทรรศการที่รวบรวมงานแบบสไตล์ Neotenic Design เมื่อเดือนมีนาคมปี 2019 ซึ่งมีทั้งเฟอร์นิเจอร์อย่างเก้าอี้ 7M Chair โดย Ara Thorose และเก้าอี้ Roly Poly Armchair ที่ออกแบบโดย Faye Toogood เพื่อดึงความสนใจในวงการนักออกแบบให้รู้จักงานออกแบบสไตล์ neotenic มากขึ้น จนกลายเป็นเทรนด์ที่มีมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน
ด้วยพลังของ Neotenic Design ในยุคนี้ยังเป็นตัวเชื่อมโยงที่ดีที่พาให้ผู้ใช้งานหันกลับมาสนใจเฟอร์นิเจอร์และของใช้ที่มีการออกแบบแบบซอฟต์ฟอร์ม และการหันมาให้ความสำคัญกับความสบายของผู้ใช้งานโดยตรง ถ้าใครอยู่บ้านช่วงนี้แล้วอยากซื้อของแต่งบ้านใหม่ ลองมองหาเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งกลม ๆ มน ๆ ตามสไตล์ Neotenic มาตั้งในบ้านกันดูนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow