โฟกัส ที่ถนัด...สู่เป้าหมาย

โฟกัส ที่ถนัด...สู่เป้าหมาย

By Krungsri GURU SME

เศรษฐกิจที่เปราะบาง “การลงทุน – การบริโภค – การส่งออก” หดตัวหลายธุรกิจมียอดขายลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงผลกำไรที่ลดลง ผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องลดขนาดของธุรกิจเลือกทำเฉพาะธุรกิจที่บริษัททำดีที่สุด ชำนาญที่สุด โดยหันกลับไปพิจารณาถึงความถนัดที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมองแนวโน้มของธุรกิจในอนาคตเป็นหลัก

รักษาฐานลูกค้า (เก่า) ให้ดีที่สุด: การมุ่งหาลูกค้าใหม่แม้เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะปัจจุบันคนมีเงินในกระเป๋าแต่ไม่มีอารมณ์ที่จะใช้จ่าย นั่นหากจะดึงดูดให้คนกลุ่มนี้มาเป็นลูกค้า อาจทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่สูง ดังนั้นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจจึงควรหันมาเน้นให้ความสนใจกับลูกค้าเก่าให้มากที่สุด
ทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ: การทำธุรกิจไม่ว่าจะขนาดของธุรกิจที่ทำจะใหญ่หรือจะมีขนาดเล็ก (SMEs) นักธุรกิจที่ดีควรมองหาข้อดีในปัญหาที่เกิดขึ้น พูดง่ายๆ ก็คืออย่ามองแต่ปัญหาเพียงอย่างเดียว เมื่อหาข้อดีนั้นเจอก็ควรนำมาช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจอีกครั้ง เช่น ค่าเงินที่อ่อนตัวธุรกิจส่งออกย่อมดีกว่าธุรกิจที่นำเข้า ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นโอกาสที่ดีที่จะขยายธุรกิจเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้จากธุรกิจของคู่แข่งอาจอ่อนแรงลงเพราะพิษเศรษฐกิจ
ลดต้นทุน-ลดค่าใช้จ่าย-เน้นขายเงินสด: ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการบริหารที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าผลิตสินค้า ค่าการจัดเก็บรักษาสินค้า หรือต้นทุนของธุรกิจที่เกิดจากการกู้ยืมแบงก์ (ดอกเบี้ย) ย่อมมีผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจ ดังนั้นการบริหารจัดการควรดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของตลาด อาทิ การจัดเก็บสต็อกสินค้าให้มีความเหมาะสมเพียงพอกับยอดขาย ซึ่งต้องมีการจัดเก็บข้อมูลว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ชิ้นไหนขายดี ส่วนสินค้าชิ้นไหนขายไม่ได้หรือระบายช้าควรปรับลดสต็อกหรือจะผลิตก็ต่อเมื่อมียอดคำสั่งซื้อเข้ามา หรือหากสามารถเปลี่ยนสินค้าที่ระบายหรือขายช้ามาเป็นเงินสดได้ก็ถือเป็นทางออกที่ดีอย่างหนึ่ง และหากเป็นไปได้ควรเน้นขายเงินสด โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก SME แม้กำไรจะน้อย แต่อาจจะดีกว่าการขายสินค้าที่ได้กำไรสูงแต่เก็บเงินช้า เพราะการขายเงินสดจะช่วยหนุนสภาพคล่องทางการเงินได้
คุณภาพ-บริการ: ในยามที่เศรษฐกิจส่อเค้าวิกฤติสิ่งที่ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับควรร่วมมือร่วมแรง และร่วมใจกันก็คือ การประหยัดและการลดค่าใช้จ่าย แต่ต้องไม่กระทบต่อคุณภาพของสินค้าและบริการ เพราะ “คุณภาพ” และ “บริการ” จะเป็นเครื่องยืนยันที่สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคได้ว่าเจ้าของกิจการมีความจริงใจในการทำธุรกิจที่จะช่วยเป็นแรงสนับสนุนต่อการอยู่รอดของธุรกิจในยุคที่ยอดขายธุรกิจลดลง และหากสินค้าที่ผลิตออกมาขายมีจุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่ง นอกจากสินค้าจะได้รับความสนใจจากตลาดผู้บริโภคแล้ว ความโดดเด่นหรือจุดเด่นของสินค้าจะยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาดได้ด้วย เพราะจุดเด่นของสินค้าถือว่าเป็นจุดขายที่ดีในตัว
เมื่อวงจรธุรกิจมีขึ้น-มีลง การประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าผ่านการวางโมเดลสร้างฐานรายได้ที่มั่นคง นับตั้งแต่วันที่เริ่มก่อตั้งกิจการจึงมีความจำเป็นหลายธุรกิจที่รอดพ้นวิฤติเศรษฐกิจมาได้ เพราะบริหารจัดการภายในแนวคิดที่ยืดหยุ่นเพื่อความอยู่รอดเป็นหลักผ่านเป้าหมายระยะสั้นยามวิกฤติกลับเข้าสู่ฐานที่มั่น และพร้อมที่จะขยายสู่โอกาสใหม่ทันทีเมื่อสภาวะตลาดอำนวย และทุกย่างก้าวบนถนนสายธุรกิจการกำหนดเป้าหมายระยะสั้นจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวเสมอ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา