ต่างประเทศที่มีระบบไร้เงินสด เขามีธนาคารแบบไหน มาดูกัน

ต่างประเทศที่มีระบบไร้เงินสด เขามีธนาคารแบบไหน มาดูกัน

By Krungsri Guru

สวีเดน คือ หนึ่งในประเทศที่มีการคาดการณ์ว่า จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เป็นประเทศแรก ๆ ของโลก กล่าวกันว่า ในปัจจุบัน การใช้จ่าย 89% ภายในประเทศอยู่ในรูปแบบดิจิทัล และ 96% ของจำนวนประชากรมีบัตรเดบิต จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนในประเทศนั้นจะต้องเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก ทั้งประชาชนเอง รวมถึงธนาคารจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

 

ธนาคารที่ไม่มีเงินสด



วันที่ 23 กันยายน 2009 เกิดอาชญากรรมใหญ่ในสวีเดน เมื่อมีผู้บุกรุกพร้อมอาวุธ ทำการปล้นเงิน 6.5 ล้านเหรียญด้วยการขนธนบัตรขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ถึงแม้โจรกลุ่มนี้จะถูกจับกุมได้ในภายหลัง แต่ก็ยังไม่สามารถยึดเงินสดที่ถูกโจรกรรมไปกลับคืนมาได้

ตัดภาพมายังเช้าวันที่ 22 เมษายน 2013 ที่ธนาคาร Östermalmstorg branch of Skandinaviska Enskilda Banken มีชายพร้อมอาวุธ บุกเข้ามาปล้นเงิน แต่เขาก็ต้องผิดหวังเมื่อเจ้าหน้าที่ชี้ให้ดูป้ายประกาศที่ผนังว่า ที่นี่เป็นสาขาธนาคารที่ไม่ให้บริการเงินสด เห็นไหมครับว่า ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปจริง ๆ ต่อไปนี้ ข่าวปล้นธนาคารคงจะไม่มีให้เห็นกันแล้วล่ะครับ
 

ไม่รับฝากเงินสดกันแล้ว



หากคุณถือเงินสดไปธนาคาร มีความเป็นไปได้ที่คุณจะถูกพนักงานถามข้อมูลว่า ได้เงินมาจากไหน บางธนาคารถูกตั้งกฎว่า จะรับเงินฝากได้มากที่สุดเป็นจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งการนำเงินสดไปฝากเป็นจำนวนมากจะเป็นที่ต้องสงสัย และต้องให้คำอธิบายอย่างชัดเจนว่า ได้เงินสดมาจากที่ใดเพื่อพิสูจน์ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการฟอกเงิน การก่อการร้ายด้านการเงิน หรือขบวนการค้ายาในตลาดมืด ทั้งนี้ World Bank เคยประมาณการไว้ว่า หนึ่งในสามของเงินสดที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศส่วนใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกับเงินในตลาดมืด การจ้างงานเถื่อน การซื้อขายยาเสพติด หรือการซื้อของโจร ซึ่งหากเราลดการใช้เงินสดได้ ก็หวังว่า เงินหมุนเวียนในตลาดมืดเหล่านี้ก็จะลดลงไปด้วย
 

ฝากเงินต้องเสียค่าฝาก



ถึงแม้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ในประเทศไทยจะน้อยแค่ไหน แต่คุณอาจจะรู้สึกดีขึ้นมาก หากได้ทราบว่า ดอกเบี้ยของธนาคารกลางในสวีเดน (Sveriges Riksbank) มีค่าติดลบ (-0.5% ข้อมูล ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2016) แปลว่า ถ้าใครเอาเงินมาฝาก ต้องเสียค่าฝากเงินด้วย ทั้งนี้ ถึงแม้ธนาคารรายย่อยยังแบกรับภาระดอกเบี้ยติดลบไว้เอง และยังไม่ผลักภาระนี้ไปที่ประชาชน แต่ก็ไม่รู้ว่า จะแบกรับภาระไปได้อีกนานแค่ไหน
 

ธนาคารลดต้นทุนค่าใช้จ่าย



ด้วยแรงกดดันทั้งจากดอกเบี้ยในอัตราติดลบ และจำนวนลูกค้าใช้บริการจากสาขาลดน้อยลง ธนาคารในสวีเดนจึงพยายามหาวิธีลดต้นทุนให้มากขึ้น ด้วยการลดจำนวนสาขา ลดจำนวนพนักงาน ยกเลิกการใช้เครื่อง ATM ในเขตชนบท มีรายงานว่า ธนาคาร Swedbank ลดสาขาจาก 476 แห่ง ในปี 2005 จนเหลือ 275 แห่ง ในปี 2015
 

ปรับบทบาทตัวเอง



เมื่อไม่มีสาขา เพราะลูกค้าต่างทำธุรกรรมทางออนไลน์กันเป็นส่วนใหญ่ ธนาคารในสวีเดน จึงปรับตัวเองเป็นผู้ให้คำแนะนำการใช้งานแอปพลิเคชันแทน ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีสาขาทั่วประเทศ ธนาคารสามารถใช้สาขาของพันธมิตรเป็นสถานที่ให้คำแนะนำลูกค้าของธนาคาร หรืออีกตัวอย่างในประเทศลัตเวีย ที่ลูกค้าธนาคารสามารถขอคำแนะนำการใช้งาน Internet Banking ได้จากพนักงานห้องสมุด
 

เปิดรับเทคโนโลยี



การใช้ระบบ Cashless Society นี้ เน้นประโยชน์ของความเข้าถึงได้ง่าย ต้นทุนต่ำ และมีความโปร่งใสในการใช้จ่าย ซึ่งแน่นอนว่า เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ Cashless Society เกิดขึ้นได้ ธนาคารจึงมีหน้าที่คอยพัฒนาบริการให้เหมาะสม ซึ่งความร่วมมือระหว่างธนาคารในสวีเดนก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดย Swish เป็นแอปพลิเคชันมือถือที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากประชาชนในการโอนเงินระหว่างบุคคลแบบ Real Time ด้วยการใช้เบอร์มือถือ ซึ่ง Swish นี้ เกิดจากการร่วมมือกันของ 6 ธนาคารใหญ่ ๆ ในสวีเดน (Danske Bank, Handelsbanken, Länsförsäkringar Bank, Nordea, SEB and Swedbank)

เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาอยู่เสมอ และธนาคารจำเป็นที่จะต้องก้าวตามให้ทันเทคโนโลยีในอนาคต ล่าสุดธนาคารกลางสวีเดนได้ลงทุนเข้าร่วมกับพันธมิตรในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ เพื่อประเมินการใช้ค่าเงินดิจิทัล (Digital Currency) ในอนาคต เรียกว่า ธนาคารสวีเดนไม่มีคำว่าตกเทรนด์จริง ๆ ครับ

ในส่วนของธนาคารในประเทศไทยเอง เราก็เริ่มมีการใช้แอปพลิเคชันมือถืออย่างกรุงศรีโมบายแอพ และธนาคารออนไลน์ที่ช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินเป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายต่ำ ตรวจสอบได้ตลอดเวลา ซึ่งนับเป็นหนึ่งในบริการที่สอดคล้องกับการก้าวเข้าสู่ Cashless Society ในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา