จะจัดการอย่างไร ถ้าเจอเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดในที่ทำงาน

จะจัดการอย่างไร ถ้าเจอเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดในที่ทำงาน

By Krungsri Academy

ในชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะองค์กรใหญ่เล็ก ปัญหาส่วนใหญ่มักจะเกิดจากเรื่องคน เพราะที่ทำงานเป็นสถานที่รวมกันของคนที่มีพื้นเพและนิสัยต่างกัน บางคนโชคดีที่ได้เจอเพื่อนร่วมงานดี ๆ ที่อาจสนิทสนมกันได้อย่างจริงใจ แต่ในบางแห่ง โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในย่านแข่งขันสูงแล้วล่ะก็ แทบจะเชื่อใจใครไม่ได้เลยก็มี ศัตรูที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าคือศัตรู ย่อมจัดการง่ายกว่าศัตรูที่มาในคราบมิตรที่เราวางใจและไม่เคยรู้ตัวเลยว่า เพื่อน (ร่วมงาน) ที่น่ารักคนนี้จะทำกับเราได้ มีตัวอย่างให้เห็นกันมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ไปจนเรื่องส่วนตัวก็มี เรียกว่า เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดก็คงไม่ผิดนัก

ในแต่ละวันภาระหน้าที่การทำงานก็มีมากมายอยู่แล้ว การจะต้องมานั่งแก้ปัญหาเรื่องสัมพันธภาพของเพื่อนร่วมงาน ก็จะยิ่งเพิ่มภาระให้ตนเองอีก แต่การจะนิ่งเฉยปล่อยให้เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดมากระทำเราฝ่ายเดียว ก็จะกลายเป็นว่ายอมรับข้อผิดตรงนั้นไป แล้วเราจะจัดการเพื่อนแบบนี้ได้อย่างไรบ้างล่ะ

1. ประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์พฤติกรรม


กว่าที่เราจะรู้ตัวว่า เพื่อนรักพยายามหักเหลี่ยมโหดเราอยู่นั้น จะต้องผ่านช่วงเวลาแห่งความสนิทสนมกันมาประมาณหนึ่ง ให้ลองนึกถึงช่วงเวลาที่คบหากัน วิเคราะห์นิสัยและขบคิดถึงปัญหาของเพื่อนคนนี้ว่า เราไปสร้างปัญหากวนใจอะไรตรงไหน ซึ่งอาจจะเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น เรื่องผลงานที่เกินหน้าเกินตา หรือเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ในออฟฟิศ ส่วนปัจจัยภายในก็คือ พื้นเพนิสัยของเพื่อน (ซึ่งส่วนนี้อาจแก้ไขยากที่สุด) เมื่อมาคิดดูให้ดีแล้ว พอมองเห็นต้นตอปัญหา ก็เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการจัดการต่อไปได้เลย

2. นิ่งสงบ สยบความคุกรุ่น


โดยปกติแล้ว เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดจะพยายามกวนน้ำให้ขุ่น เมื่อเราได้ทำอะไรผิดพลาดไป หากลองสังเกตดี ๆ เราจะเห็นท่าทีผิดปกติน่าสงสัยเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะแอบนินทา แอบคุยกับคนอื่น ๆ ลับหลัง พร้อมส่งสายตารังสีอำมหิตมาทางเรา ให้ลดบาเรียโลกสวยลง แล้วเพิ่มสกิลช่างสังเกตเข้าไปอีกนิด เมื่อเห็นชัดเจนแล้วว่า เพื่อนกำลังถือมีดจ้วงหลังอยู่ ก็อย่ากระโตกกระตากเอาน้ำร้อนเข้าใส่ เพราะจะกลายเป็นเรื่องบานปลายจนเป็นเรื่องวิวาท ส่งผลร้ายให้หน้าที่การงานได้ ทางที่ดีก็ควรนิ่งสงบไว้เพื่อตั้งรับ เก็บข้อมูล และหาวิธีจัดการให้อยู่หมัด

3. ขจัดอคติ มองมุมกลับ


ทุกคนต่างมีนิสัยและปัญหาต่างกันไป ไม่ว่าเราหรือเพื่อนร่วมงานก็เหมือนกัน ในช่วงที่นิ่งสงบนั้น ลองกลับมานั่งคิดให้ดี ขจัดความไม่ชอบใจแล้วมองมุมกลับกันว่า ถ้าเรามีนิสัยและเจอปัญหาแบบเพื่อนคนนี้บ้าง เราจะทำอย่างไร การหักเหลี่ยมครั้งนี้อาจมีต้นเหตุมาจากเราจริง ๆ ก็ได้ เมื่อเราเข้าใจตรงนี้ได้ ก็จะช่วยสร้างความเห็นใจซึ่งกันและกัน

4. เดินเข้าไปคุยกันตรง ๆ อย่างใจเย็น


จาก 3 ข้อข้างบน จะช่วยทำให้เราพอมองเห็นต้นตอปัญหา และสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของเพื่อนได้ ซึ่งก็ทำให้เราเป็นต่อมากขึ้น เมื่อถึงเวลาแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปพูดคุยกันตามตรง การพูดคุยครั้งนี้ เราอาจเป็นคนคุมเกมเลยก็ได้ ด้วยความใจเย็นและการคิดวิเคราะห์ที่เตรียมตัวไว้ การพูดคุยกันตรง ๆ เพื่อเคลียร์ปัญหาค้างคาย่อมดีกว่าการนินทาว่าร้ายกันลับหลัง การปลดอาวุธเพื่อนจอมแทงอาจจะง่ายขึ้น เพราะคนที่ลุกลี้ลุกลนเผยธาตุแท้อาจจะเป็นเพื่อนแทน ที่สำคัญ คือ ต้องค่อยเป็นค่อยไป ใจเย็น นิ่งให้เป็น ใช้คำถามที่ไม่เจือด้วยอารมณ์

5. ปรึกษาหัวหน้างาน หากเรื่องบานปลาย


เมื่อการพูดคุยกันตามตรงไม่ราบรื่น จบไม่สวย และบานปลายลุกลามใหญ่โตจนกระทบเรื่องงานแล้วล่ะก็ ถึงเวลานายใหญ่ออกโรงแล้วล่ะ แนะนำว่าให้เข้าพบหัวหน้าเพื่อปรึกษาเรื่องราวคาใจคนเดียวก่อน โดยอ้างได้ว่าเป็นสิ่งรบกวนการทำงาน จะขอเรียกเพื่อนคนนี้เข้ามาคุยพร้อมหน้ากันกับหัวหน้าเพื่อให้ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย เพราะหัวหน้าย่อมอำนาจตัดสินใจและเห็นทางออกได้มากกว่า หากข้อคิดเห็นใดถูกต้องก็เหมาะสมที่จะปฏิบัติตาม แต่ถ้าข้อไหนคุณไม่เห็นด้วยก็ควรนิ่งไว้แล้วนำมาพิจารณาภายหลัง ซึ่งคำแนะนำเหล่านี้ อาจจะออกมาในรูปแบบข้อคิดเห็น คำติเตียน ไปจนถึงคำสั่งเลยก็ได้ หากเรื่องถึงหัวหน้าแล้ว ก็ควรต้องทำใจยอมรับในผลที่จะตามมาด้วย
หากคุณมั่นใจว่า สิ่งที่คุณทำอยู่เป็นสิ่งถูกต้อง เป็นสิ่งที่ดีแล้ว ก็ขอให้มั่นใจได้เลยว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นย่อมเป็นเรื่องดีกับคุณแน่นอน คนที่คิดไม่ดี ทำไม่ดีก็ย่อมได้รับผลกรรมของตนเอง เมื่อเราเตรียมตัวและพยายามแก้ไขปัญหาแล้ว หากมีโอกาสปรับความเข้าใจกับเพื่อนคนนี้ให้ได้ ก็นับเป็นเรื่องดี ถึงแม้อาจจะไม่ได้กลับมาสนิทกันเหมือนเดิน แต่ก็ควรสะสางไม่ให้มีอคติต่อกัน ก็จะช่วยให้ทำงานราบรื่นมากกว่าทำงานไปกัดกันไป จริงไหมคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา