แค่แต่งตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่งจริงเหรอ

แค่แต่งตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่งจริงเหรอ

By Krungsri Academy

การแต่งตัวเปรียบเหมือนกระจกที่สะท้อนให้คนรอบข้างได้รับรู้ถึงรสนิยมและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตไม่มากก็น้อย

แม้จะมีคนทำงานบางกลุ่มยกมือถามว่า องค์กรบางแห่งมียูนิฟอร์มให้สวมใส่ แต่ถึงอย่างไร เราก็มองว่าไม่ว่าจะสวมชุดเหมือนกันหรือต่างกันก็สามารถแต่งตัวให้มีเสน่ห์เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ตัวเองและผู้พบเห็นได้เช่นกัน ก่อนก้าวเท้าออกจากบ้านไปทำงาน หากเราส่องกระจกแล้วยิ้มให้กับตัวเองด้วยความมั่นใจแล้วละก็ เชื่อได้เลยว่า วันนั้นจะมีเรื่องดี ๆ เข้ามาหาเราอย่างแน่นอน เหตุนี้เราจึงขอยกสถานการณ์ที่จะทำให้ผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงานมีประสบการณ์และรับรู้ได้ว่าการแต่งตัวที่ดีนั้น มีชัยไปกว่าครึ่งจริง ๆ

แต้มต่อเริ่มที่ความเนี๊ยบ


การสัมภาษณ์งานเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยรายละเอียด หลายคนคิดว่าคณะกรรมการคงโฟกัสแต่การแสดงความคิดเห็นต่อคำถามที่ได้รับเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วองค์กรขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เริ่มพิจารณาเราตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าสู่พื้นที่สัมภาษณ์แล้ว มีการให้คะแนนการแต่งกายตั้งแต่เราเดินและนั่งรออยู่นอกห้องเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งหากเราทำการบ้านไปดี ด้วยการแต่งตัวให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร เช่น ผมไม่รกรุงรัง เสื้อและกางเกงหรือกระโปรงดูเนี๊ยบเรียบร้อย แถมยังใช้โทนสีที่สอดคล้องต่อองค์กรอีกด้วย ยิ่งเรียกคะแนนนิยมเพิ่มเข้าไปอีก โดยรวมหากการแต่งตัวดูสะอาดสะอ้าน ตอบคำถามได้เฉียบคม เชื่อได้ว่า หลังจากวันนั้นเตรียมแอบลุ้นข่าวดีที่จะตามมาได้พอสมควรเลย

สนิทใจเพราะแต่งกาย


สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงาน การนัดพบลูกค้าเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่เราไม่ควรละเลยเรื่องของการแต่งตัว ยิ่งการนัดบรีฟ (Brief) แบบตัวต่อตัวด้วยแล้ว จำเป็นต้องใส่ใจรายละเอียดในการแต่งตัวเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีไปพร้อมกับความเชื่อมั่นของตัวเราเองด้วย เพราะหากวันนั้นเราแต่งตัวถูกกาลเทศะ แถมยังดูดีอีกต่างหาก รวมถึงการใช้กลิ่นน้ำหอมซึ่งเป็นรายละเอียดที่ไม่ควรมองข้ามก็สามารถทำให้เกิดการซักถามถึงข้อมูลรายละเอียดจากการแต่งตัวขึ้นมาได้ เรียกได้ว่า ‘รายละเอียดในการแต่งตัว’ จะเป็นตัวช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกค้าไปอีกขั้น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อโอกาสในการตกลงร่วมงานกันในอนาคต

คิดคม แต่งโดน รับทรัพย์


แม้จะเป็นการนำเสนองาน แถมเปอร์เซ็นต์ที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อหรือไม่นั้นย่อมอยู่ที่เนื้อหาความคิดเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว ทว่าการแต่งตัวก็ยังมีผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม หากเราศึกษารสนิยมและไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เช่น ลูกค้า A ชอบความเนี๊ยบแบบดูแพง ลูกค้า B ชอบความเรียบง่ายแต่ดูมีอะไร เป็นต้น การตีโจทย์เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ให้ออก ก็เป็นทางออกในการสร้างความประทับใจอย่างหนึ่งให้แก่ลูกค้าได้เช่นกัน เพราะบางครั้งในความคิดของลูกค้าก็มองรสนิยมการแต่งตัวและการใช้ชีวิตของเราว่าสอดคล้องกับงานที่เขากำลังจะมอบหมายให้ทำหรือเปล่าเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา