ถึงแม้เด็กรุ่นใหม่ ๆ จะไม่ได้มีโอกาสเห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือที่คนไทยเราเรียกว่า “พ่อ” ทรงงานหนักเหมือนอย่างในอดีตสักเท่าไหร่ แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่เคยเลือนหายไปไหน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันได้ถูกถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ถึงความเสียสละและวิถีชีวิตของพระองค์ท่าน ที่ไม่เคยย่อท้อต่อปัญหา และทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และสิ่งนี้ก็ได้ส่งต่อ
น้อยคนนักที่จะมองเห็นความชอบ หรือหาสิ่งที่ตัวเองรักเจอตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งใครก็ตามที่สามารถมองหาในสิ่งนั้นได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ก็จะมีโอกาสในการมุ่งมั่นและพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ โดดเด่น และเก่งในเรื่องนั้นได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ คุณแพรวา รุจิณรงค์ ก็เช่นกัน เธอเป็นคนที่รู้ว่าตัวเองหลงรักการทอผ้ามาตั้งแต่ยังเด็ก ซึมซับวัฒนธรรม ความเป็นมาและความรู้ต่าง ๆ ผ่านครอบครัวที่เป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตทุกด้าน จนวันนี้เธอดำรงตำแหน่งนักวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ สำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม จากกรมหม่อนไหม และยังเป็นเจ้าของ “เติมเต็มสตูดิโอ” สตูดิโอแห่งความสุขที่ผู้หลงรักความเป็นไทยทุกคนต้องชื่นชอบนั่นเอง
คุณแพรวา รุจิณรงค์
นักวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์
จุดเริ่มต้นของความสุข ที่หาเจอตั้งแต่ยังเล็ก
การที่คนเราจะมีความมุ่งมั่นในการทำอะไรสักอย่างให้ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยแรงใจ และความรักในสิ่งนั้นอย่างมาก ซึ่งสำหรับคุณแพรวาเองที่ประสบความสำเร็จจนถึงขั้นก่อตั้งสตูดิโอเป็นของตัวเอง และสร้างฐานะจนเป็นที่รู้จักและนับถือของคนในวงการสิ่งทอของประเทศไทยได้ ย่อมต้องมีความรักและมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำไม่น้อยหน้าใคร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ถูกสั่งสมมาตั้งแต่คุณแพรวายังเป็นเด็กนั่นเอง
“ความชอบในผ้าไทยของเราเริ่มต้นขึ้นจากการตามคุณพ่อคุณแม่ไปต่างจังหวัด แล้วเห็นลายผ้ามาตั้งแต่เด็ก พอลงชุมชนเราก็เห็นว่ามันน่าสนใจ ทำไมดูเป็นวิถีชีวิตที่มันเรียบง่ายจังเลย เห็นแล้วมันสะกิดใจ อีกอย่างคือด้วยความที่คุณตาคุณยายของเราทำงานถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่เรายังไม่เกิดด้วยซ้ำ เราเลยได้รับเรื่องราวเล่าขานมาตลอดเวลาว่าท่านทำอะไรบ้าง ท่านทรงพระราชกรณียกิจในชุมชนอะไรบ้าง เลยทำให้เราเรียนรู้และรับรู้มาตลอด พอมาถึงจุดหนึ่งเราก็เลยมีความคิดเริ่มต้นว่า เราอยากทอผ้าเป็น อยากมีวิถีชีวิตที่เป็นแบบนั้นเหมือนกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราหันมาสนใจเรื่อง Textile Design ประจวบเหมาะกับตอนนั้น สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ เปิดสอนเกี่ยวกับทอผ้า เราเลยเลือกสาขาวิชานี้เป็นตัวเริ่มต้น”
“เต็มใจทอ” โปรเจกต์เล็ก ๆ ที่ส่งผลต่อวงการสิ่งทอประเทศไทยอย่างมหาศาล
หลังจากเรียนรู้และทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนพื้นบ้านที่ทำการทอผ้าจริง ๆ มานานกว่า 5 ปี บวกกับการที่ตัวคุณแพรวาเองได้มีความรู้จากที่ได้ร่ำเรียนมาจากสาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ ทำให้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการทอผ้าไทยได้เป็นอย่างดี และพยายามสร้างสรรค์เครื่องมือในการเยียวยารักษา พร้อมแก้ปัญหาเหล่านั้นขึ้นมา ซึ่งคือโปรเจกต์ “เต็มใจทอ” นั่นเอง
“เรารับราชการเป็นนักวิชาการออกแบบที่กรมหม่อนไหม การลงชุมชนกับคนทอผ้ามาตลอด 5 ปี ทำให้เรารู้ปัญหาระหว่างนักออกแบบกับคนทอผ้าว่า เขามีทัศนคติ และวิธีคิดคนละแบบกัน แล้วจะมีวิธีไหนบ้างให้นักออกแบบกับคนทอผ้ามีความคิดใกล้เคียงกันและเข้าใจกัน เวลาจ้างเขาทอผ้าจะได้ตรงกับที่เราออกแบบไป อีกอย่างจากประสบการณ์ทอผ้าที่เราได้สะสมมาทั่วทั้งประเทศไทย เราอยากถ่ายทอดให้คนอื่น เลยเกิดเป็นเติมเต็มสตูดิโอขึ้นมา เพื่อแบ่งปัน เติมพลังให้กัน ในการที่จะทำงานที่ตัวเองมีความสุข ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นของเติมเต็มสตูดิโอ”
“จากนั้นเราก็คิดว่าคอร์สที่เราจัดจะเริ่มจากอะไรดี ซึ่งเรารู้จักการทอผ้า ก็เลยเริ่มจากความรู้ด้านนี้ เปิดเรื่องด้วยการทอผ้าแบบเบสิก เข้าใจโครงสร้างผ้า เข้าใจวิถีความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคต่าง ๆ จก ยก จีบ มัดหมี่ เกาะล้วง เทคนิคพวกนี้เราต้องสอนให้นักออกแบบเข้าใจ ผู้ประกอบการเข้าใจ ผู้บริโภคเข้าใจ เมื่อเขาเข้าใจก็จะเกิดการหวงแหน ไม่ต่อราคา เกิดการดีลงานกันได้ระหว่างชุมชน นักออกแบบ และผู้บริโภคสินค้า จึงเกิดเป็นคอร์สเต็มใจทอขึ้นมา”
อาศัยความเข้าใจ และผสมผสานข้อดีของกันและกัน เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้อย่างลงตัว
การทอผ้าเป็นสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้น ๆ ออกมาได้เป็นอย่างดี ซึ่งบางครั้งบางทีมันอาจจะกลายเป็นวัฒนธรรมที่ฝังลึกลงไปจนทำให้เกิดการปิดกั้นความคิดและจินตนาการ ซึ่งตรงนี้แหละครับที่เป็นช่องว่างอันน่าเสียดายในการพัฒนาลวดลายต่าง ๆ ให้สวยงาม และเกิดเป็นรูปทรงใหม่ ๆ ด้วยเหตุนี้นักออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างคุณแพรวาจึงเป็นที่ต้องการในแวดวงนี้
“การทำความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญนะ เราไม่เอาตัวเราไปตัดสินว่าที่เขาทำมันดีหรือไม่ดี เขาเองก็เช่นกัน ตอนแรกเขาอาจจะมองว่าเราเป็นเด็ก เราไม่รู้เรื่องหรอก แต่ในเมื่อเรามีสกิลบางอย่างที่เรามีแต่เขาไม่มี และเขาก็มีที่เราไม่มี งั้นเรามาแชร์กันดีกว่า ได้แชร์ทักษะ ความรู้สึกและความคิด หลังจากนั้นก็เหมือนเราได้เปิดหัวใจและเปิดสมองให้ทั้งคู่ จนได้งานดีไซน์ใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งเขากับเราก็พร้อมทำไปพร้อมกัน เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงเขา เขาก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเรา มันเกิดความเข้าใจร่วมกันซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกันของเรา”
ถึงแม้ด้วยความเป็นเด็กที่แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ที่น้อยกว่าอาจจะเป็นอุปสรรคไปบ้างในช่วงแรก ๆ ที่จะทำให้ผู้ใหญ่หรือคนในชุมชนรับฟังความคิดเห็น และคำแนะนำที่คุณแพรวามีให้ แต่ทุกอย่างก็สามารถผ่านพ้นไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน
“เราไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องการทำงานร่วมกัน เพราะอย่างแรกเลยคือ เราเป็นเด็ก และสองคือ เราอ่อนน้อมถ่อมตน สาม เราไปแบบงง ๆ อย่าคิดว่าเราเก่งกว่าเขา ถ้าเราคิดว่าเราเก่งกว่าเขาทุกอย่างจะปิดบังเราไปหมด จะพัฒนางานไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องไปแบบน้ำไม่เต็มแก้วและต้องเปลี่ยนเป็นแก้วได้ทุกใบ เพราะทุก ๆ จังหวัด ทุก ๆ บริบทในสังคมที่เขาอยู่มันมีหลายปัจจัย และก่อนลงพื้นที่ต้องทำความเข้าใจปัญหาในชุมชนก่อน ปรับเทคนิคไปเรื่อย ๆ ไม่มีสูตรตายตัว”
แค่หาในสิ่งที่รักให้เจอ ความสุขก็พร้อมจะเดินทางมาหาทุกวัน
บางคนอาจใช้เวลาในการค้นหาสิ่งที่ตัวเองรักหลายปี แต่สำหรับบางคนอาจจะเจอสิ่งนั้นและคลุกคลีกับมันมาตั้งแต่เกิด เหมือนอย่างเช่นคุณแพรวาที่เข้าใจในตัวเองดีว่าสิ่งที่ตัวเองรักคือการทอผ้า และทุก ๆ เรื่องราวเกี่ยวกับผ้าสามารถสร้างความประทับใจให้กับเธอได้ทั้งสิ้น
“บางชุมชนที่เราเจอก็มีปัญหาหนักแตกต่างกันไป อยู่ดี ๆ ญาติเสีย จะเทงาน ไม่ทำแล้วนะ ไม่มีอารมณ์ เพราะการทอผ้ามันเป็นศิลปะ ทุกคนที่ทอผ้าคือศิลปิน ใช้ใจอย่างเดียวล้วน ๆ แต่เราก็ประทับใจกับทุกชุมชนที่เราไปนะ เราอยู่กับคนทอผ้าแล้วเรารู้สึกว่า นี่คือชีวิต เป็นชีวิตที่ไม่ต้องมีอะไรมากมาย แต่ทำแล้วมีความสุข มีแม่คนหนึ่ง (คำเรียกชาวบ้านผู้หญิงด้วยความนับถือ) พูดกับเราว่า แพรรู้มั้ยที่แม่ทำ มันอาจจะไม่มีกำไร ไม่ได้สร้างรายได้มากมาย แต่เพราะแม่ของแม่ทำมาก่อน แม่จึงอยากทำตามที่แม่ท่านทำ พอเขาพูดแบบนี้มันสะดุดนะ คนทอผ้าพูดแบบไม่ต้องการอะไรมาก แค่อยากทำเพราะใจอยากทำ เรารู้สึกเข้าถึง รู้สึกว่าที่เขาพูดมันเป็นความจริง เราว่าการทำงานของเรา เรามีความสุขกับความเป็นธรรมชาติ ความธรรมดาของงานเรา”
แรงบันดาลใจจากคนใกล้ตัว ถึงจะมีอุปสรรคมากแค่ไหน ก็ไม่ทำให้ถอดใจยอมแพ้
การทำงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ แรงบันดาลใจนับเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนควรจะต้องมีเลยนะครับ เพราะแรงบันดาลใจ ไอดอล หรือบุคคลสำคัญที่เรายึดมั่น ถือมั่นเป็นแบบอย่างนี้ จะทำให้เรามองเห็นถึงความมุมานะ และพยายามของเขา เมื่อมาถึงจุดที่เราคิดอยากจะยอมแพ้ และล้มเลิกในความฝันหรือสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ แรงบันดาลใจตรงนี้แหละที่จะคอยยึดเหนี่ยวจิตใจเราไว้ ให้เราสู้ต่อไปอย่างไม่ยอมแพ้... และดำรงอยู่ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
ตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9
“จริง ๆ ไอดอลของเรา เราไม่ได้มองใครเลยนะ เรามองคนในครอบครัวเรามากกว่า คุณตาเราทำงานราชการ คุณปู่เราก็เหมือนกัน วันนี้เราทำงานราชการ เรารู้สึกว่าเราเหนื่อยแล้ว แต่ปู่กับตาเรา ทำงานราชการมาตลอดแล้วประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในงานราชการ แล้วเราล่ะ เราเป็นใคร ทำไมเราทำไม่ได้อย่างเขา อันนี้คือง่าย ๆ เลยคือคนใกล้ตัว สมัยก่อนถนนก็ไม่มี ไปบรรจุอยู่ที่ชายแดน ต้องขี่ม้ามารับเงินเดือนแล้วก็ขี่ม้ากลับ คุณปู่ต้องเดินข้ามเขาเพื่อเอาเงินเดือนกลับไป แล้วทำไมฉันจะอดทนไม่ได้ ทำไมฉันจะตั้งใจทำงานแบบนั้นไม่ได้ นั่นแหละคือไอดอลของเรา"
การกระทำของพ่อ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกเสมอ
ถึงแม้เด็กรุ่นใหม่ ๆ จะไม่ได้มีโอกาสเห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือที่คนไทยเราเรียกว่า “พ่อ” ทรงงานหนักเหมือนอย่างในอดีตสักเท่าไหร่ แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่เคยเลือนหายไปไหน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันได้ถูกถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ถึงความเสียสละ และวิถีชีวิตของพระองค์ท่าน ที่ไม่เคยย่อท้อต่อปัญหา และทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และสิ่งนี้ก็ได้ส่งต่อมาถึงคุณแพรวาเช่นกัน ที่ได้
ตั้งเป้าหมายและน้อมนำคำสอนของพระองค์ท่านมาเป็นแนวทางปฏิบัติ
“ยายเราเคยเล่าว่า สมัยที่ตาเราเป็นรองผู้ว่าฯ อยู่ที่นครพนม ตอนนั้นเกิดน้ำท่วม ช่วงนั้นเป็นยุคสงครามโลก ทำให้คนหนีเข้าป่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเสด็จไปเยี่ยมเยียนประชาชนที่อยู่ที่นครพนมเนื่องจากน้ำท่วมด้วย และเข้าไปดูพื้นที่ด้วยว่าเป็นยังไงบ้าง พอระเบิดลงและมีเฮลิคอปเตอร์ตก พระองค์ก็ทรงเป็นห่วง ทรงเฮลิคอปเตอร์กลับไป สมเด็จพระราชินีและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตอนนั้นก็อยู่และจะเสด็จตามไป แต่ทุกคนบอกอย่าไปนะ ให้อยู่ตรงนี้ก่อนเพราะอันตราย ยายเล่าว่าตรงที่หลบระเบิด ไม่มีน้ำดื่ม ไม่มีขนม ต้องเอาขนมปังที่ห่อติดตัวคนตามเสด็จมาให้พระองค์เสวยเพื่อรองท้อง นั่นคือความยากลำบากของพระองค์ แล้วเราล่ะ ตรงนี้แหละคือสิ่งที่เราคิดได้ว่าสิ่งที่เราจะเดินตามพระองค์คือ ทำงานให้หนัก ทำงานโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และทำงานแบบที่เข้าใจง่าย ไม่เรื่องมาก อันนี้คือเราฟังจากคนใกล้ตัว และมันคือทางที่เราควรจะไป”
ความรู้ที่ให้ไป ถ้าจะมีใครต่อยอดไปจนถึงระดับประเทศได้ ก็ยินดี
คุณแพรวาได้ตอบคำถามสุดท้ายของเราที่ว่า “มีความฝันที่จะนำผ้าไทยไปนำเสนอในเวทีระดับโลกด้วยตัวคุณเองหรือเปล่า” ด้วยทัศนคติที่แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะฟื้นฟู และพัฒนาผ้าไทยให้ไปได้ไกลในระดับโลก โดยที่ไม่หวงแหนแม้แต่วิชาของตัวเองแต่อย่างใด เธอพร้อมจะให้ทุกคนที่สนใจ และมีความสามารถมากพอ เข้ามาหยิบยกเอาความรู้เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ รวมถึงกระจายชื่อเสียงของผ้าไทยต่อไป เพื่ออย่างน้อย ๆ ทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ จะได้หันมาสนใจ และให้ความสำคัญในผ้าไทยมากขึ้น
“เราไม่ได้คิดว่าเราจะไปไกลถึงประเทศอื่นหรอก เราทำให้คนไทยรู้ได้ทั่ว ๆ ดีกว่า เราไม่ได้ต้องการให้คนอื่นรู้ ให้คนไทยรู้กันเองก่อนว่ามันไม่ยาก และจับต้องได้ง่าย อันนี้เป็นหัวใจหลักของเรามากกว่าที่เราคิดไว้ เตรียมความพร้อมของคนไทยเราเองก่อนว่ามากพอหรือยัง เรารู้มากพอแล้วหรือยัง ถึงเราจะเป็นคน ๆ เดียว เราไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนคน 2-3 คนได้ แล้วคนเหล่านั้นก็จะไปบอกต่ออีก เราเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ แล้วค่อยทำให้มันใหญ่ขึ้นดีกว่า การทำตรงนี้ เราไม่ได้ต้องการที่จะร่ำรวย ไม่ได้ต้องการยืนอยู่แถวหน้าของวงการ แต่เรารู้สึกว่าการได้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตของคนจริง ๆ ที่มีความลำบาก มีความอยากอยู่รอด แล้วเขาได้รับบางอย่างจากเราไป นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข ความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความสุขบางคนอาจมาจากสิ่งของ เงินทอง แต่ความสุขของเรามาจากการที่ได้นั่งคุยกับคน ๆ หนึ่ง แล้วเขาได้อะไรจากเราและนำไปทำงานต่อ มีลมหายใจต่อ นั่นแหละคือความสุขของเรา”