ไม่อยาก “หนีเสือปะจระเข้” ย้ายแผนกทั้งทีต้องดีกว่าเดิม

ไม่อยาก “หนีเสือปะจระเข้” ย้ายแผนกทั้งทีต้องดีกว่าเดิม

By Krungsri Plearn Plearn

คนเก่งระดับโลกอย่าง สตีฟ จ๊อบส์ เคยกล่าวไว้ว่า “งานของคุณคือการเติมเต็มในสิ่งที่สำคัญในชีวิตคุณ และทางเดียวที่จะพอใจได้คือการทำในสิ่งที่คุณเชื่อว่ามันคือสิ่งที่ดี และทางเดียวที่จะทำงานที่ดีได้คือรักในสิ่งที่คุณทำ ถ้าคุณหามันไม่เจอ ก็หามันต่อไป อย่าหยุด ทุกสิ่งที่สำคัญมันอยู่ในใจคุณ คุณจะรู้เองเมื่อใจมัน ซึ่งเหมือนกับเรื่องความสัมพันธ์ คุณจะทำมันดีขึ้นในทุกๆ ปี จงมองหามันจนกว่าจะเจอ อย่าหยุด”

จากแนวคิดการทำงานและใส่ใจคนทำงาน คุณโน๊ต ศรัณย์ คุ้งบรรพต Senior Vice President Head of Department จากแผนก HR ของธนาคารกรุงศรี คือผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องการดูแลพนักงาน คัดสรรคนให้เหมาะสมกับงาน และดูงานที่ส่งผลให้คนที่ทำมีความสุข เพราะโลกมีสองด้านเสมอ เมื่อย้ายแผนก ย้ายทีม เจอเพื่อนร่วมงานทีมใหม่ ก็ต้องคิดถึงปัจจัยที่เราจะกล่าวถึงต่อไปนี้ให้ดีก่อนตัดสินใจ

เข้าใจตัวเองก่อน

“สำหรับคนที่อยากโอนย้ายภายในหรือ อินเทอร์นัล ทรานสเฟอร์ ควรต้องเข้าใจความต้องการของตัวเองที่แท้จริงก่อน แล้วก็ทราบถึงเป้าหมายของตัวเองก่อน เพราะเท่าที่เจอจากประสบการณ์ คือมักเกิดจากการไม่แฮปปี้กับที่ปัจจุบันแล้วบอกว่า ขอย้ายแล้วกันออกจากตรงนี้ไปก่อน ที่สำคัญกว่านั้นควรจะทราบก่อนว่าตัวเองอยากทำอะไร ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าเราหนีจากปัญหาหนึ่งไปเจออีกปัญหาหนึ่ง ดังนั้นจึงแนะนำให้ศึกษาตัวเองก่อน”

ปรึกษาคนที่ช่วยแก้ได้จริงๆ

“ข้อที่สองที่ผมแนะนำเลยคือ ให้ไปปรึกษาคนที่ช่วยเราได้จริงๆ แนะนำสองคน หนึ่งคือ HR business partner (HRBP) ที่รู้จักหรือเข้าใจเราในระดับหนึ่ง เขาจะรู้ระดับความสามารถของเรา และรู้ถึงความต้องการในองค์กร ผมมั่นใจว่า HRBP จะช่วยท่านได้ ส่วนอีกคนหนึ่งก็คือไลน์เมเนเจอร์ หรือผู้บังคับบัญชาของเรานั่นเอง ไปปรึกษาว่า ถ้ามีโอกาสเราอยากลองนะ พี่มองว่าอย่างไร เหมาะสมไหม หรือไม่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องบอกก่อนว่าแต่ละคนมีผู้บังคับบัญชาที่ไม่เหมือนกัน บางท่านก็จะมีผู้บังคับบัญชาที่เข้าอกเข้าใจให้คำปรึกษาอย่างเปิดเผย แต่บางท่านก็อาจจะลำบากใจ เพราะผู้บังคับบัญชาจะค่อนข้างหวงเรา เราเป็นคนเก่งขององค์กร ผมแนะนำว่าถ้าผู้บังคับบัญชา เกิดบอกว่าไม่แน่ใจหรือว่าเกิดความไม่สบายใจอื่นๆ ให้กลับมาปรึกษา HRBP อีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าอย่างไรก็ตามโอกาสทางทางสายงาน เราดีไซน์มันได้ครับ

ทำตามขั้นตอนอย่าใจร้อน

“มาถึงขั้นตอนที่สามที่อยากแนะนำคือ เมื่อเรารู้แล้วว่าเรามีโอกาสไปตรงไหนได้บ้าง ปรึกษาเรียบร้อยแล้ว อยากให้ช่วยเคารพขั้นตอนในการโอนย้ายสักนิดครับ เพราะมันมีขั้นตอนของมันอยู่ และที่สำคัญคือต้องใจเย็น มันไม่สามารถทำได้ถึงขนาดที่เดินเข้ามาปรึกษาแล้วพรุ่งนี้จะย้ายไปเลย อันนี้ต้องใจเขาใจเรานิดนึงครับ เพราะทางทีมเดิมของเราก็อาจจะต้องการเราอยู่ ทีมใหม่ก็อาจจะต้องรอนิดครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พูดคุยกันได้ครับว่าช่วงเวลาไหนถึงจะเหมาะสมกับการโอนย้าย และอีกอย่างหนึ่งที่บางคนมาสมัครแล้ว แต่เกิดไม่ได้โอนย้าย ก็อยากบอกว่าไม่ต้องเสียใจครับ เพราะโอกาสยังมีอีกมากมาย ลองใช้เวลาศึกษาตัวเองดูก่อนแล้วค่อยหาโอกาสเปลี่ยนแปลงใหม่”

สุดท้ายขอฝากเอาไว้ว่า

“เรื่องการดีไซน์สายงานของเราเนี่ย มันเป็นหน้าที่ของพนักงานเองอยู่แล้ว แต่ว่าองค์กรจะช่วยเข้ามาดูแลพวกเราด้วยอีกทาง อยากให้ใจเย็นๆ ดูขั้นตอนวิธีการซักนิด ถัดมาก็คือค่อยๆ เลือกสิ่งที่ใช่ที่สุดสำหรับตัวเรา แล้วทุกคนก็จะแฮปปี้ องค์กรก็จะได้คนเก่งมาทำงานถูกที่ถูกเวลา ตัวพนักงานก็มีความสุขกับการทำงาน”
บางคนอาจจะยังไม่กล้าออกจาก SAFE ZONE ในสิ่งที่ตัวเองทำจำเจอยู่ทุกวัน พวกเขาก็อาจไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรจะเป็น แต่บางคนใจร้อนและไม่รอบคอบเร่งร้อนอยากประสบความสำเร็จในชีวิตจนก้าวเดินพลาด สองเคสนี้ไม่ใช่ตัวอย่างการใช้ชีวิตที่ดีทั้งคู่ จะให้ดีคือต้องรอบคอบแต่ไม่ใช่ตื่นกลัว อย่าใจร้อนเร่งก้าวจนเกินไป ควรปรึกษาคนที่ไว้ใจ และช่วยเราได้จริงๆ เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา