เริ่มต้นเป็นคนใหม่ พร้อมนิยามคำว่า

เริ่มต้นเป็นคนใหม่ พร้อมนิยามคำว่า "ดี" ของตัวเอง

By Krungsri Academy

ใคร ๆ บนโลกนี้ก็อยากเป็นคนดี มีแต่คนรัก และอยากจะเจอคนดี ๆ หลายคนคงแอบสงสัยว่าแล้วแบบไหนล่ะถึงเรียกว่า “ดี” จริง ๆ แล้วคำว่า “ดี” ไม่มีนิยามตายตัว “ดี” ของแต่ละคนย่อมต่างกันออกไป “ดี” ของบางคนอิงความดีกับศาสนา จารีต กรอบความคิดทางสังคม บางคนอิงความดีจากความรู้สึกส่วนตัว อยากทำอะไรก็ทำแค่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็พอ แต่จะบอกว่าความดีเป็นเรื่องส่วนบุคคลก็ไม่เชิง เพราะดีหรือไม่ดีของเราสามารถทำให้คนอื่นเดือดร้อนได้ อ่านมาถึงตรงนี้แล้วใครอยากเริ่มต้นเป็นคนใหม่ เป็นคนดี แต่ยังสับสนไม่รู้ว่าจะดีแบบไหน ดียังไง ลองไปดูกันค่ะ

“ดี” คือ การกระทำ

คำว่า “ดี” อาจจะฟังแล้วเป็นนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องหรือนิยามออกมาตายตัวได้ แต่ “ดี” หรือ “ไม่ดี” จะส่งผ่านการกระทำของแต่ละคนได้ เช่น เราคิดดี พูดดี ทำดี คือ ไม่ทำร้ายผู้อื่นทั้งกาย วาจา และใจ ทั้งต่อคนและสัตว์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่ทำผิดกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ก็จะแสดงออกมาผ่านการกระทำ คนรอบข้างก็จะมีความสุข สังคมก็จะสงบเรียบร้อย และที่สำคัญถึงต่อให้ไม่มีคนเห็นหรือไม่ได้ผลลัพธ์กลับมา แต่การกระทำของเราจะเป็นพลังบวกให้แก่ตัวเราเอง

จงศรัทธาในความ “ดี”

สังคมทุกวันนี้เต็มไปด้วยการเอาตัวรอด แก่งแย่งชิงดี กระเสือกกระสนในการดำเนินชีวิต จนบางครั้งเราอาจจะมีประโยคที่ว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” แว่บขึ้นมาในหัว แต่ขอเพียงเรามีศรัทธาในการทำ “ดี” ต่อไป เชื่อเถอะค่ะว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” มีจริง ถึงแม้จะไม่มีใครรู้ ถึงแม้จะไม่ได้รับสิ่งตอบแทนที่จับต้องได้ และถึงแม้เราอาจจะเหนื่อยกับสังคม แต่ความดีก็จะยังคงอยู่กับตัวของเราเสมอ อย่างน้อยใจของเราก็จะสงบไม่รุ่มร้อน

ถ้อยทีถ้อยอาศัย และ “ดี” ต่อผู้อื่นด้วยความจริงใจ

เรา “ดี” กับตัวเอง แต่ “แย่” กับคนอื่น แบบนี้ไม่เรียกว่าดี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าใครมีผลประโยชน์เราก็จะทำดี พูดจาดี แต่พอลับหลังเรากลับนินทาเขา หรือเราไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น เช่น ไม่ถนอมน้ำใจพูดจาขวานผ่าซาก ขับรถเหยียบแอ่งน้ำสาดใส่คนเดินเพราะรีบ ถึงแม้เราจะมีข้ออ้าง แต่คำว่า “ดี” ต้องดีทั้งกับตัวเองและคนอื่นถึงจะดี

ยอมให้คนเอาเปรียบไม่เรียกว่า “ดี”

บางครั้งความดีที่เราคิดอาจจะเป็นความดีที่แลกมาด้วยการถูกเอารัดเอาเปรียบได้ ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนชอบมาขอยืมของแล้วไม่คืน เพื่อนร่วมงานชอบโยนงานมาให้เกินหน้าที่ ข้างบ้านมาทิ้งขยะหน้าบ้านเป็นประจำ เราอาจจะไม่อยากมีปัญหาเลยยอมคนอื่นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยคิดว่านี่คือการที่เราเป็นคนดี มีความอดทน ช่วยเหลือผู้อื่น แบบนี้ไม่ใช่นะคะ ความดีต้องไม่ทำให้เราเดือดร้อน ดังนั้นถ้าเจอแบบนี้อีกบอกเซย์โนไปได้เลยค่ะ

ไม่ตัดสินคนอื่นด้วยคำว่า “ดี” ของเรา

“ดี” ของเราอาจจะ “ไม่ดี” สำหรับคนอื่น ดังนั้นพยายามอย่าเอาความดีของเราไปตัดสินหรือยัดเยียดให้คนอื่น เช่น เราไม่กินเนื้อวัวเพราะเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไปห้ามคนอื่นไม่ให้กิน หรือไปเหยียดหยามคนอื่นที่ไม่ปฏิบัติเหมือนคุณ การกระทำแบบนั้นอาจจะไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นก็เป็นได้

เรียนรู้ที่จะทำความ “ดี” ไปตลอดชีวิต

ความดีไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด เราทุกคนต่างต้องลองผิดลองถูกด้วยกันมาทั้งนั้น วันหนึ่งสิ่งที่เรายึดมั่นว่าดี อาจจะไม่ดีเหมือนอย่างที่เราคิด หรือถ้าเราเปลี่ยนสังคม บรรทัดฐานเรื่องความดีของแต่ละที่ก็ต่างกันไป ดังนั้นเราไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในความดีของตัวเองด้านเดียว แต่ควรหมั่นพิจารณาความดีของตัวเอง และเรียนรู้ที่จะทำความดีไปตลอดชีวิต

คำว่า “ดี” ควรอยู่บนพื้นฐานความยุติธรรม

ความสนิทหรือความชอบพอไม่เท่ากับ “ดี” เสมอไป ยกตัวอย่างเช่น คน 2 คนทำแบบเดียวกัน ซึ่งเราเห็นว่ามันผิด เราไม่ชอบใจอีกคน แต่อีกคนที่เป็นคนสนิทเรากลับเฉย ๆ เราดำเนินตามกฎหมายกับอีกคน แต่อีกคนเราหลับตาข้างนึงปล่อยผ่าน แบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คำว่า “ดี” นิยามไม่ได้ก็จริง แต่เราควรมีมาตรฐานในการตัดสินความยุติธรรม ไม่งั้นถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ๆ สังคมก็จะวุ่นวายได้

ความ “ดี” ของเราต่างกันแต่ต้องอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน

ถ้าเราทุกคนเอาแต่อ้างความดีในแบบของตัวเอง หรืออ้างว่าทำอะไรก็ได้ไม่เดือดร้อนคนอื่น (ซึ่งจริง ๆ คนอื่นอาจจะเดือดร้อนแต่เราไม่สนใจ) เช่น เราไปรุมกระทืบคนที่เราเห็นว่าเป็นคนไม่ดี เห็นต่างกับเรา แบบนั้นเราก็จะมีความผิดด้วย อีกทั้งสังคมก็จะสับสนอลหม่าน ไม่มีใครฟังใคร ไม่มีใครยอมใคร ดังนั้นถึงแม้ว่าความดีต่างกัน แต่เราควรยึดกฎหมายเป็นบรรทัดฐานของสังคม
 
คงไม่มี “ดี” แบบไหนที่เป็น “ดี” อย่างแท้จริง แต่เราควรหาว่า “ดี” แบบไหนที่ “พอดี” สำหรับเรา และเป็น “ดี” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ทำร้ายหรือสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นทั้งร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน ที่สำคัญ คือ เราต้องเคารพต่อคนอื่นและตัวเองให้มาก
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow