เครื่องสำอางเมดอินไทยแลนด์ ธุรกิจนี้ยังสดใสท่ามกลาง “คู่แข่ง”

เครื่องสำอางเมดอินไทยแลนด์ ธุรกิจนี้ยังสดใสท่ามกลาง “คู่แข่ง”

By Krungsri GURU SME
guru-sme

ไม่น่าแปลกใจหากมีผู้ประกอบการหน้าเก่าหน้าใหม่รายเล็กรายใหญ่สนใจเข้ามาทำธุรกิจเครื่องสำอางและความงาม นอกเหนือจากรายเดิมที่ทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะบรรดานักร้องนักแสดงทั้งหลาย เพราะธุรกิจนี้ในบ้านเรามีเม็ดเงินมหาศาล ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะย่ำแย่แค่ไหนก็ตาม ทั้งนี้ในแต่ละปีมียอดขายหลายหมื่นหลายแสนล้านบาทและมีแนวโน้มเติบโตทุกปีพูดได้ว่าสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาของโลกก็ว่าได้

ข้อมูลดังกล่าวสอดรับกับการที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเคยจัดอันดับ 10 ธุรกิจที่โดดเด่นในแต่ละปี และพบว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม มักอยู่ในอันดับหนึ่งติดต่อกันมาหลายปี
ธุรกิจเครื่องสำอางนั้น แยกย่อยเป็นสินค้าสกินแคร์และแฮร์แคร์ โดยสินค้าสำหรับดูแลผิวหน้าและผิวกายจะได้รับความนิยมสูงสุดและในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยเติบโตเฉลี่ย 10-20% ต่อปีจัดอยู่ในอันดับที่ 17 ในการผลิตเครื่องสำอางของโลกอีกทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีและส่วนผสมเครื่องสำอางอย่างมากในเอเชียรองจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
ฟังข้อมูลหลัก ๆ แบบนี้คงพอจะเห็นภาพรวมแล้วว่าธุรกิจเครื่องสำอางนั้นยิ่งใหญ่ขนาดไหน และไทยก็อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการบ้านเรามีศักยภาพที่จะแข่งขันในเวทีสากลได้อย่างสง่างาม
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเครื่องสำอางมีอัตราการเจริญเติบโตและขยายอย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะผู้คนในยุคปัจจุบันทั้งเพศชาย เพศหญิง และเพศที่สามทั้งหลายในทุก ๆ ช่วงวัย โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาวต่างให้ความสนใจใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ความงาม และผิวพรรณรวมทั้งการดูแลตัวเองมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ความงามในท้องตลาดไม่ว่าจะเป็นเมดอินไทยแลนด์หรือนำเข้าจากต่างประเทศ และที่ร่วมทุนกัน ขายดิบขายดี ทำเงินก้อนโตให้กับผู้ประกอบการของไทยและต่างชาติ รวมถึงการผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดของสถานเสริมความงามต่าง ๆ
ดังนั้นเมื่อเป็นตลาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินมหาศาล ย่อมจะมีการแข่งขันสูงเป็นธรรมดา โดยมีคู่แข่งทั้งที่เป็นแบรนด์ของคนไทยและแบรนด์อินเตอร์ ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้กระแสเคป็อบมาแรง เครื่องสำอางจากเกาหลีใต้ก็เป็นที่นิยมกันมากขึ้น ถึงขั้นมาเปิดร้านขายในเมืองไทย แต่ในระยะหลังกระแสดังกล่าวแผ่วลงไปบ้างแล้ว ขณะที่แบรนด์จากญี่ปุ่นและตะวันตกยังครองใจลูกค้าคนไทยมาตลอด โดยเฉพาะเครื่องสำอางระดับไฮเอนด์หรือเกรดพรีเมี่ยมทั้งหลาย
ด้วยเหตุนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยหลายค่ายก็ได้จับมือกับผู้ผลิตในเกาหลี-ญี่ปุ่น ผลิตสินค้าขายในบ้านเรา พร้อม ๆ กับแบรนด์ดัง ๆ ของญี่ปุ่นและเกาหลีก็พาเหรดเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่ามีกำลังซื้อสูง
นอกจากนี้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปลายปีนี้ย่อมส่งผลให้เครื่องสำอางแบรนด์ดังจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากประตูการค้าการลงทุนเปิดสะดวกขึ้น หลังจากนี้ชื่อว่าเครื่องสำอางจากทั่วทุกมุมโลกจะแห่แหนมาที่ไทย และใช้เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าในยังประเทศอาเซียนทั้งหลาย โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV ที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และในทางกลับกันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของไทยก็มีโอกาสทำตลาดในอาเซียนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ซึ่งแบรนด์ไทยก็เป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศ CLMV
ขณะเดียวกันหน่วยงานทั้งภาครัฐ-เอกชน ต่างร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ด้านการผลิตเครื่องสำอางในอาเซียน เพราะผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในเรื่องผลิต และปัจจุบันหลายแห่งก็รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ดังในระดับโลกอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามปัญหาหนึ่งของผู้ประกอบการไทย คือ ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีแบรนด์ในระดับนานาชาติที่เข้มแข็ง และบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่ง เน้นเพียงการผลิตป้อนให้กับแบรนด์ของต่างชาติเป็นหลัก มีบางรายเท่านั้นที่ริเริ่มจะสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจหลังการเปิดเออีซี ซึ่งการจะไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นจนเกินไป เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและความงามของไทยพัฒนามาถึงระดับหนึ่งถึงขั้นผลิตเครื่องสำอางนาโนกันแล้ว
อุปสรรคอีกอย่างของผู้ประกอบการไทยที่พบเจอ คือ ต้องนำเข้าวัตถุดิบเกือบทั้งหมด เช่น หัวน้ำหอมน้ำมันบำรุงผิว และสารสกัดต่าง ๆ จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศในยุโรป ทำให้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ในสภาวะที่มีการแข่งขันกันสูง ผู้ประกอบการหน้าเก่าหน้าใหม่ทั้งหลายจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ในทุก ๆ สถานการณ์ สิ่งหนึ่งที่จะต้องรู้ คือ เทรนด์ของลูกค้าทั่วโลก ซึ่งต่างให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติโดยเฉพาะพืชและสมุนไพร อาทิ สารสกัดจากสาหร่ายทะเล และสารสกัดจากสมุนไพรนานาชนิด และถ้าจะให้ดีต้องเป็นพวกที่มีผลงานการวิจัยรองรับและเป็นที่รับทราบกันทั่วไปนอกจากนี้จะต้องมุ่งเน้นไปในเรื่องการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะตอนนี้หลายประเทศในยุโรปก็ได้ใช้มาตรการดังกล่าวเป็นกลไกหนึ่งในการคัดเลือกสินค้านำเข้า
พูดถึงส่วนผสมจากสมุนไพรที่กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก อย่างในบ้านเราเมื่อไม่กี่ปีมานี้กระแสฟักข้าวมาแรงก็ได้มีการนำฟักข้าวมาทำเป็นเครื่องดื่มและนำสารสกัดมาทำเป็นครีมต่าง ๆ รวมทั้งนำมาบรรจุเป็นแคปซูล บ้างก็นำสารสกัดจากทานาคาและข้าวสังข์หยดมาทำเป็นเซรั่มเป็นครีมบำรุงหน้าบำรุงผิว ซึ่งแม้จะขายในราคาค่อนข้างแพง แต่ปรากฏว่ากระแสตอบรับดีมากเพราะลูกค้าต่างทราบถึงสรรพคุณของสมุนไพรพวกนี้เป็นอย่างดี
บางรายนำสารสกัดจากผงถ่านไม้ไผ่มาทำเป็นครีม เป็นยาสีฟัน หรืออย่างผู้ประกอบการเกาหลีได้นำเกลือทะเลมาเผาในกระบอกไม้ไผ่ แล้วใช้เกลือที่ผ่านการเผานั้นมาใช้ในการขัดผิวพอกหน้าและรับประทาน
ทุกวันนี้แม้คุณภาพการผลิตเครื่องสำอางของไทยจะไม่เป็นรองใคร แต่ถ้าพูดถึงการทำตลาดในระดับสากล บ้านเรายังมีปัญหาอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางรายอาจจะมีปัญหาเรื่องเงินทุน
สิ่งหนึ่งที่จะทำได้ก็คือ การค้าขายผ่านทางออนไลน์ โดยเฉพาะการฝากขายในเว็บขายสินค้าชื่อดังทั้งหลาย เส้นทางนี้ส่งผลให้เอสเอ็มอีประสบความสำเร็จกันมาแล้วหลายราย ขึ้นอยู่กับว่าสินค้านั้นมีคุณภาพมาตรฐาน มีจุดเด่นที่แตกต่างจากเจ้าอื่นในท้องตลาดอย่างไร ลูกค้าเชื่อถือและยอมรับมากน้อยแค่ไหน

 
ทั้งหมดนี้คงทำให้เห็นกันแล้วว่าหนทางเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและความงามของไทยมีโอกาสรุ่งโรจน์ในเวทีระดับโลกต่อไปอย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา