วัฒนธรรมองค์กรแบบไหนที่คนเก่งอยากทำงานด้วย

วัฒนธรรมองค์กรแบบไหนที่คนเก่งอยากทำงานด้วย

By รวิศ หาญอุตสาหะ

องค์กรไม่ว่าใหญ่โตแค่ไหนถ้าหากปราศจาก “คน” ก็คงเป็นเพียงแค่ตึกและอาคาร คนจึงมีความสำคัญมากสำหรับองค์กร เพราะเป็นเสมือนหัวใจในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ และแน่นอนว่าต้องเป็นคนที่เก่งด้วย เพื่อทำให้องค์กรสามารถที่จะแข่งขัน หรือยืนหยัดในสภาวะที่การแข่งขันนั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างในทุกวันนี้ได้

  ฉะนั้นหนึ่งในหน้าที่สำคัญ (มากๆ ) สำหรับองค์กร คือ การต้องหา “คนเก่ง” มาทำงานด้วยให้ได้ และหนึ่งในเรื่องสำคัญที่จะทำให้องค์กรสามารถดึงดูดคนเก่ง ๆ เข้ามาร่วมงานก็คือ ตัววัฒนธรรมองค์กรนี่ล่ะครับ

คำถาม คือ... แล้วเหล่าคนเก่ง ๆ นั้นอยากทำงานกับวัฒนธรรมองค์กรแบบไหนกันล่ะ? ในบทความนี้เราจะมาคุยกันถึง 7 วัฒนธรรมที่คนเก่งอยากทำงานด้วยกันครับ
 

Trust | ความเชื่อใจ-ไว้ใจ :

โดยปกติของคนส่วนใหญ่แล้ว.. เชื่อไหมครับว่า เราทุกคนอยากทำงาน หรือรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้ออกมาดี ดังนั้นการออกแบบวัฒนธรรมองค์กร ให้มีความยืดหยุ่น ให้เขารู้สึกได้ถึงความไว้ใจ และเชื่อใจถือเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องนี้สามารถถูกออกแบบ และสอดแทรกเข้าไปในหลายส่วน ตั้งแต่เรื่องของนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่นอย่างการ work from home หรือ work from anywhere การปรับลดกฎเกณฑ์ หรือแม้แต่เรื่องของการให้คนทำงานเป็นคนกำหนด Goals ในการทำงานด้วยตัวเอง ก็จะทำให้คนทำงานรู้สึกว่าเขาได้รับความเชื่อใจ
 

Innovation | นวัตกรรม :

พอพูดถึงคำว่า Innovation หรือนวัตกรรม หลายคนก็อาจจะนึกถึงบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ของโลกทั้งหลาย แต่ก็บอกว่าไม่ใช่ทั้งหมด จริงอยู่ว่าการทำงานในบริษัทเทคที่มีเทคโนโลยีสุดล้ำระดับโลกจะดูเท่ ดูคูล แต่ก็ใช่ว่าบริษัทในระดับของ Local (ไม่ว่าจะประเทศหรือท้องถิ่น) จะไม่สามารถทำได้ เพราะหลายครั้งนวัตกรรมก็เป็นสิ่งที่เรียบง่ายและไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรมากมาย

Workplace Environment | สภาพแวดล้อมในการทำงาน :

เรื่องของ workplace environment เป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก แต่เรื่องนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของบรรยากาศ ความสวยงามของออฟฟิศ แต่มันเป็นเรื่องของบรรยากาศการทำงาน เรื่องของเพื่อนร่วมงาน และเมื่อไหร่ก็ตามที่สภาพแวดล้อมโดยรวมของการทำงานดีไม่ Toxic (เป็นพิษ) ผลลัพธ์ ต่าง ๆ โดยรวมก็จะออกมาดีขึ้นเช่นกัน เรื่องนี้มีผลอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานที่เป็น Gen Z ซึ่งกำลังกลายเป็นกำลังหลักในการทำงานของอนาคตต่อจากนี้

แต่เอาจริง ๆ แม้เราจะไม่ใช่คนที่อยู่ในกลุ่ม Gen Z แต่ถ้าให้เราเลือกที่ทำงาน บรรยากาศการทำงาน หรือเพื่อนร่วมงาน ก็คงไม่มีใครอยากทำในที่ที่ Toxic จริงไหมครับ…
 

Talent attracts talented people | คนเก่งจะดึงดูดคนเก่ง :

ถ้าเรามีโอกาสได้คุยกับคนเก่ง ๆ หลายคน และมีโอกาสได้นั่งถาม นั่งพูดคุยกับเขาลงไปลึก ๆ ว่า ถ้าเขาต้องเลือกเข้าทำงานสักที่หนึ่งเนี่ย ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เขาอยากเข้าไปทำงานกับองค์กรนั้น ๆ และหนึ่งคำตอบที่ผมมักจะได้ยินเสมอ ๆ นั้น คือ… อยากทำงานกับคนเก่ง ๆ

เพราะโดยพื้นฐานของคนเก่ง แม้เขาจะมีทักษะ หรือมีของอยู่แล้ว แต่คนเหล่านี้มักจะเป็นคนที่มีลักษณะเป็น lifelong learning (เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต), challenge (ชอบความท้าทาย) ทำให้หลายครั้งเหตุผลในการตัดสินใจเข้าทำงานกับที่ไหนที่หนึ่งของเขา Priority (ลำดับความสำคัญ) แรก ๆ ก็เป็นคำถามที่เรียบง่ายว่า เขาจะได้ทำงานกับคนที่เก่ง หรือทีมที่เก่งหรือเปล่า

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยครับว่า.. ทำไมบางองค์กร ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ PR เรื่องวัฒนธรรมองค์กรอะไรมากมายนัก แต่กลับมีแต่คนเก่ง ๆ อยากทำงานด้วย ส่วนหนึ่งก็เพราะเรื่องนี้ล่ะครับ

 

Leadership | ความเป็นผู้นำ :

ถ้าพูดกันถึงเรื่องของ Leadership หรือความเป็นผู้นำนั้น แน่นอนว่าแต่ละคนก็น่าจะมีนิยามที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งนี้ยังคงเป็นสิ่งที่มีผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

Fairness | ให้ความยุติธรรม :

สิ่งนี้อาจจะเป็นเรื่องที่มีความยากอยู่ในตัวพอสมควร เพราะบางครั้งความแฟร์ของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน แต่ไม่ว่าความแฟร์ในความหมายของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร หน้าที่สำคัญขององค์กร คือ.. ต้องหาจุดกึ่งกลางให้เจอระหว่างตัวบริษัท และคนทำงาน ทำให้คนทำงานนั้นรู้สึกได้ว่า บริษัทแฟร์กับเขา

แต่หลายครั้งพอพูดถึงเรื่องของแฟร์เราก็มักจะไปนึกถึงเรื่องของการจ่ายงาน เรื่องของรายได้ต่าง ๆ ใช่ครับ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิด ต้องทำให้แฟร์ แต่จากผลสำรวจของ greatplacetowork.com พบว่า กว่า 38% ของการสำรวจ บอกว่าการจ่ายเงินที่ยุติธรรม ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจ หรือความตั้งใจที่จะทำงานที่นี้ต่อ แต่กลับเป็นเรื่องของความรู้สึกอย่าง เช่น ถ้าเขาทำงานชิ้นนี้ออกมาดีก็ควรได้รับคำชม ควรได้รับเครดิต

โดยกลุ่มคนที่ทำสำรวจยังบอกต่ออีกด้วยว่า การได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมจะทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะคิดว่าที่ทำงานของเขานั้นดีหรือยอดเยี่ยมมากขึ้น 2 เท่า
แต่กลับกันเมื่อพวกเขารู้สึกภูมิใจในงานตนเอง พวกเขามีแนวโน้มที่จะบอกว่าบริษัทที่เขาทำงานอยู่นั้นยอดเยี่ยมมากขึ้นถึง 20 เท่า
 

Caring & Empathy | ใส่ใจ :

เป็นปกติที่คนทำงานทุกคนจะรู้สึกดี ถ้าหากเขารับรู้ได้ว่าองค์กรใส่ใจเขา รู้สึกได้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ และเรื่องนี้ต้องเริ่มจากตัวผู้บริหารระดับสูงก่อนเป็นอันดับแรกเลย ผมว่าทุกคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องเล่าเมื่อครั้งตอนที่ Tim Cook (ทิม คุก) ซีอีโอของบริษัท แอปเปิ้ล เดินทางไปเยี่ยมหน้าร้านแห่งหนึ่งของเขา และมีพนักงานขาย เข้ามาพูดคุยและถามข้อมูลกับเขาบางอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทิม คุก ตั้งใจตอบคำถาม และอธิบายสิ่งต่าง ๆ อย่างละเอียดให้กับพนักงานคนนั้นฟัง จนพนักงานคนนั้นรู้สึกรับรู้ได้เลยว่า เขามีความสำคัญกับองค์กร และซีอีโอให้ความสำคัญกับเขา

แน่นอนว่าผู้บริหารคงไม่สามารถเดินทางไปพูดคุยกับพนักงานทุกคนได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่สามารถถูกส่งต่อมาได้ อาจจะเป็นการ์ด กล่องของขวัญ หรืออีเมล ที่ถูกเขียนขึ้นอย่างตั้งใจ

เรื่องวัฒนธรรมขององค์กรไม่ใช่อะไรที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในทันที หลายอย่างต้องใช้เวลา และความอดทนอย่างมากในการทำให้เกิดขึ้น และระหว่างที่เกิดการเปลี่ยนแปลงคนจะเจอกับปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ มากมาย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่วัฒนธรรมองค์กรได้ถูกปรับเปลี่ยน และเริ่มเซ็ตตัว เริ่มเข้ารูปเข้ารอย เมื่อนั้นคุณจะรู้สึกขอบคุณ… ที่วันนั้นเราตัดสินใจเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของเราให้ดีขึ้น

เหมือนที่ Simon Sinek (ไซมอน ซิเนค) ผู้เขียน Start with why เคยบอกไว้ว่า
“Customers will never love a company until the employees love it first.”
“ลูกค้าจะไม่มีวันรักบริษัทของคุณ จนกว่าพนักงานของคุณจะรักมันเสียก่อน”
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow