ชีวิตจริงมนุษย์ฟรีแลนซ์ อาชีพนี้เหมาะกับคุณหรือไม่

ชีวิตจริงมนุษย์ฟรีแลนซ์ อาชีพนี้เหมาะกับคุณหรือไม่

By Krungsri Guru

ทุกวันนี้ เงิน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สุดของหลาย ๆ คน แต่จะอยู่เฉย ๆ เงินก็ไม่วิ่งมาหา เพราะฉะนั้นต้องมีงาน จึงจะมีเงิน ซึ่งอาชีพฟรีแลนซ์ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่หลาย ๆ คนให้ความสนใจ อาจเป็นเพราะแรงดึงดูดอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น

  • อยากจะทำงานตอนไหน เวลาไหนก็ได้ตามใจชอบ
  • บรรยากาศการทำงานก็เลือกได้ว่าวันนี้อยากไปนั่งทำที่ร้านกาแฟ หรือจะทำในห้องนอนเลย
  • จะกินข้าวตอนบ่าย หรือจะแวะไปดูหนังก่อนแล้วค่อยกลับมาทำงานต่อก็ได้
  • เป็นนายตัวเอง
แต่เรื่องก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดไว้เสมอ เพราะไม่มีงานอะไรที่ทำแล้วสบายหรอก ฟรีแลนซ์เองก็ต้องทำงานไม่ต่างจากพนักงานประจำ เผลอ ๆ อาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำ เรามาดูกันดีกว่าว่าอาชีพฟรีแลนซ์นี้จะเหมาะสมกับคุณหรือไม่หากต้องพบกับสิ่งเหล่านี้

1. การพบปะพูดคุยกับลูกค้า

แน่นอน สิ่งแรกสุดที่เราจะสร้างคอนเน็คชั่น คือ การพบปะพูดคุยกับลูกค้า โดยที่คุณต้องทำงาน วางแผน ตัดสินใจ เรียกได้ว่าต้องทำทุกอย่างตั้งแต่พรีเซ็นต์จนถึงปิดจ๊อบงาน หากคุณเป็นคนพูดไม่ค่อยเก่งหรือไม่กล้าตัดสินใจแล้วล่ะก็ ขอบอกไว้เลยว่าคุณต้องฝึกสกิลและพัฒนาตัวเองให้มีความมั่นใจ พูดจาฉะฉาน และกล้าตัดสินใจให้เด็ดขาด นั่นจะทำให้คุณมีคอนเน็คชั่นต่อ ๆ ไปตามมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีลีลาการพูดที่อ่อนหวานแทรกไปด้วย เพราะลูกค้าอาจขอต่อรองราคางานกับเรา ยกตัวอย่างคำถามต่าง ๆ เช่น
“งานนี้คงไม่ยากเกินไปสำหรับน้อง พี่ให้เราราคานี้ก็แล้วกันนะเดี๋ยวจะหางานมาให้อีก”
“พี่อยากได้งานแบบนี้ มีลูกเล่นหน่อย ๆ แปลกตานิด ๆ น้องทำให้ได้มั้ย”
“ช่วยแก้ตรงนี้นิดนึงนะ ไม่บวกเพิ่มใช่มั้ย”

2. งาน และการแก้ไขงาน

การทำงานในแต่ละครั้งแน่นอนว่า ต้องมีการแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เมื่อผันตัวมาทำฟรีแลนซ์ก็อย่าลืมทำใจกับจุดนี้ด้วย เพราะคุณจะโดนแก้ไขงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางที่ดีคุณต้องตกลงกับทางลูกค้าให้ชัดเจนก่อนว่า สามารถแก้ไขงานได้กี่ครั้ง งานแต่ละชิ้นมีขอบเขตในการแก้ไขอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะนั่นจะช่วยให้คุณทำงานได้อย่างสบายใจและไม่ต้องมานั่งหัวปั่นแก้งานเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า

3. เดือนที่ไม่มีงานเข้า

เมื่อไม่ได้ทำงานประจำ ปัญหาอย่างหนึ่งที่จะตามมาคือ บางเดือนไม่มีงานเข้ามาเลย เราจะทำอย่างไร หรือระยะการจ่ายเงินล่าช้า เพราะมีการจ่ายเป็นงวด ๆ การหารายได้เสริมในทางอื่น ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เรามีเงินเข้ามาในเดือนที่ไม่มีงานได้ ควรหางานเสริมที่เกี่ยวข้องกับเราหรือการขายในสิ่งที่เราชอบ ก็ช่วยให้มีรายได้ไม่น้อยเหมือนกัน ที่สำคัญต้องมีการวางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพื่อสำรองเงินเผื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นด้วย

4. ไม่มีเพื่อนร่วมงาน

อาจจะเหงาไปบ้าง เพราะระหว่างวันไม่มีเพื่อนร่วมงานมานั่งพูดคุย แต่ก็แก้ได้ง่าย ๆ โดยการออกไปสังสรรค์เข้าสังคม หรือการออกงานตามอีเวนท์ต่าง ๆ เพราะถ้าคุณเป็นคนพูดเก่ง อัธยาศัยดี เข้ากับคนอื่นได้ง่ายแล้วล่ะก็ จะทำให้เรารู้จักคนมากขึ้นแถมยังเป็นการเพิ่มคอนเน็คชั่นดี ๆ หาลูกค้าไปในตัวได้อีกด้วย

5. ไม่มีวันหยุดและไม่มีเบิกค่ารักษาพยาบาล

ก็จริงที่ฟรีแลนซ์จะเลือกทำงานวันไหนก็ได้ แต่ถึงยังไงก็ยังต้องมีเส้นตายของงานชิ้นนั้นอยู่ บางครั้งอาจต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้ทันกำหนดส่ง แถมถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ก็ไม่มีใครให้เบิกค่าใช้จ่ายด้วย นอกจากตัวคุณเอง ดังนั้นคุณต้องดูแลรักษาร่างกายของคุณเองให้ดีที่สุด อย่าให้เจ็บไข้ได้ป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ เพราะนั่นอาจจะทำให้รายได้ของคุณหายไปด้วย สรุปได้เลยว่า ไม่มีงานใดที่จะทำแล้วสบาย งานทุกงานมีความยากง่ายในตัวมันเองอยู่แล้ว ซึ่งหากใครอยากทำอาชีพฟรีแลนซ์ก็ควรศึกษารายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมให้ดี รวมทั้งควรศึกษาเคล็ดลับบริหารเงินสำหรับผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำด้วย แต่รายละเอียดข้างต้นเป็นแค่คำแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขอให้ทุกคนรักในอาชีพงานที่ทำอยู่ เพราะงานทุกงานนอกจากจะให้เงินแล้ว ยังให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา