Work-Life Balance

Work-Life Balance

By Guest Guru

ปพนธ์ มังคละธนะกุล เมื่อเร็ว ๆ นี้หลาย ๆ บริษัทในประเทศสวีเดนได้ประกาศลดชั่วโมงทำงานในแต่ละวันลงเหลือ 6 ชั่วโมงจากมาตรฐานทั่วไป 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพชีวิตของพนักงานในองค์กร เพื่อไม่ให้พนักงานเหนื่อยล้าเกินไป ยังมีเวลาและพลังงานเหลือเพื่อใช้ชีวิตส่วนตัวให้เต็มที่กว่าเดิม หาใช่เพื่อต้องการลดชั่วโมงทำงาน ลดค่าใช้จ่าย เพราะเศรษฐกิจไม่ดี แต่นี่เป็นการลดชั่วโมงทำงาน โดยพนักงานยังได้ค่าจ้างเท่าเดิม

ฟัง ๆ ดูอาจจะแปลกตามมาตรฐานสังคมไทยที่บางคนทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ยังไม่สามารถจะเคลียร์งานให้แล้วเสร็จได้ตามเวลาเลย ต้องทำงานล่วงเวลา ต้องอยู่ดึกทำงานเกินกว่าเวลาที่กำหนด แล้วการลดเวลาทำงานลงเหลือเพียง 6 ชั่วโมง จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างไรกัน
ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติการทำงานของฝรั่งก่อน ฝรั่งในที่ทำงานจะค่อนข้างให้ความสำคัญกับการทำงานของบริษัทจริง ๆ เรื่องส่วนตัว เรื่องคุยเล่น เล่นไลน์ เล่น Social Network เป็นเรื่องของเวลาพัก และเวลาส่วนตัว กระทั่งเวลาพักเที่ยง หลาย ๆ ประเทศยังนำอาหารมานั่งทานบนโต๊ะทำงานเสียด้วยซ้ำ เขาต้องการทำงานให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ไปใช้ชีวิตส่วนตัว พักผ่อนหรือทำกิจกรรมตามความสนใจ
ต่างกับคนไทยอย่างสิ้นเชิง คนไทยในที่ทำงานมักจะไม่ค่อยแยกระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องบริษัท เป็นเรื่องปกติที่พนักงานมักเล่นไลน์ Social Network ในที่ทำงาน การประชุมก็มักไม่ค่อยมีเป้าหมายในการประชุมที่ชัดเจน ประชุมจบไม่รู้ว่าต้องทำอะไรต่อ ครั้งหน้าค่อยมาเจอกันใหม่ หนำซ้ำการประชุมยังเยอะเสียจนไม่มีเวลาทำงาน แถมยังแยกแทบไม่ออกว่าเป็นประชุมเพื่อต้องการตัดสินใจ หรือเป็นการทำ Workshop เพื่อระดมสมองกันแน่ พักเที่ยงก็พักนานเกินเวลา นั่งรถไปทานกันไกล ๆ บ้าง หรือแวะช้อปปิ้งตามตลาดนัดต่าง ๆ หลังอิ่มท้องกัน
Work-Life Balance เป็นสิ่งที่ดีควรสนับสนุน และเป็นแนวทางที่ยั่งยืน คนเราจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ สภาพร่างกายและจิตใจต้องพร้อม หมดยุคเสียแล้วที่จะให้พนักงานทำงานหามรุ่งหามค่ำทุ่มเทให้กับงานเพียงอย่างเดียว
แต่ Work-Life Balance หาใช่การทำงานแบบชิว ๆ เช้าชามเย็นชามไม่
Work-Life Balance จะเกิดได้ต้องแยกแยะเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวให้เด็ดขาด ที่ทำงานคืองานเป็นหลัก เรื่องส่วนตัวคือเรื่องนอกที่ทำงาน เมื่อแยกแยะได้ จึงจะเกิดสมดุลได้ ทำงานก็ทำเต็มที่ ไม่วอกแวก เรื่องส่วนตัวก็ผ่อนคลายเต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องงาน ความไม่สมดุลจะไม่เกิดขึ้นก็เพราะการไม่รู้จักแยกแยะ ปนกันมั่วเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวนี่แหละ
แยกแยะแล้วยังไม่พอ ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญแก่คุณภาพของงานและผลของงานมากกว่าระยะเวลาที่ใช้ในที่ทำงาน คนไทยเรายังติดกับค่านิยมเก่า ๆ คนทำงานหนัก คือ คนที่อยู่ในที่ทำงานนาน มาเช้ากลับดึกมักจะถูกมองว่าเป็นคนขยัน คนตั้งใจทำงาน คนที่ทุ่มเทให้กับองค์กร สมควรได้รับการตกรางวัล
 
เศรษฐกิจสมัยใหม่เป็นเรื่องของการเอาชนะกันด้วยแนวคิด ไอเดีย การหาไอเดีย หาแรงบันดาลใจ ต้องให้พื้นที่ ให้อิสระแก่พนักงาน คุณจะวัดได้อย่างไรว่าคนไหนคิดได้ดีกว่ากัน ต้องดูที่ผลลัพธ์เท่านั้น เพราะเป็นสิ่งเดียวที่จับต้องได้ ระยะเวลาในที่ทำงานไม่สามารถบอกได้ คนทุ่มเทแต่ไม่เกิดผลจะเรียกว่า ดีได้เต็มปากได้อย่างไร
การให้คุณค่าจึงต้องเน้นไปที่ผลของงาน การให้รางวัลต้องยึดผลของงานเป็นหลัก ต้องให้ความสำคัญกับผลงานมากกว่าความพยายาม
 
ความพยายาม ความทุ่มเท เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน แต่คนที่มีผลงานต้องเป็นคนที่ได้รับรางวัล เราไม่สามารถให้รางวัลกับความพยายามที่ไม่เกิดผลได้ เพราะสมรภูมิธุรกิจแห่งอนาคต วัดกันที่ไอเดีย และผลลัพธ์ ความพยายามที่ไม่เป็นผลถือว่าไม่มีประโยชน์
การจะทำให้ Work-Life Balance เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย ต้องเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมและทัศนคติของทั้งฝ่ายบริหารและพนักงานชั้นปฏิบัติการ จะอยู่เฉย ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และคิดว่าเพียงแค่ลดชั่วโมงทำงานลง ก็จะเกิดผลอย่างประเทศอื่น...ไม่มีทาง
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา