เมื่อประเทศพัฒนาแล้วทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศจีน ส่งสัญญาณฟื้นตัว พร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบทิศทางอย่างหนักหน่วง กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคัก ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวและเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ เช่นเดียวกับภูมิภาคของเรา ประเทศกลุ่มอาเซียนก็ได้รับอิทธิพลหรือประโยชน์จากการฟื้นตัวของประเทศชั้นนำด้วยเช่นกัน และดูเหมือนว่า Top 3 ที่จะฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ต้องยกให้ เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา ซึ่งกำลังกลายเป็น “ม้ามืด” ที่ทุกสายตากำลังจับจ้องทุกความเคลื่อนไหวว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องหลังวิกฤตโควิด-19
สำหรับเวียดนามและอินโดนีเซียนั้น มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมากมาต่อเนื่องอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่นักลงทุนไม่ค่อยตื่นเต้นกันสักเท่าไรนัก แต่เมื่อพูดถึงกัมพูชา ซึ่งกำลังถูกจับตามองว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในกลุ่ม CLMV ทุกคนก็เริ่มฉาย
สปอตไลท์ส่องมา พร้อมตั้งคำถามมากมาย หากให้ถอดรหัสโอกาสการลงทุนที่สดใสในกัมพูชา คงต้องวิเคราะห์ปัจจัยส่งเสริม ซึ่งจากข้อมูลของวิจัยกรุงศรี คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวถึง 4% ในปีนี้ หลังจากติดลบที่ -3.5% ในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แนวทางขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้กัมพูชาบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และยังทำให้เห็นเส้นทางการเติบโตที่แข็งแกร่งอาจพุ่งขึ้นไปถึง 6.0% -7.0% ต่อปีได้ คือแนวโน้มการเติบโตด้านการส่งออกที่ชัดเจนมาก โดยเฉพาะการค้ากับสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญกำลังฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ สะท้อนกำลังซื้อมากมายมหาศาลที่จะตามมา และไม่ใช่เพียงประเทศยักษ์ใหญ่เท่านั้น แต่เมื่อการบริโภคในโลกขยายตัวขึ้น ก็ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่กัมพูชาถนัดมากที่สุดอย่าง อุตสาหกรรมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศนั้นเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น ในมุมมองของนักลงทุน กัมพูชาคือคำตอบของการควบคุมต้นทุนได้เป็นอย่างดี เพราะกัมพูชามีต้นทุนการผลิตต่ำ จึงได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก และด้วยแรงสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) จึงมีแนวโน้มว่านักลงทุนระดับโลกเริ่มเปลี่ยนฐานการผลิตจากพม่ามาสู่กัมพูชา เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของพม่านั่นเอง สวนทางกับกัมพูชาที่มีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างมาก และมีนโยบายที่เป็นมิตรกับการลงทุนมาโดยตลอด ยิ่งทำให้กัมพูชาเนื้อหอมและเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุน
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือปัจจัยภายในที่เกื้อหนุน ซึ่งกัมพูชามีกำลังซื้อจากประชากรในวัยทำงานเพิ่มจำนวนมากขึ้น และยังมีฐานะดีขึ้นอีกด้วย เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในทศวรรษที่ผ่านมาเฉลี่ย 7-8% ต่อปี ทำให้ประชากรกัมพูชามีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันชนชั้นกลางสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมดนั้นมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ ขยายตัวหลังวิกฤตโควิด-19 ตลอดจนโครงสร้างด้านประชากรศาสตร์ที่มีประชากรในวัยทำงานมากขึ้น ยังกระตุ้นให้เกิดการใช้งานดิจิทัลมากขึ้น พร้อมจะเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็พร้อมโอบรับกระแสเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กลายเป็นส่วนสำคัญของไลฟ์สไตล์ที่ขาดไม่ได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยด้านการค้าเสรีในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นกลไกผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นในกัมพูชา
หลังจากวิเคราะห์ปัจจัยที่นำมาซัพพอร์ตว่ากัมพูชา จะไม่ใช่ม้ามืดอีกต่อไป แต่จะเป็น “ม้าแข่ง” ตัวใหม่ที่วิ่งไวแซงทุกประเทศอาเซียน ก็ถึงเวลาที่นักวิเคราะห์จะฟันธงธุรกิจที่น่าลงทุนในกัมพูชากันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริการ อาทิ การบริการทางการเงิน การเดินทาง การสื่อสาร ซึ่งเติบโตมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มโตสูงขึ้นจากอิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัล และนักลงทุนยังสามารถเข้ามาสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ ด้านอาหาร เครื่องดื่ม และ ICT เพราะประเภทธุรกิจนี้ยังมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ จึงเปิดประตูโอกาสของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่จะเข้ามาจับจองพื้นที่สร้างฐานลูกค้าชาวกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันแบรนด์อาหารและธุรกิจค้าปลีกของไทยกระโจนเข้าใส่และหลั่งไหลมาที่กัมพูชาเพื่อชิงชัยในสังเวียนการค้ากันแล้ว
ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจที่โดดเด่นมากเป็นพิเศษ นั่นคืออุตสาหกรรมการผลิต กลุ่มเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า ยังคงมีขนาดไม่ใหญ่มากนักและจะยังคงเติบโตไปได้เรื่อย ๆ ในขณะที่ธุรกิจเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ดูจะเป็นที่จับตามองและน่าสนใจลงทุน สำหรับนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมาก
หากนักลงทุนที่กำลังมองหาตลาดในการลงทุนใหม่ ๆ กัมพูชาก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มองข้ามไม่ได้ ดังนั้นเมื่อโอกาสเข้ามาวิเคราะห์การลงทุนในก็ควรเข้ามาคว้าโอกาสนี้ให้อยู่หมัด และที่ขาดไม่ได้คือการมีเพื่อนคู่คิดที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกับการลงทุนในกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันกรุงศรีมีความพร้อมและศักยภาพเต็มที่ในฐานะ Regional Bank ที่มีเครือข่ายทั่วภูมิภาคอาเซียน ประสานพลังกับเครือข่ายระดับโลกจาก MUFG โดยมี Hattha Bank Plc. ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่กรุงศรีถือหุ้นทั้งหมด และเป็นหนึ่งใน 5 ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในด้านการให้สินเชื่อในประเทศกัมพูชา พร้อมที่จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในทุกมิติการลงทุน ด้วยบริการ Thai-desk service เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับองค์กรธุรกิจและผู้ประกอบการไทยที่เข้ามาทำธุรกิจในกัมพูชา และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เพิ่งเปิดตัวบริการโอนเงินต่างประเทศแบบเรียลไทม์ระหว่างไทย-กัมพูชา ระหว่างกรุงศรีและ HTB ผ่านเทคโนโลยี API เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กรุงศรียังมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนรวมถึงกัมพูชาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมศักยภาพแก่ผู้ประกอบการ และสร้างความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยว่า ทุกย่างก้าวที่ธุรกิจเดินไปจะเติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแกร่งให้ได้นานที่สุด ด้วยความห่วงใยและความเชี่ยวชาญจากกรุงศรี