เส้นทางสู่การเป็นนักเขียนดังไร้พรมแดน ผ่าน Amazon

เส้นทางสู่การเป็นนักเขียนดังไร้พรมแดน ผ่าน Amazon

By Krungsri Plearn Plearn
ในขณะที่โลกสิ่งพิมพ์กำลังหวาดหวั่นจากการประกาศปิดตัวของนิตยสารชื่อดังอย่างคู่สร้างคู่สมในปีที่ผ่านมา และนิตยสารชื่อดังอีกหลายหัวก็เริ่มบอกลาแผง จนก่อให้เกิดความกังวลว่า อาชีพนักเขียนจะยังไปต่อได้หรือไม่จนหลายคนเริ่มมองหางานใหม่ แต่ข่าวดีก็คือ หากคุณยังรักในการเขียนอย่าเพิ่งถอดใจ เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Amazon ยังมีช่องทางให้เหล่านักเขียนไปต่อได้ แถมยังมีอนาคตสดใสด้วย มาเรียนรู้เส้นทางการเป็นนักเขียนในโลกไร้พรมแดนไปด้วยกัน

ปูพื้นฐานตลาดหนังสือ

ก่อนจะลงไปถึงการเป็นนักเขียน เรามาดูภาพรวมของตลาดหนังสือกันก่อน จะเห็นว่าระบบขายตามศูนย์หนังสือชั้นนำในประเทศไทยมีมูลค่าปีละ 10,000 ล้านบาท (สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT), 2560) หนังสือที่ได้รับความนิยม ได้แก่ หนังสือแปล หนังสือวัยรุ่น และหนังสือคู่มือการเรียนการสอน เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ สังคม เป็นต้น
แต่ปัจจุบัน รูปแบบการทำหนังสือเปลี่ยนไปมาก จากเดิมสำนักพิมพ์จะพิมพ์หนังสือครั้งละ 2,000-5,000 เล่ม อายุของหนังสืออยู่ที่ 2-3 ปี เริ่มจากนักเขียนนั่งทำต้นฉบับจนพร้อมจำหน่ายใช้เวลานานถึง 6-12 เดือน เริ่มจากนำมาเสนอหัวข้อหนังสือกับทางสำนักพิมพ์ พยากรณ์การขายและปริมาณตลาด ก่อนไปสั่งพิมพ์เป็นหนังสือ โลกการแข่งขันที่รุนแรงทำให้อายุของหนังสือยิ่งจะสั้นลงเรื่อย ๆ
ปัจจุบันเหลือเพียง 14 วันเท่านั้น ตั้งแต่วางโชว์ปกบริเวณบูธด้านหน้าร้าน 7 วัน ถ้ายอดไม่ค่อยดีจะโดนย้ายมาโชว์สันปกในชั้นหนังสือภายในร้านอีก 7 วันและยอดขายจะวิ่งต่อไปอีก 6-12 เดือน ทำให้หนังสือเป็นธุรกิจที่แข่งขันสูงมาก เพราะอายุสั้น และมีจำนวนปกหนังสือออกใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยพื้นที่ร้านที่มีจำกัด ยิ่งทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้รุนแรงมากขึ้น กว่าทางสำนักพิมพ์จะได้รับรายได้การขายจากศูนย์หนังสือก็ต้องรอเครดิตอีก 30-60 วัน รวม ๆ แล้วต้องนำเงินก้อนมาทิ้งไว้ในระบบ 200,000-500,000 บาทต่อปก ถ้าออกหนังสือปีละสัก 50 ปกก็ต้องมีเงินหมุนเวียน 10-25 ล้านบาทเลยทีเดียว ส่งผลต่อการทยอยปิดตัวของสำนักพิมพ์หนังสือ และนิตยสารปกต่าง ๆ ตามมา เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน
โครงสร้างต้นทุน สมมติตัวเลขง่าย ๆ ราคาหน้าปก 100 บาท จะจ่ายให้กับช่องทางจำหน่าย เช่น ศูนย์กระจายสินค้า สายส่ง และร้านจำหน่ายหนังสือ 40-55 บาท นักเขียนได้รับค่าลิขสิทธิ์ 10-15 บาท (ส่วนใหญ่นักเขียนจะรับรายได้หลังจากสำนักพิมพ์ได้รับเงินสดจากผู้จำหน่ายแล้ว 15-30 วัน) แล้วแต่ตกลง หรือบางสำนักพิมพ์ก็อาจจะซื้อลิขสิทธิ์ด้วยเงินก้อนหลักแสนทีเดียวจบกันไป อีก 30-50 บาท จะเป็นเงินกลับไปที่สำนักพิมพ์ ซึ่งสำนักพิมพ์จะรับผิดชอบในส่วนค่าออกแบบ ค่าจัดรูปเล่ม พิสูจน์อักษร บรรณาธิการเล่ม ค่าพิมพ์ และการตลาด ฯลฯ
ด้วยรูปแบบการทำหนังสือที่เปลี่ยนไป นักเขียนมุ่งหาหัวข้อที่น่าสนใจจากลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แต่มีจำนวนมากพอที่จะทำให้หนังสือนั้นทำกำไรได้ พิมพ์หนังสือปริมาณน้อยลง แต่ได้ราคาสูงขึ้น จากข้อมูลนี้จะเห็นว่าการทำหนังสือผ่านสำนักพิมพ์ผู้เขียนได้รายได้เพียง 10-15% เท่านั้น
แต่ข่าวดีก็คือ ถ้านักเขียนทำในรูปแบบ E-book หรือหนังสือตามสั่ง (Print on demand: POD) ต้นทุนจะต่ำกว่ามาก ๆ ทางเว็บไซต์หักไปแค่ 35-70% เท่านั้น ที่เหลือเป็นรายได้ของนักเขียนทั้งหมด คือ 30-65% ซึ่งมากกว่าการจำหน่ายผ่านรูปแบบเดิม 3-6 เท่า เลยทีเดียวตรงนี้จึงเป็นโอกาส และความท้าทายของอาชีพนักเขียนที่สามารถทำงานควบคู่กับงานประจำ มีรายได้จากหนังสือเป็น Passive Income ซึ่งถ้าเราเขียนจนได้เป็นหนังสือวางขายแล้ว ก็จะมีรายรับเข้ามาทุกเดือน

ความรู้พื้นฐานที่ควรมี

ประมาณปี 2558 คุณธวัชชัย พืชผล เจ้าของเพจ ครูพี่ม้อค สร้างนักเขียน อาชีพไหนก็เป็นนักเขียนได้ ได้พัฒนาหลักสูตรการเป็นนักเขียนที่ดี ก่อนจะเริ่มเขียน ต้องรู้ก่อนว่าสิ่งที่หลงใหลคืออะไร วางเป้าหมายไว้สัก 5 ปีข้างหน้าว่าเราเขียนหนังสือเพื่ออะไร และจะสร้างผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างอย่างไร จากนั้นต้องรู้ว่าตลาดต้องการอะไร ยิ่งเนื้อหาที่เราเขียนแก้ปัญหาให้ผู้อ่านได้มากเท่าไร ตลาดยิ่งมีมูลค่าสูงมาก (เงินสำรองยามฉุกเฉินสำหรับตัวเองและครอบครัว) กับเงินสำหรับลงทุนควรแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน
ตัวอย่างหนังสือการจัดการธุรกิจ สามารถแยกไว้ 3 กลุ่มเป้าหมาย
  • องค์กร บริษัท ที่มีการปฏิบัติการทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ SME มากกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ (แค่ 1% ก็ขายได้ 30,000 เล่มแล้ว)
  • พนักงานปฏิบัติการ หัวหน้างาน ผู้จัดการ เจ้าของธุรกิจ นักศึกษา ผู้สนใจทั่วไปที่อยากพัฒนาตัวเอง
  • หนังสือหรือ E-book ผ่านเครือข่ายต่าง ๆ ที่มีโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ และ SME ที่สามารถไปร่วมทำโครงการ อาทิ หน่วยงานรัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ มหาวิทยาลัย โรงเรียน วิทยาลัยพาณิชยการ อาชีวะ และสมาคม
เมื่อลองศึกษาตลาดหลาย ๆ มุมมอง จากเว็บไซต์ภายในประเทศ อาทิ ศูนย์หนังสือซีเอ็ด, ร้านหนังสือนายอินทร์, B2S, อุ๊คบี, Ebooks Thai, meb และเลือกที่หมวดขายดี ส่วนตลาดต่างประเทศถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ก็พุ่งตรงไปที่ Amazon แล้วเข้าหัวข้อ Best Seller เลยครับ จะเห็นเทรนด์หนังสือแบบไหนที่ตลาดกำลังต้องการ เช่น ด้านธุรกิจและการเงิน (Business & Money) ด้านการทำครัว อาหารและไวน์ (Cookbooks, Food & Wine) ด้านการศึกษาและการสอน (Education & Teaching) เป็นต้น
เครดิตภาพ: amazon
จากนั้นเขียนสิ่งที่แก้ปัญหาให้ลูกค้า โดยเรามีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ จริง (เช่น วุฒิการศึกษา ประกาศนียบัตร ประสบการณ์ ผลงานต่าง ๆ ที่ผ่านมา) หรือเราสามารถหาข้อมูลเชิงลึก แต่เขียนโดยมุมมองของผู้เขียนเอง ใช้ “ศิลป์นำศาสตร์” เสมอ ผู้อ่านจะชอบอะไรที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกก่อน จากนั้นค่อยเติมข้อมูลในเชิงศาสตร์ทฤษฎีต่าง ๆ เพิ่มเข้าไป
แต่จะพบว่า ภาษาเป็นปัญหาสำคัญของนักเขียนส่วนมาก เพราะ Amazon ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก และไม่รองรับภาษาไทย แต่ก็ยังมีโอกาส คือ การจ้างแปลโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น แปลเป็นภาษาอังกฤษ จีน ฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน จึงเป็นจุดที่จะเปิดโอกาสตลาดภาษาต่างประเทศนั่นเอง
คุณจิตบัณฑิต กรุตรนิยม ผู้เชี่ยวชาญการทำหนังสือบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้คำแนะนำถึงการทำหนังสือขึ้น Amazon ว่าไม่ได้ยากจนเกินไป ผู้เชี่ยวชาญสามารถให้คำปรึกษาทุก ๆ ขั้นตอนในการจัดเตรียมหนังสือได้ ตั้งแต่การจัดเตรียมต้นฉบับ การแปลภาษา การเช็กหลักไวยากรณ์ การคิดคำโปรย การทำตลาด การขอเลข ISBN และการนำหนังสือขึ้นระบบ จนไปถึงการแบ่งสัดส่วนค่าตอบแทน สุดท้ายจะอยู่ที่ประมาณ 30-40% จากราคาจำหน่าย
ในปี 2558-2559 ที่ผ่านมา มีสำนักพิมพ์ทำหนังสือกว่า 1.6 ล้านเล่ม ซึ่งมากกว่าครึ่งมาจากสหรัฐอเมริกาและจีน (สมาคมสำนักพิมพ์นานาชาติ หรือ The International Publishers Association: IPA) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร ตั้งอยู่ที่เจนีวา (Geneva) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นสมาคมที่ใหญ่ที่สุดมีสมาชิกมากกว่า 70 องค์กรจาก 60 ประเทศ และให้บริการสมาชิกมากกว่า 5.6 พันล้านคน
การสร้างหนังสือเป็นเพียงการนำเนื้อหา (Content) มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบหนึ่งเท่านั้น เนื้อหาสามารถกลายเป็นช่องทางการนำเสนอสินค้าไปยังช่องทางอื่น ๆ ได้อีก เช่น การจัดสัมมนาเนื้อหาในหนังสือ การทำวิจัยหรือแสดงความเป็นผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อนั้น ๆ การนำเสนอแนวคิดใหม่ให้กับสังคม การทำเพจ Facebook Fan Page หรือทำคลิปเผยแพร่บน YouTube ซึ่งจะช่วยยกระดับวงการหนังสือและสื่อดิจิทัลไปอีกระดับหนึ่ง
ภาพแสดงราคาหนังสือในเว็บ leanpub และรายได้ของนักเขียน
leanpub.com เป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจเปลี่ยนแปลงวงการอุตสาหกรรมหนังสือด้วยการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับนักเขียน สำหรับจัดพิมพ์ และขายหนังสือเองได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง เช่น การสร้างหนังสือ E-book นามสกุล PDF, EPUB และ MOBI รูปแบบการเขียน การเชื่อมโยงเข้ากับแอปพลิเคชันอื่น ๆ ได้ด้วย อาทิ Dropbox, GitHub หรือ Bitbucket รวมไปถึงการตั้งราคาที่สามารถตั้งเป็นช่วงราคาได้ ด้วย Royalty fee ที่สูงถึง 90% ทำให้มีหนังสือแบบอินดี้เจาะกลุ่มตลาดเฉพาะกลุ่มเล็ก ๆ ที่ให้ความสนใจและมีมูลค่าสูง
สำหรับนักเขียนที่กำลังเตรียมความพร้อม เพื่อก้าวเข้าสู่โลกของเทคโนโลยีและดิจิทัล ลองหาไอเดียอื่น ๆ ในการหารายได้ระหว่างทางไปด้วยก็ดีไม่น้อย แค่จัดการและวางแผนให้ดี อยู่บ้านก็สร้างรายได้ได้ง่าย ๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow