บูทส์ไอเดียสร้างสรรค์ให้ลูกน้องได้อย่างไร (ตอนที่ 1)

บูทส์ไอเดียสร้างสรรค์ให้ลูกน้องได้อย่างไร (ตอนที่ 1)

By Krungsri Guru

การทำงานในรูปแบบขององค์กร ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ แน่นอนว่าจะต้องมีบทบาทของหัวหน้าและลูกน้องอยู่ร่วมกันเสมอเพื่อการทำงานที่มีความก้าวหน้าและความสำเร็จร่วมกัน การกระตุ้นให้ลูกน้องมีไอเดียเป็นของตัวเอง และกล้านำเสนอความคิดสร้างสรรค์นั้น ๆ ออกมา เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งการที่จะให้ลูกน้องเกิดไอเดียสร้างสรรค์นั้น จำเป็นต้องมีการจัดการหลากหลายรูปแบบ แต่หลักการใหญ่ ๆ เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้

1. การปรับมุมมองของคน (Mind Set)

ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเลือกมองในสิ่งที่เราคุ้นเคย และปกป้องตัวเราเองก่อน ซึ่งอาจเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ความคิดถูกยึดติดไว้กับมุมมองเดิม ๆ ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องเลิกยึดติดกับความคิดแบบเดิม ทำให้ทุกคนเชื่อว่า คนเรามีศักยภาพในการคิดสร้างสรรค์ มีการเอาใจเขามาใส่ใจเรา สร้างความเข้าใจเรื่องของความแตกต่าง และสร้างการยอมรับในมุมมองของคนอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เรามีมุมมองที่แปลกใหม่ และนำมาสู่ไอเดียใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากไอเดียแบบเดิม ๆ นั่นเอง

2. การสร้างความรู้สึก (Mood)

คิดง่าย ๆ เหมือนกับการที่เรามีความคิดที่เจริญงอกงามขึ้นมานั่นเอง โดยอาจจะเริ่มจากพฤติกรรมของเด็กขี้สงสัย ไล่ถามไปเรื่อย ๆ เพื่อให้มีคำตอบได้หลากหลายรูปแบบ คำตอบที่ได้มาจะทำให้เกิดความคิดในเชิงต่อยอด และทำให้เกิดความรู้และสร้างสรรค์ในสิ่งที่แปลกใหม่ออกไป พฤติกรรมแบบนี้จะทำให้สมองมีกระบวนการคิดที่หลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น มีความแปลกใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมา และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับสิ่งที่เรารู้ หรือเคยรับทราบมาก่อนหน้า จนนำไปสู่การคิดค้น หรือมุมมองที่แปลกใหม่ได้นั่นเอง

3. การหาแรงจูงใจเพื่อให้เกิดการทำงานแบบเต็มความสามารถ

เมื่อมีแรงจูงใจในการทำงานที่ดีแล้ว งานที่อยู่ในความรับผิดชอบจะสามารถสำเร็จได้ด้วยไอเดียที่แปลกใหม่ และมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน สามารถทำได้โดยวิธี D-R-I-V-E ซึ่งผมจะขออธิบายรายละเอียดในตอนถัดไปนะครับ
ในการทำงานที่ดีของทุก ๆ องค์กร การสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของการคิดของหัวหน้า และลูกน้องทั้งสองฝ่าย เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อความสำเร็จในการทำงานในภาพรวม การกระตุ้นไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีของลูกน้อง จะเกิดขึ้นได้กับหัวหน้างานที่มีทั้งศาสตร์ในการบริหารคนและศาสตร์ในการบริหารงาน หัวหน้างานที่ดี จะต้องไม่ทำหน้าที่เสมือนเป็นกะลาครอบที่มีลูกน้องเป็นกบอยู่ภายใน นอกจากนี้ ความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “ไอคิว” ของลูกน้องเลย ทุกคนล้วนมีความคิดและไอเดียที่เป็นของตัวเอง แต่จะทำอย่างไร เพื่อให้สามารถนำเอาไอเดียเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกันในการทำงานในแต่ละองค์กรได้ นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า หัวหน้างานที่ดีจะต้องสามารถนำไอเดียเหล่านี้ออกมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้นั่นเอง (สำหรับพนักงานออฟฟิศที่ได้อ่านบทความนี้ และอยากรู้ว่า มีพฤติกรรมอะไรบ้างที่เราไม่ควรทำตาม ก็ลองอ่านต่อที่นี่นะครับ)
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา