ผมเชื่อว่า มีเพื่อน ๆ อีกหลายคนที่ยังคงรู้สึกงุนงงอยู่ทุกครั้งเวลายื่นแบบภาษี เพราะมีตัวเลขมากมายไปหมด ถึงแม้โปรแกรมคำนวณภาษีจะช่วยให้การกรอกข้อมูลง่ายขึ้น แต่ก็อาจจะไม่เข้าใจอยู่ดีว่า ตัวเลขแต่ละตัวนั้นถูกนำไปคำนวณเป็นภาษีได้อย่างไร วันนี้ ผมจะมาเล่าหลักการคำนวณภาษีให้ฟังกันครับ รับรองว่า ไม่ยากอย่างที่คิ
หลักการฉบับย่อของการคำนวณภาษี คือ การนำรายได้รวมทั้งปี หักออกด้วยค่าใช้จ่าย หักด้วยค่าลดหย่อน แล้วนำยอดที่เหลือไปคำนวณภาษีตามอัตราที่กำหนด ซึ่งจะเห็นได้ว่า การคำนวณต้องมีสี่องค์ประกอบหลัก ดังนี้ (ผมขอใช้ภาษีเงินได้แบบบุคคลธรรมดาในการอธิบายนะครับ)
1. รายได้รวมทั้งปี
นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม หรือในภาษากฎหมาย เรียกว่า"เงินได้พึงประเมิน” ตัวอย่างเช่น เงินเดือน รวมถึงรายได้จากการทำงานพิเศษ โดยก่อนที่จะนำเงินได้พึงประเมินไปคำนวณค่าใช้จ่าย เราจะหักออกด้วยเงินได้ที่ได้รับการยกเว้น เช่น เงินที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท หรือเงินสะสมกองทุนบำนาญข้าราชการ
2. ค่าใช้จ่าย
ตามกฎหมายกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายตามประเภทของรายได้ครับ เช่น กรณีรายได้ทั่วไปอย่างพนักงานออฟฟิศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 40% ของเงินได้ที่คำนวณจากข้อ 1 ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
3. ค่าลดหย่อน
หลังนำเงินได้พึงประเมิน หักออกด้วยค่าใช้จ่ายแล้ว เราก็นำตัวเลขที่เหลือมาหักออกด้วยค่าลดหย่อน ซึ่งได้แก่ ค่าลดหย่อนของตัวเราเอง, คู่สมรส, บุตร, บิดามารดา รวมไปจนถึงเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา, เบี้ยประกันชีวิต, เงินที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนที่เกิน 10,000 บาท, เงินลงทุนใน
LTF ,
RMF , ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย, เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นต้น
จากนั้นจึงนำมาหักออกด้วยเงินบริจาค เหตุผลที่ต้องนำมาคำนวณภายหลัง เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้วงเงินบริจาคไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนนั่นเองครับ
4. อัตราภาษี
ถึงตอนนี้เราก็จะได้เงินได้สุทธิ ที่จะนำไปใช้คำนวณภาษีแล้วครับ โดยอัตราภาษีจะเป็นแบบขั้นบันได เช่น
โดยอัตราภาษี ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนข้างต้น จะมีการปรับปรุงอยู่เสมอ เราสามารถตรวจสอบข้อมูลล่าสุดได้ที่
กรมสรรพากร
จากการคำนวณตามอัตราภาษีข้างต้น ถึงตอนนี้ เราจะได้ยอดเงินภาษีที่ต้องชำระแล้วครับ จากนั้น นำภาษีที่คำนวณได้นี้ เปรียบเทียบกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่เราได้ชำระไปแล้วในระหว่างปี หากยอดรวมภาษีหัก ณ ที่จ่าย สูงกว่าภาษีที่คำนวณได้ เราก็จะได้รับเงินภาษีคืน และในทางตรงข้าม หากยอดรวมภาษีหัก ณ ที่จ่าย ต่ำกว่าภาษีที่คำนวณได้ เราก็มีหน้าที่ยื่นชำระภาษีเพิ่มเติม แต่ถ้าเลขทั้งสองตัวเท่ากัน ก็หมายความว่า เราได้ชำระภาษีครบถ้วนแล้ว ไม่ต้องชำระเพิ่ม และไม่ได้เงินคืน แต่ยังคงต้องยื่นแบบภาษีไว้เพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น สำหรับตัวเลขภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะอยู่ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่นายจ้างจะส่งให้เมื่อมีการชำระเงิน หรือบางบริษัท จะส่งให้พนักงานประจำตอนปลายปี เพื่อใช้เป็นเอกสารในการยื่นแบบภาษีครับ
ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลก็จะมีหลักการคำนวณที่คล้ายกันกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หลักการคำนวณแบบย่อ คือ รายได้ลบด้วยค่าใช้จ่าย จากนั้นจึงนำกำไรที่ได้ไปคำนวณภาษีตามอัตราที่กำหนด โดยรายละเอียดของรายได้ ค่าใช้จ่าย และอัตราภาษีนั้นค่อนข้างจะมีรายละเอียดมากกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งยังมีอัตราภาษีที่แตกต่างกันไปในธุรกิจแต่ละประเภทอีกด้วยครับ
จากหลักการคำนวณจะเห็นได้ว่า วิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราได้รับเครดิตภาษีเงินคืนเพิ่มได้ คือ เพิ่มค่าลดหย่อน เช่น ลงทุนในกองทุน
LTF ,
RMF หรือซื้อ
ประกันชีวิตนั่นเอง ผมหวังว่า ด้วยหลักการคำนวณภาษีเบื้องต้นนี้ จะทำให้เพื่อน ๆ มีความเข้าใจ และกรอกข้อมูลภาษีได้อย่างสบายใจมากขึ้นนะครับ