อาเซียน ขุมพลังการค้าอนาคต เชื่อมต่อเศรษฐกิจทุกภูมิภาคของโลก

อาเซียน ขุมพลังการค้าอนาคต เชื่อมต่อเศรษฐกิจทุกภูมิภาคของโลก

By Krungsri Plearn Plearn

คำว่า “อาเซียน” เป็นคำฮิตติดหูที่แม้แต่เด็กนักเรียนในโรงเรียนต้องได้ยินและทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคำนี้อยู่เสมอ จนเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ยังรับรู้ข่าวสารอาเซียนผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้ง จนเกิดคำถามว่า การที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนส่งผลต่อชีวิต หรือมีความสำคัญในเรื่องปากท้อง ทำให้คนไทยสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความเป็นอาเซียน โดยเฉพาะช่องทางทำมาหากิน หรือแม้กระทั่งโอกาสในการขยายธุรกิจของคนไทยได้มากน้อยเพียงใด

อาเซียน ขุมพลังการค้าอนาคต เชื่อมต่อเศรษฐกิจทุกภูมิภาคของโลก
ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการไทยได้ประโยชน์จากความเป็นอาเซียนอย่างมาก โดยสินค้าจากประเทศไทย อาทิ กลุ่มอาหารและสกินแคร์ที่ผลิตจากสมุนไพรไทยนั้นมีชื่อเสียง ได้รับความเชื่อมั่น และความนิยมสูง จนถูกส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน และทั่วโลกมาโดยตลอด
นอกจากนั้นยังโดดเด่นด้านการเป็นผู้นำการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ป้อนตลาดโลก สามารถปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิต ยกระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีรองรับคำสั่งซื้อที่ต้องใช้ฝีมือแรงงานระดับสูงได้ เกิดการขยายธุรกิจทั้งภาคการค้าและการลงทุนระดับภูมิภาค รวมทั้งยังสานสัมพันธ์ทางธุรกิจร่วมกันกับนักลงทุนต่างชาติอย่างแนบแน่นมาโดยตลอด
ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ได้รับประโยชน์จากความเป็นอาเซียน แต่กลุ่มประเทศอาเซียนทั้งสิบต่างก็มีความโดดเด่นทางด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะบทบาทความเป็นตลาดขนาดใหญ่ เป็นแหล่งผลิตสินค้าของนักลงทุนภายในและภายนอกภูมิภาค ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวได้มาก และมีประชากรวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น เป็นตลาดแรงงานที่นักลงทุนต่างชาติต่างตบเท้าเข้ามาลงทุนมากขึ้นทุกปี
ขณะเดียวกันอาเซียนก็ยังเป็นตลาดที่ผู้บริโภคภายในประเทศมีกำลังซื้อสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มประเทศอาเซียนมี GDP รวมกันสูงถึง 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 7 ของโลกในปัจจุบัน มีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล อีกทั้งทุกประเทศในอาเซียนยังมุ่งพัฒนาและเร่งสานต่อโครงสร้างพื้นฐานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น พลังงานทดแทน การขนส่ง หรือโลจิสติกส์ การสาธารณสุข และเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูล จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อาเซียนยังคงแข็งแกร่งและเป็นที่หมายปองของนักลงทุนทั่วโลก
ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียน บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจแทบทุกประเทศลดลง และต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัว ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการเติบโตของภูมิภาคจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 5.2% ในปี 2022 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส กลายเป็นดาวจรัสแสงดวงใหม่ที่กำลังเติบโตแบบไม่มีใครรั้งได้ พวกเขาคือตัวแทนของอาเซียนที่สามารถสร้างอำนาจต่อรอง และกำลังจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก
ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่โดดเด่นมากต้องยกให้ เวียดนาม โดยพบว่าในปี 2564 สหรัฐอเมริกาเพิ่มมูลค่าการลงทุนในเวียดนามมากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในกลุ่มธุรกิจพลังงาน การศึกษา เทคโนโลยี และสาธารณสุข ในขณะเดียวกันเวียดนามเอง ก็ยังมีศักยภาพในการเป็นนักลงทุนระดับโลกเช่นกัน
โดยล่าสุดอุตสาหกรรมยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของเวียดนาม อย่าง VINFAST วางแผนที่จะขยายฐานการผลิตไปที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานในสหรัฐให้สูงขึ้นได้ พร้อมกับมีการวางรากฐานซัพพลายเชน ให้มีแหล่งสำรองในการผลิต ป้องกันกำลังการผลิตหยุดชะงักที่เคยเกิดขึ้นครั้งวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา
ในขณะที่การเปิดใช้รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ก็ได้ช่วยพลิกโฉมดินแดนที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลอย่าง สปป. ลาว ให้เป็นจุดเชื่อมต่อตลาดอาเซียนและจีนเข้าด้วยกัน ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้กับ สปป. ลาว เท่านั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นก็จะได้รับอานิสงส์จากการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจในอาเซียน และโอกาสการค้า การลงทุนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
การลงทุนมูลค่ามหาศาลนี้ ช่วยสะท้อนความหวังใหม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ซึ่งวางแผนที่จะนำมาช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว การขนส่ง และการเกษตรอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังส่งเสริมบทบาทการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าในอาเซียนร่วมกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งผลจากโครงการอภิมหาโปรเจกต์นี้ ทำให้โลกต้องหันกลับมามอง สปป.ลาว และไม่อาจละสายตาจากประเทศเล็กๆ ที่กำลังจะเป็นจุดเชื่อมต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนนี้ได้
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของอาเซียนว่า เป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากมายเพียงใด ซึ่งผู้ประกอบไทยเองก็ควรเร่งสปีดให้ทันเพื่อนๆ มุ่งเน้นการมองเห็นโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจในตลาดอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น
สำหรับผู้ที่วางแผนจะเจาะตลาดอาเซียนให้สำเร็จ กรุงศรีมีความพร้อมจะเป็นที่ปรึกษา เป็นตัวจริงเรื่องตลาดอาเซียน มีความเชี่ยวชาญสามารถสนับสนุนให้ทุกคนทำธุรกิจได้อย่างไม่สะดุด ด้วยการมีมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เป็น Strategic Partner ทำให้กรุงศรีเป็นสถาบันการเงินไทยที่มีเครือข่ายในอาเซียนมากที่สุด และด้วยความเชี่ยวชาญของทั้ง MUFG และกรุงศรี ทำให้กรุงศรีสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งในไทยและในอาเซียนได้
กรุงศรีไม่เพียงแค่ขยายธุรกิจเข้าไปในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังสามารถพาลูกค้าไปเติบโตที่อาเซียนอีกด้วย ด้วยประสบการณ์ในการจับคู่ธุรกิจ หรือ Business Matching อันเป็นหนึ่งในบริการที่โดดเด่นของกรุงศรีที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าขยายธุรกิจไปต่างประเทศ สามารถสร้างพื้นที่เชื่อมโยงทางธุรกิจให้กับนักธุรกิจทั่วโลก และพร้อมที่จะเป็นแรงหนุนก่อเกิดมูลค่าทางการตลาดในอาเซียนอย่างมหาศาลด้วยเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow