SME เพิ่มเงินลงทุนไม่ยากอย่างที่คิด

SME เพิ่มเงินลงทุนไม่ยากอย่างที่คิด

By Krungsri GURU SME

เป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจ เมื่อทำมาสักระยะหากกิจการไปได้ดีก็ต้องมีการเพิ่มทุน ซึ่งแต่ละกิจการย่อมจะต้องใช้เงินทุนแตกต่างกันไปตามสภาพ ที่ผ่านมาปัญหาหนึ่งของเอสเอ็มอีไทย คือ การเข้าถึงแหล่งทุน (Finance) เนื่องจากสถาบันการเงินทั้งหลายล้วนระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อกับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากตัวเอสเอ็มอีเองที่ส่วนใหญ่ดำเนินการธุรกิจแบบไม่มีระบบบัญชี มักใช้เงินสด ไม่มีแผนธุรกิจชัดเจน ทำให้ธนาคารไม่มีข้อมูลในการวิเคราะห์เพื่อปล่อยกู้ จึงทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถกู้สินเชื่อจากธนาคารได้ ดังนั้นหากผู้ประกอบการรายใดคิดจะกู้เงินมาขยายธุรกิจก็จะต้องดำเนินการในเรื่องเหล่านี้เสียก่อน

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่ายินดีว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอีทั้งในเรื่องแหล่งทุน นวัตกรรม และการตลาด เพราะมองว่าเอสเอ็มอีในบ้านเราเกือบ 3 ล้านรายนั้นเป็นฐานธุรกิจที่จะสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ก่อนอื่นเอสเอ็มอีควรจะต้องรู้ว่ามีสถาบันการเงินของรัฐ-เอกชน และหน่วยงานใดของรัฐที่สามารถให้การสนับสนุนเรื่องเงินทุนได้บ้าง ซึ่งตอนนี้มีหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 9 แห่งที่ทำหน้าที่สนับสนุนด้านเงินทุนแก่เอสเอ็มอี ได้แก่
  • สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
  • สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank)
  • กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
  • โครงการตั้งตัวได้ของกระทรวงศึกษาธิการ
  • บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)
นอกจากธนาคารภาครัฐแล้ว ยังมีธนาคารพาณิชย์อีกหลายแห่งเปิดให้บริการสินเชื่อ และสนับสนุนเงินทุนแก่ SME ด้วยเช่นกัน และเป็นที่รับรู้กันว่าธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ปล่อยสินเชื่อได้อย่างมีศักยภาพ เนื่องจากมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านธุรกิจเป็นอย่างดี สามารถให้คำปรึกษาได้ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจจนถึงการทำตลาด และการสร้างแบรนด์ ฯลฯ บางแห่งมีคอร์สจัดอบรมเรื่องธุรกิจโดยเฉพาะ
ทั้งนี้การจะไปขอสินเชื่อจากธนาคารนั้น ประการแรกต้องมีหลักฐานข้อมูลทางบัญชีทางการเงินชัดเจนว่าภายในระยะเวลาปีสองปีที่ผ่านมากิจการไปได้ด้วยดี และจะต้องทำแผนธุรกิจด้วยว่าจะก้าวอย่างไรต่อไป ธุรกิจที่ทำอยู่มีโอกาสเติบโตได้ขนาดไหน รวมถึงการทำแผนการใช้จ่ายหนี้ธนาคารด้วย ซึ่งหากมีแผนธุรกิจชัดเจนย่อมจะได้รับการพิจารณาแน่นอน เพราะปัจจุบันธนาคารทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็มองว่าเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มลูกค้าใหญ่ที่สำคัญ (อ่านแผนธุรกิจ เกื้อหนุนกิจการเติบโตยั่งยืน)
สรุปง่าย ๆ คือ การที่จะไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เอสเอ็มอีจะต้องแต่งตัวให้สวยสง่าน่าเชื่อถือเพื่อให้ผู้กู้แน่ใจว่าจะเป็นลูกค้าที่ดี
อีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มทุน คือ การหาพันธมิตรร่วม ซึ่งอาจจะเป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในส่วนที่อยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำก็ได้ หรือแม้กระทั่งคนที่อยู่วงนอก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องคุยกันให้ดีว่าจะสามารถทำธุรกิจร่วมกันได้อย่างราบรื่นไม่มีปัญหาใด ๆ
 
ดังนั้นการเพิ่มทุนจึงไม่ใช่เรื่องยากหากธุรกิจนั้น ๆ มีโอกาสเติบโต และสามารถแข่งขันได้ อยู่ที่ว่าผู้ประกอบการจะเลือกแนวทางไหนเพื่อให้เหมาะสมกับกิจการที่ทำอยู่
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา