สถานการณ์น้ำท่วม ก็ไม่ต้องกลัวด้วย 5 วิธีเอาตัวรอด

สถานการณ์น้ำท่วม ก็ไม่ต้องกลัวด้วย 5 วิธีเอาตัวรอด

By Krungsri Plearn Plearn
“ฝนตกอีกแล้ว ทำไมต้องมาฝนตกหนักช่วงใกล้เลิกงานด้วย เป็นแบบนี้เกือบทุกวัน แถมเดี๋ยวนี้ตกแป๊บ ๆ น้ำท่วมอีกล่ะ เดินทางไม่สะดวก รถก็ติดสุด ๆ ไปเลย”
เชื่อว่าหลายคนอาจมีคำถามเหล่านี้อยู่ในใจ ว่าทำไมฝนตกถึงมาตามนัดแบบตรงเวลา เรื่องนี้มันมีที่มานะ บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้สาเหตุที่แท้จริงว่า ทำไมน้า… ใกล้ถึงเวลาเลิกงานแล้วชอบเกิดฝนตกหนัก จนพาไปสู่เหตุการณ์น้ำท่วมทุกครั้งไป
ฝนตกหนักรถติดจากเหตุการณ์น้ำท่วม
จุดเริ่มต้นของอากาศที่เปลี่ยนไป เกิดฝนตกหนัก ทำให้หลาย ๆ ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมสูงกว่าปกติ มีจุดเริ่มต้นจากสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยสาเหตุภาวะโลกร้อน เราจึงเห็นได้ว่า นอกจากเหตุน้ำท่วม กทม. บ้านเราก็มีหลาย ๆ ประเทศที่เจอกับเรื่องแบบนี้ ฝนตกหนักมากกว่าปกติ น้ำท่วมสูงติดต่อกันหลายวัน และแต่ละปีต่อจากนี้เหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วม อาจรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
และสาเหตุที่ฝนตกหนักจนพาไปสู่น้ำท่วมช่วงหลังเลิกงานเป็นประจำ ต้นเหตุมันก็มาจากเรื่องโลกร้อนนี่ล่ะ เพราะภายในเมืองที่เราอยู่อาศัยจะมีความร้อนสูงมาก และความร้อนตลอดทั้งวันจะถูกสะสมเอาไว้จนถึงเวลาบ่ายสาม และเมื่อสี่โมง เมื่อแดดเริ่มน้อยลง ไอร้อนที่ถูกสะสมเอาไว้ตลอดวัน จะปะทะกับความชื้นในอากาศเกิดเมฆฝนก้อนใหญ่ และเกิดหยดน้ำฝนในช่วงเวลาเลิกงานแบบพอดิบพอดี
แต่ทางออกของเรื่องนี้ในระยะยาว และยั่งยืนมันก็สามารถทำได้ ถ้าเมืองของเรามีต้นไม้ และพื้นที่สีเขียวมากพอ แล้วต้นไม้จะช่วยได้ไง? สงสัยใช่ไหม นั่นเพราะต้นไม้จะช่วยดูดน้ำในดินผ่านทางราก จากนั้นต้นไม้จะเก็บปริมาณน้ำไว้ที่ลำต้นและใบ และค่อย ๆ บริหารจัดการช่วยลดระดับความรุนแรงของการเกิดฝนตกหนักได้ ลองคิดดูว่า ถ้าเมืองของเรามีต้นไม้จำนวนมากพอ ก็ช่วยลดความรุนแรงของฝนตก และน้ำท่วมลงไปได้อีกเยอะเลย แต่นี่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสำเร็จ และตอนนี้ที่ฝนตกหนัก น้ำท่วมสูงจนพวกเราใช้ชีวิตลำบาก จะรับมือ และแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไรดี เรามีวิธีการรับมือน้ำท่วมมาฝากทุกคน

5 เรื่องพร้อมรับมือน้ำท่วม ไม่ว่าใครก็ทำได้

ทิ้งขยะให้ถูกที่ป้องกันการอุดตันท่อน้ำจนเกิดเหตุน้ำท่วม

1. เคลียร์เส้นทางระบายน้ำ ให้โฟลว์

เรื่องฝนตกหนัก เราอาจแก้เองไม่ได้ แต่เรื่องน้ำท่วม พวกเราทุกคนสามารถแก้ได้เอง และทำง่าย ๆ เพียงแค่ทิ้งขยะให้ถูกที่ เพราะปัญหาใหญ่ ๆ ที่ทำให้น้ำท่วมกทม นอกจากปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้น เรื่องของขยะที่อุดในท่อระบายน้ำ มีส่วนอย่างมาก เพราะน้ำที่ไหลลงมาในท่อเจอขยะอุดตันก็ระบายไม่ได้ น้ำเก่าก็ค้างที่เดิม ฝนตกน้ำใหม่ก็ระบายไม่ได้ ทำให้น้ำท่วมติดต่อกันหลายวันไม่ลดลงสักที

เราสามารถกำจัดขยะที่เกิดขึ้นได้แบบนี้ ของกินของใช้ใส่ถุงพลาสติกทิ้งลงถังขยะ ส่วนน้ำมันเก่าที่ใช้จากการทำอาหารทอด ให้กรอกใส่ขวดแล้วนำไปขายที่ร้านรับซื้อ และอาหารที่มีไขมันสูงให้เทลงถังดักไขมัน เพียงแค่นี้ก็จะไม่มีขยะไปอุดท่อระบายน้ำ ปล่อยให้น้ำได้ระบายแบบโฟลว์ ๆ ฝนตกหนักแค่ไหนก็หายห่วงเรื่องน้ำท่วมไปได้เลย
ย้ายของที่มีค่าไปเก็บในที่สูง ป้องกันระดับน้ำท่วมสูง

2. ย้ายของมีค่าไปอยู่ในที่ปลอดภัย

บางทีน้ำท่วมสูงอาจมาหาเราโดยที่ไม่ทันตั้งตัว สิ่งที่พวกเราควรทำเป็นเรื่องแรก ๆ คือต้องย้ายของที่มีค่าไปเก็บให้ดี ป้องกันระดับน้ำที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้ามาภายในบริเวณตัวบ้านของเรา โดยของมีค่าในบ้านของเราก็มีหลายแบบ หากเป็นพวกของมีค่าที่เคลื่อนที่ได้ง่ายประเภทเอกสาร สมุดบัญชีธนาคาร เอกสารราชการ ทะเบียนบ้าน ให้เก็บไว้ในถุง และพกติดตัวเราไปด้วยเสมอในช่วงนี้ หากจำเป็นต้องใช้ในเรื่องเร่งด่วน ส่วนบ้านไหนที่มีรถยนต์มากกว่า 1 คันให้ลองมองหาที่รับฝากรถบนตึกไว้ก็ดี

หากน้ำท่วมสูงขึ้นมา ไม่ทันได้ย้ายรถ อาจต้องปวดหัวกับเรื่องค่าซ่อมหลังน้ำลดได้ เพราะค่าซ่อมจากน้ำท่วมห้องเครื่อง นับว่าสาหัสอยู่พอสมควร และถ้าในบ้านมีผู้ป่วย หรือคนแก่ อาจลองไปเช่าห้องที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล หากมีเหตุร้ายแรงอะไร จะได้ไปพบหมอได้ทันที ไม่ต้องเหนื่อยกับการลุยฝ่าน้ำท่วมออกจากบ้าน
ชัตดาวน์ระบบไฟฟ้าภายในบ้านจากเหตุการณ์น้ำท่วม

3. ชัตดาวน์ระบบภายในบ้านให้เรียบร้อย

หนึ่งเรื่องที่เราไม่ควรมองข้ามเลย คือเรื่องของระบบไฟฟ้าภายในบ้าน เราอาจคิดว่า มีน้ำท่วมซึมเข้าบ้านเล็กน้อย คงไม่เป็นปัญหาอะไร แค่วิดน้ำออกก็อยู่ได้เหมือนเดิม แต่เราไม่รู้ว่าตอนนี้มีน้ำซึมเข้าบ้านจุดไหนอีกบ้าง และน้ำจะไหลเข้าไปในปลั๊กไฟจนทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ในช่วงนี้ที่น้ำท่วมยังคงอยู่ เพื่อให้ปลอดภัยให้ปิดระบบไฟฟ้าในชั้นล่างก่อน และหาเทปกาวมาปิดรูปลั๊กให้เรียบร้อย จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุไม่คาดฝันได้

หากพ้นฤดูฝนต้นเหตุของน้ำท่วมไปแล้ว ก็รีบหาช่างให้มาย้ายจุดปลั๊กไฟที่มีระดับต่ำ ๆ ให้มาอยู่ในระดับที่คิดว่าน้ำท่วมไม่ถึง และอย่าลืมถอดปลั๊กไฟกับทุกอุปกรณ์ในบ้านในช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้ หรือไม่อยู่บ้าน ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้มากเลยทีเดียว
สถานการณ์น้ำท่วม ก็ไม่ต้องกลัวด้วย 5 วิธีเอาตัวรอด

4. วางแพลนในชีวิตซะใหม่

ก็ไม่มีใครรู้ว่าฝนจะยังอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน จะมีเรื่องที่ไม่คาดฝันอีกหรือไม่ หากใช้แพลนชีวิตเหมือนเดิม คงรับมือได้ยาก เพราะน้ำท่วมส่งผลกับชีวิตเราไม่ว่าจะวัยไหนก็โดนกันหมด ตอนเช้าต้องออกจากบ้านไปทำงาน ไปโรงเรียน ฝนตกขึ้นมารถก็ติดกันหมด ใช้เวลามากกว่าเดิมเยอะเลย ลองเปลี่ยนแพลนดีไหม เปลี่ยนจากขับรถส่วนตัว ลองใช้บริการรถไฟฟ้า หรือขนส่งสาธารณะ เปลี่ยนการเดินทางได้ทันที ไม่ต้องเป็นห่วงรถส่วนตัว ว่าจะดับกลางทางเพราะติดน้ำท่วมหรือเปล่า

หรือเจ้าของธุรกิจ หัวหน้าทีม หากยังอยู่ในช่วงฝนตกหนัก น้ำท่วม ลองกลับมาให้ทีมใช้แผน Work From Anywhere ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ช่วยประหยัดเวลา แถมยังได้งานเพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องเสียใช้เวลาเดินทางฝ่าน้ำท่วมออกไปออฟฟิศ เหลือเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้อีกเยอะเลย
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การฝึกทำ CPR

5. ฝึกรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน

เรื่องฉุกเฉินมักจะมาแบบไม่บอกเราล่วงหน้า หากไม่ฝึกรับมือเรื่องวิกฤตไว้บ้าง เกิดเรื่องขึ้นมาจริง ๆ คนส่วนใหญ่มักจะลนลาน ทำอะไรไม่ถูก จนอาจทำให้สิ่งต่าง ๆ แย่ยิ่งกว่าเดิม สิ่งที่พวกเราควรฝึกเอาไว้อย่างเช่น วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การฝึกทำ CPR วิธีการเข้าให้การช่วยเหลือผู้ถูกไฟฟ้าดูดจากน้ำท่วม ทั้งในที่สาธารณะและภายในบ้าน ที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก

หรือการฝึกอพยพหากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมสูงจนไม่สามารถอยู่บ้านได้อีกต่อไป เรื่องพวกนี้เป็นสกิลที่เราต้องอาจฝึกให้ชำนาญ หากเกิดเหตุขึ้นมาจริง ๆ ไม่ว่าเรื่องอะไรเราจะแก้มันได้อย่างถูกวิธี และปลอดภัยทั้งกับตัวเอง และผู้อื่น เพราะปัญหาน้ำท่วมเราอาจต้องเจอกันไปอีกในทุก ๆ ปีต่อจากนี้ ฝึกสกิลให้พร้อมไว้ก่อน ชีวิตดีแน่
สุดท้ายนี้เรื่องฝนตกหนัก หรือสถานการณ์น้ำท่วมเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ถ้าเรามีการเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ ก็สามารถช่วยลดความเสียหาย หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งตัวเรา และทรัพย์สินของเราได้มากทีเดียว หรือสามารถนำเคล็ดลับดี ๆ ของเรานำไปปรับใช้ได้เลย หากใครที่กำลังเจอสถานการณ์น้ำท่วม เราขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow