5 ปัจจัยสำคัญสำหรับความสำเร็จของทุกๆ ธุรกิจ (ตอนที่ 2)

5 ปัจจัยสำคัญสำหรับความสำเร็จของทุกๆ ธุรกิจ (ตอนที่ 2)

By Tim Pita

4) วิ่งเข้าหาโลกาภิวัฒน์ โดย คาร์ลอส โกห์น ซีอีโอของนิสสันมอเตอร์
ผมมีโอกาสได้เจอคุณคาร์ลอส โกห์น ที่ Havard Business School เขามากล่าวสุนทรพจน์และทำ Workshop ให้กับนักเรียน Harvard และ MIT บ่อยครั้ง กับ Sasin ของจุฬา คุณคาร์ลอสก็เคยมา ผมรู้สึกชื่นชอบเขาเป็นพิเศษหลังจากได้ยินเรื่องราวการกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งของนิสสันภายใต้การนำของเขา ผมยกมือขึ้นถามเขาว่าคิดเห็นอย่างไรกับเมืองไทย และอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ คำตอบของเขาเริ่มต้นเหมือนสคริปต์ที่เตรียมมาว่าจะต้องเตรียมพร้อมกับรถ “Hybrid” ซึ่งนิสสันคิดว่าจะเป็นอนาคตของยานยนต์ ในโลกที่มีปัญหาภาวะโลกร้อนและราคาน้ำมันที่มีแต่จะขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เขาเริ่มเครื่องร้อนเข้าที่ จึงเริ่มรู้สึกเข้าเรื่องมากขึ้น เขาบอกว่าไทยควรจะใช้ประโยชน์กับโลกาภิวัฒน์มากกว่านี้ แน่นอนว่าเราต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ และมีการนำเข้าส่งออกมากมาย แต่คุณคาร์ลอสบอกว่าผู้ประกอบการภายใต้การช่วยเหลือของรัฐบาล ควรจะใช้โลกาภิวัฒน์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเองให้มากขึ้น ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างมากและประสบโดยตรงในการทำธุรกิจ คนตัวเล็กต้องพึ่งคนตัวใหญ่ และประเทศไทยไม่ได้เก่งไปซะทุกอย่าง แต่เรามีทรัพยากรสมบูรณ์มากมายที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้อย่างมหาศาล แน่นอนเราควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีจากต่างชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ให้เขามาเอาผลประโยชน์เพืยงอย่างเดียว ให้เราเป็นฐานผลิตให้เขาและให้เขาจ่ายค่าเหงื่อให้เราเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคิดว่าอะไรคือ “กล่องดำ” ของเราที่จะทำให้การเข้าหาโลกาภิวัฒน์ของเราจะทำให้ ชนะ-ชนะ ทั้ง 2ฝ่าย กล่องดำนี้อาจจะเป็นวัตถุดิบ สัญญาทางกฎหมาย การโอนความรู้ การแลกเปลี่ยนพนักงาน การเทรนนิ่ง คือเรียกง่ายๆ คือต้องมีแผนที่จะดูดซับความรู้เทคโนโลยีจากคนที่เราทำธุรกิจด้วย ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างมูลค่าให้เขาด้วย คุณคาร์ลอส ยกตัวอย่างให้ว่า นิสสันอยากให้ OEM สี ช่วยทำสีใหม่ๆ ให้นิสสันในไทย หรือให้ OEM พลาสติก คิดค้นทำพลาสติกที่เบา แต่ทนทานให้นิสสัน เพื่อที่จะไม่ให้ผลิตตามใบสั่งเพียงอย่างเดียวเหมือนสมัยก่อน

5) ความสำเร็จไม่มีสูตรสำเร็จ โดย Professor Emilio Castilla จาก MIT Sloan School Of Management
เป็นอาจารย์ที่ผมรักมากและเถียงมากอีกคนหนึ่ง อาจารย์ Emilio สอนเรื่องคนครับ การบริการ Human Resources ซึ่งผมมีโอกาสได้ทำตรง บริหารลูกน้องตรง ซึ่งพูดได้เลยว่า “คุมเครื่องคุมง่าย คุมคนคุมยาก” กับอาจารย์ที่มีทฤษฎีเยอะ แถมเป็นทฤษฎีฝรั่งอีก พื้นฐานวัฒนธรรมไทยกับฝรั่งก็ไม่เหมือนกัน แล้วอาจารย์ใส่ทฤษฎีมาเยอะๆ KPI Management บ้างอะไรบ้าง ผมก็ชอบถกกับแกประจำทั้งในห้องและนอกห้อง KPI เอาเงินโบนัสไปล่อ อย่างที่อาจารย์สอน ทำให้ลูกน้องรักเงินไม่รักองค์กรทำอย่างไร ? ทะเลาะกัน หรือโกงตัวเลข มั่วตัวเลข เอาโบนัส พี่ไทยมีทำให้เห็นเยอะแยะไป ผมโดนมาหมดแล้วทุกรุ่น อาจไม่เหมือนอเมริกา ญี่ปุ่น ตอนแรกท่านก็คงไม่ชอบผม ที่ชอบนั่งชำแหละทฤษฎีด้วยปัญหาของโลกแห่งความจริง ตอนหลังๆ แกชักชอบ เพราะโรงเรียน MIT Sloan ก็มีต่างชาติถึง 40 % และการถกกับผมมันทำให้วิชาที่แกสอนคมขึ้น ตามคำกล่าวของท่าน วันสุดท้ายก่อนเรียนจบ ท่านเดินมาตบไหล่ผม อวยพรและเปรยขึ้นมาว่า “ความสำเร็จนี้มันไม่มีสูตรสำเร็จ จริงๆ นะ” มันไม่ตายตัว ที่พวกยูเรียนๆไปนี้ 10 % ของโลกแห่งความเป็นจริงได้หรือเปล่า? ผมเองก็เชื่ออย่างนั้น ว่าการตามอ่าน การพูดคุย การเรียนหนังสือเป็นได้แค่พื้นฐานแต่จะหวังให้นำมาซึ่งความสำเร็จในการทำธุรกิจนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ได้ลงมือทำเอง และลองผิดลองถูก นักธุรกิจ และผู้ประสบความสำเร็จที่ผมได้กล่าวในบทความนี้ รวมถึงทุกคนที่ผมได้พบเจอ ไม่มีคนไหนที่ประสบความสำเร็จเพราะมีสูตรสำเร็จและประสบชัยชนะ ตั้งแต่ครั้งแรก แต่เพราะเขาได้สะสมแต้ม แห่งความล้มเหลว และทำต่อหรือทำใหม่ทั้งนั้น ผมจึงอยากจะจบบทความตอนนี้ด้วยการชักชวนให้ทุกท่านเริ่มรวบรวม 5 ข้อแห่งความสำเร็จของท่านเองด้วยประสบการณ์ของท่านเอง เพราะส่วนหนึ่งของความสำเร็จ คือ บทเรียน ความรู้ เขี้ยว ที่ท่านจะได้เพิ่มขึ้นทุกๆวัน จากการลงมือทำ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา