ความรู้สามส่วน พระราชดำริด้านการศึกษาของพ่อหลวงที่จะช่วยให้ทุกคนบรรลุเป้าหมาย

ความรู้สามส่วน พระราชดำริด้านการศึกษาของพ่อหลวงที่จะช่วยให้ทุกคนบรรลุเป้าหมาย

By Krungsri Guru

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาที่จะช่วยให้บรรลุถึงจุดหมายในอีกมิติหนึ่งว่า

“...ความรู้ที่จะศึกษามีอยู่สามส่วน คือ ความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติการ และความคิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริง ซึ่งแต่ละคนควรเรียนรู้ให้ครบเพื่อสามารถนำไปใช้ประกอบกิจการงาน และแก้ปัญหาทั้งปวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ...”


ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2535

กรุงศรี กูรู จึงขอน้อมนำพระราชดำริของพระองค์ท่านมาเผยแพร่เป็นแนวทางให้แก่ผู้อ่านทุกท่าน
 

1. ความรู้วิชาการ


ความรู้วิชาการ หรือการศึกษาทางทฤษฎี จะทำให้เรามีพื้นฐานในเรื่องนั้น ๆ รู้กรอบหรือแนวทางของการคิดและการปฏิบัติ สามารถที่จะนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการต่อยอดความรู้และความเข้าใจ การศึกษาพื้นฐานของแต่ละเรื่องมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการศึกษาในระดับสูงขึ้นไป ถ้าความรู้พื้นฐานดี ก็จะช่วยให้สามารถศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปได้มาก ในทางกลับกันถ้าความรู้พื้นฐานไม่ดีหรือไม่แข็งแรง การศึกษาที่ระดับสูงขึ้นไปก็จะทำไม่ได้หรือได้น้อย ถ้าจะเปรียบเสมือนการสร้างบ้าน การวางรากฐานของบ้าน เช่น เสาเข็ม คานพื้นบ้าน เป็นต้น จะทำหน้าที่เป็นรากฐานให้สามารถก่อฝาผนังบ้านขึ้นไปจนถึงหลังคาได้ฉันใด ความรู้เดิมก็เปรียบเสมือนฐานรากให้แก่ความรู้ใหม่ที่จะพัฒนาขึ้นไปฉันนั้น ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"วิชาความรู้อันพึงประสงค์นั้น ได้แก่ วิชาความรู้ที่ถูกต้อง ชัดเจน แม่นยำ ชำนาญ นำไปใช้การเป็นประโยชน์ได้พอเหมาะพอควร ทันต่อเหตุการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ" (26 มิถุนายน 2523)
 

2. ความรู้ปฏิบัติการ


การมีความรู้ทางทฤษฎีอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอต่อการรับประกันถึงความสำเร็จ ผู้ที่มีความรู้เชิงทฤษฎีจะต้องนำทฤษฎีไปทดลองปฏิบัติจนให้เกิดความคล่องแคล่วชำนาญเสียก่อน การฝึกฝนปฏิบัติจนเชี่ยวชาญนี้ช่วยให้เกิดความรู้อีกส่วนหนึ่งที่เสริมความรู้เชิงทฤษฎีให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่การปฏิบัติงานด้วยตนเอง ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

"การมีความรู้ถนัดทฤษฎีประการเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลสามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่ ผู้ที่ฉลาดสามารถในหลักวิชาโดยปกติวิสัยจะได้แต่เพียงชี้นิ้วให้ผู้อื่นทำซึ่งเป็นการไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่อาจทำให้ผู้ใดเชื่อถือหรือเชื่อฟังอย่างสนิทใจได้ เหตุด้วยไม่แน่ใจว่าผู้ชี้นิ้วเองจะรู้จริง ทำได้จริงหรือ ความสำเร็จทั้งสิ้นทำได้เพราะลงมือกระทำ" (18 ตุลาคม 2517)

ผู้ศึกษาต้องนำสิ่งที่ได้รับจากภาคทฤษฎีมาทดลองในภาคปฏิบัติ กล่าวคือ หลังจากได้รับการถ่ายทอดวิชาการมาแล้ว เราต้องหัดคิดและพิจารณา และลงมือกระทำด้วยตนเอง
 

3. ความคิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริง


พระองค์ทรงอธิบายเรื่องนี้ว่า

"วิชาการทั้งปวงนั้นถึงจะมีประเภทมากมายเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อนำมาใช้สร้างสรรค์สิ่งใดก็ต้องใช้ด้วยกัน หรือต้องนำมาประยุกต์เข้าด้วยกันเสมอ อย่างกับอาหารที่เรารับประทาน กว่าจะสำเร็จขึ้นมาให้รับประทานได้ ต้องอาศัยวิชาประสมประสานกันหลายอย่างและต้องผ่านการปฏิบัติมากมายหลายอย่างหลายตอน ดังนั้นวิชาต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ถึงกันและมีอุปการะแก่กันทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์และฝ่ายศิลปศาสตร์ ไม่มีวิชาใดที่นำมาใช้ได้โดยลำพัง หรือเฉพาะอย่างได้เลย" (3 สิงหาคม 2521)

นั่นหมายความว่า การนำวิชาการสาขาต่าง ๆ เข้ามาประกอบกันเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานได้สำเร็จเป็นสิ่งที่จำเป็น ดังที่กล่าวกันว่าเป็นการเรียนและการใช้วิชาการในลักษณะ "สหวิทยาการ (multidiscipline)"

"เพราะวิชาทั้งหลายเกี่ยวโยงถึงกันเป็นส่วนประกอบของกันและกัน เป็นปัจจัยอุดหนุนกันและกันอย่างแน่นแฟ้น" (3 ตุลาคม 2518)

การปรับทฤษฎีให้เข้ากับการปฏิบัติโดยจะต้องวิเคราะห์ปัญหาการปฏิบัติให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน นั่นหมายความว่าการเป็นจริงของการปฏิบัติเป็นหลักที่จะต้องยึดไว้และปรับทฤษฎีเข้าสู่การปฏิบัติ ไม่ใช่ปรับการปฏิบัติเข้าสู่ทฤษฎี อีกประการหนึ่ง คือ การประสานกับทฤษฎีของวิชาอื่น ๆ เข้าด้วยกันเพื่อช่วยให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือความจริงที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น และนำไปสู่การได้หนทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเป็นผลสำเร็จ เมื่อการปรับทฤษฎีจะโดยวิธีใดก็ตามเกิดผลต่อการปฏิบัติจริง ผลแห่งการปรับทฤษฎีนั้นก็จะนำมาซึ่งความรู้ใหม่เพิ่มเติมขึ้นจากความรู้เดิมที่มีอยู่ให้พัฒนาสูงขึ้น ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการพัฒนาทฤษฎีหรือวิชาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชให้ความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และทรงเป็นผู้เข้าใจแก่นของการศึกษาอย่างถ่องแท้ ทรงให้ความสำคัญแบบบูรณาการ ทั้งทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานเพื่อเป็นรากฐานรองรับพื้นฐานที่สูงขึ้นไป แต่หากเรียนแค่ทฤษฎีไม่นำไปปฏิบัติก็ไร้ประโยชน์ ได้แต่รู้ทฤษฎีไม่สามารถใช้ได้จริง และทุกอย่างจะสำเร็จได้ด้วยการรู้จักคิดอ่านตามเหตุผล รู้จักคิดวิเคราะห์ สะสมความรู้และเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกจนประสบความสำเร็จ ถ้าเราน้อมนำพระราชดำริแนวคิดของพระองค์มาปรับใช้ไม่ใช่แค่ด้านการศึกษา แต่รวมถึงด้านหน้าที่การงานด้วย เราก็จะบรรลุถึงเป้าหมายอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow