กรุงศรีรุกบริการ Transaction Banking ชูกลยุทธ์การพัฒนาดิจิทัลโซลูชัน เน้นเชื่อมโยงอาเซียน

21 กรกฎาคม 2566

กรุงเทพฯ (21 กรกฎาคม 2566) - กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) โดยกลุ่มงานธุรกรรมการเงิน (Transaction Banking) มุ่งต่อยอดความสำเร็จ ยกระดับบริการธุรกรรมการเงินให้หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยชูกลยุทธ์การพัฒนาดิจิทัลโซลูชัน ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ให้ลูกค้าทำธุรกรรมได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ครอบคลุมถึงการชำระเงินและการโอนเงินทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ตามแนวทางการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายในการเป็นพันธมิตรของลูกค้าในด้านการชำระเงินและการบริหารสภาพคล่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าปีนี้รายได้เติบโตขึ้นถึง 32%

นางสาวนิลวรรณ จีระบุญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกรรมการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจหรือการใช้ชีวิตของลูกค้าในปัจจุบันคือการทำธุรกรรมการเงินได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย กรุงศรีจึงมุ่งพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่องให้ตอบโจทย์ความต้องการ พร้อมส่งมอบประสบการณ์การทำธุรกรรม การชำระเงิน และการบริหารจัดการเงินสำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนนำมาซึ่งความสำเร็จการันตีด้วยรางวัลจากสถาบันชั้นนำระดับโลกอย่าง The Asset, The Digital Banker และ Asian Banking & Finance โดยในช่วงครึ่งปีแรก กลุ่มงานธุรกรรมการเงินมีรายได้โดยรวมสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณธุรกรรมของบริการด้านดิจิทัลโซลูชันเพิ่มขึ้น 31%”

สำหรับกลยุทธ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 กลุ่มงานธุรกรรมการเงินยังคงมุ่งขับเคลื่อนและพร้อมให้บริการกับลูกค้าไม่ว่าจะอยู่ในช่วงไหนของเส้นทางการดำเนินธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาดิจิทัลโซลูชัน (Digital Solutions) พร้อมกับการขยายการให้บริการสู่อาเซียน (ASEAN Expansion) ดังนี้
  • เพิ่มศักยภาพของช่องทางการทำธุรกรรม ให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์และศักยภาพในการทำธุรกรรมที่ครอบคลุมและหลากหลายยิ่งขึ้นบนช่องทางของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็น KMA krungsri app สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดา และ Krungsri Biz Online (KBOL) สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอี หรือ Krungsri CashLink แพลตฟอร์มการทำธุรกรรมสำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ โดยสามารถทำธุรกรรมได้ทั้งการชำระเงิน โอนเงินในประเทศและต่างประเทศครบจบในแพลตฟอร์มเดียวกัน ลูกค้าสามารถเลือกใช้งานได้ตามความต้องการ ทุกที่ ทุกเวลา
  • ต่อยอดเทคโนโลยี API โดยร่วมมือกับลูกค้าธุรกิจในการพัฒนาโซลูชันทางการเงิน จากที่ก่อนหน้านี้ธนาคารได้ริเริ่มให้บริการ Krungsri Digital Wallet Solution (PromptPay) APIs และ Krungsri Smart COOP Application กับกลุ่มลูกค้า Non-bank ที่ต้องการบริหารจัดการเงินจากแอปพลิเคชันของตนเอง โดยธนาคารจะเร่งขยายบริการไปยังอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของลูกค้าให้มีความพร้อมในการก้าวสู่ Digital Technology ที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำธุรกรรมได้ถูกต้อง รวดเร็ว ทันที แบบ 24/7
  • พัฒนาฟีเจอร์ใหม่บนบริการร้านค้าเพื่อสนับสนุนการขยายฐานลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า ของบริการ Krungsri EDC และ Krungsri Mung Mee SHOP ทำให้ธุรกิจที่มีหน้าร้าน ขายออนไลน์ หรือขายผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซสามารถปิดการขายได้อย่างง่ายและรวดเร็วขึ้น รองรับการชำระเงินผ่านบัตร และสแกน QR โดยที่ร้านค้าสามารถตรวจสอบรายการต่างๆ ได้สะดวกทันที ไม่ต้องกังวลกับปัญหาสลิปปลอม อีกทั้งมีฟีเจอร์ที่รองรับการเก็บเงินปลายทางอีกด้วย
  • ขยายการให้บริการชำระเงินและโอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ในอาเซียน ที่ผ่านมากรุงศรีร่วมกับธนาคารพันธมิตรในอาเซียน ภายใต้เครือข่ายของ MUFG ในการพัฒนาระบบการชำระเงินและโอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนภายใต้แนวคิด ASEAN Payment Connectivity

“ปัจจุบันกรุงศรีสามารถให้บริการชำระเงินด้วยการสแกน QR สำหรับลูกค้าชาวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ และสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย (Cross-border QR payment) สามารถใช้แอปของตัวเองสแกนจ่าย QR ของร้านค้าในไทยได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเปิดให้บริการแล้วใน 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และมาเลเซีย และมีแผนจะขยายไปยัง สปป.ลาว อินเดีย และฮ่องกง สำหรับด้านการโอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ (Real-time cross-border transfer) กรุงศรีจะขยายบริการไปยังประเทศเวียดนามและกัมพูชาในช่วงครึ่งหลังของปี อีกทั้งจะมีการเชื่อมต่อกับระบบการโอนเงินไปต่างประเทศด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ (International PromptPay) กับประเทศมาเลเซียในปีถัดไปอีกด้วย ซึ่งจากกลยุทธ์ในการดำเนินงานทั้งหมดที่กล่าวมานั้น คาดว่าจะทำให้ในปีนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็น 32% จากปีที่ผ่านมา” นางสาวนิลวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา