23 สิงหาคม 2564
จากสถานการณ์โควิด-19 ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งมีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และปรับตัวได้รวดเร็ว คือ ผู้รอดชีวิตที่แท้จริง แต่แล้วอะไรคืออุปสรรคปัญหาที่ฉุดรั้งให้สตาร์ทอัพจำนวนมากยังเติบโตได้อย่างไม่เต็มที่ และจะมีแนวทางในการแก้ไขหรือปัจจัยที่จะส่งเสริมสตาร์ทอัพอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร ลองมาฟังการวิเคราะห์อย่างถึงแก่นจากผู้คร่ำหวอดในวงการสตาร์ทอัพของเมืองไทย ที่ย้ำชัดถึงโอกาสที่สดใส พร้อมกะเทาะเปลือกปัญหา และเสนอแนะหนทางใหม่ที่จะทำให้วงการสตาร์ทอัพไทยบินได้ไกลไต่ระดับได้สูงกว่าที่เคย
เมื่อถามว่าทำไมสตาร์ทอัพไทยจึงมีโอกาสพัฒนาต่อและเติบโตในทิศทางบวก
คุณแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เผยว่า ถ้าพิจารณาจากสถิติจะพบว่าตั้งแต่ปี 2015 สตาร์ทอัพไทยแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2020 พบการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพเติบโตกว่า 3 เท่าจากปกติ และคาดการณ์ว่าในปี 2022 จะเติบโตมากกว่าปีนี้ถึง 50% ประกอบกับการมียูนิคอร์นไทยรายแรกอย่าง Flash Express ที่สะท้อนภาพความสำเร็จ และแนวโน้มว่าสตาร์ทอัพหลายธุรกิจของไทย มีศักยภาพที่จะขยายกิจการจากในประเทศไปยังภูมิภาคได้
ตัวเลขความสำเร็จและปัจจัยบวกเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสนับสนุนและลงทุนในเทคโนโลยีนวัตกรรมและสตาร์ทอัพทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคจากกรุงศรี ฟินโนเวต วิเคราะห์ว่าน่าจะมาจาก 2 สาเหตุหลัก นั่นคือ
- การตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราการใช้สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียติดอันดับต้น ๆ ของโลก จึงส่งผลดีต่อธุรกิจสตาร์ทอัพที่ให้บริการในรูปแบบ B2C หรือการส่งต่อสินค้าและบริการไปถึงผู้บริโภคโดยตรง ผู้บริโภคได้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นจากสตาร์ทอัพนั้นได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย จึงเกิดการใช้งานแพร่หลายและใช้ซ้ำ ขณะเดียวกันสตาร์ทอัพที่ให้บริการในรูปแบบ B2B หรือมีเป้าหมายให้บริการลูกค้ากลุ่มองค์กรบริษัทต่าง ๆ ก็ยอมรับการใช้งาน Local Platform จากสตาร์ทอัพไทย และเห็นการเปลี่ยนบทบาทจาก “พนักงานบริษัท” มาเป็น “สตาร์ทอัพ” ทำโซลูชั่นตอบโจทย์องค์กรมากขึ้น
- นักลงทุนมีความมั่นใจ เนื่องจากที่ผ่านมามีนักลงทุนสนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นหลาย 10 เท่า ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย และยุโรป โดยเงินทุนที่มาจาก Venture Capital เหล่านี้ นอกจากจะสามารถนำไปใช้เพื่อต่อยอดให้กับสตาร์ทอัพได้แล้ว ยังให้ผลประโยชน์ที่น่าพึงพอใจสำหรับนักลงทุน เพราะแทนที่จะต้องใช้เงินไปวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง ก็สามารถแบ่งการลงทุนมาลงในสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อนำเทคโนโลยีที่ได้ไปใช้กับบริษัทของตน
อีกทั้งยังเก็บเกี่ยวผลลัพธ์จากการลงทุนได้เป็นกอบเป็นกำ บวกกับการคาดการณ์ว่าในปี 2023 สตาร์ทอัพไทยจะเริ่มดำเนินการเพื่อเตรียมตัวจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้นักลงทุนในสตาร์ทอัพสามารถเข้ามาลงทุนได้ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ และสามารถ Exit ขายเพื่อทำกำไรได้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพไทยพร้อมทะยานสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ในขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย แต่จากประสบการณ์การทำงานใกล้ชิดร่วมกับกับสตาร์ทอัพมากที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ร่วมทำงานกับสตาร์ทอัพกว่า 63 ราย มากกว่า 106 โปรเจคใน 37 หน่วยงานในเครือกรุงศรี
หากให้วิเคราะห์ทั้งโอกาสและอุปสรรคแล้ว มีข้อสงสัยต่อว่าแล้วสิ่งใดจะเป็น “ลมใต้ปีก” ที่จะพาสตาร์ทอัพบินสูงและไปได้ไกลขึ้น ซึ่งคุณแซมเผยมุมมองที่น่าสนใจว่า นักลงทุนจะเข้ามาเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยเหลือสตาร์ทอัพเหล่านั้นในด้านหาเงินลงทุนมาเพิ่มเติม ดังนั้นหากประเทศไทยมีกองทุนอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถที่เปิดกว้างให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาเป็นร่วมลงทุนได้ง่ายขึ้น จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งยังมีส่วนกระตุ้นการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพได้จริง
จากประสบการณ์การลงทุนมานานกว่า 10 ปีในกว่า 15 กิจการสตาร์ทอัพ รวมเงินลงทุนมากกว่า 1,500 ล้านบาทของกรุงศรี ฟินโนเวต พบว่านักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยมองเห็นเทรนด์ของสตาร์ทอัพ จึงเกิดแอคชั่นมากมาย ทั้งการร่วมลงทุนในรอบแรกๆ ซึ่งเป็น Early stage เรียกว่า Angel Investing Round และยังพบว่านักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จะใช้ประเมินสถานะหรือมูลค่าทางธุรกิจสตาร์ทอัพโดยตรงได้มากขึ้น ซึ่งหากมีทีมงานและผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจการทำงานของสตาร์ทอัพ มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการลงทุน ก็จะสามารถช่วยนักลงทุนที่สนใจเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพได้อย่างเหมาะสม สร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ขณะที่สตาร์ทอัพเองก็มีโอกาสเติบโตและแข่งขันในตลาดได้
คงต้องจับตาดูโอกาสการเข้ามาของกองทุนเพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพ เพื่อการลงทุนแบบจริงจังจะเกิดขึ้นเมื่อไรและจะสามารถช่วยรันวงการ สร้างยูนิคอร์นไทยตัวใหม่ให้เติบโตได้วิ่งไกลไปเร็วเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้มากเพียงใด และจะมีแอคชั่นอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง คงต้องรอติดตามตอนต่อไปอย่างใกล้ชิดกันเลยทีเดียว