กรุงศรี เผยแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ มุ่งสู่การเป็น “สถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน” ภายในปี 2566

3 กุมภาพันธ์ 2564

กรุงเทพฯ (3 กุมภาพันธ์ 2564) – กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) ในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ประกาศแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ปี 2564 – 2566 มุ่งสู่การเป็น “สถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน” เดินหน้าขับเคลื่อนด้วย 5 กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย การปฏิรูปธุรกิจลูกค้ารายย่อยให้เป็นหนึ่งเดียว (One Retail Transformation) การเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้านลูกค้าธุรกิจ (Commercial Business Enhancement) การสร้างระบบนิเวศและพันธมิตรทางธุรกิจ (Ecosystem and Partnership) การขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Expansion) และการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ (New Revenue Stream) โดยพิจารณาจากความสำเร็จของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับที่ผ่านมา แนวโน้มเมกะเทรนด์ของโลก พร้อมดึงศักยภาพจากการประสานพลังระหว่างความเชี่ยวชาญและเครือข่ายระดับโลกของ MUFG เข้ากับจุดแข็งอันโดดเด่นของกรุงศรี เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า “ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา ในฐานะสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบของประเทศไทย (Domestic Systemically Important Bank: D-SIB) กรุงศรีได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความช่วยเหลือและลดภาระทางการเงินของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะเดียวกัน กรุงศรีก็ยังสามารถส่งมอบผลประกอบการที่น่าพอใจ และเมื่อมองย้อนกลับไปที่แผนธุรกิจระยะกลางฉบับที่ 2 ซึ่งครอบคลุมปี 2561-2563 ที่ผ่านมา เราสามารถบรรลุเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็นกลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทย โดยได้รับการยกย่องให้เป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ พร้อมด้วยคุณภาพของสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง การเร่งขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากพิจารณาจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นและความท้าทายต่าง ๆ ในช่วงแผนธุรกิจระยะกลางที่ผ่านมา รวมถึงปัจจัยจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 และผลกระทบที่ยืดเยื้อ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสภาวะตลาดและภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก กรุงศรีจึงได้กำหนดแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ซึ่งครอบคลุมปี 2564-2566 ด้วยจุดมุ่งหมายสู่การเป็น “สถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน”

ภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ปี 2564-2566 กรุงศรีมุ่งให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ควบคู่กับการเร่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดใหม่ ๆ ภายนอกประเทศ โดยได้วางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ 5 ประการ คือ
  1. การปฏิรูปธุรกิจลูกค้ารายย่อยให้เป็นหนึ่งเดียว (One Retail Transformation) โดยอาศัยฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ของกรุงศรีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าและสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกับประสบการณ์ลูกค้าในทุกช่วงชีวิต
  2. การเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้านลูกค้าธุรกิจ (Commercial Business Enhancement) ผ่านการเร่งสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับห่วงโซ่ธุรกิจ (value chains) และการให้บริการข้ามกลุ่มลูกค้า
  3. การสร้างระบบนิเวศของกรุงศรีเองและการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ (Ecosystem and Partnership) เพื่อขยายฐานลูกค้า
  4. การขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Expansion) เปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ สำหรับกรุงศรีและลูกค้าในตลาดอาเซียน โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการลงทุนและการช่วยเหลือลูกค้าในการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในอาเซียน และ
  5. การสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ (New Revenue Stream) โดยอาศัยความแข็งแกร่งและศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของกรุงศรีในการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นใหม่ ๆ

“สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2564 ภายใต้ภาวะความไม่แน่นอนจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย กรุงศรียังคงมุ่งให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือลูกค้า การรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้แข็งแกร่งต่อเนื่อง และการบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ก็เดินหน้าสู่เส้นทางใหม่ตามแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ เพื่อก้าวสู่การเป็นสถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้าทั่วทั้งอาเซียน ซึ่งพร้อมเป็นพันธมิตรที่คอยช่วยเหลือและเชื่อมโยงทุกความต้องการด้านการเงินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างครอบคลุมทั่วภูมิภาค” นายอาคิตะกล่าวเสริม

ในปี 2564 กรุงศรีคาดว่าเงินให้สินเชื่อจะเติบโตในระดับ 3-5% และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ 3.1 – 3.3% การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา และอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2.7%
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา