15 มิถุนายน 2566
กรุงเทพฯ ประเทศไทย 15 มิถุนายน 2566—IFC เข้าลงทุนในตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) และตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ออกโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (หรือเรียกว่า กรุงศรี) เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน (Blue Economy) และช่วยเร่งจัดสรรเงินทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ตลอดจนสนับสนุนการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล
ภายใต้การสนับสนุนผ่านการลงทุนดังกล่าวจาก IFC กรุงศรี ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในประเทศไทย จะดำเนินการสนับสนุนด้านเงินทุนจำนวนรวม 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่โครงการธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลที่มีศักยภาพ อาทิ การจัดหาแหล่งน้ำสะอาด การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอื่น ๆ และสนับสนุนเงินทุนส่วนที่เหลือแก่โครงการธุรกิจเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอื่น อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรายย่อย ทั้งนี้ การออกตราสารหนี้ทั้งหมดจะดำเนินไปตามหลักการตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (
Green Bond Principles) ของสมาคมตลาดทุนนานาชาติ (International Capital Market Association) โดยในส่วนของการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ IFC (
IFC’s Guidelines for Blue Finance)
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) และตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) เป็นครั้งแรกนี้ จะทำให้ธนาคารสามารถเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายระยะกลาง ในการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจที่ส่งเสริมความยั่งยืนเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้าน - 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573" “นอกจากนี้ ภายใต้การสนับสนุนของ IFC ธนาคารจะยังคงความเป็นผู้นำตลาดที่แข็งแกร่งในการออกตราสารหนี้เพื่อการลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (Thematic Bond) ในฐานะพันธมิตรที่ลูกค้าธุรกิจไว้วางใจโดยเฉพาะในด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ยั่งยืน”
นอกเหนือจากการลงทุนดังกล่าวแล้ว IFC จะสนับสนุนกรุงศรีในการพัฒนากรอบการทำงานในการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) และตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) และพัฒนาระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนทางการเงินเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล
นางสาวเจน หยวน ซู (Jane Yuan Xu) ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ของ IFC กล่าวว่า “การเงินเพื่อความยั่งยืนและการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนยังคงเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ในการดำเนินงานของ IFC ในประเทศไทย และ IFC มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับกรุงศรี ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของเราในโครงการที่สำคัญนี้”
“การลงทุนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มการสนับสนุนทุนเงินสำหรับโครงการธุรกิจเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญสู่เป้าหมายด้านการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศของประเทศ”
ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียประสบกับคลื่นความร้อนที่ทวีความรุนแรงมากเป็นประวัติการณ์ และส่งผลกระทบที่ร้ายแรงตามมา โดยคณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้า อุตสาหกรรม และการธนาคาร (กกร.) ได้รายงานว่าภัยแล้ง น้ำท่วม และสภาวะอากาศแบบสุดขั้วอื่น ๆ ได้ทวีความรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยเป็นมูลค่ากว่า 36,000 ล้านบาทในปีนี้
ความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับประเทศไทยคือภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจด้านทรัพยากรทางทะเล ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จากข้อมูลของ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประเทศไทยมีขยะที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเฉลี่ยปีละ 1.03 ล้านตัน และจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของขยะดังกล่าวถูกปล่อยให้ไหลลงสู่ทะเล โดยประเทศไทยยังติดอันดับ 1 ใน 6 ของประเทศทั่วโลกที่ก่อให้เกิดมลพิษพลาสติกในทะเลอีกด้วย