วิธีเตรียมตัวรับมือกับภาษีขายของออนไลน์ 2020 ฉบับมือใหม่
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วิธีเตรียมตัวรับมือกับภาษีขายของออนไลน์ 2020 ฉบับมือใหม่

icon-access-time Posted On 04 มีนาคม 2563
By Krungsri the COACH
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า 1 ในอาชีพยอดนิยม ณ เวลานี้ ก็คือ อาชีพธุรกิจค้าขายออนไลน์ ด้วยความที่เป็นอาชีพที่ค่อนข้างจะตอบโจทย์ความต้องการของคนสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความต้องการหาอาชีพเสริม อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ความต้องการประกอบอาชีพที่มีอิสระ ทั้งทางด้านเวลา และด้านอื่น ๆ อีกทั้งด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ยังช่วยให้สามารถเริ่มต้นสร้างธุรกิจได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนจำนวนมาก เรียกได้ว่า ใคร ๆ ก็สามารถทำอาชีพนี้ได้ จึงไม่แปลกใจเลยที่มองไปทางไหน ก็มีแต่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์อยู่เต็มไปหมด แต่ต่อให้ธุรกิจของเราจะเติบโตมากขนาดไหน ยังมีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราจะละเลยหรือหลีกเลี่ยงมันไปไม่ได้เลย นั่นก็คือ เรื่องของภาษี ถึงตรงนี้บางคนอาจจะเริ่มกังวลขึ้นมาบ้างแล้ว แต่เชื่อเถอะว่า เรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด หากเราทำความเข้าใจ และรู้จักวิธีบริหารจัดการมันอย่างถูกต้อง

แล้วทำธุรกิจออนไลน์ต้องเสียภาษีแบบไหน?

มาถึงตรงนี้ เรื่องกังวลเรื่องแรกคงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า ขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง? หรือ ขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีเท่าไหร่?
ถ้ายึดกันตามหลักการแล้ว สำหรับธุรกิจออนไลน์นั้นจะต้องเสียภาษีอยู่ 2 ประเภท คือ ภาษีเงินได้ กับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเราจะมาพูดถึงในส่วนของภาษีเงินได้ของธุรกิจออนไลน์กันก่อน ภาษีเงินได้นั้นจะเสียตามรูปแบบของธุรกิจ เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องตอบให้ได้ก่อนเลย ก็คือ เราเป็นบุคคลธรรมดาที่ขายของออนไลน์ หรือเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนเรียบร้อยแล้ว โดยหากเราเป็นบุคคลธรรมดาที่ขายของออนไลน์ ก็จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ถ้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเรียบร้อยแล้ว ก็จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั่นเอง
โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะมีวิธีการคำนวณ 2 วิธี คือ
วิธีแรก (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี ตามอัตราขั้นบันได
การหักค่าใช้จ่ายในวิธีแรกสามารถทำได้ 2 แบบ
  • หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาๆ ได้ 60% ของรายได้
  • หักตามจริง ถ้าใช้วิธีนี้อย่าลืม!! ทำบัญชีรายรับรายจ่าย และเก็บหลักฐานไว้
วิธีที่สอง คือ เงินได้ x 0.5% โดยจะใช้วิธีที่ 2 นี้ เมื่อเรามีรายได้เกิน 1 ล้านบาทต่อปี แล้วนำไปเปรียบเทียบกับวิธีแรก เพื่อเสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่า ทั้งนี้สามารถคำนวณภาษีอย่างง่าย ภายใน 3 นาที ได้ที่ Plan Your Money

ตารางคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เงินได้สุทธิ
(บาท)
ช่วงเงินได้สุทธิ
(บาท)
อัตราภาษี ภาษีเต็มในแต่ละขั้น
(บาท)
150,000 150,000 ยกเว้น -
150,001-300,000 150,000 5 7,500
300,001-500,000 200,000 10 20,000
500,001-750,000 250,000 15 37,500
750,001-1,000,000 250,000 20 50,000
1,000,001-2,000,000 1,000,000 25 250,000
2,000,001-5,000,000 3,000,000 30 900,000
5,000,001 บาทขึ้นไป - 35 -

แม่ค้าออนไลน์ต้องยื่นภาษีแบบไหน

แม่ค้าออนไลน์ที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลก็ต้องยื่นภาษี ถูกจัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8 คือเงินได้จากการขายของ ซึ่งจะต้องยื่นภาษี 2 รอบ
  • สิ้นปี ยื่นช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. (แบบ ภ.ง.ด. 90) : จะเป็นการยื่นสรุปทั้งปีที่ผ่านมา
  • กลางปี ยื่นช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย. (แบบ ภ.ง.ด. 94) : เป็นการยื่นสรุปรายได้ในช่วงครึ่งปีแรก โดยสามารถใช้ค่าลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่ง เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 จะเหลือ 30,000
ในส่วนของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้นจะดูที่รายได้ของเรา ถ้าเรามีรายได้ (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT โดยเสียภาษีอยู่ที่ 7% ของรายได้ ที่สำคัญคือจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน หลังจากมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นพืชผลทางการเกษตร สัตว์ ตำราเรียน ส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
หากมีภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการก็ต้องยื่นภาษีทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และมีหน้าที่ต้องออก “ใบกำกับภาษี” ด้วยนะครับ

สำหรับคนที่กำลังจะเปิดร้านค้าออนไลน์ ควรต้องเริ่มต้นเตรียมตัวอย่างไร?

เป็นธรรมดาที่เมื่อเราเริ่มต้นทำธุรกิจแล้ว ย่อมมีเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ โดยเฉพาะเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องให้ปวดหัว แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะวันนี้เรามี 3 ขั้นตอนเบื้องต้นในการรับมือจัดการกับเรื่องภาษีและการเงินให้อยู่หมัดมาฝากทุก ๆ คนกันครับ จะมีวิธีการอย่างไรบ้างนั้น ไปหาคำตอบกันได้เลย
ขั้นตอนที่ 1 จดบันทึกรายการซื้อ-ขายสินค้า เพื่อนำมาใช้ในการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการเรื่องเงินได้ง่ายขึ้นมาก
ขั้นตอนที่ 2 เก็บหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการค้า รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน นอกจากจะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีเราแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเมื่อสรรพากรเข้ามาขอตรวจสอบอีกด้วย เพราะอย่าลืมว่ากฎหมายฉบับใหม่ล่าสุด สำหรับร้านค้าออนไลน์โดยเฉพาะที่มีชื่อว่า “ภาษีอีเพย์เมนต์” ได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ทางสถาบันการเงินต้องส่งข้อมูลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของร้านค้าให้กับทางสรรพากรตรวจสอบ เมื่อมีเงื่อนไขดังต่อไป
  • เมื่อมีการฝากหรือรับโอนเงินเข้าทุกบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ไม่ว่ายอดฝากต่อครั้ง หรือยอดรวมทั้งหมดจะเป็นกี่บาทก็ตาม
  • เมื่อมีการฝากหรือรับโอนเงินเข้าทุกบัญชีรวมกัน 400 ครั้งต่อปีขึ้นไป และมียอดเงินรวมกันทั้งหมดตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป
ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาและติดตามข่าวสารทางด้านการเงินอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษี ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละปี เพราะหากไม่ได้ติดตามข่าวสารหรือขาดการศึกษาหาความรู้ทางด้านการเงินโดยละเอียดแล้ว อาจทำให้เราพลาดสูญเสียเงินจำนวนมากไปโดยใช่เหตุ อันเกิดจากความไม่รู้ของเรานั่นเอง
สุดท้ายนี้ เมื่อเรามีรายได้จากการทำธุรกิจออนไลน์ ก็ควรจะต้องยื่นเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงหาวิธีบริหารจัดการ เพื่อให้ไม่ต้องเสียภาษีมากเกินความจำเป็น โดยอาจเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ เช่น ค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือค่าลดหย่อนในกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน โดยในกลุ่มหลังนี้ เราจะได้ประโยชน์ถึง 2 ต่อด้วยกัน คือ ทั้งได้ลดหย่อนภาษี และได้วางแผนการเงิน เพื่อเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคตอีกด้วย
pym-user-icon
วางแผนภาษีไม่ใช่เรื่องยาก ให้เจ้าหน้าที่กรุงศรี Plan Your Money แนะนำ โทร 1572 กด 5 จ.-ศ. เวลา 9.00-17.00 น. หรือทางเว็บไซต์

ขอบคุณข้อมูลจาก: aommoney.com
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา