วางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ วางแผนอย่างไรไม่ให้งง
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ วางแผนอย่างไรไม่ให้งง

icon-access-time Posted On 04 มกราคม 2561
By Krungsri The COACH

ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ หรือคนที่ประกอบอาชีพอิสระไม่สังกัดออฟฟิศ ไม่ได้ชิลสบายแบบที่ใคร ๆ คิดหรอกนะ เพราะต้องดูแลจัดการเงินของตัวเองให้เป็นระบบระเบียบด้วย ไม่อย่างนั้นคงสับสนวุ่นวายแย่ โดยเฉพาะการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แล้วฟรีแลนซ์ต้องรู้อะไรบ้างเพื่อเป็นการวางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์หากจำเป็นต้องจ่ายรวมถึงภาษีของผู้ที่ทำงานฟรีแลนซ์นั้นแตกต่างจากพนักงานในองค์กรทั่วไปอย่างไรบ้าง มาเรียนรู้ไว้จะได้ใช้สิทธิ์ของตัวเองได้อย่างคุ้มค่า

Freelance หรือฟรีแลนซ์ คือผู้ที่มีอาชีพรับจ้างอิสระ ไม่ได้สังกัดบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานใด ๆ ฟรีแลนซ์จะเป็นคนรับงานตรงจากนายจ้าง และส่งงานตรงกับนายจ้าง ดังนั้นฟรีแลนซ์จึงเป็นเจ้านายตัวเอง ต้องกำกับเวลาตัวเอง ติดตามงานเอง รับค่าจ้างเอง รวมถึงต้องจัดการเรื่องภาษีด้วยตัวเอง ซึ่งควรศึกษาคู่มือจัดการภาษีสำหรับฟรีแลนซ์เอาไว้ให้ดี เพื่อให้เกิดความคล่องตัวกับการใช้จ่ายมากที่สุด
สำหรับพนักงานประจำหรือคนที่ทำงานบริษัท มีสังกัดองค์กรหรือหน่วยงานนั้น การจัดการเรื่องภาษีจะเป็นหน้าที่ของบริษัท โดยพนักงานจะทำหน้าที่ยื่นเสียภาษีตามข้อมูลที่บริษัทแจ้งมาให้ตามใบ 50 ทวิ หรือเรียกเต็ม ๆ ว่า หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ภายในใบ 50 ทวินั้น ผู้จ่ายเงินได้หรือบริษัทได้แจ้งข้อมูลเงินเดือน โบนัส ค่าประกันสังคม ค่าภาษีที่หักไว้ รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการยื่นภาษี เป็นข้อมูลที่พร้อมให้พนักงานสามารถยื่นภาษีได้ทันที
แต่ฟรีแลนซ์ไม่ได้มีคนเตรียมข้อมูลเหล่านี้ให้ ดังนั้นข้อมูลที่จำเป็นต่อการยื่นภาษีนั้น คนที่มีอาชีพฟรีแลนซ์ต้องเตรียมเก็บไว้เอง วันนี้จะนำคู่มือจัดการภาษีมาฝากฟรีแลนซ์โดยเฉพาะ

1. ต้องรับทราบเงินได้พึงประเมิน

เนื่องจากฟรีแลนซ์ไม่ได้มีคนคำนวณยอดเงินเดือนไว้ให้ ฟรีแลนซ์จึงต้องทำหน้าที่ตรงนี้เอง โดยต้องเป็นคนรวบรวมเอกสารหักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้ว่าจ้างให้ครบทุกบิลที่มีการจ่ายชำระค่าจ้าง รวมถึงใบเสร็จในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มในงานที่ทำทุกงานด้วย ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันรายได้ต่อสรรพากร
สิ่งที่ฟรีแลนซ์ต้องทำอีกอย่างคือ ต้องคำนวณรายได้ไว้ทุก ๆ เดือน โดยแยกระหว่างรายได้ที่หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว กับรายได้ที่ยังไม่ได้หักภาษี โดยให้ดูว่าผู้ว่าจ้างรายไหนเคยขอบัตรประจำตัวประชาชนไว้ ให้สันนิษฐานว่าผู้ว่าจ้างรายนั้นมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว แยกเป็นรายได้ไว้กองหนึ่ง และผู้ว่าจ้างที่ไม่ได้ขอบัตรประจำตัวไว้ แยกไว้อีกกอง เป็นรายได้ที่ยังไม่ได้หักภาษี และรายได้ทั้งสองกองคือเงินเดือนของฟรีแลนซ์ โดยจะนำรายได้นี้ไปรวมกับรายได้อื่น ๆ (ถ้ามี) เพื่อคำนวณหาเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรู้จำนวนเงินคร่าว ๆ แล้วก็จะง่ายต่อการ วางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ด้วยนั่นเอง

2. ตรวจสอบกฎเกณฑ์ของกรมสรรพากร

ฟรีแลนซ์ต้องตรวจสอบว่าในหมวดอาชีพของฟรีแลนซ์ มีค่าใช้จ่ายอะไรที่สามารถนำมาหักภาษีหรือจ่ายภาษีเหมาได้บ้าง และนำเงินได้พึงประเมินมาหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน เพื่อจะได้รายได้สุทธิออกมา นำรายได้สุทธินี้ไปใช้คำนวณฐานภาษี หากคำนวณแล้วยังเข้าข่ายต้องจ่ายภาษี การใช้คู่มือจัดการภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ที่น่าสนใจมาปรับใช้ก็จะช่วยในการลดหย่อนได้ในส่วนนี้

3. ตัดรายได้ 30% สำรองไว้จ่ายภาษี

สำหรับคนทำงานประจำนั้น ทุกครั้งที่เงินเดือนออก บริษัทจะหักภาษีไว้ตามฐานภาษีของแต่ละคน ฟรีแลนซ์ก็ควรทำแบบนี้เช่นเดียวกัน โดยควรตัดรายได้ 30% หรือมากกว่านั้น เพื่อกันไว้เป็นภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี
ปัญหาอย่างหนึ่งของฟรีแลนซ์คือ มักชะล่าใจว่าการเป็นฟรีแลนซ์นั้นไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มแล้ว เนื่องจากไม่ได้สังกัดองค์กร หรือหน่วยงานใด ๆ หรือฟรีแลนซ์บางคนก็คิดไปเองว่าได้โดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้เมื่อถึงเวลายื่นภาษีคำนวณพบว่าต้องจ่ายภาษีเพิ่ม กลับไม่มีเงินไปจ่ายภาษี เพราะไม่ได้กันรายได้ไว้สำรองสำหรับจ่ายภาษีนั่นเอง ทำให้การวางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์มีความจำเป็นอย่างมาก

4. จัดการหาวิธีลดหย่อนภาษี

เมื่อคำนวณรายได้สุทธิและได้ฐานภาษีแล้ว ก็พอทราบตัวเองแล้วว่ามีจำนวนเงินภาษีที่ต้องนำจ่ายเท่าไหร่ หากยังมียอดที่ต้องจ่ายภาษีสูงอยู่ ก็ต้องหาวิธีเพื่อลดหย่อนภาษี แต่สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าควรเริ่มวางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์อย่างไร สามารถทำได้ด้วยวิธีเหล่านี้
4.1 ลดหย่อนภาษีด้วยค่าเดินทางท่องเที่ยว
เป็นฟรีแลนซ์ก็เครียดพอดูอยู่แล้ว ต้องหางานเอง ต้องจัดการงานเองหมด เมื่อได้เวลาพักผ่อน ก็ควรจะวางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ไปด้วย เรียกว่ายิงนกนัดเดียวได้ถึงสองตัว โดยสามารถนำใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีฉบับเต็มของค่าบริการนำเที่ยวหรือค่าที่พักที่ได้จ่ายไปมาขอลดหย่อนภาษีได้
4.2 ลดหย่อนภาษีด้วยค่าซื้อสินค้าและบริการ
เป็นฟรีแลนซ์นอกจากจะจัดการเรื่องงานให้ลงตัวแล้ว ยังจะต้องมีความเตรียมพร้อมในเรื่องของการเงินด้วย เหล่าฟรีแลนซ์ควรมีคู่มือจัดการภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ที่ต้องจ่ายทุกปีเอาไว้ เพราะจะช่วยในเรื่องการจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายได้อย่างลงตัว ซึ่งวิธีที่ทำได้ง่าย ๆ คือการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
สิ่งที่ผู้เสียภาษีต้องนำมาใช้เป็นหลักฐานลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่เกิดขึ้นจากการซื้อสินค้าหรือใช้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยที่ผู้เสียภาษีต้องเรียกขอจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับค่าใช้จ่ายที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษี เช่น ค่าซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ หรือจากห้างสรรพสินค้า ค่าอาหาร และเครื่องดื่มในร้านอาหารหรือในโรงแรม บริการนวดหน้า ค่าบริการสปา ค่าซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถ อะไหล่รถ ค่าซ่อมรถที่มีการซ่อมแล้วเสร็จ และชำระค่าบริการตามช่วงเวลาที่รัฐกำหนดในแต่ละปี
4.3 ลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิต
ยังคงเป็นวิธียอดฮิตที่ทั้งพนักงานบริษัทหรือฟรีแลนซ์มักเลือกใช้สำหรับใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ด้วยเพราะได้ประกันความเสี่ยงไปด้วย ได้ออมเงินด้วย และยังได้ลดหย่อนภาษีไปด้วย ช่วงปลายปีเป็นช่วงที่บริษัทประกันต่าง ๆออกประกันดี ๆ มาให้เลือกมากมาย จึงเป็นช่วงที่ฟรีแลนซ์สามารถเลือกใช้โอกาสนี้ในการหากรมธรรม์ที่เหมาะสมกับตัวเองสักฉบับ เพื่อผลประโยชน์ทางด้านการออมเงินและที่สำคัญยังจะเป็นวางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ที่ช่วยให้เหล่าฟรีแลนซ์สามารถจัดสรรเรื่องเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเองด้วย
4.4 ลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุนใน LTF หรือ RMF
เป็นอีกวิธีที่นิยมเลือกมาใช้ในการวางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ นั่นคือการเลือกซื้อกองทุน LTF หรือ RMF ไว้ได้ ผลประโยชน์ของการลงทุนใน LTF และ RMF นอกจากจะช่วยเรื่องออมเงิน และลดหย่อนภาษีได้แล้ว เมื่อขายหน่วยลงทุนคืนยังไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย ถ้าอยากได้ไอเดียในการลงทุนเพิ่มเติม ก็ลองอ่านได้ที่บทความ กองทุนแบบไหนตอบโจทย์ฟรีแลนซ์ (ตอนที่ 1)
4.5 ลดหย่อนภาษีด้วยการบริจาคเงิน
การบริจาคเงินเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยลดหย่อน ที่สามารถนำไปเป็นคู่มือจัดการภาษีของฟรีแลนซ์ ซึ่งมีด้วยกันสองประเภทคือ การบริจาคเงินเพื่อการศึกษาและกีฬา และการบริจาคอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คือการบริจาคเงินเพื่อการศึกษาและกีฬานั้น สามารถลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่าของเงินบริจาค ส่วนการบริจาคอื่น ๆ เช่น การบริจาคให้วัด หรือมูลนิธิ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า เป็นอีกวิธีที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้อย่างคุ้มค่าเลยทีเดียว เพราะถือว่าเป็นการทำบุญไปในตัวด้วย
สำหรับฟรีแลนซ์ไม่แนะนำให้มาจัดการเรื่องลดหย่อนภาษีในช่วงปลายปี แต่ควรวางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ให้ดีตั้งแต่ต้นปี ยกเว้นต้องการลดหย่อนภาษีด้วยการซื้อประกัน และ LTF หรือ RMF เนื่องจากประกันและกองทุน LTF หรือ RMF ดี ๆ มักมีให้เลือกเยอะในช่วงปลายปี ฟรีแลนซ์ควรวางแผนเรื่องภาษีอย่างดีและรอบคอบ เมื่อไม่มีความรู้ด้านไหนก็ควรรีบศึกษาหาความรู้ หรือไม่ก็ต้องปรึกษาผู้รู้ เพราะหากวางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ได้ไม่ดีพอ อาจจะมีผลต่อการเรียกจ่ายภาษีย้อนหลังได้
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา