อาหารอีสานเป็นอาหารที่หลาย ๆ คนชื่นชอบ เพราะเป็นอาหารที่มีความหลากหลายในเรื่องของรสชาติ มีทั้งรสเผ็ด เปรี้ยว หวาน เค็ม มัน ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะมีอาหารอีสานอยู่มากมาย แต่คงมีไม่กี่ร้านที่มีรสชาติถูกปาก และทำให้เรารู้สึกได้ว่ากำลังทานอาหารอีสานแท้ ๆ ร้านเผ็ดเผ็ดเป็นหนึ่งในร้านอาหารอีสานที่กำลังมาแรงและอยู่ในใจของใครหลาย ๆ คนจนติดอันดับ Bib Gourmand 2021 จาก มิชลิน ไกด์ วันนี้ Krungsri The COACH จึงอยากพาทุกคนรู้จักร้านอาหารแห่งนี้เพื่อเรียนรู้ว่า แนวคิดในการทำธุรกิจเป็นอย่างไรถึงได้ประสบความสำเร็จมากถึงเพียงนี้
ร้านเผ็ดเผ็ดก่อตั้งโดย คุณต้อม-ณัฐพงศ์ แซ่หู และ คุณโอม-ณัฐกร จิวะรังสินี แต่ก่อนหน้าจะดำเนินกิจการร้านอาหารทั้ง 2 คนเริ่มต้นจากการทำร้านกระเป๋าแฮนด์เมดในย่านราชประสงค์ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดหน้าศาลพระพรหมเอราวัณ ทำให้ลูกค้าไม่กล้าเดินทางมาในย่านนั้น จนทำให้สูญเสียลูกค้าขาประจำไป อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจก็จะต้องเดินหน้าต่อ จึงเป็นที่มาของการทำร้านอาหารเผ็ดเผ็ด โดยเริ่มจากการทำเล็ก ๆ แต่กลับได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า
ชื่อร้านเผ็ดเผ็ดก็มีที่มาที่น่ารักมาก เมื่อทั้งคู่ไปพบบทความบนอินเทอร์เน็ตที่ฝรั่งคุยกันว่าถ้าอยากสั่งอาหารเผ็ดเป็นภาษาไทยให้พูดว่า “เผ็ดเผ็ด” จึงตกลงใช้ชื่อนี้เป็นร้านอาหารและดำเนินกิจการ ในเวลาต่อมาเมื่อร้านอาหารกลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจึงมีการขยายสาขาเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนี้ร้านเผ็ดเผ็ดมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 6 สาขาแล้ว
เทคนิคการตลาดแซ่บ ๆ ของร้านเผ็ดเผ็ด
การโพรโมตแบบปากต่อปาก
หัวใจในการทำร้านเผ็ดเผ็ด ที่ทำให้คนเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมากคือ การทุ่มเทในเรื่องวัตถุดิบและคุณภาพของอาหาร พูดง่าย ๆ ก็คือการทำให้สินค้าเป็นตัวดึงดูดลูกค้าเพื่อที่จะทำให้เกิดการบอกต่อด้วยตัวเอง ทำให้ไม่ต้องใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์ทางการตลาด
ทำวัตถุดิบเองทุกอย่าง
เมื่อรสชาติเป็นจุดขายที่สำคัญของร้านอาหารแห่งนี้ ก็ต้องมีการควบคุมในเรื่องคุณภาพเพื่อให้รสชาติออกมาเป็นมาตรฐาน ดังนั้นร้านเผ็ดเผ็ดจึงให้ความสำคัญในเรื่องของวัตถุดิบที่ทางร้านมักจะทำด้วยตัวเองเกือบทุกอย่าง
มีกลยุทธ์เมนูพิเศษ
เมื่อร้านอาหารอีสานแต่ละที่มักจะมีเมนูที่คล้าย ๆ กัน การต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในการทำเมนูใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้าสนใจที่จะมาใช้บริการร้านเผ็ดเผ็ดอย่างต่อเนื่อง โดยทางร้านจะมีเมนูพิเศษไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน เช่น เกาเหลาหนวดปลาหมึกเส้นปลาร้า หนังไก่คั่วพริกเกลือ ตูดเป็ดทอดกรอบ และอีกมากมายตามที่พ่อครัวจะรังสรรค์จากวัตถุดิบที่ทางร้านมี
พนักงานสามารถทำงานได้ในมาตรฐานเดียวกันทุกสาขา
ที่ร้านจะมีระบบการเรียนรู้และการอบรมให้พนักงานได้รู้จักข้อมูลและขั้นตอนต่าง ๆ อย่างละเอียดกว่า 2 เดือน เพื่อให้มีความพร้อมในการทำงานจริง ๆ ได้อย่างลงตัวภายใต้มาตรฐานเดียวกันของร้านเผ็ดเผ็ด
ปรับกลยุทธ์ตามเทรนด์ผู้บริโภค
จะมีการอัปเดตเทรนด์ โดยจะไปทดสอบรสชาติอาหารตามร้านดัง ๆ ที่เป็นกระแสในอินเทอร์เน็ต เพื่อไปเรียนรู้และกลับมาวิเคราะห์ว่าทำไมคนถึงชอบรสชาติแบบนั้น เมนูแบบไหนอร่อย รวมไปถึงการจัดโต๊ะ จัดจาน และตกแต่งร้านต่าง ๆ เพื่อทำให้เข้าใจผู้บริโภคและเข้าใจเทรนด์รสชาติอยู่เสมอ
จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของร้านเผ็ดเผ็ดนั้นไม่ได้จากแค่เรื่องรสชาติของอาหารเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ๆ มีส่วนสำคัญในการให้บริการลูกค้าได้ประทับใจอีกด้วย
อาหารอร่อย ไอเดียสุดจี๊ดด้วยแนวคิด Creative Marketing
ร้านเผ็ดเผ็ดได้ให้ความสำคัญในการทำการตลาดอย่างสร้างสรรค์หรือ Creative Marketing ซึ่งเป็นการทำการตลาดแบบองค์รวม ที่ไม่ได้เน้นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ธุรกิจ แต่จะมีการคิดวางแผนเพื่อขายสินค้าและบริการที่โดนใจผู้บริโภคตั้งแต่ต้นจนจบ มาดูตัวอย่างกันว่าเขาทำอะไรบ้าง
1. เมนูที่แปลกใหม่ไม่เหมือนร้านอื่น
เวลาที่เราพูดถึงส้มตำเราจะนึกถึงตำไทย ตำลาว ตำปูปลาร้า แต่ถ้าเราไปเห็นเมนูชื่อแปลก ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนอย่าง ตำกรุงเทพ ตำลาวชนบท ตำป่ากาฬสินธุ์ ก็คงสงสัยแล้วว่าจะหน้าตาเป็นอย่างไร และถ้าหากเราดูในสื่อโซเชียลมีเดียของร้านหน้าเมนูอื่น ๆ อีกมากมายที่ชวนสงสัยว่ารสชาตินั้นจะอร่อยแค่ไหน เช่น หมกสมองวัว ที่เขาบรรยายว่าเป็นครีมมี่คล้ายตับห่าน ทานง่าย ปั้นข้าวร้อน ๆ และข้าวเหนียวมะม่วงชีสพาย ที่ผสมผสานความละมุนระหว่างข้าวเหนียวมะม่วงและฐานพายกรอบ ๆ
2. Taste ที่มากกว่า Taste การตกแต่ง
เมื่อเราพูดถึงร้านอีสานแล้ว เรามักจะนึกถึงร้านบ้าน ๆ ทั่วไปที่ราคาดูไม่แพง แต่ร้านเผ็ดเผ็ดนั้นคิดในมุมที่แตกต่าง เพราะร้านนำอาหารอีสานมาจัดภาพลักษณ์ใหม่ ให้กลายเป็นร้านอีสานแบบไฮเอนด์ ด้วยการตกแต่งร้านให้ทันสมัย ลบภาพอาหารอีสานแบบบ้าน ๆ ออกไป ถ้วยชามที่ใช้ก็เรียบหรูดูแพง คลุมโทนสีของแต่ละจานให้แมตช์กัน ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการก็จะรู้สึกถึงบริการที่แตกต่าง
3. สร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้า
ร้านเผ็ดเผ็ดจะให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการออกแบบเมนูตามที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น จะให้ลูกค้าเขียนในใบออเดอร์ด้วยตัวเองว่า อยากทานอาหารรสชาติจัดจ้านและเผ็ดในระดับไหนเพราะที่นี่มีความเผ็ดถึง 4 ระดับ ต้องการใส่ปลาร้าหรือไม่ หรืออยากจะใส่ทอปปิงอะไรเพิ่มในเมนูบ้าง ซึ่งนั่นจะทำให้ลูกค้าได้รู้สึกว่าเขาไม่ได้แค่เลือกเมนูที่จะกิน แต่เขากำลังเลือกรสชาติ หน้าตา และส่วนประกอบของอาหารที่เป็นสไตล์ของตัวเอง
4. จัดร้านแต่ละสาขาให้แตกต่างกัน
แน่นอนว่านอกจากเรื่องของรสชาติแล้ว ร้านเผ็ดเผ็ดทั้ง 6 สาขานั้นจะมีการดีไซน์ร้านและวางคอนเซ็ปต์ของร้านไปในทิศทางที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละสาขาก็จะมีเมนูที่แตกต่างกันและไม่ซ้ำกัน เรียกได้ว่าใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ของแบรนด์นี้ก็คงจะต้องแวะเวียนไปในทุกสาขา โดยจะมีการแบ่งประเภทร้านดังนี้
- Phed Phed Cafe อยู่ในซอยประดิพัทธ์ 20 เน้นอาหารอีสานที่คนกรุงเทพโดยทั่วไปรู้จัก ไม่ว่าใครก็คุ้นเคยและทานได้ไม่ยาก
- Phed Phed Bistro อยู่ที่ราชพฤกษ์ เป็นอาหารที่มาในคอนเซ็ปต์แม่เคยทำให้กิน หรือเป็นอาหารที่เจ้าของร้านเคยไปกินและประทับใจจึงมาสร้างสรรค์เป็นเมนู ซึ่งสาขานี้เหมาะกับการมากินแบบครอบครัว
- Phed Phed Ground อยู่ที่คลองลัดมะยม โซน 3 เน้นอาหารอีสานพื้นบ้านหรือเป็นอาหารอีสานแท้ ๆ คนที่กำลังหาเมนูท้องถิ่นที่มีเฉพาะทางภาคอีสานจะต้องไปลองกิน
- Phed Phed Lhay อยู่ที่พหลโยธินซอย 8 เน้นเมนูอาหารจานเดี่ยวสูตรเด็ดโดยให้เดลิเวอรีมารับ เน้นสั่งนำกลับไปทานที่บ้าน เนื่องจากมีพื้นที่ขนาดเล็ก แต่หลายคนก็นิยมทานที่ร้าน
- Phed Phed Hey อยู่ที่ตึกมหานคร จะนำจุดเด่นของอาหารแต่ละสาขามาไว้ในที่เดียวกัน อารมณ์เดียวกับร้านแนะนำเมนูสูตรเด็ดที่รวมไว้เฉพาะที่นี่
- Phed Phed Pop อยู่ที่เซ็นทรัลชิดลม จะเป็นสาขาที่นำเมนูยอดฮิตในอดีตที่ชวนคิดถึง เพื่อนำมาทำให้ลูกค้าทานในยุคปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่าร้านเผ็ดเผ็ดเป็นแบรนด์ที่มีแนวคิดที่ไม่เหมือนใครและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคอนเซ็ปต์ของแต่ละสาขาที่จะมีความแตกต่างกัน การสร้างมาตรฐานในการให้บริการ รวมถึงคอยอัปเดตเทรนด์ต่าง ๆ เพื่อนำมาให้บริการลูกค้า และที่สำคัญคือการพัฒนาตัวสินค้าเพื่อให้เกิดการบอกต่อในกลุ่มของลูกค้า
แม้ในปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารจะอยู่ในสภาวะการแข่งขันที่สูง แต่ร้านเผ็ดเผ็ดนั้นก็สามารถใช้ความสร้างสรรค์ในการทำการตลาด และ
ต่อยอดธุรกิจจนกลายเป็นหนึ่งในร้านอาหารที่โดดเด่นและมีลูกค้าชื่นชอบเป็นจำนวนมากจึงเป็นหนึ่งในโมเดลที่ควรศึกษาเพื่อต่อยอดธุรกิจของเรา
อ้างอิง