เคลียร์ใจ เงินเก็บหลังเกษียณ 5 ล้าน อยู่ได้แบบสบายจริงไหม
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เคลียร์ใจ เงินเก็บหลังเกษียณ 5 ล้าน อยู่ได้แบบสบายจริงไหม

icon-access-time Posted On 31 สิงหาคม 2561
by Krungsri The COACH
คุณเคยคิดภาพตัวเองตอนเกษียณอายุไหม ว่าอยากให้ออกมาแบบไหน หากพูดถึงการเกษียณอายุแล้วอาจแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ เกษียณอายุแบบอัตคัด ที่ต้องกังวลถึงค่าใช้จ่ายอยู่เสมอ ๆ เกษียณอายุแบบพออยู่ได้ ที่ไม่ลำบากแต่ไม่เพลิดเพลินเหมือนการเกษียณอายุในฝัน และแบบสุดท้ายคือ เกษียณสุข ที่เป็นการเกษียณอายุแบบมีเงินทองเหลือเฟือ แน่นอนว่าทุกคนก็คงอยากมีชีวิตหลังเกษียณอายุกันในแบบสุดท้ายแน่ ๆ แล้วถ้าพูดถึงสิ่งที่ทำให้เดินไปตามเป้าหมายนั้นได้คือ “เงินก้อนที่ใช้หลังเกษียณอายุ” คุณคิดว่าควรมีเงินมากเท่าไรในช่วงวัย 60 ปี ถ้าเราลองสมมติกัน เป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่งเพื่อวัยเกษียณอายุ ที่จำนวนเงินประมาณ 5 ล้านบาท (สมมติว่าใช้เงินประมาณเดือนละ 20,000 บาท สำหรับการใช้ 20 ปีตั้งแต่อายุ 60 ไปจนถึง 80 ปี)

โดยหากคุณมีอายุยืนยาวถึง 80 ปี จะเป็นเงินเฉลี่ยปีละ 250,000 บาท (5,000,000/20) คิดเป็นต่อเดือนตกเดือนละ 250,000/12 = 20,833 บาท

ซึ่งถ้าคุณคิดว่าคุณอาจใช้เกิน 20,000 บาทแน่ ๆ นั่นแปลว่า 5 ล้านบาทนั้นไม่เพียงพอ หรือถ้าคุณคิดว่าคุณใช้ไม่เกิน 5 ล้านบาทนี้ก็อาจจะไม่พออยู่ดี นั่นก็เพราะเหตุผลดังต่อไปนี้

1. คุณลืมคิดไปว่าเมื่ออายุมากขึ้น ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นมากตาม
เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็เสื่อมถอยไปเรื่อยๆ ทำให้ต้องประมาณเงินไว้เพื่อดูแลเรื่องสุขภาพที่อาจเจอปัญหาแบบไม่คาดคิด ทางที่ดีควรมีประกันสุขภาพเป็นพื้นฐานเอาไว้ดีกว่า

2. คุณลืมคิดถึงอัตราเงินเฟ้อในอนาคต
แนะนำว่าควรคำนวณอัตราเงินเฟ้อ (แบบคาดการณ์) ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่แน่นอน แต่อาจคาดการณ์ได้ด้วยการใช้ค่าเงินเฟ้อที่สูงมาคำนวณ (เพื่อให้คำนวณเงินที่ควรเก็บแบบปลอดภัย) ที่ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ เช่น

สินค้าปัจจุบันมีราคาที่ 100 บาท ในปีหน้าจะปรับเพิ่มเป็น 104 บาท ในปีถัดมาปรับเป็น 107.12 บาท และปรับเป็น 110.33 บาท เป็นต้น
 
ในความเป็นจริงการวางแผนเกษียณอายุให้ครอบคลุมนั้นไม่ควรเริ่มต้นด้วยจำนวนเงิน แต่ควรเริ่มต้นด้วยรายละเอียดของชีวิต ว่าสำหรับตัวคุณมีค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนที่แยกย่อยออกไปอย่างไรบ้าง

คำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

  • ค่าอาหาร
  • ค่าเดินทาง
  • ค่าน้ำไฟ
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการกุศล
  • ค่าโทรศัพท์
  • ค่าประกันสุขภาพ
  • ค่าความบันเทิงต่าง ๆ
  • ค่าผ่อนบัตรเครดิต
  • ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

สำหรับการวางแผนการเกษียณอายุนั้น อยากให้ใช้จินตนาการร่วมด้วย เพราะคุณต้องประเมินลงไปว่าค่าใช้จ่ายแต่ละอย่างนั้นมีรายละเอียดแบบไหน เช่น ค่าอาหาร ที่มีความแตกต่างกันหากทานปกติมื้อละ 50 บาท กับ มื้อละ 200 บาท ก็มีความแตกต่างกัน และอีกจุดหนึ่งที่มีความสำคัญมากเมื่อเวลาผ่านไปก็คือ “เงินเฟ้อ” เพราะสินค้าและบริการในท้องตลาดจะต้องมีการปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อระยะเวลาผ่านไป

แล้วต้องเตรียมเงินจำนวนมากเท่าไร

เมื่อคุณสามารถประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอายุได้จากรายการข้างต้นแล้ว ก็ต้องมาประเมินช่วงอายุที่จะอยู่ต่อไปจนหลังจากเกษียณอายุ
 
ยกตัวอย่าง
ตั้งใจจะมีอายุยืนยาวไปจนถึง 80 ปี (สมมติ) = ช่วงเวลาหลังเกษียณคือ 20 ปี
นำค่าใช้จ่ายรายเดือนมาคำนวณ เช่น 30,000 บาท/เดือน
จะได้เงินก้อนสำหรับการเกษียณอายุเป็น 30,000 * 12 (เดือน) * 20 (อายุหลังเกษียณคาดการณ์) = 7,200,000 บาท
 
และคุณควรเริ่มสะสมเงินก้อนนี้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อย่าสูญเสียเวลาหรือหลงทางไปกับความเชื่อผิด ๆ ที่มักทำให้เป้าหมายในการเกษียณอายุต้องเปลี่ยนแปลงไป

ความคาดหวังที่อาจไม่เป็นจริงของคนทั่วไป

พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ละเลยการวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณอายุนั้นมีความชะล่าใจ หรือความเข้าใจผิดหลายๆ อย่าง ที่ทำให้ชีวิตบั้นปลายของการเกษียณต้องอยู่ยากลำบาก เงินไม่พอ ไม่ได้ชีวิตอย่างที่หวัง และรู้สึกเศร้าจากคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี นั่นคือ
 

ความเข้าใจว่าบุตรหลานจะมาดูแลยามชรา

หลายครอบครัวคาดหวังเรื่องความกตัญญูจากบุตรหลาน ว่าเมื่อแก่ตัวลงจะต้องช่วยเลี้ยงดู แต่ในความเป็นจริง บางครั้งชีวิตที่ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเสมอไป เราควรมองว่าการเกษียณอายุเป็นหนึ่งในหน้าที่ของตนเอง และไม่ควรคาดหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นรวมถึงลูกหลาน จึงควรเก็บเงินส่วนตัวเอาไว้ นอกเหนือจากส่วนที่ลูกหลานส่งมาเพื่อช่วยดูแลในยามชรา ซึ่งผู้สูงอายุไทยที่อยู่ลำพังคนเดียว หรืออยู่กับคู่สมรสเท่านั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า มีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.3 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 10.8 ในปี 2560 ในขณะที่ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรสเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 23.3 ในปี 2560
 

ความเข้าใจว่าสวัสดิการของรัฐบาลจะเพียงพอ

เนื่องจากรัฐบาลมีสวัสดิการสำหรับผู้ชราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญหรือบำเหน็จชราภาพ แต่จำนวนเงินเหล่านั้นอาจไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต คุณจึงไม่ควรคาดหวังเงินจากทางนี้แหล่งเดียวเช่นกัน ซึ่งถึงแม้จะมีเยอะแต่ก็ไม่ควรประมาท นอกจากนั้นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ผู้สูงอายุจะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสียชีวิตก็เป็นจำนวนเงินเพียงแค่
  • อายุ 60 - 69 ปี ได้รับ 600 บาท/เดือน
  • อายุ 70 - 79 ปี ได้รับ 700 บาท/เดือน
  • อายุ 80 - 89 ปี ได้รับ 800 บาท/เดือน
  • อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาท/เดือน

ควรเตรียมตัวเกษียณอย่างไร ถ้าหากกลัวเงินไม่พอ

ถึงแม้ว่าเงินก้อนที่ลองคำนวณออกมาได้จะเป็นจำนวนเงินที่สูง แต่เป้าหมายใหญ่นั้นสามารถสำเร็จได้หากมีการวางแผนที่ดี ซึ่งคุณสามารถเลือกวิธีลงทุนได้ตามความถนัดของตัวเอง หรืออาจลงทุนหลายช่องทางรวมกัน หรือการหาช่องทางรายได้หลังหยุดทำงานแล้ว
 

ให้ดอกเบี้ยทบต้นเป็นตัวช่วยในการเกษียณ

เริ่มต้นออมเงินเพื่อการเกษียณได้ง่ายๆ ด้วยการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปจะเห็นได้ชัดว่าเงินต้นมีการเติบโตขึ้นมากเป็น 10 เท่าตัว เพียงแค่ออมเงินทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอก็เป็นอีกทางหนึ่งง่ายๆ ถ้าหากมีเวลาออมเงินประมาณ 25-30 ปี เรียกได้ว่าเป็นข้อดีของพลังทวีที่ดอกเบี้ยทบต้นมอบให้
 

ลงทุนในกองทุนรวม

หากอยากได้ผลตอบแทนสูงขึ้นมาอีกขึ้น การลงทุนในกองทุนรวมก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะถึงแม้คุณจะไม่เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมากนัก แต่กองทุนรวมก็มีการนำเงินไปบริหารจัดการด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ มีให้เลือกลงทุนหลากหลายตามความต้องการ และความสามรถในการรับความเสี่ยงของตัวคุณเอง ทั้งกองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม กองทุนรวมในหุ้น ฯลฯ หรือกองทุน SSF และ RMF ที่ออกแบบมาเพื่อการเกษียณอายุโดยเฉพาะ และให้ข้อดีในเรื่องของสิทธิทางภาษีด้วย
 
อยากขอแนะนำให้เริ่มวางแผนการเกษียณอายุตั้งแต่วันนี้ เพราะจะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเลย ซึ่งถ้าหากคุไม่ประมาท วางแผนเกษียณอายุอย่างรอบคอบ ตั้งแต่วันนี้ เชื่อมั่นว่าในอนาคตจะสามารถเดินไปในเส้นทางของการเกษียณสุขมากกว่าการเกษียณทุกข์อย่างแน่นอน

หมายเหตุ: กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสิ้นสุดปี 2562 เท่านั้น ตั้งแต่ปี 2563-2567 สามารถลงทุนในกองทุนการออมแห่งชาติ (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ เงื่อนไขลดหย่อนภาษีตามกรมสรรพากรกำหนด
 
เครื่องมือคำนวณวางแผนการเงินหลังเกษียณ

บทความโดย
ขวัญชัย รุ่งเรืองกอสว่าง AFPT™
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา