วิธีเก็บเงิน มนุษย์เงินเดือน เพื่ออิสรภาพทางการเงิน
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วิธีเก็บเงิน มนุษย์เงินเดือน เพื่ออิสรภาพทางการเงิน

icon-access-time Posted On 01 ธันวาคม 2565
by Krungsri The COACH
อิสรภาพใครเล่าที่ไม่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นอิสรภาพในการใช้ชีวิตทำตามใจตนเอง อิสรภาพทางสุขภาพไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเป็นข้อผูกมัด อิสรภาพทางเวลาที่มีเวลาเป็นของเราเอง ฯลฯ ซึ่งการได้มาซึ่งอิสรภาพในด้านต่าง ๆ นั้น เราแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการดำเนินชีวิตของเราหลายสิ่งหลายอย่างต้องใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาถึงอิสรภาพทางการเงิน เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญ

อิสรภาพทางการเงิน คืออะไร

อิสรภาพทางการเงิน คือ การที่เรามีเงินมากพอที่จะจับจ่ายใช้สอยอย่างเพียงพอไปตลอดชีวิตได้โดยที่เราไม่ต้องถูกกำหนดหรือถูกบังคับให้เราต้องหาเงิน หรือแม้แต่การที่เราไม่สามารถหาเงินได้ด้วยตนเองได้อีกต่อไป เนื่องด้วยเราเกษียณ ว่างงาน หรือทุพลาภาพ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนนั้นก็จะมีองค์ประกอบของคำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” ที่แตกต่างกันไป

แล้วเรามีวิธีการอย่างไรเพื่อให้เราสามารถมีอิสรภาพทางการเงินได้ สำหรับคนที่เกิดมาในครอบครัวที่มีทรัพย์สินเงินทองเป็นมรดกให้ลูกหลานมากพอที่สามารถใช้ได้ไปตลอดชีวิต ก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง แต่แน่นอนว่าเราเลือกเกิดไม่ได้ เราจึงต้องสร้างอิสรภาพทางการเงินขึ้นมาด้วยตนเอง โดยมีหลักการเช่นเดียวกับการวางแผนเกษียณนั่นเอง
 
ออมเงิน


วางแผนออมเงิน เพื่ออิสรภาพทางการเงิน

1. คำนวณรายจ่าย หรือค่าใช้จ่ายที่เราต้องการใช้ต่อเดือนตั้งแต่วันที่เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าเราจะมีอิสภาพทางการเงินไปจนถึงวันที่เราเสียชีวิต เช่น เราต้องมีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่อเดือนจำนวน 30,000 บาท (เป็นยอดเงินที่ได้คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อแล้ว) โดยที่เรากำหนดว่าจะมีอิสรภาพทางการเงิน ณ อายุ 60 ปี และมีอายุอยู่ถึง 80 ปี ดังนั้นเราจะต้องคำนวณเงินที่จะต้องมีเพื่อเกษียณตามสมการดังนี้
 
  • เงินที่จะต้องมีเพื่อเกษียณ = ค่าใช้จ่ายต่อเดือน x 12 x จำนวนปีหลังเกษียณ
  • เงินที่จะต้องมีเพื่อเกษียณ = 30,000 x 12 x (80 - 60)
  • จากการคำนวณ เราจะได้ตัวเลขจำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันที่เรามีอายุ 60 ปี เท่ากับเงิน 7,200,000 บาท
 
คำนวณเงินที่จะต้องมีเพื่อเกษียณ

2. เราจะต้องวางแผนการเก็บเงิน และการลงทุนของเราให้มีเงินเก็บหรือทรัพย์สินมูลค่าเท่ากับยอดเงินตามข้อ 1. ซึ่งก็คือ 7,200,000 บาท ณ อายุ 60 ปี โดยตัวอย่างจะเป็นนาย ก และนาย ข ที่มีเป้าหมายในการเก็บเงินเพื่อการเกษียณที่หมือนกัน แต่อายุไม่เท่ากันนะครับ โดยปัจจุบันนาย ก อายุ 30 ปี และนาย ข อายุ 20 ปี มีตัวอย่างวิธีการเก็บเงินในรูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนี้
 
  • 2.1 กรณีที่เราเก็บเงินสดไว้อย่างเดียวโดยไม่ทำอะไรเลย นาย ก จะต้องเก็บเงินภายใน 30 ปี ให้ได้เท่ากับ 7,200,000 บาทหรือปีละ 7,200,00 ÷ 30 = 240,000 บาท หรือเดือนละ 240,000 ÷ 12 = 20,000 บาท และนาย ข จะต้องเก็บเงินภายใน 40 ปี ให้ได้เท่ากับ 7,200,000 บาทหรือปีละ 7,200,00 ÷ 40 = 180,000 บาท หรือเดือนละ 180,000 ÷ 12 =15,000 บาท
  • 2.2 กรณีที่เราสามารถเก็บเงินและนำไปลงทุนได้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 5% สำหรับนาย ก จะต้องเก็บเงินจำนวน 8,651.16 บาท / เดือน และนาย ข จะต้องเก็บเงินจำนวน 4,718.16 บาท / เดือน
  • 2.3 กรณีที่เราสามารถเก็บเงินและนำไปลงทุนได้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 10% สำหรับนาย ก จะต้องเก็บเงินจำนวน 3,185.15 บาท / เดือน และนาย ข จะต้องเก็บเงินจำนวน 1,138.51 บาท / เดือน
 
ตัวอย่างการออมเงิน

หรือสามารถ ใช้โปรแกรมคำนวณการวางแผนการเกษียณ เพื่อวางแผนการเงินสำหรับการเกษียณได้อย่างครอบคลุมมากที่สุด

จากตัวอย่างจะเห็นว่า ถ้าเราสามารถเลือกวิธีการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้ เราจะสามารถลดจำนวนเงินที่ต้องออมและลงทุนต่อเดือนลงได้ หากเรารีบเตรียมตัววางแผนก่อนจะถึงวัยเกษียณในขณะที่เราอายุยังน้อย เราก็จะใช้เงินออมต่อเดือนที่น้อยลงด้วย หรือแม้กระทั่งเก็บเงินและลุงทุนให้มากขึ้นเพื่อให้มีเงินใช้จ่ายยามเกษียณที่มากขึ้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามเราควรจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของผลตอบแทนที่จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายด้วย เพราะยิ่งผลตอบแทนที่ได้รับสูงขึ้น ย่อมมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามไปด้วย
 
การเลือกลงทุน

สำหรับหลักการข้างต้นนั้นเป็นหลักการมาตรฐานในการวางแผนเกษียณ แต่มีอีกวิธีการหนึ่งในการสร้างอิสรภาพทางการเงินในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ซึ่งก็คือการที่เราเลือกลงทุนในกองทุนที่มีการจ่ายปันผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปในสินทรัพย์ในหลายๆ ประเภท โดยทรัพย์สินเหล่านั้นต้องสามารถสร้างกระแสเงินสดให้เราได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ หรือที่เราเรียกว่า Passive Income นั่นเอง โดยมีเป้าหมายที่การสร้างกระแสเงินสดจำนวนมากกว่าหรือเท่ากับค่าใช้จ่ายรายเดือน รวมถึงมีการแบ่งกระแสเงินสดส่วนหนึ่งออกมาเพื่อเอาไว้ลงทุนซ้ำ (Reinvestment) เพื่อผลตอบแทนในอนาคตอย่างครอบคลุมในเรื่องของเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไปในทุก ๆ ขณะด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็จะไม่ต้องกังวลกับการที่มีอายุที่ยืนยาวกว่าที่เรากำหนดไว้ รวมถึงสามารถส่งต่อทรัพย์สินส่วนนี้ไปให้กับลูกหลานของเราได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมที่จะทำประกันสุขภาพที่มีวงเงินครอบคลุมการรักษาในช่วงอายุที่เราจะมีชีวิตอยู่ด้วย เพื่อไม่ให้ทรัพย์สินที่เราสร้างขึ้นมามลายหายไปกับค่ารักษาพยาบาลที่คาดเดาไม่ได้อีกด้วย

สำหรับบทความนี้ผมหวังว่าจะเป็นแนวทางให้ผู้อ่านทุกท่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีอิสรภาพทางการเงินที่ทุก ๆ คนจะต้องสร้างขึ้นมาได้นะครับ เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะทำงานหาเงินไปได้ตลอดชีวิต หรือถ้าเราสามารถทำงานหาเงินไปได้ตลอดชีวิต ชีวิตของเราก็อาจจะไม่ได้รับอิสรภาพที่แท้จริงเลยก็เป็นได้

หากต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมในด้านวางแผนทางการเงิน การลงทุน ทางธนาคารกรุงศรีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ ที่สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี ติดต่อกลับ

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา