นักเรียนส่วนมาก แค่คิดว่า วันๆ จะทำอะไร เรียนเสร็จแล้วจะไปไหน กับใคร ใครทำอะไรในเฟสบุ๊คบ้าง แค่นี้ก็วุ่นวายทั้งวันแล้ว แทบจะยังไม่คิดถึงเรื่องการเก็บออมเงิน หรือ การบริหารเงินเลยด้วยซ้ำ แต่ว่า รู้อะไรไหม เป็นนักเรียนก็สามารถเริ่มบริหารเงินเก็บ ให้เงินเก็บช่วยเราสร้างรายได้แล้วนะ!
คนเราส่วนใหญ่ มักจะคิดว่าจะมีเงินเก็บได้ก็ต่อเมื่อเริ่มทำงาน มีงานทำ ก็มีเงิน มีเงินก็(หวังว่า)จะมีเงินเก็บ ส่วนนี้จะต้องขอชมเชยการเลี้ยงดูของพ่อแม่ต่างชาติบางชาติ เพราะว่าจะคอยสอนให้เด็กๆ หัดทำงานหาเงินเองตั้งแต่ยังเล็ก อาจจะเป็นงานเล็กงานน้อย ส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นการตัดหญ้า เป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ (อันนี้บ้านเขาทำได้ บ้านเราทำไม่ได้) เป็นต้น
การเริ่มเก็บเงินนั้น จริงๆ เป็นเรื่องง่ายถ้าเทียบกับการเรียนในสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงเรียนควรเพิ่มไว้ในบทการเรียนการสอน แต่ก็ไม่มีการมีเงินเก็บ เริ่มเพียงแค่การออมก่อน ใช้ ไม่ใช่ใช้ก่อน แล้วเก็บที่เหลือ แต่เป็นการออมเงินก่อนแล้วเงินที่เหลือจากการออม ค่อยนำไปใช้ เหมือนไม่ยาก แต่พูดง่ายกว่าทำสำหรับหลายๆ คน แต่วิธีการที่ง่ายที่สุด คือการออมก่อนใช้ ค่อยให้มีการควบคุมรายจ่ายควบคู่กันไป โดยทำการแบ่งเงินที่ได้มาออกเป็นส่วนๆ คือ เงินออม (จะให้ดีเงินให้พ่อแม่) 15-20% ค่ากินค่าอาหาร 25% ค่าเดินทางไปโน่นไปนี่ไปนั่นสัก 20% งบประมาณบันเทิง (เที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง กินข้าวกับเพื่อน ฯลฯ) แล้วก็อย่าลืมกันงบส่วนหนึ่งเอาไว้เป็นการพัฒนาตนเอง หรือ สำหรับคนที่เป็นหนี้ กยศ. ก็ใช้เงินส่วนนี้จ่ายคืนได้เช่นกัน คนเราไม่พัฒนาตนเองก่อนแล้วจะไปพัฒนาใครได้ พอมีหน้าที่การงานเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ การแบ่งสัดส่วนงบประมาณแบบนี้จะช่วยให้คุณสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนได้ เมื่อนำมาทบทวนก็จะสามารถช่วยให้คุณมีข้อมูลมากพอจะเอามาปรับวิธีการใช้จ่ายเงินในด้านต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
สิ่งที่ต้องระวังที่สุดในตอนแรก ก็คือ การเลี่ยงการสร้างหนี้สินตั้งแต่ยังไม่ทันมีเงินเก็บ อยากได้อะไรอย่าใช้ระบบรูดเงินซื้อ ให้เก็บเงินซื้อแทน เวลาเก็บเงินก็ไม่ใช่เก็บให้พอดี แต่เก็บให้เกิน อย่างน้อยจะได้มีเหลือหลังจากเงินที่ใช้ไปแล้ว ยิ่งนักศึกษาจบมาใหม่ๆ เพิ่งมีรายได้ รีบทำบัตรเครดิต เห็นอะไรก็อยากได้ เงินเดือนก็มีแล้ว ก็รูดบัตรไปก่อนก็แล้วกัน แล้วค่อยผ่อนเอา การคิดแบบนี้แหละจะทำให้คุณกลายเป็นหนี้สินยิ่งกว่าเดิม
ลองคิดดู นักศึกษาคนหนึ่งเริ่มทำงาน วางแผนเก็บออมเงินจำนวนหนึ่งต่อเดือน เพื่อนำเงินที่เก็บได้ในอีก 5 ปีเอาไปดาวน์คอนโด อีกคนเริ่มทำงานเวลาเดียวกัน มีบัตรเครดิต ทำงานเดือนแรกก็เริ่มเป็นหนี้เลย คิดว่าเป็นการให้รางวัลตัวเอง ซื้อมือถือใหม่ ซื้อแท็บเบล็ตใหม่ เอาเงินไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปช้อปปิ้งต่างประเทศ ไม่วางแผน ไม่เก็บเงิน เลื่อนไปอีก 5 ปีข้างหน้า หนุ่มนักธุรกิจคนแรกมีคอนโดสวยๆอยู่ มีงานดีๆทำ มีเงินเก็บ มีเงินลงทุน มีเงินให้พ่อแม่ทุกเดือนๆ ส่วนพนักงานคนที่สอง เงินเดือนไม่พอหมุน ต้องอยู่บ้านกับพ่อแม่ ไม่มีเงินเก็บ เครดิตเสียเพราะจ่ายหนี้บัตรเครดิตไม่ตรงเวลา ทีนี้ไปขอกู้ที่ไหนเขาก็ไม่ให้ เพราะเครดิตไม่ดี ...
เมื่อคุณสามารถหาเงินได้ด้วยตัวเอง ก็มีอิสระในการตัดสินใจในการใช้เงินของคัวเองมากกว่าช่วงที่คุณต้องพึ่งพาพ่อแม่ ความรับผิดชอบด้านการเงินมากขึ้นแต่ว่า จะต้องมีการวางแผน มีเป้าหมาย และ สำคัญที่สุด คือมีวินัยและมีความรับผิดชอบในการออมเพื่อปูพื้นฐานการบริหารเงินที่สำคัญให้ตัวคุณเอง
จริงๆแล้ว หากลองคิดดู อาจจะรู้สึกว่าการบริหารเงินอาจจะเป็นเรื่องยาก ไหนจะเพื่อนชวนเที่ยว ชวนกินทุกวี่ทุกวัน มาดูกันดีกว่าว่าวิธีการบริหารเงินง่ายๆ มีวิธีไหนบ้าง?
1. ทำบัญชี
การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเรื่องง่ายพอสมควร อย่างน้อยก็จะเป็นเครื่องเตือน ว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้าง มีงบอยู่แค่ไหน ห้ามใช้เงิน เป็นต้น
2. เปิดบัญชี
มีเยอะก็ฝากเยอะ มีน้อยก็ฝากน้อย อย่างน้อยการทำแบบนี้จะช่วยสร้างนิสัยการออม พอทำบ่อยๆ ทำเรื่อยๆจนเป็นนิสัยแล้วก็ง่าย ต่อไปมีเงินเดือนมากก็เก็บมาก เงินส่วนที่เหลือจะเอามาใช้ก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะมีปัญหา บัญชีออมทรัพย์ทั่วไปอาจจะมีดอกเบี้ยน้อยแต่มีดีกว่าไม่มี ต่อไปมีเงินเหลือจะเอาไปเปิดบัญชีใหม่ที่เป็นรูปแบบฝากประจำ หรือ รูปแบบอื่นๆ ที่มีดอกเบี้ยสูงก็ทำได้
3. รัดเข็มขัด
ต้องรู้จักควบคุมค่าใช้จ่ายของตัวเอง รู้ว่าต้องซื้ออะไรในแต่ละเดือน ค่าของจุกจิกที่ต้องใช้ในบ้าน ในห้อง แชมพู ครีมนวด ครีมอาบน้ำ ยาสีฟัน ข้าวของเครื่องใช้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดควรจะต้องติดตามการใช้จ่ายเป็นรายวันจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด จะได้รู้ว่าเราใช้อะไรไปบ้างแล้ว เท่าไหร่บ้าง เหลือเท่าไหร่ ถ้าเหลือพอสุดสัปดาห์จะออกไปกินข้าวกับเพื่อนๆ ก็ทำได้ ถ้าเงินไม่พอก็เอาไว้คราวหน้า รับรองเพื่อนๆ ไม่หนีไปไหน
4. อย่าอยู่อย่างอยาก
หลายคนอาจจะเคยได้ยิน หมายความว่า บางทีเราก็มีอะไรที่เราอยากได้ และ มีอะไรที่เราต้องซื้อ ดังนั้นการเรียงลำดับความสำคัญควรจะเอาสิ่งจำเป็นมาก่อนสิ่งที่อยากได้ เช่น อยากได้มือถือใหม่ แต่อันที่มีก็ใช้ได้ แค่ว่ามันไม่ใช่ ไอโฟนหกพลัส นี่เรียกว่าเป็นสิ่งที่อยากได้ ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น (อย่าเถียง)
5. ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
การเป็นนักเรียนก็มีส่วนดี สิทธิพิเศษมีให้เยอะแยะ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ตั๋วหนัง ค่าเข้าพิพิธภัณฑ์ ดังนั้นถ้าขอได้ก็ขอส่วนลดให้หมด ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ ทำให้มีเงินเก็บได้มากขึ้นนั่นเอง
เท่าที่กล่าวมาแล้ว การบริหารเงินสำหรับนักเรียน นักศึกษานั้นจริงๆ แล้วไม่ได้ยากเลย จะเป็นนักเรียนนักศึกษาก็สามารถบริหารให้มีเงินเก็บเงินใช้ได้ง่ายๆ เหมือนกัน แค่เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เป็นนิสัยเท่านั้นเอง