เราใช้แรงกายแรงใจทำงานเพื่อหาเงิน ซึ่งถ้าหากเก็บไว้เฉยๆ มูลค่าของเงินจะลดลงเรื่อยๆ แต่เราสามารถแก้ปัญหานั้นได้โดยการใช้หลักการ ‘เงินต่อเงิน’ เพื่อให้เงินทำงานแทน ไม่ปล่อยให้มันลดค่าของตัวเองอีกต่อไป
ในบทความนี้จะเผยเคล็ดลับ 3 ประการของเงินต่อเงิน ซึ่งก็คือ
- เงินต่อเงินได้ง่ายๆ ด้วยการลงทุน
- ลงทุนแบบ DCA
- ลดภาษีด้วยการลงทุนในกองทุนรวม
เงินต่อเงินได้ง่ายๆ ด้วยการลงทุน
ในแต่ละปีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับดอกเบี้ยเงินฝาก หากฝากเงินอย่างเดียวก็เท่ากับว่าเงินที่ถืออยู่นั้นมีค่าลดลงไปเรื่อยๆ เพราะเงินส่วนนั้น “อยู่เฉยๆ” ดังนั้นเราต้องทำให้เงินมัน “ทำงาน” ออกดอกออกผลให้ด้วยการลงทุน
เพราะคนทำงานได้จำกัด แต่เงินทำงาน 24 ชั่วโมงไม่มีหยุด
ลองเปรียบเทียบการลงทุน - เงินฝากตามกราฟ โดยอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปัจจุบันและผลตอบแทนเฉลี่ยการลงทุนในหุ้นดูครับ
เงินฝากประจำ VS หุ้น
ปีการลงทุน |
เงินฝากประจำ |
ลงทุนในหุ้น |
2557 |
1.95% |
16.98% |
2558 |
1.80% |
-16.95% |
2559 |
1.70% |
22.66% |
2560 |
1.70% |
21.52% |
2561 |
1.70% |
-5.23% |
เฉลี่ย |
1.77% |
7.80% |
*อ้างอิงจาก
อัตราเงินฝาก 36 เดือน ธนาคารกรุงศรีปี 2557-2561
ข้อมูลการลงทุน SET50TRI ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ดังที่เห็นว่าตัวเลขผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของการลงทุนเพิ่มในกองทุน สูงกว่าการออมเงินแบบธรรมดามากพอสมควร ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่าการลงทุนทั้งกองทุนและหุ้นมีความเสี่ยงแฝงอยู่ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเปอร์เซ็นต์ดอกเบี้ยที่ได้จากการฝากอย่างเดียวแล้ว ในระยะยาวนับว่าน่าสนใจมากกว่า
ในเมื่อการลงทุนมีโอกาสมากกว่าการฝากเงิน เราจึงมี ‘เคล็ดลับ’ สำหรับการลงทุนที่คล้ายกับการฝากเงินปกติมาแบ่งปัน นั่นคือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย หรือ DCA นั่นเอง
การลงทุนแบบ DCA
Dollar-Cost Averaging (DCA) หรือการถัวเฉลี่ยลงทุน คือการลงทุนซื้อหุ้นหรือกองทุนเป็นงวดๆ มีระยะเวลาในการซื้อแต่ละเดือนตายตัว ไม่อิงการขึ้นลงตามดัชนีตลาดหุ้น
โดยการลงทุน DCA สามารถทำได้ด้วยการแบ่งเงินลงทุนเป็นงวดๆ เช่น งวดละ 50,000 บาท เพื่อซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน หรือซื้อหุ้น โดยใช้เงินจำนวนเดิมเสมอแม้ว่าราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้นหรือลงก็ตาม ซึ่งจากเม็ดเงินเฉลี่ยจำลองได้ดังนี้
ตัวอย่างการลงทุนแบบ DCA
DCA |
ราคาหุ้น |
ซื้อเฉลี่ย |
จำนวนหุ้นที่ได้ |
เดือน 1 |
70 |
50,000 |
714 |
เดือน 2 |
71 |
50,000 |
704 |
เดือน 3 |
68 |
50,000 |
735 |
เดือน 4 |
67 |
50,000 |
746 |
เดือน 5 |
73 |
50,000 |
685 |
เดือน 6 |
68 |
50,000 |
735 |
เดือน 7 |
70 |
50,000 |
714 |
เดือน 8 |
71 |
50,000 |
704 |
เดือน 9 |
74 |
50,000 |
676 |
เดือน 10 |
72 |
50,000 |
694 |
เดือน 11 |
70 |
50,000 |
714 |
เดือน 12 |
69 |
50,000 |
725 |
ราคาเฉลี่ย |
70.25 |
600,000 |
8,541 |
*หมายเหตุ ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลสมมติ
โดยการลงทุนแบบ DCA จะมีข้อดี - ข้อเสีย ดังนี้
ข้อดี : จะช่วยในการสร้างวินัยในการลงทุนให้เราลงทุนสม่ำเสมอโดยไม่มีอารมณ์เข้าเกี่ยวข้องในการตัดสินใจซื้อหรือขาย รวมถึงภาวะตลาดในช่วงนั้นๆ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ต้องการลงทุนระยะยาวที่ไม่ต้องติดตามการลงทุน
ข้อเสีย : การทำ DCA ช่วยลดเฉพาะความเสี่ยงด้านจังหวะการลงทุน ไม่ใช่ความผันผวนของมูลค่าพอร์ตลงทุน และสามารถช่วยแค่ในช่วงแรกของการลงทุนเท่านั้นเนื่องจากว่า ยิ่งลงทุนจำนวนครั้งเพิ่มมากขึ้น เงินลงทุนก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้เปอร์เซ็นต์ความเปลี่ยนแปลงของต้นทุนในแต่ละครั้งที่ซื้อก็จะลดลง
ดังนั้น ประเด็นสำคัญในการลงทุนแบบ DCA คือต้องมีการมองหุ้นที่มีการเติบโตแบบสม่ำเสมอ หรือจะเลือกซื้อกองทุนที่ลงทุนในหุ้น หรือกองทุนตราสารหนี้ เพื่อให้มืออาชีพด้านการลงทุนคอยดูแลเม็ดเงินของคุณ และเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุนช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน
ลดภาษีด้วยการลงทุนในกองทุนรวม
ดังที่ยกตัวอย่างไปในกราฟด้านบนครับว่าในระยะยาวแล้วการต่อยอดเงินด้วยการลงทุนในกองทุนรวมสามารถทำเงินได้มากกว่าการฝากประจำ นอกจากจะเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดีแล้ว ยังมั่นคงเพราะมีมืออาชีพคอยดูแลเงินทุนของเราเป็นอย่างดีอีก
ประเด็นสำคัญคือในปัจจุบันการลงทุนในกองทุนรวม LTF และ RMF สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แสดงให้เห็นว่านอกจากเงินต่อเงินจะทำให้เงินงอกเงยแล้วยังช่วยในการลดภาษีอีกด้วย
อนึ่ง คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ที่บทความ
Step การคำนวณเพื่อประหยัดภาษีเมื่อมีรายได้หลักแสน ครับ
ศึกษาเพิ่มเติมอยู่เสมอ
แม้ว่าจะซื้อกองทุนหรือหุ้นแบบ DCA เราต้องมีการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนเป็นระยะๆ รวมไปถึงศึกษาข้อมูลกองทุนหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มความมั่นใจในการลงทุนของตัวเอง ทำให้สามารถปรับพอร์ตการลงทุนให้ตรงกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ แต่อย่าลืมนะครับว่า การลงทุนไม่ควรปรับพอร์ตบ่อยๆ แต่มีการปรับสัดส่วนสินทรัพย์หลักที่วางแผนลงทุนในระยะยาวปีละครั้งเพื่อให้เป็นไปตามความเสี่ยงที่รับได้และเป้าหมายที่ต้องการ เว้นแต่จะมีเหตุการณ์สำคัญๆ จึงจะปรับสัดส่วนการลงทุนก่อน
ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการลงทุนครับ
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีและการคำนวณ คุณสามารถเลือกที่จะคำนวณแบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง ทั้งการลงทุนและการวางแผนภาษีที่
เครื่องมือวางแผนทางการเงินจากกรุงศรี ได้เลยครับผม
บทความโดย
ปริตา ธิติปรีชาพล
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา