3 วิธีที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนยิ้มได้ทั้งเดือน
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

3 วิธีที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนยิ้มได้ทั้งเดือน

icon-access-time Posted On 03 พฤศจิกายน 2558
By Krungsri Guru
วันนี้ ผมขอชวนเพื่อน ๆ มนุษย์เงินเดือนได้อ่านเคล็ดลับในการบริหารเงินเดือนให้พอใช้จ่ายอย่างมีความสุข และยังมีเงินเหลือเก็บออมได้อีกด้วย ถ้าเพื่อน ๆ ทำตามเคล็ดลับเหล่านี้ ผมมั่นใจว่า เพื่อน ๆ จะยิ้มอย่างสบายใจ ไม่ต้องปวดหัวกับเงินเดือนชนเดือนแน่นอนครับ

1. ทำบัญชีแห่งความสมดุลในแต่ละเดือน

 
เพื่อประยุกต์ใช้ในการบริหารเงินเดือนให้มีความสมดุล ไม่ตึง และหย่อนเกินไป
บัญชีแห่งความสมดุล คือ รายได้ - เงินออม = รายจ่าย
เทคนิคจากบัญชีแห่งความสมดุลนี้ คือ เมื่อมีเงินเดือนและรายได้เข้ามาในแต่ละเดือน ให้หักเป็นเงินออมไว้ก่อนเลยครับ โดยเงินออมที่หักไว้ อาจจะเริ่มต้นที่ 10% ของรายรับ แต่ถ้าเพื่อน ๆ อยากมีเงินออมมาก ๆ จะหักเงินออมไว้ 50% ก็ยิ่งดีเลยนะครับ แล้วเงินที่เหลือค่อยนำไปใช้จ่ายครับ ซึ่งเทคนิคนี้ ทำให้เพื่อนมั่นใจได้ว่า มีเงินออมแน่นอนครับ นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกวินัยในการใช้จ่ายอีกด้วยนะครับ

2. บริหารจัดการทำรายจ่ายประจำเดือน

 
โดยรายจ่ายประจำเดือน คือ สิ่งที่บ่งบอกถึงการใช้จ่ายของเราในแต่ละเดือนว่าได้ใช้เงินไปอย่างไรบ้าง โดยจะแบ่งออกเป็น
  • รายจ่ายคงที่ คือ ค่าใช้จ่ายที่เราต้องชำระเป็นประจำทุกเดือน เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในการดูแลครอบครัว ค่าสาธารณูปโภค ค่าผ่อนชำระหนี้สินต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเราสามารถประมาณค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้ได้ล่วงหน้า
  • รายจ่ายผันแปร คือ รายจ่ายที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไม่เท่ากันในแต่ละเดือน เช่น ค่างานเลี้ยงสังสรรค์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าท่องเที่ยว สันทนาการต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งค่อนข้างยากต่อการประมาณการ และอาจมีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ การสำรองเงินเผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือนจะสามารถช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้นะครับ
เมื่อเราทำรายจ่ายประจำเดือนว่ามีรายจ่ายอะไรบ้าง จะทำให้เรารู้การใช้จ่ายของเราในแต่ละเดือน ช่วยให้สามารถตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปทำให้มีเงินเหลือออมมากขึ้น เช่น ค่าช็อปปิ้งของฟุ่มเฟือย และทำให้เรารู้จักคิดให้รอบคอบก่อนที่จะใช้จ่าย รู้ว่าค่าใช้จ่ายไหนที่จำเป็น และค่าใช้จ่ายไหนที่ไม่จำเป็น
เมื่อเพื่อน ๆ เห็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ผมก็จะขอแนะนำเคล็ดลับในการจ่ายค่าใช้จ่าย และให้เกิดประโยชน์ คือ ให้เลือกชำระค่าใช้จ่ายแบบอัตโนมัติ ซึ่งแบ่งออกเป็น
  • ชำระแบบตัดบัญชีอัตโนมัติ วิธีนี้สามารถช่วยให้การชำระค่าใช้จ่ายรายเดือนต่าง ๆ ทำได้สะดวกรวดเร็วกว่าการไปชำระด้วยตนเอง ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งการชำระค่าสาธารณูปโภค และค่าบัตรเครดิตต่าง ๆ โดยทางธนาคารจะตัดเงินเพื่อชำระค่าใช้จ่ายในวันที่กำหนดไว้ในแต่ละเดือน ซึ่งจะทำให้เราไม่ลืมจ่ายค่าต่าง ๆ จนเลยเวลาต้องเสียค่าปรับโดยใช่เหตุนะครับ
  • ชำระโดยตัดจากบัญชีบัตรเครดิต เหมาะสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องชำระเป็นประจำทุกเดือน เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต โดยการชำระผ่านการหักบัตรเครดิตเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ชำระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ และประโยชน์ที่สำคัญ คือ เพื่อน ๆ จะได้รับคะแนนสะสมจากบัตรเครดิตต่าง ๆ ได้อีกด้วยนะครับ

3. แบ่งบัญชีเงินออมเป็น สั้น กลาง ยาว

 
การออมเงินในแต่ละเดือน ผมขอแนะนำเทคนิคการบริหารเงินออม โดยแบ่งเป็นบัญชีเงินออม ดังนี้
  • บัญชีเงินออม ระยะสั้น เป้าหมายไม่เกิน 1-3 ปี โดยเงินออมที่เก็บไว้นี้จะนำไปทำอะไรบ้าง เช่น กำหนดไว้ว่าบัญชีนี้จะเป็นเงินเก็บที่เอาไว้ท่องเที่ยว ไว้สำหรับวางแผนเงินฉุกเฉิน หรือเก็บไว้ซื้อของต่าง ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อยากได้ ผมแนะนำให้เพื่อน ๆ เก็บเงินออมระยะสั้นนี้ในรูปแบบที่เน้นไปทางสร้างสภาพคล่องที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว เช่น ฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น
  • บัญชีเงินออม ระยะกลาง เป้าหมายระยะ 3-5 ปี โดยกำหนดเป้าหมายเงินออมระยะกลางไว้ด้วย เช่น วางแผนการศึกษาให้ลูก ดาวน์บ้าน ผ่อนบ้าน หรือดาวน์รถ-ผ่อนรถ วางแผนสร้างธุรกิจ วางแผนแต่งงาน ซึ่งเงินออมระยะกลางควรเก็บในรูปแบบความเสี่ยงปานกลางถึงสูง เช่น การฝากประจำ กองทุนรวมหุ้น หุ้นสามัญ ตราสารหนี้ (พันธบัตร หุ้นกู้) ประกันแบบออมทรัพย์ เป็นต้น
  • บัญชีเงินออม ระยะยาว เป้าหมายระยะยาวเกิน 5 ปีขึ้นไป โดยเป็นเงินออมที่ไว้ใช้ในยามที่เพื่อน ๆ เกษียณ ซึ่งเงินออม ระยะยาว ควรเก็บในรูปแบบความเสี่ยงต่ำ และได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ เช่น ประกันชีวิตแบบบำนาญ หุ้นปันผลสูง RMF พันธบัตร เป็นต้น
สิ่งที่สำคัญที่ผมอยากเน้นให้เพื่อนได้ตระหนักไว้ ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า “อานณฺยปรมา ลาภา การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ" เพื่อน ๆ ไม่ควรก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น เพื่อที่จะได้มีเงินใช้และเหลือเก็บ และสามารถใช้ชีวิตแบบยิ้มได้ทั้งเดือนแน่นอนครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา