เคล็ดลับบริหารเงินสำหรับผู้ไม่มีรายได้ประจำ ฉบับฟรีแลนซ์
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เคล็ดลับบริหารเงินสำหรับผู้ไม่มีรายได้ประจำ ฉบับฟรีแลนซ์

icon-access-time Posted On 21 พฤศจิกายน 2558
By Krungsri the COACH
สมัยนี้หลายคนหันมาทำงานเป็นฟรีแลนซ์กันมากขึ้น เพราะต้องการความอิสระและเวลาที่สามารถบริหารจัดการการทำงานของตัวเองได้ตามใจชอบ แต่การทำงานฟรีแลนซ์เราอาจจะประสบกับช่วงเวลาที่มีงานบ้าง ไม่มีงานบ้าง รวมถึงช่วงเวลาไม่คาดฝัน เช่น ลูกค้าจ่ายเงินช้า ดังนั้น เราควรมีความสามารถในการบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะได้มีเงินใช้ทุกช่วงเวลาแบบสบาย ๆ

หลักการเงินที่ทำให้ชีวิตฟรีแลนซ์มั่นคง

1. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
ประการแรก เราจะต้องสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเองเสียก่อน วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การจดบัญชีรายรับ-รายจ่ายของเรา เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนในอนาคตว่า เราจะต้องเพิ่ม ลด หรือปรับการใช้จ่ายของเราตรงไหนและอย่างไรบ้าง เราควรอดทนจดข้อมูลเหล่านี้สักประมาณเดือนสองเดือนเพื่อให้เห็นรายละเอียดและภาพรวมการใช้จ่ายของเราว่ามีรายได้ เงินออม รายจ่ายเท่าไหร่ยังไงบ้าง จากนั้นเราจะได้นำข้อมูลส่วนนี้มาตั้งงบประมาณให้ตนเอง
2. อาศัยความรวดเร็ว
เมื่อเราทำงานเป็นฟรีแลนซ์ เราควรเข้าใจว่าเวลาเป็นเงินเป็นทอง ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีและบริการต่าง ๆ มากมายที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เรา การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของคนทำงานฟรีแลนซ์ เพราะสามารถตรวจสอบยอดเงินโอนจากลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย เราสามารถโหลดแอปฯ ลงโทรศัพท์มือถือเพื่อตรวจสอบ เช็คยอดธุรกรรมทางการเงินของเราได้ตลอดเวลา
3. สร้างความปลอดภัยให้ตัวเอง
การเป็นคนทำงานฟรีแลนซ์อาจมีความลำบากอีกอย่าง เมื่อเราไม่มีนายจ้างประจำ ก็หมายความว่าเราไม่มีสวัสดิการเช่นกัน ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นจนทำให้เราไม่สามารถทำงานต่อได้ เราก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยจากที่ไหนเลย ยิ่งเรามีคนสำคัญและครอบครัวที่ต้องดูแล แค่คิดก็หนักใจแล้ว เราควรมีประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพื่อสร้างสวัสดิการให้ตัวเอง นอกจากจะเป็นการคุ้มครองตัวเองแล้ว ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างของเราอีกด้วย (ผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับฟรีแลนซ์)
4. เตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน
ควรเตรียมเงินสดสำรองเผื่อความไม่แน่นอนของชีวิต ต้องระวังเรื่องกระแสเงินสด คนที่เป็นฟรีแลนซ์ควรเก็บออมเงินส่วนนี้เอาไว้ประมาณ 6 เท่าของรายได้ที่เราทำได้ต่อเดือน หมายความว่า หากเราบังเอิญไม่มีรายได้เข้ามา เราก็ยังสามารถใช้ชีวิตปกติต่อไปได้ระหว่างหางานต่อไปได้อีก 6 เดือนนั่นเอง
5. วางแผนการเก็บเงิน
เมื่อเรามีเป้าหมายในการใช้เงิน และออมเงินแล้ว ทีนี้เราก็จะต้องวางแผนว่าเราจะต้องออมเงินในรูปแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากประจำ ตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนรวม และอื่น ๆ เพราะรูปแบบการเก็บเงินและเวลาที่เราต้องการใช้เงินจะต้องสัมพันธ์กันด้วย เช่น หากต้องการเก็บเงินเอาไว้เผื่อนำออกมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน ก็ใช้บัญชีออมทรัพย์ หากต้องการวางแผนการเก็บเงินระยะยาว ก็นำเงินไปลงทุนใน RMF หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ
6. การแบ่งเงินออมออกเป็นส่วน ๆ เพื่อเป้าหมายที่แตกต่างกัน
วิธีการออมเงินควรจะมีการแบ่งออกเป็นสัดส่วน วันนี้ขอนำเสนอวิธีการออมเงินแบบหลายบัญชีที่ T. Harv Eker เป็นผู้แนะนำไว้ นั่นก็คือการแบ่งการออมเป็น 6 บัญชีด้วยกัน ดังนี้
  • บัญชีเพื่ออิสรภาพทางการเงิน 10% ของรายได้
  • บัญชีเงินใช้เล่น 10% ของรายได้
  • บัญชีเพื่อการเรียนรู้พัฒนาตนเอง 10% ของรายได้
  • บัญชีเพื่อการให้ 10% ของรายได้
  • บัญชีเงินออมเพื่อใช้จ่ายระยะยาว 10% ของรายได้
  • บัญชีเพื่อค่าใช้จ่ายจำเป็น 50% ของรายได้
7. วางแผนการจ่ายภาษี
ภาษีเป็นเรื่องวุ่นวายที่เข้าใจยาก แต่จริง ๆ แล้วภาษีเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มากสำหรับคนทำงานฟรีแลนซ์ เนื่องจากเราสามารถได้รับผลประโยชน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของเราได้ หากเราวางแผนจัดการกับภาษีเงินได้ของเราให้ดี เราก็จะไม่ต้องเสียภาษีมากกว่าที่จำเป็นและสามารถประหยัดเงินของเราได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
หากใครก็ตามที่คิดจะทำงานฟรีแลนซ์ หรือเป็นฟรีแลนซ์อยู่แล้ว ก็คงเข้าใจว่าการทำงานแบบนี้ เป็นงานที่ค่อนข้างหนัก ไหนจะต้องค้นหางานใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา วางแผนการทำงาน การแบ่งเวลาให้เป็นแล้วก็ต้องดูแลการวางแผนการเงินให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน เพื่อทำให้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราทำงานหนักหามาคุ้มค่ากับการทำงานของเรานั่นเอง
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา