มานั่งคิดย้อนกลับไปว่า นิสัยอะไรทำให้เรามีวันนี้ และนิสัยอะไรที่ทำให้เราไม่ก้าวหน้า แท้จริงแล้วทุกสิ่งก็เริ่มต้นที่ “วิธีคิด” นี่เอง คิดถูก คิดดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง คิดได้แล้วนำไปปฏิบัติจนกลายเป็นนิสัย คือ ดีงามที่สุดในสามโลก
วันนี้ขอเสนอ 3 วิธีคิดที่ผมใช้เป็นประจำ
1. คิดเรียนรู้ - ความรู้ไม่มีวันหมด และเราต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้
ตอนเป็นเด็กประถม ผมเป็นคนชอบอ่านใบปลิว เจอเป็นต้องหยิบ หยิบมันทุกใบแล้วมานั่งอ่านเวลารอคุณแม่ทำรายการที่ธนาคาร จากจุดนี้เองทำให้ผมเริ่มต้นรู้จักกับ
กองทุนตราสารหนี้ และเริ่มลงทุนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จากเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ กลายเป็นนิสัยรักการอ่าน ต่อยอดไปใน
การลงทุนประเภทอื่น ๆ ทั้งหุ้น อนุพันธ์ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ
การอ่านเป็นทักษะสำคัญมากในการสร้างนิสัยเศรษฐี ยิ่งในปัจจุบัน เราสามารถหาอ่านเรื่องที่เราสนใจได้ง่ายมาก ผ่านบล็อก โซเชียล โมบายแอปฯ เราสามารถบันทึกหัวข้อที่เราสนใจจะอ่านแต่ยังไม่มีเวลาด้วยฟังก์ชั่น “บันทึก” ในเฟซบุ๊ก และสามารถกลับมาย้อนดูเมื่อไหร่ก็ได้ที่เราว่าง
นอกจากการอ่าน “การฟัง” ก็ช่วยเรื่องการเรียนรู้ได้เหมือนกัน ผมใช้แอปฯ ชื่อ
Audible เป็น Audio book ฟังเวลาเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนกลางคืนที่ไม่สามารถอ่านหนังสือ หรือหากไม่มีเวลาจริง ๆ ก็อ่าน “สรุป” หนังสือ จาก
summary.com ที่เขาช่วยสรุปหนังสือทั้งเล่มออกมาให้เหลือแต่เนื้อ ๆ ไม่กี่หน้า น้ำ ๆ ตัดทิ้งหมด แต่ถ้าเราอ่านสรุปแล้วถูกใจ ค่อยไปหาซื้อหนังสือจริง ๆ มาอ่าน
2. คิดออม - ออมก่อน รวยกว่า จริงหรือ?
ถ้าย้อนไปซัก 10-20 ปี ผมว่า คำพูดข้างต้นคงไม่มีใครเถียงแน่ ๆ เพราะพลังของดอกเบี้ยทบต้นยังทรงอานุภาพและสามารถทำให้เงินออมงอกเงยโดยไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงอะไรมากนัก แต่ในปัจจุบันผมคิดว่า คำกล่าวนี้มีมนต์ขลังน้อยกว่าเดิมเยอะ ใครจะไปรู้ว่าดอกเบี้ยเงินฝากจะต่ำเตี้ยติดดินขนาดนี้ ใครที่ยังออมเงินโดยเอาเงินเดือนทั้งหมดฝากแบงค์เพียงอย่างเดียว แล้วดีใจที่ทุก ๆ 6 เดือน อย่างน้อยก็มีดอกเบี้ยมาให้เชยชม ขอบอกว่า อย่าลืมหักเงินเฟ้อไปด้วย หักแล้วอาจไม่เหลืออะไรเลย เท่ากับว่าฝากเงินไปเรื่อย ๆ ตัวเลขในบัญชีเพิ่มสูงขึ้น แต่มูลค่าแท้จริงกลับไม่เพิ่มขึ้น
ถ้ารู้แบบนี้แล้ว ถอนเงินทั้งหมดไปลงทุนเลยดีมั้ย? ผมก็ไม่แนะนำให้ทำขนาดนั้น เราควรมีเงินสำรองอยู่บ้าง ยามเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน สามารถถอนออกมาได้แบบไม่เดือดร้อนใคร ผมเก็บเงินสดฝากแบงค์ไว้ประมาณ 6 เท่าของรายจ่ายทุกอย่างที่ผมมีในแต่ละเดือน ที่เหลือจึงเอาไปลงทุน
เมื่อเวลาผ่านไป เงินจำนวนนี้ ควรจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ ภาระและรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ออมก่อน อาจไม่รวยกว่า แต่ถ้าไม่ออม หรือออมไม่พอ ก็อย่าเพิ่งไปลงทุนนะ ดังนั้น จงเริ่มต้นที่การออมก่อน เป็นอันดับแรก
3. คิดลงทุน - ลงทุนอยู่ที่จังหวะที่เหมาะสม ไม่ใช่ระยะเวลาที่นาน
คงไม่เคยได้ยินว่า “ลงทุนก่อน รวยกว่า” กันใช่มั้ยครับ? ใช่แล้ว เพราะลงทุนก่อน อาจเจ๊งก่อนก็ได้ เพราะซื้อแพง ขายถูก แทนที่จะซื้อถูก ขายแพง การลงทุนไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์อะไร ก็อยู่ภายใต้กฎนี้ทั้งสิ้น ซื้อสินทรัพย์คุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งราคาที่จะซื้อ บางครั้งกว่าจะได้มาก็ต้องรอเวลาที่เหมาะสม เวลาจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการลงทุนมาก ไม่ใช่เห็นเขาซื้อก็รีบเข้าไปซื้อตามกัน (และก็เจ๊งตามกัน)
นอกจากเรื่องจังหวะเวลาที่เหมาะสม อีกเรื่องที่ผมให้ความสำคัญมากก็คือ เรื่องของ “เวลา” ที่เราให้กับการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลประกอบการลงทุน หลายคนมีงานประจำ มีครอบครัว มีภาระหน้าที่หลายอย่าง ทำให้เวลาไม่เอื้ออำนวยกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตนเอง ผมเองแรก ๆ ที่เริ่มลงทุนใหม่ ๆ ก็ตัดสินใจ ลงทุนด้วยตนเอง และก็ขาดทุนเองมาบ่อยครั้ง
จนมาถึงจุดที่เราเปลี่ยนวิธีคิด “เราไม่จำเป็นต้องตัดสินใจซื้อหุ้นทุกตัวด้วยตัวเองก็ได้ แต่ก็ยังสามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนได้เหมือนกัน” ใช่ครับ เรายกหน้าที่การตัดสินใจนี้ไปให้กับมืออาชีพทำ ซึ่งก็คือ ผู้จัดการกองทุนที่เขามีเวลาเต็มที่กับการวิเคราะห์ข้อมูล เวลาที่เรามี แทนที่เราจะไปนั่งวิเคราะห์เลือกซื้อหลักทรัพย์ทีละตัว ก็กลายเป็นการเลือกกองทุนและผู้จัดการกองทุน เลือกนโยบายและแนวทางการบริหารของทุนที่เราชอบแทน ประหยัดเวลาและลดความปวดหัวไปได้เยอะ
แถมท้าย แอปฯ อีกตัวที่ผมใช้เวลาต้องเลือกกองทุน คือ แอปฯ ชื่อ “
FIN” ซึ่งรวมกองทุนทั้งหมดในประเทศมาจัดเรียงตามผลตอบแทนเป็นรายวัน เดือน 6 เดือน ไปจนถึง 5 ปี และแยกหมวดหมู่ตามลักษณะของกองทุน เช่น
LTF ,
RMF , หุ้น หรือลงทุนต่างประเทศ ให้เราเลือกใช้ได้สะดวก
หรือถ้าอยากติดตามผลลัพธ์การลงทุนของตนเองในหลากหลายสินทรัพย์ ทั้งหุ้น, กองทุน, LTF, RMF, ETF หรือแม้แต่การลงทุนในต่างประเทศก็อยากจะแนะนำแอปฯ ลองเข้าไปใช้งานในส่วนของ Watchlist จะบอกว่าแอปฯ
Bloomberg เดียวจบจริง ๆ