เรื่องต้องรู้ คู่รัก LGBTQ วางแผนซื้อบ้านสร้างอนาคตไปด้วยกัน
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เรื่องต้องรู้ คู่รัก LGBTQ วางแผนซื้อบ้านสร้างอนาคตไปด้วยกัน

icon-access-time Posted On 15 มีนาคม 2567
By Krungsri The COACH
เวลาที่เรามีความรักกับใครสักคน เราก็คงอยากจะมีชีวิตอยู่ร่วมกับคู่รักเราไปนาน ๆ ร่วมสร้างอนาคตไปด้วยกันและดูแลกันไปจนถึงบั้นปลายของชีวิต เพราะนั่นคือความสุขในชีวิตคู่ที่ทุกคนใฝ่ฝัน ไม่ว่าจะเป็นคู่รักชายหญิงทั่วไป หรือคู่รัก LGBTQ ก็ตาม ดังนั้นการวางแผนเรื่องเงินกับชีวิตคู่เพื่อจะมีทรัพย์สินต่าง ๆ ร่วมกันจึงมีความสำคัญโดยเฉพาะเรื่องการซื้อบ้าน

วันนี้ Krungsri The COACH มีคำแนะนำในการวางแผนซื้อบ้านสำหรับชีวิตคู่ให้ราบรื่น เพราะเรื่องเงินกับชีวิตคู่คือเรื่องสำคัญ ซึ่งสิ่งที่ทุกคู่จะต้องทราบ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการมีบ้าน เอกสารที่ต้องเตรียมพร้อมในการกู้สินเชื่อบ้าน รวมไปถึงการคำนวณวงเงินในการซื้อบ้าน
สิ่งที่ควรรู้เมื่อต้องซื้อบ้านร่วมกัน คู่รัก lgbtq

จะซื้อบ้านร่วมกัน คู่รัก LGBTQ ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?

ก่อนอื่นเรามาคำนวณค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านกันก่อน โดยทั่วไปแล้วเราจะต้องพบค่าใช้จ่ายหลัก ๆ อยู่ 3 ประเภท ได้แก่
 

1. ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านกับโครงการ

  • ค่าจอง เมื่อเราได้บ้านที่ถูกใจแล้ว ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างแรก คือ “ค่าจอง” เป็นเงินที่เราต้องจ่ายแก่โครงการเพื่อเป็นการยืนยันว่าเราสนใจโครงการบ้านนี้จริง ๆ ราคาค่าจองนั้นจะอยู่ขึ้นอยู่กับโครงการ เช่น 5,000 บาท - 50,000 บาท หรือ 5-10% จากราคาขาย เมื่อเราทำการจองแล้วทางโครงการจะออกใบเสร็จรับเงินมาให้

  • ค่าทำสัญญา หลังจากที่เราจองซื้อแล้ว 1 - 2 สัปดาห์ ทางโครงการจะทำสัญญาจองกับเรา เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิ์โดยมีเอกสารเป็นสัญญารับรอง ซึ่งแต่ละโครงการจะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน เช่น 150,000 บาท หลังจากเราทำสัญญาจองซื้อแล้ว ใน 1 - 3 เดือน จะมีการทำสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งเป็นสัญญาที่ระบุข้อมูลการซื้อและรายละเอียดของโครงการทั้งหมด (กรณีค่าทำสัญญาอาจจะมีหรือไม่มีขึ้นอยู่แต่ละโครงการบ้าน)

ค่าจองซื้อและค่าทำสัญญาถือเป็นส่วนหนึ่งของการชำระราคาค่าบ้านหรือคอนโด หรือโครงการจะนำไปหักจากราคาซื้อขายให้เรา ณ วันโอนนั่นเอง
 

2. ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินกับทางธนาคาร

  • ค่าประเมินบ้านเพื่อพิจารณาสินเชื่อ เมื่อเราตัดสินใจซื้อบ้านกับคู่รักเพื่อสร้างอนาคตด้วยกันแล้ว เราจะทำการติดต่อกับธนาคารเพื่อขอสินเชื่อ ซึ่งจะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายให้ธนาคารประเมินบ้าน เพื่อพิจารณาว่าจะให้สินเชื่อเราได้เท่าไร โดยธนาคารจะประเมินจากราคากลาง ราคาตลาด ทำเล และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

  • ค่าผ่อนบ้านและดอกเบี้ย เป็นค่าใช้จ่ายหลังจากที่เราได้รับสินเชื่อแล้ว ซึ่งในทุก ๆ เดือนเราจะต้องจ่ายเงินเพื่อผ่อนบ้านตามสัญญาจนครบกำหนด
 
ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินกับทางธนาคารของคู่รัก lgbtq
 

3. ค่าใช้จ่ายในส่วนค่าธรรมเนียมกับหน่วยงานราชการ

  • ค่าขอมิเตอร์สาธารณูปโภค เป็นค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟและมิเตอร์น้ำ ซึ่งเราจะต้องติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้าและการประปา เพื่อให้เรามีน้ำและไฟใช้ในบ้าน

  • ค่าธรรมเนียมในการโอนบ้าน เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้จ่ายกรมที่ดิน อยู่ที่ประมาณ 1 - 2% ของราคาสิ่งปลูกสร้างและที่ดิน ซึ่งจะแบ่งกันจ่ายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

  • ค่าธรรมเนียมในการจดจำนอง เมื่อเรากู้เงินซื้อบ้านจะต้องมีการจ่ายเงินส่วนนี้ให้กรมที่ดิน ซึ่งคิดเป็น 1% ของวงเงินกู้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท แต่ภาครัฐอาจมีมาตรการปรับลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวลงในบางระยะเวลาเพื่อกระตุ้นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จึงควรอัปเดตส่วนนี้ก่อนซื้ออีกครั้ง (กรณีค่าทำสัญญาอาจจะมีหรือไม่มีขึ้นอยู่แต่ละโครงการบ้าน)

เราอาจจะพบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก เช่น หากเราซื้อบ้านหรือคอนโดของโครงการ อาจจะมีการเก็บค่าส่วนกลางล่วงหน้าที่เราจะต้องเตรียมไว้ และเมื่อบ้านเสร็จแล้ว เราอาจจะจ้างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจบ้านก่อนรับบ้านจากโครงการ เพื่อดูว่าจะต้องแก้ไขอะไรบ้างหลังจากนั้นจึงเซ็นตรวจรับบ้านมาเป็นของเรา
 
เตรียมเอกสารที่ใช้เพื่อขอสินเชื่อบ้านสำหรับคู่รัก lgbtq
 
  1. หลังจากที่ประเมินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว เราก็มาหาสินเชื่อบ้านกันว่าสถาบันการเงินไหนบ้างที่ปล่อยสินเชื่อให้กับเราบ้าง ซึ่งไม่ต้องหาที่ไหนไกล ธนาคารกรุงศรีนี่แหละมีสินเชื่อบ้านสำหรับ “คู่เพื่อน” ให้กับคู่รัก LGBTQ เพื่อสร้างอนาคตไปด้วยกัน โดยต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างมาดูกัน เอกสารส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน รวมไปถึงใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี) ของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะกู้ร่วมกัน

  2. เอกสารด้านการเงิน เช่น หนังสือรับรองการทำงานจากทางบริษัท หรือสำเนาสลิปเงินเดือนฉบับล่าสุด และบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน และหากทำธุรกิจส่วนตัวต้องเตรียมหลักฐานการมีอยู่ของกิจการ เช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียน/ใบทะเบียนการค้า ไม่เกิน 3 เดือน บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ไม่เกิน 3 เดือน และบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน เป็นต้น

  3. เอกสารหลักประกัน เอกสารกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราซื้อบ้าน หรือปลูกบ้านเอง ซึ่งเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทรัพย์สิน
    • กรณีที่ซื้อบ้าน จะใช้เอกสารสัญญาจะซื้อจะขาย โฉนดที่ดิน หนังสือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด
    • กรณีปลูกบ้าน จะใช้เอกสาร โฉนดที่ดิน แบบแปลนบ้าน ใบอนุญาตก่อสร้าง สัญญาว่าจ้างในการก่อสร้าง เป็นต้น

  4. หลักฐานการอยู่ด้วยกัน เราจะต้องเตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อแสดงให้ธนาคารได้เห็นว่า เราเป็นคู่ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาก่อน เช่น สัญญาเช่าบ้านที่มีชื่อร่วมกัน เอกสารค่าน้ำค่าไฟ บัญชีเงินฝากร่วม รวมไปถึงภาพถ่ายและหลักฐานอื่น ๆ ที่มีชื่อร่วมกัน
 
lgbtq วางแผนซื้อบ้าน สร้างอนาคตไปด้วยกัน

การคำนวณวงเงินกู้ซื้อบ้านในเบื้องต้น

เมื่อเราตัดสินใจซื้อบ้าน อีกเรื่องที่สำคัญก็คือการคำนวณวงเงินกู้ซื้อบ้านในเบื้องต้น เพื่อให้เราสามารถทราบคร่าว ๆ ได้ว่า ธนาคารน่าจะให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดเท่าไร Krungsri The COACH จะแนะนำวิธีการคำนวณง่าย ๆ ดังนี้

โดยปกติธนาคารจะให้เราผ่อนชำระเงินกู้บ้านไม่เกิน 65% ของรายได้ (รวมภาระหนี้เดิมรวมกับภาระหนี้ใหม่แล้ว)
ตัวอย่างเช่น
  • หากเงินเดือนเราและแฟนเรารวมกัน 100,000 บาท แปลว่าเราจะผ่อนบ้านต่อเดือนได้สูงสุดประมาณ 65,000 บาท
  • แต่ถ้าเรามีภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จะต้องผ่อนอยู่แล้ว ธนาคารก็จะให้เรานำภาระนั้นหักออกจากรายได้ก่อนแล้วค่อยนำมาคำนวณ เช่น บางคู่รักมีค่าใช้จ่ายผ่อนรถอยู่แล้ว เดือนละ 10,000 บาท ธนาคารก็จะนำไปหักลบกับ 65,000 บาท เหลือความสามารถในการผ่อนบ้านได้ 55,000 บาทต่อเดือน

วิธีนี้จะทำให้เราสามารถเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการมีบ้าน หากเรามีภาระจำนวนมาก ก็อาจจะวางแผนเคลียร์หนี้ให้ได้มากที่สุดก่อนการกู้บ้าน หรืออาจจะเตรียมเงินออมเอาไว้ให้พร้อมเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับดาวน์บ้านและวันโอน

Krungsri The COACH: แนะนำสินเชื่อบ้านดี ๆ สำหรับ LGBTQ

เมื่อคู่รัก LGBTQ ตัดสินใจที่จะร่วมสร้างอนาคตไปด้วยกันแล้ว ทาง Krungsri The COACH ขอแนะนำ สินเชื่อบ้านกรุงศรี สำหรับ “คู่เพื่อน” ที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งเป็นสินเชื่อบ้านที่ธนาคารกรุงศรีได้ออกแบบมาสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติสามารถกู้ร่วมกันได้ โดยพิจารณาจากรายได้ ศักยภาพในการชำระคืน และเครดิตของผู้กู้ทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีหลักฐานความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี
 
แนะนำสินเชื่อบ้าน สำหรับ lgbtq

4 จุดเด่นที่น่าสนใจของ สินเชื่อบ้านกรุงศรี สำหรับ “คู่เพื่อน” ที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกัน

  1. ดอกเบี้ยคงที่ 1 ปีแรก ต่ำสุด 2.90%* ต่อปี
  2. ฟรี ค่าประเมินหลักประกัน มูลค่า 3,210 บาท
  3. ฟรี ค่าจดจำนอง** กรณีใช้อัตราดอกเบี้ยและซื้อประกันชีวิตตามเงื่อนไข
  4. รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%*** ต่อปี ปีแรก

กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกตลอดอายุสัญญาอยู่ระหว่าง 4.72% - 4.92% ต่อปี*

*สมมติฐานการคำนวณมาจากวงเงินกู้ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR ณ วันที่ 6 ต.ค. 66 = 7.40% ต่อปี ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ รายละเอียดดอกเบี้ยและการคำนวณเพิ่มเติมดูได้ที่เว็บไซต์ www.krungsri.com
**ฟรีค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้อนุมัติ หรือสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท เฉพาะลูกค้าที่ซื้อ MRTA/MLTA ตามเงื่อนไขที่กำหนด และเลือกดอกเบี้ยแบบฟรีจำนองเท่านั้น
***เฉพาะปีที่ 1 เมื่อซื้อประกัน MRTA/MLTA ตามเงื่อนไขที่กำหนด หรือใช้บัญชีเงินเดือนผ่านธนาคารกรุงศรีอยุธยา

เพียงแค่นี้คู่รัก LGBTQ ทุกคนก็สามารถมีบ้านในฝันร่วมกันได้ง่าย ๆ และสามารถสร้างอนาคตไปด้วยกันได้ด้วยการตรวจสอบข้อมูลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการซื้อบ้าน จัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ เพื่อขอยื่นกู้เงินกับธนาคาร และลองคำนวณดูว่าวงเงินกู้บ้านสูงสุดที่เราจะได้นั้นเป็นเท่าไร เพื่อที่เราจะได้เตรียมพร้อมในการผ่อนบ้านร่วมกัน และอย่าลืมว่า กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว ซึ่งทางธนาคารกรุงศรีมีสินเชื่อบ้านสำหรับชาว LGBTQ เพื่อให้ฝันทุกคนเป็นจริงได้

ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สินเชื่อบ้านกรุงศรี ซื้อบ้านร่วมกับเพื่อนได้ | ธนาคารกรุงศรี

อ้างอิง :
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา