ในช่วงนี้เราอ่านเจอกระทู้และได้รับคำถามจากนักเรียนและนักศึกษาเกี่ยวกับการนำเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มองแต่ภาพด้านบวกว่าเข้ามาลงทุนหุ้นแล้วจะได้กำไรกลับไปมากมายจนคาดหวังว่าเมื่อตนเองเรียนจบก็จะไม่ทำงาน แล้วจะสร้างรายได้จากการเล่นหุ้นเก็งกำไรรายวัน
"เป็นเรื่องดีที่วัยรุ่นหันมาค้นคว้าและสนใจเรื่องการลงทุนมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างกระแสสังคมแห่งการลงทุน แต่ก็มีจุดเล็กๆ ที่เราไม่ควรมองข้าม คือ ต้นทุนการเงินของแต่ละคนไม่เท่ากัน"
ความคิดเห็นส่วนตัวเรามองว่าเป็นเรื่องดีที่วัยรุ่นหันมาค้นคว้าและสนใจเรื่องการลงทุนมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างกระแสสังคมแห่งการลงทุน แต่ก็มีจุดเล็กๆ ที่เราไม่ควรมองข้าม คือ ต้นทุนการเงินของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางครอบครัวมีฐานะทางบ้านสนับสนุนให้วัยรุ่นนำเงินมาลงทุน แม้ว่าการลงทุนนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่าก็ยังไม่กระทบเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและสามารถนำเงินทุนก้อนใหม่มาลงทุนได้เรื่อยๆ
สำหรับบางครอบครัวที่ต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อสร้างรายได้ สร้างฐานะให้มั่นคงด้วยความเหนื่อยยาก แต่วัยรุ่นกลับนำเงินที่จำเป็นต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมาลงทุน ลักษณะนี้ค่อนข้างจะเสี่ยงมาก ถ้าหากจังหวะที่ต้องใช้เงินแล้วตลาดหุ้นเจอภาวะวิกฤตก็อาจจะทำให้เงินลงทุนส่วนนั้นเหลือน้อยลง กระทบต่อรายจ่ายประจำวันและสุดท้ายครอบครัวก็จะเดือดร้อน
“เราไม่ควรให้เงินลงทุนมาเบียดเบียนชีวิตประจำวัน”
ถ้าหากวัยรุ่นวัยเรียนมีความตั้งใจที่จะนำเงินไปลงทุนให้งอกเงยก็ควรเริ่มศึกษาพื้นฐานสำคัญของการลงทุนให้แม่นยำเสียก่อน นั่นคือ การฝึกนิสัยการออมเงิน เพื่อให้ภาพชัดเจนขึ้นเราขออธิบายพื้นฐานการออมเงินเปรียบเทียบกับการลงทุนว่ามีความเกี่ยวข้องกันจนขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้
3 เรื่องการเงิน - การลงทุนที่วัยรุ่นวัยเรียนควรรู้
1. สร้างสมการเงินออม คือ เงินค่าขนม – เงินออม = รายจ่าย
เริ่มสร้าง "วินัยการออมเงิน" ตั้งแต่รับเงินค่าขนมมาจากผู้ปกครอง โดยนำไปออมเป็นอย่างแรก อาจจะหยอดกระปุกออมสินไว้ เมื่อรวมกันได้จำนวนมากๆจึงนำไปฝากออมทรัพย์หรือฝากประจำ หากต้องการนำเงินออมส่วนนี้มาลงทุนควรขอคำแนะจากผู้ปกครองเพื่อเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง แล้วจึงนำเงินส่วนที่เหลือจากการออมมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่อไป
เปรียบได้กับการลงทุนที่ต้องอาศัย “วินัยการลงทุน” เป็นอย่างมากเพราะต้องมั่นคงต่อนโยบายการลงทุนที่วางไว้ เช่น หากเป็นนักลงทุนที่ตั้งใจซื้อหุ้นเพื่อรอปันผลก็ต้องไม่หวั่นไหวต่อการขึ้นลงของหุ้น หากขาดวินัยเพราะอดทนต่อความผันผวนของหุ้นไม่ไหว แล้วเปลี่ยนมาเป็นนักลงทุนเก็งกำไรจนทำให้พอร์ตการลงทุนเสียหาย
2. รู้วิธีจัดการรายจ่ายให้อยู่หมัด
หลายคนอาจจะเคยถูกบ่นจนหูชาเมื่อขอเงินค่าขนมเพิ่ม แต่ถ้าเราจำเป็นต้องขอค่าขนมเพิ่มโดยไม่ถูกบ่นหละจะต้องทำอย่างไร ทางที่ง่ายที่สุด คือ “การจดรายจ่าย” เราควรเขียนไว้ว่าค่าขนมที่ได้รับมานั้นจ่ายไปกับอะไรบ้าง สาเหตุที่ต้องขอเพิ่มนั้นจะไปใช้จ่ายกับอะไร (เช่น ค่ารายงาน ค่าออกค่าย ค่าเรียนพิเศษ) เราควรเขียนสิ่งต่างๆเหล่านี้ออกมาให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจพฤติกรรมการใช้เงินของเรามากขึ้น ถ้าเป็นรายจ่ายที่สมเหตุสมผลผู้ปกครองอาจจะให้เงินเพิ่มมากกว่าที่ขอก็ได้
เปรียบได้กับการลงทุนที่ต้องใช้ “การจดบันทึก” เกี่ยวกับเรื่องต่างๆของการลงทุน เช่น เป้าหมายในการลงทุน เหตุผลในการซื้อและขายหุ้นนี้คืออะไร ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเท่าไหร่ ทำไมถึงเลือกลงทุนกับกองทุนรวม XXX ฯลฯ เพื่อจะได้กลับมาตรวจสอบว่าการลงทุนเป็นไปตามที่เราคาดหวังหรือไม่ เพื่อปรับปรุงกลยุทธ์การลงทุนให้ดีมากขึ้นเรื่อยๆต่อไปในอนาคต
3. ใช้ของให้คุ้มค่า
วัยรุ่นที่ฉลาดรู้จักคุณค่าของเงินจะใช้ของทุกอย่างด้วยความคุ้มค่าและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การซื้อสมาร์ทโฟน ความคุ้มค่าจะเกิดก็ต่อเมื่อช่วยทำให้พัฒนาการเรียน เสริมทักษะให้เก่งมากขึ้น หรือบางครั้งใช้สร้างรายได้โดยการขายสินค้าออนไลน์ แต่คุณค่าจะเริ่มลดลงถ้าใช้เพียงแชทกับโทรหาเพื่อนเพื่อคุยเล่นจนกระทั่งสิ้นเปลืองค่าโทรศัพท์หลายพันบาทต่อเดือน ช่วงเรียกเก็บบิลค่าโทรศัพท์อาจจะหูชาแล้วถูกตัดค่าขนมก็ได้
เปรียบได้กับการลงทุนที่ต้องใช้ประโยชน์จากบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนให้คุ้มค่า โดยเลือกบริษัทที่มีหลักสูตรอบรมการลงทุนเพื่อเสริมสร้างความรู้ให้นักลงทุน มีข่าวสารอัพเดทให้ทันต่อสถานการณ์ตลอดเวลาและมีเครื่องมือที่ทำให้การลงทุนไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ดีที่สุด
ปรากฎการณ์ที่วัยรุ่นวัยเรียนในยุคนี้ให้ความสนใจกับการนำเงินมาลงทุนมากขึ้นเพราะเห็นตัวอย่างความสำเร็จมากมาย แต่สิ่งเหล่านี้ควรอยู่บนรากฐานของการเงินที่ถูกต้องเพื่อกลายเป็นนักลงทุนเลือดใหม่ที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยให้กลายเป็นสังคมแห่งการบริหารการเงินที่มีคุณภาพต่อไป