5 สูตร เช็กความแข็งแรงทางการเงิน ผลลัพธ์จากการทำงบส่วนบุคคล
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

5 สูตร เช็กความแข็งแรงทางการเงิน ผลลัพธ์จากการทำงบส่วนบุคคล

icon-access-time Posted On 27 เมษายน 2565
by Krungsri The COACH

ความแข็งแรงทางการเงิน เป็นสิ่งที่เราควรให้ความใส่ใจ และคอยเช็กอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับความแข็งแรงทางร่างกาย เพราะถ้าเราใส่ใจแต่สุขภาพร่างกาย เราก็อาจจะมีอายุที่ยืนยาว แต่ถ้าเราใส่ใจทั้งสุขภาพร่างกาย และสุขภาพทางการเงินควบคู่กันไป เราก็จะมีอายุที่ยืนยาว และมีกินมีใช้อย่างมีความสุขด้วย


การเช็กความแข็งแรงของสุขภาพร่างกาย เราอาจทำได้โดยการตรวจสุขภาพประจำปี แต่ถ้าเป็นความแข็งแรงทางการเงินแล้ว ตรงนี้อาจจะมีวิธีการเช็กที่หลากหลาย อย่างในวันนี้เราก็จะมาเช็กความแข็งแรงทางการเงิน ด้วยตัวเลขจากงบการเงินส่วนบุคคลกัน ซึ่งประกอบด้วย 4 ไอเทมหลัก คือ สินทรัพย์-หนี้สิน (จากงบดุลส่วนบุคคล) และ รายได้-ค่าใช้จ่าย (จากงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล) ที่เราจะต้องเข้าใจก่อน ถึงจะเช็กความแข็งแรงทางการเงินได้อย่างแม่นยำ เดี๋ยวจะพาไปตรวจเช็กสุขภาพการเงินด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ไปด้วยกัน

มาเริ่มกันที่ สินทรัพย์และหนี้สิน 2 ไอเทมหลักจากงบดุลส่วนบุคคล ที่จะช่วยบอกให้เรารู้ถึงฐานะทางการเงินที่แท้จริงว่ามีความมั่งคั่งแค่ไหน โดยคิดจากมูลค่าสินทรัพย์ของเราว่ามีมากกว่าหนี้สินหรือไม่ ถ้ามากกว่าก็เท่ากับว่าเรามีความมั่งคั่งเป็นบวก แต่หากน้อยกว่า ก็เท่ากับเรามีความมั่งคั่งเป็นลบ ซึ่งไม่ใช่สัญญาณที่ดีแน่นอน แล้วเดี๋ยวเราไปดูกันว่า สินทรัพย์และหนี้สิน มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
 
สินทรัพย์และหนี้สิน

สินทรัพย์ คือ ทรัพย์สิน เงินทอง หรือสิ่งของ ที่มีมูลค่าและเป็นของเรา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการมีสินทรัพย์ ตามนี้
  • “สินทรัพย์สภาพคล่อง” คือ สินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ทันที ใช้จ่ายได้สะดวก เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร ทองคำ ฯลฯ
  • “สินทรัพย์เพื่อการออมและการลงทุน” คือ สินทรัพย์ที่มีไว้เพื่อหาผลตอบแทน เช่น หุ้นสามัญ กองทุนรวม หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล ที่ดิน ฯลฯ
  • “สินทรัพย์เพื่อใช้ส่วนตัว” คือ สินทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้งานเป็นหลัก เช่น บ้าน คอนโด รถยนต์ เครื่องแต่งกาย ฯลฯ

หนี้สิน คือ ภาระผูกพันที่เราต้องชดใช้แก่ผู้อื่น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ขึ้นอยู่กับระยะเวลา ตามนี้
  • “หนี้สินระยะสั้น” คือ หนี้สินที่มีกำหนดชำระคืนเงินต้นภายใน 1 ปี เช่น หนี้บัตรเครดิต ผ่อนจ่ายโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ
  • “หนี้สินระยะยาว” คือ หนี้สินที่มีกำหนดชำระคืนเงินต้นมากกว่า 1 ปี เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ฯลฯ

ต่อมาจะเป็น รายได้และค่าใช้จ่าย 2 ไอเทมหลักจากงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล ที่จะช่วยบอกให้เรารู้ถึงกระแสเงินสดตามชื่องบเลย ว่าเป็นบวกหรือติดลบ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเรามีรายได้พอกินพอใช้ในชีวิตประจำวันหรือไม่นั่นเอง โดยคิดจาก รายได้ ลบ ค่าใช้จ่าย ถ้าเป็นบวก แสดงว่าเรายังมีรายได้พอกินพอใช้ แต่หากเป็นลบ ก็แสดงว่าเรามีรายได้ไม่พอกินพอใช้ แล้วเดี๋ยวเราไปดูกันว่า รายได้และค่าใช้จ่าย มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
 
รายได้และค่าใช้จ่าย

รายได้ คือ เงินที่เราได้รับมา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเงิน ตามนี้
  • “รายได้จากการทำงาน” คือ เราต้องทำงานเพื่อให้ได้เงินมา เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าคอมมิชชั่น ฯลฯ
  • “รายได้จากสินทรัพย์” คือ ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่เราไปลงทุน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ฯลฯ
  • “รายได้อื่น ๆ” คือ เงินที่เราได้มาโดยไม่ต้องทำงานหรือลงทุน เช่น ถูกลอตเตอรี่ ได้รับของขวัญจากผู้ใหญ่ ฯลฯ

ค่าใช้จ่าย คือ เงินที่เราจ่ายออกไป แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่าย ตามนี้
  • “ค่าใช้จ่ายคงที่” คือ ค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายเท่ากันทุกเดือน เช่น ค่าผ่อนคอนโด ค่างวดรถยนต์ ฯลฯ
  • “ค่าใช้จ่ายผันแปร” คือ ค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่ากันในแต่ละเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ เช่น ค่ากิน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ
  • “ค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและลงทุน” คือ เงินที่จ่ายออกไปเพื่อหาผลตอบแทนจากการออมหรือลงทุน เช่น ซื้อกองทุนรวม ซื้อหุ้น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ

มาถึงตรงนี้ เมื่อเราเข้าใจทั้ง 4 ไอเทมหลักในงบการเงินส่วนบุคคล และสามารถบันทึกรายการ สินทรัพย์-หนี้สิน และ รายได้-ค่าใช้จ่าย ได้อย่างถูกต้องแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะมาเช็กความแข็งแรงทางการเงิน เพื่อที่จะได้รู้ว่าสถานะทางการเงินของเราในตอนนี้ถือว่ามีความแข็งแรงดี หรือมีตรงไหนที่ต้องแก้ไขปรับปรุง เพื่อความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว โดยจะมีทั้งหมด 5 สูตร ลองมาเช็กไปพร้อม ๆ กันได้เลย
 
5 สูตร เช็กความแข็งแรงทางการเงิน ผลลัพธ์จากการทำงบส่วนบุคคล
 
  • “อัตราส่วนแสดงความอยู่รอด” แสดงให้เห็นถึง ความสามารถในการอยู่รอดของเราตามชื่อเลย
    โดยสูตรนี้คำนวณจาก รายได้ต่อเดือน/ค่าใช้จ่ายต่อเดือน และควรมีมากกว่า 1
    เช่น เรามีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาท มีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 20,000 บาท จะคำนวณได้ = 30,000/20,000 = 1.5
    แปลว่า เราอยู่รอด เพราะมีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายในแต่ละเดือน ช่วยลดโอกาสในการนำเงินเก็บออกมาใช้จ่าย หรือการก่อหนี้เพิ่ม
  • “อัตราส่วนสภาพคล่อง” แสดงให้เห็นถึง ความสามารถในการชำระหนี้สินระยะสั้น
    โดยสูตรนี้คำนวณจาก สินทรัพย์สภาพคล่อง/หนี้สินระยะสั้น และควรมีมากกว่า 1
    เช่น เรามีสินทรัพย์สภาพคล่อง 100,000 บาท มีหนี้สินระยะสั้น 50,000 บาท จะคำนวณได้ 100,000/50,000 = 2
    แปลว่า เรามีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้สินระยะสั้น ช่วยลดโอกาสการก่อหนี้เพิ่ม หรือการเป็นหนี้เสีย
  • “อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน” แสดงให้เห็นถึง ความสามารถในการเอาตัวรอดจากภาวะฉุกเฉิน
    โดยสูตรนี้คำนวณจาก สินทรัพย์สภาพคล่อง/ค่าใช้จ่ายต่อเดือน และควรมี 3-6
    เช่น เรามีสินทรัพย์สภาพคล่อง 100,000 บาท มีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 20,000 บาท จะคำนวณได้ 100,000/20,000 = 5
    แปลว่า เรามีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน ช่วยลดโอกาสการรบกวนเงินลงทุนเพื่ออนาคตมาใช้จ่าย หรือการก่อหนี้เพิ่ม
  • “อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์” แสดงให้เห็นถึง ความมั่นคงทางการเงินของเรา
    โดยสูตรนี้คำนวณจาก หนี้สิน/สินทรัพย์ และควรมีไม่เกิน 0.5
    เช่น เรามีหนี้สิน 1,000,000 บาท มีสินทรัพย์ 2,000,000 บาท จะคำนวณได้ 1,000,000/2,000,000 = 0.5
    แปลว่า เรามีความมั่นคงทางการเงิน ช่วยเพิ่มโอกาสให้สินทรัพย์เราเติบโตมากขึ้น ไม่ต้องพะวงกับภาระดอกเบี้ยมากนัก
  • “อัตราส่วนแสดงความสามารถในการชำระหนี้” แสดงให้เห็นถึง ความสามารถในการชำระหนี้ตามชื่อเลย แต่ในสูตรนี้จะเน้นไปที่ยอดหนี้ที่จะถึงดีล เช่น ยอดหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ หรือยอดหนี้ที่ต้องปิด ตรงนี้เราอาจจะมองเป็น 1 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน หรือ 12 เดือน ข้างหน้าก็ได้
    โดยสูตรนี้คำนวณจาก จำนวนหนี้ที่ต้องชำระ/รายได้ และควรมีน้อยที่สุด
    เช่น เรามีหนี้ที่ต้องชำระ 5,000 บาท ใน 1 เดือน ข้างหน้า แล้วคาดว่าจะมีรายได้เข้ามา 30,000 บาท ก็จะคำนวณได้ 5,000/30,000 = 0.167
    แปลว่า เรามียอดหนี้ที่ต้องชำระน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ ช่วยลดโอกาสในการนำเงินเก็บออกมาใช้หนี้ หรือก่อหนี้เพิ่ม ตรงนี้เพื่อความไม่ประมาท เราควรคำนวณล่วงหน้าไว้สัก 12 เดือน จะได้อุ่นใจว่ามีรายได้พอใช้หนี้แน่ ๆ เพราะถ้าไม่พอ จะได้รีบหาทางป้องกันและแก้ไขไว้ก่อน

เป็นยังไงกันบ้าง ลองเช็กความแข็งแรงทางการเงินทั้ง 5 สูตร แล้ว ถ้าใครที่ได้ตามเกณฑ์ทั้งหมด ก็ถือว่ามีความแข็งแรงทางการเงินดี แต่ถ้าใครมีข้อไหนไม่ถึงเกณฑ์ ก็ต้องลองหาทางเพิ่มความแข็งแรง และหมั่นดูแลสุขภาพทางการเงินให้มากขึ้น เช่น หากอัตราส่วนแสดงความอยู่รอด (รายได้ต่อเดือน/ค่าใช้จ่ายต่อเดือน) น้อยกว่า 1 เราก็ต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายในระยะสั้น แล้วหาทางเพิ่มรายได้ในระยะยาว เพื่อให้คำนวณออกมาแล้วมีค่ามากกว่า 1 ให้ได้ จึงจะสามารถอยู่รอดในระยะยาว

หรือถ้าใครที่อัตราส่วนแสดงความสามารถในการชำระหนี้ (จำนวนหนี้ที่ต้องชำระ/รายได้) มีค่ามากเกินไป ตรงนี้ก็เริ่มเป็นสัญญาณที่ไม่ดี เพราะเรามีหนี้สินที่ต้องชำระมากเมื่อเทียบกับรายได้ ถ้าเราอยากมีเงินใช้หนี้ ก็ต้องหาทางเพิ่มรายได้ แล้วก็ไม่สร้างหนี้เพิ่ม หรืออีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยได้ก็คือ การรวมหนี้ เพราะจะทำให้เราลดภาระดอกเบี้ยจ่าย และเหลือหนี้เพียงก้อนเดียว สามารถชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญยังช่วยให้เราไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิตอีกด้วย เพราะว่าความแข็งแรงทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ การที่เรารู้ตัวก่อนและแก้ไขได้เร็วจึงจะทำให้เรามีความมั่นคงในระยะยาวได้
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา