ชวนรู้จัก...สินทรัพย์เสี่ยง ที่นักลงทุนควรรู้
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ชวนรู้จัก...สินทรัพย์เสี่ยง ที่นักลงทุนควรรู้

icon-access-time Posted On 20 เมษายน 2565
By นิ้วโป้ง อธิป กีรติพิชญ์
ในโลกการลงทุน เราอาจแบ่งสินทรัพย์ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ตามระดับความเสี่ยง คือ สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ที่เน้นรักษาเงินต้น ราคาผันผวนน้อย สินทรัพย์เสี่ยงปานกลาง ที่คาดหวังผลตอบแทนสูงขึ้น ราคาผันผวนได้มากขึ้นแต่ไม่สุดโต่งจนเกินไป และสินทรัพย์เสี่ยงสูง ที่เน้นสร้างผลตอบแทนสูง ราคาจึงผันผวนได้มาก ในพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนทุกคน ควรต้องมีสินทรัพย์ทั้ง 3 ประเภทนี้ ผสมกันอยู่
 
ชวนรู้จัก...สินทรัพย์เสี่ยง ที่นักลงทุนควรรู้

ซึ่งในทางการเงินนั้น มีกระบวนท่ามาตรฐานท่าหนึ่ง ที่พิสูจน์แล้วว่าเมื่อนักลงทุนทำแล้วจะสามารถลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การลงทุนจะมีความปลอดภัยมากขึ้น คือ การทำ Asset Allocation หรือกลยุทธ์จัดสรรสินทรัพย์ลงทุน นั่นเอง มันคือการจัดวางสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ไล่ไปจนกระทั่งถึงสินทรัพย์เสี่ยงสูง ด้วยสัดส่วนที่ “เหมาะสม” กับตัวนักลงทุนเอง ที่ว่าเหมาะสม คือ เหมาะสมกับอายุของเรา รายได้ของเรา เงินเก็บของเรา กระแสเงินสดของเรา ความคาดหวังของเรา และความเสี่ยงที่ตัวเรารับได้ ซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากัน

หากเราเอาการจัดวางสินทรัพย์ที่ระดับความเสี่ยงต่าง ๆ มาเทียบกับการจัดวางตำแหน่งผู้เล่นในทีมฟุตบอล เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น
  1. กองหลัง คือ สินทรัพย์การลงทุนความเสี่ยงต่ำ เน้นความปลอดภัย มีหน้าที่ป้องกันการเสียประตู เน้นความแน่นอน เช่น เงินฝาก พันธบัตร หุ้นกู้ ข้อดีคือ เน้นชัวร์รักษาเงินต้น ข้อเสีย คือ ผลตอบแทนต่ำ
  2. กองกลาง คือ สินทรัพย์การลงทุนความเสี่ยงปานกลาง เช่น กองรีท (REIT) หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ทองคำ และหุ้นแข็งแกร่ง (Defensive Stock) ที่จ่ายปันผลสูงและราคาหุ้นค่อนข้างเสถียรกว่า เพราะมีรายได้ และกำไรที่ค่อนข้างแน่นอน
  3. กองหน้า คือ สินทรัพย์การลงทุนความเสี่ยงสูง เน้นทำประตู เน้นสร้างผลตอบแทน แต่ก็ต้องแลกกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น เช่น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กอง ETF หุ้นต่างประเทศ ตราสารอนุพันธ์ ฟิวเจอร์ ออปชัน เหรียญคริปโตฯ และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ เป็นต้น

ไม่มีทีมฟุตบอลใดในโลก ที่ใส่ผู้เล่น 11 ตัวลงสนามยืนตำแหน่ง “กองหลัง” ทั้งหมด เพราะการเล่นเน้นอุดตั้งแต่นาทีแรก ไม่เคยทำให้ทีมชนะ หรือยืนตำแหน่ง “กองกลาง” ทั้งหมด ก็ไม่สมดุลจะรุกก็ไม่ชัด จะรับก็ไม่แน่น หรือยืนตำแหน่ง “กองหน้า” ทั้งหมดก็ไม่ได้ คิดจะเน้นยิงประตูเขาอย่างเดียว เสียบอลเมื่อไหร่ ก็คือความพ่ายแพ้

การจัดพอร์ตโฟลิโอที่ดี คือการกระจายผู้เล่นลงในทุกตำแหน่ง ทั้งกองหน้า กองกลาง และกองหลัง โดยบางช่วงเวลาที่ตลาดเป็นใจ อาจจะเน้นเกมรุกโดยเพิ่มจำนวนผู้เล่นกองหน้า เพื่อเพิ่มโอกาสทำประตู หรือบางช่วงเวลาที่ตลาดไม่เป็นใจ ต้องการรักษาเงินต้น อาจจะเน้นเกมรับเหนียวแน่นโดยเพิ่มจำนวนผู้เล่นกองหลัง เพื่อเน้นความปลอดภัยนั่นเอง
 
ชวนรู้จัก...สินทรัพย์เสี่ยง ที่นักลงทุนควรรู้
 

ในช่วงที่สถานการณ์การลงทุนไม่เป็นใจ

อาจจะเป็นช่วงโรคระบาด หรือเกิดสงครามความขัดแย้ง มีความไม่แน่นอนในทุก ๆ วัน ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ผันผวนสูง ความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) เปิดกว้าง คาดเดาอนาคตอะไรไม่ค่อยได้ เมื่อนักลงทุนเกิดความกังวล สิ่งที่ตามมาก็คือการตัดสินใจชะลอการลงทุน ด้วยการลดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงลง แล้วเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงปานกลางและเสี่ยงต่ำให้มากขึ้น ถึงแม้ว่าผลตอบแทนที่ได้รับจะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินคำแนะนำการลงทุนว่า ให้ปรับพอร์ตจากสินทรัพย์เสี่ยงสูงมาลงทุนใน Safe Haven (ที่แปลตรงตัวว่า หลุมหลบภัย) ให้มากขึ้น

สินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีความปลอดภัย (Safe Haven) จะได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อนักลงทุนรู้สึกว่าพอร์ตการลงทุนมีความเสี่ยงสูงขึ้น และมีโอกาสสูงที่จะขาดทุน แล้วมีสินทรัพย์ Safe Haven อะไรบ้าง ที่นักลงทุนสามารถนำมาจัดพอร์ตลงทุนได้ เรามาดูกันครับ
 

1. Cash (เงินสด)

ในช่วงสถานการณ์ผันผวน นักลงทุนจะเกิดความกังวลใจว่าหากถือสินทรัพย์เสี่ยงสูงต่อไปอาจขาดทุน ก็สามารถเลือกที่จะขาย (หรือลดพอร์ต) สินทรัพย์เสี่ยงลงแล้วถือเงินสดก็จัดเป็นทางเลือกที่ดี เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า “Cash is King” ในภาวะตึงเครียด แม้ว่าการเงินสดจะไม่สร้างผลตอบแทน อีกทั้งมูลค่ายังลดลงตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ในช่วงสงคราม และโรคระบาดถือเงินสดย่อมปลอดภัยกว่า เป็นการถอยเพื่อรอคอยโอกาส และรอให้บรรยากาศการลงทุนลดความตึงเครียดลง เมื่อเริ่มมองเห็นโอกาส จึงค่อยนำเงินสดกลับไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง

ทั้งนี้ มีข้อแม้ว่า การตัดสินใจขายสินทรัพย์เสี่ยงมาถือเป็นเงินสด ควรทำตั้งแต่ช่วงต้นรอบของการเกิดวิกฤตเท่านั้น เพราะหากปล่อยให้ราคาของสินทรัพย์เสี่ยงตกลงหนักอย่างมีนัยสำคัญจนราคานอนก้นไปแล้ว การขายในช่วงเวลาที่ขาดทุนหนักมากมาถือเงินสด ก็อาจจะไม่ให้ผลดีในระยะยาวเช่นกัน
 

2. Bond (ตราสารหนี้)

ตราสารหนี้มีทั้งแบบ พันธบัตรรัฐบาล ที่เปรียบเสมือนเราเป็นเจ้าหนี้รัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน ที่เปรียบเสมือนเราเป็นเจ้าหนี้บริษัทมหาชนผู้ออกหุ้นกู้นั้น ตราสารหนี้จะมีการกำหนดอายุ เช่น พันธบัตรอายุ 5 ปี หุ้นกู้อายุ 3 ปี เป็นต้น ถึงแม้ผลตอบแทนที่ได้จะไม่สูงมากนัก ปัจจุบันอยู่ระหว่าง 1.5%-4% ต่อปี แต่มีความปลอดภัยสูง เหมาะเป็นที่พักเงิน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรายย่อยมีโอกาสซื้อตราสารหนี้โดยตรงได้ค่อนข้างยาก เพราะเป็นสินค้าทางการเงินที่มีช่วงระยะเวลาในการขายเป็นช่วง ๆ ไม่ได้เปิดขายตลอดเวลา พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้บริษัทมหาชนที่มีเครดิตเรตติ้งสูงที่ให้ผลตอบแทนดี มักจะขายหมดภายในระยะเวลาอันสั้น แต่นักลงทุนสามารถลงทุนผ่าน “กองทุนรวม” ที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้บริษัทมหาชน ทดแทนได้
 

3. ทองคำ

ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ โรคระบาด หรือเกิดสงคราม ทองคำจัดเป็นสินทรัพย์ Safe Haven ที่เหนือกาลเวลาที่สุด เป็นที่คาดหวังกันได้ว่าหากเกิดวิกฤตขึ้น ทองคำจะเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ราคาทองคำมักจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งพิสูจน์แล้วอย่างชัดเจนในรอบวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้ง อย่างวิกฤติซับไพรม์ Subprime Crisis ช่วงปี 2008-2011 สงครามการค้า Trade War ช่วงปี 2019 รวมถึงช่วงวิกฤตโควิด ช่วงปี 2020-21 ที่เป็นช่วงขาขึ้นของราคาทองคำอย่างชัดเจน
 
ชวนรู้จัก...สินทรัพย์เสี่ยง ที่นักลงทุนควรรู้
ที่มา: https://goldprice.org/

ปัญหาการลงทุนในทองคำที่มักเป็นที่กังวลกันคือความสะดวกในการซื้อขายหลายคนมักจะไปซื้อทองคำแท่งกันที่เยาวราช เพื่อนำมาเก็บไว้เอง ซึ่งการเก็บไว้เอง เช่น ที่บ้านหรือเช่าเซฟธนาคาร ก็มีความเสี่ยงในการหลงลืม หรือความเสี่ยงจากการขนย้าย จะซื้อจะขายทีก็ต้องไปเข้าแถวกันที่เยาวราช ซึ่งทางออกที่น่าสนใจคือ ลงทุนผ่านกองทุนรวม ที่ลงทุนในทองคำ ซึ่งบลจ.เป็นผู้ออกกองทุนชนิดนี้ โดยนำเงินของนักลงทุนไปลงทุนใน SPDR Gold Trust เป็นกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในทองคำจริง กองทุนนี้มีราคาเคลื่อนไหวตามราคาทองคำโลก และอัตราแลกเปลี่ยน USD/THB จัดเป็นการลงทุนที่สะดวกเป็นทางเลือกที่ดี
 

4. หุ้นแข็งแกร่ง (Defensive Stock)

ถึงแม้ในช่วงวิกฤติ หุ้นจะได้รับผลกระทบจากข่าวสารปัจจัยลบต่าง ๆ แต่หุ้นแข็งแกร่ง ที่เป็นกิจการสามัญประจำบ้าน ทำธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตินั้น หรือแม้จะได้รับผลกระทบก็จะกลับฟื้นขึ้นมาได้อย่างแน่นอนเพราะความผูกขาด และกินขาดของกิจการนั้น โดยเฉพาะธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน สนามบิน ทางด่วน ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เป็นต้น มักเป็นหุ้นที่มีรายได้ และกำไรสม่ำเสมอ ฟื้นตัวได้เร็ว อีกทั้งยังจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ก็จัดเป็นหลุมหลบภัยที่ดี โดยเฉพาะหุ้นที่จ่ายปันผลดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนถือหุ้นข้ามรอบวิกฤตแบบมีผลตอบแทนให้ทุกปีอีกด้วย
 

ในช่วงที่สถานการณ์การลงทุนเป็นใจ

เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น มีปัจจัยบวกมากมายรออยู่ นักลงทุนจะเลือกภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) โดยปรับพอร์ตมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงให้มากขึ้น เทียบกับทีมฟุตบอล ก็คือเติมผู้เล่นกองหน้า โดยหวังว่าต้องทำประตูให้ได้ (ทำผลตอบแทน) ซึ่งคำว่า "สินทรัพย์เสี่ยง" ปัจจุบันมีพัฒนาการไปไกลมาก สมัยก่อนคนจะบอกว่า มันคือ "หุ้น" แต่ตอนนี้ สินทรัพย์เสี่ยงเองก็แบ่งชั้นซับซ้อนกว่าสมัยก่อนมาก ซึ่งมีตั้งแต่เสี่ยงธรรมดา ไปจนถึงเสี่ยงสูงมาก แบ่งตามระดับความผันผวน Volatility จักรวาลสินทรัพย์เสี่ยงจึงซับซ้อนกว่าสมัยก่อนมาก
  • บางคนรับความเสี่ยงได้ ถึงระดับ กองทุนหุ้นไทย เพราะเลือกหุ้นลงทุนเอง (เป็นตัว ๆ) มันก็ดูเสี่ยงไป การเลือกกองทุนไทยที่มีการกระจายการลงทุนในหุ้นหลายตัวก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ มีทั้งกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Passive เช่น กองทุนรวม SET50 หรือ SET100 เป็นต้น และกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Active ที่ลงทุนในหุ้นไทยก็ได้เช่นกัน
  • บางคนรับความเสี่ยงได้ ถึงระดับ หุ้นไทย (เป็นตัว ๆ) สามารถกรองอุตสาหกรรม เลือกหุ้น และวัดมูลค่าความถูกแพงของหุ้นได้ดีในระดับหนึ่ง ก็สามารถเลือกหุ้นลงทุนสร้างพอร์ตเองได้ ซึ่งอาจจะผสมทั้งหุ้น Big Cap หุ้น Mid & Small Cap รวมทั้งกอง REIT และ Infrastructure Fund เป็นตัว ๆ เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนเองได้
  • บางคนรับความเสี่ยงได้มากขึ้นอีก อาจจะโกอินเตอร์ ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งก็จะเพิ่มความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกในตลาดหุ้นที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งอาจจะเริ่มจาก
    • ลงทุนกองทุนหุ้นต่างประเทศ (ผ่านบลจ.ไทย)
    • ลงทุน ETF หรือกองทุนต่างประเทศโดยตรง
    • ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เป็นตัว ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งมีให้เลือกทั้งหุ้นในตลาดพัฒนาแล้ว (DM : Developed Market) และหุ้นในตลาดเกิดใหม่ (EM : Emerging Market)
 
ชวนรู้จัก...สินทรัพย์เสี่ยง ที่นักลงทุนควรรู้
 
  • บางคนสามารถรับความเสี่ยงได้สูงมาก และพร้อมจะศึกษาเทคโนโลยีใหม่ อาจสนใจในสินทรัพย์การลงทุนทางเลือกใหม่ ด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) หรือที่บางคนอาจเหมารวมเรียกกันติดปากว่า “คริปโตเคอเรนซี่” (สกุลเงินดิจิตอล) ไม่ว่าจะเป็น BTC (Bitcoin) ETH (Ethereum) XRP (Ripple) หรืออาจไปถึงเหรียญสกุลเงินดิจิทัลทางเลือกสารพัด ‘Altcoin’ อื่น ๆ ที่ราคาขึ้นลงโหดขึ้นไปอีก หรือแม้กระทั่งสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นอย่าง NFT ก็เป็นไปได้ ซึ่งในปัจจุบัน มีนักลงทุนรุ่นใหม่เข้าไปเทรดกันอย่างแพร่หลาย

การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหุ้นไทย กองทุนหุ้นไทย ลงทุนหุ้น หรือกองทุนต่างประเทศ หรือแม้แต่การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่มีสินทรัพย์ชนิดไหน ถูกหรือผิด น่าลงทุนหรือไม่น่าลงทุนอยู่ตลอดเวลา แต่ละสินทรัพย์ ล้วนมีคนรวยได้ ประสบความสำเร็จได้ เราถนัดการลงทุนแบบไหน ศึกษาตัวไหน รับความเสี่ยงได้ที่ระดับไหน สบายใจตรงไหน เข้าใจระดับไหน ก็ลงทุนไปตามกำลังและความเสี่ยงที่รับได้ ไม่มีถูกผิด ไม่มีใครดีไปกว่ากัน

สินทรัพย์การลงทุนที่ดีที่สุดในโลกนั้นไม่มี มีแต่สินทรัพย์การลงทุนที่ถูกจริต และเข้ากับจังหวะชีวิตของตัวผู้ลงทุน หาสิ่งที่เหมาะกับตัวเราให้เจอ แล้วเดินหน้าลงทุน สร้างความมั่งคั่งระยะยาวครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา