เราอาจจะเคยได้ยินข่าวนี้จากสื่อต่าง ๆ ว่า...
“ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี”
ข่าวนี้เกี่ยวข้องกับเราทุกคนอย่างไร?
ในข่าวดีย่อมมีข่าวร้ายและในข่าวร้ายย่อมมีข่าวดี เหตุการณ์บางอย่างอาจจะส่งผลดีต่อธุรกิจหนึ่งและอาจจะส่งผลร้ายกับอีกธุรกิจหนึ่งเช่นกัน หากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำนั้นมีแนวโน้มคงที่หรือลดต่ำลงเรื่อย ๆ ฝ่ายที่ได้ประโยชน์จะเป็นส่วนของ “ผู้กู้ยืมเงิน” เพราะจะมีต้นทุนการกู้ยืมต่ำลง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย หรือนักลงทุนที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่า มีต้นทุนหลัก ๆ คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม หากมีแนวโน้มลดลงก็จะทำให้ผู้ที่ซื้อบ้านมี ภาระการผ่อนจ่ายดอกเบี้ยลดลง ในขณะที่นักลงทุนซื้อเพื่อปล่อยเช่านั้นจะมีต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำลง หากค่าเช่าคงเดิมก็จะทำให้ได้รับกำไรจากการปล่อยเช่ามากขึ้น
แต่ผู้ที่เสียประโยชน์จะเป็น “ผู้ให้ยืมเงิน” หรือนักออมเงินอย่างเรานั่นเองที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยคงที่และลดลง เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่เราจะได้รับนั้นต่ำมาก จนแทบไม่อยากฝากเงินในธนาคาร รวมทั้งผลตอบแทนยังไม่ชนะเงินเฟ้ออีกด้วย
นักออมเงินจะทำอย่างไรดี?
เมื่อเราออมเงินได้จำนวนหนึ่งแล้วก็จะต้องหาที่เก็บรักษาที่ทำให้เงินเติบโต ในยุคดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้
การลงทุน ที่น่าสนใจนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 แบบตามความเสี่ยง คือ
แบบที่ 1 สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำถึงปานกลาง
การลงทุนที่น่าสนใจจะเป็น
ตราสารหนี้ เพราะมีราคาที่สูงขึ้นและได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ซึ่งผู้ลงทุนในตราสารหนี้จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และได้รับผลตอบแทนจากผู้ขอกู้เงินในรูปแบบของดอกเบี้ยรับ โดยจะมีทั้งตราสารหนี้ภาครัฐบาล (เช่น พันธบัตรรัฐบาล) เหมาะสำหรับผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ และตราสารหนี้ภาคเอกชน (เช่น หุ้นกู้) เหมาะสำหรับผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง
ความเสี่ยง ⇒ ตราสารหนี้ภาคเอกชน > ตราสารหนี้ภาครัฐบาล
ผลตอบแทน ⇒ ตราสารหนี้ภาคเอกชน > ตราสารหนี้ภาครัฐบาล
ตัวอย่าง ถ้าลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล นักลงทุนก็จะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล แล้วก็จะได้รับดอกเบี้ยรายงวด ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลนั้นใช้เงินในการลงทุนค่อนข้างสูง สำหรับผู้ที่มีเงินลงทุนจำกัดอาจจะเลือก ลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ก็ได้เช่นกัน (
อ่านได้โบนัสแล้วเอาไปทำอะไรดี)
แบบที่ 2 สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ในระดับสูง
หากเป็นผู้ที่รักความเสี่ยงก็อาจจะแบ่งเงินบางส่วนมาเก็งกำไรระยะสั้น(มาก)ในหุ้น เพราะช่วงปลายปีตลาดหุ้นค่อนข้างหวือหวาเพราะจะมีเงินลงทุนจาก
LTF และ
RMF เข้ามาสร้างสีสันในตลาดหลักทรัพย์ให้มีความผันผวนพอเก็งกำไรได้บ้าง
ส่วนหุ้นที่จะนำมาเก็งกำไรนั้นก็ศึกษาจาก LTF และ RMF ว่าส่วนใหญ่นั้นมีการลงทุนหุ้นอะไรบ้าง แล้วคัดเลือกหุ้นที่น่าสนใจเพื่อติดตามเป็นรายตัว (ติดตามทุกตัวก็ไม่ไหวเพราะเยอะเกินไป) ซื้อและขายทำกำไรเป็นรอบสั้น ๆ เรื่องสำคัญที่สุด คือ ควรมีคติประจำใจทุกครั้งก่อนเทรดด้วยการหาจุด “Cut Loss” เพื่อป้องกันการขาดทุนด้วยนะคะ
โลกของการลงทุนไม่มีอะไรแน่นอน เราเป็นนักลงทุนตัวเล็ก ๆ ก็ต้องว่ายตามน้ำไปจะได้ไม่เจ็บตัว ทั้งนี้ การลงทุนจะต้องสำรวจตนเองเป็นอย่างแรกว่ายอมรับความเสี่ยงได้ในระดับใด เพื่อที่จะได้เลือกการลงทุน ที่เหมาะสมกับตนเอง รวมทั้งควรใส่ไข่ไว้ในตะกร้าหลายใบเพื่อกระจายการลงทุน เช่น ถ้ารับความเสี่ยงได้ สูงสุดก็ไม่ควรนำเงินไปลงทุนในหุ้นหรืออนุพันธ์ทั้งหมด ควรแบ่งเงินไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำด้วย หากเกิดข้อผิดพลาดจากเงินลงทุนจะได้มีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายบ้าง