แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2567-2569

แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2567-2569

10 มกราคม 2567

แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2567-2569


ภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้าจะพิจารณาครอบคลุมทั้งโอกาสและปัจจัยท้าทายที่สะท้อนความน่าสนใจ (Attractiveness) ในการทำธุรกิจของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค และปัจจัยภายในเฉพาะด้านของอุตสาหกรรมนั้น
 

ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค


เศรษฐกิจโลกปี 2567-2569: มีแนวโน้มเติบโตต่ำ ผลบวกจากการเปิดประเทศทยอยลดลงผนวกกับกระแส Fragmented globalization อาจรุนแรงขึ้น  

 
  • เศรษฐกิจโลกในระยะ 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตต่ำเฉลี่ยเพียง 3.1% แม้ใกล้เคียงกับ 3.0% ในปี 2566 แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีในช่วงก่อน COVID-19 ที่ราว 3.7% โดยผลเชิงบวกจากการเปิดประเทศและมาตรการกระตุ้นช่วง COVID-19 จะทยอยหมดลง ขณะที่ผลเชิงลบจากหลายปัจจัยอาจบั่นทอนการเติบโต ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยในยุโรป  ภาวะภัยแล้งหรือปรากฏการณ์ El Nino ความไม่สงบในหลายภูมิภาคซึ่งกระทบต่อภาคการค้าและวิกฤตพลังงาน การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจซึ่งนำโดยสหรัฐฯและจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก และอาจทำให้ความแตกแยกของกระแสโลกาภิวัตน์ (Fragmented Globalization) สร้างแรงกระเพื่อมต่อการค้าและการลงทุนทั่วโลก นอกจากนี้ การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงในปี 2566-2567 จะกระทบต่อต้นทุนและภาระหนี้ของภาครัฐและเอกชน โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจโลกยังเสี่ยงที่จะซบเซา อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มบรรเทาลงในปี 2567 จะช่วยเปิดทางให้ประเทศแกนหลักสามารถปรับลดดอกเบี้ยเพื่อประคองมิให้เศรษฐกิจอ่อนแอยาวนาน

  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567-2569 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว โดยคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอลงจาก 2.1% ในปี 2566 เหลือ 1.5% ในปี 2567 ก่อนจะกระเตื้องขึ้นสู่ 1.8% ในปี 2568 และ 2.1% ในปี 2569 แต่ยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 ในช่วงปี 2553-2562 ที่ 2.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะชะลอลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ในปี 2568 ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงต่อเนื่องจนถึงช่วงกลางปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนชะลอตัว รวมทั้งการว่างงานเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2567 สำหรับในปี 2568-2569 การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นบ้างเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่คลายลง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งใหญ่ปี 2567 และการทยอยลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 4.5% ในปี 2567 และ 2.5% ในปี 2568 ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ระดับหนี้สาธารณะที่สูงมากหลัง COVID-19 รวมถึงประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจของโลกจะยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะกลาง-ยาว

  • เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องหลังเสี่ยงต่อภาวะถดถอยอย่างอ่อนในครึ่งหลังปี 2566 โดยคาดว่าในช่วงปี 2567-2569 เศรษฐกิจจะขยายตัวเฉลี่ยเพียง 1.6% ต่อปี ชะลอลงแรงจากที่ขยายตัว 3.3% ในปี 2565 จากผลพวงของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กระทบต่อการค้าและแหล่งพลังงาน ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีแนวโน้มชะลอแผนการลงทุนออกไป การบริโภคภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มอ่อนแอ ส่วนการส่งออกเผชิญแรงกดดันจากความอ่อนแอของอุปสงค์โลก โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจยูโรโซนจึงมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างอ่อน (Mild recession) ในครึ่งหลังปี 2566 ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงปี 2567-2569 จากผลของฐานต่ำ (Low-base effect) ภาวะเงินเฟ้อที่บรรเทาลง รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินที่อาจผ่อนคลายลงเพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในช่วงกลางปี 2567

  • เศรษฐกิจญี่ปุ่น เผชิญแรงกดดันจากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัว โดยคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องจาก 2.0% ในปี 2566 สู่ระดับ 1.0% 0.7% และ 0.5% ในช่วงปี 2567-2569 ตามลำดับ ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความท้าทายจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) ราคาถูกจากจีนซึ่งจะกดดันต่อการส่งออกของญี่ปุ่นในระยะกลาง-ยาว อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคครัวเรือนในปี 2567 คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวจากการเพิ่มขึ้นของอัตรารายได้ที่แท้จริง มาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล รวมถึงการฟื้นตัวที่มีความต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยว จะเป็นปัจจัยที่ช่วยประคับประคองการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ จากค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นและคาดหนุนให้อัตราเงินเฟ้อระยะยาวบรรลุเป้าหมายที่ 2.00% ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มที่จะเริ่มทยอยลดระดับความผ่อนคลายทางการเงินลงในปี 2567 ทั้งการยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ (NIRP) รวมถึงการปรับเพิ่มเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี

  • เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างและปัจจัยกดดันจากต่างประเทศ การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนคาดว่าจะชะลอลงจาก 5.4% ในปี 2566 สู่ระดับเฉลี่ย 4.3% ต่อปีในช่วงปี 2567-2569 ซึ่งต่ำกว่า 6.0-7.0% ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ปัจจัยกดดันมาจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก วิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน กำลังการผลิตส่วนเกินในหลายอุตสาหกรรม ปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นและภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการเงิน ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรและการเข้าสู่สังคมสูงวัย ยังมีส่วนบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ช่วยประคับประคองมิให้เศรษฐกิจชะลอตัวแรง อาทิ แรงหนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนโยบายการเงินการคลังแบบเจาะจงเป้าหมาย ทั้งนี้ ยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้า ได้แก่ ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน และจีนกับสหรัฐฯ ที่อาจทวีความรุนแรงจนเกิดการแบ่งขั้วชัดเจน สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการเงินโลก ตลอดจนภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี


 

  • การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อทิศทางธุรกิจ/อุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า

    • ​โครงสร้างเศรษฐกิจโลกปรับสู่ภาคบริการมากขึ้น ภาคบริการนับว่ามีบทบาทสำคัญทั้งด้านรายได้และการจ้างงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน ทั้งยังช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ โดยบริการหลายด้าน เช่น บริการด้านการขนส่ง การเงิน และโทรคมนาคมจัดเป็นปัจจัยการผลิตขั้นกลางที่จำเป็นต่อภาคการผลิต สำหรับภาคบริการของไทยมีบทบาทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 60.2% ของ GDP (ปี 2565) (ภาพที่ 2) และมีสัดส่วนการจ้างงานอยู่ที่ 53% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ซึ่งนับว่ายังห่างอยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งมีสัดส่วนภาคบริการสูงเฉลี่ย 75% ของ GDP และมีสัดส่วนการจ้างงานเกิน 70% ของการจ้างงานรวม นอกจากนี้ ภาคบริการของไทยยังอิงกับธุรกิจแบบดั้งเดิม (Traditional services) โดยเฉพาะธุรกิจบริการท่องเที่ยวและธุรกิจที่ใช้แรงงานทักษะต่ำเป็นหลัก อาทิ ภาคค้าส่ง-ค้าปลีก โรงแรมและร้านอาหาร ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะอิงกับธุรกิจบริการสมัยใหม่ (Modern services) อาทิ บริการด้าน IT ลิขสิทธิ์ทางปัญญาและการเงิน ซึ่งใช้เทคโนโลยีและทักษะแรงงานขั้นสูง จึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ระบบเศรษฐกิจได้มาก

      หลังวิกฤต COVID-19 บรรเทาลง ภาคบริการนับว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ผ่านการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง หากมองในระยะข้างหน้า ระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาธุรกิจบริการแบบดั้งเดิมจัดว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีความเปราะบางต่อปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ (อาทิ การเมือง เศรษฐกิจโลก โรคระบาดและภัยธรรมชาติ) ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเร่งยกระดับสู่ธุรกิจบริการสมัยใหม่ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information Communication Technology) เข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ (1) ธุรกิจบริการแบบดั้งเดิมที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง (อาทิ การท่องเที่ยวมูลค่าสูง และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ต้องใช้สินค้าและบริการในสาขาอื่นเป็นปัจจัยการผลิต และ (2) ภาคอุตสาหกรรมการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ (อาทิ การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ และการจัดหาวัตถุดิบ) จนถึงปลายน้ำ (อาทิ การขนส่งและกระจายสินค้า การสร้างแบรนด์สินค้า และการบริการหลังการขาย) เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นต่อปัจจัยเชิงลบที่มากระทบ และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

      การเพิ่มสัดส่วนภาคบริการต่อ GDP ของไทยอาจทำได้ช้า เนื่องจาก (1) ไทยขาดความพร้อมด้านทักษะแรงงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี จึงขาดแรงผลักดันในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ และขาดสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เหมาะสม อาทิ การวิจัยและพัฒนา และโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวก (อาทิ กฎระเบียบ เทคโนโลยี เงินทุน มาตรการจูงใจ และข้อมูลเชิงลึก) และ (2) ไทยมีกฎระเบียบและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจากต่างชาติในภาคบริการค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว สะท้อนจากค่าดัชนีข้อจำกัดการประกอบกิจการภาคบริการ (Services Trade Restrictiveness Index โดย OECD) ปี 2565 ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 50 จากกลุ่มตัวอย่าง 51 ประเทศ แสดงถึงข้อจำกัดในการเข้ามาดำเนินธุรกิจภาคบริการของไทยสูงกว่าคู่แข่งเกือบทุกสาขา ทำให้การเข้ามาของทุนและเทคโนโลยีทำได้จำกัดไม่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมในภาคบริการของไทย ภาครัฐและภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมของไทยจึงต้องเร่งแก้ไขเพื่อปรับสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยภาคบริการ (Service-based Economy) ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะข้างหน้า


       

    • เทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังเป็นปัจจัยต้นน้ำหลักของโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่แข่งขันด้วยความเป็นอัจฉริยะ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่ยั่งยืนพร้อมกับตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเทคโนโลยีสำคัญที่จะขับเคลื่อนภาคธุรกิจในช่วง 3 ปีหน้า มีดังนี้

      • Artificial intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ และ Generative AI (GenAI) หรือปัญญาประดิษฐ์นักสร้าง: เทคโนโลยี AI โดยเฉพาะ GenAI เป็นเทคโนโลยีที่มาแรงในช่วงปีที่ผ่านมา โดย GenAI เป็นเทคโนโลยี AI ประเภทหนึ่งที่สามารถสร้างผลลัพธ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนภายใต้ข้อมูลที่มีอยู่ (Existing data) โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเดิมถือเป็นจุดแข็งสำคัญที่มีอยู่ในมนุษย์เท่านั้น  GenAI สามารถสรรค์สร้างผลลัพธ์ (Output) ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรที่เป็นข้อความโดยใช้การประมวลผลและตอบคำถาม รูปภาพ เสียง วีดิโอ งานออกแบบดีไซน์ โค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงข้อมูลสังเคราะห์ (Synthetics data) เป็นต้น ทั้งนี้ GenAI จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ตลอดจนช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ในการทำงานทั่วไปได้ด้วย

      • The Internet of Things (IoT): จะเน้นการพัฒนาระบบ Sensors เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์เข้ากับระบบบริหารจัดการต่างๆ ในโรงงานอัจฉริยะของอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการใช้ร่วมกับ AI ในธุรกิจบริการที่ต้องการความรวดเร็วและแม่นยำ เช่น โรงพยาบาล และท่าอากาศยาน เป็นต้น

      • Robotics: การใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์จะแพร่หลายมากขึ้นทั่วโลกทั้งในภาคการผลิตและบริการ เมื่อปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้นในสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในงานที่มีขั้นตอนชัดเจน เช่น บริการความสะดวกในสนามบินหรือศูนย์การค้า งานเสี่ยงต่อความปลอดภัย เช่น การเคลื่อนย้ายสิ่งของในธุรกิจโลจิสติกส์ รวมทั้งใช้ในงานระบบอัตโนมัติของภาคอุตสาหกรรม โดยปี 2565 ไทยมีการติดตั้งหุ่นยนต์ใช้งานในอุตสาหกรรมประมาณ 3,300 ตัว อยู่ในอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ (ที่มา: International Federation of Robotics)

      • Blockchain: เป็นเทคโนโลยีที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นทั้งในภาคการเงินและธนาคาร ไปจนถึงธุรกิจบันเทิงและเกมส์ออนไลน์ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อออกแบบการให้บริการในรูปแบบใหม่ๆ โดยมูลค่าการใช้จ่ายในโซลูชั่น Blockchain ของโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 22.3% เป็น 23.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 (efinancethai.com)

      • 3D printing: กำลังถูกใช้เพิ่มขึ้นมากขึ้นในงานออกแบบสินค้าปริมาณมากๆ ตามความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า โดยเน้นการผลิตที่ต้องอาศัยความรวดเร็ว แม่นยำ ด้วยต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ต่ำ ได้แก่ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ จนถึงอุปกรณ์ก่อสร้าง

      • Drone: เน้นสู่โดรนขับเคลื่อนอัตโนมัติด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ปลอดมลพิษมากขึ้น โดยปัจจุบันมีการพัฒนาต่อยอดเป็นโดรนโดยสารและโดรนขนส่งสินค้าในเชิงพาณิชย์ที่กำลังแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น จีน และยุโรป

      • Synthetic biology: เทคโนโลยีด้านชีววิทยาสังเคราะห์ในการออกแบบและดัดแปลงพันธุกรรมที่กำลังมีบทบาทมากในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อาทิ การผลิตเนื้อสังเคราะห์จากการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ของสัตว์ต้นแบบ หรือการใช้พืชผลิตเนื้อสัตว์เทียมตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่เน้นดูแลสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์

      • Carbon Capture and Storage: CCS เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสีเขียวตอบโจทย์กระแส  ESG (Environment, Social, Governance) มุ่งสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ  CCS จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหนัก อาทิ ปิโตรเลียม พลาสติก และซีเมนต์ เพื่อช่วยดักจับคาร์บอนไม่ให้ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ โดยใช้อุปกรณ์แยกคาร์บอนก่อนนำไปกักเก็บในชั้นหินใต้บาดาล ซึ่งคาร์บอนที่กักเก็บบางส่วนยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น การฉีดคาร์บอนลงในบ่อน้ำมันเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน กรณีของไทย บริษัท ปตท.สผ. ได้ศึกษาแนวทางประยุกต์ใช้ CCS ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมตั้งแต่ปี 2564 และคาดว่าสามารถนำมาใช้ได้ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติในปี 2569

    • การแบ่งขั้วอำนาจภายใต้สงครามเทคโนโลยีทำให้ห่วงโซ่มูลค่าโลกสั้นลง แรงปะทุจากการแข่งขันเพื่อแย่งชิงความเป็นเจ้าอำนาจทางเทคโนโลยีของกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ยังคงมีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่อง เมื่อสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงกำลังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมของโลก โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เน้นอุปกรณ์อัจฉริยะ หรือยานยนต์ซึ่งหันไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ล้วนต้องอาศัยการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงเป็นชิ้นส่วนต้นน้ำ การแข่งขันกันพัฒนาพร้อมกับการกีดกันคู่แข่งไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีต้นน้ำ ทำให้เกิดการแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ (Decoupling) ชัดเจนมากขึ้น ห่วงโซ่การผลิตของโลกจึงมีแนวโน้มหันมาพึ่งพาเฉพาะในกลุ่มประเทศพันธมิตรทางการค้าหรือภายในภูมิภาคมากกว่าการเชื่อมโยงผ่าน Global sourcing ภายใต้ Global value chain (GVC) ในลักษณะเต็มรูปแบบอย่างเดิมซึ่งยังเอื้อประโยชน์ต่อประเทศมหาอำนาจได้อย่างจำกัด จากรายงาน Asian Development Bank (ADB) 2023 พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา การเข้าร่วม  GVC ยังส่งผลต่อการเพิ่ม GDP ต่อหัวของประเทศที่มีรายได้สูงได้ไม่มากเท่ากับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (ภาพที่ 3) ปัจจัยข้างต้นทำให้มูลค่าการค้าภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าของโลกมีแนวโน้มกระจุกตัวอยู่ในคู่พันธมิตรของแต่ละขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น อาทิ สหรัฐฯ กับยุโรป จีนกับอาเซียน หรือ ญี่ปุ่นกับอาเซียน ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยกัน ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น อาจหดแคบลง (ภาพที่ 4) ซึ่งจะบั่นทอนให้ห่วงโซ่มูลค่าของโลกสั้นลง โดยห่วงโซ่ที่หดสั้นลงอาจเกิดขึ้นได้จาก 3 กรณี ได้แก่ (1) Re-shoring เป็นการย้ายฐานกลับไปผลิตในประเทศ (Made-at-home) (2) Near-shoring เป็นการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตภายในภูมิภาคเดียวกัน และ (3) Friend-shoring เป็นการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับเฉพาะประเทศที่เป็นพันธมิตร ซึ่งการหดสั้นลงของห่วงโซ่การผลิตจากแต่ละกรณีข้างต้น จะส่งผลให้ห่วงโซ่มูลค่าโลกโดยรวมในปี 2578 มีแนวโน้มหดตัวได้ถึง -4.5% -7.3% และ -9.0% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับห่วงโซ่มูลค่าโลกในกรณีปกติที่ไม่มีข้อจำกัดจากการแบ่งขั้วอำนาจใดๆ (ภาพที่ 5)



 
    • การรวมกลุ่มการค้าช่วยเพิ่มศักยภาพให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก (ภาพที่ 6) ที่ผ่านมา ไทยเข้าร่วมกลุ่มการค้าทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยมีข้อตกลง FTA กับประเทศคู่ค้า 14 ฉบับ1/ รวม 18 ประเทศ ซึ่งรวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)2/ และมีมูลค่าการค้าในปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 60.9% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าของไทยภายใต้สิทธิ์ FTA ลดลง -3.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนตามภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 82.9% ของมูลค่าสินค้าส่งออกที่ได้รับสิทธิ FTA ทั้งหมด สำหรับอัตราการใช้สิทธิ์ภายใต้กรอบ RCEP ยังมีมูลค่าไม่มากนัก (ภาพที่ 7) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอั

      ปัจจุบัน ไทยอยู่ระหว่างเจรจา FTA กับคู่ค้าใหม่ อาทิ ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (คาดบรรลุข้อตกลงปี 2566) ไทย-ศรีลังกาและไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป3/ (คาดบรรลุข้อตกลงปี 2567) ซึ่งทั้ง 3 ตลาดมีมูลค่าการค้ารวมกันมากกว่า 5.4 แสนล้านบาทในปี 2565 และจะผลักดันให้ไทยมีสัดส่วนการค้ากับประเทศที่มี FTA เพิ่มขึ้นเป็น 66.7% (ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) แต่นับว่ายังห่างอยู่มากกับสัดส่วนการค้าภายใต้สิทธิ์ FTA ที่ภาครัฐกำหนดไว้ที่ 80% ภายในปี 2570

      ในระยะข้างหน้า ไทยมีแนวโน้มเข้าร่วมเจรจาการค้ากับอีกหลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป ประเทศทูร์เคีย (ตุรกี) และปากีสถาน รวมถึงกลุ่ม "BRICS”4/ (ไทยอยู่ระหว่างรอตอบรับเป็นสมาชิก) ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 26% ของเศรษฐกิจโลกและมีประชากรมากกว่า 40% ของประชากรโลก จะหนุนการเติบโตของภาคการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งด้านการลดอุปสรรค เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน จนถึงการสร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจและการเมือง ในทางตรงข้าม ก็อาจก่อให้เกิดต้นทุนในการปรับตัวสำหรับอุตสาหกรรมสาขาที่มีประสิทธิภาพต่ำ หรืออาจถูกชิงส่วนแบ่งตลาดจากผู้ประกอบการของประเทศที่มีศักยภาพการผลิตสูงกว่าไทยสำหรับสินค้าบางรายการยังมีระดับสูงกว่ากรอบ FTA อื่นๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเลือกใช้ FTA อื่นเพื่อส่งออกไปยังสมาชิก RCEP อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีภายใต้กรอบ RCEP จะทยอยลดลงเป็นขั้นบันได จึงคาดว่าการใช้สิทธิจะปรับเพิ่มขึ้นในปีถัดๆ ไป


       

  • ​การขับเคลื่อน ESG ผ่านมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำทั่วโลก แม้จะช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจไทยเข้าใกล้เป้าหมายด้านความยั่งยืนเร็วขึ้น แต่ก็สร้างความท้าทายต่อการปรับตัวและเพิ่มภาระต้นทุนแก่ผู้ประกอบการในการปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าว ล่าสุด สหภาพยุโรป (EU) บังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเข้มข้นมากขึ้นโดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) จากสินค้านำเข้า รวมถึงออกกฎหมายที่ระบุให้พิสูจน์ที่มาของสินค้าที่นำมาค้าขายกับ EU จะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

EU CBAM จัดเป็นมาตรการที่สร้างความตื่นตัวแก่ภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านเมื่อ 1 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่นำเข้ามาใน EU และตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าสินค้าของ EU จะต้องจ่ายราคาการปล่อยคาร์บอนของสินค้านำเข้า (ซื้อ CBAM Certificate) มาตรการดังกล่าวนับเป็นแรงกดดันทางอ้อมต่อผู้ประกอบการไทย ดังนี้ (1) ภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่การวัดปริมาณก๊าซ รายงาน ทวนสอบ จนถึงการจ่ายต้นทุนของการปล่อยคาร์บอน และการเร่งพัฒนากระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียมซึ่งมีสัดส่วนส่งออกไปยัง EU 1.5% และ 0.4% ของสินค้าที่ส่งออกไป EU ทั้งหมด ตามลำดับ และมีการปล่อยคาร์บอนเข้มข้นในกระบวนการผลิต โดย EU ยังมีแนวโน้มขยายขอบเขตมาตรการไปยังสินค้ากลุ่มอื่นเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า อาทิ พลาสติก และเคมีภัณฑ์ (2) ราคาสินค้าของไทยที่ขายใน EU มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น จึงอาจกระทบอุปสงค์สินค้าส่งออกจากไทยได้ และ (3) ไทยอาจถูกชิงส่วนแบ่งตลาดจากกลุ่มสินค้าที่ไม่สามารถนำเข้าไปขายใน EU ด้านประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ ก็เตรียมนำมาตรการ


 

ในระยะต่อไป คาดว่าจะมีการทยอยออกมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ ธุรกิจการบินต้องชดเชยและลดการปล่อยคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (CORSIA) ตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้น ภาคธุรกิจของไทยจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญและปรับกระบวนการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว เพื่อเกาะเกี่ยวกระแสการเติบโตของธุรกิจสีเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ


 

ภัยแล้งส่งผลกระทบห่วงโซ่การผลิตอาหาร

  • ปี 2566 โลกเผชิญภาวะเอลนีโญ (El Niño) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน สะท้อนจากค่าดัชนี Oceanic Niño Index (ONI) ซึ่งชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเลตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อสะท้อนการเกิดปรากฏการณ์ El Niño (ONI > 0.5) และ La Niña (ONI < -0.5) โดยค่า ONI ล่าสุดเดือนกันยายน 2566 แตะระดับ 1.6 ดังภาพที่ 9 เข้าสู่ภาวะเอลนีโญระดับรุนแรง (Strong El Niño) และมีแนวโน้มปรับสู่ระดับรุนแรงมาก (Very strong) ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 โดยพิจารณาจากเส้นค่าเฉลี่ยแบบจำลองเชิงพลวัต (Dynamic Average: DYN AVG) ตามคาดการณ์ของ ENSO (El Nino-Southern Oscillation) ดังภาพที่ 10 ซึ่งประเมินความน่าจะเป็นว่าภาวะเอลนีโญจะครอบคลุมระยะเวลา 8-19 เดือน โดยอาจคงอยู่ถึงเพียงไตรมาสแรกของปี 2567 หรือยาวจนถึงสิ้นปี 2567 ซึ่งจะทำให้ไทยเสี่ยงต่อการเผชิญภัยแล้งได้นานถึงกลางปี 2568 ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนรอบถัดไป


 

วิจัยกรุงศรีประเมินว่าภาวะเอลนีโญรอบนี้จะยาวนานต่อเนื่อง 1-2 ปี โดยจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2566-2568 ดังนี้ (1) ผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร โดยพืชสำคัญที่คาดว่าจะมีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ภัยแล้ง (ตารางที่ 2) โดยผลผลิตเกษตรที่ลดลงจะทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เผชิญปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลน (Supply shortage) และความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Securities) นำไปสู่การกักตุนวัตถุดิบ ทำให้ระดับราคาของสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภดบริโภคขั้นปลายน้ำปรับสูงขึ้น (2) ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต การลดลงของผลผลิตเกษตรทำให้ความต้องการใช้สินค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream industry) อาทิ ปุ๋ย เครื่องจักรการเกษตร และธุรกิจบริการทางการเกษตรลดลง ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมปลายน้ำ (Downstream industry) ที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจนอาจต้องลดอัตราการใช้กำลังการผลิตหรือการจัดหาวัตถุดิบทดแทน ซึ่งล้วนผลักดันให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงขึ้น และ (3) ผลกระทบของภัยแล้งต่อ GDP (ตารางที่ 3) วิจัยกรุงศรีประเมินว่าภัยแล้งครั้งนี้น่าจะส่งผลให้ปริมาณฝนมีแนวโน้มลดลง 10-15% ในปี 2566-2568 ทำให้ GDP ของไทยลดลงจากกรณีปกติ 0.13% ในปี 2566 และ 0.3% ต่อปี ในปี 2567-2568


เศรษฐกิจไทยปี 2567-2569: เติบโตเฉลี่ยเข้าใกล้ระดับศักยภาพท่ามกลางแรงกดดันจากภายในและภายนอกประเทศ


เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.4% ต่อปีในช่วงปี 2567-2569 แม้ปรับดีขึ้นจากที่เติบโต 2.5% ในปี 2566 (ภาพที่ 11) และเติบโตเฉลี่ยเข้าใกล้ระดับแนวโน้มศักยภาพระยะยาวแต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีก่อนเกิดการระบาด COVID-19 (ปี 2553-2562) ที่ 3.7% โดยเศรษฐกิจไทยได้แรงสนับสนุนสำคัญจาก (1) การฟื้นตัวต่อเนื่องภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ล้านคนในปี 2566 เป็น 35.6 ล้านคนในปี 2567 และ 40 ล้านคนในปี 2568  ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิดในปี 2562 (2) การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งปัจจัยบวกจากนโยบายของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายให้เร่งตัวขึ้นโดยเฉพาะในปี 2567 (3) การขยายตัวของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด BCG อย่างไรก็ตาม ในภาคส่งออกอาจยังเผชิญแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำแม้อาจจะกระเตื้องขึ้นในบางกลุ่มสินค้าจากปัจจัยเฉพาะ เช่น วัฎจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ การรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (Regionalization) เป็นต้น สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดว่าคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ 2.50% เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นให้อยู่ภายในกรอบเป้าหมาย และเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวกลับเข้าสู่แนวโน้มระยะยาว ขณะเดียวกันยังเป็นการรักษา Policy space เพื่อรองรับความเสี่ยงที่มีอยู่มากในอนาคต

ในช่วงระยะ 3 ปีข้างหน้า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ทว่าอัตราการเติบโตยังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่อาจกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย  อาทิ (1) หนี้ครัวเรือนและต้นทุนการกู้ยืมที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจจำกัดการใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อยและ SMEs (2) ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจทวีความรุนแรงในปี 2567 (3) หนี้สาธารณะที่ปรับสูงขึ้นจากการดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังและความยืดหยุ่นของการใช้จ่ายภาครัฐในอนาคต (4) ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น โครงสร้างประชากร (อัตราการเกิดลดลง การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ การขาดแคลนแรงงาน) และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในบางภาคอุตสาหกรรม และ (5) ปัจจัยภายนอก เช่น  ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงต่อเนื่องของประเทศแกนหลักอาจส่งผลให้อุปสงค์ต่างประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์  การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่นำโดยสหรัฐฯ และจีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์  ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลต่อการเติบโตในภาคส่งออกและการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง


แรงขับเคลื่อนนโยบายโครงสร้างพื้นฐานหนุนการลงทุนภาคเอกชน


ในช่วงปี 2567-2569 ภาครัฐมีแนวโน้มเร่งรัดการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องทั้งโครงการเดิมและโครงการใหม่ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์  ตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ในส่วนของกระทรวงคมนาคมถูกกำหนดไว้ 112 โครงการ วงเงินลงทุน 9.8 แสนล้านบาท โดยโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งและการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ มีจำนวนมากที่สุด 42 โครงการ (สัดส่วน 38% ของจำนวนโครงการทั้งหมด) มูลค่าลงทุน 6.1 แสนล้านบาท (สัดส่วน 62% ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด) อาทิ (1) การเร่งพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และรถไฟทางคู่สายใหม่ให้เป็นโครงข่ายหลัก หนุนการเชื่อมโยงกับนิคมอุตสาหกรรม และการค้าชายแดน  โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 (ช่วงขอนแก่น-หนองคาย) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟสายบ่อเต็น-เวียงจันทน์ หรือโครงการรถไฟลาว-จีน (เชื่อมโยงระหว่างเมืองคุนหมิงในประเทศจีนกับเมืองเวียงจันทน์ในประเทศลาว) หากโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคแล้วเสร็จ จะหนุนโอกาสทั้งด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น และ (2) การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ท่าเรือ รวมถึงบริหารจัดการพื้นที่หลังท่า จะช่วยหนุนการขนส่งสินค้าทางน้ำและชายฝั่ง อาทิ โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 2

อย่างไรก็ตาม โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อเสริมศักยภาพของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)  ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ยังมีความล่าช้าบางโครงการจากปัญหาการเวนคืนที่ดินและปัญหาด้านแรงงาน  ซึ่งยังคงขาดแคลนต่อเนื่องมา จากช่วงวิกฤต COVID-19 โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 ขณะที่โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ล่าช้ากว่าแผน 40% (ข้อมูล ณ เมษายน 2566) โดยโครงการที่มีความคืบหน้าลำดับต้นๆ คือ โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งมีความคืบหน้า 60% (ข้อมูล ณ สิงหาคม 2566) และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2570

การเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะหนุนโอกาสการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve industries) ในพื้นที่ EEC ซึ่งจะยกระดับห่วงโซ่อุปทานของไทยในอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องอันเป็นผลจาก Crowding-in effects อาทิ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ขนส่งและโลจิสติกส์

ปัจจัยแวดล้อมในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม

 

ปัญหาเชิงโครงสร้างบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของไทย


ความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของไทยในปี 2566 ปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 สะท้อนจากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (IMD World Competitiveness Ranking) ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 30 จากทั้งหมด 64 ประเทศ จากอันดับที่ 33 ในปี 2565 เป็นการปรับดีขึ้นจากปัจจัยทุกด้าน ได้แก่ ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic performance) ไทยอยู่อันดับที่ 16 เทียบกับ 34 ในปี 2565 (ภาพที่ 12) จากการปรับดีขึ้นของปัจจัยย่อยด้านการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% จากปี 2564 และภาคการค้าระหว่างประเทศ (รวมภาคบริการ) ซึ่งไทยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหลังมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government efficiency) และด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business efficiency) ไทยอยู่อันดับที่ 24 และ 23 เทียบกับ 31 และ 30 ในปี 2565 ตามลำดับ จากปัจจัยย่อยด้านการบริหารภาครัฐและกฎหมายธุรกิจ รวมถึงผลิตภาพและประสิทธิภาพของภาคธุรกิจไทยที่แข่งขันได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)  ไทยอยู่อันดับที่ 43 ดีขึ้นเพียง 1 อันดับจากปี 2565 จากปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ขณะที่ด้านอื่นๆ ยังมีอันดับค่อนข้างต่ำ อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์ (อันดับ 39) ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อันดับ 53) และการศึกษา (อันดับ 54) นับเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยต้องเร่งพัฒนา เมื่อพิจารณาว่าประเทศที่มีอันดับสูงสุดของโลก (ได้แก่ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์) ล้วนเป็นประเทศที่มีกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional frameworks) ที่ดี และมีระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง (Strong education systems) และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ความสามารถในการแข่งขันของไทยยังเป็นรองสิงคโปร์ (อันดับ 4 จากเดิม 3) และมาเลเซีย (อันดับ 27 จากเดิม 32)

ในระยะข้างหน้า การเร่งลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) จะมีบทบาทสำคัญต่อการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของไทย โดยข้อมูลล่าสุดปี 2564 พบว่าค่าใช้จ่ายด้าน R&D ของไทยเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GERD/GDP) อยู่ที่ 1.2% ชะลอลงจาก 1.3% ปี 2563 ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง (ภาพที่ 13) และยังห่างจากเป้าหมายทางการที่กำหนดไว้ 2% ต่อ GDP ภายในปี 2570 สะท้อนว่าไทยควรเร่งส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ (เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า และอาหารแห่งอนาคต) ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนด้าน R&D ตามมา ซึ่งจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมโลกที่มีความผันผวนอยู่เป็นระยะ



 

การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ ของทางการที่อาจมีผลต่อภาคอุตสาหกรรม

เกษตร

> การปรับขึ้นราคาน้ำตาล: คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติให้ปรับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำตาล (มีผล 15 พฤศจิกายน 2566) ดังนี้ (1) กำหนดให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีควบคุมตามเดิม และ (2) ให้ปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 2 บาทต่อกิโลกรัม (ราคาน้ำตาลทรายขาวเป็น 21 บาท/กิโลกรัม จากเดิม 19 บาท และราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เป็น 22 บาท/กิโลกรัม จากเดิม 20 บาท) เพื่อใช้ในการคำนวณราคาอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2566/67 ซึ่งจะเริ่มในเดือนธันวาคม 2566

อสังหาริมทรัพย์

> นโยบาย Free Visa สำหรับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน (มีผล 25 กันยายน 2566 - 29 กุมภาพันธ์ 2567) จะส่งผลให้ชาวจีนสามารถเดินทางเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นตลาดคอนโดมิเนียมทั้งการซื้อเพื่ออยู่อาศัยและลงทุน

> มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย โดย (1) การลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 1% และ (2) การลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยสร้างใหม่และมือสองที่มีวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท (มีผล 3 มกราคม - 31 ธันวาคม 2567) เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

> เกณฑ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างศึกษาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติอาคารชุด การขยายเพดานให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้มากกว่า 49% ของพื้นที่ขายในโครงการ แต่จะไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมนิติบุคคลอาคารชุด มีผลเฉพาะจังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยวและเมืองเศรษฐกิจสำคัญ (เดิมพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 อนุญาตให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดไม่เกิน 49% ของพื้นที่ขายในอาคารชุด)

ภาคการผลิต

> การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนนำเข้าเพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (มีผล 7 มีนาคม 2566-31 ธันวาคม 2568) สำหรับอุปกรณ์ ดังนี้ แบตเตอรี่ มอเตอร์ขับเคลื่อน (Traction motor) คอมเพรสเซอร์สำหรับ EV ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ เครื่องชาร์จที่ติดตั้งในตัวรถ (On-board charger) ดีซี/ดีซี คอนเวอร์เตอร์ (DC/DC converter) อินเวอร์เตอร์และพีซียู อินเวอร์เตอร์  (Inverter & PCU inverter) และรีดักชัน เกียร์ (Reduction gear) ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นการผลิต BEV ในประเทศและเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าจากพลังงานแบตเตอรี่

> สหภาพยุโรป (EU) ปรับกฎระเบียบเกี่ยวกับแบตเตอรี่ภายใต้ Circular Economy Action Plan (มีผล 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป) โดยผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แล็ปท็อป แท็บเล็ต สมาร์ทโฟนและแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่วางจำหน่ายใน EU ต้องชาร์จไฟซ้ำได้และต้องได้การรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ส่งผลให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ของไทยต้องพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานเพื่อรักษาฐานลูกค้าใน EU

> สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ (แผงโซลาร์เซลล์) จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา หลังการไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD Circumvention) ของผู้ผลิตจีนที่ใช้ฐานการผลิตในประเทศดังกล่าวหลบเลี่ยงภาษีนำเข้า ทำให้ไทยจะถูกเก็บภาษีจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ส่งไปสหรัฐฯ (ตลาดส่งออกโซลาร์เซลล์อันดับ 1 ของไทย) ในอัตราตั้งแต่ 16–254% (มีผลเดือนมิถุนายน 2567) โดยรายงานจาก Mordor Intelligence คาดว่าตลาดโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 16.5% ต่อปีในช่วงปี 2566-2568 มาตรการนี้จะส่งผลให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดสินค้าโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ ให้กับเกาหลีใต้ ซึ่งมีมูลค่าส่งออกแผงโซลาเซลล์สูงเป็นอันดับ 4 ในสหรัฐฯ และไม่อยู่ในขอบข่ายการเรียกเก็บภาษี ผู้ประกอบการไทยที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เป็นหลักจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการแผงโซลาเซลล์ที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของสหรัฐฯ ที่จะเน้นใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจออกมาตรการทางการค้าที่ทวีความเข้มข้นขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวเนื่องกับจีน

> คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดมีมติเก็บอากรการทุ่มตลาด (AD) เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน ที่นำเข้าจากบราซิล อิหร่าน และตุรกี เป็นเวลา 5 ปี (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566- มิถุนายน 2571) ในอัตรา 34.4% 7.3-38.3% และ 6.9-38.2% ของราคา CIF (ราคาสินค้ารวมค่าประกันและค่าขนส่ง) ตามลำดับ โดยยกเว้นผู้ประกอบการ 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่นำเข้าเพื่อผลิตหรือส่งออกในเขตการค้าเสรี (Free Trade Zone) ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (2) กลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งนำเข้าเพื่อผลิตและส่งออก และ (3) กลุ่มที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกภายใต้กฎหมายว่าด้วยศุลกากร คาดว่าจะส่งผลให้ราคาเหล็กนำเข้าทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง และอาจมีการส่งผ่านต้นทุนการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

> สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศรายการสินค้าควบคุมเพิ่มเติมในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวม 7 รายการ (มีผลปี 2567-2568) ได้แก่ (1) เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับการดูแลผม ขน หรือผิว (2) เครื่องทอดน้ำมันท่วมขนาดไม่เกิน 5 ลิตรและกระทะทอด (3) เครื่องปรับอากาศสำหรับห้อง (4) ตู้น้ำร้อน/น้ำเย็นบริโภค และตู้น้ำเย็นบริโภค (5) สวิตซ์ไฟฟ้าสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย (6) ชุดประกอบสวิตซ์เกียร์และเกียร์ควบคุมไฟฟ้าแรงดันต่ำ และ (7) มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับชนิดเหนี่ยวนำสามเฟส ทั้งนี้ เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการใช้สินค้าของผู้บริโภค และลดปริมาณสินค้าที่มีการผลิตและนำเข้าไม่ตรงตามมาตรฐาน

> การเพิ่มอัตราภาษีสำหรับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ตามปริมาณความหวานเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ โดยจัดเก็บตามมูลค่าและปริมาณความหวานของเครื่องดื่ม ซึ่งที่ผ่านมามีการทยอยปรับเพิ่มแล้ว 2 รอบ (เริ่มปี 2560) ส่วนรอบที่ 3 เริ่ม 1 เมษายน 2566 - 31 มีนาคม 2568 และรอบที่ 4 เริ่ม 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป  มาตรการนี้มีผลให้ต้นทุนของผู้ผลิตที่ยังคงใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลักปรับสูงขึ้น และอาจมีการส่งผ่านต้นทุนส่วนเพิ่มสู่ผู้บริโภค

อุตสาหกรรมยานยนต์

> คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ขยายเกณฑ์มาตรฐานไอเสียรถยนต์ตามมาตรฐานยูโร 5 โดยครอบคลุมถึงรถบรรทุก รถบัส รถกระบะ และรถยนต์เล็ก (มีผล 1 มกราคม 2567) เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยมลพิษ และลดฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว (PM 2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การปรับเกณฑ์ข้างต้นจะเพิ่มภาระต้นทุนแก่ผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

> การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยานยนต์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีสาระสำคัญดังนี้

> ปรับลดเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้แคบลง โดยกำหนดเกณฑ์เพิ่มจากเดิม 4 ระดับเป็น 5 ระดับ ได้แก่ CO2<100 กรัม/กม., 100-120 กรัม/กม., 121-150 กรัม/กม., 151-200 กรัม/กม. และ >200 กรัม/กม. จากเดิม 4 ระดับ เพื่อส่งเสริมให้ยานยนต์ลดการปล่อยก๊าซ CO2 และประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น

  • กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 สำหรับรถ HEV (Hybrid Electric Vehicle) และ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ดังนี้

      - รถ HEV ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 cc แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569-31 ธันวาคม 2570เก็บภาษีอัตรา 6-24% ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2571-31 ธันวาคม 2572 อัตรา 8-26% และช่วงที่ 3 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป อัตรา 10-28% ส่วนรถ HEV ความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 cc เก็บภาษี อัตรา 40% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569

      -  รถ PHEV ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 cc กรณีวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 80 กม./การประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง และถังน้ำมันไม่เกิน 45 ลิตร อัตราภาษีอยู่ที่ 5% ส่วนกรณีวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ต่ำกว่า 80 กม. และถังน้ำมันมากกว่า 45 ลิตรจัดเก็บอัตรา 10% สำหรับรถ PHEV ความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 cc เก็บภาษีอัตรา 30% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569

  • ปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ICE (Internal Combustion Engine) ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 แบบขั้นบันได ทุก 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2569 อาทิ
      - รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 cc แบ่งเป็น ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569- 31 ธันวาคม 2570 จัดเก็บภาษuอัตรา 13-34% ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2571-31 ธันวาคม 2572 อัตรา 14-36% และ ช่วงที่ 3 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป อัตรา 15-38%
      - รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 cc จัดเก็บภาษี 50% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม CO2

  • ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV จาก 8% เหลือ 2% เพื่อส่งเสริมการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV ตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่กำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์แบบ ZEV (Zero Emission Vehicle)  ที่สัดส่วน 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573

  • ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถกระบะและอนุพันธ์ของรถกระบะ เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการปล่อยก๊าซ CO2 การสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน Biodiesel และส่งเสริมให้เกิดการใช้และผลิตรถกระบะไฟฟ้าแบบ BEV และแบบ FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 2% และ 0% ของราคาจำหน่าย ตามลำดับ

  • ปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ ICE และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ HEV และแบบ PHEV ตามการปล่อยก๊าซ CO2 คือ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569-31 ธันวาคม 2572 จัดเก็บภาษีอัตรา 4% (ปล่อย CO2 <50 กรัม/กม.) อัตรา 6% (CO2 51-90 กรัม/กม.) อัตรา 10% (CO2 91-130 กรัม/กม.) และอัตรา 20% (CO2 >130 กรัม/กม.) และช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป จัดเก็บภาษี 5-10-15-25% ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า BEV  กำหนดอัตราภาษีที่ 1% เพื่อส่งเสริมการใช้และผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

​> มาตรการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้า BEV โดยภาครัฐอนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV 3.5 สำหรับช่วงระยะเวลา 2567-2570) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในวงเงิน 50,000 - 100,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ในวงเงิน 5,000 - 10,000 บาท/คัน

> การปรับลดภาษีประจำปีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า BEV โดยรถที่จดทะเบียนระหว่าง 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2568 ให้ปรับลดภาษี 80% ของอัตราภาษีประจำปี เป็นเวลา 1 ปี เพื่อส่งเสริมและจูงใจให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 และปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติก

แผนจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) เพื่อยกระดับการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Management Approach) ประกอบด้วย (1) การจัดการ ณ ต้นทาง ซึ่งรวมถึงการออกแบบ และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-design) (2) การจัดการ ณ กลางทาง เพื่อส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ซ้ำและนำกลับไปรีไซเคิล รวมถึงลด/เลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่กระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันการเกิดขยะพลาสติก และ (3) การจัดการ ณ ปลายทาง จะใช้แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน (Integrated Solid Waste Management) เช่น ระบบคัดแยกเพื่อนำกลับไปรีไซเคิล การเผาเพื่อผลิตพลังงาน และการหมักปุ๋ยเพื่อให้เหลือขยะที่ต้องฝังกลบให้น้อยที่สุด มาตรการดังกล่าวอาจทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของราคาน้ำมันดิบโลกและภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง จึงอาจจำกัดการเติบโตของอัตรากำไรในระยะถัดไป

ภาคพลังงานและสิ่งแวดล้อม

> แผนปฏิรูปพลังงานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Neutral-Carbon_Economy)
คาดมีผลบังคับใช้ในปี 2567 ได้แก่ (1) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2022) (2) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas plan) (3) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) (4) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และ (5) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil plan) ทั้งนี้ เพื่อให้ไทยบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี 2608 คาดว่าจะหนุนให้ภาคธุรกิจมีการลงทุนในด้านนี้เพิ่มขึ้น อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตและนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน

> การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำฉบับปี 2565-2580 คาดแล้วเสร็จปี 2567) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2018) ซึ่งจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบ Feed-in-Tariff ระหว่างปี 2565-2573 จากผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน เอื้อให้ภาคเอกชนขยายกำลังการผลิตและเพิ่มการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ ได้แก่ (1) กลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งแบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานและแบบติดตั้งบนพื้นดิน และ (2) กลุ่มผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม

> มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Embedded Emission) ของสินค้าที่ส่งไปสหภาพยุโรป (ไม่ต้องทวนสอบการวัดและไม่ต้องจ่ายราคาการปล่อยคาร์บอน) ส่วนการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบจะเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 ซึ่งผู้ส่งออกต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ได้รับการรับรองโดยผู้ทวนสอบที่ได้รับอนุญาต อีกทั้งอาจต้องจ่ายราคาการปล่อยคาร์บอน ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยจะเผชิญต้นทุนคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปสูงและมีการปล่อยคาร์บอนเข้มข้น จึงอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในระยะข้างหน้า

> กฎหมายสินค้าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation: EUDR) กำหนดให้สินค้าส่งออกและนำเข้า 7 กลุ่ม ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ถุงมือยาง และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ต้องรายงานที่มาของสินค้าเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า โดย EUDR มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อ 29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา แต่ EU กำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านก่อนนำมาใช้จริงในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ SMEs และ 30 มิถุนายน 2568 สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทั้งนี้ สินค้าไทยที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ยางพารา ซึ่งมีสัดส่วนส่งออกไปยังสหภาพยุโรป 11.5% ของการส่งออกยางพาราทั้งหมดในปี 2565 รองลงมา ได้แก่ ไม้ และปาล์มน้ำมัน

> มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนของสหรัฐฯ
โดยทางการสหรัฐฯ อยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) เพื่อกำหนดกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) สำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศ และการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (US CBAM) สำหรับสินค้านำเข้าที่ใช้พลังงานเข้มข้น ได้แก่ ปุ๋ย ไฮโดรเจน ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี กรดอะดิปิก กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2569

> การชดเชยและการลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation: CORSIA) ที่ริเริ่มโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) กำหนดให้สมาชิก 193 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยต้องมีกลไกการปรับลดคาร์บอนโดยการพัฒนาเทคโนโลยี การปรับปรุงกระบวนการและการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) รวมทั้งชดเชยการปล่อยคาร์บอนที่ไม่สามารถลดเองได้ด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ CORSIA จะเริ่มใช้กลไกชดเชยการปล่อยคาร์บอนโดยสมัครใจในปี 2567-2569 และจะบังคับใช้กลไกดังกล่าวตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป

> ไทยเตรียมออก (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กฎหมายโลกร้อน) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขปรับปรุง โดยกำหนดให้ภาคธุรกิจต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและตั้งเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงผลักดันตลาดคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานควบคุมการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจังตามเป้าหมาย Net Zero ที่กำหนดไว้ในปี 2608 โดยมี “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” (ชื่อเดิม คือ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลกฎหมายดังกล่าว

> ธปท. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนพัฒนามาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) เพื่อเป็นกรอบในการจำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เอื้อให้ภาคการเงินสามารถดำเนินงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable finance) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีการจัดทำ Thailand Taxonomy ในภาคพลังงานและภาคขนส่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ส่วนระยะต่อไปจะจัดทำครอบคลุมภาคส่วนอื่นๆ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การผลิตน้ำประปา บำบัดน้ำเสีย และการฟื้นฟูคุณภาพน้ำ ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจวางแผนและปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ภาคการเงินสามารถใช้เป็นแนวทางในการออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green bonds) สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green loans) หลักทรัพย์ที่ออกโดยมีสินทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลักประกัน (Green asset-backed securities) และดัชนีสีเขียว (Green indices) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของภาคธุรกิจไทยในตลาดโลก

> กรมโรงงานห้ามใช้สารไดคลอโรฟลูออโรมีเทน (HCFC-141b) ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลิตโฟมแบบฉีดพ่น (Spray foam) (มีผล 1 มกราคม 2567) โดยให้เปลี่ยนใช้สารทดแทน คือ ไฮโดรฟลูออโรโอเลฟิน (HFOs) ซึ่งไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ทั้งนี้ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อนและสอดคล้องเป้าหมายของไทยที่กำหนดให้ลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2573

ธุรกิจบริการ

โรงแรม

ภาครัฐได้ออกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 โดยกำหนดมาตรฐานด้านการก่อสร้างโครงสร้างอาคารและวัสดุของอาคารให้มีรูปแบบที่จะนำมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมในการให้บริการที่พักได้อย่างปลอดภัย เพื่อลดการลักลอบนำอาคารที่มิได้มีการปรับปรุงให้ได้มาตรฐานมาให้บริการในลักษณะโรงแรม ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มภาระด้านต้นทุน แต่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

ภาคก่อสร้าง

> ทางการปรับปรุงกฎกระทรวงโดยกำหนดวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารประเภทควบคุมการใช้ พ.ศ. 2566 ให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันและมาตรฐานสากล ครอบคลุมหมวดวัสดุตกแต่งผิวและผิวพื้นทั้งภายในและภายนอก รวมถึงหลังคา กระจก และแผ่นยิปซัม (มีผลเดือนมีนาคม 2567) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของอาคารและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งาน คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการและเทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ขณะที่ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องเพิ่มความเข้มงวดในการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกับประเภทของอาคารมากขึ้น

ร้านค้าและสถานบริการ

> ทางการกำหนดพื้นที่ (Zoning) ให้สถานบริการในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa หรือ Airport City) ในสนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง เป็น“เขตประกอบการค้าเสรี” (Free Trade Zone) ที่เปิดบริการและจำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ 24 ชั่วโมง
โดยให้สิทธิประโยชน์ ดังนี้ (1) กลุ่มผู้ประกอบกิจการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี (2) กลุ่มแรงงานต่างด้าวได้สิทธิด้านการออกวีซ่าและใบอนุญาตการทำงานนาน 10 ปี และ (3) กลุ่มคนเดินทางและนักท่องเที่ยวได้รับยกเว้นภาษีอากรและภาษีสรรพสามิตเป็นเวลา 10 ปี สำหรับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านค้าปลอดอากร (Duty free) วงเงิน 200,000 บาทต่อคนต่อปี ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจบริการลงทุนใน EECa มากขึ้น โดยเฉพาะร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลอดภาษี (Duty free shop) ตลอดจนการจัดงานประชุมและแสดงสินค้า เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภามีบริการครบวงจร และกระตุ้นการเดินทางผ่านสนามบินอู่ตะเภามากขึ้น

ธุรกิจการเงิน

> ธปท. ได้ออกแนวทาง (Consultation paper) การอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นรอบแรกระหว่างวันที่ 12 มกราคม - 12 กุมภาพันธ์ 2566 และได้ปรับปรุงแนวทางฯ และเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบ 2 ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2566 เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank  และเสนอหลักเกณฑ์ฯ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป โดยมีสาระสำคัญคือ (1) Virtual Bank ต้องจัดตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยและดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัลเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้ผู้ประกอบธุรกิจทั้งในภาคการเงินและนอกภาคการเงินที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสามารถขอจัดตั้ง Virtual Bank ได้ (2) มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท ณ วันเปิดดำเนินการ และ (3) นำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) เช่นเดียวกับสถาบันการเงินประเภทอื่น โดยเมื่อเปิดดำเนินการไปแล้วอย่างน้อย 3 ปี ธปท.จะประเมินความพร้อมในการดำเนินงานแบบเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ผู้ขอจัดตั้ง Virtual_Bank จะต้องมี Exit plan เพื่อรองรับกรณีที่จำเป็นต้องเลิกกิจการ ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ธปท. จะนำเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่เกิน 3 ราย

> ธปท. กำหนดมาตรการและโครงการเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ดังนี้

  •  มาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible_lending) โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยลูกหนี้อย่างตรงจุดและครอบคลุมตลอดช่วงเวลาการเป็นหนี้ทั้ง 4 ระยะ ได้แก่ (1) ช่วงก่อนหรือกำลังจะเป็นหนี้ (2) ช่วงระหว่างเป็นหนี้ (3) ช่วงลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ และ (4) ช่วงจะดำเนินคดีและโอนขายหนี้ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

  • การดูแลหนี้เรื้อรัง (Persistent debt) เป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้ผู้ให้บริการทางการเงินดูแลกลุ่มลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยจะต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียนที่มีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาท/เดือน ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ต้องปิดวงเงินประเภทหมุนเวียนดังกล่าวเพื่อไม่ก่อหนี้เพิ่ม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567

> การทดสอบโครงการ Sandbox ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-based pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt service ratio: DSR)

      - มาตรการ RBP จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีประวัติการชำระหนี้ดี จะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบัน โดยเปิดให้ผู้ให้บริการทางการเงินการเข้าทดสอบการให้สินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ เมื่อไตรมาส 2 ปี 2567

      - มาตรการ DSR  เป็นมาตรการดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (Macroprudential risk) ที่ดูแลการก่อหนี้ใหม่ โดยกำหนดให้ลูกหนี้ที่มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/เดือน จะต้องมี DSR ไม่เกินร้อยละ 60 ส่วนลูกหนี้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท/เดือน จะต้องมี DSR ไม่เกินร้อยละ 70 โดยในระยะแรก จะครอบคลุมสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่มีหลักประกันเป็นหลัก (เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) และในระยะที่สองจะครอบคลุมสินเชื่อประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม อันได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ สินเชื่อรถแลกเงิน สินเชื่อ Digital p-loan และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยคาดว่าจะบังคับใช้มาตรการ DSR ในปี 2568 เป็นต้นไป

       วิจัยกรุงศรีประเมินว่าปัจจัยแวดล้อมด้านเศรษฐกิจมหภาคและภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้น จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่ต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลก รวมถึงกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อวางรากฐานและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืนในระยะยาว


1/ ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน (AFTA) อาเซียน-จีน (ACFTA) ไทย-อินเดีย (TIFTA) อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) อาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) อาเซียน-เกาหลี (AKFTA) ไทย-เปรู (TPCEP) ไทย-ชิลี (TCFTA) ไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) อาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
2/ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) มีสมาชิก 15 ประเทศ ดังนี้  บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย เมียนมา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
3/ EFTA (European Free Trade Area) คือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป มีสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์และลิกเตนสไตน์
4/ BRICS ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้
5/ USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) คือ ข้อตกลงการค้าแถบอเมริกาเหนือ (เดิมคือ NAFTA) มีสมาชิก 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และแคนาดา
6/ BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) คือ กรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย 7 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา ศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย ภูฏาน และเนปาล


 

อุตสาหกรรมเกษตร

ข้าว

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิตข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 6.4% YoY จาก (1) สภาพภูมิอากาศ น้ำในเขื่อน และผลจากปรากฏการณ์ El Niño ที่ยังไม่รุนแรงจากการเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในช่วงเริ่มปรากฏการณ์ (2) ชาวนามีแรงจูงใจด้านราคาที่มีแนวโน้มสูงขึ้นรวมถึงมาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวจากภาครัฐ โดยดัชนีราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 17.7% YoY แรงหนุนจาก (1) ผลผลิตข้าวทั่วโลกลดลงจากผลของปรากฏการณ์ El Niño โดยเฉพาะผู้ส่งออกสำคัญ อาทิ อินเดีย ปากีสถาน เช่นเดียวกับผู้ผลิตและบริโภคสำคัญอย่าง จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่ได้รับผลกระทบจนต้องหันมานำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น (2) ความต้องการสต็อกข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหารทั้งจากความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ และภัยธรรมชาติ (3) ประเทศคู่ค้าหันมานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นหลังอินเดียระงับการส่งออกข้าว* (4) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะร้านอาหาร โรงแรม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และ (5) พ่อค้าคนกลาง (หยง) ในประเทศแข่งขันรับซื้อข้าวเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อของผู้ส่งออก ทำให้ราคาส่งออกข้าว (F.O.B. ข้าวขาว 25%) เพิ่มขึ้น 20.8% YoY ส่งผลให้มูลค่าส่งออกข้าวอยู่ที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.0% YoY ส่วนปริมาณส่งออกข้าวขยายตัว 12.3% YoY อยู่ที่ 6.1 ล้านตันข้าวสาร ดัชนีรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจึงเพิ่มขึ้น 27.2% YoY อย่างไรก็ตาม ทิศทางต้นทุนที่ทรงตัวสูงทั้งราคาพลังงาน ปุ๋ย และแรงงาน ยังคงกดดันความสามารถในการทำกำไรของเกษตรกร

  • แม้พื้นที่ปลูกข้าวบางส่วนจะได้รับความเสียหายจากปรากฏการณ์ El Niño ทำให้เกิดภัยแล้งตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นไป แต่คาดว่าผลผลิตข้าวจะยังคงเพิ่มขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกทั้งปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 4.0-4.5% อยู่ที่ระดับ 34.3-34.5 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 22.3-22.4 ล้านตันข้าวสาร ขณะที่ปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้น 3.0-4.0% อยู่ที่ 7.9-8.0 ล้านตันข้าวสาร อานิสงส์จาก (1) ความต้องการสต็อกข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (2) ประเทศคู่ค้าหันมานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นหลังอินเดียระงับการส่งออกและขึ้นอัตราภาษีการส่งออกข้าว* และ (3) การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ด้านการบริโภคข้าวในประเทศน่าจะเพิ่มขึ้น 0.5-1.0% อยู่ที่ระดับ 11.5-11.6 ล้านตันข้าวสาร ตามการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการจากกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร และอุตสาหกรรมยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

            Note : * อินเดียกำหนดนโยบายห้ามส่งออกข้าวทุกสายพันธุ์และกำหนดราคาขั้นต่ำข้าวบาสมาติที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน รวมทั้งเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่งในอัตรา 20% มีผลบังคับใช้ 20 กรกฎาคม 2566

 

แนวโน้มปี 2567-2569

  • ผลผลิตข้าวคาดว่าจะอยู่ที่ 30.7-32.5 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 19.9-21.1 ล้านตันข้าวสาร ลดลง -1.5 ถึง -2.0% ต่อปี เนื่องจาก (1) แนวโน้มปรากฏการณ์ El Niño ที่เริ่มขึ้นในช่วงกลางปี 2566 และคาดว่าจะยังคงอยู่ราว 1-2 ปี ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง (2) ต้นทุนการผลิตที่ทรงตัวสูงโดยเฉพาะราคาปุ๋ย สารเคมี และพลังงาน ทำให้เกษตรกรบางส่วนลดการใช้ปุ๋ยซึ่งอาจทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง

  • การบริโภคข้าวในประเทศคาดอยู่ที่ระดับ 11.5-12.2 ล้านตันข้าวสารต่อปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-2.5% ต่อปี ปัจจัยหนุนจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ หนุนความต้องการจากร้านอาหาร โรงแรม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ให้ฟื้นตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่จะมีความต้องการข้าวเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปอาหารมากขึ้น

  • การส่งออกข้าวคาดอยู่ที่ 9.3-10.5 ล้านตันข้าวสารต่อปี ขยายตัวเฉลี่ย 8.0-9.0% ต่อปี แรงหนุนจาก (1) ความต้องการสต็อกข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหารโดยเฉพาะจากปัจจัยด้านภัยแล้งที่มีทิศทางรุนแรงขึ้นทั่วโลก และ (2) ผลผลิตข้าวทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงจากผลของปรากฏการณ์ El Niño ทำให้บางประเทศหันมานำเข้าจากไทยมากขึ้น

 


ยางพารา

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิตยางธรรมชาติลดลง -1.5% YoY สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้นที่ลดลง (-32.3% YoY -1.3% YoY และ  -25.4% YoY ตามลำดับ) ผลจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นจากการเข้าสู่ช่วงภาวะ El_Niño_และระดับราคายางที่ยังลดลงต่อเนื่องลดทอนแรงจูงใจของเกษตรกรในการเก็บเกี่ยว ส่วนหนึ่งเป็นผลของอุปสงค์ต่างประเทศที่หดตัวหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายโดยเฉพาะอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ทำให้ปริมาณส่งออกหดตัว -10.5% YoY อยู่ที่ 3.4 ล้านตัน โดยหดตัวเกือบทุกผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ยางแผ่นอยู่ที่ 0.3 ล้านตัน  (-21.0% YoY) ยางแท่งอยู่ที่ 1.1 ล้านตัน (-14.6% YoY) น้ำยางข้นอยู่ที่ 0.6 ล้านตัน (-32.6% YoY) ยางคอมพาวด์อยู่ที่ 8.3 หมื่นตัน (-3.8% YoY) จากภาวะเศรษฐกิจ และการค้าโลกที่ชะลอลง ยกเว้นยางผสมอยู่ที่ 1.3 ล้านตัน (+16.6% YoY) แรงหนุนจากจีนที่ยกเลิกมาตรการ Zero-COVID และอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนที่ฟื้นตัวจากภาวะตลาดที่ซบเซา ทำให้ราคายางส่งออกลดลงกว่า -18.7% YoY ส่งผลให้มูลค่าส่งออกหดตัว -27.3% YoY คิดเป็น 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดในประเทศขยายตัวเล็กน้อย ตามการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน

  • จากปัจจัยข้างต้นทำให้คาดว่าปี 2566 ปริมาณการผลิตยางพาราขั้นกลางจะอยู่ที่ 5.1-5.2 ล้านตัน ทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.0-1.0% ปริมาณส่งออกจะหดตัว -10.0 ถึง -11.0% อยู่ที่ 4.4-4.5 ล้านตัน ตามตลาดหลักที่หดตัว อาทิ สหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ส่วนราคาส่งออกมีแนวโน้มลดลงที่ -14.5 ถึง -15.5% ตามทิศทางอุปสงค์และราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้มูลค่าส่งออกมีแนวโน้มหดตัว -23.0 ถึง -25.0% อยู่ที่ 6.1-6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปริมาณการบริโภคในประเทศน่าจะขยายตัว 1.0-2.0% ตามมาตรการภาครัฐที่กระตุ้นใช้ยางพาราในประเทศโดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ EV

​แนวโน้มปี 2567-2569

  • ผลผลิตยางพารามีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 2.5-3.5% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก (1) ต้นยางพาราที่ปลูกช่วงก่อนหน้าเข้าสู่ช่วงอายุที่ให้ผลผลิตน้ำยางต่อไร่สูง (2) ปริมาณฝนในภาคใต้มีแนวโน้มลดลงจากสถานการณ์ El Niño เอื้ออำนวยต่อการกรีดยาง และ (3) มาตรการสนับสนุนและรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมยางพาราของภาครัฐ

  • อุปสงค์คาดว่าปริมาณจะขยายตัวโดยตลาดในประเทศมีแนวโน้มเติบโต 3.0-4.0% ต่อปี แรงหนุนจาก (1) ความต้องการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะยานยนต์และชิ้นส่วนโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า และ (2) ความต้องการในการก่อสร้างของภาครัฐที่น่าจะเร่งตัว ตลาดส่งออกคาดว่าปริมาณจะขยายตัว 3.5-4.5% ต่อปี แรงหนุนจาก (1) การเติบโตในอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนของประเทศคู่ค้า (2) ผู้ประกอบการยางขั้นปลายหันมาใช้ยางธรรมชาติมากขึ้นแทนยางสังเคราะห์ที่ยังราคาสูง และ (3) การสต็อกสินค้าจากความกังวลภาวะ El_Niño_ทั้งนี้ แนวโน้มปริมาณส่งออกจำแนกรายผลิตภัณฑ์เป็นดังนี้  

    • ยางแผ่นรมควัน : คาดขยายตัวต่ำ 0.0-1.0% ต่อปี แม้ยางแผ่นของไทยจะมีมาตรฐานสูง แต่เริ่มเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) มากขึ้น

    • ยางแท่ง : คาดเติบโต 2.5-3.5% ต่อปี ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะยานยนต์ ยางรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์

    • น้ำยางข้น: คาดขยายตัวต่ำ 0.5-1.5% ต่อปี จากอุปสงค์ถุงมือยางและผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ที่มีอยู่แต่ลดลงจากปัญหา COVID-19 ที่คลี่คลาย

    • ยางคอมพาวด์ : คาดเติบโต 2.5-3.5% ต่อปี ทยอยฟื้นตัวตามภาคการผลิตของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ อินเดีย สหรัฐฯ จีน และยุโรป

    • ยางผสม : คาดเติบโตสูง 6.0-7.0% ต่อปี โดยขยายตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์ ยางล้อ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นหลัก ทั้งนี้ยางผสมสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายอุตสาหกรรม ซึ่งเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นผู้นำเข้าหลัก


 

มันสำปะหลัง


สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิตหัวมันสดหดตัว -11.0% YoY โดยมีแรงฉุดจาก (1) ผลผลิตเสียหายจากอุทกภัยในปี 2565 (2) เกษตรกรขาดแคลนท่อนพันธุ์เพาะปลูก เนื่องจากราคาท่อนพันธุ์สูง ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนโดยเฉพาะข้าวโพด และ (3) ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังที่ส่งผลให้ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ลดลง จากภาวะข้างต้นทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอุปทาน (Supply shortage) และปริมาณการส่งออกหดตัว ดังนี้  

    • ปริมาณส่งออกมันเส้นหดตัว -13.7% YoY แรงฉุดจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบทำให้การส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดหลักหดตัว แม้ว่าความต้องการของตลาดยังคงมีต่อเนื่องโดยเฉพาะความต้องการใช้เป็นอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดในไก่และสุกรที่เริ่มคลี่คลาย รวมถึงความต้องการในอุตสาหกรรมอาหารที่ยังคงขยายตัว โดยระดับราคาส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.9% YoY

    • ปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบและดัดแปรหดตัว -27.5% YoY และ -11.6% YoY ตามลำดับ จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบทำให้โรงงานแป้งมันสำปะหลังต้องลดอัตราการใช้กำลังการผลิตลงจาก 54% เหลือ 44% ขณะที่ความต้องการใช้มันสำปะหลังโดยเฉพาะในจีนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 9.0% YoY

  • ในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าความต้องการจากตลาดทั้งในและต่างประเทศจะยังคงสูง แต่การลดลงของพื้นที่เพาะปลูกจากการขาดแคลนท่อนพันธุ์ โรคระบาดใบด่างมันสำปะหลัง และความเสียหายจากภัยแล้ง ทำให้คาดว่าปี 2566 ผลผลิตหัวมันสดจะอยู่ที่ 30-31 ล้านตัน หดตัว -9.0 ถึง -11.0% จากที่หดตัว -2.9% ในปี 2565 สำหรับด้านอุปสงค์คาดว่าปริมาณการจำหน่ายในประเทศจะขยายตัวที่ 2.0-4.0% แรงหนุนจากการกลับมาดำเนินธุรกิจปกติโดยเฉพาะร้านอาหาร การบริโภคที่กระเตื้องขึ้นจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ความต้องการพลังงานเอทานอลที่ฟื้นตัวตามการเดินทางภายในประเทศ ส่วนปริมาณการส่งออกทั้งปีคาดว่าการส่งออกมันเส้นจะหดตัว -12.5 ถึง -13.5% แป้งมันสำปะหลังดิบ -25.0% ถึง -26.0% และแป้งมันสำปะหลังดัดแปร -11.0 ถึง -12.0% จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และระดับราคาที่สูงส่งผลให้ประเทศคู่ค้าหันไปใช้พืชหรือแป้งพืชชนิดอื่นทดแทน แม้ว่าการส่งออกมันอัดเม็ดอาจยังขยายตัวได้ 22.0-23.0% ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์



 

แนวโน้มปี 2567-2569

  • ผลผลิตหัวมันสดคาดว่าจะหดตัว -1.0% ถึง -2.0% ต่อปี ผลกระทบของภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากปรากฏการณ์ El Niño ในช่วงปี 2567-2568 และการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ตลาดในประเทศของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังคาดว่าปริมาณจะขยายตัว 3.0-5.0% ต่อปี แรงหนุนจาก (1) อุตสาหกรรมอาหารที่คาดว่าจะขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง และ (2) ความต้องการเชื้อเพลิงเอทานอลที่เพิ่มขึ้นตามการขนส่งในภาคท่องเที่ยวและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านปริมาณส่งออกคาดว่าจะหดตัวเฉลี่ย -3.0 ถึง -4.0% ต่อปี แม้มีแรงหนุนจากจีนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ยา เครื่องสำอาง อาหาร กระดาษ สารให้ความหวาน และสิ่งทอ แต่ผลจากภาวะภัยแล้ง โรคระบาด และการหันไปปลูกพืชชนิดอื่นของเกษตรกร ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตส่งมอบให้กับประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ระดับราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่สูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบส่งผลให้ประเทศคู่ค้าหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นทดแทน ทำให้คาดว่าปริมาณส่งออกมันเส้นจะอยู่ที่ 4.3-4.5 ล้านตัน หดตัว -3.0 ถึง -4.0% ต่อปี มันสำปะหลังอัดเม็ดจะอยู่ที่ 7.0-8.0 หมื่นตัน หดตัว -10.0 ถึง -11.0% ต่อปี แป้งมันสำปะหลังดิบจะอยู่ที่ 2.4-2.5 ล้านตัน หดตัว -3.0 ถึง -4.0% ต่อปี และแป้งมันสำปะหลังดัดแปรจะอยู่ที่ 0.8-0.9 ล้านตัน หดตัว -2.5 ถึง -3.5% ต่อปี

 

น้ำตาลและกากน้ำตาล


สถานการณ์ปี 2566

  • ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปี 2565/66 ขยายตัว 2.0% อยู่ที่ 93.9 ล้านตันอ้อย นำไปผลิตน้ำตาลได้ 11.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8.9% แรงหนุนจาก (1) สภาพอากาศในช่วงฤดูเพาะปลูกที่เอื้ออำนวยประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น และ (2) การเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกจากแรงจูงใจด้านราคา_อาทิ โรงงานน้ำตาลประกันราคาอ้อยขั้นต่ำ และราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่สูงขึ้น สำหรับในฤดูกาลผลิตปี 2566/67 คาดจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพียง 86.0-87.0 ล้านตัน ลดลงเฉลี่ย -7.5% ถึง -8.5% นำไปผลิตน้ำตาลได้ราว 10.1-10.2 ล้านตัน จากผลกระทบของภาวะ El Niño ที่ทำให้ปริมาณฝนลดน้อยลง และอุณหภูมิที่แห้งแล้งมากขึ้น แม้มีแรงหนุนจากปริมาณอ้อยที่เพาะปลูกปีก่อนหน้าให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และเกษตรกรยังคงเพาะปลูกต่อเนื่องจากแรงจูงใจด้านราคา โดยต้นทุนที่ยังทรงตัวสูง ทั้งด้านพลังงาน ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และค่าเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะอ้อยสดยังคงกดดันความสามารถในการทำกำไรของเกษตรกร

  • ปริมาณส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัว 3.6% YoY อยู่ที่ 6.0 ล้านตัน แบ่งเป็น น้ำตาลทรายดิบ 3.6 ล้านตัน (+4.5% YoY) น้ำตาลทรายขาว 2.3 ล้านตัน (+2.4% YoY) และกากน้ำตาล 1.4 แสนตัน (+0.2% YoY) แรงหนุนจาก (1) ความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกที่มีต่อเนื่อง (เฉลี่ย 1.0-2.0% ต่อปี) จากการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลัง COVID-19 คลี่คลาย (2) คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารที่เป็นผลจากปรากฏการณ์ El Niño และ (3) ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ (Supply shortage) ที่คลี่คลายลงเอื้อต่อการผลิตเพื่อส่งมอบให้กับประเทศคู่ค้าได้เพิ่มขึ้น รวมถึงแรงหนุนจากราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้นกว่า 8.4% YoY ทำให้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 12.3% YoY อยู่ที่ 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • ปี 2566 ปริมาณส่งออกน้ำตาล/กากน้ำตาล คาดว่าจะขยายตัว 18.0-22.0% จากความต้องการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และความกังวลด้านความมั่งคงทางอาหารโดยเฉพาะคู่ค้าของอินเดียที่เร่งนำเข้าจากไทยหลังอินเดียระงับการส่งออกน้ำตาลตั้งแต่ตุลาคม 2566 หรือลดปริมาณการส่งออกลง ด้านความต้องการในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 2.60-2.62 ล้านตัน ขยายตัว 6.0-7.0% ตามทิศทางการเปิดประเทศที่หนุนให้ภาคธุรกิจและร้านอาหารกลับมาดำเนินการตามปกติมากขึ้น

แนวโน้มปี 2567-2569

  • ผลผลิตน้ำตาลมีแนวโน้มลดลง แรงฉุดจาก (1) การเข้าสู่ภาวะ El Niño รุนแรงขึ้นทำให้สภาพอากาศแห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนและน้ำกักเก็บเพื่อการเกษตรลดลง (2) ต้นทุนในการเพาะปลูกอ้อยที่ยังทรงตัวสูง ส่งผลให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชทนแล้งทดแทน อาทิ มันสำปะหลัง และข้าวโพด แม้ว่าราคาน้ำตาลทรายโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากปัญหา อุปทานขาดแคลนจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกษตรกรบางส่วนขยายการเพาะปลูกเพื่อส่งมอบให้โรงงาน โดยคาดว่าผลผลิตอ้อยโดยเฉลี่ยจะลดลงมาที่ 75-85 ล้านตันต่อปี คิดเป็นปริมาณการผลิตน้ำตาล 8.2-9.6 ล้านตันต่อปี หดตัว -6.5 ถึง -7.5% ต่อปี

  • ปริมาณส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลคาดว่าจะกลับมาอยู่ที่ 6.0-8.0 ล้านตันต่อปี หดตัวเฉลี่ย -10.0 ถึง -11.0% ต่อปี แรงฉุดจาก (1) ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอ้อยในการผลิตน้ำตาล และ (2) การสำรองเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ  แม้จะได้อานิสงส์จากประเทศบราซิลและอินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่ที่มีแนวโน้มลดการส่งออกน้ำตาลจากการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลตามนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการใช้เอทานอลมากขึ้น สำหรับการบริโภคในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 2.7-2.9 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้น 3.5-4.5% ต่อปี ปัจจัยหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวมากขึ้นหนุนความต้องการน้ำตาลจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลจากมาตรการควบคุมความหวานสำหรับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลยังเป็นข้อจำกัดให้อัตราการขยายตัวของตลาดในประเทศยังไม่สูงนัก


 

ปาล์มน้ำมัน

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ผลปาล์มที่ใช้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 14.1 ล้านตัน (+2.9% YoY) แรงหนุนจาก (1) ปริมาณฝนที่ยังเอื้ออำนวยในช่วงครึ่งปีแรก และสภาพอากาศที่ยังเอื้ออำนวยโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกในภาคใต้ และ (2) ราคาที่สูงจูงใจให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้การผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) เพิ่มเป็น 2.6 ล้านตัน (+5.2% YoY) ส่วนความต้องการ CPO ในประเทศเร่งตัว 18.5% YoY อยู่ที่ 1.9 ล้านตัน โดยนำไปผลิตเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.1 ล้านตัน (+20.2% YoY) ผลจากการเปิดประเทศ และการเปิดรับนักท่องเที่ยวทำให้ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และสถานบันเทิงกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ส่วนไบโอดีเซลเพิ่มเป็น 0.8 ล้านตัน (+16.1% YoY) ผลจากมาตรการปรับสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซล (B100) เพิ่มจาก B5 เป็น B7 ตั้งแต่ตุลาคม 2565 และการใช้น้ำมันดีเซลในภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้น ด้านปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบหดตัวเหลือ 7.1 แสนตัน (-0.7% YoY) ผลจากราคา CPO ของไทยสูงกว่าราคาตลาดโลกทำให้ประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ อินเดีย และมาเลเซีย หันไปนำเข้าน้ำมันพืชชนิดอื่นทดแทนบางส่วน

  • ช่วงที่เหลือของปี แม้ปรากฏการณ์ El Niño ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มลดลง แต่จากสภาพอากาศที่ยังเอื้ออำนวยในช่วงครึ่งปีแรก และแรงจูงใจด้านราคา ทำให้ทั้งปี 2566 ผลผลิตปาล์มสดที่ใช้ผลิต CPO คาดว่าเพิ่มขึ้น 19.1-19.3 ล้านตัน (+0.5 ถึง +1.5%) ผลิต CPO ได้ราว 3.4-3.5 ล้านตัน (+0.5 ถึง +3.5%) ส่วนความต้องการในอุตสาหกรรมอาหาร โอเลโอเคมิคอล และธุรกิจขนส่งมีทิศทางสูงขึ้น ทำให้ปริมาณความต้องการ CPO ในประเทศมีแนวโน้มเร่งตัว 20.0-23.0% ด้านปริมาณส่งออก CPO คาดว่าหดตัว -14.0 ถึง -16.0% ตามการหดตัวของคำสั่งซื้อจากอินเดียและมาเลเซีย ส่งผลให้สต็อก CPO ณ สิ้นปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.1-3.3 แสนตัน สูงกว่าระดับที่เหมาะสม 2.0-2.5 แสนตัน ซึ่งกดดันให้ราคาปรับลดลง ได้แก่ ราคาผลปาล์มสดอยู่ที่ 4.8-5.2 บาท/กิโลกรัม เทียบปีก่อนที่ 7.7 บาท/กิโลกรัม ส่วนราคา CPO และราคาส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มคาดว่าจะลดลง -27.0 ถึง -36.0% และ -28.0 ถึง -32.0% ตามลำดับ



     

แนวโน้มปี 2567-2569

  • ผลผลิตปาล์มสดและ CPO มีแนวโน้มหดตัว -1.0 ถึง -2.0% ต่อปี ผลจากสถานการณ์ El Niño ซึ่งคาดว่าจะทวีความรุนแรงในช่วงปี 2567-2568 ทำให้ผลผลิตต่อไร่มีทิศทางลดลง โดยแรงจูงใจด้านราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรบางส่วนโค่นยางพารามาปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนจากผลของราคายางที่ตกต่ำช่วยหนุนให้ผลผลิตหดตัวไม่มากนัก ขณะที่ปริมาณความต้องการ CPO ในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปี จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล และภาคขนส่ง ที่ทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ปริมาณการส่งออกคาดว่าจะหดตัว -20.0 ถึง -25.0% ต่อปี จากปริมาณผลผลิตในประเทศที่หดตัวซึ่งต้องใช้รองรับความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้นก่อน

    • เกษตรกร คาดว่ารายได้มีแนวโน้มดีขึ้น ตามอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัว และแรงจูงใจจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่ทำให้ราคาผลปาล์มสดสูงกว่าต้นทุน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง ระดับราคาที่ผันผวนตามความต้องการของตลาดโลก และต้นทุนราคาปุ๋ยที่ยังสูง

    • โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ คาดว่าผลประกอบการมีแนวโน้มทยอยเติบโต ตามแรงหนุนของตลาดในประเทศที่ฟื้นตัว การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว และการขยายตัวของภาคขนส่งเชิงพาณิชย์ ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซลของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม อัตรากำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังสูง รวมถึงการแข่งขันแย่งชิงวัตถุดิบผลักดันให้ต้นทุนการผลิตของน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้น อาจกดดันผลกำไรของธุรกิจหรือทำให้โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบเผชิญปัญหาขาดทุนจากสต็อกได้

ไก่แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตไก่แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูปอยู่ที่ 2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น +10.8% YoY แรงหนุนจาก (1) อุปสงค์ฟื้นตัวทั้งตลาดในและต่างประเทศ และ (2) แรงจูงใจจากราคาจำหน่ายสูงขึ้นเฉลี่ยที่ 44.6 บาท/กิโลกรัม (+2.4% YoY) ด้านปริมาณการจำหน่ายในประเทศเติบโต +10.2% YoY แรงหนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในธุรกิจร้านอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องตามการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ฟื้นตัว รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยเพิ่มขึ้น  ขณะที่ปริมาณการส่งออกเติบโต +6.2% YoY แรงหนุนจาก (1) ความต้องการของประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ (2) การลดความเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าของจีน และการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์ไก่จากไทยที่ 0% จนถึงสิ้นปี 2566 ของเกาหลีใต้ และ (3) การระบาดของไข้หวัดนกในประเทศคู่ค้าสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ส่งผลให้ผลผลิตลดลง และหันมานำเข้าจากไทยมากขึ้น

  • ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าปัจจัยหนุนการขยายตัวด้านอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศข้างต้นจะยังเอื้อให้ปริมาณการผลิตขยายตัว แม้ว่าจะมีปัจจัยเชิงลบด้านต้นทุนราคาอาหารปศุสัตว์ที่ยังคงสูง และภาวะคลี่คลายลงของปัญหาโรคระบาดไข้หวัดนกในตลาดคู่ค้าที่อาจลดทอนความต้องการนำเข้าไก่จากไทย โดยทั้งปี 2566 คาดว่าปริมาณการผลิตเติบโต 5.0-7.0% ตามปริมาณการจำหน่ายทั้งการบริโภคในประเทศ และส่งออกที่ขยายตัว 6.0-8.0% และ 4.0-5.0% ตามลำดับ

​แนวโน้มปี 2567-2569

  • ปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ไก่โดยรวมมีทิศทางขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี อยู่ที่ 3.2-3.4 ล้านตันต่อปี รองรับความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยปริมาณจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงกระแสรักสุขภาพทำให้ผลิตภัณฑ์ไก่ที่มีไขมันต่ำเป็นตัวเลือกของผู้บริโภคมากขึ้น สำหรับปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่คาดว่าเติบโตชะลอลงอยู่ที่ 2.0-3.0% ต่อปี  ตาม (1) ทิศทางของกำลังซื้อในตลาดคู่ค้าที่น่าจะกระเตื้องขึ้นเป็นลำดับ (2) ราคาสินค้าไก่ที่มีราคาต่ำกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น และ (3) ความสัมพันธ์ทางการค้าของไทยกับคู่ค้าในตะวันออกกลางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียที่ยอมรับมาตรฐานฮาลาลผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยมากขึ้น

  • ปัจจัยเสี่ยงที่อาจยังส่งผลกดดันแนวโน้มทางธุรกิจ ได้แก่ (1) แนวโน้มการระบาดของไข้หวัดนกในอุตสาหกรรมปศุสัตว์มีทิศทางคลี่คลายจากการพัฒนาวัคซีนและการเลี้ยงในระบบปิด ส่งผลให้ประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มลดการนำเข้าหรือหันไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่ง (2) ต้นทุนอาหารปศุสัตว์ที่สูงขึ้น ขณะที่ราคาจำหน่ายมีทิศทางลดลงจากปริมาณผลผลิตไก่ที่สูง (3) ผู้บริโภคมีทางเลือกเนื้อสัตว์ที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ ราคาเนื้อสุกรที่มีทิศทางลดลงตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสุกรจากโรคระบาด ASF ที่ทยอยคลี่คลาย ราคาเนื้อวัวที่มีแนวโน้มลดลงจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลงทางการค้า AANZFTA (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) และ (4) การกีดกันจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non Tariff Barrier: NTB) โดยเฉพาะมาตรการด้านสวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และธรรมมาภิบาล (ESG)

ปลากระป๋อง

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตหดตัว -15.2% YoY แบ่งเป็นปลาทูน่ากระป๋อง (-17.7% YoY) และปลาซาร์ดีนกระป๋อง (-4.6% YoY) สาเหตุหลักมาจาก (1) ปริมาณปลาที่จับได้น้อยลง จากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นอาทิ ราคาปลาทูน่า +12.9% YoY และราคาปลาซาร์ดีน (+3.8% YoY) ด้านปริมาณการบริโภคในประเทศเติบโต 1.2% YoY โดยเฉพาะปลาทูน่าที่เพิ่มสูงถึง 37.8% YoY เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายมากขึ้น และตอบโจทย์การบริโภคเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มกำลังซื้อระดับกลาง-บนที่ฟื้นตัว ขณะที่ปลาซาร์ดีนหดตัว -12.9% YoY จากผู้บริโภคลดการกักตุนอาหาร โดยหันไปบริโภคอาหารสดและอาหารนอกบ้านมากขึ้น สำหรับปริมาณการส่งออกปลากระป๋องของไทยหดตัว -15.4% YoY อยู่ที่ 343.5 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (-10.2% YoY) โดย (1) มูลค่าปลาทูน่ากระป๋องหดตัว -16.8% YoY จากราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้นถึง 4,649 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน (+7.4% YoY) ตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูง กดดันความต้องการซื้อในตลาดหลักให้หดตัว อาทิ สหรัฐฯ (-16.6% YoY) ออสเตรเลีย (-20.1% YoY) และอียิปต์ (-77.2% YoY) (2) ปลาซาร์ดีนกระป๋องหดตัว -3.6% YoY จากราคาส่งออกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2,626 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน (+1.1% YoY) ทำให้คู่ค้าหลักนำเข้าลดลง อาทิ แอฟริกาใต้ (-13.1% YoY) และ สหรัฐฯ (-8.9% YoY)

  • ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานข้างต้นยังคงส่งผลต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าทั้งปี 2566 ปริมาณการผลิตจะหดตัว -12.0 ถึง -14.0% โดยต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าจะยังสูงจากผลกระทบของภาวะ El Niño ทำให้ปริมาณปลาจับได้มีน้อย ด้านการผลิตปลาซาร์ดีนกระป๋องหดตัวตามอุปสงค์เพื่อการกักตุนที่น้อยลง ประกอบกับสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูง ปริมาณการบริโภคในประเทศคาดว่าจะยังคงเติบโต 1.0-2.0% จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้หลากหลายมากขึ้น ทั้งในกลุ่มที่เน้นความเร่งด่วน และกลุ่มผู้รักสุขภาพ ด้านปริมาณการส่งออกคาดว่าจะหดตัว -14.0 ถึง -16.0% ตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ยังคงอ่อนแอ ประกอบกับผู้บริโภคบางส่วนหันไปรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่มากขึ้น


 

แนวโน้มปี 2567-2569

  • การผลิตปลากระป๋องคาดว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.0-1.0% ต่อปี จากอุปทานสัตว์น้ำที่จะน้อยลงจากผลของ El Niño ที่รุนแรงขึ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเล รวมทั้งวัตถุดิบนำเข้าโดยเฉพาะปลาทูน่าที่คาดว่าจะยังสูง การบริโภคในประเทศคาดว่าจะเติบโต 4.0-6.0% ต่อปี ตามภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคชุมชนเมืองซึ่งมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 1.0-3.0% ต่อปี  จากภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวเป็นลำดับ แต่อัตราขยายตัวจะไม่สูงนัก จาก (1) อุปสงค์หรือการกักตุนที่จะไม่มากเท่าช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 (2) การทำข้อตกลงทางการค้าของประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะ FTA ระหว่างจีนและเอกวาดอร์ ทำให้เอกวาดอร์ที่เป็นคู่แข่งสำคัญ มีต้นทุนนำเข้าในตลาดจีนลดลง และ (3) ราคาบรรจุภัณฑ์ และราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวขึ้นจากผลกระทบของสงครามตะวันออกกลาง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ

อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

 

อาหารพร้อมทาน

 

สถานการณ์ปี 2566

ปี 2566 ปริมาณจำหน่ายในประเทศมีทิศทางหดตัว -1.0 ถึง -2.0% เนื่องจากผู้บริโภคสามารถกลับมาใช้จ่ายและรับประทานอาหารนอกบ้านได้ตามปกติทำให้ลดการกักตุนอาหาร ด้านปริมาณการส่งออกอาหารพร้อมทานคาดว่าจะเติบโต 1.5-2.0% แม้การแข่งขันรุนแรงและต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแต่ยังมีแรงหนุนจาก (1) ความเชื่อมั่นในคุณภาพและความนิยมในรสชาติอาหารไทย และ (2) ความกังวลด้านความมั่นคงด้านอาหารทั้งจากแนวโน้มผลผลิตเกษตรที่ลดลงและประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป:_การจำหน่ายในประเทศคาดว่าหดตัว -1.5 ถึง -2.5% (จาก -1.3% ในปี 2565) เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับเป็นสินค้าควบคุม ส่งผลให้ผู้ผลิตทยอยลดการจำหน่ายในประเทศลง และหันไปส่งออกมากขึ้น ทำให้การส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 6.0-7.0%  (จาก -3.6% ในปี 2565) โดยมีแรงหนุนจากความนิยมอาหารไทยในต่างประเทศ และระดับราคาที่เข้าถึงง่าย

  • อาหารสำเร็จรูป: การจำหน่ายในประเทศคาดว่าหดตัว -1.0 ถึง -2.0%  (จาก +3.6% ในปี 2565) เนื่องจากผู้บริโภคมีช่องทางการบริโภคมากขึ้น อาทิ การรับประทานอาหารนอกบ้านได้ตามปกติ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มสั่งอาหาร (Food delivery platform) การส่งออกคาดว่าจะหดตัว -3.0 ถึง -4.0% (จาก +2.6% ในปี 2565) จากราคาที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุน และเป็นทางเลือกอันดับรองจากอาหารปรุงสดใหม่

  • ซีเรียลพร้อมทาน: การจำหน่ายในประเทศคาดว่าขยายตัว 3.0-4.0% (จาก +3.5% ในปี 2565) แรงหนุนจากกระแสรักสุขภาพ และตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคที่เร่งรีบในสังคมเมืองที่กำลังขยายตัว การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย 1.0-2.0% (จาก +11.5% ในปี 2565) เนื่องจากอุปทานในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศคู่ค้ามีทางเลือกอื่นที่หลากหลาย

  • ซุปพร้อมทาน: การจำหน่ายในประเทศคาดว่าหดตัว -2.0 ถึง -3.0% (จาก 0% ในปี 2565) เนื่องจากผู้บริโภคนิยมรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ ประกอบกับกระแสรักสุขภาพทั่วโลกโดยเฉพาะการลดอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่นเดียวกับการส่งออกที่คาดว่าจะหดตัว -12.5 ถึง -13.5% (จาก -7.3% ในปี 2565)


แนวโน้มปี 2567-2569

  • แนวโน้มปริมาณการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี แรงหนุนจาก (1) กำลังซื้อที่กระเตื้องขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (2) การขยายตัวของช่องทางจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากขึ้น และ (4) แนวโน้มการบริโภคที่เน้นความเร่งรีบหลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเต็มรูปแบบ ด้านปริมาณการส่งออกอาหารพร้อมทานคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี โดยได้แรงหนุนจาก (1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว (2) ราคายังจูงใจในสภาวะที่ค่าครองชีพยังคงสูงในประเทศคู่ค้า (3) การขยายตัวของเมืองและช่องทางการจำหน่ายที่เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นทั้งออนไลน์และออฟไลน์

  • ปัจจัยเสี่ยง (1) สภาพอากาศที่แปรปรวน อาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานในการผลิตและราคาวัตถุดิบ (2) ภาครัฐในหลายประเทศเข้มงวดมาตรการภาษีเพื่อควบคุมความเค็ม (3) มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มต้นทุนในการปรับกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ และ (4) ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงครามที่อาจยืดเยื้อ ส่งผลต่อต้นทุนด้านการขนส่งและบรรจุภัณฑ์


เครื่องดื่ม​

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตลดลง -3.8% YoY จากผลกระทบของภาษีน้ำตาลรอบที่ 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ทำให้ผู้ผลิตกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับแผนลดปริมาณการผลิตเพื่อระบายสต็อก ขณะที่การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรับลดลงจากผลของราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น อาทิ มอลต์ (+33.4% YoY) ข้าวเปลือก (+17.7% YoY) ด้านปริมาณการจำหน่ายในประเทศเติบโต +6.7% YoY ปัจจัยหนุนจากความต้องการเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (+9.8% YoY) เป็นหลัก จาก (1) อุณหภูมิที่สูงขึ้นผิดปกติจากผลของคลื่นความร้อน (Heatwave) (2) การฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หดตัว -2.9% YoY จากภาวะค่าครองชีพสูง ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนลดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย ประกอบกับกระแสรักสุขภาพที่มีมากขึ้น สำหรับปริมาณการส่งออกหดตัว -1.6% YoY จาก (1) ภาวะกำลังซื้อในตลาดเพื่อนบ้านที่ซบเซา โดยเฉพาะเมียนมา และกัมพูชา (2) ค่าเงินประเทศเพื่อนบ้านอ่อนค่าลงมาก ซึ่งเพิ่มต้นทุนในการนำเข้า รวมถึง (3) ประเทศเพื่อนบ้านใช้มาตรการกีดกันเครื่องดื่มบางประเภทของไทย

  • คาดว่าทั้งปี 2566 ปริมาณการผลิตจะหดตัว -3.5 ถึง -4.0% จากต้นทุนวัตถุดิบที่ราคาสูงต่อเนื่องอย่างข้าว (+17.7% YoY) และอ้อย (+6.6% YoY) รวมถึงสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูง (+16.3% YoY) ส่วนปริมาณจำหน่ายจะขยายตัว 4.0-6.0% จากการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว และร้านอาหาร ขณะที่ปริมาณส่งออกคาดว่าจะหดตัวต่อเนื่อง -0.5 ถึง -1.5% เนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักยังคงใช้มาตรการกีดกันการนำเข้าเครื่องดื่มของไทยอย่างต่อเนื่อง
     

แนวโน้มปี 2567-2569

  • การผลิตคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 1.5-2.5% ต่อปี จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยเน้นเครื่องดื่มสุขภาพตามกระแสนิยม ด้านปริมาณการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.0-4.0% ต่อปี ตาม (1) ความต้องการของผู้บริโภคที่จะเพิ่มขึ้นจากผลของสภาวะอากาศที่ร้อนจากภาวะ El Niño (2) การฟื้นตัวมากขึ้นของธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร ผับ บาร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (3) การขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่าย และ (4) กำลังซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับปริมาณส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% ต่อปี จากการเปิดด่านชายแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น  โดยเฉพาะเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น แม้ว่าปริมาณส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังมีแนวโน้มหดตัวตามกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอทำให้ลดการบริโภคสินค้าไม่จำเป็น

  • ปัจจัยเสี่ยง (1) ต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบเกษตรจากผลกระทบของ El Niño (2) มาตรการภาษีความหวาน (3) กระแสรักสุขภาพ และกฎหมายที่ควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (4) การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดเบียร์จากการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ และ (5) ปัญหายืดเยื้อของสงครามอาจส่งผลต่อราคาน้ำมันและบรรจุภัณฑ์


 

อุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค

 

ผลิตไฟฟ้า

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2.6% YoY โดยเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปี 2565 การใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน (สัดส่วน 28.6% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด) เพิ่มขึ้น 6.2% จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ขณะที่ภาคธุรกิจ (สัดส่วน 24.5%) +8.4% จากการฟื้นตัวของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการท่องเที่ยว ส่วนภาคอุตสาหกรรม (สัดส่วน 42.1%) หดตัว -3.4% ตามการหดตัวของกิจกรรมในภาคส่งออก (-3.4%) รวมถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าขายปลีกตามต้นทุนพลังงานที่ปรับสูงขึ้น (ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20.6% YoY) และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) รวม 247.1 สตางค์/หน่วย (เฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม) ด้านการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak demand) อยู่ที่ 34,130.5 เมกะวัตต์ในเดือนพฤษภาคม (+5.8% จากระดับสูงสุดปี 2565)

      ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมภาคส่งออก (ขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ในเดือนตุลาคม) และการเข้าสู่ช่วงเทศกาลปลายปี รวมถึงค่าไฟฟ้าที่ลดลงตามนโยบายภาครัฐ (เหลือ 3.99 บาท/หน่วยจากเฉลี่ย 4.86 บาท/หน่วยในช่วงครึ่งแรกของปี) ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปีจะขยายตัว 3.0-3.5% เทียบกับ +3.6% ปี 2565

  • ปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2.9% YoY โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2565 พบว่า EGAT (สัดส่วน 32.0% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด) ผลิตเพิ่มขึ้น 8.8% (เชื้อเพลิงมาจากพลังน้ำขนาดใหญ่และก๊าซธรรมชาติ) กลุ่ม IPP (สัดส่วน 25.1%) +8.2% กลุ่ม SPP (สัดส่วน 23.4%) +2.6% และกลุ่ม VSPP (สัดส่วน 5.5%) +2.3% ส่วนการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (สัดส่วน 14.1%) หดตัว -14.6% ด้านเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามาจากก๊าซธรรมชาติ (สัดส่วน 58.0%) เพิ่มขึ้น 12.4% YoY (ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตจากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่) และพลังงานหมุนเวียน (สัดส่วน 10.4%) +6.5% YoY

  • การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามสัญญารับซื้อของรัฐ ช่วงครึ่งแรกของปี มีกำลังการผลิตติดตั้งสะสมรวม 9,946 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 2.1% จากสิ้นปี 2565 โดยไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล +2.8% และพลังงานแสงอาทิตย์ +3.2% จากสิ้นปี 2565 ทั้งนี้ การผลิตและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบที่เกิดขึ้นจริงคิดเป็นสัดส่วน 37.2% ของเป้าหมายตามแผน AEDP (26,491 เมกะวัตต์ภายในปี 2580) ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลมีสัดส่วน 66.9% ของเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวล 5,790 เมกะวัตต์

แนวโน้มปี 2567-2569

  • ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากอุปสงค์การใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปีตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าจะปรับสูงขึ้นตามแผน PDP และ AEDP ซึ่งทั้ง 2 แผนเอื้อให้ภาคเอกชนขยายกำลังการผลิตและเพิ่มการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ สำหรับรายได้และทิศทางการลงทุนของผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม สรุปได้ดังนี้

    • IPP คาดรายได้ปรับดีขึ้นเป็นลำดับ จากปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นทั้งยังทยอยลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะหมดอายุสัญญาในช่วงปีปี 2573-2580 จำนวน 6,969 เมกะวัตต์ รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน

    • SPP คาดรายได้เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผลจาก (1) ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติระบบ Cogeneration เพื่อทดแทนโรงเดิมที่จะทยอยสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2568 (2) อัตราค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ SPP hybrid firm มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเพียง 1.89 บาท/หน่วย ซึ่งต่ำกว่าราคาขายปลีกค่าไฟฟ้าซึ่งคาดว่าจะเฉลี่ยที่ 4.0 บาท/หน่วย และ (3) การลงทุนโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

    • VSPP คาดรายได้และการลงทุนจะมีความสม่ำเสมอมากขึ้น แรงหนุนจาก (1) ภาครัฐมีแผนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 11,095 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 และ (2) นโยบาย Net zero carbon เน้นผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดภายใต้การส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล

โรงกลั่นน้ำมัน

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรก ธุรกิจได้แรงหนุนจากอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่ขยายตัว 2.1% YoY ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวกระตุ้นความต้องการใช้น้ำมันในภาคขนส่งเพิ่มขึ้น สะท้อนจากปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันอากาศยานที่เพิ่มขึ้น 4.9% YoY และ 65.2% YoY ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกที่หดตัว -3.4% YoY ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในภาคอุตสาหกรรมชะลอลง ส่งผลให้การบริโภคน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาปรับลดต่อเนื่องที่ -4.5% YoY และ -11.4% YoY ตามลำดับ ขณะที่ค่าการกลั่นรวม (Gross refinery margins) ของไทยมีทิศทางแคบลง ผลจากราคาน้ำมันดิบโลกปรับลดลง (เบรนท์ -20.7% YoY) ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของค่าการกลั่นในตลาดสิงคโปร์ (ช่วงครึ่งปีแรกเฉลี่ยที่ 6.1 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จาก 14.7 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกันปีก่อน)

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าค่าการกลั่นรวมจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับสูงขึ้นจากการจำกัดอุปทานน้ำมันเพื่อพยุงราคาของกลุ่ม OPEC+_และสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ปะทุขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 83 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (-13.8% YoY) อีกทั้งยังเข้าสู่ช่วงเทศกาลปลายปี ส่งผลให้ปี 2566 ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-2.5% ขณะที่ค่าการกลั่นของไทยจะเฉลี่ยที่ 6.0-6.5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจาก 11.1 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2565
     

แนวโน้มปี 2567-2569​

วิจัยกรุงศรีคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยที่ 87 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในปี 2567 จากการจำกัดอุปทานน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ เพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบโลกส่งผลให้อุปทานอยู่ในภาวะตึงตัว (Supply tightness) ขณะที่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อและอิสราเอล-ฮามาสที่ปะทุขึ้น จะส่งผลต่อตลาดน้ำมันในเชิงจิตวิทยาอยู่เป็นระยะ ทำให้ราคามีความผันผวนในทิศทางที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลงในปี 2568 และ 2569 อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 80 และ 76 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ จากปัจจัยด้านสงครามที่คลี่คลาย ทำให้ราคาน้ำมันกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นแต่จะสูงกว่าก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 สำหรับทิศทางธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน สรุปได้ดังนี้

  • ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 3.0-3.5% ต่อปีตามการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 3.0-4.0% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มสู่ระดับใกล้เคียงช่วงก่อน COVID-19 ภายในปี 2568 รวมถึงปริมาณรถยนต์ใหม่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง

  • ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2567 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 46.0 บาท/ลิตรในปี 2567 ก่อนลดลงสู่ระดับเฉลี่ย 44.0 และ 42.0 บาท/ลิตร ในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ ส่วนน้ำมันดีเซลจะเฉลี่ยที่ 33.5 32.5 และ 31.5 บาท/ลิตร ตามลำดับ

  • ค่าการกลั่นรวมจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 6.0-7.0 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5.0 ดอลลาร์ฯในช่วงก่อนเกิด COVID-19 (ปี 2555-2562) ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตจะอยู่ที่ระดับ 85.0-90.0% สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่จะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป



เอทานอล  

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรก ความต้องการใช้เอทานอลลดลง -8.7% YoY โดยเฉลี่ยที่ 3.6 ล้านลิตร/วัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความนิยมใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ขณะที่การใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ปรับลดถึง -80.5% YoY (สัดส่วน 0.6% ของการใช้แก๊สโซฮอล์ทั้งหมดเทียบกับ 3.1% ในช่วงเดียวกันปีก่อน) หลังกองทุนน้ำมันลดการอุดหนุนด้านราคา ส่งผลให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้แก๊สโซโฮล์ E10 (95) (สัดส่วน 58%) และ E20 (สัดส่วน 19.1%) ซึ่งราคาต่ำกว่า E85 ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าความต้องการเดินทางจะมีมากขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว (High season) ในเดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 และช่วงเทศกาลปลายปี จึงคาดว่าความต้องการใช้เอทานอลเฉลี่ยทั้งปี 2566 จะลดลง  -6.7% อยู่ที่ 3.6 ล้านลิตร/วัน เทียบกับ 3.9 ล้านลิตร/วันในปี 2565

  • ปริมาณการผลิต 9 เดือนแรกอยู่ที่ 3.8 ล้านลิตร/วัน (-8.9% YoY) โดยการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลอยู่ที่ 2.35 ล้านลิตร/วัน (-6.9% YoY) มันสำปะหลัง 1.2 ล้านลิตร/วัน (-15.3% YoY) และน้ำอ้อย 0.2 ล้านลิตร/วัน (+12.4% YoY) ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการผลิตเอทานอลจะเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ทั้งปี 2566 ปริมาณการผลิตเอทานอลจะลดลง -2.0 ถึง -3.0% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตจะอยู่ที่ 58.0% เทียบกับ 59.5% ปี 2565

  • ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นทำให้มาร์จินของผู้ประกอบการแคบลง ผลจากมันสำปะหลังขาดแคลนทำให้ต้องแย่งชิงวัตถุดิบกับกลุ่มธุรกิจอื่น อาทิ อาหารสัตว์ โดยราคาหัวมันสดเพิ่มขึ้น 17% YoY เฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 2.9 บาท ทำให้ต้นทุนผลิตเอทานอลจากหัวมันสดอยู่ที่ลิตรละ 26.2 บาท (+11.2% YoY) และราคามันเส้นเพิ่มขึ้น 6.4% YoY เฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 7.2 บาท ทำให้ต้นทุนผลิตอยู่ที่ลิตรละ 27.0 บาท (+4.4% YoY) ขณะที่ผลผลิตอ้อยของไทยลดลงในปี 2565 ทำให้ราคากากน้ำตาลปี 2566 ทรงตัวสูงแม้จะลดลง -36.8% YoY โดยเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 5.3 บาท ส่งผลให้ต้นทุนผลิตเอทานอลอยู่ที่ลิตรละ 29.7 บาท (-30.3% YoY)



     

​แนวโน้มปี 2567-2569

  • ความต้องการใช้เอทานอลในช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-2.5% ต่อปีที่ระดับเฉลี่ย 3.5-3.8 ล้านลิตร/วัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

    • ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (Gasoline)_มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคขนส่ง โดยคาดว่านักท่องเที่ยวไทยจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนวิกฤต COVID-19 ในปี 2566 ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับปี 2562 ภายในปี 2568

    • แผนส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน ซึ่งเบื้องต้นทางการวางเป้าหมายให้มีราคาต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 ประมาณ 3.0 บาทต่อลิตร เพื่อทยอยยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ E10 (91) และ E85 ในระยะต่อไป

    • จำนวนรถยนต์สะสมที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-2.5% ต่อปี โดยรถยนต์รุ่นใหม่สามารถรองรับการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ได้ทั้งหมด

    • ภาครัฐมีแนวทางส่งเสริมให้ใช้เอทานอลในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ นอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ซึ่งสอดคล้องกับสัญญาณการร่วมลงทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยกับนักลงทุนต่างชาติเพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพ Bio-Polyethylene ที่ใช้เอทานอลเป็นวัตถุดิบ

ไบโอดีเซล

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น 25.3% YoY เฉลี่ยที่ 4.5 ล้านลิตร/วัน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวนำโดยภาคท่องเที่ยว ทำให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลจากเดิม 5% (B5) เป็น 7% (B7) เพื่อช่วย (1) พยุงราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในประเทศที่ปรับลดตามราคาตลาดโลก เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น และการกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย และ (2) ปรับลดต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลเพื่อลดค่าครองชีพประชาชน (ราคาไบโอดีเซล 9 เดือนแรกลดลง -31.2% YoY) ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซล (B100) เพิ่มขึ้น 21.1% YoY เฉลี่ย 4.35 ล้านลิตร/วัน

  • ช่วงไตรมาส 4 คาดว่าความต้องการใช้ไบโอดีเซลจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากมติทางการให้ขยายเวลาคงสัดส่วนผสมไบโอดีเซล B7 ถึงสิ้นปี 2566 เพื่อพยุงราคา CPO ที่ปรับลดต่อเนื่อง และการเข้าสู่ช่วงเทศกาลเดินทางและท่องเที่ยว  ทำให้ปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ไบโอดีเซลทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ 4.6 ล้านลิตร/วัน (+20.0% YoY) และ 4.4 ล้านลิตร/วัน (+16.3% YoY) ตามลำดับ ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตจะอยู่ที่ 44.6% (จาก 37.1% ในปี 2565)

  • ราคาขายอ้างอิงช่วง 9 เดือนแรก (ผู้ผลิตไบโอดีเซลขายให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง) ลดลง -31.2% YoY โดยเฉลี่ยที่ 33.9 บาท/ลิตรหรือ 39.2 บาท/กิโลกรัม จากสต็อก CPO ในประเทศที่เพิ่มขึ้นหลังผลผลิตทยอยเข้าสู่ตลาดเฉลี่ยเดือนละ 0.285 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าความต้องการใช้ในประเทศที่เฉลี่ยเดือนละ 0.206 ล้านตัน ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากผลผลิตพืชน้ำมันโลกรวมถึงปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคา CPO และไขน้ำมันปาล์ม (Palm stearin) ในประเทศลดลง -34.0% YoY และ -33.9% YoY โดยเฉลี่ยที่ 31.2 และ 31.8 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ด้านส่วนต่างราคาขายไบโอดีเซลกับราคา CPO หรือ Spread อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 8.0 บาท/กิโลกรัม ลดลงจาก 9.6 บาท/กิโลกรัมในช่วงเดียวกันของปีก่อน 


     

แนวโน้มปี 2567-2569

  • อุตสาหกรรมไบโอดีเซลมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าความต้องการใช้จะเฉลี่ยที่ 4.5-5.0 ล้านลิตร/วัน หรือเติบโตเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

    • ความต้องการใช้ยานยนต์ดีเซลในภาคขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก (1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจไทย ขณะที่ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ระดับ 43 ล้านคนในปี 2569 (2) การขยายตัวต่อเนื่องของธุรกิจ E-commerce ช่วยหนุนความต้องการรถขนส่งเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะรถปิกอัพ และ (3) จำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลสะสมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี

    • มาตรการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลและสร้างสมดุลน้ำมันปาล์มจากภาครัฐ เพื่อดูดซับผลผลิตปาล์มในประเทศและพยุงราคาปาล์มให้สูงขึ้น อาทิ การเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซล (B100)_ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และการขยายเวลาจ่ายเงินชดเชยแก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพถึง 24 กันยายน 2567 รวมถึงการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์ม

    • ผู้ผลิตยานยนต์มีแนวโน้มพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลที่รองรับการใช้ไบโอดีเซลในสัดส่วนที่สูงขึ้น ทั้งรถขนาดใหญ่ รถปิกอัพ รถอเนกประสงค์และรถบรรทุก



       

      อุตสาหกรรมปิโตรเคมี


ปิโตรเคมี

  

สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรก ความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศหดตัว -20.9% YoY ผลจากมูลค่าส่งออกของไทยหดตัว -3.4% YoY ลดทอนอุปสงค์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ผลิตภัณฑ์ฯ เป็นวัตถุดิบ ด้านปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์ฯ เพิ่มขึ้น 34.9% YoY_อานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ทั้งนี้ ราคาผลิตภัณฑ์ฯ หลายประเภทปรับลดลงตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ขณะที่ราคาวัตถุดิบตั้งต้นทรงตัวสูงตามราคาน้ำมันดิบโลก (ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ย 82.0 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล) กดดัน Spread ลดลงในบางผลิตภัณฑ์ ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์ฯ จะกระเตื้องขึ้น ตามการเติบโตของภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายช่วงเทศกาลปลายปี ส่งผลให้ทั้งปี 2566 การบริโภคผลิตภัณฑ์ฯ ในประเทศจะหดตัว -10.0 ถึง -15.0% YoY ขณะที่ปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้น 35.0-40.0% YoY

    • แนฟทา: ช่วง 8 เดือนแรก ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 649.8 ดอลลาร์ฯ/ตัน (-19.9% YoY) ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ (แต่สูงกว่าปี 2562 ซึ่งเฉลี่ยที่ 530.8 ดอลลาร์ฯ/ตัน) โดยทั้งปี 2566 คาดว่าราคาแนฟทาจะเฉลี่ยที่ 650.0 ดอลลาร์ฯ/ตัน

    • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น: ช่วง 8 เดือนแรก Spread ของ Ethylene เฉลี่ยที่ 247.4 ดอลลาร์ฯ/ตัน (-23.8% YoY) และ Propylene เฉลี่ยที่ 250.4 ดอลลาร์ฯ/ตัน (+8.2% YoY) โดยทั้งปี 2566 คาดว่า Spread จะอยู่ที่ 247.0 และ 250.0 ดอลลาร์ฯ/ตัน ตามลำดับ

    • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย: ช่วงเดือน 8 แรก Spread ของ HDPE เฉลี่ย 112.8 ดอลลาร์ฯ/ตัน (+70.0% YoY) ขณะที่ Prolypropylene เฉลี่ยที่ 87.1 ดอลลาร์ฯ/ตัน (-78.6% YoY) สำหรับทั้งปี 2566 คาดว่า Spread จะเฉลี่ยที่ 112.0 และ 87.0 ดอลลาร์ฯ/ตัน ตามลำดับ
       

แนวโน้มปี 2567-2569

  • การบริโภคผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง (IMF คาดว่า GDP โลกจะเติบโตในช่วง 2.9-3.2%) ช่วยหนุนกำลังซื้อผู้บริโภคและทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสำหรับอุตสาหกรรมปลายน้ำปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันทำให้อุปสงค์ผลิตภัณฑ์ฯ เพิ่มขึ้นได้จำกัด อาทิ การห้ามใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง และการส่งเสริมให้ใช้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ด้านอุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากกำลังการผลิตใหม่จากจีนและตะวันออกกลาง ซึ่งจะกดดันราคาของผลิตภัณฑ์ฯ บางประเภท ปัจจัยข้างต้นจะส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศและปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-2.5% และ 0.5-1.0% ต่อปี ตามลำดับ

  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับสายการผลิตสู่เม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ อาทิ ABS เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (Specialty_products) ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องกลุ่ม S-curve (เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และเครื่องมือแพทย์) การผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Biodegradable plastics)_และการจัดตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (Recycled_plastics) คุณภาพสูงแบบครบวงจรระดับ Food grade เพื่อตอบสนองกระแสรักษ์โลก





 

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

 

ยาแผนปัจจุบัน

 

สถานการณ์ปี 2566

  • อุตสาหกรรมยามีทิศทางเติบโตตามความต้องการบริโภคยาและเวชภัณฑ์ที่ได้ปัจจัยหนุนจาก (1) อัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการกลับมาดำเนินกิจกรรมตามปกติหลัง COVID-19 คลี่คลาย (2) การพัฒนาช่องทางการเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (3) การกลับมาของกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ระดับ 27.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 11.2 ล้านคนปี 2565) และ (4) การจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาล ได้อานิสงส์จากความต้องการใช้ยาในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน) ขณะที่ร้านขายยาได้แรงหนุนจากนโยบาย ‘รับยาที่ร้านขายยา’ (ตามสิทธิบัตรทอง) ส่งผลให้ปี 2566 มูลค่าจำหน่ายยาจะเติบโตเฉลี่ย 5.5-6.0% เทียบกับ 5.7% ปี 2565 โดยสถานการณ์ช่วง 9 เดือนแรก สรุปได้ดังนี้ 

    • การผลิตและการบริโภคยาในประเทศ1/ได้อานิสงส์จากการกลับมารักษาในสถานพยาบาลของผู้ป่วยโรคทั่วไปและโรคตามฤดูกาล (9 เดือนแรก ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น 96.6% YoY อาทิ ไข้หวัดใหญ่ +517.5% YoY และไข้เลือดออก +261.8% YoY) สำหรับยาที่ผลิตในประเทศ ได้แก่ ยาเม็ด (สัดส่วน 47.6% ของมูลค่าจำหน่ายยาทั้งหมด) มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2.0% YoY ยาน้ำ (สัดส่วน 22.9%) +5.9% YoY ยาฉีด (สัดส่วน 8.5%) +12.5% YoY ยาแคปซูล (สัดส่วน 7.9%) +8.1% ยาครีม (สัดส่วน 7.8%) +20.0% YoY และยาผง (สัดส่วน 5.3%) +7.3% YoY ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยที่ 59.5% จาก 61.5% ปี 2565 

    • มูลค่าส่งออกยาและเวชภัณฑ์อยู่ที่ 12.2 พันล้านบาท ลดลง -0.9% YoY ผลจากความต้องการวัคซีน (สัดส่วน 6.4% ของมูลค่าส่งออกยาทั้งหมด) หดตัว -29.5% YoY ขณะที่ยารักษาโรคและอื่นๆ (สัดส่วน 93.6%) +2.0% YoY โดยตลาดหลัก CLMV (สัดส่วนรวมกัน 50.6%) -9.9% YoY ส่วนตลาดฮ่องกง ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ (สัดส่วนรวมกัน 19.5%) +27.6% YoY สำหรับประเทศที่นำเข้าวัคซีนจากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ ฮ่องกง (+206.2% YoY) กัมพูชา (+10.6% YoY) และเมียนมา (+8.9% YoY) ด้านมูลค่านำเข้ายาอยู่ที่ 76.5 พันล้านบาท หดตัว -12.5% YoY ผลจากการผลิตยาบางประเภททดแทนการนำเข้า ขณะที่การนำเข้ายา (รวมวัคซีน) จากเยอรมนีหดตัว -31.1% YoY สหรัฐฯ -30.1% YoY และอินเดีย -13.4% YoY ส่วนการนำเข้าวัคซีน (สัดส่วน 29.2%ของมูลค่านำเข้ายาทั้งหมด) หดตัว -43.9% YoY เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลาย ทำให้ความต้องการใช้วัคซีน (อาทิ Moderna และ Pfizer) ลดลง 


 

​ แนวโน้มปี 2567-2569

  • มูลคาจำหน่ายยาในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 5.5-6.5% ต่อปี จากปัจจัยหนุน ได้แก่ (1) จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของชุมชนเมืองและประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น (2) การเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่2/ (3) การเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (โดยเฉพาะสิทธิบัตรทอง) ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาในสถานพยาบาลและร้านขายยามากขึ้น (4) กระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน หนุนความต้องการยาประเภทเสริมภูมิคุ้มกันหรือป้องกันโรค และ (5) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่วยเชื่อมห่วงโซ่อุปทานของยาตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้ป่วยให้เข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น

  • ความท้าทายของอุตสาหกรรมจะมาจาก (1) การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้นำเข้า และศักยภาพการแข่งขันของผู้ผลิตยาในประเทศต่ำกว่าเมื่อเทียบกับยานำเข้า และ (2) ต้นทุนของผู้ผลิตยาที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงโรงงานตามมาตรฐาน GMP-PIC/S และราคานำเข้าวัตถุดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

      1/ ผลสำรวจจากผู้ประกอบการในประเทศซึ่งส่วนใหญ่ผลิตและจำหน่ายยาสามัญ จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
      2/ โรคติดต่ออุบัติใหม่ คือ (1) โรคติดต่อชนิดใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและต้องใช้เวลาในการวิจัยโรคใหม่เพื่อหาวิธีการรักษา เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อใหม่ (New infectious disease) (2) โรคติดต่อที่พบในพื้นที่ใหม่ (New geographical areas) (3) โรคติดต่ออุบัติซํ้า (Re-emerging infectious disease) และ (4) เชื้อก่อโรคที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistant organism)

ปุ๋ยเคมี

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรก ตลาดปุ๋ยเคมีมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ผลจาก (1) ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้นโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญ (อาทิ ข้าว +27.7% YoY และอ้อย +7.6% YoY ซึ่งมีอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีต่อไร่สูง ขณะที่มันสำปะหลัง +16.2% YoY และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ +9.6 % YoY) และ (2) ราคาปุ๋ยเคมีปรับลดลงตามราคาพลังงานในตลาดโลก (น้ำมันดิบเบรนท์ลดลง -20.7% YoY) ส่งผลให้ราคาปุ๋ยในประเทศปรับลดตามต้นทุนโดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย (-20.4% YoY) จูงใจให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูก สะท้อนจากผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้น 1.6% YoY สำหรับช่วงที่เหลือของปี สภาพภูมิอากาศและปริมาณน้ำที่ยังคงเอื้ออำนวย ทำให้ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตมีอยู่ต่อเนื่อง จึงคาดว่าความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ 5.52 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.2% จากปี 2565 โดยสถานการณ์ปุ๋ยเคมี สรุปได้ดังนี้ 

    • การนำเข้าแม่ปุ๋ย (สัดส่วน 69.8% ของปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมด) และปุ๋ยผสมหรือปุ๋ยสำเร็จรูป (สัดส่วน 30.2%) มีปริมาณรวม 4.1 ล้านตัน ขยายตัว 12.9% YoY คิดเป็นมูลค่า 6.3 หมื่นล้านบาท (-31.9% YoY) โดยประเทศที่ไทยนำเข้าปุ๋ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย (สัดส่วน 22.2%) +33.0% YoY จีน (สัดส่วน 16.9%) +16.3% YoY และมาเลเซีย (สัดส่วน 10.6%) +27.5% YoY ส่วนรัสเซีย (สัดส่วน 7.9%) ลดลง -5.1% YoY สำหรับช่วงที่เหลือของปี คาดว่าไทยจะนำเข้าปุ๋ยเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นสต็อกป้องกันการขาดแคลนในอนาคต ทำให้ปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ 4.77 ล้านตัน ขยายตัว 13.0% จากปี 2565

    • ปริมาณส่งออกปุ๋ยเคมี (สัดส่วน 5.0% ของผลผลิตในประเทศ) อยู่ที่ 3.9 แสนตัน เพิ่มขึ้น 3.3% YoY คิดเป็นมูลค่า 6.7 พันล้านบาท (-17.5% YoY) โดยตลาดหลักที่ไทยส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กัมพูชา (สัดส่วน 35.4%) +13.5% YoY และสปป.ลาว (สัดส่วน 24.7%) +23.1% YoY ขณะที่คาดว่าทั้งปี 2566 ปริมาณส่งออกปุ๋ยเคมีจะอยู่ที่ 4.69 แสนตัน ขยายตัว 3.5% จากปี 2565

    • ต้นทุนนำเข้าปุ๋ยเคมีปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (-39.7% YoY) ตามราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลก โดยราคานำเข้าแม่ปุ๋ยเฉลี่ยที่ 13,799 บาท/ตัน (-42.7% YoY) และปุ๋ยผสมเฉลี่ย 19,157 บาท/ตัน (-34.4% YoY) อย่างไรก็ตาม ราคาขายส่งและขายปลีกปุ๋ยเคมีในประเทศปรับลดเพียงเล็กน้อย เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนซึ่งบางส่วนมาจากสต็อกที่สะสมในช่วงที่มีราคาสูง โดยราคาขายปลีกแม่ปุ๋ยเฉลี่ยที่ 22,945 บาท/ตัน (-3.1% YoY) และปุ๋ยผสมเฉลี่ยที่ 23,028 บาท/ตัน (+5.9% YoY)


แนวโน้มปี 2567-2569

  • อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มเติบโตไม่สูงมากนัก คาดว่าความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีจะขยายตัวในช่วง 2.0-3.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ความต้องการบริโภคพืชอาหารเพิ่มขึ้น (2) ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะพืชอาหารมีแนวโน้มทรงตัวสูงต่อเนื่อง (อาทิ อ้อย ข้าว และมันสำปะหลัง) จากความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น (ธนาคารโลกคาดว่าดัชนีราคาอาหารโลกจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 126.9 ในปี 2567-2568 เทียบกับเฉลี่ย 89.2 ในปี 2560-2562) ประกอบกับหลายประเทศต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหารเพื่อป้องกันการขาดแคลน และ (3) เกษตรกรไทยมีแนวโน้มขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่ราคามีทิศทางปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ปุ๋ยอาจเพิ่มขึ้นไม่มากนักในปี 2567 และ 2568 เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภัยแล้งรุนแรงจากการเข้าสู่ภาวะ El Niño ส่งผลให้ผลผลิตเกษตรลดลง ประกอบกับเกษตรกรบางกลุ่มหันไปใช้ปุ๋ยชีวภาพมากขึ้นตามกระแสการดูแลสุขภาพ ด้านราคาปุ๋ยเคมีในประเทศมีแนวโน้มปรับลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสะท้อนต้นทุนของผู้ประกอบการ

  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้และเสริมความยั่งยืนทางธุรกิจ ได้แก่ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อาทิ ปุ๋ยสั่งตัด การใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อขยายฐานลูกค้า และการขยายตลาดส่งออกใน CLMV ที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง


 

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน


รถยนต์


ผู้ผลิตรถยนต์

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ปริมาณการผลิตรถยนต์ในช่วง 9 เดือนแรก เติบโตเพียง 1.6% YoY รวมทั้งสิ้น 1,385,971 คัน หลังจากภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain disruption) เริ่มคลี่คลายลง แม้จะยังคงมีการขาดแคลนชิปขั้นสูงของการผลิตรถบางรุ่นอยู่เป็นระยะจากสงครามทางเทคโนโลยีระหว่างอเมริกาและจีนที่ยังรุนแรง โดยปริมาณการผลิตรถยนต์นั่งประเภท PHEV และ HEV เพิ่มขึ้น 62.6% YoY และ 64.4% YoY ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าการผลิตรถยนต์นั่งที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในที่เพิ่มขึ้น 6.2% YoY

  • ปริมาณจำหน่ายภายในประเทศลดลง -7.4% YoY รวมทั้งสิ้น 586,870 คัน ปัจจัยฉุดจากยอดสั่งซื้อรถกระบะที่ลดลงถึง -20.2% YoY เนื่องจากสถาบันการเงินยังคุมเข้มสินเชื่อเพื่อควบคุม NPL จากกำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอในภาวะที่ค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนยังคงสูงโดยเฉพาะในภาคเกษตร โดยมีปัจจัยซ้ำเติมจากอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้ผู้บริโภครายได้ระดับกลาง-ล่าง เลื่อนการซื้อรถออกไป แม้ว่ายอดขายรถยนต์นั่งยังขยายตัวได้ 15.6% YoY จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยวที่กระเตื้องขึ้น

  • ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ 16.3% YoY รวมทั้งสิ้น_821,899 คัน เมื่อเทียบกับฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งยังเผชิญปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์รุนแรง จึงทำให้มีการเร่งชดเชยการส่งมอบรถที่ล่าช้าในปีนี้ โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นมากในตลาดซาอุดิอาระเบีย (+64.9% YoY) อาเซียน (+29.5% YoY) ออสเตรเลีย (8.3% YoY) และญี่ปุ่น (+10.0% YoY)

  • ปัจจัยข้างต้นคาดว่าจะส่งผลให้ทั้งปี 2566 ปริมาณการผลิต และส่งออกรถยนต์ขยายตัว 1.0-2.0% และ 11.0-12.0% ตามลำดับ ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายในประเทศจะหดตัว -4.0 ถึง -5.0%


แนวโน้มปี 2567-2569

  • ปริมาณการผลิตรถยนต์จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าอุปทานชิปน่าจะทยอยออกสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากการเร่งขยายกำลังการผลิตของรายใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาช่วยลดทอนปัญหาการขาดแคลนชิปลง โดยสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากผลของมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐที่จะมีต่อเนื่องในปี 2567-2568 และการผลิตชดเชยสำหรับรถที่นำเข้ามาจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา

  • ปริมาณการบริโภคในประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวที่หนุนความต้องการใช้รถเพื่อการเดินทาง ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เร่งตัวจะหนุนการใช้รถเพื่อการขนส่งมากขึ้น ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงจากการลดลงของผลผลิตในภาคการเกษตรจากผลกระทบของ El Nino ที่อาจจำกัดยอดสั่งซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ในภูมิภาค

  • ปริมาณการส่งออกจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลของความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent-up demand) หลังการทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และภาวะคลี่คลายของปัญหาขาดแคลนชิปรองรับยอดสั่งซื้อรถยนต์คงค้างสะสมที่มีอยู่

  • ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทำให้คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีปริมาณการผลิต ปริมาณการจำหน่ายในประเทศ และปริมาณการส่งออกขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกันกันที่ 3.0-4.0% ต่อปี

ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่
 

สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก รายได้จากการขายรถยนต์ลดลงตามยอดจำหน่ายในประเทศที่หดตัว -7.4% YoY (0.59 ล้านคัน) เนื่องจากสถาบันการเงินยังคุมเข้มสินเชื่อเพื่อควบคุม NPL ในภาวะที่กำลังซื้อยังอ่อนแอจากค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ฉุดยอดขายรถกระบะให้หดตัว แม้ว่ายอดขายรถยนต์นั่งยังคงขยายตัวได้ ส่วนรายได้จากการให้บริการและขายอะไหล่ลดลงเล็กน้อย ตามจำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมอายุไม่เกิน 5 ปี ที่หดตัว -1.6% YoY อยู่ที่ 5.23 ล้านคัน

  • ในช่วงที่เหลือของปี รายได้ของธุรกิจอาจยังไม่ฟื้นตัวจากผลของปัจจัยข้างต้น โดยรายได้จากการจำหน่ายรถยนต์ใหม่มีแนวโน้มจะหดตัวตามยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่คาดว่าจะหดตัว -4.0 ถึง -5.0% อยู่ที่ 0.81-0.82 ล้านคัน ส่วนรายได้จากการบริการและจำหน่ายอะไหล่น่าจะลดลงเพียงเล็กน้อยตามจำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่คาดว่าจะหดตัว -1.0%


แนวโน้มปี 2567-2569

  • รายได้ของธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มกลับมาขยายตัวตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยดีลเลอร์บางรายจะเริ่มเปลี่ยนมาจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะจากจีนมากยิ่งขึ้น โดยอาจเริ่มแทนที่การจำหน่ายรถยนต์สันดาปของค่ายรถยนต์ที่เป็นแบรนด์รองหรืออันดับ 2 ก่อน

  • รายได้จากศูนย์ซ่อมบำรุงและจำหน่ายอะไหล่มีทิศทางปรับตัวลดลงตามการหดตัวของยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศในช่วงปี 2563-2566 ทำให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่สะสมมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ แนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดอาจเป็นข้อจำกัดการเติบโตของรายได้จากการซ่อมบำรุง เนื่องจากจำนวนชิ้นส่วนของรถยนต์ไฟฟ้ามีจำนวนลดน้อยลงมาก
     

ผู้จำหน่ายรถยนต์มือสอง

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ความต้องการรถยนต์มือสองลดลงเมื่อเทียบกับฐานสูงในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่มีความต้องการใช้รถยนต์มือสองเพื่อทดแทนรถยนต์ใหม่ที่ยังผลิตไม่ทันจากปัญหาการขาดแคลนชิป_โดยราคารถมือสองปรับลดลงโดยเฉลี่ยถึง -11.7 % YoY แม้มีมาตรการบรรเทาหนี้เพื่อลดผลกระทบจาก COVID-19 (ช่วงเดือนกันยายน 2564 ถึงสิ้นปี 2566) แต่อุปทานส่วนเกินยังเพิ่มขึ้นจากการเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อรถยนต์มือสอง เนื่องจากปัญหาหนี้เสียและยอดค้างชำระค่างวดเดิมที่ยังอยู่ในระดับสูง และผู้บริโภคบางส่วนหันไปสนใจรถยนต์นั่งไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น (รถยนต์นั่งที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่มียอดจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 757.8% YoY) ในขณะที่รถยนต์มือสองในปัจจุบันเกือบทั้งหมดยังเป็นรถยนต์สันดาปภายใน

  • ในช่วงที่เหลือของปี ยอดขายรถยนต์มือสองจะยังคงลดลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับล่างถึงปานกลางยังฟื้นตัวช้า ประกอบกับการรอมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากมาตรการ EV 3.5  ที่ส่งผลในช่วงปี 2567-2570 ยังเป็นปัจจัยบั่นทอนความต้องการรถยนต์มือสองให้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง


​แนวโน้มปี 2567-2569

  • ยอดขายมีแนวโน้มทรงตัว โดยจะมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการเติบโตของธุรกิจให้บริการขนส่ง จะช่วยกระตุ้นความต้องการรถยนต์มือสองเพื่อนำมาใช้งานในเชิงธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผ่านนโยบาย EV 3.5 จะยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้การตัดสินใจซื้อรถยนต์มือสองลดลง แม้มีแนวโน้มที่ดีลเลอร์จะเริ่มมีรถยนต์ไฟฟ้ามือสองสำหรับจำหน่ายมากยิ่งขึ้น แต่ยังมีจำนวนน้อยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่อุปทานรถยนต์มือสองมีแนวโน้มออกสู่ตลาดมากขึ้นหลังสิ้นสุดมาตรการบรรเทาหนี้ อาจเป็นปัจจัยที่ยังคงกดดันราคารถยนต์มือสอง




รถยนต์ไฟฟ้า

 

สถานการณ์ปี 2566

  • นช่วง 10 เดือนแรก จำนวนรถยนต์ไฟฟ้า (xEV) ที่จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นทุกประเภท แบ่งเป็นรถยนต์นั่งไฟฟ้า 139,435 คัน (96.1% YoY) รถโดยสารไฟฟ้า 1,211_คัน (187.6% YoY) และรถกระบะและรถบรรทุกไฟฟ้า 395 คัน (797.7% YoY) โดยมีปัจจัยกระตุ้นจาก (1) มาตรการสนับสนุนของภาครัฐ (ทั้งมาตรการให้เงินอุดหนุนและลดภาษีสรรพสามิต) (2) การพัฒนาโมเดลที่หลากหลายมากขึ้น (ในเดือนกรกฎาคม 2566 มีจำนวนโมเดลรถยนต์นั่งไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ 37 โมเดล จาก 21 แบรนด์) และ (3) การพัฒนาประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (เช่น รถยนต์นั่งไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ในปี 2566 รุ่นราคา 0.8-1.0 ล้านบาท สามารถวิ่งได้ไกลมากกว่า 400 กิโลเมตรต่อ 1 รอบการอัดประจุ ตามมาตรฐาน Worldwide Harmonised Light Vehicle Test Procedure (WLTP) ของ United Nation (UN))

  • รถยนต์นั่งไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้ามีสัดส่วน 23.9% และ 17.3% ของรถยนต์จดทะเบียนใหม่ทั้งหมดในกลุ่มรถยนต์นั่งและรถโดยสาร ตามลำดับ ในขณะที่รถกระบะและรถบรรทุกไฟฟ้ามีสัดส่วนเพียง 0.19% ของจำนวนรถกระบะและรถบรรทุกที่จดทะเบียนใหม่เท่านั้น ส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดของรถกระบะและรถบรรทุกไฟฟ้าในด้านระยะทางวิ่งในการขนส่ง จำนวนสถานีอัดประจุในต่างจังหวัด และราคาที่เกินกำลังซื้อ ขณะที่รถยนต์นั่งไฟฟ้ามีความได้เปรียบจากการมีเฟสของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของตลาด โดยเริ่มต้นจาก HEV เปลี่ยนผ่านไปสู่ PHEV และ BEV ตามลำดับ ทำให้สามารถเข้าถึงตลาดได้ง่ายกว่ารถโดยสารไฟฟ้าและรถยนต์เชิงพาณิชย์ไฟฟ้าที่เริ่มต้นจาก BEV ซึ่งตลาดยังต้องใช้เวลาในการยอมรับ

  • ในช่วงที่เหลือของปี ยอดขายจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น อานิสงส์จาก (1) การเร่งจำหน่ายรถยนต์นั่งไฟฟ้าภายใต้มาตรการเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (EV 3.0) ให้ทันภายในสิ้นปี 2566 โดยเฉพาะในงาน Motor Show ที่จัดในเดือนธันวาคม (2) การเพิ่มการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าของเอกชนที่ให้บริการในกรุงเทพฯ ทำให้คาดว่าทั้งปี 2566 รถยนต์นั่งไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และรถยนต์เชิงพาณิชย์ไฟฟ้า จะมียอดจดทะเบียนรวม 170,000 คัน 1,500 คัน และ 500 คัน ตามลำดับ

แนวโน้มปี 2567-2569

  • ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และรถยนต์เชิงพาณิชย์ไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 270,000 คัน 2,500 คัน และ 1,000 คัน ตามลำดับ จาก (1) มาตรการ EV3.5 (ปี 2567-2570) ที่ภาครัฐได้อนุมัติให้เงินสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในช่วงราคา 50,000-100,000 บาทต่อคัน (2) แนวโน้มด้านราคาที่จะปรับตัวลงจากจำนวนรุ่นและแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น (3) ปริมาณการผลิตรถยนต์นั่ง BEV ภายในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ปีข้างหน้า ตามเงื่อนไขผลิตชดเชยการนำเข้าของ BOI (4) อุปสงค์ล่วงหน้าในช่วงก่อนอัตราภาษีสรรพสามิตจะเริ่มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป และ (5) การใช้รถโดยสารไฟฟ้าทั้งแบบสาธารณะและส่วนบุคคลที่มีแนวโน้มมากขึ้น (เช่น EEC ได้ตั้งเป้าใช้รถโดยสารไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 คัน ภายในปี 2571)

  • ปัจจัยที่ยังเป็นข้อจำกัดการเติบโต ได้แก่ (1) จำนวนสถานีอัดประจุที่อาจยังเพิ่มขึ้นไม่เพียงพอ (2) แนวโน้มการจำกัดการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้าโดยสถาบันการเงิน (3) รถโดยสารไฟฟ้าที่ผลิตทั้งหมดเป็นรถโดยสารปรับอากาศ ขณะที่กรมขนส่งทางบกมีข้อกำหนดจำกัดสัดส่วนการให้บริการรถโดยสารแบบปรับอากาศเพื่อลดต้นทุนในการเดินทางของผู้โดยสารระดับกลาง-ล่าง และ (4) ข้อจำกัดด้านระยะทางวิ่งที่ยังเป็นข้อจำกัดในการให้บริการขนส่งระหว่างจังหวัด

รถจักรยานยนต์

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก การผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น 11.1% YoY รวมทั้งสิ้น 1,638,051 คัน ตามยอดขายในประเทศและยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น

  • ยอดจำหน่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น 6.2% ที่ 1,446,338 คัน แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจบริการขนส่งสินค้า (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริการส่งอาหารและสินค้าอีคอมเมิร์ซ) และคาดว่าจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสุดท้ายโดยได้รับแรงสนับสนุนจากราคาพืชผลเกษตรบางกลุ่มที่ยังปรับตัวสูง (เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน) ช่วยหนุนรายได้ภาคเกษตร แม้ว่ายอดขายในประเทศมีทิศทางเติบโตชะลอลงในช่วงครึ่งหลังเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก (+9.6% YoY ใน 6 เดือนแรกปี 2566) จากการคุมเข้มของสถาบันการเงินเพื่อควบคุมหนี้เสีย (Non-Performing Loan; NPL) ในภาวะที่ค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนยังคงสูง

  • การส่งออกเพิ่มขึ้น 22.8% YoY รวม 351,548 คัน (เทียบกับฐานต่ำในปี 2565) จากปัญหาการขาดแคลนชิปที่เริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้มีการผลิตเพื่อชดเชยยอดสั่งซื้อคงค้างจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบิ๊กไบค์ที่ใช้ชิปในการผลิตจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ (Reopening) ที่ช่วยหนุนความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent-up demand) ของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้า

  • ภาพรวมทั้งปี 2566 คาดว่า ปริมาณการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และปริมาณส่งออกจะเติบโต 5.0-6.0%, 4.0-5.0% และ 9.0-10.0% ตามลำดับ
     

แนวโน้มปี 2567-2569

  • ในปี 2567-2569 การผลิตรถจักรยานยนต์มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3.0-4.0% จากอุปทานของชิปที่น่าจะเข้ามามากขึ้น พร้อมกับการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์

  • ยอดขายภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.0-5.0% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากธุรกิจบริการขนส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าถึงมือผู้รับ (Last-mile delivery) ทั้งสินค้าและอาหารแบบเร่งด่วนซึ่งยังขยายตัวอย่างรวดเร็วในสังคมเมือง ภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ ที่จะช่วยหนุนความต้องการใช้รถจักรยานยนต์ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การคุมเข้มสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่น่าจะยังคงอยู่จากระดับหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจเป็นปัจจัยที่ยังจำกัดการเติบโตของยอดขาย

  • การส่งออกจะเพิ่มขึ้น 3.0-4.0% ต่อปี แม้อัตราการเติบโตอาจชะลอลงจากปี 2566 ที่มีแรงหนุนจาก (1) ความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent-up Demand) ในประเทศเพื่อนบ้านหลังการเปิดประเทศและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และ (2) การเร่งส่งออกเพื่อชดเชยยอดคงค้าง  โดยเฉพาะการส่งออกรถจักรยานยนต์สมัยใหม่ และบิ๊กไบค์ที่ต้องใช้ชิปในการผลิตเป็นจำนวนมากหลังการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain disruption) คลี่คลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอย่างก้าวกระโดดทั่วโลก ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ผลิตต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากในปัจจุบันไทยยังคงส่งออกรถจักรยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นหลัก


ชิ้นส่วนยานยนต์

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ลดลง โดยดัชนีผลผลิต (MPI) หดตัว -8.0% YoY จากปัญหาการขาดแคลนชิปที่ยังมีอยู่เป็นระยะทำให้การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ลดลง -18.0% YoY และการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ทำให้การผลิตเครื่องยนต์สำหรับยานยนต์ลดลง -1.9% YoY ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศยังซบเซา สอดคล้องกับการผลิตรถยนต์ในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำตามการหดตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศ (-7.4%_YoY) การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ลดลง -2.0% YoY โดยยางรถยนต์ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจากสหรัฐฯ แม้ว่าได้มีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 แต่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยยังคงลดลงค่อเนื่องเทียบกับคู่แข่ง เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น  ส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายในได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดทั่วโลก

  • ในช่วงที่เหลือของปี ปริมาณการผลิตและความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศโดยรวมน่าจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ตามทิศทางตลาด OEM ซึ่งคาดว่าปริมาณการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์น่าจะขยายตัว 1.0-2.0% และ 5.0-6.0%_ในปี 2566 ตามลำดับ_และตลาด REM_อาจขยายตัวเล็กน้อยตามการซ่อมบำรุงรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 5 ปี เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนที่มีแผนจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ายังคงชะลอการซื้อรถคันใหม่ออกไปเพื่อรอให้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ามีการพัฒนามากขึ้นและมีจำนวนสถานีอัดประจุเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับด้านการส่งออกที่คาดว่าจะยังได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาและอัตราดอกเบี้ยทรงตัวสูงในประเทศคู่ค้า ทำให้คาดว่ามูลค่าการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์โดยรวมทั้งปี 2566 จะลดลงเล็กน้อย -4.0 ถึง -5.0% และ -1.0 ถึง -2.0% ตามลำดับ


 

แนวโน้มปี 2567-2569

  • การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี หลังจากปัญหาการขาดแคลนชิปเริ่มคลี่คลาย เมื่อมีอุปทานใหม่จากการเร่งสร้างโรงงานผลิตชิปที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ขณะที่ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศจะเพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว (2) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ  (3) การเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและบริการขนส่ง ที่จะช่วยหนุนการเติบโตของตลาดชิ้นส่วน OEM และ (4) การขยายตัวของจำนวนรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 5 ปี ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.0-3.0% ซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการชิ้นส่วน REM การส่งออกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.0-3.0% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า  โดยชิ้นส่วนที่จะได้รับอานิสงส์จากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ได้แก่ แบตเตอรี่และระบบการจัดการแบตเตอรี่ (BMS) มอเตอร์ไฟฟ้าแบบลากจูง (Traction electric motors) ระบบควบคุมการขับขี่ (Drive Control Unit:  DCU) สายไฟ ขั้วต่อสายไฟ ชิ้นส่วนพลาสติกและยาง และชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่ชิ้นส่วนที่ใช้ในรถยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน (เช่น เครื่องยนต์ ชุดขับเคลื่อน เกียร์ หม้อน้ำ ท่อไอเสีย เป็นต้น) จะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มมูลค่าการส่งออกที่จะลดลง



 

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

อิเล็กทรอนิกส์

 

ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD)

 

สถานการณ์ปี 2566​

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิต (MPI) ลดลง -17.8% YoY สอดคล้องกับการส่งออกที่มีมูลค่าลดลง -35.3% YoY จากผลของ (1) การลดลงของความต้องการใช้ในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์และไอทีหลังจากได้มีการสั่งซื้ออุปกรณ์เก็บข้อมูลจำนวนมากไปแล้วในช่วง COVID-19 ที่เกิดวิกฤตห่วงโซ่การผลิต (2) ยอดขายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกลดลง 22.0% YoY ตามภาวะซบเซาของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญซึ่งเผชิญค่าครองชีพสูง และ (3) การถูกแทนที่โดย Solid State Drive (SSD) ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าในด้านความเร็วและการประหยัดพลังงาน

  • ในช่วงที่เหลือของปี การผลิตและส่งออก HDD ของไทยยังคงมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากปัจจัยข้างต้น ทำให้คาดว่าทั้งปี 2566 ปริมาณการผลิต HDD โดยรวมจะหดตัวในทิศทางเดียวกับมูลค่าส่งออกที่ -16.0 ถึง -17.0% และ -30.0 ถึง -35.0% YoY ตามลำดับ

แนวโน้มปี 2567-2569​

  • ยอดสั่งซื้อ HDD มีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่อง ตามทิศทางการลดลงของความต้องการใช้ HDD_ในอุปกรณ์ไอทีทั่วโลก แม้ว่าไทยมีจุดแข็งจากการเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก และในระยะสั้นจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการอัพเดท Windows 11 และรอบการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ใหม่หลังจากช่วง COVID-19 ที่คาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดสั่งซื้อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั่วโลก 4.9% ในปี 2567 (คาดการณ์โดย Gartner)  คาดว่าในปี 2567-2569 การผลิตและส่งออก HDD จะลดลง -14.0 ถึง -15.0% และ -30.0 ถึง -35.0% ต่อปี ตามลำดับ


แผงวงจรรวม (IC)


สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิต (MPI) ของ IC หดตัว -2.8% YoY ส่วนมูลค่าการส่งออกเติบโตในอัตราลดลงเหลือ 6.4% YoY (จากที่เคยเติบโตเฉลี่ยถึง 14.2%  ต่อปี ในช่วงปี 2564-2565) ตามยอดขายเซมิคอนดักเตอร์และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ลดลง -18.8% YoY และ -9.0% YoY ตามลำดับ จาก (1) ภาวะกำลังซื้อที่ซบเซาตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และ (2) ปัญหาการชะงักชะงันเป็นระยะของห่วงโซ่อุปทานจากผลของสงครามทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่จำกัดการส่งออกทั้งเซมิคอนดักเตอร์ และแร่ธาตุที่สำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์

  • ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าความต้องการเซมิคอนดักเตอร์โดยรวมในตลาดโลกจะได้แรงหนุนจาก (1) การเริ่มเข้าสู่รอบใหม่ของการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพื่อรองรับ Windows 11 โดย Gartner คาดว่าความต้องการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกในช่วงท้ายปีและทำให้ตลอดทั้งปี 2566 มีการเติบโต 4.9% YoY และ (2) ความต้องการชิปในรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก คาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ดัชนีการผลิตเริ่มมีทิศทางดีขึ้น โดยปรับตัวลดลงเพียง -1.0% ถึง -2.0% และยอดการส่งออก IC เพิ่มขึ้น 5.0-6.0% ในปี 2566

แนวโน้มปี 2567-2569​

  • ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนด้านอุปสงค์จาก (1) ความต้องการชิป AI ที่เพิ่มขึ้นใน AI-based applications (เช่น data centers, edge infrastructure and endpoint devices) โดย Gartner คาดการณ์ว่ายอดขายชิป AI จะเพิ่มขึ้น 25.6% ในปี 2567 (2) ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในรถยนต์ไฟฟ้าในระดับ  Full Driving Automation_มากยิ่งขึ้น โดย IEA ได้คาดว่ายอดขาย EVs ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 18.9% ในช่วงปี 2566-2573 และ (3) การเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรอบใหม่ในปี 2567 โดยแนวโน้มยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกที่สูงขึ้นประกอบกับการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทยอย่างต่อเนื่องจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ในไทย ทำให้คาดว่าในช่วงปี 2567-2569  ปริมาณการผลิตและมูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นปีละ 2.0-3.0% และ 4.0-5.0% ตามลำดับ


​เครื่องใช้ไฟฟ้า

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณผลิตลดลง -6.0% YoY (อยู่ที่ 38.38 ล้านหน่วย) ตามปริมาณจำหน่ายในประเทศที่หดตัว -5.9% YoY (อยู่ที่ 10.86 ล้านหน่วย) จากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมที่ยังซบเซาจากยอดขายที่หดตัว  (-19.9% YoY) อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น กระตุ้นให้ยอดขายเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น 5.1% YoY_สวนทางกับมูลค่าการส่งออกที่ลดลง -1.2% YoY(เมื่อเทียบกับฐานการส่งออกที่สูงในช่วงปี 2564-2565) เนื่องจากประชาชนในประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ออกมาทำงานนอกบ้านและใช้ชีวิตปกติมากขึ้น

  • ในช่วงที่เหลือของปี การผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลงจากผลต่อเนื่องของปัจจัยข้างต้น โดยเฉพาะภาวะซบเซาต่อเนื่องของตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวม แม้ว่าจะมีมาตรการที่สนับสนุนการท่องเที่ยว โดยเฉพาะมาตรการวีซ่าฟรีชั่วคราวให้ตลาดนักท่องเที่ยวหลักบางกลุ่มที่อาจช่วยกระตุ้นความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมเพื่อรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวอยู่บ้าง แต่ไม่มากนักเพราะเป็นผลช่วงปลายปี ทำให้คาดว่าทั้งปี 2566 การผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศจะหดตัวลง -4.0 ถึง -5.0% ขณะที่มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มลดลง -1.0 ถึง -2.0% YoY

แนวโน้มปี 2567-2569

  • ปริมาณการผลิตคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการคลี่คลายของปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า หลังจากอุปทานของชิปโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัว 211.8% YoY โดยมีมูลค่าลงทุนรวม 1.6 แสนล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 ด้านยอดจำหน่ายในประเทศมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น อานิสงส์จากแนวโน้มการฟื้นตัวของโครงการที่อยู่อาศัยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามทิศทางเศรษฐกิจ และการเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจท่องเที่ยว ส่วนด้านการส่งออกจะขยายตัวมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังอัตราเงินเฟ้อเริ่มทยอยปรับลดลง เข้าสู่รอบใหม่ของการเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังจากที่มียอดสั่งซื้อสูงในช่วง COVID-19 มาแล้ว ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทำให้คาดว่าปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศมีแนวโน้มเติบโตในอัตราเท่ากันที่ 1.5-2.5% ต่อปี ส่วนมูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ต่อปี

อุตสาหกรรมอื่นๆ​

 

เครื่องมือแพทย์

 

สถานการณ์ปี 2566

  • อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีสัญญาณเติบโตต่อเนื่อง จากการกลับมาใช้บริการสถานพยาบาลของผู้ป่วยไทยและต่างชาติหลัง COVID-19 คลี่คลาย ทำให้ประชาชนคลายความระมัดระวังทั้งด้านการเว้นระยะห่างและการสวมหน้ากากอนามัย ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้น (อาทิ 9 เดือนแรกของปี ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น 517.5% YoY) ขณะที่ผู้ป่วยด้วยโรค COVID-19 ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ (เช่น หน้ากากอนามัย และถุงมือยาง/ถุงมือยางทางการแพทย์) และอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้อง (เช่น น้ำยาตรวจหาเชื้อและการฉีดวัคซีน) นอกจากนี้ ความต้องการเครื่องมือแพทย์ยังเพิ่มขึ้นในประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย จึงคาดว่าปี 2566 มูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะขยายตัว 5.0-6.0% YoY ขณะที่มูลค่าส่งออกจะขยายตัว 5.5-6.0% ต่อปี สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ช่วง 9 เดือนแรกของปี สรุปได้ดังนี้ 

    • การผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ชะลอลง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์เฉลี่ยที่ 101.2 ลดลงจาก 105.4 ในช่วงเดียวกันปี 2565 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยที่ 65.9% เทียบกับ 69.1% ช่วงเดียวกันปี 2565 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีการเร่งผลิตไปจำนวนมากในปีก่อนหน้าโดยเฉพาะอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ อาทิ การผลิตถุงมือยางการแพทย์ (สัดส่วน 90% ของปริมาณผลิตเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด) หดตัว -4.2% YoY 

    • มูลค่าส่งออกเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น 2.5% YoY อยู่ที่ 8.9 หมื่นล้านบาท จำแนกเป็นกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง (สัดส่วน 87.2% ของมูลค่าส่งออกเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด) +4.1% YoY โดยมูลค่าส่งออกถุงมือยางทางการแพทย์ +0.9% YoY (จากหดตัวรุนแรง -74.1% ในช่วงเดียวกันปี 2565) จากการกลับมานำเข้าของสหรัฐฯ (+26.8% YoY) และอุปกรณ์ทางจักษุวิทยา +5.8% YoY กลุ่มครุภัณฑ์ (สัดส่วน 10.6%) -9.8% YoY และกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค (สัดส่วน 2.2%) +5.3% YoY โดยเพิ่มขึ้นมากในตลาดญี่ปุ่น (+19.1% YoY) และฝรั่งเศส (+17.9% YoY)

    • มูลค่านำเข้าหดตัว -6.3% YoY อยู่ที่ 6.8 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค (สัดส่วน 20.7% ของมูลค่านำเข้าเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด) หดตัว -43.2% YoY จากการลดลงของอุปกรณ์เพื่อการวินิจฉัยและน้ำยาตรวจเลือด (-43.0% YoY) ขณะที่กลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง (สัดส่วน 44.7%) และกลุ่มครุภัณฑ์ (สัดส่วน 34.6%) +13.8% YoY และ +11.2% YoY ตามลำดับ สำหรับสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ อุปกรณ์ทางจักษุวิทยา (+11.3% YoY) และเครื่องวินิจฉัยโรคด้วยไฟฟ้า (+13.0% YoY) ส่วนประเทศที่ไทยนำเข้าลดลงมาก ได้แก่ จีนหดตัว -46.7% YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีการเร่งนำเข้าจำนวนมากในปีก่อนหน้า สำหรับประเทศที่ไทยนำเข้าเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐฯ (+8.3% YoY) เยอรมนี (+28.9% YoY) และญี่ปุ่น (+3.7% YoY)

แนวโน้มปี 2567-2569

  • ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 6.0-7.0% ต่อปี ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.5-7.5% ต่อปี จากปัจจัยหนุนหลายด้าน ได้แก่ (1) อัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย และการเกิดโรคอุบัติใหม่ (2) การเติบโตของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งไทยมีจุดแข็งด้านค่ารักษาพยาบาลและคุณภาพการรักษาเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก (3) กระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันกำลังเป็นที่นิยมโดยเฉพาะหลังวิกฤต COVID-19 (4) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง หนุนความต้องการเครื่องมือแพทย์จากไทยเพิ่มขึ้น และ (5) นโยบายภาครัฐส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียน จูงใจนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น


 

ธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง


รับเหมาก่อสร้าง

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้น 3.0% YoY คิดเป็นมูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท นำโดยการก่อสร้างภาครัฐมีมูลค่า 6.45 แสนล้านบาท (+2.5% YoY) แบ่งเป็นมูลค่าการลงทุนก่อสร้างหมวดโครงสร้างพื้นฐาน  (สัดส่วน 81% ของมูลค่าลงทุนก่อสร้างภาครัฐทั้งหมด) ที่ยังเติบโต 1.5% YoY มาจากการลงทุนในโครงการต่อเนื่อง โดยยังไม่มีโครงการขนาดใหญ่เริ่มก่อสร้างในช่วงนี้ ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนอยู่ที่ 4.53 แสนล้านบาท (+3.6% YoY) ตามแรงขับเคลื่อนของการก่อสร้างหมวดที่ไม่ใช่อยู่อาศัย (สัดส่วน 47% ของมูลค่าลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนทั้งหมด) ที่ขยายตัว 3.9% YoY จากแรงหนุนของการก่อสร้างโรงงาน อาคารสำนักงาน และอาคารพาณิชย์ รองรับแนวโน้มการลงทุนที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ขณะที่หมวดที่อยู่อาศัยขยายตัว 3.4% YoY ตามแผนการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะตามแนวต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้า

  • ช่วงที่เหลือของปี 2566 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง แม้ภาพรวมการลงทุนก่อสร้างโดยรวมยังมีทิศทางขยายตัวต่อได้ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจาก (1) การรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐในด้านงบประมาณการลงทุนก่อสร้างที่อาจทำให้บางโครงการยังล่าช้าอยู่ (2) ราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงยังคงส่งผลต่อราคาวัสดุก่อสร้างและต้นทุนการขนส่ง (3) ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่อาจส่งผลให้ผู้รับเหมาก่อสร้างโดยเฉพาะรายเล็กส่งงานล่าช้ากว่ากำหนดหรือทิ้งงาน และ (4) การลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ยังต้องรอการฟื้นตัว จึงคาดว่า ทั้งปี 2566 มูลค่าลงทุนก่อสร้างภาพรวมจะเติบโต 2.0-3.0% แบ่งเป็นการขยายตัวจากก่อสร้างภาครัฐ 1.5-2.5% และภาคเอกชน 2.5-3.5%


แนวโน้มปี 2567-2569

  • มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัว 3.0-4.0% ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 

    • การลงทุนก่อสร้างภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.0% ต่อปี ปัจจัยหนุนจากการเร่งรัดดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่อเนื่องตามแผนปฏิบัติการ พ.ศ. 2566-2570 อาทิ  การเร่งพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ (ระยะที่ 1 และ 2) รวมทั้งรถไฟทางคู่สายใหม่ ซึ่งจะหนุนการเชื่อมโยงกับนิคมอุตสาหกรรมและการค้าชายแดน หลังจากช่วงที่ผ่านมาโครงการเกี่ยวเนื่องกับ EEC ส่วนใหญ่ยังล่าช้ากว่าแผน อาทิ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ล่าช้า 40% ข้อมูล ณ เม.ย. 66) ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 โดยโครงการที่มีความคืบหน้าลำดับต้นๆ คือ โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (คืบหน้า 60% ข้อมูล ณ ส.ค. 66) และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2570

    • การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 3.0-3.5% ต่อปี ปัจจัยหนุนจากการก่อสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ตามภาวะการลงทุนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และการก่อสร้างโรงแรมเพื่อรองรับการกลับมาเติบโตของการท่องเที่ยว รวมทั้งการฟื้นตัวของหมวดที่อยู่อาศัย (หลังจากประสบปัญหาอุปทานล้น) โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค

    • ผู้รับเหมารายใหญ่ยังคงมีความได้เปรียบรายกลางและย่อย จากโอกาสในการประมูลงานก่อสร้าง และมีอำนาจการต่อรองสูงกับผู้ผลิต/ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง ขณะที่ผู้รับเหมารายกลางและรายย่อยยังต้องพึ่งพารายได้จากการรับเหมาช่วง (Sub contract) จากผู้รับเหมารายใหญ่ ทำให้ผลประกอบการมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ ผู้รับเหมาโดยเฉพาะรายใหญ่จะเร่งปรับตัวโดยเน้นการลดต้นทุนและระยะเวลาการก่อสร้างเพื่อเพิ่มโอกาสในการรับงานจากโครงการภาครัฐและโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ผู้รับเหมาอาจเผชิญปัญหาด้านแรงงานที่ยังขาดแคลน และต้นทุนวัตถุดิบที่ยังสูง


วัสดุก่อสร้าง

​​

สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศลดลงเกือบทุกประเภท ตามการหดตัวของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์  กระเบื้อง และสุขภัณฑ์เซรามิกที่หดตัว -1.5% YoY -4.5% YoY และ -2.1% YoY ตามลำดับ จากการชะลอตัวของตลาดซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ยังคงซบเซาตามกำลังซื้อที่รอการฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดระดับกลาง-ล่าง มีเพียงเหล็กก่อสร้าง ได้แก่ เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ที่การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 6.9% YoY และ 14.2% YoY ตามลำดับ จากแรงหนุนของการก่อสร้างภาครัฐและเอกชนซึ่งมีมูลค่าการลงทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2.5% YoY และ 3.6% YoY ตามลำดับ คาดว่าไตรมาส 4 อุปสงค์วัสดุก่อสร้างจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากยังไม่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ภาครัฐในช่วงนี้ และการชะลอตัวของการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่เพื่อระบายสต็อกในช่วงท้ายปี ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศทั้งปี 2566 ยังมีแนวโน้มหดตัวถึงทรงตัว ยกเว้นเหล็กก่อสร้างที่คาดว่ายังเติบโต

  • ปริมาณการส่งออกวัสดุก่อสร้าง 9 เดือนแรกหดตัวตามภาวะตลาดของประเทศคู่ค้าที่ยังซบเซา ปูนซีเมนต์ลดลง -25.0% YoY อยู่ที่ 1.3 ล้านตัน โดยตลาดเมียนมาและกัมพูชาหดตัว -11.2% YoY และ -38.2% YoY ตามลำดับ ด้านเหล็กก่อสร้างลดลง -6.8% YoY ตามการหดตัวของตลาดหลัก อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และแคนาดา ด้านปริมาณการนำเข้ากระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิกหดตัวจากอุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์  มีเพียงเหล็กก่อสร้างที่นำเข้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15.7% YoY ตามการเติบโตของภาคการก่อสร้างในประเทศ คาดว่าทั้งปี 2566 ปริมาณการส่งออกและนำเข้าวัสดุก่อสร้างโดยรวมยังคงมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565

  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง 9 เดือนแรกปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% YoY จากการลดลงในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์ (-3.9% YoY) ตามราคาในตลาดโลก ขณะที่ปูนซีเมนต์ยังเพิ่มขึ้น (+2.5% YoY) จากทิศทางต้นทุนที่ยังสูงตามราคาพลังงาน สำหรับช่วงที่เหลือของปี คาดราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนการผลิตที่อาจเริ่มคลายตัว (อาทิ ราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้า ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ) ขณะที่ราคาเหล็กยังคงมีทิศทางลดลงตามตลาดโลก ทำให้คาดว่าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างทั้งปี 2566 ยังมีแนวโน้มต่ำกว่าปี 2565


     

แนวโน้มปี 2567-2569​

  • ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจัยหนุนดังนี้

    • มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.0% ต่อปี จากการเร่งรัดการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC ตามแผนปฏิบัติการ พ.ศ. 2566-2570 รวมถึงโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน

    • มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโต 3.0-3.5% ต่อปี หนุนโดย (1) แรงเหนี่ยวนำของ Crowding-in-effects จากการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ (2) จากการก่อสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ตามภาวะการลงทุนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น รวมถึงการก่อสร้างโรงแรมเพื่อรองรับการกลับมาเติบโตของการท่องเที่ยว  และ  (3) การฟื้นตัวของหมวดที่อยู่อาศัย จากกำลังซื้อที่เริ่มทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC  และจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค 

  • ​การส่งออกมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ปัจจัยหนุนจากการเร่งการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยเพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุน หนุนความต้องการปูนซีเมนต์และเหล็กก่อสร้าง ด้านกระเบื้องและเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์  แรงหนุนหลักจากนักลงทุนจีนที่ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน 

  • ราคาวัสดุก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มขยับขึ้น ตาม (1) อุปสงค์ในภาคก่อสร้าง โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย (2) การปรับราคาเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า อาทิ เศษเหล็ก (Scrap) เหล็กแท่งเล็ก (Billet) ตามทิศทางราคาในตลาดโลก และ (3) ต้นทุนพลังงานที่ทรงตัวสูง

  • กลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง:

    • คาดรายได้ของร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าในร้านค้าที่มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกครบวงจร  โดยผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ อาทิ  (1) ปรับขนาดร้านค้าให้เล็กลงเพื่อขยายจำนวนสาขาเข้าไปในแหล่งชุมชนมากขึ้น  (2) การเปิดร้านค้ารูปแบบใหม่ร่วมกับผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น  (3) การเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างภายใต้ตราสินค้าของบริษัทตนเองมากขึ้น เพื่อควบคุมต้นทุนและเพิ่มมาร์จิ้น (4) ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น อาทิ การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า  อาทิ Online channel และ  Mobile application รวมทั้งใช้หุ่นยนต์ในการจัดเก็บ/บริการคลังสินค้า และ  (5) การลงทุนขยายสาขากระจายสู่จังหวัดรองมากขึ้น รวมทั้งตลาดอาเซียนเพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน

    • รายได้ของร้านค้าวัสดุก่อสร้างดั้งเดิมมีแนวโน้มซบเซาถึงทรงตัว แบ่งเป็น (1) ร้านค้าส่ง ธุรกิจมีแนวโน้มทรงตัวถึงเติบโตเล็กน้อย แม้จะเผชิญการแข่งขันจากร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่และกลุ่มผู้ผลิตที่หันมาจำหน่ายสินค้าโดยตรงกับผู้รับเหมาก่อสร้าง (2) ร้านค้าปลีก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายเล็กและมีจำนวนมาก ซึ่งมักมีข้อจำกัดด้านเงินทุน ทำให้มีรูปแบบการจัดร้านค้าไม่ทันสมัยเมื่อเทียบกับร้านวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ กอปรกับสินค้าไม่หลากหลายเนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการสต็อกสินค้า อีกทั้งยังเผชิญการแข่งขันสูงจากร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ รวมทั้งพึ่งพาลูกค้าที่มีกำลังซื้อไม่สูงมากนัก  ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในช่วงที่ผ่านมา เช่น การถูกเลิกจ้าง ปรับลดเงินเดือน/ค่าจ้าง เป็นต้น  ส่งผลให้ธุรกิจซบเซาต่อเนื่อง


เหล็ก


เหล็กแผ่นรีดร้อน


 สถานการณ์ปี 2566
 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตอยู่ที่ 1.4 ล้านตัน ลดลง -20.2% YoY จากความต้องการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ยังซบเซาทั้งตลาดในประเทศและส่งออก ขณะเดียวกันการผลิตเหล็กแผ่นในประเทศส่วนหนึ่งถูกทดแทนโดยสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น พิจารณาจากการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อน ที่ขยายตัว 9.8% YoY โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นถึง 76.0 YoY ส่วนนำเข้าจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2.5% YoY คาดว่าทั้งปี 2566 ปริมาณการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนมีแนวโน้มหดตัว -17.0 ถึง -19.0%

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนอยู่ที่ 4.3 ล้านตัน ลดลง -2.0% YoY ตามการชะลอตัวของยอดผลิตรถยนต์ที่เพิ่มเพียง 1.6% YoY (เทียบกับที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 11.7% ในปี 2565) ส่วนใหญ่มาจากผลของการหดตัวในตลาดรถปิคอัพจากนโยบายสินเชื่อเช่าซื้อที่เข้มงวด รวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิปเป็นระยะในการผลิตรถยนต์บางโมเดล นอกจากนี้ ความต้องการจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นยังซบเซา อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ พิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่หดตัว -6.7% YoY และ -19.5% YoY ตามลำดับ  ทำให้คาดว่าทั้งปี 2566 ปริมาณการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนจะยังทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยอยู่ในช่วง 0.0 ถึง -1.0%

  • ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 2.3 หมื่นตัน ลดลง -45.9% YoY ในช่วง 9 เดือนแรก ตามการหดตัวของตลาดเวียดนามและเมียนมา (สัดส่วน 35% และ 5% ของปริมาณการส่งออก HR sheet ตามลำดับ) ซึ่งยังคงประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจซบเซาในช่วงครึ่งปีแรก

  • ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนอยู่ที่ 26,911 บาท/ตัน ลดลง -18.1% YoY ในช่วง 9 เดือนแรก ตามทิศทางราคาในตลาดโลกจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ คาดว่าทั้งปี 2566 ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนมีแนวโน้มลดลง -14.0 ถึง -16.0% เมื่อเทียบกับปี 2565 (31,550 บาท/ตัน) แต่ยังคงทรงตัวในระดับสูงประมาณ 26,000-28,000 บาท/ตัน

    xเหล็กแผ่นรีดร้อน

     

​แนวโน้มปี 2567-2569

  • ปริมาณการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนคาดว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวหรือขยายตัวในอัตราต่ำประมาณ 0.0-1.0% ต่อปี (หลังจากหดตัวในปี 2566) แม้จะได้แรงหนุนจากทิศทางของอุปสงค์ที่จะกระเตื้องขึ้น แต่จะยังคงได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่คาดว่ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากการที่ไทยไม่มีการผลิตเหล็กต้นน้ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนยังสูง การแข่งขันในประเทศจึงเสียเปรียบสินค้าเหล็กนำเข้าโดยเฉพาะจากจีน ซึ่งได้มีการปรับกระบวนการผลิตเหล็กราคาถูกให้มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ

  • ความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว คาดอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านตันต่อปี หรือเติบโต 4.0-5.0% ต่อปี  คำสั่งซื้อหลักยังคงมาจากภาคการผลิตยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงปัญหา Supply chain disruption ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มคลายตัวลง ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราต่ำจากการเริ่มทยอยฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศคู่ค้า

  • ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก แม้จะยังคงอยู่ในระดับสูง โดยราคาเหล็กในตลาดโลกอาจได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมด้านต้นทุนจากการปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดคาร์บอนจากผลกระทบ CBAM ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อราคาเหล็กในประเทศ

เหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณ​


สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตอยู่ที่ 2.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.9% YoY ตามการขยายตัวในภาคก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ใช้เหล็กประเภทนี้ โดยคาดว่าทั้งปี 2566 ปริมาณการผลิตเหล็กทั้งสองประเภทนี้จะเติบโตเฉลี่ย 5.5-6.5%

  • ความต้องการใช้ในช่วง 9 เดือนแรก อยู่ที่ 3.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 14.2% YoY ตามภาคก่อสร้างที่ขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะมูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐที่ขยายตัว 2.5% YoY ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่องที่ต้องใช้เหล็กในงานโครงสร้าง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าความต้องการใช้เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณมีแนวโน้มลดลงตามมูลค่าการลงทุนก่อสร้างที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างภาครัฐบางโครงการที่อาจล่าช้าจากการรอความชัดเจนด้านงบประมาณของภาครัฐ ทำให้คาดว่าความต้องการเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณทั้งปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 10.0-12.0% อยู่ที่ 4.0 ล้านตัน

  • การส่งออกเหล็กเส้นมีปริมาณ 1.6_แสนตัน ลดลง -6.8% YoY ในช่วง 9 เดือนแรก ตามการหดตัวของบางตลาดหลัก โดยเฉพาะแคนาดา (ตลาดหลักอันดับ 4) ที่หดตัว -86.6% YoY เนื่องจากสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศคู่แข่งอื่น อาทิ UAE บราซิล และอินเดีย ซึ่งแคนาดานำเข้าเพิ่มขึ้น 69.1% YoY  122.8% YoY และ 140.7% YoY ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเหล็กโครงสร้างรูปพรรณมีปริมาณ 2.3 แสนตัน ลดลง -29.0% YoY โดยตลาดหลักที่หดตัว ได้แก่ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ซึ่งลดลง -21.2% YoY และ -52.2% YoY ตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งเหล็กเส้น (+10.6% YoY) และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (+20.8% YoY) ตามการเติบโตด้านอุปสงค์จากภาคการก่อสร้างในประเทศ

  • ราคาเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณในประเทศอยู่ที่ 24,346 บาท/ตัน ลดลง -14.1% YoY ในช่วง 9 เดือนแรก ตามทิศทางราคาในตลาดโลกที่ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาวะซบเซาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ในช่วงที่เหลือของปี ราคาเหล็กโลกยังมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง  คาดทั้งปี 2566 มีแนวโน้มหดตัว -13.0% ถึง -14.0%

 

 

แนวโน้มปี 2567-2569​

  • ปริมาณการผลิตคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง 4.0-5.0% ต่อปี อยู่ที่ 4.0-4.3 ล้านตันต่อปี ตามความต้องการใช้ที่มีแนวโน้มเติบโต 5.0-6.0% ต่อปี อยู่ที่ 4.0-4.5 ล้านตันต่อปี อานิสงส์จาก (1) การเร่งดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่อเนื่องทั้งโครงการเดิมและโครงการใหม่ ตามแผนปฏิบัติการ พ.ศ. 2566-2570 (2) งานก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ตามกำลังซื้อที่ทยอยกระเตื้องขึ้น หลังเผชิญภาวะซบเซาจากอุปทานคงค้างสะสมจำนวนมาก (3) การก่อสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ตามภาวะการลงทุนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และ (4) การก่อสร้าง/ปรับปรุงโรงแรมเพื่อรองรับการกลับมาเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกับผลิตภัณฑ์นำเข้าที่มีราคาต่ำกว่าจากจีนยังคงเป็นปัจจัยกดดันทั้งด้านการผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

  • ราคาเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณในประเทศยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ตามราคาวัตถุดิบหลักที่ทยอยปรับลดลง โดยเฉพาะราคาเศษเหล็ก (-19.6% YoY ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2566) อย่างไรก็ตาม การลดลงของราคาอาจไม่มากนักจากปัจจัยเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในตะวันออกกลาง และผลกระทบด้านต้นทุนในการปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดคาร์บอนตามมาตรฐาน CBAM ที่เข้มงวด


 

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

 

ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรกตลาดที่อยู่อาศัย1/ ถูกกดดันจากกำลังซื้อโดยรวมชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับสูงขึ้นและภาระหนี้ครัวเรือนแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี (90.6% ของ GDP) ส่งผลให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง สะท้อนจากยอดขายที่อยู่อาศัย (ยูนิตใหม่) ลดลง -44.3% YoY อยู่ที่ 15,758 ยูนิต ส่วนยอดขายรวม (ยูนิตใหม่สะสมจากปีก่อนหน้า ข้อมูลครึ่งปีแรก) ลดลง -19.9% YoY อยู่ที่ 43,192 ยูนิต ด้านจำนวนยูนิตเปิดขายใหม่ ลดลง -14.4% YoY อยู่ที่ 62,219 ยูนิต โดยทาวน์เฮ้าส์และคอนโดมิเนียมเปิดใหม่หดตัว -18.6% YoY และ -17.2% YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีการเปิดตัวไปมากแล้วในช่วงเดียวกันปี 2565 ขณะที่บ้านเดี่ยวยังขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ระดับ 3.1% YoY

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าอุปสงค์ที่อยู่อาศัยจะกระเตื้องขึ้น จากความต้องการของกลุ่มที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัย (Real demand) ซึ่งกำลังซื้ออยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองจะสิ้นสุดในช่วงปลายปี นอกจากนี้ เศรษฐกิจจะได้แรงส่งจากภาคท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ระดับ 7-8 ล้านคน (เกือบ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี) จากการเข้าสู่เทศกาลปลายปี ช่วยหนุนอุปสงค์ที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น ด้านผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญกับการเปิดตัวที่อยู่อาศัยระดับบนเพื่อรับรู้รายได้ ส่งผลให้ทั้งปี 2566 ยอดขายที่อยู่อาศัยรวมจะลดลง -12.0%YoY ขณะที่ยูนิตเปิดขายใหม่จะลดลง -8.5%YoY

  • ราคาที่อยู่อาศัยโดยรวม2/ ช่วง 9 เดือนแรกของปีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 4.8% YoY ส่วนดัชนีราคาบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 4.1% และ 4.0% YoY ตามลำดับ  สำหรับทั้งปี 2566 คาดว่าราคาที่อยู่อาศัยจะปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามราคาที่ดินและต้นทุนการผลิตอื่นๆ อาทิ วัสดุก่อสร้างและค่าจ้างแรงงาน ผลักดันให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.0-10.0% YoY



แนวโน้มปี 2567-2569

  • ยอดขายที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ระดับ 2.0-3.0% ต่อปี โดยมีแรงหนุนจาก (1) โครงการลงทุนต่อเนื่องภาครัฐ (โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม) จะกระตุ้นอุปสงค์ที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าและพื้นที่ที่รถไฟฟ้าเข้าถึง (2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนำโดยภาคท่องเที่ยว (คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับสู่ระดับก่อน COVID-19 ในปี 2568) ทำให้กำลังซื้อลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้น ด้านยูนิตเปิดขายใหม่จะเพิ่มขึ้นในระดับ 3.0-4.0% ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นโครงการจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีฐานเงินทุนแข็งแกร่งและเป็นโครงการที่มีจำนวนยูนิตไม่มาก โดยแนวโน้มของที่อยู่อาศัยแต่ละประเภท สรุปได้ดังนี้

    • บ้านแนวราบ (บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์): คาดยอดขายบ้านเดี่ยวจะเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มระดับบนในบริเวณใกล้โรงเรียนนานาชาติ ทำเลกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก (ถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่) และกรุงเทพฯ ตอนเหนือ สำหรับทาวน์เฮ้าส์ยอดขายมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากมีอุปทานเหลือขายค่อนข้างสูง ประกอบกับลูกค้าหลักอยู่ในกลุ่มระดับกลาง-ล่างซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง โดยผู้ประกอบการรายใหญ่จะสามารถประคองธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ ขณะที่รายกลาง-เล็กจะเผชิญการแข่งขันรุนแรงทั้งด้านต้นทุนการก่อสร้างและต้นทุนการเงิน

    • คอนโดมิเนียม: อุปทานมีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุปสงค์ของกลุ่มผู้ซื้อเพื่อลงทุนระยะยาว โดยคอนโดมิเนียมเป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้เช่าเพิ่มขึ้น (ผลจากราคาน้ำมันและค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัย) นอกจากนี้ ยังมีกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งต้องการบ้านหลังที่ 2 โดยเฉพาะย่านใจกลางเมือง ส่วนหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนคอนโดมีเนียมในพื้นที่รอบนอกยังไม่เป็นที่นิยมเมื่อเทียบกับโครงการแนวราบในทำเลเดียวกัน และบางพื้นที่ยังมีอุปทานคงค้างระดับสูง อาทิ โซนเพชรเกษม แจ้งวัฒนะ นนทบุรี และบางนา

  • ประเด็นท้าทายที่ธุรกิจต้องติดตามใกล้ชิด ได้แก่ (1) หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มทรงตัวสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ (2) อุปทานเหลือขายสะสมค่อนข้างสูงในบางทำเล ผลจากกำลังซื้อกลุ่มลูกค้ากลาง-ล่างฟื้นตัวช้า ขณะที่อุปสงค์ในระยะถัดไปอาจถูกลดทอนจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย อีกทั้งกลุ่มผู้ซื้อรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่ม GEN Z นิยม “การเช่า” มากกว่า ”การซื้อ”3/

                  1/ ที่อยู่อาศัยรวม หมายถึง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม
                  2/ ราคาที่อยู่อาศัยรวม หมายถึง ดัชนีราคาบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียม โดยคำนวณจากข้อมูลสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ 17 ธนาคาร ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
                  3/ ที่มา: ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttbanalytics) จากบทวิเคราะห์ “ttbanalytics ประเมินปี 2566 ตลาดอาคารชุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหดตัว”​


ที่อยู่อาศัย (6 จังหวัดหลักภูมิภาค)1/​


สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วงครึ่งปีแรก ตลาดที่อยู่อาศัยซบเซาจากปัจจัยลบหลายด้าน อาทิ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เต็มที่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องและหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับสูงกว่า 90% ของ GDP กดดันความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค โดยยอดขายที่อยู่อาศัยลดลง -28.8% YoY แบ่งเป็น บ้านแนวราบลดลง -35.2% YoY และคอนโดมิเนียม -13.4% YoY อย่างไรก็ตาม การเปิดขายโครงการใหม่เพิ่มขึ้น 28.4% YoY นำโดยคอนโดมิเนียม +135.0% YoY (เพื่อรองรับกำลังซื้อชาวต่างชาติตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว) ส่วนใหญ่อยู่ในภูเก็ตและชลบุรี ขณะที่บ้านแนวราบลดลง -8.2% YoY ด้านยอดโอนกรรมสิทธิ์ (ยูนิต) เพิ่มขึ้น 4.9% YoY คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 16.3% YoY อานิสงส์จากกำลังซื้อต่างชาติที่ต้องการบ้านหลังที่ 2 และกลุ่มที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยยอดโอนฯ ประมาณ 40% อยู่ในจังหวัดชลบุรี (ทั้งจำนวนยูนิตและมูลค่า) ซึ่งเป็นทั้งจังหวัดท่องเที่ยว จังหวัดเศรษฐกิจ/อุตสาหกรรม และมีกำลังซื้อสูง 

  • ช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าอุปสงค์ที่อยู่อาศัยจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวและมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองจะสิ้นสุดในช่วงปลายปี เป็นปัจจัยช่วยเร่งการตัดสินใจซื้อ คาดว่าทั้งปี 2566 ยอดขายรวมจะลดลง -25.0% ขณะที่จำนวนยูนิตเปิดขายใหม่จะเพิ่มขึ้น 4.2%




 

แนวโน้มปี 2567-2569

  • ยอดขายที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปี เนื่องจากเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพในด้านต่างๆ อาทิ เมืองท่องเที่ยว เมืองอุตสาหกรรม และจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค โดยมีแรงหนุนจาก (1) เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวในระดับ 3.0-4.0% ช่วยหนุนกำลังซื้อปรับดีขึ้น (2) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะหนุนให้การเดินทางสะดวกขึ้น (3) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 43 ล้านคนในปี 2569 ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ของชาวต่างชาติ  และ (4) การแข่งขันยังไม่รุนแรงเท่าทำเลกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ  โดยเฉพาะราคาที่ดิน2/

  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มเปิดโครงการเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้

    • ที่อยู่อาศัยแนวราบ: คาดว่าการเปิดโครงการใหม่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.0% ต่อปี เพื่อสนองตอบกลุ่มที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real demand)_และกลุ่มที่ต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าระดับกลางถึงบน ขณะที่การแข่งขันมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่จากส่วนกลางขยายการลงทุนสู่ภูมิภาคมากขึ้น จึงกดดันการทำกำไรของผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการท้องถิ่น

    • คอนโดมิเนียม: คาดว่าการฟื้นตัวจะช้ากว่าแนวราบ โดยคอนโดมิเนียมยังเป็นที่ต้องการของนักลงทุนและชาวต่างชาติ ซึ่งประเมินว่าการลงทุนอสังหาฯ ในจังหวัดสำคัญของไทยมีความคุ้มค่าและได้ผลตอบแทนค่อนข้างดี ทั้งนี้ คาดว่าการเปิดโครงการใหม่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0% ต่อปี

                    1/ ที่อยู่อาศัย 6 จังหวัดหลักภูมิภาค ประกอบด้วย เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น และภูเก็ต
   
                2/ ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC)

 

อาคารเชิงพาณิชย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล​

 

อาคารสำนักงาน
 

สถานการณ์ปี 2566

  • ครึ่งปีแรก พื้นที่สำนักงานเปิดให้บริการใหม่อยู่ที่ 134,750 ตารางเมตร ทำให้อุปทานสะสมอยู่ที่ 9.4 ล้านตารางเมตร1/ ด้านการเช่าพื้นที่สะสม (Occupied space) อยู่ที่ 7.9 ล้านตารางเมตร โดยอัตราการเช่าพื้นที่สุทธิ2/ (Net take-up) ปรับดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 (+13,568 ตารางเมตร จาก -5,961 ตารางเมตรในช่วงไตรมาสแรก) กลุ่มผู้เช่ามาจากบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซ และบริษัทการตลาดออนไลน์ เน้นทำเลใจกลางเมืองและพื้นที่โดยรอบที่เดินทางสะดวก ซึ่งมีราคาเสนอเช่าไม่สูงมากนัก ด้านอัตราการเช่าอยู่ที่ 84.3% ลดลงจาก 86.7% ในช่วงเดียวกันปี 2565

  • ช่วงครึ่งปีหลัง ธุรกิจได้ปัจจัยบวกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงคาดว่าทั้งปี 2566 จะมีอุปทานพื้นที่ใหม่ทยอยเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น 270,000 ตารางเมตรตามโครงการที่สร้างแล้วเสร็จโดยเฉพาะในย่าน CBD ขณะที่ความต้องการเช่าพื้นที่จะเพิ่มขึ้น 66,000 ตารางเมตร เนื่องจากยังถูกกดดันจากการทำงานแบบ Hybrid working กดดันให้อัตราการเช่าพื้นที่ปรับลดมาอยู่ที่ 83% จากระดับ 85% ปี 2565 แนวโน้มดังกล่าวจะทำให้เกิดภาวะอุปทานส่วนเกินของพื้นที่สำนักงานให้เช่า ส่งผลให้อัตราค่าเช่าเฉลี่ยปรับลดลงเล็กน้อยโดยเฉพาะอาคารเกรด A ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี



     

แนวโน้มปี 2567-2569​

  • ความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานมีแนวโน้มขยายตัวในระดับ 1.5-2.0% ต่อปี ชะลอลงเมื่อเทียบกับเฉลี่ย 2.5% ต่อปีในช่วงปี 2558-2562 (ก่อน COVID-19) ผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ภาคธุรกิจทยอยขยายกิจการในทิศทางเดียวกัน จึงมีความต้องการพื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผู้เช่า (โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติ) มีแนวโน้มพิจารณาเช่าอาคารใหม่ที่เป็น Green office ซึ่งก่อสร้างโดยให้ความสำคัญกับ ESG หรือก่อสร้างด้วยมาตรฐานระดับโลก เช่น LEED หรือได้ใบรับรอง เช่น ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้านสุขอนามัย หรือด้านการเชื่อมต่อระบบดิจิทัล ทำให้ผู้พัฒนาโครงการสามารถกำหนดอัตราค่าเช่าได้สูงขึ้น และมีโอกาสคืนทุนเร็วกว่าสำนักงานทั่วไป จึงคาดว่าอุปทานสำนักงานให้เช่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อรองรับอุปสงค์ที่ฟื้นตัวในอนาคต โดยอุปทานสำนักงานใหม่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6% ต่อปี หรือประมาณ 8 แสนตารางเมตร ขณะที่อัตราการเช่าจะปรับลดสู่ระดับเฉลี่ย 82% จึงอาจสร้างแรงกดดันต่อค่าเช่าในบางทำเล เนื่องจากผู้เช่าจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น หรือการปรับขึ้นค่าเช่าทำได้จำกัด

  • รายได้มีแนวโน้มเติบโตตามทำเลของสำนักงาน ดังนี้

    • สำนักงานให้เช่าใน CBD: คาดรายได้จะทยอยปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาคาร Grade A เนื่องจากมีการออกแบบและใช้ระบบเทคโนโลยีทันสมัย รวมถึงมีระบบบริหารจัดการที่ดี ทำให้มีความต้องการสม่ำเสมอ แม้ราคาค่าเช่าสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ

    • สำนักงานให้เช่าใน Non-CBD และพื้นที่ปริมณฑล: คาดรายได้จะทรงตัวหรือปรับลดเล็กน้อย จากอุปทานที่ค่อนข้างมากและส่วนใหญ่เป็นอาคาร Grade B ทำให้การแข่งขันสูง จึงไม่สามารถปรับขึ้นค่าเช่าได้มากนัก

                          1/ CBRE Research มีการปรับฐานข้อมูลในไตรมาส 1 ปี 2566 โดยจะไม่รวมสำนักงานรูปแบบโฮมออฟฟิศและอาคารของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้การวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าจะมีความคลาดเคลื่อน
                          2/ ความต้องการเช่าสุทธิ (Net take-up) หมายถึง พื้นที่ที่ถูกครอบครองโดยผู้เช่าที่อาจเพิ่มขึ้น / ลดลง ในปีนั้น ๆ


พื้นที่ค้าปลีกให้เช่า1/  


สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วงครึ่งปีแรก ธุรกิจได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว หนุนธุรกิจค้าปลีกฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการเช่าพื้นที่ค้าปลีกอยู่ที่ 6.4 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 1.7% จากสิ้นปี 2565 ขณะที่อุปทานพื้นที่ค้าปลีกสะสมอยู่ที่ 6.8 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 1.9% YTD ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพื้นที่เช่าในโครงการที่เคยปิดปรับปรุงพื้นที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง โดยพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 16.8% YTD ทำให้อัตราการเช่าพื้นที่ลดลงจาก 95.5% ปี 2565 มาอยู่ที่ 95.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566

  • ช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าความต้องการเช่าพื้นที่ค้าปลีกจะเติบโตต่อเนื่อง จากแรงส่งของกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ (คาดจะอยู่ที่ 14.8 ล้านคน) เป็นปัจจัยบวกต่อพื้นที่ค้าปลีกย่านใจกลางเมืองซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ขณะที่กำลังซื้อในประเทศยังฟื้นตัวในวงจำกัด ด้านผู้ประกอบการมีแนวโน้มเปิดโครงการใหม่ตามแผนธุรกิจ ส่งผลให้ทั้งปี 2566 จะมีอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 300,000 ตารางเมตร (+4.8% YoY) ขณะที่ความต้องการเช่าจะอยู่ที่ 250,000 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 4.0% จากสิ้นปี 2565 ด้านอัตราการเช่าพื้นที่จะทรงตัวที่ระดับ 94.7%



​แนวโน้มปี 2567-2569

  • ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่ามีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปัจจัยหนุน ได้แก่ (1) การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (2) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของภาครัฐทำให้มีการลงทุนเพิ่มพื้นที่ค้าปลีกรองรับการขยายตัวของชุมชนเมือง และ (3) กำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับสู่ระดับก่อน COVID-19 ในปี 2568 โดยคาดว่าความต้องการเช่าพื้นที่จะเติบโตเฉลี่ย 2.4-3.6% ต่อปี ขณะที่ผู้ประกอบการจะขยายการลงทุนต่อเนื่องทั้งการปรับปรุงสาขาเดิมและเปิดโครงการใหม่ ซึ่งบางโครงการถูกเลื่อนการเปิดให้บริการจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่มีความล่าช้าในการก่อสร้าง จึงคาดว่าจะมีอุปทานพื้นที่ใหม่เข้าสู่ตลาดเฉลี่ย 3.7% ต่อปี ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่ทยอยลดลงสู่ระดับเฉลี่ย 93.3%

    • ศูนย์การค้าแบบปิด: รายได้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทำเล กลางเมือง ซึ่งเป็นที่ต้องการของแบรนด์ใหญ่และแบรนด์ต่างประเทศ โดยอุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในทำเลกลางเมืองและชานเมืองซึ่งมีการขยายตัวของที่อยู่อาศัย เช่น รังสิต และบางนา ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ส่งผลให้ค่าเช่ามีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะย่านกลางเมือง

    • คอมมูนิตี้มอลล์: รายได้มีแนวโน้มทรงตัว จากอุปทานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลจากใช้เงินลงทุนไม่สูงมากจึงหาทำเลเพื่อพัฒนาโครงการได้ง่ายโดยเฉพาะแถบชานเมือง เช่น รังสิต แจ้งวัฒนะ และลาดกระบัง อย่างไรก็ตาม คาดว่าอุปสงค์จะฟื้นตัวช้ากว่าอุปทาน ผลจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายรายได้ระดับกลางลงมาต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว การปรับขึ้นค่าเช่าจึงทำได้จำกัด

    • พื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน: คาดว่ารายได้จะทรงตัว ผลจากอุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะย่านกลางเมืองที่มีการพัฒนาโครงการ Mixed-use หลายโครงการ ขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มเติบโตในพื้นที่ที่เน้นรูปแบบทันสมัยและเดินทางสะดวก ส่งผลให้ค่าเช่ามีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับขึ้นเล็กน้อย

                                  1/พื้นที่ค้าปลีก หมายถึง ศูนย์การค้า 3 ประเภท ได้แก่ ศูนย์การค้าแบบปิด คอมมูนิตี้มอลล์ และพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน
 

นิคมอุตสาหกรรม


สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วงครึ่งแรกปี 2566 ยอดขายหรือให้เช่าใหม่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศอยู่ที่ 1,844 ไร่ เพิ่มขึ้น 210.4% YoY ตามทิศทางการลงทุนของโลกที่ฟื้นตัวหลัง COVID-19 คลี่คลาย โดยยอดขายหรือให้เช่าใหม่ในภาคตะวันออก (สัดส่วน 87% ของพื้นที่ขายและให้เช่าใหม่ทั้งหมด) มีจำนวน 1,598 ไร่ เพิ่มขึ้น 334.2% YoY โดยนักลงทุนชาวญี่ปุ่นลงทุนในนิคมฯ มากที่สุด (สัดส่วน 31%) รองลงมา ได้แก่ จีน (12%) และสิงคโปร์ (8%) ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลงทุนในนิคมฯ มากที่สุด คือ กลุ่มยานยนต์และการขนส่ง กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ กลุ่มยาง และ พลาสติก ตามลำดับ

  • นิคมฯ จัดตั้งใหม่มีจำนวน 1 แห่ง ในช่วงครึ่งแรกปี 2566 คือ นิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,547 ไร่ สะท้อนถึงศักยภาพในการเติบโตด้านการลงทุนในพื้นที่ EEC สอดคล้องกับมูลค่าการขอรับและอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ใน EEC ที่เพิ่มขึ้น 64.1% YoY และ 87.8% YoY ตามลำดับ ทำให้จำนวนนิคมฯ ทั่วประเทศ (จาก 16 จังหวัด) มีทั้งสิ้น 68 แห่ง รวมเป็นพื้นที่ 1.72 แสนไร่ โดยภาคตะวันออกมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 78.0% ส่วนยอดขายหรือให้เช่าที่ดินสะสมทั่วประเทศคิดเป็นสัดส่วน 76.9% (จำนวน 1.32 แสนไร่) ของจำนวนพื้นที่นิคมฯ ทั้งหมด

  • ช่วงครึ่งหลังของปี ความต้องการซื้อหรือเช่าพื้นที่ในนิคมฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราเร่ง ตามทิศทางการขยายตัวของการลงทุน คาดทั้งปี 2566 ยอดขาย/ให้เช่าใหม่จะอยู่ที่ 4,500 ไร่ เพิ่มขึ้น 32.2% จากปี 2565



 

แนวโน้มปี 2567-2569​

ยอดขายและให้เช่าใหม่ในพื้นที่นิคมฯ ช่วง 3 ปีข้างหน้าจะขยายตัวเฉลี่ย 10.0-15.0% ต่อปี อยู่ที่ 5,000-7,000 ไร่ ปัจจัยหนุนจาก (1) การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะหนุนการส่งออกของไทย แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจำกัดการเติบโตจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้น (2) แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก เพื่อกระจายความเสี่ยงการลงทุน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติในอาเซียน และ (3) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่จะมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยผู้ประกอบการนิคมฯ มีแนวโน้มพัฒนานิคมฯ รูปแบบ Smart Park ที่มีความทันสมัยทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต ระบบการขนส่ง ระบบการสื่อสาร ระบบพลังงาน ตลอดจนพัฒนานิคมฯ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตและสอดรับกับนโยบายภาครัฐที่มุ่งสู่เศรษฐกิจแบบ Bio-Circular-Green (BCG) มากขึ้น

  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก: ความต้องการซื้อหรือเช่าพื้นที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี อานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเพื่อสนับสนุนพื้นที่ EEC อย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นกว่าพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตาม พื้นที่นิคมฯ ใหม่ (พื้นที่จัดตั้งใหม่และการขยายพื้นที่ของนิคมฯ เดิม) มีแนวโน้มขยายตัวจำกัด จากราคาที่ดินที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง และทำเลที่มีศักยภาพหายากมากขึ้น

  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลาง: ความต้องการซื้อหรือเช่าฯ จะยังเติบโตจากความได้เปรียบเชิงกายภาพด้านการคมนาคมขนส่ง หนุนให้รายได้ยังคงเติบโตดี โดยเฉพาะรายได้จากค่าบริการสาธารณูปโภค และค่าเช่า

  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคอื่นๆ: ความต้องการซื้อหรือเช่าฯ ยังอยู่ระดับต่ำ เนื่องจากยังต้องรอแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน   โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง-ตะวันตก และภาคใต้) ครอบคลุมพื้นที่ 16 จังหวัด รวมถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐที่เชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมขนส่งจากพื้นที่เศรษฐกิจหลัก ทำให้รายได้ของนิคมฯ ในพื้นที่นี้ยังคงเติบโตช้า



 

ธุรกิจให้บริการ


โรงแรม


สถานการณ์ปี 2566

  • ในช่วง 9 เดือนแรก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 20.0 ล้านคน เทียบกับ 5.7 ล้านคนช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยสำคัญจาก (1) ทางการจีนทยอยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศได้ตั้งแต่ต้นปี และ (2) การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย เนื่องจากค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวในไทยยังต่ำกว่าที่อื่น อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมยังคิดเป็นสัดส่วนเพียง 67% ของช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 (29.5 ล้านคน) โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซียมาไทยมากที่สุด 3.3 ล้านคน (สัดส่วน 111% ของนักท่องเที่ยวมาเลเซียช่วง 9 เดือนแรกปี 2562) ตามด้วยจีน 2.5 ล้านคน (สัดส่วน 29%) และเกาหลีใต้ 1.2 ล้านคน (สัดส่วน 86%) ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางในประเทศ 128.2 ล้านทริป เพิ่มขึ้น 23.3% YoY โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากวันหยุดยาวต่อเนื่อง 3 วันหลายช่วง รวมถึงมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส 5” (มีนาคม-เมษายน 2566) 

  • อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศ 9 เดือนแรก ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 67.8% (จาก 43.1% ช่วงเดียวกันปี 2565) เทียบกับ 71.2% ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 ขณะที่ราคาห้องพักปรับเพิ่มขึ้น 44.4% YoY ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 973 บาท (+127.9% YoY) เทียบกับ 9 เดือนแรกปี 2562 ที่ระดับ 1,224 บาท

  • พื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมทั่วประเทศในช่วง 7 เดือนแรกอยู่ที่ 5.9 แสน ตารางเมตร หดตัว -22.2% YoY โดยกรุงเทพฯ (สัดส่วน 17% ของพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมทั่วประเทศ) หดตัว -77.6% YoY ขณะที่ชลบุรีเพิ่มขึ้น 22.6% YoY จากแรงหนุนของ EEC เพื่อรองรับอุปสงค์จากภาคอุตสาหกรรมและท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

  • ช่วงที่เหลือของปีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนจากมาตรการวีซ่าฟรีสำหรับ (1) นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน (มีผลกันยายน 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567) (2) นักท่องเที่ยวอินเดียและไต้หวัน (มีผล 10 พฤศจิกายน 2566 ถึง 10 พฤษภาคม 2567) อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะส่งผลจำกัด เนื่องจากออกมาในช่วงที่เหลือของปีในภาวะที่เศรษฐกิจจีนยังคงซบเซา  อีกทั้งจำนวนเที่ยวบินจากจีนยังกลับมาไม่เท่าปี 2562 รวมถึงเหตุการณ์กราดยิงกลางศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ เมื่อ 3 ตุลาคม ที่น่าจะส่งผลกระทบระยะสั้น จึงคาดว่าทั้งปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยจะอยู่ที่ 27.7 ล้านคน (+148.4%) คนไทยเดินทางในประเทศ 175 ล้านทริป (+16.2%) ซึ่งจะหนุนให้อัตราเข้าพักจะอยู่ที่ 68.5% (ปี 2565 ที่ 47.9%)

แนวโน้มปี 2567-2569

  • ธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง_ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะอยู่ที่ 35.6 ล้านคน ในปี 2567 ก่อนจะปรับเพิ่มเป็น 40 ล้านคนในปี 2568 และ 43 ล้านคนในปี 2569 จาก(1) การทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวตลาดหลัก แม้ตลาดจีนจะฟื้นตัวช้าจากภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจทำให้นักท่องเที่ยวจีนยังเน้นการท่องเที่ยวในประเทศ (2) สถานการณ์ด้านการบินที่คาดว่าจะกลับมาเป็นปกติ และ (3) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ อาทิ การขยายเวลาวีซ่าฟรีแก่นักท่องเที่ยวรัสเซียจากเดิม 30 วันเป็น 90 วัน (1 พฤศจิกายน 2566 ถึง 30 เมษายน 2567) ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น (ล่าสุดใน Gaza Strip) ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางในประเทศประมาณ 185 ล้านทริปในปี 2567 และจะเพิ่มเป็น 200  ล้านทริปในปี 2568 และ 220 ล้านทริปในปี 2569 จากแนวโน้มมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศออกมาต่อเนื่อง หนุนให้อัตราเข้าพักโดยรวมทยอยปรับขึ้นมาเหนือ 70% ในปี 2567 72.0% ในปี 2568 และ 73.5% ในปี 2569

    • โรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก (กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต): คาดรายได้เติบโตสูงตามทิศทางการท่องเที่ยว อัตราเข้าพักเฉลี่ยมีโอกาสสูงถึง 80% ต่อปี จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

    • โรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญและจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค: คาดรายได้ทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศและอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ

    • โรงแรมในจังหวัดอื่นๆ: รายได้มีแนวโน้มทรงตัว อัตราการเข้าพักเฉลี่ยยังคงต่ำกว่าพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ เนื่องจากส่วนใหญ่รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเพื่อไปจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค/แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ


โรงพยาบาลเอกชน


สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรก รายได้ของธุรกิจปรับดีขึ้นต่อเนื่อง จาก (1) การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยด้วยโรคทั่วไป และโรค COVID-19 ที่มีต่อเนื่อง รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคตามฤดูกาล (เช่น ไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก) ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 90% YoY (2) การกลับมาของผู้ป่วยต่างชาติโดยเฉพาะจากตะวันออกกลางและตลาดใหม่ (เช่น ซาอุดิอาระเบีย และลิเบีย) กลุ่ม Medical tourist (สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 20 ล้านคน) และกลุ่มลูกค้าจีนที่เข้ามาใช้บริการ IVF เพิ่มขึ้น (ค่าใช้จ่าย IVF ถูกรวมไว้ในประกันพื้นฐานของทางการจีน) และ (3) การปรับขึ้นค่าเหมาจ่ายรายหัวของสำนักงานประกันสังคม (เป็น 1,808 บาทต่อคนต่อปีจากเดิม 1,640 บาท)

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่ากำลังซื้อผู้บริโภคจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนการเติบโตจากภาคท่องเที่ยว ขณะที่ผู้ป่วยต่างชาติจะเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ระดับ 7-8 ล้านคน หนุนรายได้ทั้งปี 2566 ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้น 8.0-10.0% จากปี 2565


แนวโน้มปี 2567-2569

รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 9.0-10.0% ต่อปี จากปัจจัยหนุน ดังนี้

  • ความต้องการใช้บริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจัย

    • ประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ของไทยจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 20.2% ในปี2566 เป็น 22.4% ของประชากรรวมในปี 2569 (ที่มา: สศช.) จึงต้องการบริการการแพทย์ที่ต่อเนื่องและซับซ้อน

    • การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases) ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 75% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่ผู้ป่วยต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจากผู้ป่วยหลักในกลุ่มตะวันออกกลางและ CLMV รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical traveler) ที่จะเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของภาคท่องเที่ยว

  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายสาขาหรือเพิ่มพื้นที่ให้บริการและขยายบริการทางการแพทย์ อาทิ แพทย์ทางไกล (Telemedicine) รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิต (Health and wellness) ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

    • โรงพยาบาลขนาดใหญ่: คาดว่าฐานรายได้จะกว้างขึ้น เนื่องจากมีความพร้อมในการรับผู้ป่วยและการให้บริการในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญสูง ทั้งยังมีเครือข่ายสาขาและพันธมิตรทางธุรกิจ

    • โรงพยาบาลขนาดกลาง-เล็ก: การมีฐานลูกค้าประกันสังคมจะช่วยลดความผันผวนของรายได้ แต่การแข่งขันที่รุนแรงจะทำให้โรงพยาบาลที่ไม่มีเครือข่ายถูกกดดันมากขึ้น





       

ธุรกิจค้าปลีก​

 

ร้านค้าปลีกสมัยใหม่


สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรกของปี ยอดขายปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ทำให้การจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้น (2) มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ อาทิ ช้อปดีมีคืน (มกราคม-กุมภาพันธ์) และเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 (มีนาคม-เมษายน) รวมถึงการใช้จ่ายในช่วงการเลือกตั้ง ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 42 เดือนในเดือนกันยายนที่ 58.7 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงกังวลปัจจัยกดดันด้านต้นทุน ท่ามกลางกำลังซื้อที่ฟื้นตัวในวงจำกัด สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) ที่ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 19 เดือนในเดือนกรกฎาคม

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น อานิสงส์จากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลปลายปีช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ขณะที่มาตรการภาครัฐ อาทิ  มาตรการ Free-Visa ให้นักท่องเที่ยวจีนและคาชัคสถาน (มีผล 25 กันยายน 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567) และนักท่องเที่ยวอินเดียและไต้หวัน (มีผล 10 พฤศจิกายน ถึง 10 พฤษภาคม 2567) จะหนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ระดับ 7-8 ล้านคน (เกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี) ช่วยกระตุ้นยอดขายในพื้นที่ท่องเที่ยว จึงคาดว่ายอดขายทั้งปี 2566 จะเติบโตเฉลี่ย 4.5-5.0% จากระดับ 4.5% ในปี 2565 

แนวโน้มปี 2567-2569​

  • รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตในอัตราเฉลี่ย 5.0-5.5% ต่อปี จากปัจจัยหนุน ได้แก่ (1) กำลังซื้อในประเทศทยอยฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจไทยที่จะเติบโตในช่วง 3.0-4.0% ต่อปี (2) กำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 43 ล้านคนภายในปี 2569 ช่วยกระตุ้นยอดค้าปลีกโดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว (3) การขยายตัวต่อเนื่องของธุรกิจออนไลน์ (Euromonitor คาดว่า Retail E-commerce ของไทยจะเติบโตเฉลี่ย 15.4% (CAGR) ในปี 2567-2570) (4) ความคืบหน้าของโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์จะเพิ่มการจ้างงานและรายได้ ดึงดูดให้มีการลงทุนเปิดสาขารองรับการขยายตัวของชุมชน และ (5) การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน (IMF คาดเศรษฐกิจ CLMV จะเติบโตในช่วง 2.6-6.8% ต่อปี) ช่วยหนุนธุรกิจค้าปลีกตามจังหวัดชายแดน  ด้านผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายสาขาต่อเนื่อง ควบคู่การพัฒนาช่องทางการขายออนไลน์ รวมถึงการพัฒนารูปแบบธุรกิจที่หลากหลายเพื่อขยายฐานรายได้และตอบสนองลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

  • แนวโน้มการเติบโตของร้านค้าปลีกแต่ละประเภท มีดังนี้

    • ห้างสรรพสินค้า คาดรายได้ขยายตัวเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปีจาก 3.6% ปี 2566ผลจากลูกค้าเป็นกลุ่มรายได้กลาง-บนซึ่งมีกำลังซื้อสูงต่อเนื่อง ด้านผู้ประกอบการเน้นพัฒนาแพลตฟอร์ม Omnichannel และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AR เพื่ออำนวยความสะดวกและจูงใจลูกค้า รวมถึงขยายสาขาในทำเลศักยภาพและประเทศเพื่อนบ้าน

    • ดิสเคาท์สโตร์ คาดรายได้เติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปีจาก 2.0% ปี 2566 เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคระดับกลางลงมามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ผู้ประกอบการจะปรับรูปแบบสาขาสู่ระดับพรีเมี่ยมมากขึ้นเพื่อขยายฐานสู่กลุ่มลูกค้าระดับบน

    • ซูเปอร์มาร์เก็ต คาดรายได้เติบโตเฉลี่ย 6.5-7.0% ต่อปีจาก 6.0% ปี 2566 เนื่องจากลูกค้าเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง ขณะที่ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับรูปแบบร้านค้าให้ทันสมัยและเน้นสินค้าระดับไฮเอนด์มากขึ้นเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด (เช่น เพิ่มสินค้าพรีเมี่ยม สินค้าสุขภาพ และสินค้าออร์แกนิค)

    • ร้านสะดวกซื้อ คาดรายได้เติบโตเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปีจาก 5.0% ปี 2566 ผลจากมีสาขาจำนวนมากกระจายครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ และมีการปรับกลยุทธ์การขายผ่านออนไลน์ บริการจัดส่ง และการเพิ่มสินค้าอาหารสดและเครื่องดื่ม


 

ธุรกิจบริการทางการเงิน

 

บัตรเครดิต


สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรก ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบขยายตัว 19.1% YoY อยู่ที่ 1,917.5 พันล้านบาท ขณะที่ยอดสินเชื่อบัตรเครดิตคงค้างเพิ่มขึ้น 29.5% YoY และจำนวนบัญชีบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 3.6% YoY ผลจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมฟื้นตัว หนุนความเชื่อมั่นผู้บริโภคแตะระดับสูงสุดในรอบ 42 เดือนในเดือนกันยายน ส่งผลให้มีความต้องการใช้จ่ายเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้นหลังชะลอไปในช่วงวิกฤต COVID ด้านผู้ให้บริการบัตรเครดิตเน้นทำตลาดกลุ่มผู้มีรายได้สูงเพื่อกระตุ้นยอดใช้จ่าย

  • ช่วงที่เหลือของปี ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเข้าสู่เทศกาลใช้จ่ายปลายปี ขณะที่ภาคท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจะได้อานิสงส์จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ ส่งผลบวกต่อธุรกิจบัตรเครดิต อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูงกว่า 90% ของ GDP (ไตรมาส 2 ปี 2566) จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้จ่ายในระดับหนึ่ง ทำให้ทั้งปี 2566 คาดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเพิ่มขึ้น 20.0-22.0% จากปี 2565 


แนวโน้มปี 2567-2569​

  • ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตในระดับ 14.0-15.0% ต่อปี จากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง หนุนการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนทำธุรกิจเติบโตตามมา ขณะที่การขยายตัวของภาคท่องเที่ยวจะเพิ่มยอดการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมชำระเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น

  • ผู้ประกอบการจะขยายฐานลูกค้ารายใหม่อย่างระมัดระวัง โดยเน้นกลุ่มรายได้สูงและกลุ่มที่มีศักยภาพเพื่อเพิ่มยอดใช้จ่ายและลดความเสี่ยงของการเกิด NPLs จากกลุ่มที่มีฐานะการเงินเปราะบางหรือรายได้ฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีแนวโน้มออกผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น เพื่อการท่องเที่ยว และเพื่อสุขภาพและความงาม

  • การแข่งขันของธุรกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการใช้จ่ายผ่าน Mobile Banking, QR Code และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว และการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later) ซึ่งเป็นที่นิยมของแพลตฟอร์ม E-commerce ส่งผลให้ผู้ให้บริการบัตรเครดิตต้องเร่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น  AI เพื่ออำนวยความสะดวกตั้งแต่การสมัคร การอนุมัติวงเงินและการบริหารจัดการความเสี่ยงของลูกค้า เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน


 

ธุรกิจบริการอื่นๆ

 

บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่


สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรกของปี รายได้ของธุรกิจเติบโตขึ้นเล็กน้อย จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนำโดยภาคท่องเที่ยว การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติและแรงงานต่างด้าว ทำให้มีรายได้จากบริการโรมมิ่งและการโทรระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของกลุ่มลูกค้าองค์กร และการเติบโตของธุรกรรมออนไลน์ ด้านผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์โดยส่งเสริมการขายที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และรวมกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Bundling package) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการให้บริการโซลูชัน 5G แก่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) เพิ่มขึ้นในช่วง 2.0 ถึง 3.0%

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่ารายได้จะเติบโตต่อเนื่องจากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลปลายปี (High season) ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ระดับ 8 ล้านคนช่วยเพิ่มฐานลูกค้าระบบเติมเงิน ส่งผลให้รายได้ค่าบริการปี 2566 เพิ่มขึ้น 1.0-2.0% จากปี 2565


แนวโน้มปี 2567-2569 

ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตในอัตราไม่สูงนัก คาดรายได้ค่าบริการจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-2.5% ต่อปี จากปัจจัยหนุน ดังนี้

  • ความต้องการใช้บริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก

    • กำลังซื้อผู้บริโภคทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 40 ล้านคนในปี 2568 ช่วยขยายฐานลูกค้าโดยเฉพาะระบบเติมเงิน

    • ความนิยมใช้งานด้านข้อมูลบนสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น บริการคอนเทนต์ด้านบันเทิง การใช้งานโซเชียลมีเดีย การทำธุรกรรมการเงิน และการซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้าและรายได้

    • ความต้องการใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจหรืออุตสาหกรรมสู่รูปแบบดิจิทัล เช่น ร้านค้าปลีกแบบอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสุขภาพ และการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในชีวิตประจำวัน

    • นโยบายภาครัฐ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล โครงการสมาร์ทซิตี้ และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้มีการขยายโครงข่ายด้านโทรคมนาคมกระจายทั่วประเทศ กระตุ้นความต้องการใช้งานจากผู้บริโภคในพื้นที่ใหม่ๆ

  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายโครงข่าย 5G ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยกระจายต้นทุนคงที่ด้วยฐานผู้ใช้บริการที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงการพัฒนารูปแบบบริการเสริมและการต่อยอดธุรกิจไปเป็นบริษัทเทคโนโลยีเพื่อขยายฐานรายได้ในระยะยาว



 

โลจิสติกส์


คลังสินค้าทั่วไป


สถานการณ์ปี 2566

  • ธุรกิจมีทิศทางเติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยหนุน ได้แก่ (1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยปรับดีขึ้นนำโดยภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน (คาดขยายตัว 3.3% YoY) ทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น (2) การเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยคาดขยายตัว 13-15% YoY) และ (3) ผู้ค้าบางกลุ่มต้องการเพิ่มพื้นที่เพื่อสต็อกสินค้านำเข้าที่ระบายจากจีนในช่วงเศรษฐกิจจีนชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกที่คาดว่าจะหดตัว -1.5% YoY จะลดทอนความต้องการใช้คลังสินค้าลงบางส่วน จึงคาดว่าอุปสงค์พื้นที่คลังสินค้าสะสมจะอยู่ที่ 5.8 ล้านตารางเมตร ขยายตัว 7.0% จากปี 2565

  • ผู้ประกอบการทยอยลงทุนขยายพื้นที่คลังสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่จะเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป สะท้อนจากที่ BOI ระบุว่าช่วง 8 เดือนแรกของปีการขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น 73% YoY โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการผลิตเครื่องจักรและชิ้นส่วน ส่งผลให้อุปทานคลังสินค้าสะสมอยู่ที่ 6.7 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 6.8% จากปี 2565 ขณะที่อัตราการเช่าอยู่ที่ระดับ 86.0% ใกล้เคียงกับ 85.9% ปี 2565


แนวโน้มปี 2567-2569​

  • ความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.3% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องในระดับ 3.0-4.0% ต่อปี ขณะที่ภาคส่งออกทยอยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า (2) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตมาไทยมากขึ้นในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงานสะอาด จึงมีความต้องการพื้นที่จัดเก็บสินค้ามากขึ้น (3) การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (คาดเปิดปี 2567) นิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน (Phase1 เปิดปี 2566) EEC Advanced Healthcare (ปี 2567) และ EEC Digital Park และ (4) การเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจการค้าออนไลน์ที่ระดับเฉลี่ย 13% ต่อปี

  • อุปทานพื้นที่คลังสินค้าให้เช่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.5% ต่อปี เพื่อรองรับการผลิต การค้าและการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นตามโครงการลงทุนต่างๆ โดยทำเลศักยภาพ ได้แก่ BMR เมืองศูนย์กลางภูมิภาค พื้นที่ EEC และจังหวัดชายแดนที่เป็นประตูการค้าและมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่รูปแบบจะเน้นคลังสินค้าสั่งสร้าง (Built to Suit) ที่รองรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสอดรับกับกระแส ESG ทั้งนี้ อัตราการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ที่สูงกว่าอุปทานเล็กน้อย ทำให้อัตราการเช่าพื้นที่จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 86.5%


บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน


สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรก ธุรกิจได้อานิสงส์จากผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลจาก (1) การกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมตามปกติ อาทิ การเข้าเรียนในสถานศึกษา การกลับมาทำงานในสำนักงาน และการจัดงานประชุม สัมมนา รวมถึงงานแสดงสินค้า (2) มาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว อาทิ เราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 20 ล้านคน และ (3) การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ทำให้มีการส่งต่อผู้โดยสารมารถไฟฟ้าสายหลักได้สะดวกขึ้น สำหรับสถานการณ์โดยรวม สรุปได้ดังนี้

    • ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 334.5 ล้านคน-เที่ยว หรือเฉลี่ย 1.2 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน (+55.4% YoY) โดย BTS_(สัดส่วน 58.5% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด) 195.8 ล้านคน-เที่ยว หรือเฉลี่ย 7.2 แสนคน-เที่ยวต่อวัน (+48.5% YoY) MRT (สัดส่วน 33.4%) 111.7 ล้านคน-เที่ยว หรือเฉลี่ย 4.1 แสนคน-เที่ยวต่อวัน (+60.8% YoY) ARL (สัดส่วน 4.9%) 16.6 ล้านคน-เที่ยวหรือเฉลี่ย  6.1 หมื่นคน-เที่ยวต่อวัน (+53.6% YoY) SRTET สายสีแดง (สัดส่วน 1.6%) 5.5 ล้านคน-เที่ยว หรือเฉลี่ย 2.0 หมื่นคน-เที่ยวต่อวัน (+71.8% YoY) และ YL สายสีเหลือง(สัดส่วน 1.5%) 4.9 ล้านคน-เที่ยว หรือเฉลี่ย 1.8 หมื่นคน-เที่ยวต่อวัน

    • รายได้ค่าโดยสาร (เฉพาะสายหลัก) เฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 52.5% YoY โดยรถไฟฟ้า BTS (สายสีเขียว) เพิ่มขึ้น 49.7% YoY และ MRT (สายสีน้ำเงิน) เพิ่มขึ้น 57.4% YoY

  • ช่วงที่เหลือของปี ธุรกิจจะได้ผลบวกจาก (1) การปรับลดค่าโดยสาร (ตามนโยบายรัฐ) เหลือ 20 บาทตลอดสายสำหรับสายสีแดงและสีม่วง (ตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2566-30 พฤศจิกายน 2567) รวมถึงการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู(เดือนพฤศจิกายน) ซึ่งมีจุดเชื่อมต่อกับสายสีเขียว สายสีม่วง และสายสีแดง (2) ความต้องการใช้บริการรถไฟฟ้าแทนรถส่วนบุคคลในช่วงราคาน้ำมันแพง และ (3) ความต้องการเดินทางที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวปลายปี หนุนการใช้รถไฟฟ้าเส้นทางเชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปี 2566 ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ารวมจะอยู่ที่ 427.5 ล้านคน-เที่ยว หรือเฉลี่ย 1.6 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน (+79.8% YoY) และรายได้รวมเฉลี่ยต่อวันจะเพิ่มขึ้น 41.2% จากปี 2565 โดย BTS จะเพิ่มขึ้น 38.1% และ MRT เพิ่มขึ้น 46.5% ตามลำดับ

 แนวโน้มปี 2567-2569​

  • ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.0-12.0% ต่อปี แรงหนุนจาก (1) กำลังซื้อผู้บริโภคทยอยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี และนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 43 ล้านคนในปี 2569 (2) โครงการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าและบริเวณใกล้เคียงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (คาดยูนิตเปิดขายใหม่ใน BMR จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี) และ (3) การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายใหม่ตามแผน M-MAP จะเพิ่มสถานีบริการและระยะทางที่ครอบคลุมและเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายหลักได้สะดวกขึ้น

  • รายได้มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง จากการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายใหม่ อาทิ สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และส่วนต่อขยายสายสีชมพู (สถานีศรีรัช-เมืองทองธานี คาดเปิดปี 2568) ซึ่งเป็น Feeder ที่ช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร รวมถึงรายได้จากการให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีและทางเชื่อมต่อระหว่างจุดขึ้น-ลงที่จะเพิ่มขึ้นตามมา

 

บริการขนส่งสินค้าทางทะเล​


สถานการณ์ปี 2566

  • ช่วง 9 เดือนแรก ธุรกิจเติบโตในอัตราชะลอลง สะท้อนจากดัชนีค่าระวางเรือเทกอง (BDI)และเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (CCFI) ลดลง -43.2% YoY และ       -69.5% YoY ตามลำดับ ผลจากเศรษฐกิจและการค้าโลกซบเซาต่อเนื่อง (IMF คาดปี 2566 เศรษฐกิจและการค้าโลกจะเติบโต 3.0% และ 0.9% ตามลำดับ) ผนวกกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ (อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-กลุ่มฮามาสในตะวันออกกลาง) ขณะที่ภาคส่งออกของไทยหดตัว -3.8% YoY ทำให้ความต้องการใช้เรือเพื่อขนส่งสินค้าลดลง

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดรายได้ของธุรกิจจะกระเตื้องขึ้น จากความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงเทศกาลปลายปี ขณะที่ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ด้านภาคส่งออกของไทยพลิกมาขยายตัวในเดือนสิงหาคมเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ทำให้ความต้องการใช้เรือเพื่อบรรทุกวัตถุดิบและสินค้าเพื่อส่งออกมีมากขึ้น จึงคาดว่าทั้งปี 2566 รายได้ของธุรกิจเรือเทกองและเรือคอนเทนเนอร์1/ จะหดตัว -16.0%YoY และ -36.0% YoY เทียบกับ +33.2% และ +37.4% ในปี 2565 ตามลำดับ

 

แนวโน้มปี 2567-2569

  • รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี จากอุปสงค์และอุปทานเรือที่จะสมดุลมากขึ้น โดยมีปัจจัยหนุน ได้แก่

    • เศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวเฉลี่ย 3.1% และ 3.6% ต่อปี ตามลำดับ (ที่มา: IMF) ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับ 3.0-4.0% ต่อปี ด้านภาคส่งออกของไทยจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการสำรองสินค้าจำเป็น (โดยเฉพาะอาหาร) ของประเทศคู่ค้า ทำให้ปริมาณการขนส่งสินค้ามีแนวโน้มปรับสูงขึ้นทั้งด้านส่งออกและนำเข้า

    • ธุรกิจเรือเทกองได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าพลังงาน (เช่น ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) รายใหญ่ของโลก จึงเพิ่มโอกาสการขนส่งสินค้าดังกล่าวมากขึ้น ขณะที่ค่าระวางเรือมีแนวโน้มทรงตัวสูงต่อเนื่อง จากปัจจัย อาทิ การคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก การพยุงราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องของ OPEC+ และภาวะ El Niño ที่จะผลักให้ราคาอาหารสูงขึ้น รวมถึงการจำกัดเที่ยวเรือในบางเส้นทาง (เช่น คลองปานามา) หรือเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ

    • ธุรกิจเรือคอนเทนเนอร์ได้อานิสงส์จากกำลังซื้อที่ฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาจถูกกดดันจากอุปทานพื้นที่ระวางเรือใหม่ที่คาดว่าปี 2567-2569 จะเพิ่มขึ้นรวม 40% จากปี 2566 (ที่มา:TNSC) ส่งผลให้ค่าระวางเรือจะปรับลดสู่ระดับปี 2562 (ก่อนวิกฤต COVID-19)

  • ปัจจัยกดดันมาจากต้นทุนของธุรกิจมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมันที่ผันผวนในทิศทางปรับสูงขึ้น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจกระทบเส้นทางเดินเรือ และการปรับตัวรับกฎระเบียบที่เข้มงวด (อาทิ การเก็บค่าธรรมเนียม “EU Emission Trading System” มีผลเดือนมกราคม 2567) อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสามารถส่งต่อภาระต้นทุนบางส่วนไปยังผู้ใช้บริการได้ผ่านการปรับขึ้นค่าระวางเรือ และการบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานเรือให้สอดคล้องกัน ทำให้รายได้เติบโตได้ต่อเนื่อง


                                     1/ ที่มา: บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET, MAI)

 

บริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์


สถานการณ์ปี 2566

นปี 2566 รายได้รวมของธุรกิจขยายตัวได้จากแรงหนุนของธุรกิจบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ ขณะที่ดิจิทัลคอนเทนต์ยังเติบโตต่ำ โดยรายได้รวมน่าจะขยายตัวได้ 17.0-17.5% เทียบกับ 17.6% ในปี 2565

  • บริการดิจิทัล เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของรายได้รวมทั้งหมด โดยรายได้ของธุรกิจบริการดิจิทัลมีแนวโน้มขยายตัวถึง 21.0-22.0% (ใกล้เคียงกับ 20.8% ในปี 2565) ซึ่งการเติบโตส่วนใหญ่มาจาก (1) การพัฒนารูปแบบการให้บริการใหม่ๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์และดิจิทัลโซลูชั่นของผู้ให้บริการโดยมีการเชื่อมต่อระหว่างข้อมูลและบริการออนไลน์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าเฉพาะกลุ่ม และ (2) การฟื้นตัวของกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจ โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยวที่หนุนให้ธุรกรรมผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

  • ซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ รายได้มีแนวโน้มเติบโต 14.5-15.0% (ชะลอลงจาก 18.6% ในปี 2565) จากภาคธุรกิจที่หันมาแข่งขันลงทุนด้านการประมวลผล Big data และ AI เพื่อพยากรณ์และขับเคลื่อนแผนธุรกิจ ซึ่งต้องซื้อบริการซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นใหม่ๆ เข้ามารองรับ สอดคล้องกับ Gartner, 2023 ที่คาดว่า อัตราขยายตัวของค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ของธุรกิจในไทยจะสูงถึง 14.9% ในปี 2566 (สูงกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของโลกที่ 9.3%) ในช่วงนี้ที่ไทยกำลังเริ่มพัฒนาระบบการบริหารข้อมูลเชิงลึกเป็นกลยุทธ์เชิงธุรกิจโดยใช้ซอฟต์แวร์บน AI Cloud เป็นเครื่องมือหลัก

  • ดิจิทัลคอนเทนต์ รายได้มีแนวโน้มเติบโตต่ำเพียง 1.0-1.5% (เทียบกับที่หดตัว -3.7% ในปี 2565) เนื่องจากธุรกิจเกมส์ออนไลน์เข้าสู่ช่วงที่ซบเซาจากการทยอยออกมาทำงานที่ออฟฟิศและกิจกรรมนอกสถานที่มากขึ้นหลังโรคระบาด COVID-19 คลี่คลายลง ขณะที่แอนิเมชั่นและคาร์เรคเตอร์เริ่มฟื้นตัวเป็นลำดับ จากการเริ่มลงทุนด้านโฆษณาของภาคธุรกิจและการเพิ่มรอบฉายของโรงภาพยนต์ซึ่งเป็นช่องทางตลาดสำคัญของธุรกิจนี้


​แนวโน้มปี 2567-2569

รายได้ของธุรกิจโดยรวมยังมีแนวโน้มเติบโตดี โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 12.0-12.5% แรงขับเคลื่อนที่สำคัญมาจากธุรกิจบริการดิจิทัล ตามด้วยซอฟต์แวร์ และดิจิทัลคอนเทนต์

  • บริการดิจิทัล คาดว่ารายได้จะเติบโต 14.0-14.5% ตามทิศทางของธุรกรรมทั้งในภาคธุรกิจ การบริโภค และภาคการเงินที่จะพึ่งอิงกับแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น โดยผู้ประกอบการจะขยายช่องทางไปสู่การให้บริการคำปรึกษาและวางแผนการตลาดเชื่อมโยงผ่านมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ในรูปแบบของบริการใหม่ๆ ได้แก่  Social commerce live, Creative content, Performance ads,.และ.Media recommendation ซึ่งจะหนุนให้บาง Segments_ใน Ecosystem_นี้ยังเติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ e-Retail, e-Logistics และ FinTech ส่วน Segment_อื่นที่จะมีศักยภาพเติบโตได้แก่ HealthTech จากการพัฒนา applications ในการให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น

  • ซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ คาดว่ารายได้จะเติบโตได้ 9.5-10.0% จากภาคธุรกิจที่ยังปรับโครงสร้างไปสู่การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และ AI ร่วมกับการใช้บริการซอฟต์แวร์เพื่อส่งมอบบริการที่ครบวงจร (End-to-end services) นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาช่องทางธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ แก่ลูกค้า ประเภทของธุรกิจบริการซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงจะอยู่ในกลุ่ม Software customization และการให้บริการที่ปรึกษาระบบ Software      

  • ดิจิทัลคอนเทนต์ คาดว่ารายได้น่าจะฟื้นตัวได้ที่ 4.5-5.0% โดยจะมีการเปิดตัวเกมส์ใหม่ๆ ทั้งในแพลตฟอร์ม PC และ Mobile โดยมุ่งตลาดแข่งขันเกมส์ตามอีเวนต์ต่างๆ เพิ่มขึ้น แอนนิเมชั่นและคาร์เรคเตอร์จะเติบโตจากการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งจะมีอุปสงค์ในการเช่าลิขสิทธิ์เพื่อผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น



Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา