ครอบครัวใหญ่บริหารเงินอย่างไรให้ฐานะมั่นคง
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ครอบครัวใหญ่บริหารเงินอย่างไรให้ฐานะมั่นคง

icon-access-time Posted On 02 มีนาคม 2558
By Maibat
การบริหารเงินครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของครอบครัว เพราะหากว่าครอบครัวใช้เงินมากเกินตัว มีภาระหนี้สินมาก เงินไม่พอใช้ จะส่งผลกระทบต่อความสุขโดยรวมของคนในครอบครัวได้ รวมถึงยังอาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เรามาเรียนรู้กันถึงวิธีจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายที่ช่วยให้ครอบครัวมีความสุขในระยะยาวกับ เรื่อง “ครอบครัวใหญ่บริหารเงินอย่างไรให้ฐานะมั่นคง” กันก่อน
 
"เงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่ชีวิตก็ขาดเงินไม่ได้"
"เงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่ชีวิตก็ขาดเงินไม่ได้" เพราะหากบริหารเงินครอบครัวไม่ดี มีเงินไม่มากพอเลี้ยงครอบครัว ก็จะเกิดความไม่สมดุลของการใช้ชีวิตโดยเฉพาะครอบครัวใหญ่
ครอบครัวใหญ่จะประกอบด้วยสมาชิกในบ้านตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยมากจะมีสมาชิกเพียงบางคนทำหน้าที่หาเงินเข้าบ้าน แต่สมาชิกทุกคนจำเป็นต้องกินต้องใช้ตลอดเวลา ดังนั้นคนที่ทำหน้าที่หาเงินต้องหารายได้มากขึ้นเพื่อเลี้ยงดูทุกคนในครอบครัว ขอยกตัวอย่างรูปแบบครอบครัวที่พบเห็นบ่อย ๆ ได้แก่
  • แบบแรก พ่อและแม่ทำหน้าที่หาเงินเลี้ยงลูก
  • แบบสอง พ่อคนเดียวทำหน้าที่หาเงินเลี้ยงแม่และลูก
  • แบบสาม ลูกทำหน้าที่หาเงินเลี้ยงพ่อและแม่
คุณเห็นอะไรจากตัวอย่างที่ยกมาไหมครับ … ผมขออธิบายเลยละกัน ข้อแรก ไม่ว่าแบบไหนก็ตามจะเกิดความไม่สมดุลระหว่างคนหาเงินกับคนใช้เงิน ทุกแบบจำนวนคนหาเงินน้อยกว่าคนใช้เงิน ข้อสอง แบบพ่อคนเดียวหาเงินจะหนักกว่าพ่อและแม่ช่วยกัน ดังนั้นจำนวนคนหาเงินน้อยลงก็ต้องหาเงินเก่งขึ้นทวีคูณ
ข้อสาม จำนวนลูกยิ่งเยอะยิ่งต้องหาเงินเก่งขึ้น แต่พอลูกโตก็จะมาช่วยหาเงินเลี้ยงครอบครัว ดังนั้นการมีครอบครัวใหญ่ต้องวางแผนบริหารเงินครอบครัวให้รอบคอบมากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะมีหลายชีวิตฝากที่ต้องดูแล สมาชิกต้องรู้หน้าที่ของตนเอง กล่าวคือ "คนหาเงินควรมีรายได้สม่ำเสมอและมากเพียงพอ คนใช้เงินต้องประหยัดและรู้คุณค่าของเงิน"
 
"คนหาเงินควรมีรายได้สม่ำเสมอและมากเพียงพอ คนใช้เงินต้องประหยัดและรู้คุณค่าของเงิน"

คราวนี้มาดูกันครับว่าครอบครัวใหญ่บริหารเงินอย่างไรให้ฐานะมั่นคง

  • จัดสรรเวลาหาเงิน เวลาพักผ่อน เวลาครอบครัว และเวลาส่วนตัวให้สมดุล ต้องคุยกันทำความเข้าใจกันภายในครอบครัว
  • มีรายได้มากกว่ารายจ่ายเพื่อให้มีเงินออมทุกเดือน และอยากให้หาวิธีสร้างรายได้หลายทางด้วยเผื่อรายได้หลักเกิดสะดุดจะได้ไม่รับผลกระทบมากนัก
  • เตรียมเงินไว้อย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งครอบครัวต่อเดือน เป็นการบริหารเงินครอบครัว เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและสำรองเผื่อฉุกเฉิน ถ้าให้ดีควรเตรียมไว้ถึง 12 เท่า
  • ปลูกฝังให้ครอบครัวใช้เงินอย่างประหยัด แต่ไม่ถึงกับไม่ยอมใช้เลย อย่างเรื่องการศึกษาหาความรู้หรือท่องเที่ยวเพื่อเปิดหูเปิดตาก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรต้องจ่าย เพื่อไขว่คว้าโอกาสในชีวิตและถือเป็นการให้รางวัลกับชีวิต เรียกว่าเป็นการบริหารเงินครอบครัวอย่างคุ้มค่า
  • จำกัดการก่อหนี้สินเฉพาะหนี้ที่จำเป็นและหนี้เพื่อการลงทุน หลีกเลี่ยงก่อหนี้ฟุ่มเฟือย โดยควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกิน 1-2 เท่าของทรัพย์สินสุทธิที่ครอบครัวมี เพราะหนี้ที่มากเกิน ชีวิตจะไม่มีความสุข และอาจทำให้ผ่อนจ่ายไม่ไหว
  • บริหารทรัพย์สินของคุณให้เกิดดอกออกผลมากกว่าเงินเฟ้อ เพื่อให้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ โดยควรเลือกลงทุนในทรัพย์สินหลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง และลดความเสี่ยงด้วยการศึกษาหาความรู้ให้ดีก่อนที่จะลงทุน
  • ดูแลคนในครอบครัวให้มีความสุขจิตใจเบิกบานมีสุขภาพแข็งแรง จะได้ไม่ต้องเสียเงินแพง ๆ ไปรักษาพยาบาล
  • มีวินัยออมเงินและสะสมทรัพย์สินเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อให้มีฐานะมั่นคงมากพอจะเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะในช่วงชีวิตหนีไม่พ้นต้องเจอทั้งเศรษฐกิจดีและไม่ดีสลับกันไปมา เหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ และต้องเตรียมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอีกด้วย
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่เปิดโอกาสให้แชร์แนวคิดการเงิน และขอย้ำเพื่อน ๆ ว่า การมีครอบครัวใหญ่นั้นสมาชิกทุกคนเป็นส่วนสำคัญทำให้มีฐานะมั่นคง การบริหารเงินครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างการปลูกฝังเรื่องการหารายได้ การออม และการรู้คุณค่าของเงินเป็นสิ่งดี ขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิตกันนะครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา