เริ่มต้นวางแผนเกษียณเร็ว ชีวิตนี้ก็ได้เปรียบไปกว่าครึ่ง
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เริ่มต้นวางแผนเกษียณเร็ว ชีวิตนี้ก็ได้เปรียบไปกว่าครึ่ง

icon-access-time Posted On 01 พฤษภาคม 2567
By Krungsri The COACH
ในปัจจุบันหลายคนเริ่มหันมาสนใจการวางแผนเกษียณกันมากขึ้น ซึ่งในองค์กรทั่วไปแล้วเมื่อพนักงานมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จะเกษียณจากการทำงาน แต่ในความเป็นจริง คำว่าเกษียณของแต่ละคน มีความหมายที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่แนวความคิดและความพร้อม เพราะสำหรับผู้ที่มีการวางแผนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การเกษียณจะเป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดความกังวลใจ กลับกันหากเป็นผู้ที่ไม่ได้วางแผนเกษียณมาก่อน การเกษียณอาจจะกลายเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ ดังนั้นเราจึงควรเริ่มต้นเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ เพราะแผนที่ดีจะช่วยให้เรามีเงินใช้และเกษียณได้อย่างมีความสุข
เริ่มต้นวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน

เริ่มต้นวางแผนเกษียณอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่วันนี้

การเกษียณอายุคือ การที่เราสิ้นสุดภาระหน้าที่ในการทำงาน โดยที่ชีวิตหลังเกษียณอาจไม่มีรายได้ประจำเข้ามาเหมือนเมื่อก่อน อันที่จริงการเกษียณนั้นไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์เสมอไป ทุกคนสามารถเกษียณเพื่อออกไปใช้ชีวิตตามต้องการในช่วงวัยที่กำหนดเองได้ แต่เพื่อให้การเกษียณมีประสิทธิภาพ เราจะต้องมีการวางแผนการเกษียณอย่างละเอียด รอบคอบ และเริ่มลงมือทำตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทำงานเพื่อความสุขในการใช้ชีวิตอย่างอิสระ โดยการเริ่มต้นวางแผนเกษียณจะต้องประกอบไปด้วย
 
 

1. อายุที่ต้องการเกษียณ และอายุขัยของตัวเอง

แม้เราจะถูกกำหนดให้ทำงานถึงแค่อายุ 60 ปี แต่อายุขัยก็ยังคงเดินหน้าต่อไป หลายคนมีอายุยืนยาวถึง 80-90 ปี ดังนั้นการวางแผนจึงควรลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้มีเวลาเหลือมากพอที่จะออมเงิน และลงทุน ให้เพียงพอตลอดอายุขัยของตัวเอง
 

2. คำนวณหาค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ต้องมีอยู่ในแผนเกษียณ การประเมินค่าใช้จ่ายสามารถอ้างอิงได้จากค่าใช้จ่ายปัจจุบัน บวกกับค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นหลังเกษียณ เช่น ค่าเดินทางท่องเที่ยว เงินสำรองฉุกเฉินยามเจ็บป่วย หรือเงินทุนสำหรับการทำธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเอง เป็นต้น ประการสำคัญอย่าลืมบวกอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย เพราะเงินเฟ้อจะทำให้ค่าครองชีพ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มีราคาสูงขึ้น
 

3. สำรวจเงินออมของตัวเอง

เมื่อรู้ค่าใช้จ่ายแล้วก็ต้องรู้เงินออมสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ โดยการสำรวจเงินออมให้รวบรวมจากแหล่งที่ได้ทำการออมเงินเอาไว้ทั้งหมด เช่น เงินฝากธนาคาร, เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, เงินจากการลงทุนในหุ้น และเงินจากกองทุนประกันสังคม เป็นต้น เพื่อให้เรารู้ว่าปัจจุบันเรามีเงินอยู่เท่าไหร่ และเมื่อนำไปคำนวณกับค่าใช้จ่าย เรามีเงินเพียงพอที่จะใช้ตลอดอายุขัยหรือยัง หากยังขาดสภาพคล่องอยู่เราจะต้องออมเงินเพิ่มอีกเท่าไหร่
 

4. วางแผนออมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง

เมื่อเราได้สำรวจเงินออมทั้งหมดและรู้ว่ายังมีไม่เพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณ ให้เรานำเอาจำนวนเงินที่ยังคงขาดอยู่นั้น มาตั้งเป็นเป้าหมายเพื่อการออมเงินเพิ่มเติม เราควรศึกษาและเลือกการออม การลงทุนที่เหมาะสม จากนั้นให้เริ่มลงมือทำอย่างมีวินัย มาถึงตรงนี้กรุงศรีขอแนะนำบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี ที่นอกจากอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 2.90% ต่อปีแล้ว ยังได้รับดอกเบี้ยเต็มๆ ไม่เสียภาษี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
  • ต้องฝากเงินจำนวนเท่า ๆ กันทุกเดือน เริ่มต้นเดือนละ 500 บาท ไม่ต้องมีเงินก้อนใหญ่ก็ฝากได้
  • ระยะเวลาฝากมีให้เลือก 24 เดือน หรือ 36 เดือน เมื่อฝากครบกำหนด ได้รับเงินก้อน
  • ช่วยสร้างวินัยทางการเงินเพื่อเป้าหมายในอนาคต
  • เปิดบัญชีได้ง่ายๆ ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทุกสาขา ใช้เพียงบัตรประชาชน
 

5. หมั่นตรวจสอบเป้าหมายอยู่เป็นประจำ

เมื่อเราเริ่มต้นวางแผนชีวิตหลังเกษียณแล้ว ควรหมั่นทบทวนและอัปเดตเป้าหมายอยู่เสมอ เพื่อให้เราเท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อ ความผันผวนของสินทรัพย์ที่ลงทุน หรือแม้แต่ความตั้งใจของเราเองว่า ยังมั่นคงต่อเป้าหมายที่ได้วางไว้อยู่หรือไม่

เมื่อสำรวจตัวเองครบทั้ง 5 ข้อแล้ว ก็ให้นำตัวเลขทั้งหมดมาคำนวณโดยใช้สูตรง่าย ๆ ดังนี้
เงินก้อนที่ต้องมีก่อนเกษียณ = (ค่าใช้จ่ายรายเดือนหลังเกษียณ x 12 เดือน x จำนวนปีอายุขัย ) – เงินออมปัจจุบัน

อายุช่วงไหนที่เรียกว่า “เกษียณอายุเร็ว”

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า การเกษียณอายุนั้นไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องมีอายุเท่าไหร่ ทุกคนสามารถวางแผนเกษียณได้ในทุกช่วงอายุที่ต้องการ เพราะสิ่งสำคัญของการเกษียณไม่ใช่เร็วหรือช้า แต่เป็นคุณภาพชีวิตหลังเกษียณมากกว่าว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งแต่ละคนจะมีแนวคิดเกี่ยวกับการเกษียณที่ไม่เหมือนกัน และทุกคนก็มีความพร้อมที่แตกต่างกัน

ดังนั้นต้องสร้างความมั่นคงจนมั่นใจว่า เราได้เตรียมแผนสำหรับการสร้างรายได้หลังเกษียณเอาไว้เรียบร้อยแล้ว และเราได้ปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด จนบรรลุเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ เราจะสามารถยุติการทำงานประจำ และเกษียณตัวเองออกมาเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และได้ทำทุกอย่างที่ใจต้องการ แบบนี้จึงจะเรียกว่าเป็นการเกษียณที่มีคุณภาพ
 
วางแผนเกษียณเร็ว สร้างความได้เปรียบให้ชีวิต

วางแผนเกษียณเร็ว สร้างความได้เปรียบให้ชีวิตได้จริงไหม?

การวางแผนเกษียณเร็ว เรียกได้ว่าเป็นการชิงความได้เปรียบในการใช้ชีวิต เพราะเราจะสามารถจัดสรรเวลา แผนการเงิน และแผนการลงทุนได้ก่อน อีกทั้งเรายังสามารถเกษียณตัวเองได้ตามช่วงอายุที่ต้องการ เป็นการออกแบบชีวิตที่ไม่ต้องรอให้ถึงอายุ 60 ปี

การเริ่มต้นก่อนจะทำให้เราได้รับสิ่งที่มีค่าก่อนคนอื่น นั่นคือ “เวลา” ที่สร้างความได้เปรียบให้เรามีเวลาสำหรับการลงทุนเพื่อต่อยอดเงินทุน ให้กลายเป็นผลตอบแทนที่ค่อย ๆ เติบโตสำหรับรองรับชีวิตหลังเกษียณ นอกจากนี้เรายังมีเวลาสำหรับการศึกษาการลงทุน การลองผิดลองถูก และการสะสมประสบการณ์ เพื่อนำไปปรับใช้ในแผนการเกษียณอายุได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นความได้เปรียบของการเริ่มต้นวางแผนเกษียณเร็ว จึงเป็นอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากเวลาที่เรามีมากกว่าคนอื่น

ตัวช่วยวางแผนเกษียณ

สิ่งที่จะช่วยให้แผนการเงินของเราสำเร็จก็คือ ช่องทางการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม หุ้น สินทรัพย์โภคภัณฑ์ หรือแม้แต่การเริ่มบ่มเพาะแหล่งรายได้แบบ Passive Income ทั้งหมดนี้จะสร้างผลตอบแทนเป็นเงินสะสมที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ได้ และเมื่อการเงินของเรามีความเติบโต นั่นเท่ากับว่าเราจะสามารถเกษียณอายุได้เร็วมากขึ้น

โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาขอเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนให้ทุกคนวางแผนเกษียณอายุ เพื่อการใช้ชีวิตที่มีความสุข ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านการวางแผนการเงินมากมาย ให้ทุกคนได้เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสอดคล้องกับความต้องการ โดยเฉพาะในกลุ่มกองทุนรวมเพื่อการออมและการเกษียณอายุอย่าง SSF และ RMF ซึ่งธนาคารได้คัดสรรกองทุนตัวเด็ด แยกตามความเสี่ยงและสินทรัพย์ที่ลงทุนให้แล้ว

นอกจากนี้เรายังมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุน ที่จะช่วยออกแบบเส้นทางสู่วัยเกษียณให้มีความสมบูรณ์ สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำได้ที่โทร. 02-296-5959 ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับก็ได้เช่นกัน

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา