ปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไรดี? ให้เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

โดย สิรภัทร เกาฏีระ CFP® นักวางแผนการเงิน
15 พฤศจิกายน 2566
ปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนในปัจจุบัน การปรับพอร์ตการลงทุนนับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่นักลงทุนควรเร่งนำมาใช้ เพื่อเป็นการสร้างความสมดุลให้แก่พอร์ต และเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยง ซึ่งเราสามารถปรับพอร์ตกันได้โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การเกิดขึ้นของเมกาเทรนด์ใหม่ ๆ ความถี่ของการกำหนดเวลาปรับพอร์ต และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้นนักลงทุนจึงควรศึกษาถึงกลยุทธ์การปรับพอร์ตให้เข้าใจว่า ควรปรับพอร์ตอย่างไรจึงจะเหมาะสม และตอบโจทย์ด้านเป้าหมายผลตอบแทนที่ได้ตั้งเอาไว้
 
4 ปัจจัยที่บ่งบอกว่า ควรปรับพอร์ตการลงทุน
 

4 ปัจจัยที่บ่งบอกว่า ควรปรับพอร์ตการลงทุนให้มีความเหมาะสม

การปรับพอร์ตมีความสำคัญที่นักลงทุนไม่ควรละเลย เนื่องจากเมื่อกาลเวลาผ่านไป สัดส่วนของสินทรัพย์ในการลงทุนอาจขาดความสมดุลต่างไปจากสัดส่วนเดิมที่เคยกำหนดไว้ตั้งแต่ต้น ทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้นโดยไม่รู้ตัว

การปรับพอร์ตจึงเป็นดั่งกลยุทธ์ที่จะช่วยให้นักลงทุนมั่นใจว่า พอร์ตของตัวเองยังคงเป็นไปตามเป้าหมายด้านผลตอบแทนที่ได้กำหนดเอาไว้ อีกทั้งยังคงอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยังสามารถควบคุมและยอมรับได้ โดยปัจจัยที่ช่วยบ่งบอกว่าถึงเวลาของการปรับพอร์ตประกอบไปด้วย
 

1. ปัจจัยด้านเวลาที่ได้กำหนดเอาไว้

ปัจจัยการกำหนดระยะเวลาในการปรับพอร์ต ไม่ได้มีข้อกำหนดที่ตายตัวว่าควรจะมีการปรับถี่มากหรือน้อยแค่ไหน เพราะการกำหนดระยะเวลาจะเป็นการตั้งเป้าหมายไปเลยว่า จะปรับพอร์ตทุกไตรมาส ทุก 6 เดือน หรือทุก 1 ปี โดยนักลงทุนจะเลือกกำหนดความถี่ในการปรับพอร์ตจาก
 
  • ความเสี่ยง หมายความว่า หากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้มาก การปรับพอร์ตสามารถกำหนดระยะเวลาให้ยาวขึ้นเป็นทุก ๆ 1 ปีได้ แต่ถ้านักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้น้อย การปรับพอร์ตอาจจะลดลงมาเป็นทุกไตรมาสแทน
  • ความสอดคล้องกันของสินทรัพย์ หากในพอร์ตการลงทุนมีสินทรัพย์ที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน จะหมายความว่า สินทรัพย์เหล่านั้นจะมีโอกาสเติบโตพร้อมกันหรือไล่เลี่ยกัน ส่งผลให้สัดส่วนของสินทรัพย์มีความเปลี่ยนแปลงช้าไปจากสัดส่วนเดิมที่ตั้งต้นไว้ การกำหนดระยะเวลาปรับพอร์ตก็สามารถใช้ระยะเวลาที่ยาวขึ้นได้
  • ค่าธรรมเนียม หมายถึง ต้นทุนที่ใช้สำหรับการปรับพอร์ต หากมีค่าธรรมเนียมสูง การปรับสัดส่วนสินทรัพย์แบบระยะเวลาสั้น ๆ จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนที่มากขึ้น และส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนโดยรวมที่ได้ตั้งเป้าหมายระยะยาวเอาไว้
 

2. ปัจจัยด้านความเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนสินทรัพย์

การปรับพอร์ตการลงทุนเมื่อสินทรัพย์ในพอร์ตเริ่มมีสัดส่วนที่แตกต่างไปจากเดิม เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่บ่งบอกว่า ควรปรับพอร์ตได้แล้ว โดยนักลงทุนอาจจะกำหนดเอาไว้ว่า จะปรับพอร์ตเมื่อมีสินทรัพย์ใด ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากค่ากำหนดของสัดส่วนที่ตั้งไว้ เช่น กำหนดว่าสินทรัพย์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 5% หรือ 10% หากเกินจากสัดส่วนที่กำหนดจะต้องทำการปรับพอร์ตโดยทันที เป็นต้น โดยปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงนี้มีความไม่แน่นอน ดังนั้นนักลงทุนจะต้องหมั่นติดตามข่าวสารอยู่เสมอว่ามีสถานการณ์ใดที่จะส่งผลกระทบต่อสัดส่วนของสินทรัพย์หรือไม่
 

3. ปัจจัยที่เกิดจากสภาวะตลาดมีความเปลี่ยนแปลง

ปัจจัยการปรับพอร์ตเมื่อสภาวะตลาดเปลี่ยนแปลงไป สามารถใช้เป็นตัวกำหนดการปรับพอร์ตได้สำหรับนักลงทุนมีการติดตามประเมินสถานการณ์ของตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้น อาจปรับสัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงให้สูงขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างผลตอบแทน แต่ถ้าตลาดอยู่ในช่วงขาลง การปรับลดสัดส่วนของสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงลง และไปปรับเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำแทน ก็จะเป็นการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในพอร์ตได้
 

4. ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลต่อสินทรัพย์

ปัจจัยทางเศรษฐกิจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อพอร์ตการลงทุน เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงชะลอตัว หรืออยู่ในช่วงที่เติบโตจนได้รับความสนใจจากนักลงทุน ก็ล้วนส่งผลต่อสินทรัพย์ที่อยู่ในพอร์ต เพียงแต่จะส่งผลเป็นบวกหรือลบต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงขณะนั้นว่า มีผลดีหรือผลเสียต่อสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่
 
ควรปรับพอร์ตการลงทุนเมื่อไหร่ดี
 

ควรปรับพอร์ตการลงทุนเมื่อไหร่ดี ท่ามกลางความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ

เชื่อว่าเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ นักลงทุนหลายคนเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า “ควรปรับพอร์ตการลงทุนเมื่อไหร่ดี” ในเมื่อภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงและผันผวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราขออธิบายให้นักลงทุนได้เข้าใจกันว่า ความผันผวนใด ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นวงจรทางเศรษฐกิจที่จะผลัดเปลี่ยนสถานการณ์ไป ซึ่งเราได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว หรือช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตเต็มที่ สินทรัพย์ในพอร์ตของคุณจะได้รับผลกระทบเสมอ โดยแตกต่างกันตรงผลกระทบที่ได้รับนั้นจะเป็นเชิงบวกหรือลบ

ดังนั้นอย่าหวาดกลัวกับความผันผวนนี้จนไม่กล้าที่จะลงทุน หรือตัดสินใจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพียงอย่างเดียว แต่ให้วางกลยุทธ์รับมือให้ดี ด้วยการติดตามปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ในพอร์ต พร้อมติดตามข่าวสารที่เป็นปัจจัยแวดล้อมว่า มีข่าวใดบ้างที่จะมีผลกระทบ และผลที่จะได้รับเป็นเชิงบวกหรือลบ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปวางแผนจัดการสัดส่วนของสินทรัพย์ภายในพอร์ตให้มีความเหมาะสมต่อไป

และสำหรับคำถามว่า ควรปรับพอร์ตเมื่อไหร่ภายในเงื่อนไขของภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน คำตอบคือ ควรปรับพอร์ตเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง จนทำให้เสียสัดส่วนที่สมดุล และมีผลทำให้ผลตอบแทนลดลงจากเป้าหมายที่วางเอาไว้ หรือทำความเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้เกิดความเสี่ยงจนไม่สามารถยอมรับได้นั่นเอง
 

วิธีปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน และอนาคต

วิธีการปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตให้ได้ผล คือ การพิจารณาเพิ่มหรือลดสัดส่วนของสินทรัพย์ที่อยู่ในพอร์ต ให้มีความเหมาะสมกับความเสี่ยงในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีด้วยกัน คือ
 

1. วิธี Overweight

เป็นการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง และลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นภายในพอร์ตแทน เช่น เพิ่มสัดส่วนของหุ้นในประเทศจากเดิม 5% ให้เป็น 10% และลดสัดส่วนของหุ้นต่างประเทศลง เป็นต้น
 

2. วิธี Underweight

เป็นการลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นภายในพอร์ตแทน เช่น ลดสัดส่วนของพันธบัตรจากเดิม 15% ให้เหลือเพียง 10% และไปเพิ่มเป็นสัดส่วนของหุ้นในประเทศแทน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของจังหวะที่เหมาะสมในการปรับพอร์ตก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยนักลงทุนอาจพิจารณาจากสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโต และสร้างผลตอบแทนได้ดีจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ โดยอย่าลืมคำนึงถึงความเหมาะสมกับตัวนักลงทุนเองด้วย ทั้งเรื่องของอายุและเป้าหมายผลตอบแทนที่ได้วางเอาไว้ ซึ่งในเรื่องของความเหมาะสมในด้านอายุ และเป้าหมายผลตอบแทนนี้ เราได้มีการคุยเจาะลึกถึงรายละเอียดในเรื่อง “จัดพอร์ตการลงทุน ต่อยอดเงินล้านให้เหมาะกับวัยที่แตกต่าง” ซึ่งทุกคนสามารถไปติดตามอ่านกันต่อได้ว่า อายุและเป้าหมายผลตอบแทน สอดคล้องกับการจัดพอร์ตแบบใด
 

ขอแนะนำกองทุนรวมที่เหมาะกับการปรับพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้

และสุดท้ายนี้ก่อนจะจากกันไป ขอแนะนำกองทุนรวมที่น่าสนใจให้ทุกคนได้พิจารณา คือ กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นไดนามิค (KFDYNAMIC) และกองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นไดนามิคปันผล (KFDNM-D) เป็นที่มีความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความชัดเจน และท้าทายมากขึ้น จนทำให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ผ่านนโยบายต่าง ๆ จากภาครัฐ คือ
  • ภาพรวมของเศรษฐกิจที่ตัวเลขการส่งออกได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ก็ยังมีแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิต ที่ตัวเลขการบริโภคภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การลงทุนในภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต

โดยกองทุนทั้ง 2 ประเภทนี้ มีระดับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 6 ซึ่งเป็นความเสี่ยงสูง สอดคล้องกับที่เราได้คุยกันไว้ตั้งแต่ต้นว่า ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีความผันผวน นักลงทุนไม่ควรหวาดกลัวจนเทการลงทุนทั้งหมดไปที่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพียงอย่างเดียว เพราะท่ามกลางความผันผวนแบบนี้ หากนักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนให้มีความเหมาะสม การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ก็สามารถเพิ่มโอกาสการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้

ต่อไปเรามาดูนโยบายของกองทุนทั้ง 2 ประเภทที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้แนะนำให้กับนักลงทุนกันว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
 

1. กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นไดนามิค (KFDYNAMIC)

เป็นกองทุนรวมตราสารทุนที่เน้นลงทุนในประเทศ และไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ส่วนนโยบายการลงทุนหลัก จะเน้นลงทุนหุ้นพื้นฐานดีและมีแนวโน้มการเติบโตสูง โดยจะลงทุนไม่น้อยกว่า 80 % ของ NAV และที่เหลือจะเลือกลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ สถาบันการเงิน บริษัทเอกชน หรือเงินฝากธนาคาร
 

2. กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นไดนามิคปันผล (KFDNM-D)

เป็นกองทุนรวมตราสารทุนที่เน้นลงทุนในต่างประเทศ และมีนโยบายจ่ายเงินปันผล โดยนโยบายหลักจะเลือกเน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีแนวโน้มการเติบโตในอัตราสูง ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ สถาบันการเงิน บริษัทเอกชน หรือเงินฝากธนาคาร

จะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ นับเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่ง ที่นักลงทุนจะเริ่มปรับพอร์ตการลงทุนให้ตอบโจทย์ผลตอบแทนที่ได้วางเป้าหมายเอาไว้ และถ้าหากคุณยังไม่มั่นใจว่าควรปรับพอร์ตอย่างไรดี ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการเงินและการลงทุนจาก KRUNGSRI PRIME พร้อมให้คำปรึกษา และช่วยวางแผนการลงทุน เพียงติดต่อมาที่ช่องทางฮอตไลน์ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูล เพื่อให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจาก KRUNGSRI PRIME ติดต่อกลับก็ได้เช่นกัน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
  • ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
สนใจร่วมเป็นลูกค้า ด้วยการเลือก KRUNGSRI PRIME ต่อยอดเงินให้เติบโต​
KRUNGSRI PRIME ช่วยพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น พร้อมเพิ่มความมั่งคั่งทางการเงิน และต่อยอดเงินล้านของคุณให้เติบโตสู่ล้านถัดๆไป นอกจากนี้ KRUNGSRI PRIME ยังมอบความพิเศษด้วยสิทธิ์ต่างๆทั้งด้านการเงินและไลฟ์สไตล์ที่ถูกคัดสรรมาให้แก่ลูกค้าคนพิเศษเช่นคุณ