เช็กตัวเอง Burn out หรือ Bore out เหนื่อยงานหรือเบื่องานกันแน่

โดย สิรภัทร เกาฏีระ CFP® นักวางแผนการเงิน
28 ตุลาคม 2565
เช็กตัวเอง Burn out หรือ Bore out เหนื่อยงานหรือเบื่องานกันแน่
คนวัยทำงานหลายคนมักเจอกับปัญหาความเครียดจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นจากทำงานหนักเกินไป ทำงานที่ไม่ชอบ งานที่ไม่ท้าทาย เมื่อเวลาผ่านไปสักพักก็เริ่มสงสัยว่าตัวเองกำลังมีอาการหมดไฟ หรือ Burn out หรือเปล่า ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของคนทำงานยุคนี้ ทำให้เกิดเทรนด์การทำงานแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่าง Quiet Quitting เพื่อใช้จัดการกับอาการหมดไฟ โดยจะยังคงทำงานได้ดีเหมือนเดิม แต่จะทำแค่หน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบเท่านั้น ไม่ทุ่มเทเพื่อองค์กร ไม่มีความทะเยอทะยานหรือต้องการความก้าวหน้าในสายงานอีกต่อไป

ลองถามตัวเองกันดูว่าเราหรือคนรอบตัวกำลังมีความรู้สึกเหล่านี้ไหม?

หากใครกำลังเผชิญกับอารมณ์ประมาณนี้อยู่ คุณไม่ได้เป็นเพียงคนเดียว นอกจากอาการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็อาจจะเข้าข่ายอีกหนึ่งอาการที่ปัจจุบันได้ยินคนใช้กันบ่อยอย่างอาการหมด passion ในการทำงาน หรือ Boreout นั่นเอง ซึ่งไม่ว่าจะอาการไหน ผลลัพธ์คือไม่อยากทำงานเหมือนกัน แต่มีสาเหตุและการจัดการที่แตกต่างกันสิ้นเชิง และไม่ว่าอาการเหล่านี้จะเกิดกับตัวผู้บริหารเองหรือพนักงานก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรทั้งสิ้น สรุปแล้วจริง ๆ เป็นอาการไหนกันแน่และจะจัดการกับมันยังไง ในเมื่อยังต้องใช้ชีวิตทำงานต่อไป
 

Burn out คืออะไร

คำที่เรามักจะได้ยิน และใช้พูดกันบ่อย ๆ ว่า หมดไฟ หรือ Burn out คือ ภาวะหนึ่งที่เกิดจากการเจอเรื่องเครียดในที่ทำงานเป็นระยะเวลายาวนาน และไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ขาดแรงจูงใจ ไม่มีสมาธิในการทำงาน ลามไปจนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
 

อาการ “Burnout” มาจากไหนกันแน่

จากงานวิจัยนักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้ทำการสำรวจประชากรไทยในกรุงเทพฯ ช่วงปลายปี 2562 จำนวน 1,280 คน* พบว่าสาเหตุมี 3 ประการ ที่นำไปสู่อาการ Burn out มากที่สุด ประกอบไปด้วย
 

ปริมาณงานมากเกินไป ไม่สัมพันธ์กับจำนวนคนทำงาน

ในการทำงานยุคปัจจุบัน ตำแหน่งงาน 1 ตำแหน่ง มักจะได้รับมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบมากถึง 4-5 อย่าง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มักเจอได้ในประกาศรับสมัครงาน แต่หากบริหารจัดการเวลาได้ดีคนที่สามารถทำได้หลากหลายหน้าที่ก็มักเป็นที่ต้องการมากกว่าอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่หากมากเกินรับมือไหว จนล้นมือก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้เช่นกัน
 

ขาดอุปกรณ์และการจัดการที่เหมาะสม

การขาดอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ช่วยให้งานสำเร็จได้ง่ายขึ้น ทำให้ไม่สามารถทุ่นแรง ลดเวลาและกระบวนการทำงานได้ หรือเรียกอีกอย่างได้ว่าสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ย่อมส่งผลให้คนทำงานรู้สึกเหนื่อยเป็นธรรมดา
 

โครงสร้างองค์กรไม่เป็นระบบและหัวหน้าไม่ดี

องค์กรที่ขาดความยืดหยุ่น รวมถึงหัวหน้าที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่รับฟังความคิดเห็น มีการเลือกที่รักมักที่ชัง จะส่งผลให้คนที่ทำงานไม่มีกำลังใจที่จะทำงานต่อไป เกิดเป็นปัญหาหมดไฟได้ง่าย ๆ
 

Boreout อาการเบื่องาน

นอกจากการทำงานหนักเกินไปจนทำให้ไม่อยากทำงานแล้ว การทำงานน้อยเกินไปก็ทำให้รู้สึกหมดแรงบันดาลใจในการทำงานได้เช่นกัน เราเรียกอาการนี้ว่า Boreout เป็นภาวะของการเบื่องาน เนื่องจากภาระงานที่น้อยเกินไป งานซ้ำซากจำเจ ไม่น่าสนใจ ไม่มีความท้าทาย ไม่ได้ดึงศักยภาพตัวเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ จนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าต่อที่ทำงาน เป็นการทำงานแบบวนลูปซ้ำไปซ้ำมา ทำงานให้มันเสร็จไปวัน ๆ จนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายงานขึ้นมานั่นเอง ซึ่งทั้ง Boreout และ Burn out ต่างส่งผลเสียต่อชีวิตมากพอ ๆ กัน
 

Burn out & Boreout ส่งผลยังไงบ้าง

 
เหนื่อยงาน (Burn out) หรือเบื่องาน (Boreout) ส่งผลยังไงบ้าง
 

ผลกระทบที่เกิดจากBurn out

ประกอบไปด้วยผลกระทบด้านต่าง ๆ ดังนี้
  • ด้านการทำงาน
    พบว่าประสิทธิภาพการทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด มักมาทำงานสาย ขาดงานบ่อย และมีความคิดอยากลาออกในที่สุด ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ชัดว่า หลังจากมีประกาศยกเลิก Work From Home ให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศปกติ มีคนคิดอยากลาออกเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะรู้สึกว่าต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าเดินทาง จากเดิมที่ทำงานอยู่บ้านไม่ต้องเสียเวลารถติด เสียค่าเดินทาง และบวกกับวิกฤตโควิด19 ทำให้ค่าเงินเฟ้อ ข้าวของแพงขึ้น แต่ค่าแรงกลับสวนทางคงราคาเท่าเดิมหรืออาจจะลดลงกว่าเดิม จึงทำให้พนักงานเริ่มมองหาที่ทำงานที่ใหม่ หากที่ทำงานเดิมต้องการให้กลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงจำนวนวันในการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ก็เป็นสาเหตุทำให้คนทำงานหนักจนเกิดอาการหมดไฟ หรือ Burn out ได้เช่นกัน จะเห็นได้จากเทรนด์ใหม่ที่หลายประเทศทั่วโลกออกมาเรียกร้องให้ลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน จาก 5 วันเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์แทน
     
  • ด้านร่างกาย
    มักมีอาการเหนื่อยล้า ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ รวมไปถึงโรคต่าง ๆ ที่อาจตามมาจากพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปหรือพฤติกรรมเสี่ยงจากการโหมงานหนักจนลืมใส่ใจตัวเอง 
 

ผลกระทบที่เกิดจาก Boreout

ประกอบไปด้วยผลกระทบด้านต่าง ๆ ดังนี้
  • ด้านร่างกาย
    ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการเจ็บปวดโดยตรง แต่มักจะเกิดจากการมีพฤติกรรมแย่ ๆ เพื่อแก้ความเบื่อมากกว่า เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เป็นต้น
     
  • ด้านจิตใจ
    รู้สึกว่างานน่าเบื่อ ไม่มีความสุขกับการทำงาน เกิดความวิตกกังวล เครียด ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง รวมไปถึงเกิดภาวะซึมเศร้าได้
     
  • ด้านการทำงาน
    ประสิทธิภาพการทำงานถดถอย ใช้เวลาทำงานนานขึ้นเพื่อให้ดูเหมือนยุ่งตลอดเวลา มักมาทำงานสาย และลาป่วยบ่อยขึ้น

โดยหากทั้ง 2 อาการนี้ไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม และปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลเสียมากกว่าที่คิด ดังนั้น การหมั่นสังเกตอาการ ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตัวเองจึงเป็นสิ่งจำเป็น อย่าลืมตรวจเช็กร่างกายประจำปี ปัจจุบันหลาย ๆ โรงพยาบาลก็มีแพ็กเกจตรวจสุขภาพให้เลือกมากมาย เช่น Package ตรวจสุขภาพรพ. พญาไท เป็นต้น ส่วนด้านสุขภาพจิตใจนั้น ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาเพื่อมาให้คนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น เช่น แอปพลิเคชันปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ สำหรับคนที่อยากระบายความทุกข์แต่ไม่รู้จะพูดให้ใครฟัง ก็จะเป็นเครื่องมือคอยช่วยรับฟังปัญหาเสมือนคนใกล้ตัวที่ไว้ใจได้ นอกจากนี้วิธีที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีวิธีการจัดการกับภาวะทั้ง 2 ได้อย่างไรอีกบ้าง เพื่อไม่ให้มากระทบกับชีวิตการทำงานของเรา
 

จะรับมือยังไงดี กับ Burn Out และ Boreout เมื่องานก็ยังต้องทำอยู่

 
เหนื่อยงาน (Burn out) หรือเบื่องาน (Boreout)รับมือยังไงดี
 

Burn out เหนื่อยงานจัดการยังไง

สาเหตุการหมดไฟ คือการทำงานหนักเกินไป ในเบื้องต้นควรขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน และวางแผน จัดระเบียบการใช้ชีวิต จัดลำดับความสำคัญของเวลาและงานใหม่ หากเกินกว่าจะรับมือไหวควรปรึกษาหัวหน้างานเพื่อหาวิธีการแก้ไขร่วมกัน เมื่อรับมือกับงานล้นมือได้แล้ว ขั้นต่อไปคือการผ่อนคลายความเครียด แบ่งเวลาไปทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น การไปเที่ยว นัดกินข้าวกับเพื่อน พูดคุย ทำกิจกรรมกับครอบครัว หรือออกกำลังกาย เป็นต้น
 

Boreout เบื่องานจัดการยังไง

ถ้างานที่ทำอยู่มันน่าเบื่อ ลองหันมาวิเคราะห์ดูว่าจุดประสงค์ของงานที่ทำคืออะไร บางทีอาจจะเป็นเพราะเราไม่รู้ว่าต้องทำไปเพื่ออะไร เพื่อใคร ทำให้ไม่มีเป้าหมายและขาดแรงจูงใจในการทำงานก็เป็นไปได้ จากนั้นลองตั้งเป้าหมายและวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำงานก็จะช่วยให้เกิดความกระตือรือร้น สามารถพบคุณค่าและความหมายของงานมากขึ้น นอกจากนี้การจัดโต๊ะทำงาน เปลี่ยนมุม เปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ก็จะช่วยให้ไม่จำเจ ไม่น่าเบื่อ จัดในสไตล์ที่ชอบจะได้สนุก สร้างสีสันให้ตัวเอง นอกจากนี้การลองทำอะไรใหม่ ๆ ยังช่วยให้เกิดทักษะใหม่ ความตื่นเต้น และท้าทายมากขึ้น เช่น การหาอาชีพเสริม งานอดิเรกอย่างอื่น หรือจะเป็นการให้เงินทำงานด้วยการสร้างอิสระทางการเงิน จะได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ แถมยังสร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเองเพิ่มขี้นอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าอาการ burn out เหนื่อยงาน เพราะทำงานหนักเกินไป จนเครียดสะสม หรือ boreout เบื่องาน เพราะงานน้อย ไม่ท้าทาย ซ้ำซากจำเจ ทั้ง 2 อาการนี้ล้วนแล้วแต่เกิดผลเสียต่อการทำงาน จนอาจนำไปสู่การลาออกในที่สุด หากลองเช็กตัวเองดูแล้วพบว่าคุณกำลังเผชิญอยู่กับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หวังว่าวิธีการจัดการข้างต้น จะสามารถช่วยให้คุณกลับมาสดใส มีไฟ อีกครั้ง

สุดท้ายอยากฝากทิ้งท้ายไว้สำหรับใครที่ไม่อยากใช้ชีวิตที่ต้องใช้แรงกายทำงานเพื่อแลกเงินเพียงอย่างเดียว อยากได้ชีวิตที่ไม่ต้องทำงานก็สามารถมีเงินใช้จ่ายได้ อย่างการให้เงินทำงานแทน การเลือกสร้างรายได้แบบ Passive Income ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ได้อย่างหนึ่ง โดยที่เราไม่ต้องใช้แรงกาย เวลา สุขภาพในการทำงานแลกมาอย่างเดียว ซึ่งสามารถทำควบคู่ไปกับงานประจำได้ และอาจนำไปสู่การมีอิสรภาพทางการเงิน จนสามารถเกษียณตัวเองได้ตามที่ต้องการเพื่อใช้เวลาไปทำสิ่งที่ชอบได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องงาน เรื่องเงินอีกต่อไป หากสนใจข้อมูลสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ อยากมี Passive Income ควรเริ่มต้นอย่างไร? หรือสามารถขอคำปรึกษาทางการเงินจากKRUNGRI PRIME เพื่อช่วยในการวางแผนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้
สนใจร่วมเป็นลูกค้า ด้วยการเลือก KRUNGSRI PRIME ต่อยอดเงินให้เติบโต​
KRUNGSRI PRIME ช่วยพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น พร้อมเพิ่มความมั่งคั่งทางการเงิน และต่อยอดเงินล้านของคุณให้เติบโตสู่ล้านถัดๆไป นอกจากนี้ KRUNGSRI PRIME ยังมอบความพิเศษด้วยสิทธิ์ต่างๆทั้งด้านการเงินและไลฟ์สไตล์ที่ถูกคัดสรรมาให้แก่ลูกค้าคนพิเศษเช่นคุณ