แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2568-2570

แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2568-2570

14 มกราคม 2568

แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2568-2570


ภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้าจะพิจารณาครอบคลุมทั้งโอกาสและปัจจัยท้าทายที่สะท้อนความน่าสนใจ (Attractiveness) ในการทำธุรกิจของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค และปัจจัยภายในเฉพาะด้านของอุตสาหกรรมนั้น


ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค


เศรษฐกิจโลกปี 2568-2570: มีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยขาลง แต่กระแสโลกาภิวัตน์ย้อนกลับและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์อาจกดดันการค้าและการลงทุนทั่วโลก

 
  • เศรษฐกิจโลกในระยะ 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.2% แม้ทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2566 แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีในช่วงก่อนโควิด-19 ที่ราว 3.7% โดยมีปัจจัยหนุนจากการผ่อนคลายลงของเงินเฟ้อซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ขณะเดียวกันยังเปิดทางให้ประเทศแกนหลักทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความเสี่ยงต่อภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจจะถูกกดดันจากหลายปัจจัย อาทิ ผลพวงจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตท่ามกลางภาระหนี้จำนวนมากของภาครัฐและภาคเอกชน นโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในตะวันออกกลางและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะชะงักงันด้านอุปทานและวิกฤตพลังงาน  นอกจากนี้ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และจีน ผ่านการกีดกันทางด้านภาษีและมิใช่ภาษีที่รุนแรงขึ้น อาจจุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่และตอกย้ำกระแสโลกาภิวัตน์ย้อนกลับ (Deglobalization) ซึ่งจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจทั่วโลก

  • ในปี 2568-2570 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 2.1% (เทียบกับ 2.8% ในปี 2567 และต่ำกว่าศักยภาพระยะยาวที่ 2.3%) ด้านอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะชะลอตัวลงสู่เป้าหมายที่ 2% ในปี 2568-2569 ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ต่อเนื่องถึงปี 2568 หลังจากที่เริ่มปรับลดครั้งแรกตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2568 จะลดลงสู่ระดับ 3.50-3.75% ต่อปี แต่ยังคงสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ 3.0% ซึ่งสะท้อนว่านโยบายการเงินยังคงเข้มงวดและจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การรีไฟแนนซ์หนี้ที่จะเพิ่มขึ้นมากในปี 2568-2569 อาจทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นและกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคและรายได้ของธุรกิจในอีก 2 ปีข้างหน้า ภายใต้ตลาดแรงงานที่เริ่มชะลอตัวและภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ยังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายสำคัญภายใต้การบริหารของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาทิ การปรับลดภาษีในประเทศครั้งใหญ่ การเก็บภาษีศุลกากรแบบก้าวกระโดด และมาตรการเนรเทศผู้อพยพ แม้บางนโยบายอาจหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่หลายนโยบายเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่ เงินเฟ้อ และฐานะการคลังของสหรัฐฯในระยะข้างหน้า

  • เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่ำและเปราะบาง โดยคาดว่าในช่วงปี 2568-2570 เศรษฐกิจจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 1.4% ต่อปี เทียบกับ 0.8% ในปี 2567 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 2.1% ในปี 2568 และต่ำกว่า 2% ในปี 2569 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2568 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงสู่ระดับ 2.00% ต่อปี ทั้งนี้ แม้ว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยจะลดลง แต่เศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอ่อนแอท่ามกลางการหดตัวของภาคการผลิตที่ต่อเนื่อง แรงกระตุ้นจากภาคการคลังที่ลดน้อยลง แรงส่งจากการจัดกีฬาโอลิมปิกในฝรั่งเศสที่ค่อยๆ หายไป สินเชื่อที่เติบโตในระดับต่ำ ตลาดแรงงานที่ชะลอตัว และการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง (สะท้อนจากอัตราการออมของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี) นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการกีดกันทางค้ากับจีนที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าโลก หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง จะเป็นปัจจัยที่สร้างความท้าทายต่อการฟื้นตัวของยูโรโซนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

  • เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีภาคบริการเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยคาดว่าขยายตัวเฉลี่ยที่ 0.9% ต่อปีในช่วงปี 2568-2570 เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 2553-2562) ที่ 1.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่ 2% โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานและการขยายตัวของภาคบริการ ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่เน้นเพิ่มความแข็งแกร่งด้านรายได้ให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 รัฐบาลญี่ปุ่นมีมติอนุมัติวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 39 ล้านล้านเยน เพื่อบรรเทาค่าครองชีพ ช่วยเหลือครัวเรือนรายได้น้อย และส่งเสริมการลงทุน อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตและส่งออกโดยรวมคาดว่าจะเผชิญแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่โตต่ำ การแข่งขันที่สูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป ทั้งนี้ จากภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ทยอยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ไม่เร่งรีบในการปรับนโยบายการเงิน โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2568 จะอยู่ที่ 0.75-1.00%

  • เศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มชะลอลงจาก 4.8% ในปี 2567 สู่ระดับเฉลี่ย 4.1% ต่อปีในช่วงปี 2568-2570 จากแรงกดดันหลายด้าน อาทิ กำลังการผลิตส่วนเกินในบางอุตสาหกรรม วิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ การว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาว ภาระหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นและภาคเอกชน ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และผลิตภาพที่ขยายตัวต่ำลง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกอาจบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า อาทิ สงครามการค้าและเทคโนโลยีที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับไต้หวัน และจีนกับสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่การชะงักงันและการแยกตัวจากห่วงโซ่อุปทานโลกในอัตราเร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงหนุนสำคัญที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจจีนให้สามารถเติบโตต่อไปได้ประกอบด้วย มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน มาตรการบรรเทาภาระหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายอย่างระมัดระวัง มาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการสนับสนุนกำลังการผลิตที่มีคุณภาพใหม่ (New Quality Productive Forces) เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานไฮโดรเจน การเดินทางในอวกาศ และควอนตัมคอมพิวเตอร์


​การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก...มีผลต่อทิศทางธุรกิจ/อุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า

 
  • ภาคบริการเพิ่มบทบาทในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยประเทศพัฒนาแล้วมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคบริการคิดเป็นสัดส่วน 70-80% ของ GDP นำโดยธุรกิจบริการสมัยใหม่ (Modern services) อาทิ บริการด้าน IT ลิขสิทธิ์ทางปัญญา และการเงิน ซึ่งใช้เทคโนโลยีและทักษะแรงงานขั้นสูง สำหรับภาคบริการของไทย แม้จะมีบทบาทเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนยังทรงตัวที่ระดับต่ำกว่า 60% ของ GDP มาอย่างยาวนาน (ภาพที่ 2) และอิงกับธุรกิจแบบดั้งเดิม (Traditional services) ซึ่งใช้แรงงานทักษะต่ำเป็นหลัก อาทิ ภาคค้าส่ง-ค้าปลีก โรงแรมและร้านอาหาร ขณะที่ Modern Services มีสัดส่วนเพียง 14% ของ GDP (ที่มา: ธปท.) และเพิ่งขยายตัวชัดเจนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

    ภาคบริการสมัยใหม่มีส่วนสนับสนุนภาคการผลิตในห่วงโซ่มูลค่าของโลก (Global Value Chains: GVCs) โดยบริการหลายด้าน เช่น ด้านการขนส่ง การเงิน และ โทรคมนาคม รวมถึงแรงานทักษะสูงที่ใช้ความรู้เฉพาะ จัดเป็นปัจจัยการผลิตขั้นกลาง (Intermediate input) ที่จำเป็นต่อภาคการผลิตเนื่องจากช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพแก่อุตสาหกรรมการผลิต อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของภาคบริการของไทยยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ค่อนข้างน้อย สะท้อนจากผลสำรวจขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของ Global Innovation Index ปี 2567 ที่ไทยอยู่อันดับที่ 41 ขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซียอยู่อันดับ 4 และ 33 ตามลำดับ นอกจากนี้ ไทยยังขาดแคลนแรงงานทั้งด้านจำนวนและคุณภาพ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวซึ่งกลายเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบันสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจได้ไม่มากนัก อีกทั้งกลุ่มธุรกิจด้าน Innovation startups ยังมีไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนภาคบริการไปสู่ Modern services ได้ (ที่มา: ธปท.) ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงควรเร่งปรับตัวสู่ภาคบริการที่ใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ (Service innovation) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในเวทีโลก และสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

  • ภูมิทัศน์ใหม่จากการเบี่ยงเบนการลงทุนของจีนสู่ฐานการผลิตในอาเซียน แรงกดดันจากสงครามเทคโนโลยีและการกีดกันทางการค้าระหว่างขั้วอำนาจสหรัฐฯ-จีนที่ยืดเยื้อ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลกมุ่งสู่พันธมิตรในภูมิภาคเดียวกันทั้งรูปแบบ Near shoring และ Friend shoring มากขึ้น โดยจีนผันจากการเป็นผู้นำเข้าทุนในอดีต กลายเป็นผู้ส่งออกทุนรายใหญ่ที่มุ่งสู่ภูมิภาคอาเซียน (ภาพที่ 3) จากแรงผลักดันของกำลังการผลิตส่วนเกินในจีน และแรงดึงดูดในการใช้ฐานผลิตอาเซียนส่งออกไปสหรัฐฯ โดยในปี 2566 มูลค่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของนักลงทุนจีนสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 162.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หนุนให้สัดส่วนมูลค่าลงทุนโดยตรงโดยรวมในอาเซียนเมื่อเทียบกับมูลค่าลงทุนโดยตรงทั้งโลกมีสัดส่วนสูงขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 17% (ภาพที่ 4) ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีสูงในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และพลังงานหมุนเวียน (fDi Markets, 2024) กระแสเบี่ยงเบนการลงทุน (Investment diversion) ดังกล่าวจึงเอื้อให้ฐานการผลิตในเอเชียรวมถึงไทยขยับสู่การผลิตระดับต้นน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในห่วงโซ่มูลค่าของโลก (ภาพที่ 5-6) เห็นได้จากการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board : PCB) ในไทยที่มีมูลค่าสูงกว่า 1.4 แสนล้านบาทในช่วงเดือนมกราคม 2566-มิถุนายน 2567 เทียบกับเพียง 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง (BOI, สิงหาคม 2567) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านจำนวนแรงงานที่มีฝีมือและผู้เชี่ยวชาญของประเทศกำลังพัฒนาที่อาจไม่เพียงพอรองรับกระแสลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต้นน้ำ ยังคงเป็นประเด็นท้าทายในปัจจุบันที่การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางมีอัตราเร็วขึ้นมากเมื่อเทียบกับประเทศรายได้สูงในอดีต (ภาพที่ 7)





  • ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อรองรับเมกะเทรนด์ใหม่ๆ การพัฒนาเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าตลอดเวลาเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของเมกะเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับทุกภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกในช่วงปี 2568-2573 โดยเฉพาะเป้าหมายสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) ในระยะยาว (Startus-insights, 2024) โดยเทคโนโลยีสำคัญที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของเมกะเทรนด์ในแต่ละภาคอุตสาหกรรมในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า มีดังนี้

    • ​ภาคเกษตรกรรม: เทคโนโลยีการเกษตรที่มีความแม่นยำและเทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต จะมีบทบาทสำคัญในการลดทอนผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่จะแปรปรวนมากขึ้น และช่วยพัฒนากระบวนการผลิตทางการเกษตรโดยเน้นการใช้เชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในภาคเกษตรมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

    • ภาคการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม: เทคโนโลยีการเกษตรยั่งยืนและปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามาเชื่อมต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการบริโภคและโครงสร้างประชากร ไปสู่การบริหารจัดการด้านกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทานด้านเกษตรอย่างครบวงจร ร่วมกับนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเข้ามาช่วยลดขยะตลอดวงจรการผลิตและการบริโภค

    • ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม: เทคโนโลยีระบบหุ่นยนต์  IOT และ AI จะเข้ามาขับเคลื่อนสู่ยุคอุตสาหกรรม 5.0 ที่เน้นกระบวนการผลิตแบบอัจฉริยะโดยใช้ระบบสื่อสารความเร็วสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตได้รวดเร็วและแม่นยำ ร่วมกับการประยุกต์ใช้ 3D printing ในขั้นตอนการปรับแต่งสินค้าให้ตรงตามความต้องการเฉพาะบุคคลภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลง

    • ภาคพลังงาน: เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) และเทคโนโลยีในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) จากฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิตและการจัดเก็บกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการนำพลังงานบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ เพื่อตอบโจทย์กระแส  ESG

    • ภาคก่อสร้าง: เทคโนโลยีด้านวัสดุยั่งยืนและอาคารสีเขียว (Sustainable materials and green buildings) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคก่อสร้างจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง โดยพัฒนาโครงสร้างสำเร็จรูปแบบ Modular จากวัสดุที่ยั่งยืน

    • ภาคสิ่งแวดล้อม: เทคโนโลยีด้าน Remote Sensing จากดาวเทียมเพื่อสำรวจป่าไม้ระยะไกล จะทำงานร่วมกับ AI เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการประเมินคาร์บอนเครดิตจากปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล และลดต้นทุนการสำรวจภาคสนาม

    • ภาคการบริการสาขาต่างๆ อาทิ

      • ขนส่งและโลจิสติกส์: Blockchain และ IoT  จะช่วยเชื่อมต่อระบบการติดตาม (Hyper-Connected World) และเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการด้านโลจิสติกส์ที่ซับซ้อนให้เกิดความโปร่งใสและแม่นยำ ร่วมกับการใช้โดรนอัจฉริยะในการขับเคลื่อนระบบขนส่งสินค้าที่ใช้ยานยนต์ไร้คนขับแบบปลอดมลพิษเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว

      • สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี: AI และ Big data ร่วมกับเทคโนโลยีสวมใส่ด้านสุขภาพ (Wearable health technology) จะกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพดิจิทัลที่เหมาะกับความต้องการเฉพาะบุคคลเพื่อการป้องกันก่อนเกิดโรค เช่น การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพของประชากรสูงวัยและการบรรเทาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ รวมถึงโอกาสในการนำข้อมูลมาใช้ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนายาและเวชภัณฑ์ที่เหมาะกับการรักษาเฉพาะโรค

      • ค้าปลีก: AI จะมีบทบาทมากขึ้นในการสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งที่ตรงกับความต้องการเฉพาะบุคคล โดยเพิ่มช่องทางในการเชื่อมต่อระหว่างตลาดอีคอมเมิร์ซกับห่วงโซ่อุปทานได้กว้างขวางและรวดเร็วมากขึ้นเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง

      • บริการอำนวยความสะดวก: AI, IoT Robotics และ Edge-Cloud Computing จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันเพื่อออกแบบรูปแบบบริการเฉพาะเจาะจงผ่านแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มปริมาณใช้บริการ (Traffic) รวมถึงการช่วยงานบริการที่เสี่ยงอันตรายซึ่งยังขาดแคลนแรงงาน      


 

  • การรวมกลุ่มการค้าช่วยเพิ่มศักยภาพให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก ที่ผ่านมา ไทยเข้าร่วมกลุ่มการค้าทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยมีข้อตกลง FTA กับประเทศคู่ค้า 15 ฉบับ1/ รวม 19 ประเทศ (ฉบับล่าสุดคือ FTA กับศรีลังกา ซึ่งบรรลุข้อตกลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2567) รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)2/ (ภาพที่ 8) โดยมูลค่าการค้ารวมภายใต้กลุ่มการค้าทั้งหมดในปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกของไทยภายใต้สิทธิ FTA เพิ่มขึ้น 2.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีสัดส่วนการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นเป็น 85.6% ของมูลค่าส่งออกภายใต้สิทธิ FTA ทั้งหมด ส่วนการใช้สิทธิภายใต้กรอบ RCEP (ภาพที่ 9) มีสัดส่วนอยู่ที่เพียง 1.7% เนื่องจากประเทศที่อยู่ใน RCEP ส่วนใหญ่มี FTA กับไทยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะทยอยปรับสูงขึ้น จากอัตราภาษีที่จะถูกปรับลดต่อเนื่องเป็นขั้นบันได 

    สำหรับ FTA ที่ไทยอยู่ระหว่างเจรจากับประเทศคู่ค้าที่คาดว่าจะบรรลุข้อตกลงในปี 2567 ได้แก่ ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป3/ (มูลค่าการค้ารวมกันมากกว่า 9 แสนล้านบาทในปี 2566) ส่วนปี 2568 ได้แก่ ไทย-สหภาพยุโรป และอาเซียน-แคนาดา และหลังปี 2568 ได้แก่ ไทย-ปากีสถาน และไทย-ทูร์เคีย (ตุรกี) รวมถึงกลุ่ม BRICS4/ (ไทยเข้าร่วมเป็นประเทศพันธมิตรอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 โดยยังไม่ได้เป็นสมาชิก) ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจ 26% ของเศรษฐกิจโลกและมีประชากรมากกว่า 40% ของประชากรโลก นอกจากนี้ไทยยังมีแผนยกระดับความตกลง FTA ที่มีอยู่เดิมเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป

    อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของสินค้าส่งออกของไทยจะมาจากมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier: NTB) ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลขององค์การการค้าโลก (WTO) พบว่าปี 2552-2566 ทั่วโลกใช้ NTB รวม 62,202 มาตรการ ซึ่งเกือบ 30% เป็นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ในระยะข้างหน้า ไทยจึงควรให้ความสำคัญและส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าผ่าน FTA เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก



 

  • การขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวพร้อมรับภาระต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น จากกฎระเบียบหรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้นและครอบคลุมถึงความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต ปัจจุบันมาตรการที่มีการบังคับใช้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

    • มาตรการที่กำหนดให้ธุรกิจต้องรายงานปริมาณคาร์บอนและรับภาระต้นทุนการปล่อยคาร์บอน เช่น (1) มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ในสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 สำหรับสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเหล่านี้อาจมีภาระต้องจ่ายราคาคาร์บอนหลังปี 2569 เป็นต้นไป ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และแคนาดา อยู่ระหว่างพิจารณานำมาตรการที่คล้ายคลึงกับ CBAM มาใช้เช่นกัน และ (2) การชดเชยและการลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (CORSIA) ภาคบังคับตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป จะเพิ่มภาระต้นทุนแก่อุตสาหกรรมการบินทั่วโลก

    • มาตรการที่กำหนดให้มีการตรวจสอบด้านความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน เช่น กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) และกฎหมายการสอบทานธุรกิจด้านความยั่งยืน (CSDDD) ของสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านสู่ภาคบังคับในอีก 1-3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะ CSDDD มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ (อาทิ เยอรมนี รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ และนอร์เวย์) ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่เป็นคู่ค้าต้องตรวจสอบและปรับตัวตามกฎหมายเหล่านี้เช่นกัน

​ยิ่งไปกว่านั้น ภาคธุรกิจของไทยยังต้องเผชิญกฎระเบียบในประเทศที่จะมีความเข้มงวดมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางของโลก โดยภาครัฐของไทยอยู่ระหว่างพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกำหนดให้ภาคธุรกิจต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังเร่งผลักดันกลไกการกำหนดราคาคาร์บอนภาคบังคับ อาทิ ภาษีคาร์บอน (คาดว่าจะเริ่มจัดเก็บจากสินค้าน้ำมันภายในปีงบประมาณ 2568) ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) และตลาดคาร์บอนเครดิต ในท้ายที่สุด มาตรการด้านความยั่งยืนทั้งในระดับโลกและระดับประเทศจะนำมาซึ่งความท้าทายและโอกาสแก่ภาคธุรกิจไทย ดังนี้

  • ความท้าทายด้านต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น จาก (1) ต้นทุนด้านการวัด รายงาน และทวนสอบคาร์บอน (MRV) หรือต้นทุนการตรวจสอบธุรกิจ (Due Diligence) (2) ต้นทุนการปล่อยคาร์บอน และ (3) ต้นทุนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานและอุตสาหกรรมหนักซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงและปรับเปลี่ยนได้ยาก มาตรการข้างต้นจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ หากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการค้าใหม่ของโลกได้

  • โอกาสทางการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น สำหรับธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้เร็วกว่าคู่แข่ง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนในด้านต่างๆ อาทิ ธุรกิจด้าน MRV ธุรกิจที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน ธุรกิจการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน และธุรกิจเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech)

ในระยะต่อจากนี้ ภาคธุรกิจของไทยจึงควรตระหนักถึงความสำคัญและเร่งเปลี่ยนผ่านการดำเนินธุรกิจเพื่อเกาะเกี่ยวกระแสการทำธุรกิจที่ยั่งยืนที่กำลังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจทั่วโลก

  • ภาวะภูมิอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร หลังผ่านพ้นภัยแล้งจากอิทธิพลของภาวะเอลนีโญ (El Niño) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ประเทศไทยต้องเผชิญอุทกภัยในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมีสัญญาณจาก (1) Oceanic Nino Index (ONI) ที่ลดลงสู่ระดับปกติ (Neutral) และลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ La Niña บ่งชี้ถึงปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าระดับปกติ (ภาพที่ 11-12) (2) อิทธิพลจากพายุประจำปี (3) ดัชนี Pacific Decadal Oscillation (PDO) และ Indian Ocean Diploes (IOD) ที่มีทิศทางลดลงจนติดลบ ทำให้ไทยได้รับอิทธิพลของพายุอย่างชัดเจน และ (4) ดัชนีมรสุมที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศรอบๆ ประเทศในระยะสั้นมีค่าใกล้เคียงระดับปกติ ซึ่งเอื้อต่อการเกิดฝนตกในพื้นที่รอบข้างของประเทศไทย

    ปรากฏการณ์ข้างต้นส่งผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัย เกษตร และอุตสาหกรรมในบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางส่วนของภาคใต้ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่างซึ่งเป็นทางน้ำผ่าน และภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำและเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ ครัวเรือน โรงงาน เครื่องจักร สินค้าเกษตร ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานของพืชเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง รวมถึงพืชสวนและพืชไร่ต่างๆ โดยพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 8.6 ล้านไร่ สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินราว 3.1 พันล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 43.4 พันล้านบาท ทำให้ความเสียหายจากอุทกภัยรวมกันอยู่ที่ 46.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 0.27% ของ GDP


วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ภาวะลานีญา (La Niña) จะเริ่มชัดเจนมากขึ้นในปี 2568 และคาดว่าปริมาณน้ำฝนจะอยู่เหนือระดับเฉลี่ยและปริมาณน้ำในเขื่อนจะเพิ่มสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 (ภาพที่ 13) สอดคล้องกับรายงานของ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ที่ประเมินว่าภาวะลานีญาจะปรากฏชัดในไตรมาสแรกปี 2568 (ภาพที่ 14) ผลจากปริมาณน้ำที่จะมีมากขึ้น น่าจะเอื้อให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในช่วงปี 2568-2569 เมื่อเทียบกับฐานต่ำจากผลกระทบของภาวะภัยแล้งในช่วงครึ่งแรกปี 2567



 

เศรษฐกิจไทยปี 2568-2570: เติบโตเฉลี่ยเข้าใกล้ระดับศักยภาพท่ามกลางแรงกดดันจากภายในและภายนอกประเทศ


ในช่วงปี 2568-2570 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเฉลี่ย 2.8% ต่อปี โดยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากที่คาดว่าจะเติบโต 2.7% ในปี 2567 (ภาพที่ 15) ซึ่งยังคงเติบโตในอัตราต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 (ปี 2553-2562) ที่ 3.6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ (1) ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 40 ล้านคนในปี 2568 และปรับเพิ่มเป็น 43-45 ล้านคนในปี 2569-2570 (2) การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศจากภาครัฐ (3) การใช้จ่ายภาครัฐที่จะยังมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบขาดดุลสูงถึง 4.5% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2568 ก่อนจะทยอยลดการขาดดุลเหลือ 3.4 และ 3.2% ของ GDP ในปีงบฯ 2569 และ 2570 ตามลำดับ (4) การเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนจากการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่หนุนการย้ายฐานการผลิตบางอุตสาหกรรมมายังอาเซียนและไทย กอปรกับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อาหารแห่งอนาคต และพลังงานหมุนเวียน รวมถึงธุรกิจ Health & Wellness (5) การส่งออกของไทยแม้อาจเติบโตต่ำตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่ยังมีโอกาสขยายตัวจากความต้องการสินค้ากลุ่มอาหารและเกษตร  รวมทั้งหากมีการทำข้อตกลงการค้าเสรีเพิ่มเติมจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสร้างโอกาสการเติบโตในระยะยาว สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดว่า ธปท.มีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.00%ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 และอาจปรับลดได้อีก 0.50% ในช่วงปี 2569-2570 เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในช่วงระยะ 3 ปีข้างหน้า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีทิศทางทยอยฟื้นตัว แต่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน-5 ที่เติบโตเฉลี่ยราว 4.5%  เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการ อาทิ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังขาดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ส่งผลต่อกำลังแรงงานและผลิตภาพ และหนี้ครัวเรือนระดับสูงที่ฉุดรั้งการบริโภคภาคเอกชน นอกจากนี้ ภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอาจจำกัดความสามารถในการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายนอก ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความตึงเตรียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อุปทานส่วนเกินของจีนที่กระตุ้นการส่งออกสินค้าต้นทุนต่ำไปยังประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวนมากขึ้นทั่วโลก ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการค้า การผลิต การลงทุน และการท่องเที่ยวของไทย ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและการปรับตัวต่อความท้าทายใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการยกระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว


คลื่นใหม่ของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหนุนการลงทุนภาคเอกชน


ภาครัฐมีแนวโน้มเร่งดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลังจากเผชิญปัญหาความล่าช้าของการดำเนินการงบประมาณปี 2567 ที่ส่งผลให้โครงการก่อสร้างภาครัฐหดตัวรุนแรง โดยช่วงปี 2568-2570 โครงการขนาดใหญ่ ทั้งโครงการเดิมและโครงการใหม่ จะเริ่มมีการลงทุนก่อสร้างเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ รวมทั้งขยายงานโครงการเดิมเพื่อเพิ่มศักยภาพและรองรับการเติบโตของพื้นที่ต่างๆ ในอนาคต ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ขนส่งและโลจิสติกส์  โดยเฉพาะโครงการใหม่ขนาดใหญ่ 2 โครงการซึ่งคาดว่าจะอยู่ในแผนงบประมาณปี 2568 ที่ภาครัฐหวังผลักดันให้เกิดการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  ได้แก่ (1) โครงการเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ในหลายพื้นที่ยุทธศาสตร์ มูลค่าการลงทุนรวม 3-5 แสนล้านบาท  โดยจะมีพื้นที่ก่อสร้างคาสิโนสัดส่วน 10% ของพื้นที่ทั้งหมด และ (2) โครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย เพื่อแก้ไขปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะและป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ รวมถึงสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เป็นต้น

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อเสริมศักยภาพของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) จะเร่งดำเนินงานในขั้นตอนการก่อสร้าง ประกอบด้วย (1) โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 (การสร้างท่าเรือใหม่ขนส่งก๊าซธรรมชาติและปิโตรเคมี) คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2570  (2) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 คาดว่าจะเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F (เน้นขนส่งสินค้าอุตสาหกรรม) เป็นลำดับแรกภายในปี 2570 และ (3) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ล่าช้าในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 ทั้งนี้ การเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะหนุนโอกาสการลงทุนใหม่เพื่อยกระดับห่วงโซ่อุปทานของไทยในอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และรักษาจุดยืนของอุตสาหกรรมไทยในห่วงโซ่มูลค่าโลก


ปัจจัยแวดล้อมในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม
 

ปัญหาเชิงโครงสร้างบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของไทย

แม้ภาพรวมความสามารถในการแข่งขันของไทย (IMD World Competitiveness Ranking) จะปรับดีขึ้นในปี 2567 โดยไทยอยู่อันดับที่ 25 (จาก 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก) ดีขึ้น 5 อันดับจากปี 2566 และเทียบเท่าอันดับในปี 2562 ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดที่ไทยเคยได้รับ โดยอันดับที่ดีขึ้นมาจากปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ดีขึ้น 11 อันดับจากปี 2566 (ภาพที่ 16) ตามการฟื้นตัวของภาคการค้าระหว่างประเทศ และด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 20 ดีขึ้น 3 อันดับจากปี 2566 ผลจากการบริหารจัดการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency) และด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ยังคงอันดับเดิมที่ 24 และ 43 ตามลำดับ จึงเป็นประเด็นที่ไทยต้องเร่งพัฒนาเนื่องจากมีผลต่อการลงทุนและการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ซึ่งได้คะแนนอันดับ 1 ของโลก มีจุดเด่นด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการภาครัฐที่เข้มแข็ง รองลงมา คือ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีนวัตกรรม การวิจัยพัฒนา ระบบการศึกษาและแรงงานทักษะสูง และเดนมาร์ก ซึ่งมีระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานทดแทนอย่างยั่งยืน


 

หลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ภาคการผลิตของไทยมีทิศทางการฟื้นตัวที่ไม่ดีนัก ผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างหลายด้านซึ่งจำกัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ การผลิตสินค้าที่ไม่ตอบสนองความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป (เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ซึ่งอาจทำให้ไทยหลุดจากห่วงโซ่การผลิตของโลก การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน และไทยยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ (The Global Talent Competitiveness Index: GTCI) ปี 2566 ไทยอยู่อันดับที่ 79 จาก 134 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน สะท้อนถึงความจำเป็นที่ไทยต้องเร่งพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูงขึ้นเพื่อยกระดับศักยภาพของแรงงานในประเทศ นอกจากนี้ การลงทุนด้าน R&D ของไทยยังอยู่ที่ระดับเพียง 1.16% ของ GDP (ปี 2565) ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนดไว้ 2% ภายในปี 2570 ดังนั้นไทยควรเร่งปรับตัว โดยลงทุนพัฒนาทักษะแรงงานโดยเฉพาะด้านดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งยังสอดคล้องกับธนาคารโลกที่ระบุแนวทางการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (ภาพที่ 17) ซึ่งรวมถึงการปรับใช้เทคโนโลยีหรือโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม (Infusion) และการพัฒนานวัตกรรม/ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นจุดแข็งเฉพาะแบบของประเทศ (Innovation)

การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของทางการที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม

  • อสังหาริมทรัพย์

    • การลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่าร่วมกันระหว่างจีนและไทย (มีผล 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป) มีส่วนสนับสนุนให้ชาวจีนเดินทางมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยได้สะดวกขึ้น ช่วยกระตุ้นตลาดคอนโดมิเนียมทั้งการซื้อเพื่ออยู่อาศัยและลงทุน

    • มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ต้องการปลูกสร้างบ้านใหม่ สูงสุด 1 แสนบาทหรือมูลค่าก่อสร้างบ้านสูงสุด 10 ล้านบาท (มีผล 9 เมษายน 2567 - 31 ธันวาคม 2568) เพื่อช่วยลดภาระค่าสร้างบ้านและกระตุ้นปริมาณงานก่อสร้างในกลุ่มที่พักอาศัย

    • มาตรการสนับสนุนการมีบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย (โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์) ได้แก่ โครงการสินเชื่อบ้าน “Happy Home” กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5 ปีที่ 3% ต่อปี วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อบ้าน “Happy Life” อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก 2.98% ต่อปี วงเงิน 2.5 ล้านบาทขึ้นไป (สิ้นสุด 30 ธันวาคม 2568 หรือเต็มตามกรอบวงเงินของโครงการ) จะส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อและลงทุนผ่อนบ้านได้ง่ายขึ้น

    • BOI ส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (โครงการบ้าน BOI) โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เป็นเวลา 3 ปี ภายใต้เงื่อนไข (1) สร้างอาคารชุดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 24 ตารางเมตร และกรณีบ้านเดี่ยวหรือบ้านแถว พื้นที่ไม่น้อยกว่า 70 ตารางเมตร และ (2) ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อยูนิต (มีผล 15 มีนาคม 2567 - 31 ธันวาคม 2568) เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย

    • ​​กฏระเบียบหรือมาตรการที่อยู่ระหว่างการศึกษา พิจารณา หรือแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

      • ​พระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ จะขยายสัญญาการเช่าจาก 30 ปี เป็น 99 ปี แบ่งเป็น (1) การแก้ไขระยะเวลาการเช่าจากสัญญาเช่าไม่เกิน 30 ปี เป็นไม่เกิน 50 ปี และ (2) เมื่อครบกำหนดเช่าตามข้อ (1) สามารถต่อสัญญาได้อีก 1 ครั้ง ไม่เกิน 50 ปี รวมทั้ง 2 สัญญาไม่เกิน 99 ปี โดยการต่อสัญญาครั้งที่ 2 ต้องทำเป็นหนังสือจดทะเบียนไว้กับเจ้าพนักงานกรมที่ดิน มิเช่นนั้นจะถือเป็นโมฆะ

      • พระราชบัญญัติอาคารชุด จะขยายเพดานการถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติเป็น 75% (จากเดิม 49%) ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้ (1) จำกัดพื้นที่การซื้อคอนโดมิเนียม เฉพาะ 3 จังหวัดที่ต่างชาตินิยมซื้อ (กรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา) (2) จำกัดพื้นที่โครงการไม่เกิน 5 ไร่ (3) จำกัดสิทธิการบริหารจัดการนิติบุคคลของต่างชาติต้องไม่เกิน 49% และ (4) แต่ละท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายเพิ่มเติมโดยอิสระ เช่น ไม่สร้างบนที่ดินเกษตรกรรม หรือไม่อยู่ในเขตความมั่นคงทางทหาร เป็นต้น

  • ​ภาคการผลิต

    • การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนนำเข้าเพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (มีผล 7 มีนาคม 2566 -31 ธันวาคม 2568) สำหรับอุปกรณ์ดังนี้ แบตเตอรี่มอเตอร์ขับเคลื่อน (Traction motor) คอมเพรสเซอร์สำหรับ EV ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ ระบบชาร์จแบตเตอรี่ในตัว (On-board charger) ดีซี/ดีซี คอนเวอร์เตอร์ (DC/DC converter) อินเวอร์เตอร์และพีซียู อินเวอร์เตอร์  (Inverter & PCU inverter) และรีดักชัน เกียร์ (Reduction gear) เพื่อกระตุ้นการผลิต BEV ในประเทศและเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าจากพลังงานแบตเตอรี่

    • สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ (แผงโซลาร์เซลล์) จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ตามมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD Circumvention) ของผู้ผลิตจีน ที่ใช้ฐานการผลิตในประเทศดังกล่าวหลบเลี่ยงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งเบื้องต้นไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ส่งไปสหรัฐฯ (ตลาดส่งออกโซลาร์เซลล์อันดับ 1 ของไทย) ในอัตรา 23.06% เทียบกับเวียดนาม (2.85%) กัมพูชา (8.25%) และมาเลเซีย (9.13%) (จะมีการพิจารณาภาษีตอบโต้การอุดหนุนในขั้นสุดท้ายประมาณเดือนเมษายน 2568) มาตรการนี้อาจทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ ให้กับเกาหลีใต้ ซึ่งมีมูลค่าส่งออกแผงโซลาเซลล์สูงเป็นอันดับ 4 ในสหรัฐฯ และไม่อยู่ในขอบข่ายการเรียกเก็บภาษี

    • คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดมีมติเก็บอากรการทุ่มตลาด (AD) เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่นำเข้าจากบราซิล อิหร่าน และทูร์เคีย (ตุรกี) เป็นเวลา 5 ปี (มิถุนายน 2566- มิถุนายน 2571) ในอัตรา 34.4% 7.3-38.3% และ 6.9-38.2% ของราคา CIF (ราคาสินค้ารวมค่าประกันและค่าขนส่ง) ตามลำดับ โดยยกเว้นผู้ประกอบการ 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่นำเข้าเพื่อผลิตหรือส่งออกในเขตการค้าเสรี (Free Trade Zone) ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (2) กลุ่มที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนซึ่งนำเข้าเพื่อผลิตและส่งออก และ (3) กลุ่มที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกภายใต้กฎหมายว่าด้วยศุลกากร จึงคาดว่าราคาเหล็กนำเข้าจะทรงตัวสูงต่อเนื่อง และอาจมีการส่งผ่านต้นทุนไปสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

    • การเพิ่มอัตราภาษีสำหรับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ตามปริมาณความหวาน โดยจัดเก็บตามมูลค่าและปริมาณความหวานของเครื่องดื่ม ซึ่งที่ผ่านมา มีการทยอยปรับเพิ่มแล้ว 2 รอบ (เริ่มปี 2560) ส่วนรอบที่ 3 เริ่ม 1 เมษายน 2566 - 31 มีนาคม 2568 และรอบ 4 เริ่ม 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป มีผลให้ต้นทุนของผู้ผลิตที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลักปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง และอาจมีการส่งผ่านต้นทุนส่วนเพิ่มสู่ผู้บริโภค

  • อุตสาหกรรมยานยนต์

    • คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ขยายเกณฑ์มาตรฐานไอเสียรถยนต์ตามมาตรฐานยูโร 6 ครอบคลุมรถบรรทุก รถบัส รถกระบะ และรถยนต์เล็ก (มีผล 1 มกราคม 2568) เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยมลพิษ และลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งจะเพิ่มภาระต้นทุนแก่ผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

    • การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยานยนต์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีสาระสำคัญ ดังนี้

      • ปรับลดเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้แคบลง และเพิ่มจากเดิม 4 ระดับเป็น 5 ระดับ ได้แก่ CO2<100 กรัม/กม., 100-120 กรัม/กม., 121-150 กรัม/กม., 151-200 กรัม/กม. และ >200 กรัม/กม. เพื่อส่งเสริมให้ยานยนต์ลดการปล่อยก๊าซ CO2 และประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น

      • กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 สำหรับรถ HEV (Hybrid Electric Vehicle) และ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ดังนี้

        • รถ HEV ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 cc จำแนกเป็น (1) กลุ่มที่ปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร กำหนดอัตราภาษีที่ 6% (2) กลุ่มที่ปล่อย CO2 ในช่วง 101-120 กรัมต่อกิโลเมตร กำหนดที่ 8% และ (3) กลุ่มที่ปล่อย CO2 มากกว่า 120 กรัมต่อกิโลเมตรขึ้นไป แบ่งเป็น ช่วงปี 2569-2570 จัดเก็บอัตรา 14-24% ช่วงปี 2571-2572 เพิ่มเป็น 16-26% และตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป จัดเก็บในอัตรา 18-28%

        • รถ HEV ความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 cc กำหนดภาษีอัตรา 40% (มีผล 1 มกราคม 2569)

        • รถ PHEV ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 cc กรณีวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าระยะทางไม่ต่ำกว่า 80 กม./การประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง และถังน้ำมันไม่เกิน 45 ลิตร อัตราภาษีอยู่ที่ 5% ส่วนกรณีวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าระยะทางต่ำกว่า 80 กม. /การประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง และถังน้ำมันมากกว่า 45 ลิตร จัดเก็บอัตรา 10% สำหรับรถ PHEV ความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 cc เก็บภาษีอัตรา 30% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569

      • ปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ICE (Internal Combustion Engine) ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 แบบขั้นบันได ทุก 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2569 ดังนี้

        • รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 cc แบ่งเป็น ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 - 31 ธันวาคม 2570 จัดเก็บภาษีอัตรา 13-34% ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2571-31 ธันวาคม 2572 อัตรา 14-36% และ ช่วงที่ 3 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป อัตรา 15-38%

        • รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 cc จัดเก็บภาษีอัตรา 50% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

      • ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV จาก 8% เหลือ 2% เพื่อส่งเสริมการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV ตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่กำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์แบบ ZEV (Zero Emission Vehicle)  ที่สัดส่วน 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573

      • ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถกระบะและอนุพันธ์ของรถกระบะ เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการปล่อยก๊าซ CO2 การสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน Biodiesel และส่งเสริมให้ใช้และผลิตรถกระบะไฟฟ้าแบบ BEV และแบบ FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 2% และ 0% ของราคาจำหน่าย ตามลำดับ

      • ปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ ICE และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ HEV และแบบ PHEV ตามการปล่อยก๊าซ CO2 ดังนี้ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569-31 ธันวาคม 2572 จัดเก็บภาษีอัตรา 4% (สำหรับการปล่อย CO2 <50 กรัม/กม.) อัตรา 6% (CO2 51-90 กรัม/กม.) อัตรา 10% (CO2 91-130 กรัม/กม.) และอัตรา 20% (CO2 >130 กรัม/กม.) และช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป จัดเก็บภาษี 5-25%

    • มาตรการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้า BEV โดยภาครัฐให้เงินอุดหนุนแก่ผู้บริโภคในวงเงิน 50,000-100,000 บาท สำหรับรถยนต์ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และ 10,000 บาท สำหรับรถจักรยานยนต์ราคาไม่เกิน 1.5 แสนบาท ในช่วงปี 2567-2570 เพื่อจูงใจผู้บริโภค

    • การปรับลดภาษีประจำปีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า BEV โดยรถที่จดทะเบียนระหว่าง 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2568 ให้ปรับลดภาษี 80% ของอัตราภาษีประจำปี เป็นเวลา 1 ปี เพื่อส่งเสริมและจูงใจให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 และปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ

    • คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติประกาศมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-truck) โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อรถประเภทดังกล่าวมาใช้งาน สามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้ 2 แบบ (มีผลบังคับใช้จนถึงสิ้นปี 2568) ได้แก่ (1) กรณีซื้อรถที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า และ (2) กรณีซื้อรถนำเข้าจากต่างประเทศ หักได้ 1.5 เท่า ทั้งนี้ คาดว่าจะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนการปรับเปลี่ยนรถใหม่ของภาคธุรกิจและจูงใจให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อการขนส่งเพิ่มขึ้น

  • อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติก

    • แผนสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 (ปี 2565-2569) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี  รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และสร้างฐานการผลิตวัตถุดิบให้กับเศรษฐกิจใหม่ (New S-curve) อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีชนิดพิเศษ เคมีภัณฑ์ พลาสติกชีวภาพ รีไซเคิล การวิจัยและพัฒนา และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแบบพิเศษที่สามารถย่อยสลายได้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบ ส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในระยะยาว

    • แผนจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) เพื่อยกระดับการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Management Approach) ประกอบด้วย (1) การจัดการ ณ ต้นทาง ซึ่งรวมถึงการออกแบบ และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-design) (2) การจัดการ ณ กลางทาง โดยส่งเสริมให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ซ้ำและนำกลับไปรีไซเคิล รวมถึงลด/เลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่กระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันการเกิดขยะพลาสติก และ (3) การจัดการ ณ ปลายทาง จะใช้แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน (Integrated Solid Waste Management) เช่น ระบบคัดแยกเพื่อนำกลับไปรีไซเคิล การเผาเพื่อผลิตพลังงาน และการหมักปุ๋ยเพื่อให้เหลือขยะที่ต้องฝังกลบให้น้อยที่สุด คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการจัดการสูงขึ้นและอาจจำกัดการเติบโตของอัตรากำไรของธุรกิจในระยะเริ่มต้น

  • ภาคพลังงาน

    • แผนปฏิรูปพลังงานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Carbon-neutral Economy) คาดมีผลบังคับใช้ปี 2568 ได้แก่ (1) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2024) (2) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas plan) (3) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) (4) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และ (5) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil plan) ทั้งนี้ เพื่อให้ไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี 2608 คาดว่าจะหนุนให้ภาคธุรกิจมีการลงทุนในด้านที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตและนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน

    • การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2024 คาดว่าจะแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ในปี 2568) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2024) จะพิจารณาจัดสรรโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 2 ช่วง คือ (1) ช่วงปี 2564-2573 และ (2) ช่วงปี 2574-2580 กำหนดให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด/พลังงานหมุนเวียนใหม่ ณ ปี 2580 ไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด (ที่มา: ร่าง PDP2024, EPPO) จะเอื้อให้ภาคเอกชนขยายกำลังการผลิตและเพิ่มการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ ดังนี้ (1) กลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ได้แก่ พลังงานลม ก๊าซชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ (ทั้งแบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน / แบบติดตั้งบนพื้นดิน / ติดตั้งบนหลังคา) และ (2) กลุ่มผลิตไฟฟ้าจากขยะ (ขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม) และชีวมวล

  • ภาคสิ่งแวดล้อม

    • มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU Carbon Border Adjustment Mechanism: EU CBAM) ซึ่งเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ทำให้ผู้ส่งออกสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่ส่งไป EU ส่วนการบังคับใช้เต็มรูปแบบจะเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป โดยผู้ส่งออกต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ได้รับการรับรองโดยผู้ทวนสอบที่ได้รับอนุญาต และอาจต้องจ่ายราคาการปล่อยคาร์บอน ส่งผลให้มีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมซึ่งมีการปล่อยคาร์บอนเข้มข้น จึงอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในระยะข้างหน้า

    • มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนของสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) เพื่อกำหนดกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) สำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศ และการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (US CBAM) สำหรับสินค้านำเข้าที่ใช้พลังงานเข้มข้น อาทิ ปุ๋ย ไฮโดรเจน ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี กรดอะดิปิก กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับสินค้านำเข้าภายในปี 2570

    • การชดเชยและการลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation: CORSIA) ที่ริเริ่มโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) กำหนดให้สมาชิก 193 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยต้องมีกลไกการปรับลดคาร์บอน 2 ส่วน คือ (1) การวัด รายงาน และทวนสอบปริมาณคาร์บอนจากเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็นประจำทุกปี และ (2) การชดเชยการปล่อยคาร์บอนซึ่งเกินเกณฑ์ที่กำหนดด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต โดยปี 2567-2569 การเข้าร่วมกลไกดังกล่าวยังอยู่ในภาคสมัครใจ ก่อนปรับเป็นภาคบังคับตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป ส่งผลให้ธุรกิจการบินจะเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น​

    • กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation: EUDR) กำหนดให้สินค้าส่งออกและนำเข้า 7 กลุ่ม ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ถุงมือยาง และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ต้องได้รับการตรวจสอบและรายงานที่มาของสินค้าว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า โดย EUDR เข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านเมื่อ 29 มิถุนายน 2566 ก่อนมีผลบังคับใช้จริงตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2568 เป็นต้นไป สำหรับสินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ยางพารา รองลงมา ได้แก่ ไม้ และปาล์มน้ำมัน

    • กฎหมายการสอบทานธุรกิจด้านความยั่งยืน (Corporate Sustainability Due Diligence Directive: CSDDD) ของสหภาพยุโรป กำหนดให้ธุรกิจขนาดใหญ่ในสหภาพยุโรปตรวจสอบและรายงานความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดห่วงโซ่อุปทาน เช่น การควบคุมการปล่อยมลพิษ และการคุ้มครองแรงงานและสิทธิมนุษยชน กฏหมายดังกล่าวจะทยอยบังคับใช้ตั้งแต่ 25 กรกฎาคม 2567 (ระยะเปลี่ยนผ่าน) ก่อนบังคับใช้จริงทุกประเทศในสหภาพยุโรปตั้งแต่ 26 กรกฎาคม 2570 เป็นต้นไป คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการไทยที่อาจอยู่ในขอบข่ายของห่วงโซ่อุปทานจากการเข้าไปลงทุนหรือดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัทในยุโรป

    • ไทยเตรียมออก (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี) ซึ่งกำหนดให้ภาคธุรกิจต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งเป้าหมายการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงผลักดันตลาดคาร์บอนในประเทศ อาทิ ภาษีคาร์บอน ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) และตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานทุกภาคส่วนควบคุมการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจังตามเป้าหมาย Net Zero ที่กำหนดไว้ในปี 2608 โดยมี “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” (ชื่อเดิม คือ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลกฎหมายดังกล่าว

    • ไทยเตรียมเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) โดยคาดว่าจะเริ่มจากสินค้าน้ำมันในอัตรา 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งในระยะแรกจะจัดเก็บจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันจึงไม่กระทบต่อต้นทุนภาษีของผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น ภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซลในอัตรา 6.44 บาทต่อลิตร จะแยกออกมาเป็นภาษีคาร์บอนในอัตรา 0.46 บาทต่อลิตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะเริ่มจัดเก็บภาษีได้ภายในปีงบประมาณ 2568

    • ภาครัฐเตรียมออกกฏหมายห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและราคาพลาสติกในประเทศ โดยมีผลบังคับใช้กับสินค้าตามพิกัดศุลกากรประเภท 39.15 (เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นพลาสติก) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

    • ธปท. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนพัฒนามาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) โดยมีการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ในภาคพลังงานและภาคขนส่ง ขณะที่ระยะที่ 2 จะจัดทำครอบคลุมภาคส่วนอื่นๆ อาทิ ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การจัดการของเสีย การก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ (คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2568) เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถวางแผนและปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืน ขณะที่ภาคการเงินสามารถใช้เป็นแนวทางในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) เช่น ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green bonds) และสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green loans) เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ

    • ก.ล.ต. ปรับเงื่อนไขการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) สำหรับการลงทุนในช่วง 1 มกราคม 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2569 โดย (1) ปรับเพิ่มวงเงินซื้อกองทุนได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท (ไม่รวมกับกองทุนการออมอื่นๆ) และใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน) (2) ปรับลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปีนับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุน และ (3) กำหนดให้กองทุน Thai ESG ต้องลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งประเมินโดยสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ และต้องเปิดเผยข้อมูลด้านก๊าซเรือนกระจกและด้านบรรษัทภิบาลตามที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มธุรกิจและนักลงทุนในไทยเข้าสู่แนวคิดยั่งยืนตามหลัก ESG มากขึ้น

  • ธุรกิจบริการ

    • โรงแรม

      • กระทรวงมหาดไทยยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจโรงแรมในช่วง 1 กรกฎาคม 2567 ถึง 30 มิถุนายน 2569 เพื่อลดค่าใช้จ่ายของโรงแรมหลังภาคท่องเที่ยวยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ส่งผลเชิงบวกต่อการฟื้นตัวโดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กในพื้นที่ที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

    • การก่อสร้าง

      • ภาครัฐออกมาตรการควบคุมคุณภาพเหล็กนำเข้า โดยกำหนดให้สินค้าเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยวิธีจุ่มร้อน และเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยวิธีจุ่มร้อน ต้องมีมาตรฐานตามที่กำหนด (คาดมีผลบังคับใช้ภายในปี 2568) ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าเหล็กประเภทดังกล่าวมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น

      • มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ฉบับ 107-2566 (มีผล 2 พฤศจิกายน 2567) มีการปรับปรุงมาตรฐาน “ท่อเหล็กกล้าคาร์บอนที่ใช้ในงานโครงสร้างทั่วไป” โดยไม่จำกัดขนาดขั้นต่ำของท่อเหล็ก (ทั้งขนาดรอบวงและความหนา) เพื่อยกระดับคุณภาพของท่อเหล็กทุกขนาดให้ได้มาตรฐาน ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้สินค้าคุณภาพต่ำที่ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานสินค้ากำกับเข้าสู่ตลาดได้ง่าย ทั้งยังเพิ่มโอกาสแก่ผู้รับเหมาก่อสร้างที่รับงานภาครัฐในการเลือกใช้ท่อเหล็กได้ทุกขนาดเนื่องจากมีมาตรฐานรองรับ

    • แรงงาน

      • ครม.ออกมาตรการภาษีเพื่อจูงใจแรงงานไทยที่มีศักยภาพในต่างประเทศกลับมาทำงานในประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ต้องกลับประเทศไทยตั้งแต่วันที่กฏหมายบังคับใช้ถึง 31 ธันวาคม 2568) โดยลูกจ้างที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่า 17% ให้ลดเหลือ 17% ของเงินได้พึงประเมิน ส่วนนายจ้างสามารถหักรายจ่าย (เงินเดือน) ได้จำนวน 1.5 เท่า (มีผลตั้งแต่วันที่กฏหมายบังคับใช้ถึง 31 ธันวาคม 2568)

  • ภาคการเงิน

    • ธปท. จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ในช่วงกลางปี 2568 และคาดว่าผู้ให้บริการรายแรกจะเริ่มดำเนินการในช่วงกลางปี 2569

      • ผู้ยื่นคำขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับผู้สมัครตั้งแต่ 20 มีนาคม ถึง 19 กันยายน 2567 มีทั้งสิ้น 5 ราย ได้แก่ (1) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร ได้แก่ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) และ GULF (2) บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัท Sea Group จากสิงคโปร์ เครือสหพัฒน์ฯ และไปรษณีย์ไทย (3) เอสซีบี เอ็กซ์ (SCBX) ร่วมกับ KakaoBank จากเกาหลีใต้ และ WeBank จากจีน (4) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) โดยบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด (ผู้ให้บริการ TrueMoney) ร่วมกับ Ant Financial Services Group ในเครือ Alibaba และ (5) ฟินเทคสัญชาติไทย Lightnet Group ร่วมกับ WeLab จากฮ่องกง

      • หลักเกณฑ์การกำกับดูแลครอบคลุมประเด็นสำคัญ ดังนี้ (1)  ห้ามสถาบันการเงินแห่งอื่นแม้เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเดียวกัน ให้สินเชื่อหรือทำธุรกรรมคล้ายสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (2) หากสถาบันการเงินแห่งอื่นถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา และมีการเพิ่มเงินกองทุนเกินกว่าการลงทุนจริง ธปท. อาจสั่งให้ปรับระดับเงินกองทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ธนาคารเผชิญ (3) ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาต้องไม่ใช้ชื่อ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสถาบันการเงินแห่งอื่น (4) กรรมการอย่างน้อย 1 คน และผู้บริหารด้านเทคโนโลยีของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาต้องมีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างน้อย 3 ปี (5) การทำธุรกรรมกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ซึ่งอาจเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องได้รับมติเอกฉันท์จากคณะกรรมการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา และรายงานทุก 6 เดือน (6) ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาต้องให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเท่านั้น ยกเว้นกรณีจำเป็น เช่น ระบบ ATM POOL (7) ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาต้องให้บริการได้ต่อเนื่อง โดยหยุดชะงักไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี และกลับมาให้บริการภายใน 2 ชั่วโมงเมื่อเกิดปัญหา

    • ธปท. ยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน (บัญชีม้า) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ดังนี้

      • กลุ่มที่ 1 ยกระดับการจัดการบัญชีม้า (Mule Account) โดยปรับจากการดำเนินการระดับบัญชีเป็นระดับบุคคล ทำให้สามารถจัดการบัญชีต้องสงสัยได้รวดเร็วขึ้น ทั้งบัญชีที่มีอยู่เดิมและการเปิดบัญชีใหม่ ซึ่งธนาคารจะใช้ข้อมูลสำหรับจัดการบัญชีม้าในระบบจาก 3 แหล่ง ได้แก่ (1) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือ “ม้าดำ” ซึ่งเป็นข้อมูลรายชื่อผู้มีความเสี่ยงสูงจากประกาศของ ปปง. (2) ระบบข้อมูล Central Fraud Registry (CFR) หรือ “ม้าเทา” ซึ่งเป็นรายชื่อผู้ที่ถูกแจ้งความหรือเกี่ยวข้องในเส้นทางเงินทุจริตในทุกธนาคาร โดยทุกธนาคารสามารถเห็นข้อมูลข้ามธนาคารได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567  และ (3) ข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง หรือ “ม้าน้ำตาล” ซึ่งเป็นข้อมูลบัญชีที่แต่ละธนาคารตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัย โดยทุกธนาคารจะจัดการบัญชีม้าโดยใช้มาตรฐานเดียวกัน เช่น ระงับการใช้บัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทันที รวมถึงพิสูจน์ข้อเท็จจริง

      • กลุ่มที่ 2  เพิ่มผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้งาน  โดยธนาคารต้องช่วยให้ลูกค้าใช้บริการดิจิทัลได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น อันได้แก่ การล็อควงเงินธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ โดยให้การปลดล็อควงเงินดังกล่าวทำได้ยากขึ้น และ/หรือการปรับลดวงเงินต่อครั้งในการสแกนใบหน้าการทำธุรกรรมบน mobile banking ต่ำกว่า 50,000 บาท การโอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ (Double authorization) หรือการโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยทั้งหมดจะถูกพัฒนาให้เสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2567

    • ธปท. ร่วมกับกระทรวงการคลัง สมาคมธนาคารไทย หน่วยงานภาครัฐ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ออกมาตรการชั่วคราวภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” (ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568) เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย รวมทั้ง SMEs เฉพาะกลุ่ม ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่

      • มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก โดยเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน ให้ปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ 

      • มาตรการ “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสียสถานะ NPL แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่เกิน 5,000 บาท โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน เพื่อให้สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก “หนี้เสีย” เป็น “ปิดจบหนี้” และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น

  • นิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่

    • ครม. อนุมัติพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ.2567ในอัตราขั้นต่ำ 15% โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับแก่นิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises (MNEs)) ขนาดใหญ่ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโรในอย่างน้อย 2 รอบระยะเวลาบัญชีในช่วง 4 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนหน้า สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การเสียภาษีขั้นต่ำทั่วโลก (Global minimum tax framework) เพื่อเลี่ยงการแข่งขันกันลดภาษีของประเทศต่างๆ ในการดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน

​วิจัยกรุงศรีประเมินว่าปัจจัยแวดล้อมด้านเศรษฐกิจมหภาคและภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้น จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่ต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลก รวมถึงกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อวางรากฐานและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืนในระยะยาว


1/ ปัจจุบันไทยมี FTA 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน (AFTA) อาเซียน-จีน (ACFTA) ไทย-อินเดีย (TIFTA) อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) อาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) อาเซียน-เกาหลี (AKFTA) ไทย-เปรู (TPCEP) ไทย-ชิลี (TCFTA) ไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) อาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) ไทย-ศรีลังกา (TSLKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
2/ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) มีสมาชิก 15 ประเทศ ดังนี้  บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย เมียนมา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
3/ EFTA (European Free Trade Area) คือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป มีสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์และลิกเตนสไตน์
4/ BRICS ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้
5/ USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) คือ ข้อตกลงการค้าแถบอเมริกาเหนือ (เดิมคือ NAFTA) มีสมาชิก 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และแคนาดา
6/ BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) คือ กรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย 7 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา ศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย ภูฏาน และเนปาล


 

อุตสาหกรรมเกษตร

ข้าว


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิตข้าวเปลือกหดตัว -5.2% YoY โดยมีแรงฉุดจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ทำให้ปริมาณฝนลดลง และฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำจนต้องปล่อยพื้นที่ว่างไว้ อัตราผลผลิตต่อไร่ (Yield) จึงต่ำลงโดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนเสียหายจากภาวะน้ำท่วมในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ทำให้คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกทั้งปี 2567 จะหดตัว -4.0% ถึง -5.0% อยู่ที่ระดับ 31.9-32.3 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 20.8-21.0 ล้านตันข้าวสาร

  • ปริมาณส่งออกช่วง 9 เดือนแรกขยายตัว 22.0% อยู่ที่ 7.5 ล้านตันข้าวสาร อานิสงส์จาก (1) ความต้องการจากต่างประเทศต่อข้าวไทยที่สูงขึ้น เพื่อทดแทนอุปทานจากอินเดียที่ยังคงระงับการส่งออกและขึ้นอัตราภาษีการส่งออกข้าว และ (2) ความต้องการสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความเสี่ยงด้านผลผลิตจากภาวะภัยแล้งช่วงครึ่งแรกของปี และสต๊อกข้าวของโลกที่ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันรับซื้อข้าวเพื่อส่งมอบให้ประเทศคู่ค้า หนุนให้ราคาข้าวไทยในปี 2567 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น (+14.8% YoY) อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าปริมาณส่งออกข้าวของไทยอาจกลับมาหดตัวได้ หลังจากอินเดียเริ่มกลับมาส่งออกข้าว เนื่องจากความกังวลด้านอุปทานข้าวตึงตัวเริ่มผ่อนคลายลง ทำให้ปริมาณส่งออกทั้งปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 8.5-9.5% อยู่ที่ 9.5-9.6 ล้านตันข้าวสาร

  • การบริโภคข้าวในประเทศปี 2567 คาดว่าจะหดตัว -5.0% ถึง -6.0% อยู่ที่ระดับ 12.5-12.7 ล้านตันข้าวสาร จากความต้องการในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องและอาหารสัตว์ที่คาดว่าจะหดตัว -33.5% ถึง -36.5% อยู่ที่ระดับ 1.5-1.6 ล้านตันข้าวสาร ในภาวะที่ต้นทุนราคาวัตถุดิบข้าวเพิ่มขึ้นสูง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้เพื่อบริโภคคาดว่าจะขยายตัว 0.5-1.5% อยู่ที่ระดับ 11.0-11.1 ล้านตันข้าวสาร ตามการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการจากกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  •  ปี 2568-2569 ผลผลิตมีทิศทางขยายตัว 5.5-6.5% อยู่ที่ระดับ 35.8-36.5 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี หรือประมาณ 23.2-23.7 ล้านตันข้าวสาร ปัจจัยบวกจาก (1) ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ที่จะมีผลในช่วงปี 2568 คาดว่าจะทำให้สภาพอากาศ ปริมาณฝน และน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับสูงเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น (2) ราคาที่เกษตรกรได้รับในปี 2567 ยังจูงใจให้เกษตรกรหันกลับมาเพาะปลูก และ (3) แรงหนุนจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐด้านราคา ขณะที่ผลผลิตข้าวปี 2570 คาดว่าอยู่ที่ 33.8-34.2 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 22.0-22.2 ล้านตันข้าวสาร ลดลง -5.0% ถึง -6.0% สาเหตุหลักจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะกลับมาส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรในปี 2570 นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตที่ทรงตัวสูง ทำให้เกษตรกรบางส่วนลดการใช้ปุ๋ยซึ่งอาจทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงและผลผลิตโดยรวมขยายตัวได้จำกัด

  • การส่งออกข้าวคาดอยู่ที่ 7.8-8.1 ล้านตันข้าวสารต่อปี หรือหดตัวเฉลี่ย -5.5% ถึง -6.5% ต่อปี จากการเข้าสู่ภาวะลานีญา ซึ่งเอื้อต่อการเพาะปลูกทำให้ผลผลิตของประเทศคู่แข่งหลักๆ ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และปากีสถานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และกลับมาได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะอินเดียที่กลับมาส่งออกตามปกติ

  • การบริโภคข้าวในประเทศคาดอยู่ที่ระดับ 14.1-14.5 ล้านตันข้าวสารต่อปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก (1) จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น หนุนความต้องการจากธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม (2) อุปสงค์จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่จะมีความต้องการข้าวเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปอาหารมากขึ้น และ (3) การทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์เพื่อการบริโภคจากกำลังซื้อที่จะเริ่มกระเตื้องขึ้นตามทิศทางการจ้างงานในภาคธุรกิจต่างๆ


 

ยางพารา

 

สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิตยางธรรมชาติลดลง -0.6% YoY สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางที่ลดลง ได้แก่ ยางแผ่น (-13.4% YoY) ยางแท่ง (-2.1% YoY) น้ำยางข้น (-3.4% YoY) และยางผสม (-26.6% YoY) ผลจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและปริมาณฝนที่ลดลงในช่วงเข้าสู่ภาวะเอลนีโญและปัญหาโรคใบร่วงยางพารา ขณะที่กำลังซื้อจากประเทศคู่ค้าชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบของประเทศคู่ค้าหดตัว โดยปริมาณส่งออกลดลง -6.6% YoY อยู่ที่ 3.2 ล้านตัน โดยหดตัวเกือบทุกผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ยางแผ่นอยู่ที่ 0.3 ล้านตัน (-7.3% YoY) น้ำยางข้นอยู่ที่ 0.5 ล้านตัน (-13.8% YoY) ยางผสมอยู่ที่ 0.9 ล้านตัน (-31.0% YoY) สวนทางกับยางแท่งซึ่งอยู่ที่ 1.4 ล้านตัน (+25.1% YoY) และยางคอมพาวด์อยู่ที่ 8.5 หมื่นตัน (+2.2% YoY) แรงหนุนจากความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของจีนที่ขยายตัวสูง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตยางโลกที่หดตัวในอัตราสูงกว่าความต้องการ ทำให้ราคายางส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 23.8% YoY หนุนให้มูลค่าส่งออกขยายตัว 15.6% YoY อยู่ที่ 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • จากปัจจัยข้างต้นทำให้คาดว่าปี 2567 ปริมาณการผลิตยางพาราขั้นกลางจะอยู่ที่ 4.9-5.0 ล้านตัน หดตัวที่ -3.5% ถึง -4.5% จากภาวะเอลนีโญและโรคใบร่วงยางพารา เช่นเดียวกับปริมาณการบริโภคในประเทศคาดว่าจะหดตัว -3.0% ถึง -6.0% ตามการหดตัวของภาคการผลิตยานยนต์ และภาคก่อสร้าง ส่วนปริมาณส่งออกจะหดตัว -6.0% ถึง -7.0% อยู่ที่ 4.1-4.2 ล้านตัน จากผลิตภัณฑ์ยางผสม น้ำยางข้น และยางแผ่น ตามการหดตัวของภาคการผลิตในตลาดจีน ส่วนราคาส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 23.5-24.5% ตามอุปทานทั้งไทยและโลกที่ลดลง ประกอบกับต้นทุนพลังงานยังสูงตามราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้มูลค่าส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว 16.0-17.0% อยู่ที่ 7.1-7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ผลผลิตยางพารามีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก (1) ต้นยางพาราที่ปลูกช่วงก่อนหน้าเข้าสู่ช่วงอายุที่ให้ผลผลิตน้ำยางต่อไร่สูง (2) สภาพอากาศและปริมาณฝนที่เอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ (3) ระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจูงใจให้เกษตรกรกรีดยางและบำรุงรักษาต้นยางเพื่อเพิ่มผลผลิต

  • อุปสงค์โดยรวมคาดว่าจะขยายตัว โดยปริมาณการบริโภคในประเทศมีแนวโน้มเติบโต 2.5-3.5% ต่อปี แรงหนุนจาก (1) ความต้องการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะยานยนต์และชิ้นส่วน (2) ความต้องการในภาคก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนที่น่าจะฟื้นตัว และ (3) มาตรการภาครัฐในการดูดซับผลผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ปริมาณส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% ต่อปี แรงหนุนจาก (1) กำลังซื้อที่คาดว่าจะฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า (2) ความต้องการวัตถุดิบของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของประเทศคู่ค้าที่กลับมาฟื้นตัวโดยเฉพาะยานยนต์ ยางรถยนต์ และชิ้นส่วน และ (3) การสต็อกวัตถุดิบยางพาราเพื่อรองรับภาคการผลิตที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ แนวโน้มปริมาณส่งออกจำแนกรายผลิตภัณฑ์เป็นดังนี้  

    • ยางแผ่นรมควัน: คาดขยายตัวต่ำ 2.5-3.5% ต่อปี แม้ยางแผ่นของไทยจะมีมาตรฐานสูง แต่เริ่มเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) มากขึ้น

    • ยางแท่ง: คาดเติบโต 2.0-3.0% ต่อปี ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ยานยนต์ (โดยเฉพาะรถไฟฟ้า) ยางรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์

    • น้ำยางข้น: คาดขยายตัวเล็กน้อย 1.0-2.0% ต่อปี จากอุปสงค์ถุงมือยาง และผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ที่มีอยู่ แม้จะชะลอลงหลัง COVID-19 คลี่คลาย

    • ยางคอมพาวด์: คาดเติบโตต่ำ 0.5-1.5% ต่อปี ทยอยฟื้นตัวตามภาคการผลิตของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ อินเดีย สหรัฐฯ จีน และยุโรป

    • ยางผสม: คาดเติบโต 3.5-4.5% ต่อปี โดยขยายตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์ ยางล้อ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นหลัก ทั้งนี้ยางผสมสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายอุตสาหกรรม ซึ่งเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นผู้นำเข้าหลัก

มันสำปะหลัง

 

สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิตหัวมันสดหดตัว -11.2% YoY โดยมีแรงฉุดจาก (1) ผลกระทบของภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (2) ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังที่ส่งผลให้ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ลดลง และ (3) เกษตรกรขาดแคลนท่อนพันธุ์เพาะปลูกจากภัยธรรมชาติ โรคและแมลงระบาด ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอุปทาน (Supply shortage) และมีผลต่อปริมาณการส่งออกบางผลิตภัณฑ์  

    • ปริมาณส่งออกมันเส้นหดตัว -58.4% YoY เนื่องจาก (1) จีนหันไปใช้ข้าวโพด GMO เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และเอทานอลจากถ่านหินเพื่อใช้ในภาคพลังงานซึ่งมีอุปทานเพียงพอ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้ามันเส้น (2) ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบของไทยทำให้การส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดหลักหดตัว นอกจากนี้ การที่เกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงอุปทานตึงตัวจากภัยแล้ง ทำให้คุณภาพและเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งต่ำ ส่งผลให้ราคาส่งออกปรับลดลง -9.0% YoY โดยมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 409.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (-62.1% YoY)

    • ปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังขยายตัว 14.5% YoY โดยจีนซึ่งเป็นตลาดหลักยังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้น 7.7% YoY เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ ขณะที่อินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดรองขยายตัวกว่า 336.5% YoY โดยเร่งนำเข้าเพื่อทดแทนผลผลิตที่ลดลงทั้งจากภัยแล้งและโรคใบด่างฯ ส่งผลให้ระดับราคาส่งออกผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9.9% YoY

  • ในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าความต้องการจากตลาดทั้งในและต่างประเทศจะยังคงสูงเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อาหาร เอทานอล อุตสาหกรรม แต่การลดลงของพื้นที่เพาะปลูกจากการขาดแคลนท่อนพันธุ์ โรคระบาดใบด่างฯ และความเสียหายจากภัยแล้ง ทำให้คาดว่าปี 2567 ผลผลิตหัวมันสดจะอยู่ที่ 26.8-27.1 ล้านตัน หดตัว -11.5% ถึง -12.5% จากที่หดตัว -10.1% ในปี 2566 ด้านอุปสงค์คาดว่าปริมาณการจำหน่ายในประเทศจะขยายตัวที่ 3.5-4.5% แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่กระเตื้องขึ้นตามการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ประกอบกับความต้องการพลังงานเอทานอลที่ฟื้นตัวตามการเดินทางภายในประเทศ ส่วนปริมาณการส่งออกทั้งปีคาดว่าการส่งออกมันเส้นจะหดตัว -48.0% ถึง -50.0% และมันอัดเม็ด -66.5% ถึง -68.5% ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประเภทแป้งยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยแป้งมันสำปะหลังดิบขยายตัว 18.0-20.0% และแป้งมันสำปะหลังดัดแปรเติบโต 2.5-4.5%


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ผลผลิตหัวมันสดคาดว่าจะขยายตัว 5.0-7.0% ต่อปี ในช่วงปี 2568-2569 แรงหนุนจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยจากปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) อย่างไรก็ตาม ในปี 2570 คาดว่าผลผลิตจะหดตัว -2.5% ถึง -4.5% จากสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะกลับมา ประกอบกับปัญหาของโรคใบด่างมันสำปะหลังที่ยังมีต่อเนื่อง

  • ตลาดในประเทศคาดว่าปริมาณความต้องการจะขยายตัว 3.0-5.0% ต่อปี แรงหนุนจาก (1) อุตสาหกรรมอาหารที่คาดว่าจะขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และ (2) ความต้องการเชื้อเพลิงเอทานอลที่เพิ่มขึ้นตามการขนส่งในภาคท่องเที่ยวและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีปัจจัยกดดันจากเป้าหมายในการปรับลดสัดส่วนการใช้เอทานอลในภาคขนส่ง (จาก E20 เป็น E10) เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาอุปทานขาดแคลนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

  • ปริมาณส่งออกคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปี แรงหนุนจากอุปสงค์ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของจีน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากภาวะผันผวนด้านผลผลิตและราคาวัตถุดิบมันสำปะหลัง อาจส่งผลให้จีนยังคงหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นทดแทนบางส่วน ทำให้คาดว่าปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันเส้นจะอยู่ที่ 2.9-3.1 ล้านตัน ขยายตัว 8.5-10.5% ต่อปี มันสำปะหลังอัดเม็ดจะอยู่ที่ 4.2-4.4 หมื่นตัน ขยายตัว 10.5-12.5% ต่อปี แป้งมันสำปะหลังดิบจะอยู่ที่ 3.6-3.8 ล้านตัน ขยายตัว 1.5-3.5% ต่อปี และแป้งมันสำปะหลังดัดแปรจะอยู่ที่ 1.1-1.2 ล้านตัน ขยายตัว 2.0-4.0% ต่อปี

 

น้ำตาลและกากน้ำตาล


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปี 2566/67 หดตัว -12.5% อยู่ที่ 82.2 ล้านตันอ้อย นำไปผลิตน้ำตาลได้ 8.8 ล้านตัน ลดลง -20.4% แรงฉุดจาก (1) สภาพอากาศที่ร้อนจากผลกระทบของภาวะเอลนีโญทำให้ผลผลิตเสียหาย หรือมีผลผลิตต่อไร่ (Yield) ลดลง (2) พื้นที่ปลูกอ้อยลดลงจากเกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกมันสำปะหลังซึ่งทนต่อภาวะภัยแล้ง ราคาดี และเก็บเกี่ยวง่าย (3) ต้นทุนการเพาะปลูกโดยเฉพาะราคาปุ๋ยและพลังงานที่ยังทรงตัวสูง ทำให้เกษตรกรลดการบำรุงพืช ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง และ (4) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างที่สูง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกร โดยเฉพาะต้นทุนในการเก็บเกี่ยวอ้อยสด

  • ปริมาณส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลในช่วง 9 เดือนแรกหดตัว -40.4% YoY อยู่ที่ 3.6 ล้านตัน แบ่งเป็นน้ำตาลทรายดิบ 1.7 ล้านตัน (-53.1% YoY) น้ำตาลทรายขาว 1.8 ล้านตัน (-22.2% YoY) และกากน้ำตาล 1.2 แสนตัน (-10.0% YoY) แรงฉุดจาก (1) ปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ผลผลิตเสียหายส่งผลให้ผู้ประกอบการขาดแคลนวัตถุดิบ (Supply shortage) ในการผลิตเพื่อส่งมอบให้กับประเทศคู่ค้า และ (2) อุปทานโลกเข้าสู่ตลาดมากขึ้นโดยเฉพาะบราซิลที่ได้แรงหนุนจากภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย

  • ปี 2567 ปริมาณส่งออกน้ำตาล/กากน้ำตาล คาดว่าจะหดตัว -33.5% ถึง -34.5% จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอ้อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ ประกอบกับการสำรองเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น แม้จะได้แรงหนุนจากผลผลิตที่เริ่มเข้าสู่ฤดูเปิดหีบช่วงปลายปี ด้านความต้องการในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 3.49-3.52 ล้านตัน ขยายตัว 3.5-4.5% ตามการเริ่มฟื้นตัวของการบริโภคในภาคครัวเรือน และการเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ผลผลิตอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในฤดูกาลผลิตปี 2568-2569 โดยคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 111-113 ล้านตันอ้อยต่อปี คิดเป็นปริมาณการผลิตน้ำตาล 10.7-10.9 ล้านตันน้ำตาลต่อปี ขยายตัว 10.0-11.0% ต่อปี แรงหนุนจาก (1) การเข้าสู่ภาวะลานีญาทำให้สภาพอากาศเอื้ออำนวยและปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น (2) ระดับราคาที่สูงขึ้นในช่วงก่อนหน้า จูงใจให้เกษตรกรหันกลับมาขยายการเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ในฤดูกาลผลิตปี 2569/70 คาดว่าผลผลิตอ้อยมีแนวโน้มหดตัว ผลกระทบจากการกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ จึงคาดว่า ปริมาณอ้อยเข้าหีบจะอยู่ที่ 97-99 ล้านตัน นำไปผลิตน้ำตาลได้ราว 9.4-9.5 ล้านตัน ลดลงเฉลี่ย -12.5% ถึง -13.5%

  • ปริมาณส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลคาดว่าจะกลับมาอยู่ที่ 7.0-7.3 ล้านตันต่อปี ขยายตัวเฉลี่ย 16.0-18.0% ต่อปี แรงหนุนจาก (1) ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบที่คลี่คลายลงในช่วงปี 2568-2569 เอื้อต่อการผลิตเพื่อส่งมอบให้ประเทศคู่ค้าได้เพิ่มขึ้น (2) อินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่มีแนวโน้มลดการส่งออกน้ำตาลจากการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลตามนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการใช้เอทานอลมากขึ้น (3) ความต้องการจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในประเทศคู่ค้าทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ  และ (4) การเปรียบเทียบกับฐานปริมาณส่งออกในระดับต่ำช่วงปี 2567

  • การบริโภคในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 3.6-4.0 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้น 3.5-4.5% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก (1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว (2) ความต้องการจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และ (3) มาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการนำเอทานอลไปใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ รวมทั้งความต้องการเอทานอลเพิ่มขึ้นจากภาคขนส่ง หนุนความต้องการใช้น้ำตาลและกากน้ำตาลเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากมาตรการภาษีความหวานอาจยังเป็นข้อจำกัดการเติบโตของยอดขายในประเทศ




 

ปาล์มน้ำมัน


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วง 9 เดือนแรก ผลปาล์มที่ใช้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 15.8 ล้านตัน (+11.7% YoY) ตามการเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตจาก (1) ความกังวลด้านผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) และ (2) มาตรการกำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำที่จูงใจของภาครัฐ1/ อย่างไรก็ตาม เปอร์เซนต์ของน้ำมันที่สกัดได้จากผลปาล์มลดลงจากผลของภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) เพิ่มเพียง 2.8 ล้านตัน (+7.0% YoY) ส่วนความต้องการใช้ CPO ในประเทศเพิ่มขึ้น 5.5% YoY อยู่ที่ 2.0 ล้านตัน แบ่งเป็น (1) การใช้เพื่อผลิตเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ อยู่ที่ 1.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.3% YoY ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และสถานบันเทิง และ (2) การใช้เพื่อผลิตไบโอดีเซล อยู่ที่ 0.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.3% YoY ตามการใช้พลังงานในภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้น ด้านปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มเป็น 8.1 แสนตัน (+14.1% YoY) ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ อินเดีย (+16.8% YoY)  จีน (+421.5% YoY) และมาเลเซีย (+32.7% YoY)

  • ในช่วงที่เหลือของปี แม้ปัจจัยหนุนยังคงอยู่ แต่ผลกระทบของโรคลำต้นเน่าที่เริ่มระบาดรุนแรงขึ้น ทำให้คาดว่าผลผลิตปาล์มสดที่ใช้ผลิต CPO ทั้งปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 19.3-19.5 ล้านตัน (ขยายตัว 6.0-7.0%) ผลิต CPO ได้ราว 3.4-3.5 ล้านตัน (ขยายตัว 2.0-5.0%) ส่วนปริมาณความต้องการ CPO ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัว 4.5-5.5% ตามความต้องการในอุตสาหกรรมอาหาร โอเลโอเคมิคอล และธุรกิจขนส่งที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ด้านปริมาณส่งออก CPO คาดว่าหดตัว -0.5% ถึง -1.5% จากนโยบายของภาครัฐในการขอความร่วมมือผู้ประกอบการงดส่งออก CPO ใน Q4/67 เพื่อสำรองน้ำมันปาล์มไว้ใช้ในประเทศและควบคุมราคาในช่วงที่ผลปาล์มน้อยลงจากโรคระบาด ส่งผลให้สต็อก CPO ณ สิ้นปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.0-2.1 แสนตัน ใกล้เคียงระดับต่ำสุดของเกณฑ์ที่เหมาะสม 2.0-2.5 แสนตัน ประกอบกับอินโดนีเซียปรับขึ้นค่าธรรมเนียมส่งออก CPO ผลักดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันโลกสูงขึ้น ทำให้ทิศทางราคาของไทยสูงขึ้นตาม คาดว่าโดยเฉลี่ยทั้งปี ราคาผลปาล์มสด ราคา CPO ในประเทศ และราคาส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม จะเพิ่มขึ้นราว 12.0-15.0%


 

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ผลผลิตปาล์มสดและ CPO มีแนวโน้มขยายตัว 1.5-3.5% ต่อปี ผลจากการเข้าสู่ภาวะลานีญาช่วยให้ผลผลิตต่อไร่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาที่ทรงตัวสูงจากมาตรการภาครัฐจูงใจให้เกษตรกรเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของภาวะเอลนีโญที่คาดว่าจะกลับมาในปี 2570 ทำให้ผลผลิตต่อไร่มีทิศทางลดลง ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ CPO ในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.5-4.5% ต่อปี จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล และภาคขนส่ง ที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ ปริมาณการส่งออกคาดว่าจะหดตัว -0.5% ถึง -2.5% ต่อปี จากมาตรการภาครัฐที่คาดว่าจะยังคงจำกัดการส่งออกเพื่อให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศที่กำลังเพิ่มขึ้น

    • เกษตรกร คาดว่ารายได้มีแนวโน้มดีขึ้น ตามอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัว และแรงจูงใจด้านราคาจากมาตรการของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังมีปัจจัยเสี่ยงจากโรคระบาดที่ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง และต้นทุนราคาปุ๋ยที่ยังทรงตัวสูง

    • โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ คาดว่าผลประกอบการมีแนวโน้มทยอยเติบโต ตามแรงหนุนของตลาดในประเทศที่ฟื้นตัว การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว และการขยายตัวของภาคขนส่งเชิงพาณิชย์ ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซลของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม อัตรากำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังสูง รวมถึงการแข่งขันแย่งชิงวัตถุดิบอาจผลักดันให้ต้นทุนการผลิตของน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้น


 

1/ อาทิ พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กำหนดให้ผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อปาล์มน้ำมันในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4.5 บาท และกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 รับซื้อผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมัน และอนุพันธ์น้ำมันปาล์ม ตามราคาที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานประกาศ
 

ไก่แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรกของปี ดัชนีการผลิตไก่เนื้อขยายตัว +1.1% YoY โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการผลิตเพื่อการส่งออก ขณะที่ราคาไก่หน้าฟาร์มแม้ว่าลดลง -9.1% YoY แต่ยังทรงตัวสูงเมื่อเทียบกับเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา จูงใจให้เกษตรกรยังคงเพิ่มปริมาณการเลี้ยงไก่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายภายในประเทศหดตัว -2.4% YoY เนื่องจากผู้บริโภคหันไปบริโภคสินค้าทดแทนอื่นๆ ที่ราคาถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ อาทิ สุกร ที่ราคาเฉลี่ยลดลง -16.9% YoY จากการคลี่คลายของโรค ASF และโคเนื้อที่ราคาลดลง -10.0% YoY ด้านปริมาณการส่งออกเติบโต 5.4% YoY ปัจจัยหนุนจาก (1) อุปสงค์ของประเทศคู่ค้าหลักทยอยฟื้นตัว (2) การเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  แอฟริกาใต้ และฟิลิปปินส์ (3) บราซิลเผชิญการระบาดของไข้หวัดนกทำให้ต้องจำกัดการส่งออกไก่บางส่วนไปจีน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกเพิ่มขึ้น (4) ต้นทุนพลังงานและค่าแรงที่สูงขึ้นในยุโรปและเกาหลีทำให้โรงเลี้ยงไก่หลายแห่งปิดตัวลง ส่งผลให้ไก่ไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงต้องนำเข้าเนื้อไก่ดิบและแปรรูปมากขึ้น และ (5) ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นในตลาดโลก โดยปริมาณส่งออกไก่แปรรูปซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักของไทย ขยายตัว 13.7% YoY

  • ในช่วงที่เหลือของปี ภาพรวมการผลิตและส่งออกยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนข้างต้น ทำให้คาดว่า ปริมาณการส่งออกจะขยายตัวในช่วง 6.0-7.0% ซึ่งจะช่วยหนุนการผลิตไก่เนื้อในประเทศให้ขยายตัวได้ประมาณ 1.0-2.0% แม้การบริโภคภายในประเทศน่าจะยังคงหดตัว -1.0% ถึง -2.0%


 

แนวโน้มปี 2568-2570

 

  • ปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ไก่โดยรวมมีทิศทางขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี อยู่ที่ 3.3-3.5 ล้านตันต่อปี รองรับความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยปริมาณจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) การฟื้นตัวของกิจกรรมในภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวที่สนับสนุนธุรกิจร้านอาหาร (2) แนวโน้มที่ผู้บริโภคยังคงมองหาผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนสูงและไขมันต่ำโดยมีราคาเข้าถึงได้ในภาวะที่กำลังซื้อเริ่มทยอยฟื้นตัว และ (3) ต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับลดลงและปริมาณผลผลิตไก่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เอื้อให้ราคาผลิตภัณฑ์ไก่มีทิศทางปรับตัวลงตาม สำหรับปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่คาดว่าจะเติบโตที่ 4.0-5.0% ต่อปี  ตาม (1) ความร่วมมือทางการค้าของไทยกับประเทศในตะวันออกกลางและประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยขยายช่องทางตลาดส่งออก (2) ผู้บริโภคในตลาดคู่ค้ายังคงเลือกโปรตีนที่ไขมันต่ำสนองกระแสรักสุขภาพ โดยมีราคาเข้าถึงได้ง่ายในช่วงที่เศรษฐกิจยังทยอยฟื้นตัว

  • ปัจจัยเสี่ยงที่อาจยังส่งผลกดดันแนวโน้มทางธุรกิจ ได้แก่ (1) แนวโน้มการระบาดของไข้หวัดนกในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั้งในประเทศคู่ค้าและคู่แข่งมีทิศทางคลี่คลายจากการพัฒนาวัคซีนและการเลี้ยงในระบบปิด ส่งผลให้ประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มลดการนำเข้าหรือหันไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่ง (2) ผู้บริโภคมีทางเลือกเนื้อสัตว์ประเภทอื่นมากขึ้น อาทิ เนื้อสุกรที่ราคามีทิศทางลดลงตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสุกรจากโรคระบาด ASF ที่ทยอยคลี่คลาย ราคาเนื้อวัวที่มีแนวโน้มลดลงจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลงทางการค้า AANZFTA (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) และ (3) การกีดกันจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non Tariff Barrier: NTB) โดยเฉพาะมาตรการด้านสวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และธรรมมาภิบาล (ESG)

ปลากระป๋อง

 

สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตขยายตัว +12.9% YoY จำแนกเป็นปลาทูน่ากระป๋อง +18.2% YoY  ซึ่งขยายตัวตามการส่งออกและต้นทุนที่ลดลง ในขณะที่ปลาซาร์ดีนกระป๋องหดตัว  -8.3% YoY จากการทยอยระบายสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และข้อจำกัดด้านอุปทานวัตถุดิบปลาซาร์ดีนที่ลดลง  ด้านปริมาณการบริโภคในประเทศหดตัว -8.9% YoY โดยเฉพาะปลาทูน่าที่หดตัวสูงถึง -25.0% YoY เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานประเภทอื่นที่หลากหลายซึ่งตอบโจทย์การบริโภคเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มกำลังซื้อระดับกลาง-บนที่ฟื้นตัวได้เร็ว ประกอบกับผู้บริโภคมีแนวโน้มหันไปบริโภคอาหารสดและอาหารนอกบ้านมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การบริโภคปลาซาร์ดีนขยายตัวได้เล็กน้อย +1.6% YoY เนื่องจากยังเน้นตลาดระดับกลางลงมาซึ่งกำลังซื้อยังอ่อนแอ สำหรับปริมาณการส่งออกปลากระป๋องของไทยขยายตัว 29.3% YoY อยู่ที่ 444.2 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (+21.4% YoY) โดย (1) ปริมาณการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องขยายตัว 33.2% YoY จาก (1.1) ความได้เปรียบด้านราคาของผลิตภัณฑ์ โดยราคาส่งออกลดลงเหลือ 4,299 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน (-7.6% YoY) จูงใจกลุ่มผู้บริโภคที่ยังถูกกดดันจากปัญหาค่าครองชีพสูงโดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ (+23.4% YoY) แคนาดา (+57.0% YoY) (1.2) การขยายตัวของตลาดอาหารฮาลาล และความต้องการสต๊อกอาหารในช่วงภาวะสงครามในตะวันออกกลาง  อาทิ ซาอุดีอาระเบีย (+10.8% YoY) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (+56.9% YoY) อิสราเอล (+117.4%YoY) และ (2) ปริมาณการส่งออกปลาซาร์ดีนกระป๋องทรงตัวโดยขยายตัว 0.6% YoY เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ราคาเข้าถึงได้ในกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังซื้อยังอ่อนแอในตลาดแอฟริกาใต้ (+4.7% YoY) ออสเตรเลีย (+263.9% YoY) นามิเบีย (+45.8% YoY) ปานามา (+37.6% YoY) และแทนซาเนีย (+240.6% YoY) โดยราคาส่งออกลดลงเหลือ 2,566 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน (-2.3% YoY)

  • ในช่วงที่เหลือของปี 2567 คาดว่าภาคการผลิตจะยังได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง และต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวลงโดยเฉพาะปลาทูน่า โดยคาดว่าทั้งปี 2567 ปริมาณการผลิตและส่งออกจะเติบโต 15.0-16.0% และ 30.5-31.5% ตามลำดับ ขณะที่การบริโภคภายในประเทศยังมีแนวโน้มหดตัว -6.0% ถึง -7.0% จากการที่ผู้บริโภคหันไปบริโภคอาหารสดและรับประทานอาหารนอกบ้าน ทำให้ลดการกักตุนอาหารกระป๋อง

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • การผลิตปลากระป๋องคาดว่าจะมีแนวโน้มขยาย 4.0-5.0% ต่อปี ตามอุปสงค์ภายในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัว โดยการบริโภคในประเทศคาดว่าจะเติบโต 2.5-3.5% ต่อปี ตามภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคชุมชนเมืองซึ่งมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบและมีการขยายตัวของร้านอาหารและบริการอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี จาก (1) ภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว (2) ความนิยมที่เพิ่มขึ้นในสินค้าที่เน้นสุขภาพ โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋องซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพในตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป และ (3) กลยุทธ์ขยายตลาดส่งออกในภูมิภาคใหม่ๆ ผ่านการทำข้อตกลงการค้า พร้อมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายรองรับผู้บริโภคในตลาดใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจจำกัดการเติบโตของการส่งออก ได้แก่ (1) มาตรการการจับสัตว์น้ำที่เข้มงวดมากขึ้นและภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลต่อปริมาณปลาที่จับได้ (2) ภาวะตลาดส่งออกที่มีแนวโน้มแข่งขันสูงขึ้นและ (3) ต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่งที่อาจปรับตัวขึ้นจากผลของสงครามตะวันออกกลาง

อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม


อาหารพร้อมทาน


สถานการณ์ปี 2567

 

ปี 2567 ปริมาณจำหน่ายในประเทศมีทิศทางขยายตัว 5.0-6.0% ส่วนปริมาณการส่งออกอาหารพร้อมทานคาดว่าจะเติบโต 11.5-12.5%
 

  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป: การจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 6.5-7.5% (จาก +2.7% ในปี 2566) จาก (1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว (2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์รสชาติแปลกใหม่กระตุ้นตลาด และ (3) ช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายมากขึ้น ในขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 6.0-7.0% (9 เดือนแรกขยายตัว 5.9% YoY) โดยมีแรงหนุนจากความนิยมอาหารไทยในต่างประเทศและระดับราคาที่แข่งขันได้

  • อาหารสำเร็จรูป: การจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5%  (จาก +6.1% ในปี 2566) จาก (1) การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว (2) ช่องทางการจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อที่เพิ่มขึ้น และ (3) วิถีชีวิตที่เร่งรีบของผู้บริโภค การส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 13.5-14.5% (9 เดือนแรกขยายตัว 13.2% YoY) ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่กระเตื้องขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเร่งรีบและต้องการความสะดวกในการบริโภค

  • ซีเรียลพร้อมทาน: การจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% (จาก +5.1% ในปี 2566) แรงหนุนจากกระแสรักสุขภาพ และตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคที่เร่งรีบในสังคมเมืองที่กำลังขยายตัว การส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 19.0-20.0% (9 เดือนแรกขยายตัว 18.9%YoY) แรงหนุนหลักมาจากตลาดสหรัฐฯ ซึ่งผู้บริโภคเน้นสินค้าบริโภคเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นและไทยได้เปรียบด้านราคา

  • ซุปพร้อมทาน: การจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยหรือทรงตัวที่ 0.0-1.0% (จาก 6.3% ในปี 2566) เนื่องจากผู้บริโภคนิยมรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ และระดับราคาของซุปพร้อมทานยังสูงเมื่อเทียบกับซุปตามร้านอาหารหรือทำเอง ทำให้ตลาดยังเติบโตได้จำกัด เช่นเดียวกับการส่งออกที่คาดว่าจะหดตัว -30.0% ถึง -31.0% (9 เดือนแรกหดตัว –31.5% YoY) จากกระแสรักสุขภาพทั่วโลกที่ลดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • แนวโน้มปริมาณการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี แรงหนุนจาก (1) วิถีชีวิตของผู้บริโภคในสังคมเมืองที่เร่งรีบ จึงนิยมบริโภคอาหารที่สะดวกและประหยัดเวลา (2) การขยายตัวของช่องทางจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่และแพลตฟอร์มออนไลน์ (3) กำลังซื้อที่ทยอยฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ และ (4) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น อาทิ เรื่องสุขภาพและความยั่งยืน  ด้านปริมาณการส่งออกอาหารพร้อมทานคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี โดยได้แรงหนุนจาก (1) กำลังซื้อในประเทศคู่ค้าที่กระเตื้องขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (2) การขยายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคใหม่ๆ (3) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อคุณภาพของอาหารไทย (4) การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรในตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่มีขนาดครัวเรือนเล็กลง ส่งผลให้ความต้องการอาหารแบบบริโภคคนเดียว (Single serve) สูงขึ้น แทนการซื้อวัตถุดิบมาทำเอง

  • ปัจจัยเสี่ยง (1) สภาพอากาศที่แปรปรวน อาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานในการผลิตและราคาวัตถุดิบ (2) ภาครัฐในหลายประเทศเข้มงวดมาตรการภาษีเพื่อควบคุมความเค็ม (3) มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ด้านสิ่งแวดล้อมอาจเพิ่มต้นทุนในการปรับกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ และ (4) ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงครามที่อาจยืดเยื้อ ส่งผลต่อต้นทุนด้านการขนส่งและบรรจุภัณฑ์


เครื่องดื่ม


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตขยายตัว 4.3% YoY แรงขับเคลื่อนการเติบโตมาจากเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งอุปสงค์ปรับตัวดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ขณะที่การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรับลดลงจากการระบายสินค้าคงคลัง ด้านปริมาณการจำหน่ายในประเทศเติบโต 4.1% YoY ปัจจัยหนุนมาจากทั้ง 1) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (+3.5% YoY) ที่ได้อานิสงส์ของ (1) ปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นผิดปกติ (2) การฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และการท่องเที่ยว 2) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (+6.5% YoY) จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ รวมถึงการกลับมาจัดคอนเสิร์ตและกิจกรรมสังคมต่างๆ สำหรับปริมาณการส่งออกขยายตัว +1.6% YoY จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อาทิ เวียดนาม ลาว ที่เริ่มกระเตื้องขึ้น ส่วนมูลค่าส่งออกขยายตัว +8.8% YoY ตามราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น จากแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่สูงขึ้น 

  • คาดว่าทั้งปี 2567 ปริมาณการผลิตจะขยายตัว 4.0% ถึง 5.0% จากการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคของประชาชนที่กลับมาใช้จ่ายและทำกิจกรรมนอกบ้านตามปกติมากขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่วนปริมาณจำหน่ายจะขยายตัว 4.0-5.0% จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมสันทนาการที่ฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ปริมาณส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 1.0-2.0% ตามทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่ทยอยฟื้นตัว

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • การผลิตคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 3.5-4.5% ต่อปี สอดคล้องกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การสะสมสินค้าคงคลังเพื่อรองรับอุปสงค์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และการทำตลาดเชิงรุก ด้านปริมาณการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5-4.5% ต่อปี ตาม (1) แนวโน้มระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ความต้องการเครื่องดื่มเพื่อความสดชื่นเพิ่มขึ้น (2) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของภาคท่องเที่ยว (3) การเติบโตของเมืองและร้านค้าปลีกสมัยใหม่ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าสะดวกขึ้น และ (4) ช่องทางการจำหน่ายออนไลน์และบริการเดลิเวอรี่ทำให้การสั่งซื้อเครื่องดื่มทำได้ง่ายขึ้น สำหรับปริมาณส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี จากการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม การลงทุนของผู้ผลิตไทยและต่างชาติในประเทศกลุ่ม CLMV อาจจำกัดการเติบโตของปริมาณการส่งออกจากไทย​

  • ปัจจัยเสี่ยง (1) ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบเกษตรซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (2) มาตรการภาษีความหวาน (3) กระแสรักสุขภาพ และกฎหมายที่ควบคุมการโฆษณาที่มีผลต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (4) การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดเบียร์จากการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ และ (5) ปัญหายืดเยื้อของภาวะสงคราม อาจส่งผลต่อต้นทุนกาขนส่งและบรรจุภัณฑ์




 

อุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค


ผลิตไฟฟ้า


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6.1% YoY โดยเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปี 2566 การใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน (สัดส่วน 29.4% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด) เพิ่มขึ้น 9.1% จากสภาพอากาศที่ร้อนและค่าไฟฟ้าที่ถูกลงตามนโยบายรัฐ ส่วนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม (สัดส่วนรวมกัน 65.6%) +4.5% ตามการฟื้นตัวของหมวดบริการท่องเที่ยวและภาคส่งออก ขณะที่ Peak demand ของปีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 36,477.8 เมกะวัตต์ในเดือนเมษายน (+6.9% จากระดับการใช้สูงสุดปี 2566) สำหรับช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลปลายปี ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยปี 2567 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.0-6.0% จาก 3.4% ปี 2566

  • การผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6.6% YoY โดยเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปี 2566 กลุ่ม IPP (สัดส่วน 28.5% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด) +21.0% ขณะที่ SPP และ VSPP (สัดส่วนรวมกัน 27.3%) เพิ่มขึ้นเพียง +0.9% ด้าน EGAT (สัดส่วน 29.5%) ผลิตลดลง -1.8% ส่วนการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (สัดส่วน 14.7%) +11.7% ด้านเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากก๊าซธรรมชาติ (สัดส่วน 59.0%) และถ่านหิน (สัดส่วน 13.6%) +8.4% และ +5.7%  ตามลำดับ ด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน (สัดส่วน 9.8%) และพลังงานน้ำ (สัดส่วน 2.7%) ลดลง -0.04% และ -9.7% ตามลำดับ

  • การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ข้อมูลล่าสุด 7 เดือนแรก) มีกำลังการผลิตติดตั้งสะสมรวม 10,010.5 เมกะวัตต์1/ (+1.2% จากสิ้นปี 2566) ส่วนใหญ่มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (+2.2%) ที่จ่ายไฟเข้าระบบตามสัญญา รองลงมา ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ (+0.6%) และชีวมวล (+0.5%) ช่วงที่เหลือของปีคาดว่าไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ และขยะจะทยอยเข้าระบบต่อเนื่อง ส่งผลให้ปี 2567 ปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ 10,150 เมกะวัตต์ (+2.5% จากปี 2566)



 

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป นำโดยภาคท่องเที่ยวและการทยอยฟื้นตัวของภาคการผลิต (2) สภาพอากาศมีแนวโน้มร้อนขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (ปี 2566 ไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 28.1 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้นจาก 27.4 องศาปี 2565) และ (3) การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้าที่ชาร์จไฟได้ (BEV+PHEV) ด้านภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไฟฟ้าสู่การใช้พลังงานสะอาด เอื้อให้เอกชนขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน/โรงไฟฟ้าสีเขียวมากขึ้น โดยรายได้ของผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ สรุปได้ดังนี้

    • IPP คาดรายได้ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ผลจาก (1) ความต้องการใช้ไฟฟ้าฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ (2) ผู้ประกอบการมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง อาทิ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน/ไฮโดรเจน และระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ

    • SPP คาดรายได้เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยผู้ประกอบการมีโอกาสขยายการลงทุนจาก (1) โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (ระบบ Cogeneration) ซึ่งหลายแห่งจะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2568 (จำหน่ายไฟฟ้าแก่นิคมอุตสาหกรรม) (2) โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ SPP hybrid firm และ (3) การลงทุนโรงไฟฟ้าใน EEC  

    • VSPP รายได้และการลงทุนมีแนวโน้มเร่งขึ้น จาก (1) ภาครัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) จำนวนมากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2570 และ (2) การลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจะได้รับยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล (ภายใต้การส่งเสริมการลงทุนจาก BOI) อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหม่อาจเผชิญข้อจำกัดด้านวัตถุดิบที่ไม่เพียงพอจากชีวมวลและก๊าซชีวภาพ

1/ ไม่รวมกำลังการผลิตจากพลังงานน้ำขนาดใหญ่ 2,918 MW
 

โรงกลั่นน้ำมัน

 

สถานการณ์ปี 2567

 

  • ช่วง 8 เดือนแรก อุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเพิ่มขึ้น 1.4% YoY จากการใช้น้ำมันในภาคขนส่งที่ได้อานิสงส์การเติบโตจากภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะการเดินทางทางอากาศ (LPG ภาคขนส่ง +7.6% YoY และน้ำมันอากาศยาน + 17.4% YoY) อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตที่ชะลอตัวตามภาคส่งออก ทำให้การใช้น้ำมันในภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่อง (น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาลดลง -0.6% YoY และ -16.0% YoY ตามลำดับ) ด้านค่าการกลั่นรวม (Gross refinery margins) ของไทยมีทิศทางแคบลง จากราคาน้ำมันดิบดูไบที่ทรงตัวสูงต่อเนื่อง (เฉลี่ย 82.9 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่อุปสงค์น้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับค่าการกลั่นในตลาดสิงคโปร์ซึ่งเฉลี่ยที่ 5.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ข้อมูลครึ่งแรกของปี) ลดลงจาก 6.1 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกันปีก่อน

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าค่าการกลั่นรวมจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย จากความต้องการใช้น้ำมันในช่วงเทศกาลปลายปี หนุนการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในกลุ่ม Middle Distillate เพิ่มขึ้น จึงคาดว่าปี 2567 ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-1.7% YoY ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ค่าการกลั่นของไทยอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 5.0-6.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล


แนวโน้มปี 2568-2570


วิจัยกรุงศรีคาดว่าธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยราคาน้ำมันดิบดูไบมีแนวโน้มปรับลดลงหลัง OPEC+ มีแผนเพิ่มการผลิตน้ำมัน 0.14 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนเมษายน 2568 ขณะที่อุปสงค์น้ำมันจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นกันตามทิศทางเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ (อาทิ รัสเซีย-ยูเครน รวมถึงตะวันออกกลาง) จะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นเป็นระยะ ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2568-2570 จะอยู่ในช่วง 75-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยทิศทางธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน สรุปได้ดังนี้

  • ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 2.0-2.5% ต่อปี ตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ระดับ 2.5-3.0% ต่อปี นำโดยการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับสู่ระดับใกล้เคียงก่อน COVID-19 ภายในปี 2568 รวมถึงปริมาณรถยนต์ใหม่ (เครื่องสันดาป) จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปทยอยปรับสูงขึ้นตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะอยู่ในช่วง 39.0-44.0 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลจะอยู่ในช่วง 29.0-30.5 บาทต่อลิตร

  • ค่าการกลั่นรวมจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 5.5-6.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5.0-5.5 ดอลลาร์ฯ ในช่วงก่อนเกิด COVID-19 (ปี 2555-2562) ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตจะอยู่ที่ระดับ 85.0-90.0% สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น

  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายการลงทุนสู่พลังงานสะอาดเพื่อเพิ่มรายได้ และสอดคล้องกับนโยบาย Net zero emissions อาทิ การผลิตนํ้ามันอากาศยานยั่งยืน (SAF) ซึ่งมีราคาสูงกว่าน้ำมันอากาศยาน (Jet Fuel) ประมาณ 2.5 เท่า จะช่วยเพิ่มรายได้ให้โรงกลั่น


เอทานอล


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วง 8 เดือนแรก ความต้องการใช้เอทานอลลดลง -4.1% YoY โดยเฉลี่ยที่ 3.4 ล้านลิตร/วัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความนิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และมีการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองซึ่งเชื่อมโยงกับสายอื่นๆ มีผลให้การใช้น้ำมันแก๊ซโซฮอล์โดยรวมปรับลดลง (-0.5% YoY) ด้านการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ปรับลดถึง -62.5% YoY (สัดส่วน 0.2% ของการใช้แก๊สโซฮอล์ทั้งหมดเทียบกับ 0.6% ในช่วงเดียวกันปีก่อน) ผลจากราคาปรับสูงขึ้นหลังกองทุนน้ำมันลดการอุดหนุน ส่งผลให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้ E10 (สัดส่วน 82%)  เพิ่มขึ้น 1.7% YoY ขณะที่ E20 (สัดส่วน 17.7%) ลดลง -7.8% YoY สำหรับช่วงที่เหลือของปี คาดว่าความต้องการใช้เอทานอลจะมีมากขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว (High season) และเทศกาลปลายปี ส่งผลให้การใช้เอทานอลเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 3.45 ล้านลิตร/วัน ลดลง -2.4% จากปี 2566

  • ปริมาณการผลิต 8 เดือนแรกอยู่ที่ 3.7 ล้านลิตร/วัน (-2.6% YoY) โดยการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลอยู่ที่ 2.1 ล้านลิตร/วัน (-11.4% YoY) มันสำปะหลัง 1.4 ล้านลิตร/วัน (+16.7% YoY) และน้ำอ้อย 0.2 ล้านลิตร/วัน (-14.6% YoY) ช่วงที่เหลือของปีคาดว่าการผลิตเอทานอลจะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับอุปสงค์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ทั้งปี 2567 ปริมาณการผลิตเอทานอลจะลดลงเพียง -0.5% YoY ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตจะอยู่ที่ 52.8% ใกล้เคียงกับ 53.0% ปี 2566

  • การผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังมีมาร์จินเพิ่มขึ้น ผลจากจีนนำเข้ามันสำปะหลังจากไทยลดลง ทำให้ราคาหัวมันสดปรับลด -14.0% YoY (เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.5 บาท) ส่งผลให้ต้นทุนผลิตเอทานอลจากหัวมันสดอยู่ที่ 23.7 บาทต่อลิตร (-9.7% YoY) ด้านราคามันเส้นลดลง -5.8% YoY (เฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.8 บาท) ส่งผลให้ต้นทุนผลิตเอทานอลอยู่ที่ 26.0 บาทต่อลิตร (-4.1% YoY) สำหรับการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลจะมีมาร์จินแคบลง เนื่องจากผลผลิตอ้อยถูกกดดันจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ราคากากน้ำตาลเพิ่มขึ้นถึง 246.2% YoY หรือเฉลี่ย 19.4 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ต้นทุนผลิตเอทานอลอยู่ที่ 88.2 บาทต่อลิตร (+197.2% YoY)


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ความต้องการใช้เอทานอลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-2.5% ต่อปีที่ระดับเฉลี่ย 3.5-3.8 ล้านลิตรต่อวัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

    • การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคขนส่ง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤต COVID-19 ภายในปี 2568  ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นภาคท่องเที่ยวจากภาครัฐ

    • แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2567-2580 จะกำหนดให้แก๊สโซฮอล์ E10 (95) หรือ E20 เป็นน้ำมันเบนซินฐาน ทำให้ความต้องการใช้เอทานอลจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จะมีการยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ภายในปี 2568 ขณะที่ E85 และเบนซินจะกำหนดราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพื่อให้ส่วนต่างราคาเมื่อเทียบกับน้ำมันพื้นฐานสูงขึ้น

    • คาดว่าจำนวนรถยนต์สะสมที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-2.5% ต่อปี โดยรถยนต์รุ่นใหม่สามารถรองรับการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ได้ทั้งหมด

    • ภาครัฐส่งเสริมให้ใช้เอทานอลในภาคอุตสาหกรรม (เช่น พลาสติกชีวภาพ) และการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ



ไบโอดีเซล


สถานการณ์ปี 2567

 

  • ช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตไบโอดีเซล (B100) เพิ่มขึ้น 5.2% YoY เฉลี่ยที่ 4.7 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น 3.6% YoY เฉลี่ย 4.5 ล้านลิตรต่อวัน ผลจากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ทำให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ และการเติบโตของธุรกิจ E-commerce หนุนการใช้รถขนส่งเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภาครัฐมีนโยบายปรับลดน้ำมันดีเซลเหลือ 2 ประเภท คือ B7 เป็นน้ำมันพื้นฐาน เนื่องจากเป็นสัดส่วนสูงสุดที่สามารถใช้กับน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่ค่ายรถยนต์ยอมรับ และ B20 เป็นน้ำมันทางเลือก (มีผลพฤษภาคม 2567)

  • ช่วงไตรมาส 4 คาดว่าความต้องการใช้ไบโอดีเซลจะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลเดินทางและท่องเที่ยว และมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตเฟสแรกปลายเดือนกันยายนช่วยกระตุ้นการผลิตและความต้องการขนส่งสินค้า ทำให้ปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ไบโอดีเซลทั้งปี 2567 จะเฉลี่ยที่ 4.8 ล้านลิตรต่อวัน (+4.9%) และ 4.6 ล้านลิตรต่อวัน (+3.8%) ตามลำดับ ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตจะอยู่ที่ 40.1% (จาก 44.6% ในปี 2566)

  • ราคาขายอ้างอิงช่วง 7 เดือนแรก (ผู้ผลิตไบโอดีเซลขายให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง) เพิ่มขึ้น 4.3% YoY โดยเฉลี่ยที่ 35.8 บาทต่อลิตรหรือ 41.4 บาทต่อกิโลกรัม สาเหตุหลักมาจากผลผลิตปาล์มน้ำมัน (CPO) ปรับลดลงมากจากผลกระทบภัยแล้งในช่วงไตรมาสแรกของปี ขณะที่ความต้องการ CPO โดยรวมยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกที่ขยายตัวถึง 16.7% YoY (8 เดือนแรก) จากความต้องการของตลาดหลัก คือ อินเดีย ส่งผลให้ราคา CPO และไขน้ำมันปาล์ม (Palm stearin) ในประเทศเพิ่มขึ้น 6.0% YoY และ 5.3% YoY โดยเฉลี่ยที่ 33.7 และ 33.2 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ด้านส่วนต่างราคาขายไบโอดีเซลกับราคา CPO หรือ Spread เฉลี่ยที่ 8.15 บาทต่อกิโลกรัม ใกล้เคียงกับ 8.10 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ความต้องการใช้ไบโอดีเซลมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องที่ระดับเฉลี่ย 4.6-4.8 ล้านลิตร/วัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

    • การใช้ยานยนต์ดีเซลในภาคขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก (1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจไทย ขณะที่ภาคท่องเที่ยวได้อานิสงส์จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะสูงถึง 43 ล้านคนภายในปี 2570 (2) การเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจ E-commerce ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าตลาด 7.5 แสนล้านบาทในปี 2568 จาก 6.3 แสนล้านบาทปี 2566 (ที่มา: กรมธุรกิจการค้า) ช่วยหนุนความต้องการรถขนส่งเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะรถปิกอัพ และ (3) จำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลสะสมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี

    • มาตรการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลและสร้างสมดุลน้ำมันปาล์มจากภาครัฐ เพื่อพยุงราคาปาล์มไม่ให้ผันผวน (อาทิ การเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซล (B100) ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในช่วงราคาปาล์มตกต่ำ) และการขยายเวลาการจ่ายเงินชดเชยสำหรับ “น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ” ถึง 24 กันยายน 2569 เพื่อช่วยรักษาระดับค่าการตลาดของไบโอดีเซล  ช่วยสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซลอีกทางหนึ่ง

    • ผู้ผลิตยานยนต์มีแนวโน้มพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลที่รองรับการใช้ไบโอดีเซลในสัดส่วนที่สูงขึ้น ทั้งรถขนาดใหญ่ รถปิกอัพ รถอเนกประสงค์และรถบรรทุก



 

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ปิโตรเคมี


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วง 8 เดือนแรก การบริโภคผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศหดตัว -5.1% YoY ตามภาคการผลิตและส่งออกที่ฟื้นตัวช้า สะท้อนจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว -1.7% YoY ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องชะลอลงตาม ด้านปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์ฯ หดตัว -3.2% YoY จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีทิศทางชะลอตัว ขณะที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากประเทศคู่แข่ง เช่น จีน สหรัฐฯ และตะวันออกกลางมีต้นทุนต่ำกว่าไทย ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ฯ หลายประเภทปรับลดลง ขณะที่ราคาวัตถุดิบตั้งต้นทรงตัวสูงตามราคาน้ำมันดิบโลก (ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 82.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) กดดัน Spread ให้ลดลงในบางผลิตภัณฑ์

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าราคาผลิตภัณฑ์ฯ จะกระเตื้องขึ้น ตามการเติบโตของภาคท่องเที่ยวและความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคช่วงเทศกาลปลายปี ส่งผลให้ทั้งปี 2567 การบริโภคผลิตภัณฑ์ฯ ในประเทศจะหดตัว -4.0% ถึง -3.0% ขณะที่ปริมาณส่งออกจะหดตัว -3.0% ถึง -2.0% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงจากปีก่อนหน้า โดยตลาดปิโตรเคมีช่วง 8 เดือนแรก สรุปได้ดังนี้

    • แนฟทา: ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 695.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (+7.4% YoY) เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ โดยปี 2567 คาดราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 690 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

    • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น: Spread ของ Ethylene เฉลี่ยที่ 261.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (+7.5% YoY) และ Propylene เฉลี่ยที่ 172.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน  (-30.2% YoY) ทั้งปี 2567 คาดว่า Spread จะอยู่ที่ 260.0 และ 170.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตามลำดับ

    • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย: Spread ของ HDPE เฉลี่ย 32.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (-71.2% YoY) ขณะที่ Polypropylene เฉลี่ยที่ 101.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (+16.5% YoY) สำหรับทั้งปี 2567 คาดว่า Spread จะเฉลี่ยที่ 27.0 และ 95.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตามลำดับ


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • การบริโภคผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง (IMF คาดว่า GDP โลกจะเติบโตในช่วง 3.0-3.2%) ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสำหรับอุตสาหกรรมปลายน้ำปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันทำให้อุปสงค์ผลิตภัณฑ์ฯ เพิ่มขึ้นได้จำกัด อาทิ การห้ามใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง และกำลังการผลิตใหม่จากจีนและตะวันออกกลาง ซึ่งจะกดดันราคาของผลิตภัณฑ์ฯ บางประเภท จึงคาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศและปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-2.5% ต่อปี

  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับสายการผลิตสู่เม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ อาทิ การผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (Specialty products) เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องกลุ่ม S-curve การผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Biodegradable plastics) และการจัดตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (Recycled plastics) คุณภาพสูงแบบครบวงจรระดับ Food grade เพื่อตอบสนองกระแสรักษ์โลก




 

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

 

ยาแผนปัจจุบัน


สถานการณ์ปี 2567

 

  • อุตสาหกรรมยามีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ผลจาก (1) ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้การเข้าถึงยาทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโครงการรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านและส่งยาทางไปรษณีย์ (2) จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ปีงบประมาณ 2567 จำนวนผู้ป่วยในที่ใช้บริการสาธารณสุขใน 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศอยู่ที่ 7.9 ล้านคน จากเฉลี่ย 7.6 ล้านคนปีงบฯ 2565-2566) (3) การกลับมาของผู้ป่วยต่างชาติ รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ (4) ความต้องการใช้ยาในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน) ส่งผลให้ปี 2567 มูลค่าจำหน่ายยาจะเติบโตที่ 5.5-6.0% เทียบกับ 5.7% ปี 2566 โดยสถานการณ์ช่วง 9 เดือนแรก สรุปได้ดังนี้ 

    • การบริโภคยาในประเทศ1/ เพิ่มขึ้นจากโรคตามฤดูกาลที่รุนแรงขึ้น (อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ +59.7% YoY) โรคจากมลพิษทางอากาศ (อาทิ โรคตาแดงอักแสบ +7.8% YoY  และโรคจมูกอักเสบเรื้อรัง +14.6% YoY) จำแนกเป็น ยาเม็ด (สัดส่วน 50.3% ของมูลค่าจำหน่ายยา) เพิ่มขึ้น 11.8% YoY ยาครีม (สัดส่วน 8.7%) +5.5% YoY ยาผง (สัดส่วน 7.1%) +14.9% YoY ยาแคปซูล (สัดส่วน 7.1%) +4.8% YoY และยาฉีด (สัดส่วน 6.9%) +0.8% YoY  ส่วนยาน้ำ (สัดส่วน 19.9) หดตัว -4.5% YoY  

    • มูลค่าส่งออกยาและเวชภัณฑ์อยู่ที่ 12.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% YoY ประมาณ 94% เป็นยารักษาโรค (+4.0% YoY) โดยตลาดหลักคือ CLMV (สัดส่วน 50.5%) +3.1% YoY ขณะที่การส่งออกวัคซีน (สัดส่วน 6%) หดตัว -3.9% YoY จากความต้องการที่ลดลงในตลาดฮ่องกงและบางประเทศในอาเซียน (เช่น เมียนมา สปป.ลาว และอินโดนีเซีย) อย่างไรก็ตาม การส่งออกวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในตลาดมาเลเซีย (+65.1% YoY) และซาอุดิอาระเบีย (+21.9% YoY) ซึ่ง Statista ประเมินว่าปี 2567 มูลค่าตลาดยา (รวมวัคซีน) ของมาเลเซียและซาอุดิอาระเบียจะเติบโต +5.8% และ +6.5% ตามลำดับ ด้านมูลค่านำเข้ายาอยู่ที่ 73.8 พันล้านบาท หดตัว -3.4% YoY ผลจากมีการผลิตยาบางประเภททดแทนการนำเข้า โดยมูลค่านำเข้ายาจากสหรัฐฯ และเยอรมนี  (สัดส่วนรวมกัน 26.0% ของมูลค่านำเข้ายาทั้งหมด) หดตัว -13.1% YoY ขณะที่การนำเข้าวัคซีนจากจีนและอินเดีย +18.0% YoY และ +18.9% YoY ตามลำดับ

แนวโน้มปี 2568-2570

 

  • มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 6.0-7.0% ต่อปี จากปัจจัยหนุน ได้แก่ (1) อัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจากโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของชุมชนเมืองและประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น (2) การขยายสิทธิการรักษาภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาทิ โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ (มีผล 7 ม.ค. 67 ในจังหวัดนำร่อง ได้แก่ ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส) (3) กระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน หนุนความต้องการยาประเภทเสริมภูมิคุ้มกันหรือป้องกันโรค และ (4) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพิ่มศักยภาพการผลิตและทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น 

  • ผู้ผลิตยามีแนวโน้มพัฒนาเทคโนโลยี/นวัตกรรม รวมถึงการผลิตยาชีวภาพ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดยาและวัคซีน และทำให้คนไทยมีแนวโน้มเข้าถึงยาในกลุ่มนี้ได้มากขึ้น


1/ ผลสำรวจจากผู้ประกอบการในประเทศซึ่งส่วนใหญ่ผลิตและจำหน่ายยาสามัญ จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
 

ปุ๋ยเคมี


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วง 9 เดือนแรก ตลาดปุ๋ยเคมีได้อานิสงส์จาก (1) ราคาสินค้าเกษตรกลุ่มพืชผลปรับเพิ่มขึ้น (+14.0% YoY) โดยพืชเศรษฐกิจสำคัญซึ่งมีอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีต่อไร่สูง อาทิ ข้าว +4.9% YoY และอ้อย +28.7% YoY (2) ราคาปุ๋ยในประเทศปรับลดตามต้นทุนโดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย (-5.2% YoY) และปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (-25.6% YoY) และ (3) โครงการปุ๋ยเคมีราคาถูกจากภาครัฐ ช่วยลดต้นทุนแก่เกษตรกร อย่างไรก็ตาม ภาวะภัยแล้งในช่วงต้นปี ทำให้ผลผลิตเกษตรปรับลดลง (กลุ่มพืผล -4.5%YoY) จึงลดทอนความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีระดับหนึ่ง สำหรับช่วงที่เหลือของปี คาดว่าความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีจะเพิ่มขึ้นจากการปลูกพืชที่ต้องการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งปี เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และไม้ผล จึงคาดว่าความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 5.65 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.4% จากปี 2566 โดยสถานการณ์ปุ๋ยเคมี 9 เดือนแรก สรุปได้ดังนี้ 

    • การนำเข้าแม่ปุ๋ย (สัดส่วน 66.0% ของปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมด) และปุ๋ยผสมหรือปุ๋ยสำเร็จรูป (สัดส่วน 34.0%) มีปริมาณรวม 5.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 32.2% YoY คิดเป็นมูลค่า 7.9 หมื่นล้านบาท (+26.1% YoY) โดยประเทศที่ไทยนำเข้าปุ๋ยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย (สัดส่วน 20.6%) +28.8% YoY จีน (สัดส่วน 16.5%) +32.5% YoY และรัสเซีย (สัดส่วน 12.0%) +76.9% YoY ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการนำเข้าปุ๋ยจะชะลอลงเนื่องจากมีการเร่งนำเข้าแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยคาดว่าปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 6.0 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 16.5% จากปี 2566

    • ปริมาณส่งออกปุ๋ยเคมี (สัดส่วน 5.0% ของผลผลิตในประเทศ) อยู่ที่ 4.1 แสนตัน เพิ่มขึ้น 6.5% YoY คิดเป็นมูลค่า 6.7 พันล้านบาท (-0.9% YoY) โดยตลาดที่ไทยส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กัมพูชา (สัดส่วน 44.6% ของปริมาณส่งออกปุ๋ยเคมี) เติบโต 32.3% YoY และสปป.ลาว (สัดส่วน 33.4%) ขยายตัว 29.9% YoY ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าความต้องการปุ๋ยในตลาดต่างประเทศจะชะลอลงเล็กน้อย ส่งผลให้ปี 2567 ปริมาณส่งออกปุ๋ยเคมีจะอยู่ที่ 5.2 แสนตัน เพิ่มขึ้น 6.0% ปี 2566

    • ต้นทุนนำเข้าปุ๋ยเคมีปรับลด -4.6% YoY ตามราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลก โดยราคานำเข้าแม่ปุ๋ยเฉลี่ยที่ 12,495 บาทต่อตัน (-9.6% YoY) และปุ๋ยผสมเฉลี่ย 19,023 บาทต่อตัน (-0.7% YoY) เมื่อผนวกกับภาครัฐออกนโยบายช่วยเหลือปัจจัยการผลิตของเกษตรกร ส่งผลให้ราคาขายส่งและขายปลีกปุ๋ยเคมีในประเทศปรับลดมากกว่าต้นทุนที่ลดลง โดยราคาขายปลีกแม่ปุ๋ยและปุ๋ยผสมเฉลี่ยที่ 18,796 บาทต่อตัน (-18.1% YoY) และ 20,036 บาทต่อตัน (-13.0% YoY) ตามลำดับ


 

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • คาดว่าความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2.0-3.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) กำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจไทย และ (2) ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะพืชอาหารทรงตัวสูงต่อเนื่อง จูงใจเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ประกอบกับคาดว่าปริมาณน้ำจะเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกจากการเข้าสู่ภาวะลานีญา ส่งผลดีต่อผลผลิตของพืชเศรษฐกิจหลัก อาทิ ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งพืชทั้ง 3 ประเภทใช้ปุ๋ยเคมีรวมกันประมาณ 80% ของการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด

  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้และเสริมความยั่งยืนทางธุรกิจ ได้แก่ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อาทิ ปุ๋ยสั่งตัด การใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อขยายฐานลูกค้า และการขยายตลาดส่งออกใน CLMV ที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงการนำเทคโนโลยีใช้ในกระบวนการผลิต เช่น การนำระบบ IoT sensor สำหรับวัดความชื้นในดิน และเครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติ เป็นต้น


 

​อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน


รถยนต์


ผู้ผลิตรถยนต์


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ปริมาณการผลิตรถยนต์ในช่วง 9 เดือนแรกลดลง -18.6% YoY อยู่ที่ 1,128,026 คัน ตามการหดตัวของทั้งตลาดในประเทศและส่งออก โดยยอดผลิตรถกระบะและรถยนต์นั่งโดยรวมลดลง -22.8% YoY และ -12.5% YoY ตามลำดับขณะที่ยอดผลิตรถยนต์นั่ง HEV และ BEV เพิ่มขึ้น 46.1% YoY (145,490 คัน) และ 4,824.8% YoY (7,338 คัน) ตามลำดับ

  • ปริมาณยอดจำหน่ายในประเทศลดลง -25.3% YoY อยู่ที่ 438,659 คัน โดยเป็นการลดลงติดต่อกัน 16 เดือน (นับจากมิ.ย. 66) โดยลดลงทั้งรถกระบะ (-40.0% YoY) และรถยนต์นั่ง (-22.6% YoY) จาก (1) กำลังซื้อที่หดตัวตามค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงผลกระทบของภาวะเอลนีโญ ที่ทำให้ผลผลิตในภาคเกษตรหดตัว (2) การคุมเข้มสินเชื่อจากสถาบันการเงิน1/ เพื่อควบคุม NPL ของสินเชื่อรถยนต์2/ และ (3) ราคารถยนต์มือสองที่ยังคงปรับลดลง ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการขายรถคันเก่าเพื่อนำเงินไปซื้อรถคันใหม่

  • ปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลง -6.5% YoY อยู่ที่ 768,887 คัน จากกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ซึ่งมีการเร่งชดเชยยอดสั่งซื้อคงค้างของประเทศคู่ค้า แม้ว่าบางตลาดยังคงเติบโตดี ได้แก่ สหรัฐฯ (+24.4% YoY) ซาอุดีอาระเบีย (+6.3% YoY) และออสเตรเลีย (+4.0% YoY) เป็นต้น โดยประเภทรถยนต์ที่ยังขยายตัวดีส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง BEV (+4,985.9% YoY) และ HEV+PHEV (+14.9% YoY)

  • ในช่วงที่เหลือของปี ภาพรวมของอุตสาหกรรมจะยังมีทิศทางหดตัว แม้ว่าการเติบโตของยอดขาย HEV และ BEV จะยังเติบโตดีทั้งตลาดในประเทศและส่งออก ทำให้คาดว่า ทั้งปี 2567 ปริมาณการผลิตจะหดตัว -17.0% ถึง -18.0% ยอดจำหน่ายในประเทศจะหดตัว -24.0% ถึง -25.0%  และยอดส่งออกรถยนต์จะหดตัว -5.5% ถึง -6.5 %


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ปริมาณการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่มีแนวโน้มคลี่คลายเมื่ออุปทานชิปเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น ตามการลงทุนผลิตชิปที่ขยายตัว  รวมถึงการผลิตรถยนต์ BEV ที่จะเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยยอดนำเข้ารถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศในช่วงก่อนหน้าภายใต้เงื่อนไขมาตรการสนับสนุน EV 3.0 และ 3.5

  • ยอดขายในประเทศคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ (1) กิจกรรมในภาคธุรกิจและการลงทุนที่จะกระเตื้องขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (2) การเข้าสู่ปรากฏการณ์ La Niña ที่เอื้อต่อผลผลิตภาคเกษตรซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการใช้รถกระบะเพื่อบรรทุกพืชผลเกษตรมากขึ้น (3) ความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ (4) การแข่งขันพัฒนาโมเดลใหม่ๆ ทั้งของค่ายรถญี่ปุ่นและจีน โดยเฉพาะ HEV และ BEV ที่มีสมรรถะในการขับขี่ดีขึ้น ด้วยราคาที่จูงใจ

  • ปริมาณการส่งออกคาดว่าจะเติบโตขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาวะกระเตื้องขึ้นของการลงทุนในประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะตลาด ASEAN ที่จะได้อานิสงส์จากการลงทุนขยายฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมจากจีนและญี่ปุ่น เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงของผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะยังมีต่อเนื่อง

  • ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทำให้คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีปริมาณการผลิตขยายตัวในอัตรา 3.5-4.5% ปริมาณการจำหน่ายในประเทศขยายตัว 4.0-5.0% และปริมาณการส่งออกขยายตัว 2.5-3.5% ต่อปี




 

1/ อัตราการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ลดลง -34.1% YoY เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ธปท., 2567)
2/ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าคงค้างสินเชื่อ NPL ของสินเชื่อรถยนต์ขยายตัว 4.1% YoY


ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก รายได้จากการขายรถยนต์ลดลงตามยอดจำหน่ายในประเทศที่หดตัว -25.3% YoY (0.44 ล้านคัน) เป็นผลจากกำลังซื้อที่หดตัวและการคุมเข้มสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ส่งผลให้ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์แบรนด์ระดับกลางลงมาได้รับผลกระทบ และมีการปรับตัวในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ลดขนาดของธุรกิจ ปรับไปเป็นตัวแทนจำหน่ายให้แบรนด์ EV สัญชาติจีนแทน และบางรายเลิกกิจการ (คาดว่ามีโชว์รูมที่เลิกกิจการทั้งสิ้น 100 แห่งในช่วงดังกล่าว; ประชาชาติธุรกิจ, 9 ต.ค. 67) ส่วนรายได้จากการให้บริการและขายอะไหล่ลดลงตามจำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมอายุไม่เกิน 5 ปี ที่หดตัว -8.0% YoY อยู่ที่ 4.88 ล้านคัน

  • ในช่วงที่เหลือของปี รายได้ของธุรกิจอาจยังไม่ฟื้นตัวจากผลของปัจจัยข้างต้น โดยรายได้จากการจำหน่ายรถยนต์ใหม่มีแนวโน้มจะหดตัวตามยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่คาดว่าจะหดตัว -24.0% ถึง -25.0% และรายได้จากการบริการและจำหน่ายอะไหล่จะลดลงตามจำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่คาดว่าจะหดตัว -7.5% ถึง -8.5%


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • รายได้ของธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มกลับมาขยายตัว ตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี จาก (1) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยว (2) ความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน และ (3) ผลผลิตภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นตามภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย แต่การแข่งขันก็อาจรุนแรงขึ้นจากการเข้าสู่ตลาดของค่ายรถยนต์รายใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ซึ่งอาจกดดันให้ดีลเลอร์บางรายเริ่มเปลี่ยนมาจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

  • รายได้จากศูนย์ซ่อมบำรุงและจำหน่ายอะไหล่มีทิศทางปรับตัวลดลงตามการหดตัวของยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศนับตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤต COVID-19 ทำให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่สะสมที่มีอายุไม่เกิน 5 ปีซึ่งเป็นตลาดหลักของบริการซ่อมบำรุงมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม รายได้จากการให้บริการรถยนต์ในกลุ่มรถยนต์นั่งและ SUV ที่มีราคาแพงและมีอายุน้อยกว่า 5 ปี ยังคงเติบโตได้ จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา



 

ผู้จำหน่ายรถยนต์มือสอง


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก ความต้องการรถยนต์มือสองลดลงต่อเนื่อง ตามกำลังซื้อของผู้บริโภคในกลุ่มกลาง-ล่างที่ลดลง โดยราคารถมือสองปรับลดลงโดยเฉลี่ยถึง -18.9 % YoY (ภาพที่ 3) เป็นผลมาจากจำนวนรถยนต์ถูกยึดที่ยังอยู่ในระดับสูงจากมาตรการคุมเข้มสินเชื่อและปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่ผู้บริโภคบางส่วนหันไปสนใจรถยนต์นั่งไฟฟ้ามากขึ้น ในขณะที่รถยนต์มือสองในปัจจุบันเกือบทั้งหมดยังเป็นรถยนต์สันดาปภายใน สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง BEV มือสองที่มีจำนวนเพียง 40 คัน (ที่มา: DLT)

  • ในช่วงที่เหลือของปี รายได้ของผู้จำหน่ายรถยนต์มือสองจะยังคงลดลง ตามราคารถมือสองที่ยังคงปรับตัวลง ตามแรงกดดันทั้งด้านอุปทานจากจำนวนรถมือสองที่เข้าสู่ลานประมูลที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และด้านอุปสงค์จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับล่างถึงปานกลางยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่


แนวโน้มปี 2568-2570

 

รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยจะมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มราคารถมือสองที่ปรับดีขึ้นเมื่อจำนวนรถยนต์ถูกยึดเริ่มทยอยปรับลดลงจากกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัวตามภาวะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้น ทิศทางของธุรกิจให้บริการขนส่งรองรับภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง รายได้ในภาคเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลของภาวะลานีญา และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการรถยนต์มือสองเพื่อนำมาใช้งานในธุรกิจภาคเกษตรและภาคก่อสร้างมากขึ้น รวมถึง แนวโน้มรถยนต์ไฟฟ้ามือสองที่จะเริ่มเข้าสู่ตลาดมากขึ้น (โดยเฉพาะ BEV มือสองที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้มาตรการ EV 3.0 อายุ 3-4 ปี ที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงปี 2569-2570)

รถยนต์ไฟฟ้า


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ปริมาณยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์นั่งไฟฟ้า (xEV) ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 เพิ่มขึ้น 27.5 % YoY อยู่ที่ 177,813 คัน โดยแรงขับเคลื่อนการเติบโตมาจากยอดจดฯ HEV ที่เพิ่มขึ้นถึง 57.2% YoY อยู่ที่ 112,253 คัน ที่ยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภครายได้ระดับกลาง-บน ที่ยังไม่พร้อมเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% รวมถึงโมเดลที่มีให้เลือกหลากหลาย โดยเฉพาะจากค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นเดิม ขณะที่ยอดจดฯ BEV ปรับลดลง -0.3% YoY อยู่ที่ 57,484 คัน โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องในช่วง ก.พ.–ต.ค. 67 (-19.3% YoY) หลังจากสิ้นสุดมาตรการ EV 3.0 นอกจากนี้ยังเป็นผลจากความกังวลของผู้บริโภคด้านความไม่เพียงพอของสถานีอัดประจุ โดยเฉพาะในเขตต่างจังหวัด แม้จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเงินอุดหนุนภายใต้มาตรการ EV 3.0 โมเดลมีที่ให้เลือกหลายหลาย ระยะทางวิ่งต่อชาร์จที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการชะลอการตัดสินใจซื้อเพื่อรอการพัฒนาโมเดลใหม่และโปรโมชั่นในราคาที่จูงใจช่วงปลายปี เช่นเดียวกับ PHEV ที่ลดลง -22.1% YoY อยู่ที่ 8,076 คัน เนื่องจากต้องพบกับการแข่งขันจากรถ HEV และ BEV ซึ่งยังมีนโยบายภาครัฐหนุนกำลังซื้อ

  • ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถโดยสารไฟฟ้าลดลง -76.2 % YoY อยู่ที่ 288 คัน ซึ่งเป็นการลดลงหลังจากการเร่งนำมาให้บริการเป็นจำนวนมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนยอดจดทะเบียนรถเพื่อการพาณิชย์ไฟฟ้า (ทั้งรถกระบะและรถบรรทุก) เพิ่มขึ้น 132.4% YoY อยู่ที่ 918 คัน จากการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีระยะทางวิ่งต่อชาร์จเพิ่มขึ้นจึงเริ่มมีการใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น แต่ปริมาณการใช้ยังน้อยจากสถานีชาร์จในต่างจังหวัดที่ไม่เพียงพอ

  • ในช่วงที่เหลือของปี แม้งาน Motor Show ที่มีโปรโมชั่นส่งเสริมการขายจากค่ายรถยนต์ไฟฟ้าต่างๆ จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ของผู้บริโภคบางส่วนที่ชะลอการซื้อจากผลของสงครามราคาในช่วงก่อนหน้า  แต่คาดว่าทั้งปี 2567 ยอดจดฯ รถยนต์นั่งไฟฟ้า BEV และ PHEV จะลดลงอยู่ที่ 71,000 และ 9,000 คัน ตามลำดับขณะที่ยอดจดฯ HEV จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 135,000 คัน และรถโดยสารไฟฟ้า และรถยนต์เชิงพาณิชย์ไฟฟ้า จะมียอดจดฯ รวม 350 และ 1,100 คัน ตามลำดับ


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ภายในปี 2570 คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 500,000 คันต่อปี  จากการผลิตเพื่อชดเชยยอดนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าภายใต้มาตรการ EV 3.0 (ในอัตรา 1-1.5 เท่า) และ EV 3.5 (2-3 เท่า) ขณะที่ยอดจดทะเบียนใหม่ของ BEV, HEV, และ PHEV คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 85,000, 160,000 และ 9,600 คัน ตามลำดับ โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) มาตรการ EV 3.5 (2) การพัฒนาโมเดลใหม่สำหรับ HEV และ BEV ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง (3) ต้นทุนและราคาต่อหน่วยของรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกลงสวนทางกับความจุของแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้น และ (4) การบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 ในปี 2568 ที่จะส่งผลให้ราคารถยนต์ ICE สูงขึ้น ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 และ 2,100 คัน ต่อปี ตามลำดับ จาก (1) นโยบายสนับสนุนรถกระบะไฟฟ้าภายใต้มาตรการ EV 3.5 และมาตรการลดภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ซื้อรถโดยสารไฟฟ้าหรือรถบรรทุกไฟฟ้าเพื่อใช้ในองค์กร1/    (2) การปรับสมรรถนะในการเพิ่มระยะทางวิ่งให้สามารถตอบโจทย์การใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น (3) แนวโน้มสถานีอัดประจุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตต่างจังหวัด และ (4) การเพิ่มการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าแก่ประชาชน ทั้งในส่วนของการให้บริการรถโดยสารประจำทาง และการให้บริการในพื้นที่สำคัญต่างๆ




1/ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ในองค์กร มีผลบังคับใช้ 21 กุมภาพันธ์ 2567 จนถึงปี 2568 (ที่มา: BOI)


รถจักรยานยนต์


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก การผลิตรถจักรยานยนต์ลดลง -12.3% YoY อยู่ที่ระดับ 1,436,354 คัน ตามยอดขายในประเทศและยอดส่งออกที่ลดลง โดยปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เครื่องยนต์ขนาดเล็กลดลงในอัตราสูงที่สุด ทั้งรถจักรยานยนต์ครอบครัว (-28.3% YoY) และ Sport ที่มีขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 400 cc (-52.7% YoY)

  • ยอดจำหน่ายภายในประเทศลดลง -11.4% YoY มาอยู่ที่ 1,281,711 คัน ผลจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การคุมเข้มสินเชื่อ ตลอดจนผลของภัยแล้งและอุทกภัยในบางพื้นที่ที่ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มรายได้ระดับน้อย-ปานกลาง โดยเฉพาะในตลาดภูมิภาคชะลอการซื้อออกไป ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดต่ำกว่า 250 cc (มี market share มากกว่า 90%) ลดลงถึง -11.7% YoY ขณะที่ยอดขาย AT/Scooter เพิ่มขึ้น 12.4% YoY อานิสงส์จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจขนส่งอาหารและ E-commerce รวมทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักยังคงอยู่ในระดับสูง

  • ปริมาณการส่งออกลดลง -11.4% YoY อยู่ที่ 301,832 คัน จากกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ที่ยังคงหดตัว และเป็นการหดตัวเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในปีก่อนหน้าที่มีการเร่งส่งออกเพื่อชดเชยยอดสั่งซื้อที่คงค้าง

  • ภาพรวมทั้งปี 2567 คาดว่า ผลจากปัจจัยข้างต้นจะทำให้ปริมาณการผลิต หดตัว -11.0% ถึง -12.0% การจำหน่ายในประเทศหดตัว -13.5% ถึง -14.5% และปริมาณส่งออกหดตัว -10.5% ถึง -11.5%


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ในปี 2568-2570 การผลิตรถจักรยานยนต์มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เฉลี่ยปีละ 1.5-2.5% ตามการฟื้นตัวของตลาดในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นตามทิศทางการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา โดยในเดือน พ.ย. 67 ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตในไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 15 ราย จากจำนวนผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ทั้งหมด 26 ราย (ที่มา: สถาบันยานยนต์)

  • ยอดขายภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.5–2.5% โดยมีปัจจัยหนุนจาก(1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยหนุนการเดินทางในพื้นที่ (2) การเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญา ที่เอื้อต่อผลผลิตภาคเกษตรและหนุนอุปสงค์ต่อรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก (3) การเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจบริการขนส่งอาหารและสินค้าจะช่วยหนุนยอดขายรถจักรยานต์กลุ่ม AT และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และ (4) กำลังซื้อของผู้บริโภคระดับกลางถึงบนที่ยังอยู่ในระดับสูง เอื้อต่อยอดขายรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่

  • การส่งออกจะเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศคู่ค้า ที่ช่วยหนุนให้ยอดส่งออกบิ๊กไบค์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อุปสงค์ของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลกและกำลังการผลิตของไทยที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยหนุนให้ยอดส่งออกรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต


 

ชิ้นส่วนยานยนต์


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ลดลง โดยดัชนีผลผลิต (MPI) หดตัว -8.8% YoY ตามการลดลงของยอดผลิตรถยนต์ (-17.7% YoY) และรถจักรยานยนต์ (-12.3% YoY) รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตชดเชยและนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศภายใต้มาตรการ EV 3.0 และ EV 3.5 ที่ทำให้การผลิตเครื่องยนต์สำหรับยานยนต์ลดลง -17.1% YoY แม้จะได้รับอานิสงส์จากตลาดอะไหล่ (REM) ที่ขยายตัวตามยอดจดทะเบียนสะสมของยานยนต์ที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป ทั้งรถยนต์ (4.3% YoY) และรถจักรยานยนต์ (2.3 % YoY) ตามการยืดอายุการใช้งานรถเก่าจากผลของกำลังซื้อที่หดตัวต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ลดลง -0.5% YoY โดยเฉพาะเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ลดลงถึง -16.0% YoY ตามทิศทางที่ค่ายรถหันไปเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก ขณะที่ยางยานพาหนะเริ่มกลับมาขยายตัว 6.3% YoY นับตั้งแต่มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจากสหรัฐฯ สิ้นสุดลง

  • สำหรับภาพรวมทั้งปี 2567 คาดว่าผลจากปัจจัยข้างต้นจะทำให้การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์โดยรวมลดลง -7.5% ถึง -8.5% ส่วนมูลค่าส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์โดยรวมจะทรงตัวหรือลดลง -1.0%


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศมีทิศทางขยายตัว จาก (1) การขยายตัวของจำนวนรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 5 ปี ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.0-3.0% ซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการชิ้นส่วน REM และ (2) ปริมาณการผลิตรถยนต์ BEV และ HEV ที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หนุนให้อุปสงค์ชิ้นส่วนสำคัญที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น1/ ขณะที่มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.0-2.0% ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า  โดยประเภทชิ้นส่วนที่จะได้รับอานิสงส์จากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ได้แก่ แบตเตอรี่และระบบการจัดการแบตเตอรี่ (BMS) มอเตอร์ไฟฟ้าแบบลากจูง (Traction electric motors) ระบบควบคุมการขับขี่ (Drive Control Unit:  DCU) สายไฟ ขั้วต่อสายไฟ ชิ้นส่วนพลาสติกและยาง และชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่ชิ้นส่วนที่ใช้ในรถยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน (เช่น เครื่องยนต์ ชุดขับเคลื่อน เกียร์ หม้อน้ำ ท่อไอเสีย เป็นต้น) คาดว่าจะหดตัวชัดเจนขึ้นนับแต่ปี 2568 เป็นต้นไป (Deloitte, 25632/) จากแนวโน้มการขยายตัวของตลาดข้างต้น คาดว่า ปริมาณการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี สอดคล้องกับมูลค่าการลงทุนด้านการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ยังคงขยายตัว3/



 

1/ ที่ผ่านมา BOI ได้ส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ได้แก่ BYD, NETA, MG, CHANGAN, BMW และ GAC AION โดยคาดว่าจะทำให้การซื้อขายชิ้นส่วนสำคัญที่ใช้ในการผลิต EV ในประเทศมูลค่ากว่า 47,250 ล้านบาท (ประชะชาติธุรกิจ, 7 พฤศจิกายน 2567)
2/ Deloitte (2563) คาดว่า ยอดขายรถยนต์ ICE ทั่วโลกจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงระดับสูงสุดในปี 2568 ที่ 81.7 ล้านคัน ก่อนที่จะทยอยลดลงเป็นลำดับตามความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
3/ ปี 2566 มูลค่าการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในหมวดชิ้นส่วนยานยนต์ (รวมชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า) เพิ่มขึ้นถึง 218% (ที่มา: BOI)

 

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า


อิเล็กทรอนิกส์


ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD)


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิต (MPI) ของ HDD ลดลงต่อเนื่อง -5.4% YoY ตามทิศทางขาลงของความต้องการใช้ในประเทศซึ่งสวนทางกับอุปสงค์ของ SSD ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 17.9% YoY (7.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) การเข้าสู่รอบใหม่ของการเปลี่ยน PC ที่เริ่มปรากฏชัดในปี 2567 หนุนให้ยอดสั่งซื้อ PC ทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น  (2) การเติบโตของธุรกิจ Data Center ทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 34.7% ในปี 2567 (Gartner, 2567) และ (3) การผลิต HDD ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น จากการพัฒนาเทคโนโลยี HDD ให้ความจุต่อหน่วยเพิ่มขึ้น

  • ในช่วงที่เหลือของปี การผลิตของไทยยังคงมีแนวโน้มเริ่มกระเตื้องขึ้น รองรับการเข้าสู่การเปลี่ยน PC รอบใหม่ที่ยังคงต่อเนื่องในปีถัดไป จากปัจจัยข้างต้น ทำให้คาดว่าทั้งปี 2567 ปริมาณการผลิต HDD โดยรวมจะทรงตัวที่ -0.5% ถึง +0.5% ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้น 24.0-25.0%


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • การผลิต HDD มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นเมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยปัจจัยหนุนหลักมาจากการขยายการลงทุนของผู้ผลิตรายใหญ่ในไทยในช่วงที่ผ่านมา1/ และด้านอุปสงค์จากการขยายตัวต่อเนื่องของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น Cloud, Data center2/, 5G เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยอดขายโดยรวมของ HDD อาจเติบโตได้จำกัดจากอุปสงค์ในตลาดคอมพิวเตอร์ที่หันไปเน้นการพัฒนาคอมพิวเตอร์ AI ที่ส่วนใหญ่ใช้ SSD มากขึ้นซึ่งคาดว่าจะมียอดขายทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 114,225 เครื่องหรือสัดส่วน 43.0% ของยอดขายคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในปี 2568 (คาดการณ์โดย Gartner) ทิศทางดังกล่าว ทำให้คาดว่าในปี 2568-2570 การผลิต HDD จะเพิ่มขึ้น 7.0-8.0% และมูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้น 8.5-9.5% ต่อปี



 

1/ Seagate และ Western Digital มีการขยายการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต HDD ในไทยในช่วงปี 2566-2567 มูลค่า 1.6 และ 2.3 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
2/ คาดว่าการลงทุนในธุรกิจ Data Center ทั่วโลกในปี 2568 จะเพิ่มขึ้น 15.5% มูลค่า 3.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (Gartner, 2567)

 

แผงวงจรรวม (IC)


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก MPI และมูลค่าส่งออกของ IC ลดลง -22.1% และ -15.9% YoY ตามลำดับ จากภาวะกำลังซื้อที่รอการฟื้นตัวภายใต้ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก ภาวะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และความตึงเครียดทางการค้า ตลอดจนการกีดกันทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่อาจมีผลให้ความต้องการสินค้าในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ IC เป็นปัจจัยการผลิตหลักยังคงหดตัว อีกทั้งยังเผชิญการแข่งขันจากการส่งออกของจีนซึ่งประสบภาวะอุปทานส่วนเกิน โดยมูลค่าการส่งออก IC ของไทยไปตลาดสหรัฐฯ และจีนหดตัวถึง -40.0% YoY และ -9.5% YoY ตามลำดับ แม้ว่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้นของวัฏจักรของอุตสาหกรรม IC ในตลาดโลกก็ตาม

  • ในช่วงที่เหลือของปี การผลิตและมูลค่าส่งออกของไทยยังคงมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยข้างต้น คาดว่าทั้งปี 2567 ปริมาณการผลิต IC จะหดตัว -21.0% ถึง -22.0% และมูลค่าส่งออกจะหดตัว -11.0% ถึง -12.0 %


​แนวโน้มปี 2568-2570
 

  • ยอดสั่งซื้อ IC มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจัยหนุน ได้แก่ (1) อุปสงค์สำหรับ IC ทั่วโลกที่เริ่มทยอยฟื้นตัว โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.8% CAGR ในช่วงปี 2024-2033 (Precedence Research, 2024) (โดยเฉพาะใน High-density interconnect PCBs และ Flexible PCBs) (2) การเข้าสู่วัฏจักรขาขั้นของ PC และ smartphone ทั่วโลก (Gartner, 2567) (3) อุปสงค์ของรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดย IEA คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 18.2% ในช่วงปี 2024-2030 และ (4) อุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในอุสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นต้น-กลางน้ำ รถยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นต้น ทำให้คาดว่าในปี 2568-2570  การผลิต IC จะเพิ่มขึ้น 6.0-7.0% และมูลค่าส่งออกจะขยายตัว 8.0-9.0% ต่อปี


เครื่องใช้ไฟฟ้า


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณผลิตเพิ่มขึ้น 6.2 % YoY (อยู่ที่ 41.1 ล้านหน่วย) ตามยอดขายในประเทศที่เพิ่มขึ้น 2.4% YoY (อยู่ที่ 11.2 ล้านหน่วย1/) โดยมีปัจจัยหนุนจากมาตรการ Easy E-Receipt ที่ขยายวงเงินลดหย่อนภาษีเป็น 5 หมื่นบาท (มีผลช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 67) และภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ยอดขายเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น 12.3% YoY อย่างไรก็ตาม ยอดขายเครื่องไฟฟ้าบางประเภทหดตัว เช่น ตู้เย็น (-6.6% YoY) หม้อหุงข้าว (-11.6% YoY) และเครื่องซักผ้า (-4.8% YoY) จากผลของภาระหนี้ครัวเรือนและเงินเฟ้อที่ยังสูง บั่นทอนให้กำลังซื้อโดยรวมของผู้บริโภคยังคงซบเซา ส่วนมูลค่าส่งออกลดลงเล็กน้อยที่ -0.6% YoY จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน และต้นทุนด้านพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง

  • ในช่วงที่เหลือของปี ยอดขายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยข้างต้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกจะได้รับปัจจัยหนุนจากการเริ่มเข้าสู่รอบการเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ ทำให้คาดว่าทั้งปี 2567 ยอดผลิตและยอดขายในประเทศจะเพิ่มขึ้น 5.5-6.5% และ 2.0-3.0% ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าส่งออกจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยที่ 0.0 ถึง -1.0%


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ปริมาณการผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.0-3.0 % ต่อปี ตามทิศทางตลาดในประเทศและการส่งออก โดยยอดจำหน่ายในประเทศมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น 3.0-4.0 % ต่อปี อานิสงส์จาก (1) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (2) การพัฒนาเทคโนโลยีของเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มีฟังก์ชันการใช้งานที่อำนวยความสะดวกมากขึ้น ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกจากผู้ผลิตจีน และสินค้าพรีเมียมจากผู้ผลิตญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ (Euromonitor, 2566) (3) การแข่งขันด้านกลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่เข้มข้นขึ้นในช่วงที่กำลังซื้อกำลังฟื้นตัว และ (4) ความต้องการเครื่องปรับอากาศที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีขนาดมากกว่า 10,000 BTU ขึ้นไป ที่มีฟังก์ชันส่งเสริมการประหยัดพลังงานรองรับแนวโน้มการขึ้นค่าไฟฟ้า และการออกมาตรฐานประหยัดไฟเบอร์ 5 แบบใหม่ล่าสุด(ปี 2567) ที่แสดงข้อมูลของประสิทธิภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอุปสงค์ที่ลดลงของเครื่องซักผ้าตามการเติบโตของธุรกิจสะดวกซัก อาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมยังเติบโตในอัตราไม่สูงนัก ส่วนด้านการส่งออกจะขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี ตามการเข้าสู่รอบใหม่ของการเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้านับตั้งแต่วิกฤต COVID-19 และการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า


1/ รวม 5 หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าหลัก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น หม้อหุงข้าว และเครื่องซักผ้า

 

อุตสาหกรรมอื่นๆ


เครื่องมือแพทย์


สถานการณ์ปี 2567

 
  • อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทั้งโรคติดเชื้อ (9 เดือนแรก จำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ +57.9% YoY และโรคมือ เท้า ปาก +44.6% YoY) โรคจากมลพิษทางอากาศซึ่งมีผู้ป่วยมากกว่า 9 ล้านคน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งยังมีการขยายสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น 30 บาทรักษาทุกที่ และขยายบริการด้านทันตกรรม ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์เบื้องต้นได้มากขึ้น นอกจากนี้ กระแสการดูแลสุขอนามัยทำให้มีความต้องการอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อต่อเนื่อง (เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยางทางการแพทย์ น้ำยาตรวจหาเชื้อและการฉีดวัคซีน) จึงคาดว่าปี 2567 มูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะขยายตัวราว 7.0% YoY ด้านมูลค่าส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6.0-7.0% จากความต้องการถุงมือยาง/ถุงมือยางทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นในบางตลาด โดยภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ช่วง 9 เดือนแรก สรุปได้ดังนี้ 

    • การผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์แพทย์อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2566 สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์เฉลี่ยที่ 97.0 เทียบกับ 96.7 ช่วงเดียวกันปี 2566 โดยเพิ่มขึ้นมากในหมวดถุงมือยางทางการแพทย์ (สัดส่วน 90% ของปริมาณผลิตเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด) +19.4% YoY  และอุปกรณ์การแพทย์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (เช่น หมวกและเสื้อคลุม) +40.4% YoY อย่างไรก็ตาม การใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 54.8% ชะลอลงจาก 60.7% ปี 2566 ผลจากการเร่งผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์ที่เติบโตรวดเร็วในปีก่อนหน้า

    • มูลค่าส่งออกเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น 12.3% YoY อยู่ที่ 1.0 แสนล้านบาท โดยกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง (สัดส่วน 86.7% ของมูลค่าส่งออกเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด) +11.7% YoY จากหมวดถุงมือยาง/ทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น +15.9% YoY ตามความต้องการของตลาดสหรัฐฯ และจีน ขณะที่กลุ่มครุภัณฑ์ (สัดส่วน 11.1%) +17.0% YoY และน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค (สัดส่วน 2.2%) +13.7% YoY โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัวค่อนข้างดี ได้แก่ สหรัฐฯ (+24.7% YoY) จีน (+8.9% YoY) และฝรั่งเศส (+7.4% YoY)

    • ด้านมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้น 6.5% YoY อยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง (สัดส่วน 44.9% ของมูลค่านำเข้าเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด) +7.0% YoY ขณะที่กลุ่มครุภัณฑ์ (สัดส่วน 36.6%) +12.4% YoY  และน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค (สัดส่วน 18.5%) หดตัว -4.5% YoY โดยสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ อุปกรณ์และเครื่องใช้ทางศัลยกรรมที่ใช้ไฟฟ้า (+18.9% YoY) และอุปกรณ์ทางจักษุวิทยา (+6.1% YoY) ส่วนประเทศที่ไทยนำเข้าเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น ได้แก่ เยอรมนี (+4.2% YoY) และจีน (+2.7% YoY) 


แนวโน้มปี 2568-2570
 

  • ตลาดเครื่องมือแพทย์มีแนวโน้มเติบโตในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.5-7.0% ต่อปี ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.5-8.5% ต่อปี จากปัจจัยหนุน ได้แก่ (1) อัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยและผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (2) การเติบโตของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งไทยมีจุดแข็งด้านค่ารักษาพยาบาลและคุณภาพการรักษา (3) กระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน หนุนความต้องการอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อหรือป้องกันโรค (4) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีทิศทางเติบโต หนุนความต้องการเครื่องมือแพทย์จากไทยเพิ่มขึ้น และ (5) นโยบายภาครัฐส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียน จูงใจนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น


 

ธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง

รับเหมาก่อสร้าง


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 มูลค่าการลงทุนภาคก่อสร้างโดยรวมหดตัว -1.8% YoY โดยเป็นการหดตัวของการก่อสร้างภาครัฐ -2.2% YoY ปัจจัยสำคัญจากความล่าช้าของการดำเนินการงบประมาณปี 2567 ที่ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐหดตัว -2.6% YoY ขณะที่มูลค่าลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนหดตัว -1.3% YoY ตามการหดตัวของการก่อสร้างในหมวดที่อยู่อาศัย (-5.3% YoY)

  • ในช่วงที่เหลือของปี 2567 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณหลังจากล่าช้าในช่วงก่อนหน้า แต่ยังเผชิญปัจจัยฉุดรั้งจาก (1) ราคาพลังงานที่ยังคงมีความผันผวนส่งผลต่อราคาวัสดุก่อสร้างบางประเภทและต้นทุนการขนส่ง (2) ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่อาจส่งผลให้ผู้รับเหมาก่อสร้างโดยเฉพาะรายเล็กส่งงานล่าช้ากว่ากำหนดหรือทิ้งงาน และ (3)  การลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ยังต้องรอการฟื้นตัว จึงคาดว่าภาพรวมมูลค่าการลงทุนก่อสร้างปี 2567 มีแนวโน้มหดตัว -1.0% ถึง -1.5%  โดยเป็นการหดตัวในการก่อสร้างภาครัฐ -1.0% ถึง -1.5% และภาคเอกชน -1.5% ถึง -2.0%  ตามลำดับ


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัว 4.0-4.5% ต่อปี ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  และโครงการใหม่ขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนงบประมาณปี 25681/ รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของจังหวัดหลัก

    • การลงทุนก่อสร้างภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 4.5-5.0% ต่อปี ปัจจัยหนุนจากการเร่งรัดดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่อเนื่องตามแผนปฏิบัติการ พ.ศ. 2566-2570 อาทิ  การเร่งพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ (ระยะที่ 1 และ 2) รวมทั้งรถไฟทางคู่สายใหม่ ซึ่งจะหนุนการเชื่อมโยงกับนิคมอุตสาหกรรมและการค้าชายแดน รวมถึงความคืบหน้าของโครงการเกี่ยวเนื่องกับ EEC ได้แก่ (1) โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 (การสร้างท่าเรือใหม่ขนส่งก๊าซธรรมชาติและปิโตรเคมี) คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2570  (2) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 คาดว่าจะเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F (เน้นขนส่งสินค้าอุตสาหกรรม) เป็นลำดับแรกภายในปี 2568 และ (3) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ล่าช้าในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568

    • การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 3.5-4.0% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก (1) การก่อสร้างโรงงานและอาคารสำนักงานในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ตามภาวะการลงทุนที่คาดว่าจะกระเตื้องขึ้น (2) การก่อสร้างโรงแรมเพื่อรองรับการกลับมาเติบโตของการท่องเที่ยว (3) การก่อสร้างห้างสรรพสินค้าและพื้นที่ค้าปลีก จากการขยายสาขาของผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างๆ และ (4) การฟื้นตัวของหมวดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค

    • ผู้รับเหมารายใหญ่ยังคงมีความได้เปรียบรายกลางและย่อย จากโอกาสในการประมูลงานก่อสร้าง และมีอำนาจการต่อรองสูงกับผู้ผลิต/ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง ขณะที่ผู้รับเหมารายกลางและรายย่อยยังต้องพึ่งพารายได้จากการรับเหมาช่วง (Sub contract) จากผู้รับเหมารายใหญ่ ทำให้ผลประกอบการมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม ผู้รับเหมาโดยเฉพาะรายเล็กอาจเผชิญปัญหาด้านแรงงานที่ยังขาดแคลน และต้นทุนวัตถุดิบที่ยังสูง

1/ อาทิ (1) โครงการเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ในหลายพื้นที่ยุทธศาสตร์ มูลค่าการลงทุนรวม 3-5 แสนล้านบาท  โดยจะมีพื้นที่ก่อสร้างคาสิโนสัดส่วน 10% ของพื้นที่ทั้งหมด และ (2) โครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย เพื่อแก้ไขปัญหาชายฝั่งถูกกดเซาะและป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ
 

วัสดุก่อสร้าง


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศของวัสดุก่อสร้าง (ปูนซีเมนต์ เหล็กก่อสร้าง กระเบื้องปูพื้น/บุผนัง และสุขภัณฑ์เซรามิก) ลดลงทุกประเภท ตามมูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมที่หดตัว -1.8% YoY  อย่างไรก็ตาม คาดว่าไตรมาส 4 อุปสงค์วัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มหดตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากโครงการก่อสร้างของภาครัฐมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ หลังจากล่าช้าอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่การลงทุนก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ยังคงซบเซาจากสต็อกเหลือขายที่ยังสูง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศทั้งปี 2567 มีแนวโน้มหดตัวตามภาวะก่อสร้างโดยรวม

  • ปริมาณการส่งออกวัสดุก่อสร้าง 9 เดือนแรกหดตัว ตามภาวะตลาดหลักที่ยังซบเซา โดยปูนซีเมนต์ลดลง -12.9.% YoY อยู่ที่ 1.1 ล้านตัน จากการหดตัวของตลาดกัมพูชา (-54.2% YoY) และเมียนมา (-22.3% YoY) อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกเหล็กก่อสร้างเพิ่มขึ้น 16.4% YoY โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของเหล็กเส้นถึง 36.2% YoY อยู่ที่ 2.2 แสนตัน ส่วนหนึ่งจากการขยายตัวของตลาดหลัก อาทิ แคนาดา (638% YoY) และสปป.ลาว (66.0% YoY) ด้านปริมาณการนำเข้าหดตัวจากความล่าช้าของโครงการภาครัฐ และอุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งเหล็กก่อสร้าง (-16.4% YoY) และกระเบื้อง (-0.3% YoY) ขณะที่สุขภัณฑ์เซรามิกเพิ่มขึ้น (6.5% YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการในภาคก่อสร้างที่ไม่ใช่หมวดที่อยู่อาศัย คาดว่าทั้งปี 2567 ปริมาณการส่งออกและนำเข้าวัสดุก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มหดตัวเมื่อเทียบกับปี 2566

  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง 9 เดือนแรกปรับลดลง -0.3%YoY จากการลดลงในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์ (-2.6% YoY) ตามราคาในตลาดโลก ผลจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ยังซบเซา ขณะที่ปูนซีเมนต์ลดลง (-0.4% YoY) จากราคาถ่านหินที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับช่วงที่เหลือของปี คาดราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จากการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณการก่อสร้างโครงการภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการต่อเนื่อง และความต้องการใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารจากอุทกภัย และต้นทุนพลังงานที่ยังทรงตัวสูงจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ของภาคอสังหาริมทรัพย์อาจยังชะลอตัวต่อเนื่อง จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ยังมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ขณะที่ราคาเหล็กอาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามตลาดโลก หลังการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีน ทำให้คาดว่าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างทั้งปี 2567 มีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2566



 

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจัยหนุนดังนี้

    • มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 4.5-5.0% ต่อปี ตามการลงทุนก่อสร้างโครงการของภาครัฐที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น โดยโครงการขนาดใหญ่ทั้งโครงการเดิมและโครงการใหม่จะเริ่มลงทุนก่อสร้างเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ รวมทั้งขยายงานโครงการเดิมเพื่อเพิ่มศักยภาพและรองรับการเติบโตของพื้นที่ต่างๆ ในอนาคต ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง  

    • มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโต 3.5-4.0% ต่อปี หนุนโดย (1) แรงเหนี่ยวนำของ Crowding-in-effects จากการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ (2) การก่อสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ตามภาวะการลงทุนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น รวมถึงการก่อสร้างโรงแรมเพื่อรองรับการกลับมาเติบโตของการท่องเที่ยว และ (3) การฟื้นตัวของหมวดที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะในปี 2569-2570 จากกำลังซื้อที่เริ่มทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC  และจังหวัดท่องเที่ยว รวมถึงจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค 

  • การส่งออกมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ปัจจัยหนุนจากการเร่งลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยเพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับแรงหนุนหลักจากนักลงทุนจีน

  • ราคาวัสดุก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มขยับขึ้น ตาม (1) อุปสงค์ในภาคก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการใหม่ที่มีขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการฟื้นตัวของโครงการที่อยู่อาศัย (2) การปรับราคาเพิ่มขึ้นของสินค้าบางประเภท อาทิ เหล็กก่อสร้าง ตามทิศทางราคาในตลาดโลกจากการทยอยฟื้นตัวของปริมาณการบริโภคเหล็กในจีน  และ (3) ต้นทุนพลังงานที่ทรงตัวสูง

  • กลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง:

    • คาดรายได้ของร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าในร้านค้าที่มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกครบวงจร  มากขึ้น โดยผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ อาทิ  (1) ปรับขนาดร้านค้าให้เล็กลงเพื่อขยายจำนวนสาขาเข้าไปในแหล่งชุมชนมากขึ้น  (2) การเปิดร้านค้ารูปแบบใหม่ร่วมกับผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม  (3) การเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างภายใต้ตราสินค้าของบริษัทตนเอง (4) การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการจำหน่ายผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และ  (5) การลงทุนขยายสาขากระจายสู่จังหวัดรองมากขึ้น รวมทั้งตลาดอาเซียนเพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน

    • รายได้ของร้านค้าวัสดุก่อสร้างดั้งเดิมมีแนวโน้มซบเซาถึงทรงตัว แบ่งเป็น (1) ร้านค้าส่ง ธุรกิจมีแนวโน้มทรงตัวถึงเติบโตเล็กน้อย เนื่องจากเผชิญการแข่งขันจากร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ที่ขยายสาขาไปยังพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคครอบคลุมทุกพื้นที่ และกลุ่มผู้ผลิตที่หันมาจำหน่ายสินค้าโดยตรงกับผู้รับเหมาก่อสร้าง (2) ร้านค้าปลีก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายเล็กและมีจำนวนมาก ซึ่งมักมีข้อจำกัดด้านเงินทุน กอปรกับสินค้าไม่หลากหลาย ทำให้ยังต้องพึ่งพาลูกค้าในพื้นที่ที่มีกำลังซื้อไม่สูงนัก

เหล็ก


เหล็กแผ่นรีดร้อน


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตอยู่ที่ 1.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเพียง 1.0% YoY จากความต้องการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ยังซบเซา โดยเฉพาะยานยนต์ สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่หดตัว -8.0% YoY โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน (Hot-rolled coils/sheet) และจากญี่ปุ่น (Hot-rolled P&O)  ที่ลดลงถึง -36.1% YoY และ -14.6% YoY ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปี 2567 ปริมาณการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราต่ำที่ 1.0-1.5%

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนอยู่ที่ 4.1 ล้านตัน ลดลง -4.7% YoY ตามยอดผลิตรถ (รถยนต์และรถปิคอัพ) ที่หดตัว -18.6% YoY ในช่วง 9 เดือนแรก ส่วนใหญ่มาจากผลของการหดตัวของยอดผลิตรถปิคอัพ (-22.8% YoY) ส่วนหนึ่งจากการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อที่ยังคงเข้มงวด และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ นอกจากนี้ ความต้องการจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าบางกลุ่ม เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เป็นต้น ที่ยังซบเซาจากผลกระทบของภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง  พิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ช่วง 9 เดือนแรกของปีที่หดตัว -2.5% YoY คาดว่าทั้งปี 2567ปริมาณการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนจะยังหดตัวอยู่ในช่วง -3.5% ถึง -4.0%

  • ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 1.0 หมื่นตัน ลดลง -57.4% YoY ในช่วง 9 เดือนแรก ตามการหดตัวของตลาดหลักอย่างเวียดนาม (สัดส่วน 55% ของปริมาณการส่งออก HR coils/sheets) ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาตีตลาดของเหล็กราคาถูกจากจีน โดยช่วง 4 เดือนแรกของปี เวียดนามนำเข้าเหล็ก HRC จากจีนจำนวน 2.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2566 (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, พ.ค. 67)

  • ​ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนอยู่ที่ 25,189 บาทต่อตัน ลดลง -6.4% YoY ในช่วง 9 เดือนแรก ตามทิศทางราคาในตลาดโลกและอุปสงค์จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ยังซบเซา คาดว่าทั้งปี 2567 ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนมีแนวโน้มลดลง -4.0% ถึง -6.0% เมื่อเทียบกับปี 2566 (26,571 บาทต่อตัน) หรืออยู่ที่ประมาณ 25,000-25,500 บาทต่อตัน


 

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ปริมาณการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนคาดว่าจะขยายตัว 3.0-3.5% ต่อปี หรือประมาณ 2.0 ล้านตันต่อปี แม้จะได้แรงหนุนจากทิศทางของอุปสงค์ที่จะกระเตื้องขึ้น แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่คาดว่ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากการที่ไทยไม่มีการผลิตเหล็กต้นน้ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนยังสูงเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างจีน อินเดีย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะจีนซึ่งได้มีการปรับกระบวนการผลิตเหล็กราคาถูกให้มีคุณภาพสูงขึ้นและควบคุมการปล่อยมลพิษในขั้นตอนการผลิต

  • ความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว คาดอยู่ที่ประมาณ 5.6 ล้านตันต่อปี หรือเติบโต 3.0-3.5% ต่อปี โดยคำสั่งซื้อหลักยังคงมาจากภาคการผลิตยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่น่าจะกระเตื้องขึ้น ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราต่ำ จากการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศคู่ค้า

  • ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ภายใต้แรงกดดันจากการทะลักเข้ามาของสินค้านำเข้า ขณะที่ต้นทุนมีทิศทางเพิ่มขึ้นจากการปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดคาร์บอนเพื่อมุ่งสู่ผลิตภัณฑ์เหล็กรักษ์โลก (Green steel) อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร

เหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณ


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตอยู่ที่ 2.7 ล้านตัน ลดลง -7.3% YoY ตามการหดตัวในภาคก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ใช้เหล็กประเภทนี้ โดยคาดว่าทั้งปี 2567 ปริมาณการผลิตเหล็กทั้งสองประเภทนี้จะลดลงประมาณ -6.0% ถึง  -6.5%

  • ความต้องการใช้ในช่วง 9 เดือนแรก อยู่ที่ 2.8 ล้านตัน ลดลง -9.7% YoY ตามภาคก่อสร้างโดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐและและที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน โดยมูลค่าการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐและที่อยู่อาศัยในภาคเอกชนช่วง 9 เดือนแรกหดตัว -2.6% YoY และ -5.3% YoY ตามลำดับ สำหรับในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าความต้องการใช้เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ เนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณหลังจากล่าช้าอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก และการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างหลังน้ำท่วมในบางพื้นที่ ทำให้คาดว่าความต้องการเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณทั้งปี 2567 จะหดตัว -7.0% ถึง -8.0% อยู่ที่ 3.8 ล้านตัน

  • การส่งออกเหล็กเส้นมีปริมาณ 2.2 แสนตัน เพิ่มขึ้น 36.2% YoY ในช่วง 9 เดือนแรก ตามการขยายตัวของบางตลาดหลัก โดยเฉพาะแคนาดา (+638.0% YoY) และ สปป.ลาว (66.0% YoY) ส่วนการส่งออกเหล็กโครงสร้างรูปพรรณมีปริมาณ 2.3 แสนตัน เพิ่มขึ้น 2.1% YoY แรงหนุนจากตลาดหลักอย่างสิงคโปร์ (+39.6% YoY) แม้ว่าตลาดมาเลเซียหดตัว (-3.1% YoY) เนื่องจากมีการนำเข้าจากเกาหลีใต้แทน ขณะที่ปริมาณการนำเข้าเหล็กเส้นหดตัว -26.0% YoY ตามการหดตัวของอุปสงค์จากภาคการก่อสร้างในประเทศ ขณะที่เหล็กโครงสร้างรูปพรรณเพิ่มขึ้น 102.1% YoY ตามการเติบโตของการก่อสร้างโรงงานและคลังสินค้า โดยมีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 150% YoY

  • ราคาเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณในประเทศอยู่ที่ 22,652 บาท/ตัน ลดลง -7.0% YoY ในช่วง 9 เดือนแรก ตามทิศทางราคาในตลาดโลกที่ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาวะซบเซาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปีราคาเหล็กโลกยังมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง คาดทั้งปี 2567 ราคามีแนวโน้มหดตัว -6.0% ถึง -8.0%



 

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ปริมาณการผลิตคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง 4.0-4.5% ต่อปี อยู่ที่ 3.8-4.0 ล้านตันต่อปี ตามความต้องการใช้ที่มีแนวโน้มเติบโต 4.5-5.0% ต่อปี อยู่ที่ 3.9-4.0 ล้านตันต่อปี อานิสงส์จาก (1) การเร่งดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่อเนื่องตามแผนปฏิบัติการ พ.ศ. 2566-2570 (2) งานก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว (3) การก่อสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ตามภาวะการลงทุนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และ (4) การก่อสร้าง/ปรับปรุงโรงแรมเพื่อรองรับการฟื้นตัวเต็มที่ของธุรกิจท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกับผลิตภัณฑ์นำเข้าที่มีราคาต่ำกว่าจากจีนยังคงเป็นปัจจัยกดดันทั้งด้านการผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

  • ราคาเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามราคาวัตถุดิบหลัก (ราคาเศษเหล็กเพิ่มเพียง +0.6% YoY ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567) แม้จะมีหลายปัจจัยหนุนด้านราคาในตลาดโลก ได้แก่ แนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในตะวันออกกลาง และต้นทุนจากการปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดคาร์บอนตามกระแสรักษ์โลก


     

    ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์


ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วง 8 เดือนแรก ตลาดที่อยู่อาศัย1/ ถูกกดดันจากกำลังซื้อโดยรวมที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ผลจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในวงจำกัด ขณะที่หนี้ครัวเรือนทรงตัวสูงที่ 89.0% ของ GDP (ณ ก.ย. 67) และดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ทำให้ความสามารถในการกู้ยืมเงินของผู้บริโภคลดลง ขณะที่ภาระหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางลงมา ส่งผลให้ยอดขายที่อยู่อาศัย (เฉพาะยูนิตใหม่) อยู่ที่ 7,478 ยูนิต ลดลง -65.1% YoY ส่วนยอดขายรวม (ยูนิตใหม่สะสมจากช่วงก่อนหน้า) ลดลง -32.0% YoY อยู่ที่ 29,377 ยูนิต (ข้อมูลครึ่งปีแรก) ด้านจำนวนยูนิตเปิดขายใหม่ลดลง -37.3% YoY อยู่ที่ 35,007 ยูนิต ผลจากผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัวบ้านใหม่เพื่อรอดูสถานการณ์  โดยคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์หดตัว -54.5% YoY และ -28.3% YoY ตามลำดับ ขณะที่บ้านเดี่ยวยังขยายตัวได้ที่ระดับ 8.8% YoY ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการเติบโตของภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหนุนความต้องการที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะราคา 5 ล้านบาทขึ้นไปซึ่งเป็นที่นิยมของลูกค้าต่างชาติ ช่วยพยุงตลาดคอนโดมิเนียมไม่ให้หดตัวไปมากนัก ขณะที่การเบิกจ่ายภาครัฐที่เร่งขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ของปี จะช่วยหนุนกำลังซื้อปรับดีขึ้น ส่งผลให้ทั้งปี 2567 การเปิดขายยูนิตใหม่จะลดลง -20.0% YoY ขณะที่ยอดขายรวมจะลดลง -25.0% YoY

  • ราคาที่อยู่อาศัยโดยรวม2/ ช่วง 8 เดือนแรกของปีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 4.2% YoY ส่วนดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 3.6% และ 3.4% YoY ตามลำดับ  สำหรับทั้งปี 2567 คาดว่าราคาที่อยู่อาศัยจะปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามราคาที่ดินและต้นทุนการผลิตอื่นๆ อาทิ วัสดุก่อสร้างและค่าจ้างแรงงาน


แนวโน้มปี 2568-2570
 

  • ยอดขายที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี โดยได้แรงหนุนจาก (1) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการเร่งลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าและพื้นที่ที่รถไฟฟ้าเข้าถึง ขณะที่การเติบโตของภาคท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อชาวต่างชาติทั้งเพื่อลงทุนและเป็นบ้านหลังที่ 2 และ (2) มาตรการส่งเสริมการลงทุนภาครัฐ เพิ่มโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทย (Expatriates) (ณ ไตรมาส 2/2567 ชาวต่างชาติที่ทำงานและพำนักในไทยเพิ่มขึ้น 10.5% YoY มีจำนวน 95,327 คน) จะช่วยหนุนความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

  • ยูนิตเปิดขายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เน้นลูกค้าระดับกลางบน-บนซึ่งมีกำลังซื้อสูง และไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ โดยแนวโน้มของที่อยู่อาศัยแต่ละประเภท สรุปได้ดังนี้

    • บ้านแนวราบ (บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์): คาดยอดขายบ้านเดี่ยวจะเติบโตในอัตราต่ำ ส่วนใหญ่มาจากลูกค้ากลุ่ม Real demand ที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะกลุ่มระดับบนในพื้นที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ศูนย์การค้า โรงเรียนนานาชาติ และการคมนาคมที่สะดวก สำหรับทาวน์เฮ้าส์ ยอดขายมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากมีอุปทานเหลือขายค่อนข้างสูง ประกอบกับลูกค้าหลักอยู่ในกลุ่มระดับกลาง-ล่างซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง โดยผู้ประกอบการรายใหญ่จะสามารถประคองธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ ขณะที่รายกลาง-เล็กจะเผชิญการแข่งขันรุนแรงทั้งด้านต้นทุนการก่อสร้างและต้นทุนการเงิน

    • คอนโดมิเนียม: อุปทานจะขยายตัวในย่านใจกลางเมืองและตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ขณะที่ยอดขายมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะการกลับมาของกำลังซื้อต่างชาติ ทั้งนี้รวมถึงกลุ่มที่ต้องการซื้อเพื่อลงทุนหรือให้เช่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มอุปสงค์คอนโดมีเนียมย่านใจกลางเมือง ระดับ Luxury และ Super Luxury3/ รวมถึงโครงการรูปแบบ Branded Residence ที่บริหารโดยเครือโรงแรมระดับห้าดาวจะได้รับความนิยมจากลูกค้าและปิดการขายได้เร็ว ส่วนคอนโดมีเนียมในพื้นที่รอบนอกยังไม่เป็นที่นิยมเมื่อเทียบกับโครงการแนวราบในทำเลเดียวกัน และบางพื้นที่ยังมีอุปทานคงค้างระดับสูง อาทิ โซนเพชรเกษม บางพลัด บางนา และสมุทรปราการ

  • ประเด็นท้าทายของธุรกิจ ได้แก่ (1) หนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มทรงตัวสูงต่อเนื่องบั่นทอนกำลังซื้อผู้บริโภค และผู้กู้มีคุณภาพเครดิตที่ต่ำลงทำให้สถาบันการเงินขยายสินเชื่อได้จำกัด (2) ราคาที่อยู่อาศัยปรับสูงขึ้นในอัตราที่มากกว่ารายได้เฉลี่ยของผู้ซื้อบ้าน (3) อุปสงค์อาจถูกลดทอนจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย




1/ ที่อยู่อาศัยรวม หมายถึง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม
2/ ราคาที่อยู่อาศัยรวม หมายถึง ดัชนีราคาบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียม โดยคำนวณจากข้อมูลสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ 17 ธนาคาร ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
3/ คอนโดมิเนียมระดับ Luxury ราคา 250,000 – 349,999 บาท/ตารางเมตร  และระดับ Super Luxury ราคา 350,000 บาท/ตารางเมตรขึ้นไป

 

ที่อยู่อาศัย (6 จังหวัดหลักภูมิภาค)1/


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วงครึ่งปีแรก ตลาดที่อยู่อาศัยใน 6 จังหวัดหลักภูมิภาคได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ส่งผลให้ยอดขายรวมเพิ่มขึ้น 30.8% YoY ส่วนใหญ่มาจากยอดขายคอนโดมิเนียมที่เติบโตถึง 102.6% YoY โดยเฉพาะในภูเก็ต ขณะที่ยอดขายบ้านแนวราบลดลง -11.0% YoY ด้านยูนิตเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 44.2% YoY นำโดยคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 115.9% YoY และกระจุกตัวในพื้นที่ภูเก็ตและชลบุรี ส่วนบ้านแนวราบลดลง -20.5% YoY ด้านยอดโอนกรรมสิทธิ์โดยรวมลดลงทุกจังหวัด (ข้อมูล 8 เดือนแรกปี 2567) ยกเว้นภูเก็ตที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนยูนิตและมูลค่า โดยกำลังซื้อส่วนใหญ่มาจากชาวต่างชาติที่ต้องการบ้านหลังที่ 2 และกลุ่มที่ต้องการซื้อเพื่อลงทุนหรือให้เช่า 

  • ช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าการเติบโตต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยว รวมถึงภาคการผลิตและส่งออกที่กระเตื้องขึ้น ตลอดจนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณภาครัฐ จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและมีการจ้างงานมากขึ้น ช่วยหนุนอุปสงค์ที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวและพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ (เช่น EEC) จึงคาดว่าทั้งปี 2567 ยูนิตเปิดขายใหม่จะเพิ่มขึ้น 2.5% ส่วนยอดขายรวมเพิ่มขึ้น 2.0%




     

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ยอดขายที่อยู่อาศัยใน 6 จังหวัดหลักภูมิภาคมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี จากปัจจัยหนุน ได้แก่ (1) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องนำโดยภาคท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะหนุนให้การเดินทางสะดวกขึ้น (2) ความต้องการที่พักอาศัย/บ้านหลังที่ 2 สำหรับชาวไทยรายได้สูงและชาวต่างชาติที่เข้ามาพักอาศัยในไทย และ (3) การแข่งขันของธุรกิจยังไม่รุนแรงเท่าทำเลกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยโดยรวมปรับขึ้นไม่มากนัก

  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มเปิดโครงการเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้

    • ที่อยู่อาศัยแนวราบ: คาดว่าการเปิดโครงการใหม่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0% ต่อปี เพื่อรองรับกลุ่มที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real demand) ที่เป็นลูกค้าระดับกลางถึงบน ขณะที่การแข่งขันมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่จากส่วนกลางขยายการลงทุนสู่ภูมิภาคมากขึ้น จึงอาจกดดันการทำกำไรของผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการท้องถิ่น

    • คอนโดมิเนียม: คาดว่าการเปิดโครงการใหม่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0% ต่อปี ส่วนใหญ่จะอยู่ในภูเก็ตและชลบุรีซึ่งเป็นจังหวัดซึ่งเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติที่ต้องการซื้อเพื่อลงทุนและเพื่อเป็นบ้านหลังที่ 2 ส่งผลให้ผู้ประกอบการ (ทั้งผู้ประกอบการท้องถิ่นและรายใหญ่จากกรุงเทพฯ) มีแนวโน้มเร่งพัฒนาโครงการเพื่อรองรับความต้องการโดยเฉพาะผู้ซื้อจากรัสเซียและจีน

1/ ที่อยู่อาศัย 6 จังหวัดหลักภูมิภาค ประกอบด้วย เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น และภูเก็ต


อาคารเชิงพาณิชย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล


อาคารสำนักงาน


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วงครึ่งปีแรก ธุรกิจเผชิญภาวะอุปทานล้นตลาดต่อเนื่อง โดยพื้นที่ใหม่เข้าสู่ตลาด 224,086 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 66.3% YoY ส่งผลให้พื้นที่สะสมอยู่ที่ 9.7 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 3.7% YoY ขณะที่อัตราการเช่าพื้นที่สุทธิ1/ (Net take-up) เพิ่มขึ้น 17,755 ตารางเมตร หรือ 133.4% YoY ด้านความต้องการเช่าพื้นที่สะสมอยู่ที่ 7.9 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% YoY มีผลให้อัตราการเช่าปรับลดมาอยู่ที่ 81.5% จาก 84.3% ในช่วงเดียวกันปี 2566

  • ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีพื้นที่ใหม่เข้าสู่ตลาดมากกว่า 2 แสนตารางเมตร ขณะที่อุปสงค์จะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากบริษัทที่ต้องมีการขยับขยายพื้นที่สำนักงาน โดยเฉพาะสำนักงาน Grade A ขึ้นไป เนื่องจากมีส่วนส่งเสริมภาพลักษณ์และดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถเข้าร่วมงาน โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมาไทย ประกอบกับอัตราค่าเช่าถูกลงเมื่อเทียบกับช่วง COVID-19 ส่งผลให้ทั้งปี 2567 พื้นที่สำนักงานใหม่สร้างเสร็จจะเพิ่มขึ้น 4.8 แสนตารางเมตร ขณะที่อุปทานสะสมเพิ่มขึ้น 5.0% YoY ด้านความต้องการเช่าจะเพิ่มขึ้น 1.0% หรือ 70,000 ตารางเมตร (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปีละ 180,000 ตารางเมตรในปี 2017-2019) กดดันให้อัตราการเช่าเฉลี่ยลดลงสู่ระดับ 80.0% ขณะที่ค่าเช่าโดยรวมมีทิศทางปรับลดลงยกเว้นสำนักงาน Grade A+



     

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ความต้องการเช่าพื้นที่มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 1.0-2.0% ต่อปี (ปี 2558-2562 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.5% ต่อปี) จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหนุนให้ภาคธุรกิจขยายการจ้างงาน รวมถึงอุปสงค์จากผู้เช่าต่างชาติที่ต้องการสำนักงานคุณภาพดีและทันสมัย Grade A และ A+ ในทำเล CBD โดยเฉพาะอาคารใหม่ที่เป็น Green office ซึ่งมีการก่อสร้างด้วยมาตรฐานระดับโลก เช่น LEED หรือได้ใบรับรอง (เช่น ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้านสุขอนามัย หรือด้านการเชื่อมต่อระบบดิจิทัล) ซึ่งจะทำให้ผู้เช่าบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทได้เร็วขึ้น และทำให้เจ้าของอาคารสามารถกำหนดอัตราค่าเช่าได้สูงขึ้น รวมถึงมีโอกาสคืนทุนเร็วกว่าสำนักงานทั่วไป

  • อุปทานสำนักงานให้เช่ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อรองรับอุปสงค์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ คาดว่าอุปทานสำนักงานใหม่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.0-2.5% ต่อปี หรือประมาณ 4.3 แสนตารางเมตร ขณะที่อัตราการเช่าจะปรับลดสู่ระดับเฉลี่ย 79.0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สร้างแรงกดดันต่ออาคารเก่า (อายุมากกว่า 20 ปี ซึ่งมีมากกว่า 60% ของอุปทานสำนักงานทั้งหมด; ที่มา: JLL) ต้องเร่งปรับปรุงให้ทันสมัยและรักษาความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ผู้เช่าจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้นจากตัวเลือกพื้นที่สำนักงานที่เพิ่มขึ้น หรือมีโอกาสได้รับเงื่อนไขที่ดีขึ้นจากเจ้าของอาคาร

  • รายได้มีแนวโน้มเติบโตตามทำเลของสำนักงาน ดังนี้

    • สำนักงานให้เช่าใน CBD: รายได้มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะอาคารใหม่ Grade A และ A+ เนื่องจากมีการออกแบบและใช้เทคโนโลยีทันสมัย รวมถึงมีระบบบริหารจัดการที่ดี จึงเป็นที่ต้องการของผู้เช่า อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ที่ฟื้นตัวช้า ทำให้ค่าเช่าอาจปรับขึ้นได้ไม่มากนัก แต่จะอยู่ในระดับสูงกว่าพื้นที่อื่น

    • สำนักงานให้เช่าใน Non-CBD และพื้นที่ปริมณฑล: รายได้มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับลดลงโดยเฉพาะอาคาร Grade B และอาคารเก่า เนื่องจากผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลาง-เล็กที่มีความเปราะบางต่อภาวะเศรษฐกิจ จึงเป็นปัจจัยจำกัดการปรับขึ้นของอัตราค่าเช่า

1/ ​ความต้องการเช่าสุทธิ (Net take-up) หมายถึง พื้นที่ที่ถูกครอบครองโดยผู้เช่าที่อาจเพิ่มขึ้น/ลดลง ในปีนั้น ๆ
 

พื้นที่ค้าปลีกให้เช่า1/ 


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วงครึ่งปีแรก การเติบโตของภาคท่องเที่ยวหนุนธุรกิจค้าปลีกฟื้นตัวกระเตื้องขึ้น สะท้อนจากความต้องการเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้น 1.8% YoY (6.5 ล้านตารางเมตร) ส่วนใหญ่อยู่ในโครงการค้าปลีกใหม่ย่าน CBD ด้านพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้นจากพื้นที่ที่เคยปิดปรับปรุงกลับมาเปิดให้บริการใหม่ ส่งผลให้อุปทานพื้นที่สะสมเพิ่มขึ้น 1.9% YoY ที่ 6.9 ล้านตารางเมตร ส่งผลให้อัตราการเช่าปรับลดสู่ระดับ 95.1%

  • ช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าความต้องการใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวและเทศกาลปลายปี หนุนความต้องการเช่าพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะย่านกลางเมืองซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อในประเทศยังฟื้นตัวในวงจำกัด ประกอบกับจะมีอุปทานพื้นที่ค้าปลีกใหม่ทยอยสร้างเสร็จประมาณ 230,000 แสนตารางเมตร ส่งผลให้ทั้งปี 2567 อุปทานพื้นที่สะสมจะเพิ่มขึ้น 3.4% YoY ขณะที่ความต้องการเช่าเพิ่มขึ้น 2.2% YoY ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่ลดลงสู่ระดับ 94.3%
     


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ความต้องการเช่าพื้นที่ค้าปลีกมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.0% ต่อปี (ค่าเฉลี่ยปี 2560-2562 เพิ่มขึ้น 3.7% ต่อปี) จากปัจจัยหนุน ได้แก่ (1) การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยว โดยการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มอุปสงค์พื้นที่ค้าปลีกโดยเฉพาะย่านกลางเมือง (2) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของภาครัฐทำให้มีการขยายพื้นที่ค้าปลีกรองรับการขยายตัวของชุมชนเมืองตามมา และ (3) โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนที่กระจายไปในย่านปริมณฑล ช่วยเพิ่มอุปสงค์สินค้าและบริการครอบคลุมฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น

  • อุปทานพื้นที่ใหม่มีแนวโน้มเข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง โดยเฉพาะแผนการพัฒนาโครงการ Mixed-use ขนาดใหญ่หลายโครงการ (อาทิ One Bangkok และ Dusit Central Park ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2568) ส่งผลให้พื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0% ต่อปีหรือประมาณ 9 แสนตารางเมตร กดดันอัตราการเช่าลดลงสู่ระดับเฉลี่ย 92.5% ด้านค่าเช่ามีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับลดลงเล็กน้อย ยกเว้นพื้นที่ใจกลางเมืองที่ค่าเช่ามีแนวโน้มปรับสูงขึ้น

    • ศูนย์การค้าแบบปิด: รายได้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะทำเล กลางเมือง ซึ่งเป็นที่ต้องการของแบรนด์ใหญ่และแบรนด์ต่างประเทศ ขณะที่อุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกระจายไปในแถบชานเมืองซึ่งมีการขยายตัวของที่อยู่อาศัย (เช่น รังสิต และบางนา) ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ย่านกลางเมือง ส่งผลให้ค่าเช่ามีแนวโน้มปรับสูงขึ้น

    • คอมมูนิตี้มอลล์: รายได้มีแนวโน้มทรงตัว จากอุปทานที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลจากใช้เงินลงทุนไม่สูงมากและหาทำเลการพัฒนาโครงการได้ง่ายโดยเฉพาะย่านชานเมือง (เช่น รังสิต แจ้งวัฒนะ และลาดกระบัง) อย่างไรก็ตาม คาดว่าอุปสงค์จะฟื้นตัวช้ากว่าอุปทาน ผลจากลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มรายได้ระดับกลางลงมาต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว การปรับขึ้นค่าเช่าจึงทำได้จำกัด

    • พื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน: คาดว่ารายได้จะทรงตัว จากอุปทานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะย่านกลางเมืองที่มีการพัฒนาโครงการ Mixed-use หลายโครงการ ขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มเติบโตในพื้นที่ที่เน้นรูปแบบทันสมัยและเดินทางสะดวก ส่งผลให้ค่าเช่ามีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับขึ้นเล็กน้อย



 

1/ พื้นที่ค้าปลีก หมายถึง ศูนย์การค้า 3 ประเภท ได้แก่ ศูนย์การค้าแบบปิด คอมมูนิตี้มอลล์ และพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน

 

นิคมอุตสาหกรรม


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วงครึ่งแรกปี 2567 ยอดขายและให้เช่าที่ดินมีจำนวน 4,017 ไร่ เพิ่มขึ้น 42.4% YoY ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ 3,480 ไร่ (สัดส่วน 87% ของยอดขายและเช่าพื้นที่นิคมฯ ทั่วประเทศ) เพิ่มขึ้น 40.8% YoY รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (รวมกรุงเทพฯและปริมณฑล) จำนวน 485 ไร่ (+83.0% YoY) สอดคล้องกับมูลค่าขอรับส่งเสริมและอนุมัติการลงทุนในภาคตะวันออกและภาคกลางที่เติบโต  34.9% YoY และ 26.9% YoY ตามลำดับ

  • สำหรับด้านอุปทานพบว่ายังไม่มีการจัดตั้งนิคมฯ ใหม่ ส่งผลให้มีจำนวนพื้นที่นิคมฯ ทั่วประเทศรวม 68 แห่ง รวมเป็นพื้นที่ 1.73 แสนไร่  คิดเป็น occupancy rate 79.0% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ที่ 75.7% โดยพื้นที่ภาคตะวันออกมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 78.2% (จำนวน 1.35 แสนไร่) ของจำนวนพื้นที่นิคมฯ ทั่วประเทศ

  • ในช่วงครึ่งหลังของปี ยอดขายและให้เช่าที่ดินมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามภาวะการลงทุน ส่งผลให้ทั้งปี 2567 ยอดขายและให้เช่าที่ดินมีแนวโน้มอยู่ที่ 6,000 ไร่  (+6.7% จากปี 2566)


แนวโน้มปี 2568-2570


ยอดขายและให้เช่าที่ดินมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย  7.0-8.0% ต่อปี หรือประมาณ 7,000 ไร่ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก (1) การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะหนุนการส่งออกของภาคอุตสาหกรรม (2) ทิศทางการเบี่ยงเบนการลงทุนจากประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะจีน มายังภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งไทย เพื่อเลี่ยงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้น และ (3) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่คาดว่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยผู้ประกอบการนิคมฯ มีแนวโน้มปรับตัวสู่รูปแบบ Smart Park ที่เน้นทั้งความพร้อมในการให้บริการด้านเทคโนโลยีครบวงจร พร้อมกับมุ่งสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้น Bio-Circular-Green (BCG) มากขึ้น

  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก: ความต้องการซื้อหรือเช่าพื้นที่มีแนวโน้มขยายตัวดี จากข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งและนโยบายเร่งส่งเสริมการลงทุนใน EEC เช่น กรณี Google จะลงทุนสร้าง Data center แห่งแรกในนิคมอุตสาหกรรม WHA จ.ชลบุรี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พื้นที่นิคมฯ ใหม่มีแนวโน้มขยายตัวจำกัด เนื่องจาก (1) ราคาที่ดินที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง จากอุปทานที่ดินไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการของนักลงทุนรายใหญ่ที่ต้องการพื้นที่จำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นข้อจำกัดด้านผังเมืองที่ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ลงทุน (2) ขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับการพัฒนาโครงการในนิคมอุตสาหกรรมที่ยังล่าช้า เป็นต้น

  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลาง: ความต้องการซื้อหรือเช่าฯ จะยังเติบโตจากความได้เปรียบเชิงกายภาพด้านการคมนาคมขนส่ง หนุนให้รายได้ยังคงขยายตัวดี โดยเฉพาะรายได้จากค่าบริการสาธารณูปโภค และค่าเช่า

  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคอื่นๆ: ความต้องการซื้อหรือเช่าฯ ยังอยู่ระดับต่ำ เนื่องจากยังต้องรอการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจหลัก รวมทั้งการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในภาคต่างๆ ยังล่าช้า อาจมีผลให้รายได้ของนิคมฯ ในพื้นที่นี้ยังคงเติบโตได้จำกัด




 

ธุรกิจให้บริการ


โรงแรม


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ในช่วง 10 เดือนแรก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 28.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 29.3% YoY ปัจจัยสำคัญจาก (1) มาตรการ Ease of traveling ได้แก่ การให้วีซ่าฟรีแก่ 93 ประเทศ และการยกเว้นบัตร ตม.6 สำหรับด่านทางบก เป็นต้น และ (2) จำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วน 88% ของช่วง 10 เดือนแรกปี 2562 (32.6 ล้านคน) มาจากนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุด 5.7 ล้านคน (สัดส่วน 62% ของนักท่องเที่ยวจีนช่วง 10 เดือนแรกปี 2562) ตามด้วยมาเลเซีย 4.2 ล้านคน (สัดส่วน 14%) และอินเดีย 1.7 ล้านคน (สัดส่วน 6%) ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางในประเทศ 148.0 ล้านทริป เพิ่มขึ้น 9.0% YoY ในช่วง 9 เดือนแรก โดยมีปัจจัยหนุนจากมาตรการภาครัฐ เช่น การหักลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (สูงสุด 15,000 บาท) และสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดสัมมนาในประเทศ (มีผล 1 พ.ค.-30 พ.ย. 67) รวมถึงอุปสงค์ที่อัดอั้นโดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ 

  • อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศ 9 เดือนแรก อยู่ที่ 71.3% เพิ่มขึ้นจาก 67.8% และ 71.1% ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 และ 2562 ตามลำดับ ขณะที่ราคาห้องพักปรับเพิ่มขึ้น 32.0% YoY ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,349 บาท (+38.6% YoY) เทียบกับ 9เดือนแรกปี 2562 ที่ระดับ 1,725 บาท

  • พื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมทั่วประเทศช่วง 7 เดือนแรกอยู่ที่ 5.8 แสน ตร.ม. ลดลง 3.1% YoY ตามพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ ภูเก็ต (สัดส่วน 29% ของพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมทั่วประเทศ) และชลบุรี (สัดส่วน 10%) ที่ลดลง 17.3%YoY และ 24.2% YoY ตามลำดับ หลังจากมีการขยายตัวมากแล้วในช่วงปลายปี 2566 ขณะที่กรุงเทพฯ (สัดส่วน 21%) ยังขยายตัวได้ 26.5% YoY

  • ช่วงที่เหลือของปีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังขยายตัวต่อเนื่อง อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวของภาครัฐ แม้ว่าตลาดนักท่องเที่ยวจีนยังกลับมาได้ไม่เต็มที่ จากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวไทยยังมีแรงฉุดจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ ท่ามกลางราคาพลังงานที่ยังสูงส่งผลต่อต้นทุนการเดินทาง คาดว่าทั้งปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยจะอยู่ที่ 35.6 ล้านคน (+26.5%) นักท่องเที่ยวไทยเดินทางในประเทศ 202 ล้านทริป (+8.8%) ซึ่งจะหนุนให้อัตราเข้าพักอยู่ที่ 72.0% (ปี 2566 อยู่ที่ 68.5%)


 

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะอยู่ที่ 40 ล้านคน ในปี 2568 (เท่าปี 2562) ก่อนจะปรับเพิ่มเป็น 43 และ 45 ล้านคนในปี 2569 และ 2570 ตามลำดับ จาก(1) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการวีซ่าฟรีที่ไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดระหว่างไทยและจีน ที่จะหนุนให้จีนยังเป็นตลาดอันดับ 1 ของไทยอย่างต่อเนื่อง (2) จำนวนเที่ยวบินที่ทยอยกลับมาเทียบเท่าช่วงปี 2562 และ (3) แหล่งท่องเที่ยวในไทยยังเป็นที่นิยมในอันดับต้นๆ ของโลก แม้ว่าปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์จะยังคงมีอยู่ นักท่องเที่ยวไทยเดินทางในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 220 ล้านทริปในปี 2568 และจะเพิ่มเป็น 235 ล้านทริปและ 260 ล้านทริปในปี 2569 และ 2570 ตามลำดับ จากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศที่คาดว่าจะยังออกมาต่อเนื่อง หนุนให้อัตราเข้าพักโดยรวมทยอยปรับขึ้นมาที่ 73-75% ในปี 2568- 2570

    • โรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก (กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต): คาดว่ารายได้จะเติบโตสูง โดยอัตราเข้าพักเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงถึง 80% ต่อปี จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

    • โรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญและจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค: คาดว่ารายได้จะทยอยปรับดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจประชุมและสัมมนา (MICE)

    • โรงแรมในจังหวัดอื่นๆ: คาดว่ารายได้มีแนวโน้มทรงตัว อัตราการเข้าพักเฉลี่ยจะยังคงต่ำกว่าพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ เนื่องจากส่วนใหญ่รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านไปจังหวัดอื่นที่เป็นศูนย์กลางภูมิภาค/แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ


โรงพยาบาลเอกชน


สถานการณ์ปี 2566

 
  • ช่วง 9 เดือนแรก รายได้ของธุรกิจเติบโตในช่วง 8.0-9.0% YoY ผลจาก (1) กิจกรรมทางธุรกิจกลับมาอยู่ระดับปกติ ทำให้ผู้ป่วยด้วยโรคทั่วไปเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ขณะที่ผู้ป่วย COVID-19 มีต่อเนื่อง และผู้ป่วยด้วยโรคตามฤดูกาล (เช่น ไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก) เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง (2) รายได้จากผู้ป่วยต่างชาติเติบโตโดยเฉพาะกลุ่ม Medical tourist (สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 26 ล้านคน) และกลุ่มที่เข้ามาทำงานในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และ (3) การเพิ่มสิทธิประโยชน์จากผู้ถือบัตรทองสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถรับการรักษาจากโรงพยาบาลที่ทำข้อตกลงกันจนสิ้นสุดกระบวนการรักษา (เดิมกำหนด 50,000 บาทต่อรายต่อปี) อย่างไรก็ตาม การปรับเกณฑ์ส่งผู้ป่วยของบางประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางที่ยังไม่ชัดเจนยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของรายได้

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าแรงหนุนการเติบโตของธุรกิจยังมาจากภาคท่องเที่ยว และผู้ป่วยต่างชาติเป็นหลัก ส่งผลให้รายได้ปี 2567 ของโรงพยาบาลเอกชนจะเพิ่มขึ้น 8.0-10.0% จากปี 2566

แนวโน้มปี 2568-2570


รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 9.0-10.0% ต่อปี จากปัจจัยหนุน ดังนี้

  • ความต้องการใช้บริการจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัย

    • ประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ของไทยจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 20.2% ในปี2566 เป็น 22.4% ของประชากรรวมในปี 2569 (ที่มา: สศช.) จึงต้องการบริการการแพทย์ที่ต่อเนื่องและซับซ้อน

    • การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases) และโรคตามฤดูกาล รวมถึงผู้ป่วยต่างชาติซึ่งคาดว่าจะมีเกณฑ์การส่งผู้ป่วยที่ชัดเจนจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical traveler) ที่จะเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของภาคท่องเที่ยว

  • ผู้ประกอบการโรงพยาบาลขยายฐานรายได้โดยเน้นบริการการแพทย์ที่เฉพาะทางมากขึ้น รวมถึงขยายบริการการรักษา (เช่น โรคซับซ้อน การรักษาทางไกล (Telemedicine) และการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิต) ตลอดจนการขยายสาขาต่อเนื่องหรือเพิ่มพื้นที่ให้บริการ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น

    • โรงพยาบาลขนาดใหญ่: ได้รับผลบวกจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปของต้นทุนคงที่ (เช่น อุปกรณ์การแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่มี Intensity สูง) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ฐานรายได้กว้างขึ้นจากการขยายสาขาต่อเนื่อง และมีความพร้อมในการให้บริการการรักษาโรคซับซ้อน

    • โรงพยาบาลขนาดกลาง-เล็ก: การมีฐานลูกค้าประกันสังคมจะช่วยลดความผันผวนของรายได้ แต่การแข่งขันที่รุนแรงจะทำให้โรงพยาบาลที่ไม่มีเครือข่ายถูกกดดันมากขึ้น




 

ธุรกิจค้าปลีก

 

ร้านค้าปลีกสมัยใหม่


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วง 9 เดือนแรก รายได้ของธุรกิจมีทิศทางปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จาก (1) การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพิ่มความต้องการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะอาหาร เครื่องดื่มและสินค้าจำเป็น (2) มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ อาทิ Easy E-Receipt และ (3) การขยายสาขาต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพิ่มโอกาสในการขยายฐานรายได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังคงถูกกดดันจากกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มรายได้ปานกลางลงมาที่มีความเปราะบาง จากภาระหนี้ครัวเรือนทรงตัวสูงต่อเนื่อง (ไตรมาส 3 อยู่ที่ 89.0% ของ GDP) สำหรับช่วงที่เหลือของปี ธุรกิจจะได้อานิสงส์จากการเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว และช่วงเทศกาลปลายปี รวมถึงโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (10,000 บาท) ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ส่งผลให้ปี 2567 รายได้จะเติบโตที่ระดับ 4.0-5.0% เทียบกับ 4.8% ปี 2566

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตในอัตราเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี จากปัจจัยหนุน ได้แก่ (1) กำลังซื้อในประเทศจะฟื้นตัวในทิศทางเดียวกับภาวะเศรษฐกิจไทย (2) การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (คาดจะอยู่ที่ 45 ล้านคนภายในปี 2570) ช่วยหนุนการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยว (3) การลงทุน Mega project ภาครัฐ ช่วยเพิ่มการจ้างงานและเพิ่มรายได้ รวมถึงสร้างแหล่งชุมชนใหม่และโอกาสในการขยายธุรกิจค้าปลีก เช่นเดียวกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่จะหนุนให้มีการลงทุนร้านค้าปลีกกระจายไปในพื้นที่รอบนอกมากขึ้น และ (4) การกระตุ้นยอดขายผ่านการพัฒนาแฟลตฟอร์มออมนิชาแนล ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายสาขาต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดชายแดนเพื่อรองรับกำลังซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการพัฒนารูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อขยายฐานรายได้และตอบสนองลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

  • แนวโน้มการเติบโตของร้านค้าปลีกแต่ละประเภท มีดังนี้

    • ห้างสรรพสินค้า คาดยอดขายจะฟื้นตัวเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี ผลจากลูกค้าเป็นกลุ่มรายได้กลาง-บนซึ่งมีกำลังซื้อสูง ขณะที่ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น (เช่น AI และ AR) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า รวมถึงขยายสาขาในทำเลศักยภาพในต่างจังหวัดและประเทศเพื่อนบ้าน

    • ดิสเคาท์สโตร์ คาดยอดขายเติบโตเฉลี่ย 2.5-3.5% จากการแข่งขันที่รุนแรง ขณะที่ลูกค้าบางส่วนอยู่ในกลุ่มเปราะบาง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายสาขาหลายรูปแบบ (Multi-format) ที่ครอบคลุมถึงกลุ่มลูกค้าระดับบน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล และจำหน่ายสินค้าในราคาต่ำกว่าร้านค้าประเภทอื่น

    • ซูเปอร์มาร์เก็ต คาดยอดขายเติบโตเฉลี่ย 6.5-7.0% ต่อปี เนื่องจากลูกค้าเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง ขณะที่ผู้ประกอบการมีการปรับรูปแบบร้านค้าให้ทันสมัยและเน้นสินค้าระดับไฮเอนด์ (เช่น สินค้าคุณภาพสูงจากทั่วโลก สินค้าสุขภาพ และสินค้าออร์แกนิค) เพื่อดึงดูดลูกค้า

    • ร้านสะดวกซื้อ ยอดขายมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 5.0-5.5% ต่อปี จากการขยายสาขาจำนวนมากกระจายครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ ทั้งยังมีการปรับกลยุทธ์การขายผ่านออนไลน์ บริการจัดส่ง และการเพิ่มสินค้าประเภทอาหารสดและเครื่องดื่ม


 

ธุรกิจบริการทางการเงิน


บัตรเครดิต


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วง 8 เดือนแรกของปี ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้น 6.0% YoY โดยมีแรงหนุนจากการเติบโตของภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ อาทิ Easy E-Receipt (1 ม.ค.-15 ก.พ. 67) รวมถึงการเติบโตต่อเนื่องของการค้าออนไลน์ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคระดับกลาง-บนยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่ออกโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่ม Non-bank (62:38) ด้านจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้น 1.2% YoY จากการเพิ่มขึ้นของกลุ่ม Non-bank เป็นหลัก (+3.2% YoY)

  • ช่วงที่เหลือของปี ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่เทศกาลใช้จ่ายปลายปี อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวระดับสูงยังคงกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่มเปราะบาง ส่งผลให้ทั้งปี 2567 คาดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเติบโต 7.0-8.0% ขณะที่จำนวนบัญชีจะเพิ่มขึ้นในช่วง 1.0-2.0% โดยผู้ให้บริการบัตรเครดิตมีแนวโน้มเข้มงวดเรื่องบัญชีใหม่มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหา NPLs ซึ่งปรับสูงขึ้นรวดเร็ว (ณ ไตรมาส 2 อยู่ที่2.8% ของสินเชื่อรวม จาก 2.5% ณ สิ้นปี


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.0-10.0% ต่อปี จากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ (1) กำลังซื้อในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยว ประกอบกับคนไทยมีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่า จึงเพิ่มโอกาสการใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้น (2) ผู้บริโภคนิยมชำระเงินผ่านช่องทางที่ไม่ต้องใช้เงินสด (Cashless) และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และ (3) การเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจ e-Commerce โดย Priceza คาดว่าตลาด e-Commerce จะอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาทในปี 2568 และ 2 ล้านล้านบาทปี 2573 จาก 932,000 ล้านบาทปี 2566 ขณะที่ภาคธุรกิจกระตุ้นยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์เต็มรูปแบบ ทั้งยังพัฒนาระบบชำระเงินดิจิทัลที่มีความพร้อมมากขึ้น สะท้อนการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตมีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคต

  • ผู้ประกอบการจะขยายฐานลูกค้ารายใหม่อย่างระมัดระวัง โดยเน้นกลุ่มรายได้สูงและกลุ่มที่มีศักยภาพเพื่อเพิ่มยอดใช้จ่าย และลดความเสี่ยงของการเกิด NPLจากกลุ่มที่มีฐานะการเงินเปราะบางหรือรายได้ฟื้นตัวช้า รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น เพื่อการท่องเที่ยว และเพื่อสุขภาพและความงาม



 

ธุรกิจบริการอื่นๆ


บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วง 9 เดือนแรกของปี รายได้ของธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และการเติบโตของภาคท่องเที่ยว ทำให้มีความต้องการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการโรมมิ่งและการโทรระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังนิยมทำธุรกรรมออนไลน์และการใช้งานดิจิทัลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่งผลให้ปริมาณการใช้งานข้อมูลสูงขึ้น ด้านผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์โดยส่งเสริมการขายโดยนำเสนอแพ็กเกจแบบเฉพาะบุคคล การให้ส่วนลดค่าเครื่อง และการรวมกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Bundling package) โดยพ่วงสินค้านวัตกรรมและคอนเทนต์ ทั้งยังมีการขยายโครงข่าย 5G ครอบคลุมประชากรกว่า 95% ทั่วประเทศ ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) เพิ่มขึ้นในช่วง 2.0 ถึง 3.0%

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่ารายได้จะเติบโตต่อเนื่องจากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลใช้จ่ายปลายปี (High season) และเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเข้ามาที่ระดับ 8-9 ล้านคนจะเพิ่มฐานลูกค้าระบบเติมเงิน ส่งผลให้รายได้ค่าบริการปี 2567 เพิ่มขึ้น 4.0-5.0%   
     

แนวโน้มปี 2568-2570

 

ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตในอัตราไม่สูงนัก คาดรายได้ค่าบริการจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5-4.5% ต่อปี จากปัจจัยหนุน ดังนี้

  • ความต้องการใช้บริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก

    • กำลังซื้อผู้บริโภคทยอยฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจไทย ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นเกินระดับ 40 ล้านคนในปี 2568 ช่วยขยายฐานลูกค้าโดยเฉพาะระบบเติมเงิน

    • ความนิยมใช้งานด้านข้อมูลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น บริการคอนเทนต์ด้านบันเทิง การใช้งานโซเชียลมีเดีย การทำธุรกรรมการเงิน และการซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้าและรายได้

    • การเปลี่ยนผ่านธุรกิจหรืออุตสาหกรรมสู่รูปแบบดิจิทัล เช่น ร้านค้าปลีกแบบอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสุขภาพ และการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในชีวิตประจำวัน

    • นโยบายภาครัฐ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล โครงการสมาร์ทซิตี้ และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้มีการขยายโครงข่ายด้านโทรคมนาคมกระจายทั่วประเทศ กระตุ้นความต้องการใช้งานจากผู้บริโภคในพื้นที่ใหม่ๆ



 

โลจิสติกส์


คลังสินค้าทั่วไป


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ปี 2567 ความต้องการเช่าคลังสินค้ามีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนจาก (1) กิจกรรมการผลิตและการค้ากระเตื้องขึ้นตามทิศทางการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ (9 เดือนแรก มูลค่าส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้น 4.1% YoY และ 5.2% YoY ตามลำดับ) (2) การเติบโตของภาคท่องเที่ยว มีส่วนหนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตขึ้น (3) การเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคาดปี 2567 ขยายตัว 9.5%YoY) ทำให้มีความต้องการพื้นที่สต็อกสินค้ามากขึ้น และ (4) การย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตต่างชาติมาที่ไทยโดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกก์จะดึง Supply chain ของอุตสาหกรรมทั้งสองตามมา ปัจจัยข้างต้นจะส่งผลให้อุปสงค์พื้นที่คลังสินค้าขยายตัว 3.5% จากปี 2566 โดยอยู่ที่ 5.9 ล้านตารางเมตร

  • ผู้ประกอบการขยายการลงทุนคลังสินค้าต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้เช่า ซึ่งบางส่วนเป็นการพัฒนาตามความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้พื้นที่คลังสินค้าเพิ่มขึ้น 4.0% จากปี 2566 ที่ระดับ 7.0 ล้านตารางเมตร อย่างไรก็ตาม พื้นที่คลังสินค้าที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าความต้องการเช่า กดดันอัตราการเช่าลดลงที่ระดับ 83.8%จาก 84.3% ปี 2566


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การทยอยฟื้นตัวของภาคการค้าระหว่างประเทศ ตามทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวในระดับ 2.5-3.0% ต่อปี (2) ความต้องการพื้นที่จัดเก็บสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางการลงทุน สะท้อนจากการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ BOI (9 เดือนแรกของปี 2567) เพิ่มขึ้น 100.6% YoY อีกทั้งไทยยังเป็น Hub ของอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ ซึ่งมีความพร้อมด้านซัพพลายเชน และ Hard disk ซึ่งจะถูกใช้เป็นส่วนประกอบของการลงทุน Data Center และ (3) การเติบโตของธุรกิจการค้าออนไลน์ที่ระดับเฉลี่ย 15% ต่อปี (ที่มา: e-conomy SEA 2024) ทำให้มีความต้องการพื้นที่เพื่อจัดเก็บวัตถุดิบ ปัจจัยขั้นกลาง รวมถึงผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มเพิ่มอุปทานพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าเฉลี่ย 4.5% ต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งคลังสินค้าแบบพร้อมใช้ (Ready-Built) หรือสร้างตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) หรือตามฟังก์ชั่นพร้อมใช้ (Built-to-Function) โดยทำเลศักยภาพ ได้แก่ BMR (โดยเฉพาะถนนบางนา-ตราด กม.20) เมืองศูนย์กลางภูมิภาค พื้นที่ EEC และจังหวัดชายแดนที่มีศูนย์ขนส่งหรือเปลี่ยนถ่ายสินค้ารวมถึงเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านสะดวก โดยอัตราการเช่าพื้นที่มีแนวโน้มปรับลดสู่ระดับเฉลี่ย 82.8%



 

บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วง 9 เดือนแรก ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลจาก (1) การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางครอบคลุมผู้ใช้บริการทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล ประกอบกับมีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการใหม่ (สายสีชมพู) ช่วยเพิ่มผู้โดยสาร (Feeder) สู่รถไฟฟ้าสายหลัก (2) ภาครัฐออกมาตรการนำร่องค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วงที่ 20 บาท (16 ต.ค. 66 - 30 พ.ย. 67) และ (3) การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งนิยมเที่ยวในเมืองหลัก เช่น กรุงเทพฯ สำหรับสถานการณ์โดยรวม สรุปได้ดังนี้

    • ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ารวมเฉลี่ย 1.3 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน (+8.5% YoY) อยู่ที่ 380.4 ล้านคน-เที่ยว โดย BTS (สัดส่วน 53.9% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด) เฉลี่ย 7.2 แสนคน-เที่ยวต่อวัน (+0.3% YoY) MRT (สัดส่วน 36.3%) เฉลี่ย 4.8 แสนคน-เที่ยวต่อวัน (+18.5% YoY) และ ARL (สัดส่วน 4.9%) เฉลี่ย  6.5 หมื่นคน-เที่ยวต่อวัน (+7.9% YoY) สำหรับสายสีเหลือง (สัดส่วน 2.7%) และสีชมพู (สัดส่วน 3.9%) เฉลี่ยที่ 3.5 หมื่นคน-เที่ยวต่อวัน (+53.7% YoY) และ 5.2 หมื่นคน-เที่ยวต่อวัน ตามลำดับ

    • รายได้ค่าโดยสาร (เฉพาะสายหลัก) เฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 14.9% YoY อานิสงส์จากการรับ Feeder จากรถสายรอง และการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารตามเงื่อนไขของสัมปทาน โดยรายได้ของ BTS (สายสีเขียว) เพิ่มขึ้น 10.5% YoY จากการรับ Feeder สายสีชมพูและเหลือง ส่วน MRT (สายสีน้ำเงิน) เพิ่มขึ้น 21.4% YoY  จากการรับ Feeder สายสีเหลืองและม่วง

​ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของภาคธุรกิจ ซึ่งจะมีการจัดอีเว้นท์และการหยุดยาวในช่วงเทศกาล รวมถึงการทยอยเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้า (เช่น โครงการ One Bangkok และ Dusit Central Park) หนุนความต้องการเดินทางเข้าเมืองเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทั้งปี 2567 ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ารวมจะเฉลี่ยที่ 1.4 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน (+12.8%) ขณะที่รายได้รวมของรถไฟฟ้าสายหลักเฉลี่ยต่อวันจะเพิ่มขึ้น 8.5% จากปี 2566 โดย BTS เพิ่มขึ้น 6.7% และ MRT เพิ่มขึ้น 11.5% ตามลำดับ   
 

แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7-9% ต่อปี หนุนรายได้เติบโตเฉลี่ย 8.0-10.0% ต่อปี โดยปัจจัยสนับสนุนจาก 

     (1) การเปิดโครงการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าและบริเวณที่จะมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (คาดยูนิตเปิดขายใหม่ใน BMR จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย3.0-4.0% ต่อปี)

     (2) นักท่องเที่ยวใช้รถไฟฟ้าเชื่อมต่อการเดินทาง รวมถึงการเข้า-ออกสนามบิน (โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเดินทางด้วยรถไฟฟ้า)

     (3) ภาครัฐมีนโยบายคงอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 20 บาทสำหรับรถไฟฟ้าทุกสีและทุกสายให้ครบภายในเดือนกันยายน 2568 จะจูงใจให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น และ

    (4) การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายใหม่ (สายสีชมพู (ส่วนต่อขยาย แจ้งวัฒนะ-เมืองทอง) เปิดปี 2568 และสายสีส้มตะวันออก คาดเปิดปี 2570) จะเพิ่มความสะดวกแก่ผู้โดยสารชานเมืองจากโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมถึงกันระหว่างสายใหม่และสายเดิม นอกจากนี้ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ายังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากพื้นที่เช่าเชิงพาณิชย์ในบริเวณรถไฟฟ้า



บริการขนส่งสินค้าทางทะเล


สถานการณ์ปี 2567

 
  • ช่วง 9 เดือนแรก ความต้องการขนส่งทางเรือมีทิศทางปรับสูงขึ้น ผลจาก (1) ภาคส่งออกของไทยกระเตื้องขึ้นตามการฟื้นตัวของการค้าโลก ซึ่ง WTO ประเมินว่าปี 2567 จะขยายตัว 2.7% ทั้งยังได้อานิสงส์จากการส่งออกสินค้ากลุ่มทดแทนสินค้าจีน (เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์) รวมถึงสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่จีนเร่งส่งออกหลังสหรัฐฯ มีแผนปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในปีนี้ และ (2) ค่าระวางเรือปรับสูงขึ้นจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทะเลแดง ทำให้มีการเปลี่ยนเส้นทางขนส่ง รวมถึงการขาดแคลนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ในบางช่วงเวลา โดยดัชนีเรือเทกอง (BDI) และเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (CCFI) เพิ่มขึ้น 59.7% YoY และ 57.5% YoY ตามลำดับ

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าความต้องการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคจะมีอยู่ต่อเนื่องจากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลปลายปี และการเข้าสู่ฤดูหนาวทำให้มีความต้องการขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ถ่านหินและก๊าซ ทำให้ทั้งปี 2567 รายได้ของธุรกิจเรือเทกองและเรือคอนเทนเนอร์1/ จะเติบโต 7-9%YoY และ 25-27% YoY จากที่หดตัว -48.6% และ -16.8% ในปี 2566 ตามลำดับ


แนวโน้มปี 2568-2570

 
  • คาดว่ารายได้ของธุรกิจจะเติบโต 3.0-6.0% ต่อปี จากปัจจัย (1) IMF คาดว่าเศรษฐกิจและการค้าโลกจะฟื้นตัวเฉลี่ย 3.2% และ 3.4% ต่อปี ขณะที่ UNCTAD คาดการค้าทางทะเลทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ย 2.5% ต่อปี ส่งผลบวกต่อความต้องการขนส่งสินค้าจากไทยตามมา (2) ค่าระวางเรือมีแนวโน้มทรงตัวสูงกว่าเมื่อเทียบช่วงก่อน COVID-19 จากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนในหลายพื้นที่ (3) เส้นทางขนส่งในเอเชีย (Intra Asia) ได้อานิสงส์จากการค้าการลงทุนของต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตมาไทยและอาเซียน และ (4) ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในเอเชีย ทำให้มีการเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างรถ-ราง-เรือได้สะดวกขึ้น โดยทิศทางของธุรกิจ สรุปได้ดังนี้

    • ธุรกิจเรือเทกองจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของความต้องการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ เหล็ก เชื้อเพลิงและถ่านหิน รวมถึงข้าวและธัญพืชต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความต้องการสะสมอาหารเพื่อป้องกันการขาดแคลน

    • ธุรกิจเรือคอนเทนเนอร์ได้อานิสงส์จากกำลังซื้อที่ทยอยฟื้นตัว และการย้ายฐานลงทุนจากต่างชาติในไทย ทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าขั้นกลางมากขึ้น

  • ต้นทุนของธุรกิจมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น จากกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อควบคุมมลพิษ อาทิ IMO ตั้งเป้าให้เรือขนส่งใช้เชื้อเพลิงที่ปลอดการปล่อยมลพิษ (ZEF) อย่างต่ำ 5% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดในปี 2573 และ EU เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการปล่อยก๊าซคาร์บอน (ETS) เพิ่มขึ้นจาก 40% ของปริมาณก๊าซที่ปล่อยในปี 2567 เป็น 75% ปี 2568 และ 100% ในปี 2569 รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนทำให้ต้นทุนค่าน้ำมันและค่าธรรมเนียมพิเศษพุ่งสูงในบางช่วงเวลา 


1/ ที่มา: บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET, MAI)

 

บริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์


สถานการณ์ปี 2567


ในปี 2567 รายได้รวมของธุรกิจขยายตัว 12.0-12.5% เพิ่มขึ้นจาก 9.8% ในปี 2566
 

  • บริการดิจิทัล รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ 14.5-15.0% ในปี 2567 (เทียบกับ 9.3% ในปี 2566) โดย 60% ของรายได้กลุ่มนี้มาจากแพลตฟอร์มบริการด้านการขนส่งอาหารพัสดุปลายทาง (Last-mile delivery) ขนส่งโดยสาร และขายปลีกออนไลน์ซึ่งอัตราการเติบโตเริ่มชะลอลงจากภาวะแข่งขันที่สูงขึ้น ส่วนกลุ่มที่มีรายได้เติบโตสูงมาจากธุรกิจแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้าน (1) การท่องเที่ยว (e-Tourism) ตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยว (2) การศึกษา (EdTech) ตามอุปสงค์ด้านการพัฒนาทักษะ Re-skill และ Up-skill ที่เพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และ (3) สุขภาพ (HealthTech) จากการขยายตัวของ Wearable devices สำหรับการแพทย์ก้าวหน้า (เติบโตรวมกันเฉลี่ย 60-70%) โดยอาศัยการพัฒนาฐานข้อมูลจากแพลตฟอร์มเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มในการขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้

  • ซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ รายได้มีแนวโน้มเติบโต 10.0-10.5% ในปี 2567 (เทียบกับ 12.8% ในปี 2566) โดยการขยายตัวส่วนใหญ่มาจากการประยุกต์ใช้ AI บนระบบฐานข้อมูล Cloud ที่แพร่หลายมากขึ้น ทำให้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่เน้นด้านความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อใช้ในงานที่ซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ กระแสการปรับโครงสร้างธุรกิจของ SMEs ไทยสู่ดิจิทัล ทำให้มีการลงทุนด้านซอฟต์แวร์โดยเน้นพัฒนาเว็บเพจสำเร็จรูปที่ตอบโจทย์ธุรกิจเฉพาะด้านมากขึ้น Asia Pacific SMB Digital Maturity Study ประเมินว่า ในปี 2567 การจัดซื้อหรืออัพเกรดซอฟต์แวร์เป็นมูลค่าลงทุนที่ SMEs ไทยให้ความสำคัญมากที่สุดในสัดส่วน 20% ของมูลค่าลงทุนทั้งหมด ขณะที่มูลค่าลงทุนในฮาร์ดแวร์ไอทีมีสัดส่วนเพียง 15%

  • ดิจิทัลคอนเทนต์ รายได้มีแนวโน้มฟื้นตัว 5.0-5.5% ในปี 2567 (จากที่ทรงตัวในปี 2566) ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มแอนิเมชั่นและคาร์เรคเตอร์ที่กระเตื้องขึ้นตามแนวโน้มการเร่งโปรโมทสินค้ารองรับภาวะกิจกรรมในภาคธุรกิจ ภาคท่องเที่ยวและสันทนาการที่เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่รายได้จากค่าดาวน์โหลดโปรแกรมเกมส์ใหม่ๆ เริ่มกลับมาฟื้นตัวจากศักยภาพของอุปกรณ์อัจฉริยะและระบบคลาวด์ที่มีศักยภาพสูงขึ้น  


แนวโน้มปี 2568-2570

 

รายได้ของธุรกิจโดยรวมคาดว่าจะเติบโตได้ 9.0-9.5% ต่อปี แรงขับเคลื่อนที่สำคัญมาจากธุรกิจบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ ขณะที่ดิจิทัลคอนเทนต์ยังเติบโตไม่สูงนัก

  • บริการดิจิทัล คาดว่ารายได้จะเติบโต 9.5-10.0% ต่อปี ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มมากขึ้น ทั้งด้านการซื้อสินค้าและบริการ การชำระเงิน การเดินทาง การรักษาสุขภาพ และสื่อออนไลน์ โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้บริการครบวงจร (All-in-one apps) รองรับมากขึ้น รายงาน E-conomy SEA 2023 คาดว่า ช่วงปี 2568 – 2573 มูลค่าตลาดธุรกิจบริการดิจิทัลด้านแพลตฟอร์มค้าปลีกและขนส่ง รวมทั้ง Online media ในไทย จะเติบโตโดยรวมเฉลี่ย 15.3% ต่อปี

  • ซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ คาดว่ารายได้จะเติบโตได้ 9.0-9.5% โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มการลงทุนพัฒนาระบบคลาวด์และศูนย์ข้อมูลซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ในไทยมากขึ้น (ตาราง 1) เอื้อต่อการใช้และให้บริการซอฟต์แวร์ผ่านอินเตอร์เน็ตที่จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยมีค่าใช้จ่ายถูกลง รองรับแนวโน้มภาคธุรกิจที่จะเน้นการใช้ข้อมูลเป็นปัจจัยขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กร

  • ดิจิทัลคอนเทนต์ คาดว่ารายได้น่าจะฟื้นตัวได้ที่ 4.0-4.5% โดยธุรกิจเกมส์มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากการพัฒนารูปแบบเกมส์ใหม่ๆ บนระบบคลาวด์ (Cloud gaming) ที่เล่นได้กับอุปกรณ์หลากหลาย ขณะที่แอนนิเมชั่นและคาร์เรคเตอร์จะได้แรงหนุนจากอุปสงค์ในการเช่าลิขสิทธิ์เพื่อผลิตสินค้ารองรับภาคธุรกิจและท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง






     

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา