แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2564-2566: อุตสาหกรรมไบโอดีเซล

ไบโอดีเซล

ไบโอดีเซล

แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2564-2566: อุตสาหกรรมไบโอดีเซล

21 พฤษภาคม 2564

อุตสาหกรรมไบโอดีเซลในระยะ 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามความต้องการใช้ในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี อยู่ที่ 5.3-5.7 ล้านลิตรต่อวัน ปัจจัยหนุนจาก (1) ความต้องการใช้ยานยนต์ดีเซลในภาคขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของธุรกิจ E-commerce รวมถึงจำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลสะสมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (2) มาตรการสร้างสมดุลน้ำมันปาล์มจากภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนความต้องการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น และยังมีปัจจัยหนุนด้านอุปทานน้ำมันปาล์มในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่ปลูก และ (3) ผู้ผลิตยานยนต์มีแนวโน้มพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อรองรับการใช้ไบโอดีเซลในสัดส่วนที่สูงขึ้น

ความท้าทายของอุตสาหกรรมมาจากความไม่แน่นอนของปริมาณวัตถุดิบน้ำมันปาล์มดิบและราคาที่อาจถูกแทรกแซงจากทางการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ อาจกระทบต่อความสม่ำเสมอของผลประกอบการในอนาคต
 

ข้อมูลพื้นฐาน


ไบโอดีเซล หรือที่เรียกว่า B100 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันพืช ไขมันสัตว์ หรือน้ำมันที่เหลือใช้จากการปรุงอาหาร นำมาผ่านกระบวนการทางเคมีร่วมกับอัลกอฮอล์ได้เป็นสารเอทิลเอสเทอร์ (Ethyl ester) หรือเมทิลเอสเตอร์ (Methyl ester) ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล จึงถูกนำมาผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดิบ เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
 

ความต้องการใช้และการผลิตไบโอดีเซลในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจาก ไบโอดีเซลถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั้งในยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา ละตินอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น รวมถึงบางประเทศในเอเชีย ส่งผลให้ปริมาณการใช้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 1.98 หมื่นล้านลิตรในปี 2553 เป็น 4.94 หมื่นล้านลิตรปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11.0% ต่อปี (ภาพที่ 1) ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 2.1 หมื่นล้านลิตร เป็น 4.83 หมื่นล้านลิตรหรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.0% ต่อปี ด้านผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ อินโดนีเซีย และบราซิล (ภาพที่ 2) ส่วนใหญ่ใช้เรปซีด เมล็ดทานตะวัน มะพร้าว ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน และสบู่ดำ สำหรับไทยเป็นผู้ผลิตไบโอดีเซลอันดับ 5 ของโลก วัตถุดิบที่ใช้ผลิตส่วนใหญ่มาจากน้ำมันปาล์มดิบ (Crude palm oil)

 



 
การผลิตไบโอดีเซลเพื่อใช้ผสมในน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ของไทยเริ่มต้นขึ้นในปี 2550 โดยระยะแรก ภาครัฐกำหนดให้ผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลที่สัดส่วน 2-3% เรียกว่า B2 และเพิ่มเป็น 5% (B5) 7% (B7) และ 10% (B10) ในปี 2554 ปี 2557 และปี 2562 ตามลำดับ (ภาพที่ 3) ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะปรับเพิ่ม/ลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลตามความเหมาะสมแต่ละช่วงเวลา ขึ้นกับความเพียงพอของผลผลิตปาล์มน้ำมัน    อาทิ ปี 2559 ปรับลดสัดส่วนไบโอดีเซลจาก 7% เหลือ 5% ในเดือนกรกฏาคม และเหลือ 3% เดือนสิงหาคมเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค ก่อนปรับเป็น 5% อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนเมื่อสต็อกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การผลิตไบโอดีเซลจะเน้นเพื่อใช้ในประเทศเกือบทั้งหมด ขณะที่การนำเข้าไบโอดีเซลจากต่างประเทศจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมธุรกิจพลังงาน
 
  
 
นโยบายและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมไบโอดีเซล โดยเฉพาะแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการผลผลิตน้ำมันปาล์มให้เพียงพอสำหรับการผลิตไบโอดีเซล รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนและสิทธิพิเศษต่างๆ จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี การลดหย่อนภาษีสำหรับกำไรสุทธิในอัตรา 50% ของอัตราปกติเป็นเวลา 5 ปี และการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร เป็นต้น
 

การผลิตไบโอดีเซลของไทยใช้น้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) เป็นวัตถุดิบหลัก นอกจากนี้ ยังผลิตได้จากน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (Refined Bleached and Deodorized Palm Oil: RBDPO) ไขน้ำมันปาล์ม (Palm stearin) หรือน้ำมันพืช (ภาพที่ 4) ทั้งนี้ ข้อมูลปี 2563 ไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 5.9 ล้านไร่ ให้ผลผลิตปาล์มดิบ 16.2 ล้านตัน นำมาผลิตเป็น CPO ได้ 2.9 ล้านตัน ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมไบโอดีเซล 1.4 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 48% ของปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ ส่วนที่เหลือนำไปใช้เพื่อการบริโภค

ภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลไม่สูงมากนักเนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย ข้อมูลล่าสุดเดือนธันวาคม 2563 พบว่าผู้ผลิตไบโอดีเซลที่ขึ้นทะเบียนกับกรมธุรกิจพลังงานมีจำนวน 13 ราย กำลังการผลิตรวม 8.5 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 8.3 ล้านลิตรต่อวันในปี 2562 ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ได้จากการกลั่น และการผลิตเคมีภัณฑ์ ผู้ผลิตรายสำคัญ ได้แก่ บจ.น้ำมันพืชปทุม บมจ.โกลบอลกรีนเคมีคอล บจ.นิว ไบโอดีเซล บจ.บางจากไบโอฟูเอล และ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ตามลำดับ (ตารางที่ 1) การผลิตไบโอดีเซลจะเน้นเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ส่วนการผลิตเพื่อใช้เองในชุมชน[1] ส่วนมากจะอยู่ในภาคเกษตรเขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
 


 

โครงสร้างต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นต้นทุน CPO คิดเป็นสัดส่วน 70% ของต้นทุนการผลิต ที่เหลือเป็นต้นทุนสารเคมี 20% และต้นทุนค่าดำเนินการ 10% สำหรับการกำหนดราคาไบโอดีเซลในประเทศ จะเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และใช้เป็นราคาอ้างอิง[2] ในการขายให้กับโรงกลั่นน้ำมันและ/หรือผู้ค้าน้ำมันตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง 

ผลประกอบการของธุรกิจขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) นโยบายพลังงานทดแทนของประเทศ[3] ในการบริหารจัดการสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลให้สอดคล้องกับปริมาณวัตถุดิบ[4] และ (2) ส่วนต่างระหว่างราคาขายและราคาวัตถุดิบ (โรงกลั่นน้ำมัน/ผู้ค้าน้ำมันมักมีอำนาจต่อรองเหนือผู้ผลิตไบโอดีเซล โดยอาจกำหนดราคารับซื้อมาก/น้อยกว่าราคาอ้างอิงจากทางการ)
 


 

สถานการณ์ที่ผ่านมา

 

อุตสาหกรรมไบโอดีเซลของไทยเติบโตตามปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ จำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลสะสมที่เพิ่มขึ้น รวมถึงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่กำหนดให้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่ง เพื่อดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์ม และความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ทำให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นจาก 1.72 ล้านลิตรต่อวันในปี 2554 เป็น 4.25 ล้านลิตรต่อวันในปี 2561 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.8% ต่อปี และคิดเป็นสัดส่วน 6.7% ของการใช้กลุ่มดีเซลหมุนเร็วทั้งหมด ในช่วงเวลาเดียวกัน ปริมาณการผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นจาก 1.73 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 4.34 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14.1% ต่อปี (ภาพที่ 5)
 


 

ราคาน้ำมันปาล์มที่ตกต่ำต่อเนื่องในปี 2562 ทำให้ภาครัฐยกระดับมาตรการพยุงราคา โดยผลักดันการใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 (สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่) เพิ่มขึ้น ผ่านการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันทั้ง 2 ประเภท ส่งผลให้ราคาน้ำมัน B10 และ B20 อยู่ต่ำกว่า B7 (น้ำมันดีเซลมาตรฐาน) ที่ 2 บาทและ 3 บาทต่อลิตร ตามลำดับ (เดือนตุลาคม 2562) ทำให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น 15.3% เป็น 4.9 ล้านลิตรต่อวัน (คิดเป็นสัดส่วน 7.6% ของการใช้กลุ่มดีเซลทั้งหมด) ขณะที่ราคาไบโอดีเซลเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 25 บาท/ลิตร ต่ำสุดในรอบ 10 ปี

ปี 2563 ความต้องการใช้ไบโอดีเซลถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การเดินทางลดลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง 6.1% ผนวกกับสถานการณ์ภัยแล้งช่วงต้นปีทำให้การขนส่งผลผลิตเกษตรลดลง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการใช้ไบโอดีเซล (B100) ยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยอยู่ที่ระดับ 5.1 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.3% จากปี 2562 (เทียบกับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11.3% ต่อปี ในช่วง 5 ปีก่อนหน้า) (ภาพที่ 6) คิดเป็นสัดส่วน 8.1% ของการใช้ดีเซลหมุนเร็วทั้งหมด (63.5 ล้านลิตรต่อวัน) โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่


 

  • ภาครัฐกำหนดให้ใช้น้ำมันไบโอดีเซลเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลด้วยสัดส่วนที่สูงขึ้นเพื่อให้สมดุลกับผลผลิตปาล์มดิบ โดยประกาศให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันมาตรฐาน ขณะที่ B7 เป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถเก่าและรถยุโรปบางรุ่นที่ยังรองรับ B10 ไม่ได้และ B20 เป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถขนาดใหญ่ (มีผลเดือนมกราคม 2563) รวมถึงเร่งขยายสถานีบริการน้ำมัน B10 ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังใช้มาตรการอุดหนุนราคา B10 และ B20 เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 บาทและ 4.2 บาทต่อลิตร[5] จาก 2.0 บาทและ 3.9 บาทต่อลิตร ช่วงต้นปี ส่งผลให้ส่วนต่างราคาขายปลีก B10 และ B20 ต่ำกว่า B7 เฉลี่ย 3.0 บาท และ 3.5 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ทั้งนี้ ปี 2563 ปริมาณการใช้ B20 อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 3.5 ล้านลิตรต่อวัน (สัดส่วน 5.5% ของการใช้กลุ่มดีเซลหมุนเร็วทั้งหมด) หดตัว 21.9% จากปี 2562 (ภาพที่ 7) B7 เฉลี่ย 43.8 ล้านลิตรต่อวัน (สัดส่วน 69.0%) หดตัว 26.8% และ B10 เฉลี่ย 16.2 ล้านลิตรต่อวัน (สัดส่วน 25.5% เพิ่มจาก 0.2% ปี 2562) (ภาพที่ 8)
 


 
  • จำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลจดทะเบียนสะสมอยู่ที่ 11.7 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประชาชนหันมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะ และอานิสงส์จากธุรกิจ E-commerce ทำให้ความต้องการใช้รถเพื่อการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จำนวนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจดทะเบียนสะสมเพิ่มขึ้น 2.1 แสนคัน (+6.6%) รถปิกอัพ 1.2 แสนคัน (+1.8%) รถบรรทุกขนาดใหญ่ 0.2 แสนคัน (+2.5%) รถแทร็กเตอร์ รถบดถนน และรถใช้ในการ เกษตร 0.1 แสนคัน (+2.2%) ขณะที่รถโดยสารลดลง 9 พันคัน (-6.9%)


ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ยอดจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปี 2563 ลดลง 1.5% เฉลี่ยอยู่ที่ 63.5 ล้านลิตรต่อวัน (ภาพที่ 9)
 


 

ปริมาณการผลิตไบโอดีเซล ปี 2563 ลดลง 0.3% เฉลี่ยอยู่ที่ 5.0 ล้านลิตรต่อวัน ตามความต้องการใช้น้ำมันดีเซลที่ลดลง โดยเฉพาะเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วง Lockdown แม้จะมีกำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ระบบ 2.2 แสนลิตรต่อวัน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมไบโอดีเซลต่ำสุดในรอบ 3 ปีอยู่ที่ 59.0%

ราคาขายอ้างอิงที่ผู้ผลิตไบโอดีเซลขายให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ 31.8 บาทต่อลิตรหรือ 36.7 บาทต่อกิโลกรัม
[6] เพิ่มขึ้น 46.8% จากปี 2562 ตามราคา CPO ที่เพิ่มขึ้น 57.9% และไขน้ำมันปาล์ม (Palm stearin) เพิ่มขึ้น 58.6% ผลจากภัยแล้งช่วงต้นปีทำให้อัตราสกัดน้ำมันปาล์มลดลง ประกอบกับการใช้ B10 เป็นน้ำมันเกรดมาตรฐาน ทำให้ความต้องการใช้ CPO ในภาคพลังงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำ CPO ไปผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงมีการส่งออก CPO มากกว่า 3 แสนตัน ทั้งนี้ ส่วนต่าง (Spread) ราคาขายไบโอดีเซลกับราคา CPO เพิ่มขึ้น 19.4% อยู่ที่ 8.6 บาทต่อกิโลกรัม (ภาพที่ 10)
 


 

แนวโน้มอุตสาหกรรม

 

ปี 2564-2566 วิจัยกรุงศรีคาดว่าความต้องการใช้ไบโอดีเซลจะเติบโตต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 5.3-5.7 ล้านลิตรต่อวันจาก 5.1 ล้านลิตรต่อวันในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี (ภาพที่ 11) โดยมีปัจจัยหนุนจาก
 


 

ความต้องการใช้ยานยนต์ดีเซลในภาคขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลจาก (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระดับเฉลี่ย 3.0% ต่อปี  (2) การขยายตัวของธุรกิจ E-commerce โดย e-Conomy SEA 2020 คาดว่ามูลค่าตลาด E-commerce ของไทยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2568 จาก 9 พันล้านดอลลาร์ปี 2563 หรือเติบโตเฉลี่ย 21.0% ต่อปี จะหนุนความต้องการรถขนส่งเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะรถปิกอัพ และ (3) จำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลสะสมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี

  • มาตรการสร้างสมดุลน้ำมันปาล์มจากภาครัฐจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนความต้องการใช้ไบโอดีเซล จากการประกาศใช้น้ำมัน B10 เป็นดีเซลเกรดมาตรฐานแทน B7 ในปี 2563 และมีโอกาสเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป เมื่อพิจารณาปัจจัยหนุนด้านอุปทานน้ำมันปาล์มในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลจากนโยบายภาครัฐส่งเสริมให้ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มเป็น 10 ล้านไร่ภายในปี 2572 จาก 5.9 ล้านไร่ปี 2563 ทำให้ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0-3.2 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบคาดว่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับปัจจุบัน โดยมาตรการภาครัฐข้างต้นยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มาเลเซีย กำหนดเป้าหมายใช้ B20 (น้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐาน) ในเดือนธันวาคม 2564 จาก B10 ในปัจจุบัน และอินโดนีเซีย กำหนดใช้ B40 ในปี 2565 จาก B30 ในปัจจุบัน
  • ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่มีแนวโน้มพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อรองรับการใช้ไบโอดีเซลในสัดส่วนที่สูงขึ้น ทั้งรถขนาดใหญ่ รถปิกอัพ รถอเนกประสงค์และรถบรรทุก โดยในปัจจุบัน อีซูซุและโตโยต้ามีส่วนแบ่งตลาดรถปิกอัพที่รองรับน้ำมัน B20 รวมกันประมาณ 80% ของยอดขายรถปิกอัพทั้งหมด
 
 

วิจัยกรุงศรีคาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว[7] ในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี ในช่วงปี 2564-2566 โดยน้ำมันดีเซล B7 จะมีปริมาณการใช้ลดลงเหลือ 28.0-30.0 ล้านลิตรต่อวันจาก 43.8 ล้านลิตรต่อวัน ปี 2563 ขณะที่ B10 จะเพิ่มขึ้นเป็น 32.0-38.0 ล้านลิตรต่อวันจาก 16.2 ล้านลิตรต่อวัน ปี 2563 ส่วน B20 คาดว่าจะมีปริมาณการใช้ไม่มากนัก เนื่องจากราคาใกล้เคียงกับ B7 และ B10 (ผลจากภาครัฐมีแนวโน้มลดการสนับสนุนด้านราคาเพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับผู้บริโภคมีความกังวลว่า B20 อาจส่งผลต่อเครื่องยนต์ในระยะยาว หรืออาจต้องมีการปรับจูน/ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องยนต์ใหม่) อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาครัฐจะผลักดันให้ใช้ไบโอดีเซลผสมในน้ำมันดีเซลด้วยสัดส่วนที่สูงกว่า B10 เมื่อมีความพร้อมในระยะต่อไป (ทางการวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลที่ 23% ภายในปี 2580) ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่าความต้องการใช้ไบโอดีเซลที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเพิ่มกำลังการผลิต ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมไบโอดีเซลจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 60.0-62.0% ของกำลังการผลิตทั้งหมด จาก 59.0% ปี 2563 (ภาพที่ 12)
 


ปัจจัยท้าทายของอุตสาหกรรมในระยะต่อไป ได้แก่ (1) การบริหารจัดการต้นทุนการผลิตในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากน้ำมันปาล์มดิบอาจขาดแคลนได้ในบางช่วง ซึ่งจะผลักดันให้ราคาปรับสูงขึ้น (2) การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคเชื่อถือด้านคุณสมบัติของน้ำมันไบโอดีเซล เนื่องจากเครื่องยนต์ดีเซลของรถจะมีความแตกต่างกันตามประเภทการใช้งาน การรับรองคุณภาพจากผู้ผลิตรถยนต์ในการใช้ B10 และ B20 ได้อย่างปลอดภัยกับรถยนต์ดีเซลจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในระยะยาว ยังต้องติดตามแนวโน้มการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าอาจกระทบความต้องการใช้ไบโอดีเซล โดยกระทรวงพลังงานตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไว้ที่สัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2573 (ปี 2563 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 3.5% ของยอดจดทะเบียนใหม่ทั้งหมด) และคาดว่าในปี 2568 รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาเทียบเท่ารถยนต์สันดาป ซึ่งจะทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันรวมถึงไบโอดีเซลชะลอตัวในอนาคต
 

มุมมองวิจัยกรุงศรี


ปี 2564-2566 คาดว่าอุตสาหกรรมไบโอดีเซลจะเติบโตต่อเนื่อง อานิสงส์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะทยอยฟื้นตัวและการเติบโตของธุรกิจการค้าออนไลน์ รวมถึงมาตรการรัฐที่สนับสนุนการใช้ไบโอดีเซลเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของปริมาณวัตถุดิบน้ำมันปาล์มดิบและราคาที่อาจถูกแทรกแซงจากทางการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร อาจกระทบต่อความสม่ำเสมอของผลประกอบการในอนาคต



 

[1] มีจำนวนกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นศูนย์การเรียนและโครงการส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลในชุมชน
[2] หลักเกณฑ์การกำหนดราคาไบโอดีเซลจะสะท้อนราคาวัตถุดิบหรือต้นทุนการผลิตที่แท้จริง โดยคำนึงถึงวัตถุดิบหลักในการผลิต 3 ชนิด ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ และไขน้ำมันปาล์ม [3] แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 หรือ AEDP 2018
[4] กรมธุรกิจพลังงานจะกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลตามปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบหลังจัดสรรสำหรับผลิตเพื่อการบริโภค
[5] มีผลตั้งแต่ 23 มีนาคม 2563
[6]  คำนวณจาก 0.865 ตัน เท่ากับ 1,000 ลิตร
[7] น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7, B10, B20 และดีเซลหมุนเร็วชนิดพิเศษ

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา