แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2565-2567: ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

รับเหมาก่อสร้าง

รับเหมาก่อสร้าง

แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2565-2567: ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

22 มิถุนายน 2565

Executive Summary


ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างปี 2565 มีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงจากต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นมากทั้งด้านค่าขนส่งและราคาวัสดุก่อสร้าง จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้างที่สำคัญโดยเฉพาะเหล็กและปูนซีเมนต์ปรับเพิ่มขึ้น  สำหรับปี 2566-2567 ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตตามมูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปี

ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridors: EEC) ที่มีแนวโน้มจะเร่งตัวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่ EEC ระยะที่ 2 (ปี 2565-2569) ขณะที่การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนทั้งโครงการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามกำลังซื้อที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่คืบหน้ามากขึ้น  นอกจากนี้ ผู้รับเหมารายใหญ่ยังมีโอกาสรับงานก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวและมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง 

 

มุมมองวิจัยกรุงศรี

 

ในปี 2565-2567 รายได้ของกลุ่มผู้รับเหมาที่เน้นโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการลงทุนก่อสร้างภาครัฐที่ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ขณะที่รายได้ของกลุ่มที่เน้นโครงการภาคเอกชนยังซบเซาในปี 2565 ก่อนจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในปี 2566-2567
 

  • ผู้รับเหมางานก่อสร้างโครงการวิศวกรรมโยธาขนาดใหญ่  คาดว่ารายได้จะฟื้นตัวตามการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยรายใหญ่และรายกลาง รายได้จะขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในการประมูลรับงานและมีศักยภาพในการบริหารงานก่อสร้างขนาดใหญ่  ทั้งโครงการลงทุนต่อเนื่องของภาครัฐ อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และโครงข่ายคมนาคมขนาดใหญ่ (Megaprojects) ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC รวมทั้งโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว

  • ผู้รับเหมางานก่อสร้างภาคเอกชนในกลุ่มที่อยู่อาศัยอาคารทั่วไป กลุ่มอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ รายได้มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในปี 2566-2567 โดยรายได้อาจยังทรงตัวในปี 2565 จากการแบกรับภาระต้นทุนน้ำมันแพงและวัสดุก่อสร้างมีราคาสูง โดยคาดว่ารายได้ของกลุ่มรายใหญ่และรายกลางจะฟื้นตัวได้ก่อนโดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นรับงานโครงการ Mixed-use น่าจะมี Backlog เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้รับเหมารายใหญ่มีโอกาสรับงานก่อสร้างภาคเอกชนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชยกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว สำหรับรายได้ของกลุ่มรายเล็กมีทิศทางชะลอตัว เนื่องจากงานก่อสร้างโครงการขนาดเล็กมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ประกอบกับข้อจำกัดด้านการบริหารจัดการต้นทุน และการขาดแคลนแรงงาน อาจส่งผลให้ผู้รับเหมากลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงด้านผลประกอบการและปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน


ข้อมูลพื้นฐาน

 

ในช่วงปี 2555-2564 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมมีสัดส่วนเฉลี่ย 8.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) (ภาพที่ 1) ส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างในประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะผู้ว่าจ้าง ได้แก่ งานภาครัฐและเอกชน โดยมีสัดส่วนของมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 59:41 ในปี 2564 (ภาพที่ 2)
 




งานก่อสร้างภาครัฐ: ส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คิดเป็นสัดส่วน 82% ของมูลค่าก่อสร้างภาครัฐทั้งหมด ที่เหลือเป็นโครงการก่อสร้างอาคารของหน่วยงานรัฐ (16%) และที่พักของข้าราชการ (2%) ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่มักได้เปรียบในการรับงานภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เนื่องจากมีทั้งประสบการณ์ ความชำนาญเฉพาะด้าน ศักยภาพทางการเงิน และการพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีในงานก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้รับเหมา SMEs จะมีโอกาสรับงานภาครัฐในลักษณะของผู้รับเหมาช่วง (Sub-contractors)

งานก่อสร้างภาคเอกชน: กระจุกตัวในงานก่อสร้างที่อยู่อาศัย มีสัดส่วนคิดเป็น 52% ของมูลค่าก่อสร้างภาคเอกชนทั้งหมด
ที่เหลือเป็นงานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (20%) และอื่นๆ (28%) เช่น โรงแรม และโรงพยาบาล (ข้อมูลปี 2563 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ทิศทางงานก่อสร้างภาคเอกชนขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นในการลงทุน เสถียรภาพการเมือง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ

ที่ผ่านมา ผู้รับเหมาของไทยยังขยายฐานลูกค้าออกไปรับงานต่างประเทศ (ส่วนมากเป็นผู้รับเหมารายใหญ่) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) เนื่องจากประเทศเหล่านี้อยู่ในช่วงของการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โครงข่ายถนน รถไฟ โรงไฟฟ้า รวมถึงงานก่อสร้าง ซ่อมแซม/ตกแต่ง อาคาร และที่อยู่อาศัย
 






ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในไทยมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ราย (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปี 2563) ผู้ประกอบการรายใหญ่มีจำนวนเพียง 691 ราย (หรือสัดส่วนเพียง 0.7% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด) อย่างไรก็ตาม รายได้ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 82% ขนาดกลาง 14% และขนาดเล็ก 4%  ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีรายได้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวลอปเมนต์ บมจ. ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ช.การช่าง มีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 17% ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 67% ของ 10 บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ภาพที่ 3 ข้อมูลปี 2564)

ทั้งนี้ การประเมินภาวะธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จะพิจารณา

1) ด้านตลาด:
หมายถึงโอกาสการรับรู้รายได้ของผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ การเมือง แผนและความก้าวหน้าของการลงทุนในโครงการของภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงกฎระเบียบการลงทุนของแต่ละประเทศที่อาจเอื้อหรือเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ

2) ด้านต้นทุน: หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาวัสดุก่อสร้างและค่าจ้างแรงงาน (ปัจจุบันธุรกิจก่อสร้างไทยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งด้านปริมาณและทักษะ ส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานมักต่ำกว่าค่าจ้าง) ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ โดยโครงสร้างต้นทุนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ประกอบด้วย  (1) ค่าวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ เหล็ก คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของต้นทุนรวม (2) ค่าจ้างแรงงาน 20% และ (3) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 20%[2] (ภาพที่ 4)
 




 

สถานการณ์ที่ผ่านมา

 

ปี 2564 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเติบโตต่อเนื่อง พิจารณาจากมูลค่าการลงทุนภาคก่อสร้างโดยรวมที่ขยายตัว 4.1% YoY คิดเป็นมูลค่า 1,364.8 พันล้านบาท (ภาพที่ 5) ปัจจัยหนุนจากการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ (สัดส่วน 59% ของมูลค่าการลงทุนก่อสร้างทั้งหมด) โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการต่อเนื่องอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้าสายใหม่  3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีชมพู สีเหลือง และสีส้ม  ขณะที่มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนโดยรวมยังไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนมากนัก จากภาวะก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยที่ยังหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา  ผลจากวิกฤต COVID-19 ทำให้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดมีความเข้มงวดขึ้น  แม้ว่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยจะเริ่มขยายตัวบ้าง โดยเฉพาะโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม

 


 

งานก่อสร้างภาครัฐ มีมูลค่า 804.5 พันล้านบาท ขยายตัว 6.4% (ภาพที่ 6) ปัจจัยสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากการลงทุนก่อสร้างอย่างต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

  • งานก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐาน (สัดส่วน 81% ของมูลค่าการก่อสร้างภาครัฐทั้งหมด) มูลค่าการลงทุนก่อสร้างขยายตัว 5.8% โครงการขับเคลื่อนหลักในช่วงปีที่ผ่านมา ได้แก่ (1) โครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ 3 เส้นทาง  ประกอบด้วย (i) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความคืบหน้างานก่อสร้างโดยรวม 89.5% (ii) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง คืบหน้า 88.7% และ (iii) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี คืบหน้า 83.9% (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2564) ทั้งนี้ รถไฟฟ้าทั้ง 3 สายมีแผนจะเปิดบริการภายในปี 2565 (2) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด เฟส 3 ในพื้นที่ EEC (เริ่มก่อสร้างเมื่อกรกฎาคม 2564)  

  • งานก่อสร้างประเภทอื่นๆ  ได้แก่ การก่อสร้างอาคารสำนักงานของหน่วยงานภาครัฐ (สัดส่วน 17%) และอาคารที่อยู่อาศัย (สัดส่วน 2%) มูลค่าการลงทุนก่อสร้างขยายตัว 8.4% และ 14.3% ตามลำดับ  จากการเร่งตัวของหลายโครงการให้ทันเป้าหมายการส่งมอบตามสัญญา เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่หดตัวจากความล่าช้าของบางโครงการในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างของกลุ่มผู้รับเหมาขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งหลายรายประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและขาดแคลนแรงงานอยู่ก่อนแล้ว

 

 

งานก่อสร้างภาคเอกชน มีมูลค่า 560.3 พันล้านบาท ขยายตัวเพียง 0.9% (ภาพที่ 7) ผลจากการหดตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย

  • งานก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย (สัดส่วน 50% ของมูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนทั้งหมด) มูลค่าการลงทุนก่อสร้างหดตัว 1.8% สอดคล้องกับจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 4 จังหวัดหลักภูมิภาค (เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น และภูเก็ต) ในปี 2564 โดยรวมที่ลดลง 14.2% (ภาพที่ 8) เนื่องจาก (1) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชะลอการเปิดโครงการใหม่ทั้งโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียม โดยหันไปเน้นการระบายสต็อกเพื่อรักษาสภาพคล่องและกระแสเงินสด ผ่านกลยุทธ์การขายหลายรูปแบบ อาทิ การให้ส่วนลดมากกว่าปกติ การปล่อยเช่า และการให้อยู่ฟรี 1-2 ปี เป็นต้น  (2) กำลังซื้อผู้บริโภคซบเซารุนแรงตามภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ อีกทั้งสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับในอดีต และ (3) กฎหมายฉุกเฉินให้หยุดการก่อสร้างเป็นการชั่วคราว (28 มิถุนายน –24 กรกฎาคม 2564) ในแคมป์ก่อสร้างบางพื้นที่โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล  โดยแรงงานต่างด้าวและแรงงานต่างจังหวัดบางส่วนออกจากพื้นที่ก่อสร้างและยังไม่กลับเข้าพื้นที่ได้ทั้งหมด ทำให้โครงการก่อสร้างหลายโครงการถูกเลื่อนออกไป

 


 
  • งานก่อสร้างโครงการที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย การก่อสร้างหมวดอาคารเพื่อการพาณิชย์ การก่อสร้างในหมวดการบริการและขนส่ง และการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม โดยมูลค่าการลงทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น 3.8% ส่วนหนึ่งเป็นแรงหนุนจากขยายตัวของการลงทุนก่อสร้างโรงงาน และอาคารสำนักงานในนิคมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ EEC สำหรับรองรับการผลิตเพื่อส่งออกที่ยังมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง

  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในปี 2564 เพิ่มขึ้น 8.0% จากที่หดตัว 1.8% ในปี 2563 (ภาพที่ 9) จากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาฯ เกือบทุกประเภท โดยเฉพาะสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (สัดส่วน 23% ของมูลค่าต้นทุนวัสดุก่อสร้างทั้งหมด) ราคาเพิ่มขึ้น 33.9% มากที่สุดเมื่อเทียบกับราคาประเภทอื่น  ผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบนำเข้าที่ใช้ในการผลิต อาทิ  เศษเหล็ก (Scrap) และเหล็กแท่งกลม (Billet) ตามทิศทางของราคาเหล็กในตลาดโลกจากผลของการลดลงของอุปทานจากจีน  ขณะที่ปูนซีเมนต์ (สัดส่วน 13%) ราคาปรับลดลง 1.1% ผลจากการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนที่รอการฟื้นตัว (ปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างภาคเอกชนคิดเป็นสัดส่วน 60%)  

 
 

ปี 2564 รายได้ของผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (10 รายแรกที่มีรายได้สูงสุด[3]) ลดลง 6.6%  โดยอัตรากำไรสุทธิ (Net profit margin) ปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.7% จาก 1.5% ผลกระทบจากการชะลอการพัฒนาโครงการใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และการที่ทางการสั่งปิดไซต์งานก่อสร้างชั่วคราว เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ทำให้โครงการก่อสร้างบางโครงการต้องล่าช้าออกไป (ภาพที่ 10)
 

 

สำหรับในช่วงไตรมาสแรก ปี 2565 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหดตัวจากผลกระทบด้านต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นมาก จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มต้นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทำให้อุปทานน้ำมันและวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็กส่วนหนึ่งหายไปจากตลาด เนื่องจากรัสเซียส่งออกน้ำมันมากเป็นอันดับ 2 ของโลก (2020) ขณะเดียวกันทั้งรัสเซียและยูเครนส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กไปทั่วโลกรวมกัน 12% ของปริมาณการส่งออกเหล็กทั้งหมดของทั้งโลก (ประมาณ 47 ล้านตัน) ธุรกิจก่อสร้างของไทยจึงเผชิญกับราคาวัสดุก่อสร้างและต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยช่วงไตรมาส 1/2565 ราคาเหล็กซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างหลักปรับเพิ่มขึ้นในอัตราสูง (เหล็กเส้นกลม (Rebar) 27,446 บาท/ตัน (+25.3% YoY) เหล็กตัวซี (Channel) 36,046 บาท/ตัน (+37.5% YoY)) ขณะที่ดัชนีราคาคอนกรีตและปูนซีเมนต์ปรับเพิ่มขึ้น 5.7% และ 4.8% ตามลำดับ (เหล็ก คอนกรีต และปูนซีเมนต์ มีสัดส่วน 23%, 16% และ 13% ในโครงสร้างต้นทุนรวมของธุรกิจก่อสร้าง ตามลำดับ) จากแรงกดดันด้านต้นทุนข้างต้น ทำให้บางโครงการประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนแรงงานจากการระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย บางโครงการจึงต้องชะลอการลงทุนก่อสร้างออกไปก่อน ทำให้มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมในช่วงไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 3.4 แสนล้านบาท ลดลง 3.7% YoY โดยการลงทุนก่อสร้างภาครัฐมีมูลค่า 2.1 แสนล้านบาท ภาคเอกชน 1.3 แสนล้านบาท ลดลง 2.1% YoY และ 6.1% YoY ตามลำดับ
 

แนวโน้มอุตสาหกรรม

 

วิจัยกรุงศรีคาดว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องในช่วงปี 2565-2567 ตามมูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมที่คาดว่าจะขยายตัว โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับEEC และโครงการขยายเส้นทางการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะทางรางและถนน รวมถึงการลงทุนโครงการก่อสร้างภาคเอกชน ทั้งในส่วนที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ปี 2565 ผู้รับเหมาจะยังคงเผชิญภาวะราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้างที่อยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งผู้รับเหมาต้องแบกรับภาระต้นทุน โดยผู้ประกอบการรายย่อยอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินและทิ้งงาน ซึ่งปัจจุบันผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการภาครัฐยังไม่ได้รับเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญา (ค่า K หรือ Escalation Factor) เป็นจำนวนมาก (ที่มา: สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย, ฐานเศรษฐกิจ 2 เม.ย.2565) ภาพรวมข้างต้น ทำให้คาดว่ามูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวมปี 2565 จะขยายตัวได้ในอัตราไม่สูงนักที่ 3.0-3.5% ก่อนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5-5.5% ในปี 2566-2567 (ภาพที่ 11)

 

 

มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ  ในช่วงปี 2565-2567 คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญมาจากการลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนฉบับล่าสุด พ.ศ. 2562 ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) (ภาพที่ 12)

 

 

  • โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC ตามแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะที่ 1 (2560-2564)  คาดว่าจะเริ่มทยอยดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ทั้งระบบรางและถนน อาทิ  (1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยเฟสแรกจะเริ่มก่อสร้างในช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา (2) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่วนแผนฯ ระยะที่ 2 (2565–2569)  มีเป้าหมายมุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การคมนาคม และโลจิสติกส์ของภูมิภาค รวมทั้งรองรับการเติบโตของ EEC ในอนาคต โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ 131 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 386,565 ล้านบาท เป็นการลงทุนในระบบรางและขนส่งมวลชนมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 43% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด  (ภาพที่ 13)

 
 
  • โครงการสำคัญในพื้นที่อื่นๆ เช่น โครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Terminal 2) โครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้  (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) โครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงของ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เป็นต้น (ตารางที่ 4)

 


มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชน มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว โดยคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย  3.0-4.0% ต่อปี ในช่วงปี 2565-2567  ปัจจัยหนุนจาก
 

  • โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย คาดว่าการเปิดโครงการใหม่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10.0% หรือประมาณ 7 หมื่นยูนิตต่อปี ในช่วงปี 2565-2567 (ภาพที่ 14)  โดยผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนการก่อสร้างบ้านแนวราบมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชานเมือง รองรับความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง โดยได้แรงหนุนจากการขยายโครงข่ายการคมนาคมของภาครัฐ ทั้งโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างชานเมืองสู่ตัวเมืองได้รวดเร็วขึ้น  ส่วนการก่อสร้างคอนโดมิเนียมจะปรับดีขึ้นในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมืองและแนวรถไฟฟ้าบางเส้นทาง  ซึ่งส่วนใหญ่จะเอื้อประโยชน์ต่อผู้รับเหมารายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 การลงทุนก่อสร้างโดยรวมอาจล่าช้าออกไป เนื่องจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มจากราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้าง แม้ผู้ประกอบการจะมีโอกาสผลักภาระต้นทุนโดยการปรับขึ้นราคาที่อยู่อาศัย แต่ก็อาจทำได้จำกัดเนื่องจากกำลังซื้อยังฟื้นตัวช้า โดยสมาคมรับสร้างบ้านระบุว่าราคาบ้านมีแนวโน้มปรับราคาเพิ่ม 5-8% ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565

 

 
  • การก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมได้รับผลดีจากการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการ EEC โดยผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมมีแผนลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมใหม่และพัฒนาที่ดินเพื่อขายและสร้างโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายกลุ่ม S-Curve อาทิ นิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก ใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี นิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา (รูปแบบร่วมดำเนินงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ.) คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2566

  • โครงการก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชย์ แบ่งเป็น (1) การก่อสร้างพื้นที่ค้าปลีก (Retail space) มีแนวโน้มขยายตัวตามแผนการลงทุนของผู้พัฒนาโครงการ (ภาพที่ 15) เพื่อรองรับการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน  และภาคการท่องเที่ยว และ (2) การก่อสร้างอาคารสำนักงาน (Office building) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการลงทุนในภาคธุรกิจ ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชย์ในปัจจุบันจะมีลักษณะเป็นโครงการ Mixed-use รองรับรูปแบบการใช้ชีวิตสมัยใหม่ของสังคมเมืองมากขึ้น  โดยโครงการที่มีแผนลงทุนในช่วงปี 2565-2567 ทั้งที่อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างและกำลังจะเริ่มก่อสร้าง มีพื้นที่รวมกันประมาณ 1 ล้านตารางเมตร (ตารางที่ 5)

 
 


 

ราคาวัสดุก่อสร้างโดยรวม ในปี 2566-2567 คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยจากปี 2565 แต่จะยังทรงตัวในระดับสูง (ภาพที่ 16) ปัจจัยหลักจาก (1) การปรับขึ้นของราคาพลังงานที่มีผลต่อต้นทุนการผลิต และการขนส่ง  อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งยังเอื้อให้ผู้รับเหมารายใหญ่มีอำนาจต่อรองด้านราคากับผู้ผลิต/ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง น่าจะทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ในอัตราไม่สูงนัก (2) การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบนำเข้าตามภาวะตลาดโลก อาทิ เศษเหล็ก (Scrap) และเหล็กแท่งกลม (Billet) ซึ่งมีผลให้ราคาเหล็กจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตามทิศทางราคาตลาดโลก แม้ปัญหาอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกจะคลี่คลายลงบ้าง จากการลดกำลังการผลิตเหล็กของจีน (3) การฟื้นตัวของภาคก่อสร้าง หนุนความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะปูนซีเมนต์และเหล็กก่อสร้าง และ (4) มาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการใช้สินค้า (วัสดุก่อสร้าง) ที่ผลิตในประเทศผ่านมาตรการ “Made in Thailand”
 


 

แนวทางการปรับตัวของผู้รับเหมา

 
  • รายใหญ่ อาศัยความได้เปรียบจากการมีอำนาจการต่อรองสูงกับผู้ผลิต/ผู้ค้าวัสดุก่อสร้างในการบริหารต้นทุนด้านวัตถุดิบ รวมทั้งการหาช่องทางธุรกิจต่อเนื่องจากการรับเหมาก่อสร้างเพื่อรักษาฐานรายได้และกำไร เช่น การบริหารจัดการระบบรถไฟฟ้า ส่วนด้านการลงทุนจะเน้นเพิ่มการลงทุนด้านเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวการณ์ขาดแคลนแรงงาน ลดระยะเวลาก่อสร้าง และแก้ไขข้อผิดพลาดระหว่างการก่อสร้าง อาทิ BIM (Building Information Modeling) Prefabs (Prefabricated Building Components)  (ภาพที่ 17)


 

  • รายกลางและรายย่อย ส่วนใหญ่เป็นการบริหารงานแบบครอบครัว มีเงินทุนจำกัด จึงมีอำนาจการต่อรองต่ำกว่า โดยจะรับเหมาช่วงจากผู้รับเหมารายใหญ่ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงมองหาช่องทางเพิ่มรายได้จากงานซ่อมแซมและปรับปรุงอาคาร

 

การทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในตลาดต่างประเทศ ผู้รับเหมาของไทยมีโอกาสรับงานเพิ่มขึ้นในประเทศกลุ่ม CLMV ซึ่งมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ซึ่งรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งกำลังมีการขยายการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก รองรับกระแสการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ภาพที่ 18) โดยเฉพาะจากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม โอกาสส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่แค่เพียงผู้รับเหมารายใหญ่ เนื่องจากมีความพร้อมด้านเงินทุน เทคโนโลยี และช่องทางการลงทุนที่มาจากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ (Business connection) กับนักลงทุนท้องถิ่น

 

ปัจจัยเสี่ยงของการเข้าไปรับงานก่อสร้างในประเทศ CLMV ได้แก่ ด้านกฎระเบียบในการว่าจ้างที่อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เงื่อนไขสัญญารับเหมาที่มีความไม่แน่นอน ความไม่มั่นคงด้านเสถียรภาพทางการเมืองในบางประเทศ รวมถึงการแข่งขันกับผู้รับเหมาต่างชาติรายอื่นๆ ซึ่งแนวทางในการลดความเสี่ยงข้างต้นผู้รับเหมาไทยควรหาพันธมิตรทางธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานใน CLMV อาทิ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์/ผู้รับเหมาท้องถิ่น รวมถึงบริษัทจัดหาแรงงานท้องถิ่น เพื่อให้มีช่องทางในการรับงานได้ต่อเนื่อง
 

 


ปัจจัยท้าทายที่อาจจำกัดการเติบโตของธุรกิจก่อสร้างและรายได้ของผู้ประกอบการรับเหมาในช่วงปี 2565-2567 ที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาวะราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้างที่ยังอยู่ในระดับสูงผลจากสงครามยูเครน ซึ่งผู้รับเหมาต้องแบกรับภาระต้นทุน

  • สต็อกที่อยู่อาศัยยังทรงตัวในระดับสูง (ภาพที่ 19) ขณะเดียวกันอุปทานใหม่ยังเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยโครงการใหม่ๆ ของภาคเอกชนยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ

 

 
  • ภาวะขาดแคลนแรงงานจากผลกระทบของ COVID-19 อาจเป็นอุปสรรคให้โครงการก่อสร้างล่าช้า ทั้งนี้ แรงงานก่อสร้างต่างด้าวน่าจะยังไม่เดินทางกลับมาทำงานในไทยเท่ากับระดับก่อนเกิด COVID-19 และแรงงานบางส่วนที่เดินทางไปต่างจังหวัดยังไม่กลับสู่ตลาดแรงงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ภาพที่ 20)



 

[1] ค่า K คือ ดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน ณ ระยะเวลาที่ผู้รับเหมาก่อสร้างเปิดซองประกวดราคา เปรียบเทียบกับระยะเวลาที่ส่งงานในแต่ละงวด เพื่อใช้สำหรับคำนวณเงินชดเชยค่าก่อสร้างให้กับผู้รับเหมา เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้างในช่วงระหว่างการดำเนินโครงการก่อสร้าง (ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์)

[2] คำนวณจากโครงสร้างต้นทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ และตารางปัจจัยการผลิต-ผลผลิต สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

[3] ได้แก่ 1) Christiani & Nielsen (Thai) PLC. 2) Power Line Engineering PLC.  3) Pre-Built PLC.  4) Syntec Construction PLC. 5) Unique Engineering And Construction PLC. 6) Nawarat Patanakarn PLC.  7) Ch. Karnchang PLC.  8) Sino-thai Engineering And Construction PLC. 9)  Italian-Thai Development PLC. และ 10) Thai Polycons PLC.

 

 



 
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา