ภาษีง่ายๆ คำนวณได้ด้วยตัวคุณเอง
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ภาษีง่ายๆ คำนวณได้ด้วยตัวคุณเอง

icon-access-time Posted On 13 ธันวาคม 2562
by Krungsri The COACH

การคำนวณภาษี เป็นเรื่องยากจริงหรือ? การคำนวณภาษีจำเป็นต้องใช้โปรแกรมคำนวณอย่างเดียวจริงหรือไม่ สำหรับมือใหม่ด้านภาษีหรือคนที่เพิ่งมีเงินเดือนอาจมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องยุ่งยากน่าปวดหัว แต่แท้จริงแล้วการคำนวณสามารถทำได้ง่ายกว่าที่คิด


บทความนี้จะนำพาคุณไปรู้จักเทคนิคต่างๆ เพื่อการคำนวณภาษีด้วยกระดาษใบเดียว สิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีเพียงแค่รายรับรายการค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีของตัวเองเท่านั้น นี่คือการคำนวณภาษีแบบ Easy ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งต้องคำนวณ 2 วิธีควบคู่กันไป คือ

วิธีที่ 1 คำนวณแบบขั้นบันได
วิธีที่ 2 คำนวณแบบเหมา
 
สำหรับมนุษย์เงินเดือนปกติเลือกคำนวณภาษีด้วยวิธีที่ 1 วิธีเดียวเท่านั้นครับ
 
รู้เช่นนี้แล้ว เรามาลองคำนวณภาษีง่ายๆ ด้วยตัวเองกันเลย
 

วิธีที่ 1

คำนวณภาษีง่ายๆ ด้วยตัวเอง
สิ่งที่ต้องรู้ก่อนคำนวณภาษี
รายได้
รายได้ต่อปีทั้งหมด
จากงานประจำและงานเสริม
ค่าใช้จ่าย
ต้นทุนในการทำธุรกิจ หากรับเป็นเงินเดือนสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% ของค่าใช้จ่าย โดยไม่เกิน 100,000 บาท
ค่าลดหย่อน
ค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ ประจำปีนั้นๆ
อัตราภาษี
สามารถดูอัตราภาษีของตัวเองได้จากด้านล่าง
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ขั้นเงินได้สุทธิตั้งแต่ เงินได้สุทธิจำนวนสูงสุดของขั้น อัตราภาษี ภาษีสูงสุดในแต่ละขั้นเงินได้ ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น
0 - 150,000 150,000 5 ยกเว้น* 0
เกิน 150,000 - 300,000 150,000 5 7,500 7,500
เกิน 300,000 - 500,000 200,000 10 20,000 27,500
เกิน 500,000 - 750,000 250,000 15 37,500 65,000
เกิน 750,000 - 1,000,000 250,000 20 50,000 115,000
เกิน 1,000,000 - 2,000,000 1,000,000 25 250,000 365,000
เกิน 2,000,000 - 5,000,000 3,000,000 30 900,000 1,265,000
เกิน 5,000,000 บาท ขึ้นไป - 35 - -
สมการคำนวณภาษี
1
 
รายได้ (ต่อปี) - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
2
 
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินที่ต้องจ่าย
ตัวอย่างการคำนวณภาษี

นายมงคลมีเงินเดือน 45,000 บาท (ปีละ 540,000 บาท) หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 100,000 บาท จ่ายประกันสังคม 9,000 บาท นายมงคลไม่มีภรรยา มีการลงทุนใน LTF 50,000 บาท

สามารถคิดภาษีได้ดังนี้ การคำนวณภาษี

จากตัวอย่างแสดงให้เห็นแล้วว่า การคำนวณภาษีด้วยตัวคุณเองนั้นง่ายมากๆ ขอแค่เรามีการเก็บเอกสารแสดงรายได้และค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ เช่น หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุน LTF/RMF หนังสือรับรองดอกเบี้ยบ้าน เพื่อติดตามเก็บข้อมูลของตัวเองและนำข้อมูลมาใช้ในการคำนวณรวมถึงเป็นเอกสารยืนยันเมื่อสรรพากรทวงถาม เท่านี้เราก็สามารถคำนวณภาษีแบบเดียวกับสรรพากรได้แล้ว

หมายเหตุ: กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสิ้นสุดปี 2562 เท่านั้น ตั้งแต่ปี 2563-2567
สามารถลงทุนในกองทุนการออมแห่งชาติ (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ เงื่อนไขลดหย่อนภาษีตามกรมสรรพากรกำหนด

อีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือการลดหย่อนภาษี ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ยืดหยุ่นมากๆ สำหรับการคำนวณภาษีในแต่ละครั้ง นอกจากการลงทุน LTF RMF ที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ แล้ว ยังมี

เรื่องอื่นที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ เช่น การทำประกันชีวิต ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ไปจนถึงการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ขึ้นอยู่กับว่าในปีนั้นทางภาครัฐจะให้สิทธิพิเศษในหมวดหมู่ใดบ้าง
 

วิธีที่ 2

สำหรับผู้ที่มีเงินได้จากช่องทางอื่นๆ นอกจากเงินเดือน (เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2-8) รวมกันตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป ต้องมีการคำนวณวิธีที่ 2 ด้วย

 
โดยการคำนวณวิธีที่ 2 มีดังต่อไปนี้
การคำนวณภาษี
พอคำนวณทั้ง 2 วิธีแล้วให้นำมาเปรียบเทียบกันโดยเลือกจำนวนที่สูงกว่า แต่ถ้าวิธีที่ 2 คำนวณแล้วไม่ถึง 5,000 บาทให้เลือกเสียภาษีตามวิธีที่ 1
 
หากเรายื่นภาษีผ่านช่อนทางออนไลน์และกรอกข้อมูลครบถ้วน โปรแกรมจะคำนวณให้เราอัตโนมัติครับว่าต้องเสียภาษีตามวิธีไหนเป็นหลัก
 

Tips สำหรับการคำนวณภาษีด้วยตัวเอง

  • มีรายได้อื่นนอกเหนือจากเงินเดือนอย่าลืมคำนวณภาษีวิธีที่ 2 แล้วนำมาเปรียบเทียบกันโดยเลือกเสียภาษีตามวิธีที่เสียภาษีสูงกว่า
  • สำหรับผู้ที่มีรายได้ 40(5) – 40(8) เช่น รายได้ค่าเช่า รายได้ค่าเช่าที่ดิน-อาคาร รายได้จากการขายของบนอินเทอร์เน็ต สามารถเลือกหักค่าใช้ได้ 2 แบบ คือ แบบเหมา หรือแบบตามจริงก็ได้ แต่การหักตามจริงต้องมีหลักฐานด้วยนะครับ
  • ค่าลดหย่อนภาษีมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนส่วนตัวหรือค่าลดหย่อนตัวอื่นๆ ดังนั้นควรติดตามอัปเดตการลดหย่อนภาษีอยู่เสมอ
  • ต้องคำนวณหารายได้สุทธิ “ก่อน” คำนวณภาษีที่ต้องจ่าย เพื่อที่จะใช้สิทธิลดหย่อนและหักค่าใช้จ่ายได้ถูกต้องครบถ้วน
  • มีวินัยในการบันทึกค่าใช้จ่ายของตัวเองอยู่เสมอ รวมถึงเก็บเอกสารหลักฐานค่าลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ใบกำกับภาษีเพื่อเป็นค่าลดหย่อนท่องเที่ยว ใบอนุโมทนาบัตรและหลักฐานอื่นๆ แบบปีต่อปี จะช่วยให้คุณสามารถคำนวณภาษีที่แท้จริงตอนท้ายปีได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น


ข้อดีของการคำนวณภาษีด้วยตนเอง

  1. วางแผนภาษีได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ต้องรอปลายปี การรู้ตัวเองได้ก่อนคนอื่นๆ จะสามารถทำให้เราวางแผนการจ่ายภาษีได้ง่าย เช่น การแปลงประเภทเงินได้เพื่อหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น ซื้อประกันชีวิต ลงทุน LTF RMF เพิ่มเติมให้ได้สิทธิในการลดหย่อนเต็มเม็ดเต็มหน่วย 
  2. เพิ่มเงินในกระเป๋าด้วย “ค่าลดหย่อน” ยิ่งลดหย่อนเพิ่มขึ้นได้มาก ยิ่งเงินเหลือในกระเป๋ามาก เราสามารถนำเงินที่เหลือนั้นมาจับจ่าย ลงทุนต่อยอด ไปจนถึงออมเพื่อการเกษียณได้
  3. สามารถตรวจสอบภาษีที่เราจ่ายในแต่ละปีได้ กรมสรรพากรจะตรวจสอบด้านภาษีอย่างตรงไปตรงมา แต่การตรวจสอบภาษีด้วยตนเองจะทำให้เราเห็นภาพรวมการใช้จ่าย ว่ามีการหักลดหย่อนตรงไหน ได้หรือไม่ได้ ช่วยปิดจุดบอดทางการเงิน เพิ่มความเข้าใจทางภาษีให้คุณได้ประโยชน์ในระยะยาว 

สรุป
จะเห็นได้เลยนะครับว่าจริงๆ แล้วการคำนวณภาษีนั้นด้วยตนเองไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแค่กระดาษ ปากกา และข้อมูลก็สามารถคำนวณภาษีเบื้องต้นได้แล้ว และยังสามารถต่อยอดไปยังการวางแผนภาษี ที่จะช่วยประหยัดเงินมากมายให้กับคุณในอนาคตอีกด้วย

กระนั้นในบางเวลาการคำนวณในระยะเวลาอันสั้นก็อาจจำเป็น โดยเฉพาะคนที่ไม่ถนัดด้านตัวเลขสามารถใช้เครื่องมือวางแผนภาษี เพื่อความสะดวกรวดเร็วได้เลยครับ
 
หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเงิน ภาษี ไปจนถึงการวางแผนเกษียณ สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาทางด้านการลงทุน ได้ที่เบอร์ 02-2965959 จ.-ศ. เวลา 9.00-17.00 น.
บทความโดย
ปริตา ธิติปรีชาพล
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา